ราชบัณฑิตและภาคีสมาชิก ประเภทวิชาปรัชญา สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง กองธรรมศาสตร์ ราชบัณฑิตสถาน ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย จัดโครงการปาฐกถาราชบัณฑิตสัญจรเรื่อง “ศาสนากับการสร้างค่านิยมทางจริยธรรมของสังคมไทย” มีการปาฐกถาและอภิปรายถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ผู้ที่เข้าร่วมฟัง การที่ได้ฟัง ได้ใกล้ชิดกับ “ราชบัณฑิต” นั้นมิใช่เรื่องง่าย เพราะท่านเหล่านนั้นได้ชื่อเป็นผู้ทรงภูมิรู้ เป็นคลังแห่งวิชาการ ซึ่งในอดีตมักเรียกขานผู้รู้ทั้งหลายว่า “นักปราชญ์ราชบัณฑิต”
เมื่อได้ยินคำว่า “นักปราชญ์ราชบัณฑิต” จึงมีความหมายบ่งถึงผู้ที่มีความรู้ ผู้ที่มีปัญญา เมื่อราชบัณฑิตมาจัดปาฐกถาขึ้นที่หอประชุมมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย จึงมีความตั้งใจว่าจะต้องไปฟังให้ได้ว่าผู้ที่ได้ชื่อเป็นราชบัณฑิตจะพูดอะไร เป็นการเพิ่มพูนสติปัญญา บางทีเราอาจจะมีโอกาสได้เป็นราชบัณฑิตบ้างในอนาคต ชีวิตและอนาคตซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน เพราะผู้ที่เคยสอนเรามาก่อนในอดีต ปัจจุบันท่านเหล่านั้นก็เป็นราชบัณฑิตแล้ว นับเป็นโอกาสที่หาได้ยากยิ่ง
คำว่า “นักปราชญ์” เป็นคำนาม ตรงกับความหมายในภาษาอังกฤษว่า “philosopher” ซึ่งมีความหมายคือปราชญ์ ผู้รู้ ผู้มีปัญญา ดังนั้นนักปราชญ์จึงมีความหมายถึงผู้มีความรู้ ผู้มีปัญญา สามารถแก้ปัญหาต่างๆได้
คำว่า “ราชบัณฑิต” (ราด-ชะ–บันดิด) แปลว่านักปราชญ์หลวงมีความรู้ทางภาษาบาลี สมาชิกองค์การวิทยาการของรัฐที่เรียกว่าราชบัณฑิตยสถาน
คำว่า “ราชบัณฑิตยสถาน” ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า “the Royal Institute, the Royal Academy" อ่านว่า "ราดชะบันดิดตะยะสะถาน" ราชบัณฑิตยสถาน (น.) เดิมเรียกว่า ราชบัณฑิตยสภา เป็นทบวงการเมือง เทียบเท่ากรม ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2476 เป็นสำนักทางวิชาการ มีราชบัณฑิตซึ่งแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิประจำสำนัก ซึ่งมีสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง สำนักวิทยาศาสตร์ สำนักศิลปกรรม
สมัยเป็นเด็กเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นไม่มีใครสามารถแก้ปัญหานั้นได้ คนเฒ่าคนแก่มักจะบอกว่าให้ไปถามนักปราชญ์ราชบัณฑิต ซึ่งท่านเหล่านี้ย่อมจะมีวิธีการในการแก้ปัญหาต่างๆได้ หากเป็นชนบทคนที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักปราชญ์จะมีอยู่สามประเภทคือพระภิกษุที่จำพรรษาอยู่ในวัดที่อุปสมบทมานานจนเป็นพระอุปัชฌาย์อาจารย์ ประเภทที่สองคือผู้เฒ่าประจำหมู่บ้านหรืออาจจะเป็นหมอผีก็ได้ ซึ่งก็จะมีความรู้ทุกเรื่อง อีกประเภทหนึ่งคือครูประจำโรงเรียน ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างสูงว่าคือผู้ที่มีความรู้ทันสมัยที่สุด และครูคือข้าราชการประเภทเดียวที่มีอยู่ในหมู่บ้าน แม้ว่านักปราชญ์ทั้งสามท่านจะมีวิธีแก้ปัญหาต่างกัน แต่ชาวบ้านก็ให้การยอมรับว่า พระสงฆ์ หมอผี และครูคือนักปราชญ์ประจำหมู่บ้าน
ส่วนราชบัณฑิตชาวบ้านมักจะเข้าใจว่าคือผู้ที่ทำงานสนองพระมหากษัตริย์ ปัจจุบันคือข้าราชการที่ทำงานราชการที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ นักปราชญ์ราชบัณฑิตจึงอยู่ไกลเกินฝัของเด็กบ้านนอกคนหนึ่ง
สมัยนั้นจำได้ว่าแม้แต่เรื่องฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล คนชนบทก็จะมีวิธีแก้ปัญหาตามวิธีที่นักปราชญ์ประจำหมู่บ้านแนะนำ พระสงฆ์แนะนำให้ทำพิธีเจริญพุทธมนต์เพื่อที่จะให้เหล่าวิญญาณ เทพเจ้า เหล่าเทวดาทั้งหลายยินดีปรีดาจะได้ทำให้ฝนตก ส่วนหมอผีก็จะมีวิธีขอฝนเช่นแห่นางแมว หรือแม้แต่มีประเพณีบุญบั้งไฟจุดขึ้นบนท้องฟ้าเพื่อขอฝนจากพญาแถนตามคติความเชื่อที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ
ปัจจุบันประเพณีแห่งนางแมวเหลือน้อยแล้ว เพราะมีกลุ่มรักสัตว์บอกว่าเป็นการทรมานสัตว์ แมวไม่อาจดลบันดาลให้ฝนตกหรือไม่ตกได้ การที่ฝนจะตกหรือไม่นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับเทวดา แต่ขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ
ในวันที่ราชบัณฑิตและภาคีสมาชิก ประเภทวิชาปรัชญา สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง กองธรรมศาสตร์ ราชบัณฑิตสถานได้จัดโครงการปาฐกถาราชบัณฑิตสัญจรที่ห้องประชุมสุชีพ ปุญญานุภาพ ศาลายา นครปฐม ได้เห็นเหล่าราชบัณฑิตจริงๆมารวมตัวกันครั้งแรกเพื่อจัดการปาฐกถาและอภิปราย
อันที่จริงหากจะบอกว่ามีความคุ้นเคยกับราชบัณฑิตทั้งหลายเหล่านั้น ก็คงไม่ผิดนัก เพราะราชบัณฑิตที่เดินทางมาร่วมงานในวันนั้น ส่วนหนึ่งเคยเป็นอาจารย์สอนหนังสือมาก่อน เช่น ศาสตราจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ สอนวิชาตรรกศาสตร์ ศาสตราจารย์กีรติ บุญเจือ สอนวิชาศาสตร์แห่งการตีความ ศาสตราจารย์ ดร.เดือน คำดี สอนวิชาระเบียบวิธีวิจัย ศาสตราจารย์ปรีชา ช้างขวัญยืน ศาสตราจารย์ ดร.อดิศักดิ์ ทองบุญ แม้จะไม่เคยสอนแต่ก็ใช้หนังสือของอาจารย์เป็นตำราเรียน ดังนั้นจึงรู้จักราชบัณฑิตทั้งหลายที่มาร่วมงานในวันนั้นเป็นอย่างดี รู้จักในฐานะของลูกศิษย์ที่เคยเรียนกับอาจารย์มาก่อน
ศาสตราจารย์จำนงค์ อายุ 87 ปี ศาสตราจารย์กีรติ อายุ 85 ปี แต่สุขภาพยังแข็งแรง เมื่อเข้าไปหาก็ชวนท่านสนทนาเกี่ยวกับวิชาที่ท่านเคยสอน เมื่อท่านรู้ว่าผู้เขียนเคยเป็นลูกศิษย์ก็คุยอย่างเป็นกันเองในฐานะอาจารย์และศิษย์ การได้พบปะสนทนากับนักปราชญ์ราชบัณฑิตจึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง แต่เมื่อได้พบกับราชบัณฑิตจริงๆ กลับไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด
นักปราชญ์ราชบัณฑิตที่ได้สัมผัสในวันนั้นคือคนธรรมดาสามัญ ที่เคยผ่านระบบการศึกษามาเหมือนกับเรา เคยสอนหนังสือ เคยทำงานวิจัย เคยเขียนตำราวิชาการต่างๆซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณประโยชน์ต่อคนรุ่นหนัง ตำราบางเล่มแทบจะไม่เคยได้ศึกษามาก่อน วิชาการบางอย่างมีสอนเฉพาะในระดับบัณฑิตศึกษาเช่นศาสตร์แห่งการตีความ ซึ่งเป็นวิชาที่ว่าด้วยหลักการอธิบายความหมายของถ้อยคำ ส่วนหนึ่งเป็นภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ซึ่งหากไม่เคยศึกษามาก่อนก็ยากที่จะทำความเข้าใจได้
ราชบัณฑิตในปัจจุบันไม่ได้มีความหมายถึงนักปราชญ์หลวงในราชสำนักเหมือนในอดีต แต่ท่านเหล่านั้นคือนักปราชญ์ของชาวบ้านที่พร้อมจะให้ความรู้แก่คนทั่วไป หากใครที่เคยอ่านพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสภา ก็จะทราบว่าความหมายของถ้อยคำแต่ละอย่างนั้น บางคำมีความหมายหลายนัย ต้องเลือกเอาความหมายที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่เราต้องการมากที่สุด
ศาสตราจารย์(พิเศษ) จำนง ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต ได้ปาฐกถามีข้อความตอนหนึ่งว่า “ปัญหาทุกอย่างย่อมมีทางแก้ไข หากเลือกวิธีที่ถูกต้องก็จะแก้ปัญหาได้ถูกจุด เหมือนแพทย์หากวินิจฉัยโรคได้ถูกต้องก็จะรักษาได้ถูกวิธี ปัญหาของสังคมไทยก็เฉกเช่นเดียวกัน ส่วนหนึ่งมาจากค่านิยมของสังคมที่เปลี่ยนไปตามกระแสโลก เราต้องสร้างค่านิยมให้ถูกต้องโดยอาศัยพื้นฐานของศาสนา เพราะค่านิยมของสังคมที่ถูกต้องมักจะมาจากคำสอนของศาสนา ศาสนาต้องไม่แยกออกจากสังคม ต้องปลูกฝังความเชื่อความศรัทธาจนเกิดค่านิยมที่ถูกต้อง ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่เด็ก สมัยก่อนมีโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ซึ่งทำให้เด็กรู้จักหลักธรรมคำสอนของศาสนา จนสามารถสร้างค่านิยมที่ดีงามของสังคมได้ แต่ปัจจุบันกระแสโลกาภิวัตน์ทำให้คนหลงไปตามอำนาจของกิเลส ดังนั้นต้องรู้เท่าทันความแปรผันของกิเลสให้ได้ เมื่อนั้นจึงจะสร้างค่านิยมทางจริยธรรมที่ดีวามในสังคมได้ สังคมโลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก เราก็ต้องศึกษาเรียนรู้ให้รู้เท่าทันโลก จึงจะอยู่ในโลกอย่างสันติสุขได้ ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม มิใช่รักษาผู้รู้ธรรม ดังนั้นเมื่อรู้ธรรมแล้วก็ต้องปฏิบัติให้ได้ด้วย ธรรมจึงจะรักษา”
ได้เห็นรอยยิ้มของอาจารย์ที่เคยสอนวิชาการมาในอดีต ซึ่งท่านเหล่านั้นปัจจุบันได้ชื่อว่าเป็นราชบัณฑิต ได้อยู่ในท่ามกลางนักปราชญ์ราชบัณฑิต ได้ฟังแง่คิดมุมมองที่แม้จะเรียบง่ายแต่ทว่าบางครั้งก็คิดไม่ถึง ราชบัณฑิตอธิบายขยายความได้คมชัดลึกดีแท้
หากนักปราชญ์ราชบัณฑิตหมายถึงผู้รู้ ผู้มีปัญญา ตามความหมายในพจนานุกรม ผู้เขียนเองก็อยู่ในท่ามกลางนักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งหลายมายาวนานแล้ว เพราะหลวงพ่ออุปัชฌาย์คือผูัรู้ ผู้มีปัญญาของหมู่บ้าน คุณตาคือผู้เฒ่าประจำหมู่บ้าน และคูณครูที่เคยสอนชั้นประถมศึกษาคือผู้รู้ ผู้มีปัญญาประจำหมู่บ้าน
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
14/12/57