ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงคิดค้นทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง  ซึ่งหากใครนำเอาทฤษฎีนี้ไปประยุกต์ใช้จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่เป็นไปตามฐานะที่ควรจะเป็น ทฤษฎีนี้เหมาะกับผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกร หากดำเนินรอยตามแนวพระราชดำริของในหลวงแล้ว ชีวิตน่าจะพออยู่พอกิน ชีวิตก็มีความสุขสมควรแก่ฐานะหากใครที่รู้จักพอก็เริ่มต้นแห่งการมีความสุขสุขแล้ว พอก็คือสุข สุขที่พอเพียง

          พ่อของผู้เขียนเป็นชาวนา ในสมัยก่อนมักจะไม่ได้ทำนาเพียงอย่างเดียว มักจะทำทั้งไร่ ทั้งนา ทั้งสวนไปพร้อมๆกัน ที่นามีไว้สำหรับปลูกข้าว สวนปลูกผัก ส่วนไร่ปลูกผลไม้หรือพืชเศรษฐกิจเช่นอ้อย มันสำปะหลัง เป็นต้น ดังนั้นหากจะเรียกคนทำนาว่าชาวนา คนทำไร่ว่าชาวไร่ คนทำสวนว่าชาวสวน แต่เมื่อคนๆเดียวทำทั้งสามอย่างในพื้นที่เดียวกันน่าจะเรียกรวมกันว่าชาวไร่ชาวนา พ่อของผู้เขียนจัดอยู่ในประเภทที่ทำทุกทุกอย่างที่รวมเรียกกันว่าเกษตรกร พ่อเป็นทั้งชาวนา ชาวไร่และชาวสวน แต่มักจะเรียกตัวเองว่าพ่อเป็นชาวนา
          ไร่นาสวนของพ่อไม่ได้มีขนาดใหญ่โตมากนัก จะเรียกว่าไร่อย่างเดียวคงไม่ถูกต้องมากนัก ต้องเรียกว่าไร่นาสวน เพราะมีพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นที่นาทำนาปลูกข้าวได้  ยังมีสระน้ำที่พ่อขุดไว้เป็นสระขนาดใหญ่ จึงมีปลาแทบทุกประเภทมาอาศัยอยู่ ที่ว่างอีกส่วนหนึ่งยังมีหญ้าให้ความได้กินเป็นอาหารอีกด้วย อีกส่วนหนึ่งเป็นไร่ปลูกพืชประเภทอ้อย ปอ ป่าน ยังสวนผลไม้ปลูกแตงโม ปลูกแตงไทย เป็นต้น ในไร่ของพ่อนั้นต้นไม้หรือพืชทุกชนิดล้วนใช้ประโยชน์ได้ นอกจากจะเป็นพืชกินได้แล้ว บางชนิดยังใช้เป็นยาสมุนไพรได้อีก ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ในไร่ในสวนมีผักผลไม้ ยังมีป่าช้าที่อยู่ติดที่นามีป่าไม้ขึ้นรกครึ้มหนาแน่น เพราะเป็นเหมือนป่าชุมชนทุกคนจึงช่วยกันรักษาป่านั้นไว้ อาหารการกินก็แสนธรรมดา อาจจะเรียกด้วยถ้อยคำง่ายๆว่า “กินข้าวเป็นหลัก กินผักเป็นยา กินปลาเป็นอาหาร”

          เนื่องจากพ่อเป็นคนที่ไม่ค่อยพูด นอกจากจะมีเหตุการณ์ บางอย่างก็จะพูดสักครั้งหนึ่ง การพูดแต่ละครั้งบางครั้งทั้งสอนทั้งบ่นแทบทั้งวัน แต่หากเป็นเวลาทำธรรมดา พ่อก็จะทำแต่งาน ซึ่งในแต่ละวันจะมีงานให้ทำได้ตลอดปี ทำงานไม่มีวันหยุด ไม่มีเงินเดือน ไม่มีค่าตอบแทน เพราะในแต่ละวันแทบจะไม่ต้องใช้เงินเลย
          อาหารการกินก็มีอยู่พร้อม หากอยากกินปลาก็เพียงแต่ก่อไฟยกหม้อใส่น้ำขึ้นตั้งบนเตาไฟ จากนั้นก็เดินลงไปที่สระน้ำริมที่นา หากอยากกินปลาตัวโตก็เพียงดำน้ำลงไป ใช้หญ้าแห้งปิดท่อนไม้ที่กลวงข้างในทั้งสองด้าน ใช้ฟ่อนหญ้าปิดไว้ แล้วยกท่อนไม้นั้นขึ้นมาวางริมขอบสระ พอเปิดจุกหญ้าออกยกท่อนไม้ตั้งขึ้น กุ้งหอย ปู ปลาที่เข้าไปหลบซ่อนอยู่ข้างในก็จะพากันไหลออกมา เพียงแต่เลือกปลาตามที่ต้องการ ตัวเล็กปล่อยไป ตัวใหญ่เอาไปทำอาหาร เดินจากสระน้ำมาที่กระท่อม น้ำที่ต้มไว้ก็เดือดพอดี
          ส่วนเครื่องปรุงก็ปลูกไว้ตามริมขอบสระนั่นเอง มีทุกประเภทตะไคร้ ใบมะกรูด มะนาว โหรพา สระแหน่ พริก หอม กระเทียม ยังมีมะละกอ มะพร้าว ฯลฯ อยากทำอาหารประเภทใดก็เก็บสดๆจากต้นมาพร้อมกับปลาที่ถึงฆาตแล้ว     

          หากอยากได้ของหวานก็เพียงแต่เดินไปที่สวนกล้วย เดินเลือกกล้วยที่กำลังสุกเหลืองอร่ามติดต้น กลิ่นและรสชาติหอมหวานนักแล หรือผลไม้ตามฤดูกาลก็มีให้เลือกได้ทุกฤดู มะม่วง ทับทิม มะกรูด ส้มโอ พุทรา ตะขบ อ้อย  เลือกรับประทานได้โดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยใคร พ่อสอนให้ใช้ชีวิตโดยอาศัยการพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุด
          พวกเพื่อนๆสมัยเรียนชั้นมัธยม มักจะแวะมาพักอยู่ที่ไร่นาสวนของพ่อเสมอ ในช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ พ่อจึงกลายเป็นวิทยากรสอนวิธีการทำไร่ ทำนาแก่พวกเพื่อนๆเหล่านั้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พ่อดูจะมีความสุขมากที่สุด คอยตอบคำถามของพวกนักเรียนขี้สงสัยทั้งหลาย ซึ่งก็มักจะมีคำถามไม่สิ้นสุด พ่อก็เพียงแต่ยิ้มและตอบคำถามของเด็กนักเรียนเหล่านั้นแบบไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย พ่อจึงเหมือนกับมีลูกชายหลายคน เป็นลูกชายที่อยู่กันคนละหมู่บ้าน อยู่กันคนละตำบล บางคนพ่อเป็นครู บางคนพ่อเป็นตำรวจ เป็นทหาร ที่บังเอิญมีเพื่อนเป็นลูกชาวไร่ชาวนา

          เพื่อนคนหนึ่งชื่อ “ยุ่น” ไม่รู้ว่าไปเกี่ยวพันอะไรกับญี่ปุ่น เจ้ายุ่นเป็นนักเรียนขี้สงสัย มักจะถามนั่นถามนี่และลองนั่นลองนี่ วันหนึ่งยุ่นขอไถนา พ่อก็อนุญาต “”ข่มปลายหางคันไถลง อย่ายกหางคันไถขึ้น ใช้เชือกกระทบสีข้างของควาย หากอยากให้หยุดก็ดึงเชือกแรงๆ” พ่อสอนวิธีไถนาเพียงเท่านั้น ก็ยกไถให้เจ้ายุ่น สมัยนั้นยังใช้ควายไถนา    
          นักเรียนใหม่ได้โอกาส เริ่มตามวิธีที่พ่อสอนซึ่งก็ดำเนินไปด้วยดี แต่ดีเพียงเที่ยวเดียว พอถึงเที่ยวที่สอง เจ้ายุ่นลืมวิธีการแทนที่จะข่มคันไถลง กลับยกคันไถขึ้น เมื่อไถฝังลึกกินดินมาก ควายก็หยุด เจ้ายุ่นก็กระตุกเชือกอย่างแรง ควายตกใจก็กระโดดเพราะเจ็บ ไถที่ปักลงดินก็แตกหักในบัดดล ส่วนเจ้ายุ่นไม่ยอมวางเชือกถูกควายลากไปอีกไกล
          พ่อและเพื่อนๆที่เฝ้าเชียร์อยู่ใกล้ๆรีบเข้าไปช่วยเจ้ายุ่นจนปลอดภัย แต่ทว่าคันไถหักสะบั้น วันนั้นเลยต้องหยุดเรียนวิธีทำนา พ่อก็ไม่ได้ดุด่าใคร เพียงแต่กล่าวสั้นๆเหมือนกับรำพึงกับตัวเอง “คงต้องหาคันไถใหม่”
          คันไถที่พ่อว่าต้องหาไม้ที่แข็งแรงมีรูปทรงของงอนไถ จากนั้นก็ต้องใช้ขวานค่อยๆถากทีละนิด กว่าจะเสร็จสมบูรณ์จนสามรถใช้งานได้ บางทีก็ต้องใช้เวลาเป็นอาทิตย์

          ส่วนเจ้ายุ่นเข็ดขยาดในการไถนาไปหลายเดือน จนหมดหน้านาปีนั้นเจ้ายุ่นก็ไม่เคยได้ไถนาอีกเลย  แต่เจ้ายุ่นมีคำถามใหม่ “ทำไมพ่อไม่แยกต้นไม้แต่ละประเภทออกจากกัน เวลาเดินเข้าสวนของพ่อเมื่อไหร่มีผลไม้มากมายไม่รู้จะเลือกอะไรดี กว่าจะกลับออกมาจากสวนนั้นได้ ท้องตึงทุกที นี่ถ้าแยกเป็นผลไม้ตามประเภทคงจะง่ายกว่า อยากกินมะม่วงก็เดินเข้าสวนมะม่วง อยากกินพุทราก็เข้าสวนพุทรา”
           “พ่อไม่ได้เรียนมาเหมือนพวกเธอนี่ จึงทำตามวิธีเท่าที่คิดได้ ผลไม้ก็เหมือนคน อยู่โดดเดี่ยวไม่ได้ ต้องมีเพื่อน มีญาติ มะม่วงเป็นเหมือนลูกของกล้วย พ่อจึงฝากเมล็ดมะม่วงไว้ที่กอกล้วย กล้วยที่ออกผลแล้วก็ตัดทิ้งลงในกอกล้วยกลายเป็นปุ๋ยหล่อเลี้ยงเมล็ดมะม่วงหรือผลไม้อย่างอื่นซึ่งไม่นานก็แตกหน่อค่อยๆเจริญเติบโตเป็นต้นใหญ่ เมื่อกล้วยหมดกอ มะม่วงก็โตจนออกลูกได้แล้ว สวนกล้วยก็กลายเป็นสวนมะม่วง เป็นสวนมะละกอ สวนทับทิม สวนพุทรา ต้นไม้แต่ละต้นออกลูกคนละเวลากัน เราก็มีผลไม้กินตลอดปี” พ่ออธิบายวิธีการทำสวนตามวิธีของพ่อ
          เมื่อใดก็ตามที่มีคนนำผลไม้แปลกๆมา เมื่อรับประทานเสร็จพ่อก็มักจะเก็บเมล็ดพันธ์ไว้ และลองเพาะพันธุ์ บางครั้งก็ไดผล บางครั้งก็ไม่สำเร็จ ในสวนของพ่อจึงมีผลไม้แปลกๆปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ

          หากมีพ่อค้าแม่ค้ามาซื้อผักผลไม้ พ่อก็เพียงแต่บอกว่า “อยากได้อะไรเชิญเลือกได้ตามสบาย” จากนั้นก็ปล่อยให้คนซื้อเดินเข้าสวน เลือกหาสินค้าเอาเอง จนพอใจแล้วก็ทำการซื้อขายตามแต่คนซื้อจะพอใจให้เท่าไหร่ก็เท่านั้น
          เคยถามพ่อว่า “ทำไมพ่อไม่คิดราคาแพงๆจะได้มีเงินมากๆ” พ่อบอกว่า “เขาก็คนจนเหมือนเรา เขาซื้อของเราเพื่อไปขายต่อ ถ้าคิดแพงเขาก็ต้องขายแพง เงินนะใช้ประเดี๋ยวก็หมด แต่ความซื่อสัตย์นั้นใช้ไม่หมด โบราณว่าซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน แม้จะได้เงินน้อยแต่ได้ลูกค้าที่ไว้ใจซื่อสัตย์ต่อกันไม่ดีกว่าหรือ ไม่มีคนซื้อก็ให้แม่แกวางขายที่หน้าบ้านก็ได้”
          ฟังเหตุผลของพ่อแล้วก็ต้องเงียบ แม้ว่าพ่อจะไม่เคยรวย แต่มีกินมีใช้ตลอดปี แถมยังมีเงินส่งลูกชายเรียนหนังสือได้อีก ถึงพ่อจะไม่ได้ร่ำรวยเงินทอง แต่พ่อก็รวยน้ำใจ
          ไร่นาสวนของพ่อในสมัยนั้น ไม่มีทฤษฎีใดมารองรับ ปัจจุบันมีการพูดถึงไร่นาสวนผสมกันมาก ไร่นาสวนของพ่อน่าจะพอเรียกได้ว่าไร่นาสวนผสมได้ แม้จะไม่เป็นไปตามทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเน้นที่ความพอดี ความพอเพียง หากคนในสมัยปัจจุบันนำมาประยุกต์ใช้ก็สามารถอยู่อย่างมีความสุขได้ หากพอในในสิ่งที่มี ยินดีในสิ่งที่ได้ อยู่ที่ไหนก็มีความสุข

           ไร่นาสวนของพ่อในอดีตได้ขายให้คนอื่นไปแล้ว และเจ้าของคนใหม่ก็เปลี่ยนสภาพสวนในอดีตกลายเป็นไร่นาสวนสมัยใหม่ ผลิตสินค้นได้มากกว่า หาเงินได้มากกว่า แต่ความเป็นธรรมชาติแบบดั้งเดิมหายไป หากพ่อยังมีชีวิตอยู่ คงได้นำเอาทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงไปประยุกต์ใช้ในที่นาป่าไร่และสวนของพ่อแล้ว
          ทุกวันนี้แม้พ่อจะจากโลกนี้ไปนานหลายปีแล้ว แต่หากคิดย้อนกลับไปยังสมัยที่พ่อยังคงทำไร่ ทำนา ทำสวนอยู่ในครั้งนั้น ก็ยังเห็นรอยยิ้มแห่งความสุขของพ่อ เป็นรอยยิ้มของชาวนาชาวไร่คนหนึ่ง ใบหน้าเกรียมแดด ที่พอใจในสิ่งที่ตนมี ยินดีในสิ่งที่ตนทำ พ่อไม่เคยมีตำแหน่งอะไร ไม่เคยมีเงินเดือน แต่มีเงินใช้ตลอดปี มีชีวีที่มีความสุขตลอดกาล ที่น่าป่าไร่และสวนที่พ่อเคยสร้างไว้สุดท้ายก็ไม่ใช่สมบัติของพ่อ


 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
03/12/57

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก