ใกล้วันที่ห้าธันวามหาราช ซึ่งทางราชการกำหนดให้เป็นวันพ่อแห่งชาติ ซึ่งหลายคนคงกำลังวางแผนจะทำสิ่งที่ดีเพื่อพ่อ ผู้ที่ยังมีพ่อถือว่าโชคดีที่ยังมีโอกาสได้ทำความดีตอบแทนพ่อ แต่สำหรับผู้ที่ไม่มีพ่ออยู่ในโลกนี้แล้ว สิ่งที่ทำได้นอกจากจะเป็นการทำบุญอุทิศให้พ่อแล้ว ตามธรรมเนียมของคนไทยที่ว่า “ยามอยู่ให้เลี้ยงกาย ยามตายให้เลี้ยงวิญญาณ” สิ่งหนึ่งที่สามารถทำดีเพื่อพ่อได้คือการระลึกนึกถึงคำสอนของพ่อที่เคยสอนไว้ก่อนที่จะจากโลกนี้ไปไม่มีวันกลับ
ผู้เขียนกับพ่อไม่ค่อยมีความผูกพันกันมากนัก ไม่ค่อยได้คุย ไม่ค่อยได้สนทนากับพ่อสักเท่าไหร่ พ่อจะตื่นแต่เช้าออกไปทำงานที่ไร่ทั้งวัน ตอนเย็นเมื่อทานอาหารเย็นเสร็จ ก็จะนั่งสูบยาใบตองและทำงานซ่อมแซมอุปกรณ์ในการทำงาน ฟั่นเชือก ซ่อมอวน ไปตามเรื่อง ส่วนแม่ก็จะนั่งปั่นฝ้าย เพื่อเตรียมการในการทอผ้า ซึ่งในสมัยก่อนไม่ได้พึ่งพาเครื่องนุ่งห่มจากตลาดมากนัก ทอผ้าเอง ตัดเย็บเอง ย้อมเองส่วนมากจะมีโทนสีเดียวคือสีครามหรือสีดำ เสื้อหรือกางเกงผืนหนึ่งก็ใช้จนขาด บางผืนมีรอยปะเต็มไปหมด ปะแล้วปะอีก เสื้อตัวเก่าเมื่อใช้ไม่ได้แล้วก็ส่งต่อให้น้องๆใส่ต่อได้ หากมีปัญหาอะไรก็มักจะคุยกับแม่มากว่าพ่อ
พ่อเป็นคนเงียบขรึม ทำแต่งาน บางวันแทบจะไม่ได้ยินคำพูดจากปากของพ่อเลย สิ่งที่พ่อสอนจึงเป็นประสบการณ์ที่เกิดจากการทำงานซึ่งยึดอาชีพเป็นชาวไร่ชาวนาตลอดชีวิต
มีอยู่ครั้งหนึ่งสมัยที่ยังเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลาย วันนั้นขี้เกียจเรียนหนังสือมาก ไม่รู้จะเรียนไปทำไม รู้สึกท้อแท้ ในขณะที่พวกเพื่อนรุ่นเดียวกันมีชีวิตอิสระอยากทำอะไรก็ทำ อยากเล่นก็เล่น หรือหากอยากเที่ยวก็เที่ยวนั้น แต่ทว่าตัวเราเองกลับต้องรีบตื่นแต่เช้าต้องเดินทางไกลไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนประจำตำบล ซึ่งอยู่ห่างไกลจากหมู่บ้านหลายกิโลเมตร การตื่นเช้าของคนในวัยเด็กนั้นเป็นสิ่งที่ขี้เกียจที่สุด โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว ต้องตื่นขึ้นมาอาบน้ำแต่งตัวเตรียมตัวไปเรียนหนังสือ ซึ่งตอนนั้นก็ไม่ได้เห็นหน้าพ่อแล้ว เพราะพ่อออกไปทำงานที่ไร่ก่อนฟ้าสางทุกวัน
ชีวิตไม่มีทางเลือกมากนัก หากไม่ไปเรียนหนังสือก็ต้องไปช่วยพ่อทำงานที่ไร่ ซึ่งก็ไม่มีอะไรน่าสนใจ อยู่กลางเปลวแดดร้อน ชีวิตชาวไร่ชาวนาในอดีตเป็นไปทำนองนี้
วันนั้นขี้เกียจไม่อยากเรียนหนังสือ จึงตัดสินใจขาดเรียน ขออาสาแม่ว่าจะเป็นผู้ไปส่งข้าวพ่อที่ไร่แทน แม่ก็อนุญาตคงคิดว่าเป็นวันหยุด แต่พอไปถึงไร่ดวงอาทิตย์ลอยขึ้นเหนือหมู่ไม้แล้ว พ่อวางไถ ปล่อยควายออกไปหากินตามปกติ กำลังเดินมาที่กระท่อมที่พัก พอพ่อมองเห็นก็ได้เอ่ยถามขึ้นว่า “วันนี้ไม่ไปโรงเรียนหรือ ไม่ใช่วันเสาร์อาทิตย์นี่นะ” ตอนนั้นคิดหาคำตอบพ่อไม่ได้
พ่อไม่รอคำตอบก็เริ่มบทเทศนาในบัดดล “เกิดเป็นคนต้องมีความรับผิดชอบ ต้องซื่อสัตย์ต่อตนเอง ทำอะไรต้องทำจริงอย่างทิ้งขว้าง”
พ่อชี้มือไปที่รวงผึ้งแห่งหนึ่งที่สร้างรวงอยู่บนใต้ไม้ใหญ่ใกล้ๆกระท่อมที่พักชาวไร่ของพ่อ “ดูนั่นสิ เห็นรวงผึ้งนั่นไหม ผึ้งตัวเล็กๆแต่ก็ช่วยกันสร้างรังขนาดใหญ่ได้ เพราะมันไม่ยอมแพ้ ผึ้งมักจะแยกย้ายกันหาอาหารจากนั้นก็นำมารวมกันไว้ที่รวงรัง แบ่งกันกินแบ่งกันใช้ แบ่งหน้าที่กันทำ พวกหนึ่งออกหาอาหาร พวกหนึ่งเฝ้ารัง อีกพวกหนึ่งคอยดูแลป้องกันอันตรายให้ตัวอ่อน ใครมีหน้าที่อะไรก็ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ผึ้งชอบของหอมจึงได้น้ำหวาน ต่างจากแมลงวันที่ชอบของเหม็น แมลงวันมักจะไม่ค่อยร่วมแรงกันสร้างรัง ต่างฝ่ายต่างอยู่ มนุษย์ก็ไม่ได้ต่างจากผึ้งกับแมลงวันเท่าใด คนขี้เกียจเหมือนแมลงวัน คนขยันเหมือนแมลงผึ้ง”
พ่อยังสาธยายต่อไปเหมือนกำลังติดลมด้วยอารมณ์ของนักเทศน์ “อย่าคิดว่าสิ่งที่ทำจะไม่มีใครรู้ ถึงหากจะไม่มีใครรู้ตัวเราเองนั่นแหละย่อมรู้อยู่ใจตนเอง พ่อแม่เกิดมาจนมีที่ไร่ ที่นาไม่มาก หากจะแบ่งให้ลูกทุกคนคงได้คนละไม่กี่ไร่ ต่อไปในอนาคตไร่นาผืนนี้ก็จะเหลือนิดเดียว หากเรียนหนังสือให้สูงๆย่อมมีโอกาสในการพัฒนาตน เรียนจบแล้วมีงานทำ ไม่ต้องมาลำบากเป็นชาวไร่เหมือนพ่อแม่ ที่ต้องทำงานหนักอย่างทุกวันนี้ สิ่งที่พ่อทำก็เพื่ออนาคตของลูก”
“จะเอาอย่างนี้ก็ได้ หากไม่อยากเรียนก็ต้องมาทำไร่ ตื่นแต่เช้าทำงานตากแดดตากฝนทั้งวัน รายได้ปีละไม่กี่บาท เอ็งไม่อยากเรียนก็ให้น้องเรียน ต้องมีใครสักคนเรียนต่อในชั้นที่สูงกว่าประถมปีที่สี่ให้ได้ มีโอกาสแล้วไม่เรียน อยากโง่เหมือนวัวเหมือนควายก็เอา” จากนั้นพ่อก็เงียบไม่พูดอีกเลยตลอดทั้งวัน ก้มหน้าทำงานในไร่อย่างจริงจัง เดาไม่ออกว่าในใจของพ่อกำลังคิดอะไรอยู่
วันนั้นทั้งวันจึงได้เรียนรู้การทำไร่จากพ่อซึ่งไม่ได้สอนด้วยคำพูดแต่สอนด้วยการกระทำ พอตกถึงตอนเย็นก็แทบจะไม่อยากทำอะไร มันเหนื่อยล้า เจ็บระบมไปทั้งตัว เมื่อนำมาเปรียบเทียบระหว่างการเป็นชาวไร่กับการเป็นนักเรียนแล้ว การเป็นนักเรียนสบายกว่าเพราะอยู่ในห้องเรียนแทบทั้งวัน เรียนรู้สิ่งใหม่ๆที่ไม่เคยรู้มาก่อน อย่างน้อยก็น่าจะมีความรู้มากกว่าพ่อบ้าง
จากวันนั้นมาก็หันกลับไปเรียนหนังสือต่อจนกระทั่งจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ห้า หรือ ม.ศ. 5 สมัยนั้นระบบการเรียนยังเป็น 4-3-3-2 หมายถึงชั้นประถมต้นสี่ปี ประถมปลายสามปี มัธยมต้นสามปีและมัธยมปลายอีกสองปี
วันหนึ่งหลังอาหารเย็นพ่อบอกว่า “ตอนนี้พ่อไม่มีเงินส่งให้เรียนต่อในชั้นที่สูงกว่านี้ได้อีกแล้ว หากอยากเรียนต่อก็ต้องทำงานหาเงินเรียนต่อเอาเอง”
ชีวิตด้านการศึกษาในสมัยนั้นก็สิ้นสุดลงเพียงเท่านี้ จบมัธยมศึกษาปีที่ห้า แต่ไม่มีปัญญาเรียนต่อในระดับปริญญา แม้ว่าจะอยากเรียนแต่ทว่าโอกาสและเงินมีไม่พอ จึงต้องอาศัยโรงเรียนวัด เรียนทางด้านภาษาบาลี
หลายปีต่อมา วันหนึ่งกลับบ้านไปเยี่ยมพ่อ พ่อถามว่า “เรียนถึงชั้นไหนแล้ว”
เมื่อบอกว่ากำลังเรียนบาลีประโยคหก และเรียนปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ่อเงียบไปแต่มีรอยยิ้มแห่งความภาคภูมิใจแทรกขึ้นมาบนใบหน้า พ่อเดินไปที่ห้องนอนหยิบซองบรรจุเงินส่งให้ซองหนึ่ง “เอาไว้เป็นทุนการศึกษา เรียนให้จบ” ในซองมีเงินสดอยู่สองหมื่นบาท ซึ่งพ่อคงเก็บสะสมมานานหลายปี สมัยนั้นค่าเทอมในระดับปริญญาโทเทอมละสี่พันบาท
เมื่อเรียนจบกลับไปเยี่ยมพ่อ ยื่นใบปริญญาให้พ่อดู พ่อน้ำตาซึม ก่อนจะบอกด้วยน้ำเสียงสั้นๆว่า “ดีใจด้วย แค่นี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับลูกชาวไร่ชาวนาคนธรรมดาอย่างเรา”
หลายปีต่อมาในวันที่เรียนจบปริญญาเอก พ่อไม่มีโอกาสได้เห็นความสำเร็จของลูกชายเลย พ่อเสียชีวิตก่อนที่ลูกชายจะเรียนจบการศึกษาชั้นสูงสุด
ความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์ต่อตนเอง ขยันและไม่ยอมแพ้ที่พ่อสอนในวันนั้น กลายเป็นสิ่งเหมือนคำจารึกบนหัวใจ จะทำอะไรต้องทำให้เสร็จ และต้องมีความซื่อสัตย์เป็นที่ตั้งด้วย ความขยันความอดทนไม่เคยฆ่าใคร หากในหัวใจยังคิดสู้ แม้จะมีศัตรูรอบด้าน ก็ไม่อาจต้านความตั้งใจจริงได้
คนที่ขยันในการทำงานและคอยเก็บออมทรัพย์สมบัติไว้ให้ลูกหลาน เหมือนผึ้งที่สร่างรัง เหมือนปลวกที่สร้างรัง ไม่นานก็สำเร็จได้ตามที่ประสงค์ดังที่แสดงไว้ในสิงคาลกสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค (11/197/202) ความว่า “เมื่อบุคคลออมโภคสมบัติอยู่เหมือนแมลงผึ้งผนวกรัง โภคสมบัติย่อมถึงความสั่งสมดุจจอมปลวกอันตัวปลวกก่อขึ้นฉะนั้น”
แปลมาจากภาษาบาลีว่า “โภเค สํหรมานสฺส ภมรสฺเสว อิรียโต
โภคา สนฺนิจยํ ยนฺติ วมฺมิโกวูปจียติ.
ทุกวันนี้ยังนำคำสอนของพ่อมาสอนนักเรียนนักศึกษาที่ขี้เกียจเรียนว่า “ขี้เกียจเหมือนแมลงวัน ขยันเหมือนแมลงผึ้ง จงสามัคคีประหนึ่งปลวกสร้างรัง” ความขี้เกียจ ท้อแท้ สิ้นหวังเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่หากมองสิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงความธรรมดาของชีวิต ท้อได้แต่ไม่ทิ้ง ทำอะไรทำให้จริงย่อมประสบกับสิ่งที่ปรารถนาได้ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ผึ้งก็คงไม่ได้คาดคิดว่าสักวันหนึ่งจะมีรวงรังที่ใหญ่โตและมีน้ำผึ้งที่มีรสหอมหวาน ปลวกสร้างจอมปลวกก็คงไม่ได้คิดว่าสักวันหนึ่งจะมีขนาดใหญ่โตขึ้นมาได้ แต่เพราะความพยายามไม่หยุดจึงปรากฎจอมปลวกขึ้นมาได้
ตลอดชีวิตของพ่อไม่ค่อยได้เห็นพ่อหยุดพัก ในชีวิตมีแต่การทำงาน ถึงหน้าทำนาก็ออกจากบ้านตั้งแต่เช้า พอหมดหน้านาก็ออกจากบ้านตั้งแต้ฟ้ายังไม่ทันสาง ตอนเย็นกลับมาก็ยังทำงานซ่อมแซมเครื่องมือทำงานที่ชำรุดเสียหาย จนกระทั่งปีสุดท้ายของชีวิตเมื่อสุขภาพไม่เอื้อแล้วจึงได้หยุดพัก และได้พักไปตลอดกาล
แม้ว่าพ่อจะไม่ค่อยมีความใกล้ชิดกับพ่อมากนัก เพราะพ่อวางตนอยู่ในฐานะที่อยู่เหนือปัญหา แต่ยามใดที่ลูกมีปัญหาที่หาทางออกไม่ได้ พ่อมักจะมีวิธีมีคำแนะนำที่ดีเสมอ วันไหนที่ขี้เกียจท้อแท้ ไม่อยากทำอะไร ก็มักจะยกเอาคำสอนของพ่อมาเป็นคติเตือนใจเสมอ “ขี้เกียจเป็นแมลงวัน ขยันเป็นแมลงผึ้ง” จะเป็นเหมือนแมลงวันหรือแมลงผึ้งตัวเราเลือกได้เอง
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
02/12/57