มีภาพถ่ายเก่าๆมากมายที่เกิดจากการเดินทางไปชมสถานที่ต่างๆ บางครั้งภาพนั้นถ่ายมาแล้วก็เก็บไว้ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์อะไร เก็บไว้ ชื่นชมคนเดียว หรือนำมาเป็นภาพประกอบบทความบ้าง แต่ภาพบางภาพแม้จะดูว่าสวยงาม แต่ก็ไม่รู้จะนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง ภาพถ่ายเหล่านั้นอย่างน้อยก็มีไว้เตือนความทรงจำว่ากาลครั้งหนึ่งเคยเดินทางไปเยี่ยมชมสถานที่แห่งนั้นมาแล้ว ภาพถ่ายคือความทรงจำที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง เป็นประวัติศาสตร์แห่งชีวิต
ดูภาพถ่ายในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติกรุงเดลี ที่อุตส่าห์เดินทางไปนั่งรอตั้งแต่เช้า สถานที่ทำการยังไม่เปิดให้บริการ ช่วงนั้นมีงานแสดงในหัวข้อ “The Body in Indian Art” มีภาพพระพุทธรูปปรากฎในป้ายโฆษณา เดินทางมากรุงเดลีทั้งทีก็ควรหาโอกาสไปเยี่ยมชมศิลปะเก่าแก่ในพิพิธภัณฑ์บ้าง
แม้จะต้องเสียค่าบริการในการถ่ายภาพค่อนข้างแพง แต่เมื่อคิดถึงสิ่งที่จะได้จากการถ่ายภาพจึงยอมจ่าย แต่ก็มีข้อแม้อีกว่าถ่ายภาพได้แต่ห้ามใช้แฟล็ชก็ต้องยอม ภาพบางภาพจึงไม่ค่อยชัด
กำลังดูภาพถ่ายจากงานแสดงทางศิลปะแห่งอินเดียจากพิพิธภัณฑ์กรุงเดลีอยู่นั้น กสิกะ ชินากรณ์ อาจารย์หนุ่มดีกรีปริญญาเอกทางพุทธศาสตร์ ก็เดินเข้ามาทักทายตามประสาคนคุ้นเคย ที่แม้จะทำงานในมหาวิทยาลัยเดียวกัน แต่ก็ไม่ค่อยได้พบกันบ่อยนัก นอกจากจะมีการประชุม หรือบังเอิญเดินสวนกันในช่วงที่เปลี่ยนชั่วโมงสอน
“นมัสการครับ หลวงตาฯ สบายดีอยู่ไหมครับ”
เงยหน้าขึ้นมองจึงตอบทักทายไปว่า “เจริญพรท่านอาจารย์ได้ข่าวว่าไปสอนที่ศรีสะเกษหรือ”
“โอ้โห หลวงตา หาเหามาใส่หัวผมแล้วไหมละครับ ไม่ได้ไปครับ อยู่ที่นี่แหละ ทำงานวิจัยนะครับ อาจจะมีบางช่วงเวลาที่จะต้องเดินทางไปเก็บข้อมูลที่ต่างจังหวัดบ้าง”
“ได้ข่าวว่าท่านอาจารย์สอนวิชาเกี่ยวกับศิลปะหรือ”
“วิชาศิลปะและวัฒนธรรมในพระพุทธศาสนานะครับ เป็นวิชาที่พานักศึกษาทัศนศึกษานอกสถานที่ ไปดูพวกอิฐ หิน ดินทราย ซากปรักหักพัง โบราณสถาน โบราณวัตถุ ของโบราณทั้งนั้นแหละครับ”
“อาตมากำลังดูภาพถ่ายทางศิลปะที่ถ่ายมาจากพิพิธภัณฑ์แห่งชาติเดลี อินเดีย เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ดูแล้วบางภาพไม่เข้าใจ บางภาพอธิบายไม่ได้ว่าทำไมจึงสร้างออกมาอย่างนั้น ท่านอาจารย์มาพอดีขอถามความรู้เกี่ยวกับศิลปะหน่อย อาจารย์พอจะมีเวลาว่างไหม”
กสิกะ รีบตอบในทันทีว่า “ยินดีอย่างยิ่งเลยครับ หลวงตา วิชานี้น่าจะเหมาะกับคนสูงอายุนะครับ”
“เราจะศึกษาศิลปะอย่างไร จะมองศิลปะอย่างไรให้ได้ประโยชน์เต็มที่”
กสิกะ ชินากรณ์ จึงเริ่มต้นอธิบายว่า “ศิลปะมีองค์ประกอบนะครับ โดยทั่วไปองค์ประกอบที่สำคัญของศิลปะคือ(1) จุด (Point)เป็นองค์ประกอบที่เล็กที่สุด จุดเป็นสิ่งที่บอกตำแหน่งและทิศทางได้การนำจุดมาเรียงต่อกันให้เป็นเส้น การรวมกันของจุดจะเกิดน้ำหนักที่ให้ปริมาตรแก่รูปทรง เป็นต้น (2) เส้น (Line)เกิดจากจุดที่ต่อกันในทางยาว หรือเกิดจากการลากเส้นไปยังทิศทางต่างๆ มีหลายลักษณะเช่น ตั้ง นอน เฉียง โค้ง เป็นต้น (3)รูปร่าง และรูปทรง (Shape and Form) รูปร่าง คือ พื้นที่ ๆ ล้อมรอบด้วยเส้นที่แสดงความกว้าง และความยาว รูปร่างจึงมีสองมิติ ส่วน “รูปทรง” หมายถึง ภาพสามมิติที่ต่อเนื่องจากรูปร่าง โดยมีความหนา หรือความลึกทำให้ภาพที่มองเห็นมีความชัดเจน และสมบูรณ์
(4) น้ำหนัก (Value) หมายถึงความอ่อนแก่ของสีหรือแสงเงาที่มาใช้ในการเขียนภาพ น้ำหนักทำให้รูปทรงมีปริมาตรและให้ระยะแก่ภาพ(5) สี (Color) เป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการทำงานศิลปะ สีจะช่วยให้เกิดความน่าสนใจ และมีชีวิตชีวาแก่ผู้ที่ได้พบเห็น อีกทั้งยังให้ความรู้สึกต่าง ๆ ได้ด้วยสีจึงมีอิทธิพลต่อจิตใจของมนุษย์เราเป็นอันมาก (6) พื้นผิว ( Texture ) หมายถึง ส่วนที่เป็นพื้นผิวของวัตถุที่มีลักษณะต่าง ๆ กัน เช่น เรียบขรุขระ หยาบ มัน นุ่ม ฯลฯ ซึ่งเราสามารถมองเห็นและสัมผัสได้ การนำพื้นผิวมาใช้ในงานศิลปะ จะช่วยให้เกิดความเด่นในส่วนที่สำคัญ และยังทำให้เกิดความงามสมบูรณ์ของศิลปะนั้นอีกด้วย
สรุปว่าเวลาที่เราศึกษาศิลปะชิ้นหนึ่ง จะต้องดูให้ครบองค์ประกอบคือจุด เส้น รูปทรง รูปร่าง การวางน้ำหนัก สี พื้นผิวว่ามีความสมบูรณ์ มีความอ่อนช้อยงดงามหรือไม่ ศิลปะแต่ละอย่างก็เน้นที่ลักษณะสำคัญต่างกัน ศิลปะนั้นเกิดจากจินตนาการของมนุษย์นะครับ ศิลปะต้องเอื้อยเพื่อชีวิต หากดูแล้วสามารถนำสิ่งที่แฝงอยู่ในงานศิลปะนั้นออกมาประยุกต์ใช้ในชีวิตได้ ศิลปะนั้นก็มีคุณค่า จากนั้นกสิกะก็ถอดพระเครื่ององค์หนึ่งส่งให้ “หลวงตาดูแล้วเห็นอะไรครับ”
จึงบอกว่า “รูปทรงดี พื้นผิวเก่าแสดงถึงความเป็นพระที่มีอายุมาก และน่าจะเป็นของหายาก ราคาคงแพง”
“เรื่องราคามาทีหลังครับ พระองค์นี้เป็นพระเนื้อดิน ดังนั้นจึงดูที่ความเก่า ส่วนพิมพ์ทรงก็ต้องกลับไปศึกษาว่าถูกต้องตามพิมพ์ของพระรุ่นนี้หรือไม่”
สิ่งที่แฝงอยู่ในศิลปะนั้นบ่งบอกถึงคุณค่าหลายประการเช่นคุณค่าทางสุนทรีย์ คุณค่าทางประวัติศาสตร์ คุณค่าทางวัฒนธรรม คุณค่าทางเชื้อชาติ ปรัชญาที่แฝงอยู่ในศิลปะ คุณค่าทางสังคม คุณค่าทางด้านภูมิศาสตร์ และคุณค่าทางจริยศาสตร์ ดังนั้นเมื่อเราดูศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่งก็ต้องศึกษาคุณค่า มองให้เห็นปรัชญาที่แฝงอยู่ในการสร้างศิลปะนั้นให้ได้ เช่นทำไมพระพุทธรูปในสมัยแรกจึงมีรูปร่างหน้าตาออกไปทางยุโรป คล้ายนักปรัชญากรีก โรมันประมาณนั้น ทั้งๆพระพุทธเจ้าเป็นชาวเอเชีย แต่รูปร่างหน้าตากลับคล้ายชาวยุโรป
กสิกะมองหน้าเหมือนกำลังรอคำตอบ เมื่อมองเห็นเครื่องหมายคำถามในดวงตาของคนฟัง กสิกะจึงสาธยายต่อไปว่า “เชื่อกันว่าพระพุทธรูปเกิดขึ้นครั้งแรกประมาณพุทธศตวรรษที่ 6 สมัยคันธารราฐ เป็นศิลปะคันธารราฐ ประมาณช่วงพุทธศตวรรษที่ 6 – 10 เกิดขึ้นโดยศิลปินกรีก โรมัน ในแคว้นคันธารราฐ ปัจจุบันคือพื้นที่ส่วนหนึ่งของแคชเมียร์และปากีสถาน ลักษณะของพระพุทธรูปมีความคล้ายกับสามัญมนุษย์มากที่สุด ก่อนหน้านั้นไม่มีคติในการสร้างรูปเหมือน มีแต่การสร้างสัญลักษณ์เช่น สถานที่ประสูติก็สร้างรูปดอกบัวหรือรอยพระพุทธบาท สถานที่ตรัสรู้ก็สร้างรูปบัลลังก์ใต้ต้นโพธิ์โยที่ไม่มีรูปพระพุทธเจ้าประทับอยู่เลยเป็นเพียงบัลลังก์เปล่า สถานที่แสดงปฐมเทศนาก็สร้างรูปธรรมจักรกับกวางหมอบ ส่วนสถานที่ปรินิพพานก็สร้างสถูปเป็นสัญลักษณ์”
เมื่อผู้สร้างพระพุทธรูปยุคแรกคือชาวกรีกรูปร่างหน้าตาจึงมีส่วนคล้ายคนสร้างอยู่บ้าง แม้ว่าคติการ สร้างพระพุทธรูปครั้งแรกในโลกนั้นจะได้ข้อมูลในการสร้างมาจาก (1) ศึกษาจากคัมภีร์มหาปุริสลักษณะ(2)นำเอารูปเคารพแบกรีกโรมันมาใช้ และ(3) ประดิษฐ์พระอุษณี(คือส่วนที่นูนออกมาจากด้านบนของพระเศียร)เพื่อแยกความแตกต่างระหว่างพระพุทธเจ้ากับพระสาวก”
ศิลปะในพระพุทธศาสนาหรือพุทธศิลป์ เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นเป็นความงามเพื่อความพอใจที่แฝงไว้ด้วยปรัชญาธรรมทางวัตถุถวายเพื่อเป็นพุทธบูชา ศิลปะที่เกิดขึ้นจากอิทธิพลของพระพุทธศาสนามีหลายประเภทเช่นจิตรกรรม ประติมากรรม เจดีย์ สถาปัตยกรรม เป็นต้น เมื่อมองพระพุทธรูปองค์หนึ่ง มองเจดีย์องค์หนึ่ง มองภาพจิตรกรรมภาพหนึ่ง หากในหัวใจมีศิลปะก็ย่อมจะมองเห็นคุณค่าแห่งความงาม ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ ได้ทราบถึงภูมิหลังทางวัฒนธรรม ได้ศึกษาปรัชญาที่แฝงอยู่ในศิลปะนั้น ได้ทราบถึงสภาพทางสังคมในยุคสมัยนั้น และได้ศึกษาแนวปฏิบัติทางจริยศาสตร์ของผู้คนที่เกิดศิลปะในยุคสมัยนั้น ผู้ที่สร้างงานศิลปะอาจจะมีวัตถุประสงค์หลายอย่าง แต่เมื่อผลงานนั้นปรากฏและผ่านกาลเวลามาหลายศตวรรษ ศิลปะก็กลายเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการศึกษาค้นคว้า ศิลปะย่อมเอื้อเพื่อชีวิต สร้างความสงบให้เกิดขึ้นในจิตใจ คนที่ใจสงบ ใจเป็นสุขอยู่ที่ไหนก็มีความสุขได้
กสิกะ ชินากรณ์ จากไปแล้ว แต่ก็ได้ฝากเนื้อหาการศึกษาทางศิลปะไว้ให้ได้ศึกษาค้นคว้าต่อไป หันกลับมาดูภาพถ่ายจากพิพิธภัณฑ์แห่งชาติเดลีอีกครั้ง มองเห็นความอ่อนช้อยที่เกิดจากลายเส้น มองเห็นความกลมกลืนและความลงตัวแห่งรูปร่าง รูปทรงสัณฐาน ศิลปะนั้นต้องมีวิธีดู หากดูให้ดีย่อมมองเห็นคุณค่าที่แฝงอย่าในงานศิลปะนั้น ศิลปะใดที่เป็นไปเพื่อความสงบสันติ ศิลปะนั้นก็เกิดขึ้นเพื่อเป็นสิ่งที่สอนสัจธรรมแห่งชีวิตแก่มวลมนุษยชาติ
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
28/11/57