ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

             ลมหนาวเริ่มมาเยือน กระแสลมโชยแผ่วมามาตั้งแต่เช้านำเอาความหนาวและความแห้งแล้งมาด้วย ใบไม้แห้งปลิดปลิวร่วงหล่นลงเกลื่อนดิน ใบไม้ก็ถึงเวลาผลัดใบ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับฤดูกาลแห่งความแห้งแล้งอันยาวนานทีกำลังจะมาเยือน ธรรมชาติมีการปรับตัวไปตามสภาพอากาศ  เพราะถ้าหากยังคงมีใบอยู่บนกิ่งก้าน ก็อาจจะต้องการอาหารมากยิ่งขึ้น ดังนั้นต้นไม้จึงต้องผลัดใบเพื่อแบ่งเบาภาระในการหาอาหาร  สิ่งหนึ่งที่มักจะมาพร้อมกับลมหนาวคือไฟซึ่งอาจจะลุกลามเผาไหม้ได้ทุกเมื่อ จึงต้องระมัดระวังคอยดูแลอาคารบ้านเรือนป้องกันไว้ก่อนดีกว่าตามแก้ไขทีหลัง  ไฟภายนอกหากไม่ตั้งอยู่ในความประมาทก็ป้องกันได้ไม่ยาก แต่ทว่าไฟภายในที่ทำให้จิตใจเร่าร้อนนั้น หากมี่ระมัดระวังให้ดีอาจจะกลายเป็นไฟเผาใจได้ทุกเวลา

            ไฟมีธรรมชาติคือความร้อน ในเขตพื้นที่ที่มีความหนาวมักจะต้องการความอบอุ่นจากไฟ ส่วนประเทศที่อยู่ในแถบร้อนก็ต้องระวังความร้อนจากเปลวไฟที่พร้อมจะลุกโชนเผาไหม้สรรพสิ่งทั้งหลายให้สูญสิ้นไปกับเปลวเพลิง ช่วงนี้ต้องระมัดระวังไฟไหม้เป็นพิเศษ เพราะอากาศแห้งซึ่งเป็นเชื้อไฟได้อย่างดี และลมแรงจะเป็นโหมกระหนำให้ไฟลุกไหม้รวดเร็ว เพียงไม่กี่เสี้ยวแห่งเวลา ทรัพย์ศฤงคารที่สร้างและเก็บสะสมมานานก็อาจจะเหือดหายกลายเป็นขี้เถ้าได้ทันที  ไฟนั้นมีทั้งไฟภายนอกที่มองเห็นได้ และมีทั้งไฟที่แอบแฝงมากับอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ตลอดจนไฟภายในที่มีทั้งความหมายที่ชัดเจนและมีทั้งที่เป็นไฟที่นำมาเปรียบเทียบ ในพระพุทธศาสนามีคำสอนอยู่บทหนึ่งว่า “ไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่านำเข้า”

          คำว่า “ไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่านำเข้า”  มีปรากฏในมโนรถปูรณี อรรถกถาอังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม 1 ภาค 2 หน้าที่ 86-101 (พระไตรปิฎกฉบับอรรถกถาเล่มที่ 33) ว่าด้วยประวัติของนางวิสาขามหาอุบาสิกา และในธัมมปทัฏฐกถา อรรถกถาขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม 1 ภาค 2 ตอน 2  หน้าที่ 73-115(พระไตรปิฎกฉบับอรรถกถาเล่มที่ 41) ว่าด้วยคาถาในปุปผวรรควรรณา เรื่องนางวิสาขา  เป็นข้อความตอนที่ ธนญชัยเศรษฐีบิดาของนางวิสาขาชาวเมืองสาเกตุ ได้ให้โอวาทแก่นางวิสาขาผู้เป็นธิดาก่อนที่จะส่งตัวให้ไปอยู่เรือนสามีคือปุณณวัฒนกุมารที่เมืองสาวัตถี  ความว่า “ธรรมดาหญิงที่อยู่ในสกุลพ่อผัวแม่ผัว  ไม่ควรนำไฟภายในออกไปภายนอก  ไม่ควรนำไฟภายนอกเข้าไปภายใน   พึงให้แก่คนที่ให้เท่านั้น  ไม่พึงให้แก่คนที่ไม่ให้  พึงให้แก่คนทั้งที่ให้ทั้งที่ไม่ให้  พึงนั่งให้เป็นสุข  พึงบริโภคให้เป็นสุข  พึงนอนให้เป็นสุข พึงบำเรอไฟ  พึงนอบน้อมเทวดาภายใน”
            เมื่อนางวิสาขา ซึ่งเป็นลูกสะใภ้ไปอยู่เรือนของสามี ไม่ค่อยถูกชะตากับพ่อผัวคือมิคารเศรษฐีสักเท่าไหร่ เนื่องเพราะนับถือศาสนาต่างกัน นางวิสาขานับถือพระพุทธเจ้าแต่มิคาระเศรษฐีนับถือนักบวชอเจลกะ(นักบวชเปลือย)  วันหนึ่งมิคารเศรษฐีทำบุญบ้านได้นิมนต์นักบวชอเจลกะมาที่บ้าน จึงสั่งให้นางวิสาขาลูกสะใภ้ให้มาทำความเคารพนักบวชเหล่านั้นที่ตนเองเข้าใจว่าเป็นพระอรหันต์

             เนื่องจากนางวิสาขาเป็นสาวิกาของพระพุทธเจ้า จึงตำหนิพ่อผัวด้วยถ้อยคำดังที่ปรากฎในอรรถกถาตอนหนึ่งว่า “นางเป็นอริยสาวิกาผู้โสดาบัน พอได้ยินคำว่า  “อรหันต์” ก็เป็นผู้ร่าเริงยินดีมาสู่ที่บริโภคแห่งอเจลกะเหล่านั้น แลดูอเจลกะเหล่านั้นแล้ว คิดว่า  “ผู้เว้นจากหิริโอตตัปปะเห็นปานนี้   ย่อมชื่อว่าพระอรหันต์ไม่ได้  เหตุไรพ่อผัวจึงให้เรียกเรามา”  เมื่อติเตียนเศรษฐีแล้วก็ไปที่อยู่ของตนตามเดิม
             วันหนึ่งมีพระภิกษุในพระพุทธศาสนาบิณฑบาตผ่านหน้าบ้านเศรษฐี นางวิสาขากำลังยืนพัดพ่อผัว จึงเลี่ยงออกมากล่าวกับพระภิกษุรูปนั้นว่า “นิมนต์ไปข้างหน้าเถิด  เจ้าข้า  พ่อผัวของดิฉันกำลังบริโภคของเก่า”    เศรษฐีพอได้ยินถ้อยคำของลูกสะใภ้เท่านั้นก็โกรธจัด สั่งให้ขับไล่ลูกสะใภ้ออกจากเรือนในบัดเดี๋ยวนั้น
             แต่ทว่าก่อนที่จะส่งลูกสาวมายังเรือนของสามีนั้น  ธนัญญชัยเศรษฐีได้ส่งพราหมณ์แปดคนเป็นผู้คอยดูแลด้วย เมื่อมีเรื่องเกิดขึ้นมิคารเศรษฐีจึงให้เชิญพราหมณ์ทั้งแปดคนมาเพื่อตัดสินคดีความของลูกสะใภ้ นางวิสาขาจึงได้แก้ข้อกล่าวหาของพ่อผัวตามคำอธิบายดังต่อไปนี้

             คำว่า “บิริโภคของเก่า” นางวิสาขาอธิบายว่า ขณะที่พระเถระผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่งยืนอยู่ที่ประตูเรือน  พ่อผัวของฉันกำลังรับประทานข้าวมธุปายาสมีน้ำน้อย  ไม่ใส่ใจถึงพระเถระนั้น ฉันคิดว่าพ่อผัวของเราไม่ทำบุญในอัตภาพนี้ บริโภคแต่บุญเก่าเท่านั้น จึงได้พูดว่านิมนต์ไปข้างหน้าเถิด เจ้าข้า พ่อผัวของดิฉันกำลังบริโภคของเก่า โทษอะไรของดิฉันจะมีในเพราะเหตุนี้เล่า
            มิคารเศรษฐีแม้จะเอาผิดนางวิสาขาไม่ได้ตามข้อกล่าวหา  จึงได้ยกเหตุการณ์หนึ่งขึ้นมาอ้างอีก “ท่านทั้งหลายโทษอันนี้ เป็นอันพ้นไปก่อน แต่วันหนึ่งในมัชฌิมยาม นางวิสาขานี้อันคนใช้ชายหญิงแวดล้อมแล้วได้ไปหลังเรือน” ดูเหมือนเศรษฐีกำลังตั้งข้อสงสัยว่านางวิสขาจะทำการอันมิบังควรอย่างใดอย่างหนึ่ง
             นางวิสาขาตอบว่า “ดิฉันไม่ได้ไปเพราะเหตุอื่น  ก็เมื่อนางลาแม่ม้าอาชาไนยตกลูกแล้วใกล้เรือนนี้ ดิฉันคิดว่าการที่นั่งเฉยไม่เอาเป็นธุระเสียเลยไม่สมควร จึงให้คนถือประทีปด้ามไปกับพวกหญิงคนใช้ ให้ทำการบริหารแก่แม่ลาที่ตกลูกแล้ว”

             ข้อกล่าวหาสองข้อเป็นอันตกไป แต่เศรษฐียังไม่ยอมจึงได้ยกถ้อยคำที่พ่อของนางวิสาขาให้โอวาทแก่ธิดา 10 ข้อก่อนจะส่งตัวมายังเรือนสามีขึ้นมาอ้าง
             นางวิสาขาจึงได้อธิบายโอวาททั้งสิบข้อมีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้ คำว่า “ไฟในอย่านำออก” หมายถึง “เมื่อเห็นโทษของแม่ผัวพ่อผัวและสามีของเจ้าแล้วอย่าเฝ้ากล่าว ณ ภายนอกคือในเรือนนั้น ๆ เพราะว่าขึ้นชื่อว่าไฟเช่นกับไฟชนิดนี้ย่อมไม่มี” เรื่องที่เกิดขึ้นภายในอย่าได้นำออกไปกล่าวให้คนภายนอกฟัง ประเดี๋ยวจะเหมือนไฟไหม้บ้าน
             คำว่า "ไฟนอกอย่านำเข้า"  หมายถึง ถ้าหญิงหรือชายทั้งหลายในบ้านใกล้ เรือนเคียงของเจ้า    พูดถึงโทษของแม่ผัวพ่อผัวและสามี  เจ้าอย่านำเอาคำที่ชนพวกนั้นพูดแล้ว มาพูดอีกว่า คนชื่อโน้น พูดยกโทษอย่างนั้นของท่านทั้งหลาย   เพราะขึ้นชื่อว่าไฟเช่นกับไฟนั่นย่อมไม่มี” เรื่องไม่ดีทั้งหลายที่เกิดขึ้นภายนอกเรือนก็อย่าได้นำเข้ามาภายในเรือน
             ส่วนโอวาทอื่นๆมีคำอธิบายดังนี้    คำว่า "ควรให้แก่คนที่ให้" หมายถึง ควรให้สิ่งของต่างๆแก่คนที่ถือเครื่องอุปกรณ์ที่ยืมไปแล้วส่งคืนเท่านั้น  ให้แก่คนที่ยืมแล้วส่งคืน  
             คำว่า "ไม่ควรให้แก่คนที่ไม่ให้ " หมายถึงไม่ควรให้แก่ผู้ที่ถือเอาเครื่องอุปกรณ์ที่ยืมไปแล้วไม่ส่งคืน ผู้ที่ยืมแล้วไม่คืนก็ให้ยืมได้ครั้งเดียวไม่ควรให้ยืมอีกเป็นครั้งที่สอง

             คำว่า "ควรให้แก่คนทั้งที่ให้ทั้งที่ไม่ให้"  หมายความว่าเมื่อญาติและมิตรยากจนมาถึงแล้วชนเหล่านั้นอาจจะใช้คืนหรือไม่อาจก็ตามให้แก่ญาติและมิตรเหล่านั้นนั่นแหละสมควรแท้  ญาติพี่น้องแม้จะยืมแล้วไม่คืน แม้จะมาหาอีกก็ควรให้ เพราะญาตินั้นมีสายสัมพันธ์แนบแน่นตัดกันไม่ขาด
             คำว่า  "พึงนั่งเป็นสุข" หมายความว่าการนั่งในที่ๆ เห็นแม่ผัวพ่อผัวและสามีแล้วต้องลุกขึ้นไม่ควร”  การเลือกที่นั่งที่เหมาะสมกับฐานะย่อมนั่งสบาย    หรือการปฏิบัติตนตามสมควรแก่ฐานะก็อยู่เป็นสุขจะลุกจะนั่งก็สบาย
             คำว่า  "พึงบริโภคเป็นสุข" หมายความว่าการไม่บริโภคก่อนแม่ผัวพ่อผัวและสามี  เลี้ยงดูท่านเหล่านั้น  รู้สิ่งที่ท่านเหล่านั้น  ทุกๆ คนได้แล้วหรือยังไม่ได้แล้ว ตนเองบริโภคทีหลังจึงควร” เลี้ยงดูให้คนอื่นให้อิ่มหนำสำราญก่อน ตนเองจึงบริโภคภายหลัง
             คำว่า "พึงนอนเป็นสุข" หมายความว่า “ไม่พึงขึ้นที่นอน นอนก่อนแม่ผัวพ่อผัวและสามี
ควรทำวัตรปฏิบัติที่ตนควรทำแก่ท่านเหล่านั้นแล้ว ตนเองนอนทีหลังจึงควร คนโบราณสอนลูกสาวผู้ที่จะเป็นแม่เรือนที่ดีไว้คือภรรยาที่ดีต้องตื่นก่อนนอนทีหลังสามี

             คำว่า  "พึงบำเรอไฟ" หมายความว่าการเห็นทั้งแม่ผัวพ่อผัวทั้งสามีให้เป็นเหมือนกองไฟและเหมือนพระยานาคจึงควร  กองไฟในเรือนหากดูแลให้ดีก็มีประโยชน์ แต่หากไม่เอาใจใส่ดูแลไฟก็พร้อมที่จะไหม้บ้านได้

             คำว่า  "พึงนอบน้อมเทวดาภายใน" หมายความว่าการเห็นแม่ผัวพ่อผัวและสามี  ให้เป็นเหมือนเทวดาจึงสมควร เมื่อเทวดาในเรือนพอใจก็ให้โชค แต่หากโกรธก็พร้อมที่จะก่อให้เกิดอันตรายได้
             โอวาททั้งสิบข้อที่ธนัญชัยเศรษฐีสอนนางวิสาขาก่อนที่จะออกเดินทางไปอยู่ที่บ้านสามี จึงเป็นเหมือนคำสอนของการเป็นแม่บ้านที่ดี บางข้อแม้จะทำได้ยาก แต่หากกระทำแล้วแม้จะดูขัดตาของพ่อผัวบ้างในตอนแรก แต่พออยู่นานไปก็จะกลายเป็นที่รักของสามีตลอดจนพ่อผัวแม่ผัว ไม่มีปัญหาระหว่างพ่อผัวและลูกสะใภ้  คนทำดีมักจะลำบากเมื่อตอนต้น แต่สบายเมื่อปลายมือ ส่วนคนทำชั่วนั้นสบายเมื่อตอนทำ แต่มักจะรับกรรมทำให้ลำบากเมื่อปลายทาง เรียกว่าต้นสบายปลายทุกข์  ความดีคนดีทำได้ง่าย  ส่วนคนชั่วทำดีได้ยาก
             ไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่านำเข้า หากนำมาประยุกต์ใช้ในสังคมปัจจุบัน โลกในยุคสื่อสังคมออนไลน์คงทำได้ไม่ง่ายนัก เพราะมักจะมีเรื่องการทะเลาะวิวาท ความไม่เข้าใจกันระหว่างคนในครอบครัวปรากฎให้เห็นอยู่เสมอ บางเรื่องเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นเรื่อง แต่เมื่อปรากฏแก่สาธารณชนแล้ว เรื่องที่มองดูธรรมดาก็อาจจะกลายเป็นประเด็นทางสังคมขึ้นมาได้ ยิ่งถูกไฟแห่งการแชร์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ยิ่งจะลุกโพลงไปทั่วโลกในเวลาเพียงไม่กี่นาที

             เรื่องบางเรื่องควรเก็บไว้รู้กันเฉพาะในครอบครัว ไม่ควรนำออกเผยแพร่ให้คนในสังคมได้รับรู้ เรื่องบางอย่างจากภายนอกหากเป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์ ไม่ก่อเกิดความสามัคคีก็ไม่ควรนำเข้ามาสนทนาในครอบครัวมีแต่จะทำให้ทุกข์ทรมานใจไปเปล่าๆ  หากจะขยายขอบเขตจากครอบครัวออกไปเป็นเรื่องของประเทศชาติบ้านเมืองที่บางเรื่องควรรับรู้กันเฉพาะในภายในประเทศ เท่านั้น ไม่ควรนำออกไปป่าวประกาศให้ประเทศอื่นได้รับรู้ และเรื่องบางเรื่องที่เกิดจากภายนอกประเทศที่ไม่เป็นสิ่งที่นำไปสู่ความสามัคคีก็ไม่ควรนำมาเป็นประเด็นหัวข้อในการสนทนา
             ไฟมีธรรมชาติคือความร้อน ไฟให้แสงสว่าง ไฟให้ความอบอุ่น ในทางตรงกันข้ามไฟก็สามารถทำลายล้างสิ่งทั้งหลายได้  ไฟในจิตใจแม้จะเร่าร้อนก็สามารถดับได้ด้วยการทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์ให้ชัดเจน เมื่อเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น ตามความเป็นจริง แม้จะอยู่กับไฟก็อยู่ได้อย่างใจสงบ เมื่อใดใจเย็นจะเห็นธรรม หากเมื่อใดใจร้อนจะนั่งจะนอนก็เร่าร้อนเหมือนนอนบนกองไฟ

 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
15/11/57

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก