ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

          วันนี้เกิดความรู้สึกว่าเป็นวันที่ไม่อยากจะทำอะไร  และไม่มีมีอะไรจะทำ เป็นวันพักผ่อนหยุดคิดเรื่องงานปล่อยจิตให้ว่างอยู่กับปัจจุบัน ตั้งแต่เช้ามาแล้วมีงานอุปสมบทงานหนึ่ง เสียงกลองยาวเริ่มบรรเลงตั้งแต่เช้า ปลุกความเงียบที่กำลังหลับใหลให้ตื่นขึ้นมาพร้อมกับเสียงดนตรี ได้แต่คิดในใจว่ายินดีต้องรับสมาชิกใหม่เข้ามาร่วมชายคาชีวิตแห่งความโดดเดี่ยวเดียวดาย ขอให้ทุกท่านได้กุศลในการบรรพชาของกุลบุตรในครั้งนี้ด้วยเถิด ชีวิตในร่มเงาแห่งสมณะไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ยิ่งในช่วงที่ไม่มีอะไรจะทำ  ชีวิตยิ่งเปลี่ยวเหงา หากทนอยู่กับปัจจุบันได้ก็สามารถอยู่รอดปลอดภัยได้

           มองไปที่บริเวณลานวัด นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จำนวนหนึ่งอยู่ในชุดที่เตรียมพร้อมสำหรับการเข้ารับปริญญา เดินผ่านลานวัดไปยังมหาวิทยาลัย นักศึกษาเหล่านี้ซ้อมรับปริญญามาหลายวันแล้ว ลานจอดรถในบริเวณวัดจึงแน่นขนัดไปด้วยรถราหลากหลายชนิด เพราะผู้ที่เข้ารับปริญญาส่วนหนึ่งคือผู้ที่ทำงานแล้ว จึงมักจะมีเงินมากพอที่จะซื้อรถใช้ส่วนตัวสักคัน เรียนจบมีงานทำ มีเงิน มีบ้าน มีรถ นั่นเป็นเหมือนปรัชญาของคนในยุคสมัยนี้ ทำตนเป็นเหมือนเศรษฐีแม้จะอยู่ในบ้านเช่า

           สายัณหสมัยสายลมโชยแผ่วมาเบาๆจึงเดินไปที่ศาลาพักร้อน อันที่จริงเคยเป็นธรรมาสน์ที่ใช้ในงานเทศน์มหาชาติ เป็นกระท่อมมุงด้วยหญ้าคา แต่พอเสร็จงานจึงนำไปวางไว้หน้ากุฏิเพื่อที่จะได้เป็นที่พักผ่อนหลบแดด หลบฝนของผู้คนที่ผ่านมาผ่านไป บางคนอาศัยเป็นที่นอนชั่วคราว นอกจากนั้นในตอนเย็นๆก็มักจะมีพระภิกษุสามเณรมานั่งอ่านหนังสือเล่น ได้ประโยชน์หลายด้านทั้งมีความเป็นธรรมชาติและมีประโยชน์ใช้สอย  มีใครไม่รู้เรียกกระท่อมแห่งนี้ว่า “กระท่อมคนจร” เพราะมักจะมีคนพเนจรมาอาศัยนอนอยู่เป็นประจำ
           ชายในวัยกลางคนคนหนึ่งนุ่งกางเกงขาสั้น สวมเสื้อผ้าเก่าๆ มองดูเผินๆเหมือนคนพลัดถิ่นที่กำลังหลงทาง กำลังนั่งเล่นคนเดียวอยู่ใกล้ๆศาลามุงหญ้าคานั้นก่อนแล้ว เมื่อเข้าไปใกล้จึงเอ่ยทักว่า “ลุงมาทำอะไรที่นี่”
           “ผมมาจากต่างจังหวัดมาเยี่ยมลูกสาวและลูกเขยครับ เขาทั้งสองมีอาชีพขับรถมอเตอร์ไซด์รับจ้าง พักอยู่ในซอยหลังวัดนี่เอง ในบ้านมันร้อนผมเลยมานั่งเล่นในวัดนี่แหละครับ เย็นสบายดี”
           “ลุงมาจากไหน มาทำอะไรที่กรุงเทพฯ”

         “ผมมาจากจังหวัดกาฬสินธุ์ครับ มาร่วมงานหลานสาวจะเข้ารับปริญญาในวันที่ 12 พฤศจิกายนนี่ครับ เสร็จงานถึงจะกลับ หลานสาวผมเรียนจบที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ นี่เองครับ”
           พูดถึงหลานสาวลุงก็แสดงอาการแห่งความสุข  “ผมมีอาชีพทำไร่ทำนา แต่ลูกสาวมาทำงานที่กรุงเทพฯ นานมาแล้วครับ หาเงินส่งหลานสาวเรียนจนจบปริญญาตรี ผมก็มาแสดงความยินดีในความสำเร็จครับ”
           “ลุงไม่คิดจะอยู่กรุงเทพฯกับลูกสาวหรือ”
           ลุงรีบตอบทันใดโดยแทบจะไม่ต้องเสียเวลาคิดว่า “ไม่ดีกว่าครับ ผมขออยู่กับท้องไร่ท้องนาดีกว่า อากาศดี ชีวิตมีอิสระ ไม่ต้องเป็นลูกจ้างใคร เป็นนายจ้างตัวเอง เพียงแต่ขยันทำงานก็ไม่มีวันอดตายครับ ขอเป็นชาวนาธรรมดาดีกว่าครับ”
           “ข้าวกล้าเป็นอย่างไรบ้างตอนนี้”

           “ปีนี้ดีครับ ผมปลูกข้าวไว้หลายพันธุ์ กลับไปคราวนี้คงจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ ค่อยๆทยอยเก็บเกี่ยวไปเรื่อยๆไม่รีบร้อนครับ ยังไงข้าวก็ขายได้ เพราะคนต้องกินข้าว หากได้ราคาดีก็รีบขาย หากราคาไม่ดีก็เก็บไว้ รอจนกว่าจะได้ราคาที่พอใจ ผมปลูกข้าวหอมมะลิด้วยยังไงก็ขายได้ ราคาไม่ค่อยตกหรอกครับ ชีวิตชาวนาหากไม่โลภมากและใจร้อนเกินไป ก็พออยู่ได้อย่างสบายครับ”
           “ไม่ประกันราคาข้าวกับเขาหรือ”
           “ผมไม่เข้าร่วมโครงการ ผมเป็นชาวนา ไม่ใช่นักการเมือง ไม่ค่อยรู้เรื่องหรอกครับ สำหรับผมมีที่นานิดหน่อย  ทำนาพออยู่พอกินในรอบหนึ่งปีเท่านั้น เสร็จจากหน้านาพอเก็บเกี่ยวเสร็จก็ปลูกผักผลไม้ ใช้ฟางแห้งจากทุ่งนานั่นแหละเป็นปุ๋ย ขุดสระไว้ในที่นาเก็บกักน้ำไว้ใช้จนถึงหน้าแล้ง เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ไว้กินไข่กินเนื้อ อยากกินปลาก็ลงไปที่สระน้ำ เหลือกินก็ขาย  หากไม่วิ่งตามความอยาก ไม่วิ่งตามนักการเมือง ชีวิตชาวนาอยู่สบายครับ ที่เดือดร้อนทุกวันนี้ส่วนหนึ่งมาจากความไม่รู้จักพอครับ”

           ความไม่รู้จักพอเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งที่แฝงอยู่ในจิตใจมนุษย์  หากมีปริมาณมากเกินไปก็จะกลายเป็นความดิ้นรน แสวงหาเพื่อสนองตอบความต้องการของตน เมื่อใดก็ตามหากรู้จักคำว่า “พอ”  คำเดียวจะประกอบอาชีพอะไรก็อยู่อย่างมีความสุขได้  โบราณมีคำกลอนอยู่บทหนึ่งว่า “ความไม่พอใจจนเป็นคนเข็ญ พอแล้วเด่นเป็นเศรษฐีมหาศาล”  คนที่รู้จักพอจึงเป็นเหมือนเศรษฐีในเรือนยาจก  แต่ถ้าเขามีแต่ความงกก็เป็นเหมือนยาจกในเรือนเศรษฐี
           ความไม่รู้จักพอเรียกว่า “ความโลภ” แปลว่า ความอยาก ความดิ้นรน เป็นธรรมะข้อหนึ่งที่ทำให้เกิดการทำความชั่ว เรียกว่า “อกุศลมูล”  มีสามอย่างคือ โลภะ โทสะ โมหะ แปลว่า “โลภ โกรธ หลง” ธรรมทั้งสามประการนี้เกิดขึ้นในผู้ใดแล้วก็ย่อมเบียดเบียนผู้นั้น เหมือนขุยไผ่ย่อมเกิดขึ้นเพื่อทำลายต้นไผ่  ดังที่แสดงไว้ในอกุศลมูลสูตร ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ(บาลี: 25/228/264) ความว่า “โลภะ โทสะ และโมหะ เกิดแล้วในตนย่อมเบียดเบียนบุรุษผู้มีจิตอันลามก เหมือนขุยของตน ย่อมเบียดเบียนไม้ไผ่ ฉะนั้น”
           ภาษาบาลีใช้คำว่า  “โลโภ โทโส จ โมโห จ    ปุริสํ ปาปเจตสํ 
              
                      หึสนฺติ อตฺตสมฺภูตา         ตจสารํว สมฺผลนฺติ ฯ 

           โลภะ โทสะ โมหะหรือโลภ โกรธ หลง ผู้คนต่างก็เคยได้ยินจนเป็นคำธรรมดาไปแล้ว แต่ทว่าทั้งสามประการนั้นเป็นมูลเหตุของการทำความชั่วเลยทีเดียว หากเมื่อใดที่จิตใจถูกกิเลสทั้งสามประการนั้นเข้าครอบงำก็ยากจะถอนตนให้พ้นจากอำนาจได้ เพียงความโลภอย่างเดียวหากเกิดขึ้นในจิตใจของผู้ใดแล้วย่อมนำพาไปสู่ทางปฏิบัติที่ผิดได้ง่ายๆ หากเมื่อใดความโลภในจิตใจบรรเทาเบาบางลง ก็ย่อมจะพอใจในความเป็นอยู่ของตน เมื่อนั้นแม้จะมีทรัพย์สมบัติไม่มาก แต่ก็เป็นคนรวยได้
           “วิถีชีวิตชาวบ้านธรรมดาอย่างผมมีสามอย่างที่ถือว่าสำคัญที่สุดในชีวิตครับ คือลูกเรียนจบปริญญา ลูกได้อุปสมบท และลูกแต่งงานครับ ทั้งสามงานนี้ต้องไปร่วมให้ได้ ผมมีแต่ลูกสาว ไม่มีลูกชายจึงไม่ได้ไปร่วมงานบวช แต่วันนี้หลานสาวรับปริญญาจึงต้องมาให้ได้ครับ”

           เห็นเพียงลักษณะภายนอกที่ใส่เสื้อผ้าเก่าๆ แต่งตัวธรรมดาอย่าได้นึกดูหมิ่นไป คุณลุงชาวนาคนนั้นมีแนวคิดที่ไม่ธรรมดา เป็นผู้ที่เข้าใจโลก เข้าใจธรรมชาติมนุษย์  ยินดีตามที่ตนพอหาได้ พอใจในสิ่งที่ตนมี พอเมื่อไหร่เป็นเศรษฐีเมื่อนั้น เขาจึงเป็นเหมือนเศรษฐีแม้จะอยู่ในลักษณะรูปลักษณ์ของยาจก  เป็นเศรษฐีในเรือนยาจก ดีกว่าเป็นยาจกในเรือนเศรษฐี

 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
09/11/57

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก