ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

             เสียงเพลงวันลอยกระทงโหมกระหน่ำมาตั้งแต่เช้า จนกระทั่งเที่ยงคืนจึงเลิกรา แม้ว่าวันลอยกระทงประจำปีนี้จะไม่ตรงกับวันหยุดราชการ ความสนุกสนานครื้นเครงก็ไม่ได้ลดน้อยลงไปเท่าใดนัก ตอนกลางวันทำงานตามปกติ พอเลิกงานก็เที่ยวงานวันลอยกระทงที่มีอยู่แทบทุกพื้นที่ในประเทศไทย ใครอยู่ใกล้ที่ไหนหรือสะดวกที่ไหนก็ไปร่วมงานได้ บางแห่งจัดเป็นวาระแห่งชาติกันเลยทีเดียว บางพื้นที่จัดเป็นงานประจำจังหวัด บางแห่งก็เพียงแต่จัดงานเล็กๆในท้องถิ่นหรือชุมชน เพราะลอยกระทงที่เมืองไทยเป็นงานประเพณีมีชื่อเสียงโด่งดังไปไกล แม้แต่เพลงลอยกระทงก็เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก

             ปีนี้วัดมัชฌันติการาม บางซื่อจัดงานลอยกระทงเล็กๆ เนื่องเพราะคลองหน้าวัดกำลังมีการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย ยังมีเครื่องมือก่อสร้างกองระเกะระกะเต็มไปหมด ท่าน้ำจึงไม่ค่อยสะดวกสำหรับการจัดงานวันลอยกระทง แต่ทางวัดบอกว่าเพื่อรักษาประเพณีอันดีงามของคนไทยไว้ แม้จะไม่สะดวกอย่างไรก็ขอให้มีงาน อย่างน้อยพุทธศาสนิกชนคนที่พำนักอยู่ใกล้วัดจะได้ไม่ต้องเดินทางไกลไปถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจัดงานใหญ่มีมหรสพสมโภชตลอดงาน  บางคนอาจจะชอบบรรยายแห่งความเรียบง่ายก็ได้

             ญาติโยมทั้งหลายจึงช่วยกันผลิตกระทง จุดมุ่งหมายแรกคือทำกระทงเพื่อตัวเอง ทำกระทงเพื่อถวายพระภิกษุสามเณร และหากผลิตได้เกินคนละหนึ่งกระทงก็จะนำมาวางไว้เพื่อให้ผู้ที่ไม่มีกระทงได้บูชา เป็นการหาทุนเข้าวัด
           วัสดุที่ใช้มาจากสวนของชาวบ้านเช่นต้นกล้วย ใบกล้วย ชาวสวนรอบๆวัดก็บริจาคมา ดอกไม้ก็ได้มาจากเจ้าของสวนดอกไม้ ธูปเทียน ก็ได้มาจากพระภิกษุสามเณรที่เก็บไว้จากการที่มีงานต่างๆ ดังนั้นวัสดุทั้งหลายจึงไม่ได้ซื้อหาแต่ประการใด ใครมีอะไรก็นำมาบริจาคช่วยกัน

             สถานที่ผลิตก็ใช้ศาลาการเปรียญ ผู้ผลิตก็คือญาติโยมทั้งหลายที่มาวัดเป็นประจำทุกวันพระอยู่แล้ว เสร็จจากการฟังพระธรรมเทศนา ก็ลงมือทำกระทงตามแต่ว่าใครจะมีวิธีการอย่างไร ใครจะประดิษฐ์คิดค้นรูปแบบอย่างไรก็ทำได้ตามสะดวก
             งานนี้ไม่มีค่าจ้าง ไม่มีรายได้ อาหารก็ได้มาจากอาหารบิณฑบาตที่พระภิกษุสามเณรออกบิณฑบาตในตอนเช้า หรือไม่ก็มาจากอาหารที่ญาติโยมนำมาทำบุญถวายภัตตาหารพระภิกษุในตอนเช้า ใครจะผลิตกระทงเพื่อลอยเองก็ทำได้ 
             หลวงพ่อ หลวงพี่ สามเณรบางรูปนั่งดูการผลิตสักพักก็สามารถทำเองได้ ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีก็ได้กระทงมาหนึ่งอัน

             บ่ายแล้วเดินไปที่ศาลาการเปรียญ เห็นเด็กน้อยสองคนกำลังทำกระทง จึงแวะเข้าไปชวนคุยเล่นตามประสาคนแก่แต่หัวใจเด็ก “ทำเป็นหรือจ๊ะ หลวงพ่อขอถ่ายรูปสวยๆหน่อย”
             ตอนแรกเด็กน้อยก็ไม่ค่อยอยากคุย เพราะยังเกรงว่าหลวงพ่อจะมาไม้ไหน แต่พอถ่ายรูปไปสักสองสามรูปและนำภาพให้ดู เด็กทั้งสองก็เริ่มสนุกโพสต์ท่าให้ถ่ายรูปและเริ่มคุยกันได้
             “สนใจแต่เด็กนะหลวงพ่อ ไม่เห็นสนใจคนแก่บ้างเลย”  ได้ยินเสียงคุณยายแทรกเข้ามา หันไปดูจึงเห็นคุณยายกำลังผลิตกระทง  กล้องในมือจึงหันไปที่คุยยายโดยมีเด็กๆเดินตามเพราะอยากจะดูภาพถ่ายของตัวเอง

             “ปีนี้หลวงพ่อไม่ทำกระทงเองหรือเจ้าคะ” เสียงใครคนหนึ่งเอ่ยทักเข้ามา  ยังไม่ทันตอบคำถามก็มีคนชวนแทรกเข้ามาว่า “นิมนต์มาทางนี้อุปกรณ์มีพร้อม เจ้าคะ”
             หันไปดูเห็นคุณแม่ชี อายุมากกว่าเจ็ดสิบปีแล้วกำลังนั่งทำกระทงอย่างตั้งใจ จึงเดินเข้าไปใกล้ๆ กำลังจะเริ่มลงมือกระทำก็มีเสียงอุบาสกคนหนึ่งเอ่ยถามขึ้นว่า “ลอยกระทงนี้มีความเป็นมาอย่างไร ลอยเพื่ออะไรกันแน่ครับ”
             กำลังจะเป็นผู้ผลิตกระทงเลยต้องกลายมาเป็นผู้ตอบคำถามแทน “อาจจะมีความเป็นมาหลายอย่างและมีวัตถุประสงค์หลายประการ เท่าที่ศึกษามาสรุปได้ 7 ประการได้แก่ (1) การลอยกระทง เพื่อบูชารอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า ที่หาดทรายริมแม่น้ำนัมมทานที เมื่อคราวเสด็จไปแสดงธรรมโปรดในนาคพิภพ(2) เพื่อบูชาพระจุฬามณีบนสวรรค์ ซึ่งเป็นที่บรรจุพระเกศาของพระพุทธเจ้า(3) เพื่อต้อนรับพระพุทธเจ้า ในวันเสด็จกลับจากเทวโลก เมื่อครั้งเสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทรงเทศนาอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา มีรอยพระบาทบนดาวดึงส์หนึ่งรอยด้วย (4) เพื่อบูชาพระอุปคุตตะเถระ ซึ่งบำเพ็ญเพียรบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึกหรือสะดือทะเล(5) เพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้าตามคติพราหมณ์ คือบูชาพระนารายณ์ซึ่งบรรทมสินธุ์อยู่ในมหาสมุทร (6)  เพื่อบูชาท้าวพกาพรหม บนพรหมโลก (7) ลอยกระทงเพื่อขอขมาแก่พระแม่คงคา

             ความเชื่อดั้งเดิมที่สุดน่าจะเป็นข้อแรกคือเพื่อบูชารอยพระบาทของพระศาสดาที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทา มีหลักฐานปรากฏในอรรถกถาปุณโณวาทสูตร ปปัญจสูทนี มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม 3 ภาค 2 หน้า 449   มีข้อความโยสังเขปว่า “เมื่อครั้งที่พระบรมศาสดาเสด็จไปเยี่ยมพระปุณณะที่สุนาปรัตชนบท ได้เสด็จข้าแม่น้ำนิมมทา พระยานาคให้การต้อนรับและพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรดพระยานาค  นาคราชนั้นกราบทูลขอว่าได้โปรดประทานสิ่งที่พึงบำเรอแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงแสดงบทเจดีย์รอยพระบาท ไว้ที่ฝั่งแม่น้ำนิมมทา  รอยพระบาทนั้น เมื่อคลื่นซัดมาก็ถูกปิดเมื่อคลื่นเลยไปแล้วก็ถูกเปิด กลายเป็นรอยพระบาทที่ถึงสักการะอย่างใหญ่
             รอยพระบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนิมมทาแห่งนี้จึงน่าจะเป็นที่มาของการลอยกระทงเพื่อบูชารอยพระบาท 

             ในอรรถกถาชื่อแม่น้ำและชื่อพระยานาคเขียนเป็น “นิมมทา” แต่ในอรรถกถาปุณณสูตร สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม 4 ภาค 1  หน้าที่ 131 เขียนเป็น “นัมมทา”  ในมฆวปุปผิยเถราปทาน ขุททกนิกาย อปทาน (32/287/166) ภาษาบาลีเขียนเป็น “นมฺมทา” จากคำว่า “นมฺมทานติยา ตีเร  สยมฺภู อปราชิโต” ซึ่งกล่าวถึงพระมฆวปุปผิยเถระกล่าวถึงอดีตชาติที่เคยบูชาพระพุทธเจ้าด้วยดอกดีหมี ที่ใกล้ฝั่งแม่น้ำนัมมทา ความว่า “พระสยัมภูผู้ไม่แพ้อะไรๆ ท่านมีอินทรีย์ผ่องใสไม่ขุ่นมัว เข้าสมาธิอยู่ในที่ใกล้ฝั่งแม่น้ำนัมมทานที ในกาลนั้น เราได้เห็นพระสัมพุทธเจ้าผู้ไม่แพ้อะไรๆ แล้ว เกิดเลื่อมใสโสมนัส ได้บูชาองค์พระสยัมภูด้วยดอกดีหมีในกัลปที่ 91 แต่กัลปนี้ เราได้บูชาพระพุทธเจ้าด้วยดอกไม้ใด ด้วยการบูชานั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8 และอภิญญา 6 เราทำให้แจ้งชัดแล้วพระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้วดังนี้”       

             ผู้ที่มีจิตเลื่อมใสบูชาในรอยพระบาทย่อมได้รับอานิสงส์ตามสมควร ดังที่พระปทสัญญกเถระได้กล่าวถึงอดีตชาติของตนที่เคยเลื่อมใสในรอยพระบาทของพระพุทธเจ้านามว่าติสสะ ดังที่มีปรากฎในปทสัญญกเถราปทาน  ขุททกนิกาย อปทาน  (32/74/144) ความว่า “ ก็เราได้เห็นรอยพระบาทที่พระผู้มีพระภาคพระนามว่าติสสะ ผู้เป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์ ทรงเหยียบไว้ เป็นผู้มีใจร่าเริงโสมนัส ยังจิตให้เลื่อมใสในรอยพระบาท ในกัลปที่ 92 แต่กัลปนี้ เราได้สัญญาใดในกาลนั้นด้วยสัญญานั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งสัญญาในรอยพระบาท ในกัลปที่ 7 แต่กัลปนี้ ได้มีพระเจ้าจักรพรรดิจอมกษัตริย์พระนามว่าสุเมธ ทรงสมบูรณ์ด้วยแก้ว 7ประการ มีพลมาก คุณวิเศษเหล่านี้ คือปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8 และอภิญญา 6 เราทำให้แจ้งชัดแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้”           
             ส่วนคติความเชื่ออื่นๆนั้นได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้เข้ากับสภาพของความเชื่อตามลัทธิของตน จน “ลอยกระทง” ได้กลายมาเป็นวัฒนธรรมไทยไปในที่สุด

             ที่มีคนกล่าวขานและนำมาอ้างอิงมากที่สุด “ประเพณีลอยกระทง” น่าจะเริ่มต้นที่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานี โดยนางนพมาศได้ผลิตกระทงที่สวยงามถวายแด่พระร่วงเจ้า จนกลายเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนาน
             กระทงที่เริ่มลงมือทำด้วยตนเองได้ไปเพียงครึ่งเดียว ยังไม่อาจนับว่าเป็นกระทงที่สมบูรณ์ได้ เสียงเครื่องขยายเสียงเปิดเพลงลอยกระทงเป็นการโหมโรงของงานวันลอยกระทงแทรกเข้ามา จึงต้องเปลี่ยนหน้าที่ใหม่ไปเป็นโฆษกงานวัดแทน ปล่อยให้กระทงใบนั้นเป็นเพียงกระทงครึ่งใบที่ผู้ทำไม่อาจจะทำให้สวยงามดั่งที่ใจคิดได้  ปีนี้เห็นที่คงต้องลอยกระทงครึ่งใบไปก่อน    
 


พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
07/11/57

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก