ตามธรรมชาติของมนุษย์ย่อมชอบคำสรรเสริญมากกว่าคำนินทา เกลียดทุกข์รักสุข ชอบลาภสักการะมากกว่าการสูญสิ้นสักการะ มนุษย์ส่วนหนึ่งจึงทำใจยอมรับสิ่งที่ไม่ชอบใจได้ยากกว่าสิ่งที่ชอบใจ แต่ทว่าทั้งสิ่งที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนาย่อมเกิดขึ้นได้กับมนุษย์ทุกรูปนาม จะยากมีมีจนอย่างไรก็ต้อยอมรับสภาพที่เกิดขึ้นให้ได้ ความวุ่นวายของสังคมโลกส่วนหนึ่งมักจะมาจากการที่มนุษย์ไม่พอใจในสิ่งที่ตนเองเป็นอยู่ จึงกระทำการบางอย่างเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตนปรารถนา บางครั้งเพียงแค่การกระทำของคนเพียงไม่กี่คนก็อาจจะก่อให้เกิดสงครามได้ การดำเนินชีวิตอย่างสมนึกตนพอเพียง ยินดีในสิ่งที่ตนเองเป็นไม่ไปทำร้ายผู้อื่นเป็นอีกการกระทำหนึ่งที่จะทำให้สังคมร่มเย็นได้ พระพุทธศาสนามีลักษณะของการทำตนอย่างหนึ่งว่า ผู้ที่มีจิตเสมอด้วยโคเขาขาด จะทำให้เกิดสันติสุขได้ จะอยู่ที่ไหนก็สบาย จะไปไหนก็สะดวก
เมื่อครั้งที่สอบได้เปรียญธรรมสามประโยคใหม่ๆ หลวงพ่อพระอุปัชฌาย์จัดงานฉลองให้ นัยว่าเพื่อเป็นการประกาศให้ชาวบ้านได้รับรู้ว่าบัดนี้พระภิกษุที่ส่งไปเรียนหนังสือที่วัดในเมืองเมื่อสองสามปีก่อนนั้นได้กระทำการสำเร็จแล้ว นั่นคือมีคำนำหน้าเปลี่ยนจากพระธรรมดา เป็น “พระมหา” ซึ่งหลวงพ่อบอกว่าเป็นพระมหารูปแรกนับตั้งแต่ที่ได้ตั้งวัดนี้มา
พระอุปัชฌาย์เล่าให้ชาวบ้านฟังว่า “หลวงพ่อพยายามเรียนภาษาบาลีมานานหลายปี สอบในสนามหลวงหลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยสอบได้สักครั้ง จนกระทั่งเมื่อมารับตำแหน่งเจ้าอาวาส งานมากขึ้น มีเวลาในการศึกษาน้อยลง แม้จะพยายามสอบแต่ก็สอบไม่ผ่าน จึงไม่ได้เป็นพระมหาเปรียญ ต่อมาจึงได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครู เลยไม่ได้เข้าสอบอีกเลย”
“อาตมามีความหวังอยู่อย่างหนึ่งคืออยากให้มีพระภิกษุจากวัดบ้านนอกแห่งนี้สอบได้เป็นพระมหาเปรียญสักรูป จึงพยายามส่งพระภิกษุสามเณรเข้าไปศึกษาในวัดที่มีการเรียนการสอนภาษาลี ในจังหวัดนี้ก็มีเพียงแห่งเดียวเป็นศูนย์ศึกษาภาษาบาลีแห่งภาคอีสาน แต่หลายรุ่นมาแล้วก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ หากไม่ลาสิกขา ก็มักจะเข้าป่าออกเที่ยวธุดงค์กรรมฐานกลายเป็นพระป่าไปหมด ส่งไปกี่รุ่นก็มักจะออกมาในทำนองนี้ เกือบสามสิบปีมาแล้วที่พยายามอย่างนี้ แต่ก็ไม่เคยมีพระภิกษุรูปใดสอบได้เป็นพระมหาเปรียญ จนกระทั่งมีพระรูปนี้สอบได้เป็นพระมหาเป็นรูปแรก” หลวงพ่อปัชฌาย์ปรารภให้ญาติโยมทั้งหลายฟังเหมือนกำลังเล่าประวัติของวัดและความฝันของพระภิกษุในวัยชรา
การฉลองพระมหาเปรียญสมัยนั้นไม่มีมีอะไรเป็นพิเศษเพียงแต่จัดงานที่วัด นิมนต์พระภิกษุจากวัดต่างๆมาเจริญพุทธมนต์ นิมนต์พระมาแสดงธรรม และพอถึงตอนเย็นก็ปฏิบัติธรรม ไม่ได้มีมหรสพอะไรเป็นพิเศษ แม้ว่างานเรียบง่ายแต่ผู้มาร่วมงานก็มีความสุข
ในตอนท้ายหลวงพ่ออุปัชฌาย์ได้ฝากคำสอนพิเศษสำหรับเป็นคติเตือนใจพระมหาเปรียญใหม่ว่า “เมื่อเป็นพระมหาแล้วก็อย่าได้ทะนงตนไปว่าเราเก่งกว่าคนอื่น ดีกว่าคนอื่น การศึกษาเป็นเพียงก้าวแรกของการปฏิบัติธรรมเท่านั้น จงทำตัวเหมือน “โคเขาขาด” อย่าได้ใช้ความรู้ไปทำร้ายใคร”
นึกภาพโคเขาขาดออกไหม เมื่อโคไม่มีเขา จึงไม่อาจจะต่อสู้กับโคตัวอื่นๆได้ มันจึงต้องทำตัวสงบเสงี่ยม แม้จะอยู่ในฝูงโคอื่นๆ ก็ต้องคอยระวังตัว เพราะเกรงว่าจะถูกทำร้าย เนื่องจากเขาขาดเสียแล้ว แม้ใจจะคิดสู้ แต่เนื่องเพราะสภาพร่างกายไม่เอื้ออำนวยก็ต้องระมัดระวังให้มาก
คำสอนของหลวงพ่อในวันนั้น จึงพยามทำตัวเหมือนโคเขาขาด แต่ไม่รู้ว่าหลวงพ่อนำมาจากไหน จนกระทั่งเมื่อเรียนสูงขึ้น ก็ได้พบคำสอนเกี่ยวโคเขาขาดในพระไตรปิฎกเป็นเรื่องที่พระสารีบุตรถูกพระภิกษุรูปหนึ่งกล่าวโทษว่าเวลาเดินผ่านชายจีวรของพระสารีบุตรไปกระทบเข้ากับพระภิกษุรูปนั้น แต่พระสารีบุตรไม่ได้กล่าวขอโทษ พระภิกษุรูปนั้นเข้าใจผิดคิดว่าพระสารีบุตรคิดว่าตนเองเป็นถึงพระอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า จึงทำตนยิ่งใหญ่ เมื่อพระพุทธเจ้าเรียกพระสารีบุตรมาพบ พระสารีบุตรจึงได้เปรียบเทียบตัวเองว่าไม่เคยคิดทำร้ายใคร เพราะตนเองเป็นภิกษุที่ “มีใจเสมอด้วยแผ่นดิน มีใจเสมอด้วยไฟ มีใจเสมอด้วยลม มีใจเสมอด้วยผ้าเช็ดธุลี มีใจเสมอด้วยกุมารหรือกุมาริกา และมีใจเสมอด้วยโคเขาขาด” ดังที่แสดงไว้ในวุฏฐิสูตร อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต (23/215/390) มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โคเขาขาด สงบเสงี่ยม ได้รับฝึกดีแล้ว ศึกษาดีแล้ว เดินไปตามถนนหนทาง ตามตรอกเล็กซอกน้อย ก็ไม่เอาเท้าหรือเขากระทบอะไรๆ แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล มีใจเสมอด้วยโคเขาขาด อันไพบูลย์ กว้างใหญ่ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กายคตาสติ อันภิกษุใดไม่เข้าไปตั้งไว้แล้วในกาย ภิกษุนั้นกระทบเพื่อนพรหมจรรย์รูปหนึ่งในพระธรรมวินัยนี้แล้ว ไม่ขอโทษ พึงหลีกจาริกไปเป็นแน่”
ในคำอื่นๆมีคำอธิบายโดยสังเขปว่า “มีใจเสมอด้วยแผ่นดิน” มีคำอธิบายว่า “ชนทั้งหลายทิ้งของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง โลหิตบ้างลงบนแผ่นดิน แผ่นดินก็ไม่อึดอัดระอาหรือเกลียดชังด้วยสิ่งนั้น แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล มีใจเสมอด้วยแผ่นดินอันไพบูลย์ กว้างใหญ่ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
คำว่า “มีใจเสมอด้วยน้ำ” มีคำอธิบายว่า “ ชนทั้งหลายย่อมล้างของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง โลหิตบ้าง ลงในน้ำ น้ำก็ไม่อึดอัดระอาหรือเกลียดชังด้วยสิ่งนั้น แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล มีใจเสมอด้วยน้ำอันไพบูลย์กว้างใหญ่ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
คำว่า “มีใจเสมอด้วยไฟ” มีคำอธิบายว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไฟย่อมเผาของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง โลหิตบ้าง ไฟย่อมไม่อึดอัดระอาหรือเกลียดชังด้วยสิ่งนั้น แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล มีใจเสมอด้วยไฟอันไพบูลย์ กว้างใหญ่ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
คำว่า “มีใจเสมอด้วยลม” มีคำอธิบายว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ลมย่อมพัดซึ่งของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง โลหิตบ้าง ลมย่อมไม่อึดอัดระอาหรือเกลียดชังด้วยสิ่งนั้น แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็เหมือนกันฉันนั้นแล มีใจเสมอด้วยลมอันไพบูลย์ กว้างใหญ่ ไม่มีประมาณไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
คำว่า “มีใจเสมอด้วยผ้าเช็ดธุลี” มีคำอธิบายว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผ้าสำหรับเช็ดธุลี ย่อมชำระของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง โลหิตบ้าง ผ้าเช็ดธุลีย่อมไม่อึดอัดระอาหรือเกลียดชังด้วยสิ่งนั้น แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล มีใจเสมอด้วยผ้าสำหรับเช็ดธุลีอันไพบูลย์ กว้างใหญ่ ไม่มีประมาณไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
คำว่า “มีใจเสมอด้วยกุมารหรือกุมารี” มีคำอธิบายว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กุมารหรือกุมาริกาของคนจัณฑาลถือตะกล้า นุ่งผ้าเก่าๆ เข้าไปยังบ้านหรือนิคม ย่อมตั้งจิตนอบน้อมเข้าไป แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล มีใจเสมอด้วยกุมารหรือกุมาริกาของคนจัณฑาล อันไพบูลย์กว้างใหญ่ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
คำว่า “มีใจเสมอด้วยโคเขาขาด” มีคำอธิบายว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โคเขาขาด สงบเสงี่ยม ได้รับฝึกดีแล้ว ศึกษาดีแล้ว เดินไปตามถนนหนทาง ตามตรอกเล็กซอกน้อย ก็ไม่เอาเท้าหรือเขากระทบอะไรๆ แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล มีใจเสมอด้วยโคเขาขาด อันไพบูลย์ กว้างใหญ่ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กายคตาสติ อันภิกษุใดไม่เข้าไปตั้งไว้แล้วในกาย ภิกษุนั้นกระทบเพื่อนพรหมจรรย์รูปหนึ่งในพระธรรมวินัยนี้แล้ว ไม่ขอโทษ พึงหลีกจาริกไปเป็นแน่”
ยังสงสัยอยู่ว่าทำไมพระอุปัชฌาย์จึงสอนให้ทำตนเป็นเหมือนโคเขาขาด ไม่สอนด้วยคำอื่นๆ ดังที่มีแสดงไว้ในวุฏฐิสูตร จนกระทั่งวันหนึ่งในอีกหลายปีต่อมา ในขณะที่กำลังบีบนวดเฟ้นหลวงพ่อตามปกติ ซึ่งเป็นเหมือนหน้าที่ของพระภิกษุสามเณรทุกรูปจะต้องเข้าเวรเพื่อบีบนวดหลวงพ่อหลังทำวัตรเย็นเสร็จ บีบไปตามแต่จะคิดได้ นวดตามคำบอก ทั้งๆที่ไม่เคยเรียนมาจากที่ไหน บีบนวดไปก็ฟังหลวงพ่ออธิบายธรรมไป จนกระทั่งหลวงพ่อหลับ จึงแยกย้ายกลับยังกุฏิที่พักของตน เป็นการศึกษาจากคำบอกเล่าโดยตรง น่าจะใกล้เคียงกับการศึกษาในสมัยโบราณที่เรียกว่า “มุขปาฐะ” เป็นการเรียนการสอนอย่างใกล้ชิดระหว่างอาจารย์และลูกศิษย์ ฟังมาจากคำบอกเล่าจากปากโดยตรงหรือฟังจากที่เฉพาะหน้า คำว่า “มุข” ภาษาบาลี แปลว่า ปาก หรือ หน้า
ขณะที่กำลังบีบนวดหลวงพ่ออยู่นั้น ก็ได้เอ่ยถามคำถามที่ค้างคาในใจมานานว่า “ทำไมหลวงพ่อจึงบอกให้ผมทำตนเหมือนโคเขาขาด ทำไมไม่เป็นแผ่นดิน หรือผ้าเช็ดเท้าขอรับ”
หลวงพ่ออุปัชฌาย์ยิ้มอย่างอารมณ์ดีก่อนจะบอกว่า “มุทุลุดุดันดื้อดึงอย่างคุณนี่นะ ต้องเป็นโคเขาขาด จะได้ไม่คิดไปท้ารบกับใคร อย่าคิดว่าตัวเองเก่งกว่าคนอื่น อย่าใช้ความรู้ที่เรียนมาไปทำร้ายใคร” อธิบายได้ชัดเจนแจ่มชัดถึงใจอย่างนั้นก็ต้องยอม
คำว่า “โคเขาขาด” แปลมาจากภาษาบาลีว่า “อุสภจฺฉินฺนวิสาณสาเมน” หากแยกคำก็จะเป็น "อุสโภ ฉินฺนวิสาโณ" ในอรรถกถาอธิบายไว้สั้นๆว่า ได้แก่เช่นกับจิตของโคุสภะเขาขาด”
หลวงพ่อพระอุปัชฌาย์มรณภาพไปนานหลายปีแล้ว พระมหาเปรียญใหม่รูปนั้นซึ่งปัจจุบันก็ยังเป็นพระมหาเปรียญเหมือนเดิม จึงทำตนเป็นเหมือนโคเขาขาดเหมือนที่หลวงพ่อเคยสอนไว้ ดำรงตนอยู่อย่างสำนึกตน และพยายามฝึกทำตนให้เป็นผู้มีจิตเสมอด้วยแผ่นดิน แม้ว่าชนทั้งหลายจะทิ้งของที่สะอาดหรือไม่สะอาดลงมายังแผ่นดิน ดินก็ไม่เคยบ่น ไม่เคยอึดอัดหรือเกลียดชังคนเหล่านั้นเลย หากใครที่ฝึกจิตใจให้มั่นคงดุจแผ่นดินได้ อยู่ที่ไหนก็ใจเป็นสุข
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
24/10/57