ความหวังความปรารถนาของมนุษย์นั้นเหมือนห้วงน้ำใหญ่ที่ไหลบ่าดูเหมือนจะไม่มีวันสิ้นสุด ยิ่งในช่วงหน้าฝนที่ฝนตกลงมาเป็นประจำอยู่ด้วยแล้ว น้ำที่ไหลนองหากไม่มีที่ไปก็จะท่วมขังอยู่บนพื้นดิน รอแสงแดดมาแผดเผาจนกว่าจะเหือดแห้งกลายเป็นไอน้ำลอยขึ้นสู่ห้วงนภากาศ ห้วงน้ำยังมีวันแห้ง แต่ความปรารถนาของมวลมนุษยชาติดูเหมือนจะไม่มีวันเหือดแห้ง ยิ่งได้อาหารมาเติมเชื้อแห่งความอยาก ยิ่งเพิ่มทวีความปรารถนามากยิ่งขึ้น การทำความปรารถนาให้เต็มเป็นสิ่งที่ทำได้ยากยิ่ง
ฝนยังคงโปรยปรายพื้นดินชุ่มน้ำ บางแห่งยังมีน้ำนองขัง หลังทำวัตรเช้าเดินออกจากพระอุโบสถ มีชายคนหนึ่งเข้ามาหา ท่าทางเหมือนพึ่งเดินทางไกล เสื้อผ้าอาภรณ์เก่าเปียกชุ่มเหมือนเดินตากฝนมาไกล ชายคนนั้นนั่งยองๆประนมมือก่อนจะบอกว่า “หลวงพ่อครับผมหิวข้าว ยังไม่ได้กินข้าวเลยครับ ผมขอเงินหลวงพ่อซื้อข้าวกินหน่อยครับ”
ตามปกติมักจะพบเห็นคนประเภทนี้อยู่เป็นประจำ แต่เมื่อมีคนขอก็มักจะไม่ปฏิเสธ ให้เท่าที่จะทำให้เขาพอยังอัตภาพให้เป็นไปได้ เพราะตัวเราเองก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไร พอมีอยู่มีกินไปวันๆเหมือนกัน บางวันอาจจะหิวโหยบ้าง แต่ก็ต้องหาวิธีผ่านวันเวลาไปให้ได้ ความหิวไม่ปราณีใคร บางคนอาจจะไม่คุ้นเคยกับความหิวเพราะไม่มีจะกิน บางคนมีมากจนไม่รู้จะเลือกกินอะไร ชีวิตของมนุษย์มักจะเป็นไปเช่นนี้ เวลาไม่อดมักจะไม่อยาก แต่เวลาอยากมักจะอด ส่วนคนที่ไม่มีอะไรจะกินคำว่า “อดอยาก” มักจะเดินทางมาพร้อมกัน
มนุษย์มีความปรารถนาไม่เหมือนกัน บางคนสมปรารถนา แต่บางคนไม่สมปรารถนา บางสิ่งที่เราปรารถนามักไม่สมประสงค์ ธรรมอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจของมนุษย์ แต่หาได้ยากนั้น ในพระพุทธศาสนามีแสดงไว้ในอิฏฐสูตร อังคุตรนิกาย ทสกนิบาต (ภาษาไทย ฉบับหลวง 24/73/139) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมสิบประการนี้ เป็นธรรมอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ หาได้ยากในโลก คือโภคสมบัติ วรรณะ ความไม่มีโรค ศีล พรหมจรรย์ มิตร ความเป็นพหูสูต ปัญญา ธรรม สัตว์ทั้งหลาย”
ธรรมแต่ละอย่างมีอาหารที่จะทำให้ความปรารถนาสำเร็จได้ หากเข้าใจวิธีการในการแสวงหาย่อมทำให้ความปรารถนาสำเร็จได้ มีคำอธิบายขยายความต่อไปในพระสูตรเดียวกันว่า “ความไม่เกียจคร้าน ความขยันหมั่นเพียรเป็นอาหารของโภคสมบัติ การประดับ การตกแต่งร่างกาย เป็นอาหารของวรรณะ การกระทำสิ่งเป็นที่สบาย เป็นอาหารของความไม่มีโรค ความเป็นผู้มีมิตรดีเป็นอาหารของศีลทั้งหลาย การสำรวมอินทรีย์ เป็นอาหารของพรหมจรรย์ การไม่แกล้งกล่าวให้คลาดจากความจริง เป็นอาหารของมิตรทั้งหลาย การกระทำการสาธยาย เป็นอาหารของความเป็นพหูสูต การฟังด้วยดี การสอบถาม เป็นอาหารของปัญญา การประกอบความเพียร การพิจารณาเป็นอาหารของธรรมทั้งหลาย การปฏิบัติชอบ เป็นอาหารของสัตว์ทั้งหลาย
ดูกรภิกษุทั้งหลายธรรมสิบประการนี้เป็นอาหารของธรรมสิบประการนี้แล ซึ่งเป็นธรรมอันน่าปรารถนา น่าใคร่น่าชอบใจ หาได้ยากในโลก”
อยากได้โภคสมบัติแต่เกียจคร้านไม่ขยันในการทำงานจะหาโภคสมบัติได้จากที่ใด อยากสวยอยากงามแต่ไม่ตกแต่งร่างกาย ไม่ดูแลสุขภาพ วรรณผิวพรรณจะผ่องใสได้อย่างไร หากไม่ทำในสิ่งที่พอเหมาะไม่ทำในสิ่งที่สบายต่อร่างกายเมื่อเกิดโรคภัยขึ้นมาจะไปกล่าวโทษใครได้ ความเป็นผู้มีมิตรสหายที่ดีย่อมทำให้เกิดความประพฤติดีงามได้ง่าย การประพฤติพรหมจรรย์หากไม่สำรวมระวังอินทรีย์คือตา หู จมูก ลิ้น กายใจแล้วพรหมจรรย์ย่อมไม่อาจจะงดงามบริบูรณ์ ในการคบค้าสมาคมกับมิตรสหายต้องมีสัจจะความจริงใจต่อกันจึงจะทำให้มิตรภาพยืนยาว อยากเป็นคนมีความรู้เป็นพหูสูตรแต่ไม่ท่องบ่นสาธยายไม่ศึกษาหาความรู้จะเป็นผู้รู้ได้อย่างไร อยากมีปัญญาแต่ฟังใครไม่เป็น ถามใครไม่เป็นปัญญาก็ย่อมเกิดขึ้นได้ยาก การประกอบความเพียร การพิจาณาโดยแยบคายเป็นวิถีทางของการปฏิบัติธรรม และสรรพสัตว์ทั้งหลายหากปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบปฏิบัติตามสมควรแก่สภาวะของตนแล้ว ปัญหาต่างๆก็จะเบาบางลง
โลกนี้มีปัญหาส่วนหนึ่งเพราะมนุษย์ไม่ปฏิบัติตนตามหน้าที่ของตน บางคนเอาแต่คอยตำหนิติติงคนอื่น ไม่ยอมทำหน้าที่ของตน หากทุกคนทำตามหน้าที่ของตนแล้วโลกจะมีแต่สันติสุข โบราณว่ามนุษย์มีสามหน้าคือ “หน้านอก หน้าใน และหน้าที่” หน้านอกบอกความงาม หน้าในบอกความดี ส่วนหน้าที่บอกความสามารถ หากปฏิบัติตนตามสมควรในหน้าทั้งสามแล้ว สิ่งที่ตั้งความปรารถนาไว้แม้จะยากก็จะสำเร็จได้ตามที่หวัง
ชายคนนั้นเมื่อได้เงินก็จากไป บังเอิญว่าตอนนั้นยังไม่อยากกลับกุฏิ จึงเดินไปที่สำนักงานเลขานุการของวัดซึ่งอยู่อีกด้านหนึ่ง เพื่อสอบถามเรื่องการจัดงานมหาชาติที่ผ่านมาว่ามีอะไรขาดเหลือ มีรายจ่ายอะไรบ้างที่ยังไม่ได้จ่าย นั่งสนทนากับเลขานุการวัดได้สักพัก ชายคนเดิมก็เดินเข้ามาและบอกกับเลขาวัดว่า “หลวงพี่ครับผมหิวข้าวขอเงินซื้อข้าวกินสักมื้อหน่อยครับ” ตอนนั้นนั่งหันหลังให้เมื่อได้ยินเสียงจึงหันกลับมา ชายคนนั้นมองมาพอดี พอเห็นหน้าชายคนนั้นรีบก้มกราบและรีบเดินจากไปโดยไม่รอรับเงินที่เอ่ยปากขอ
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
30/09/57