การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานหรือประสบความสำเร็จบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้นั้นย่อมเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ จุดมุ่งหมายของแต่ละย่อมแตกต่างกันไปตามแต่ใครจะกำหนดจุดมุ่งหมายไว้ เป้าหมายมีทั้งใกล้และไกล บางคนใช้เวลาทั้งชีวิตจึงจะไปถึงจุดหมายได้ แต่บางคนใช้เวลาไม่นาก็สามารถไปถึงจุดหมายได้ แต่บางคนไปไม่ถึง จนมีคนพูดกันเล่นๆว่า “ฝันไว้ไกล เลยไปไม่ถึง” ส่วนผู้ที่ไปถึงเพราะ “ฝันไม่ไกล เลยก้าวไปถึง” ดังนั้นการวางเป้าหมายในการดำเนินชีวิตจึงมีความสำคัญไม่แพ้วิธีการ ถ้าวิธีการดี เป้าหมายไม่ไกลเกินย่อมก้าวไปถึงได้ในไม่ช้า
วันนั้นสอนเสร็จก็เดินออกจากห้องเรียนที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย กำลังจะกลับห้องทำงานก็มีเสียงทักจากด้านหลังว่า “นมัสการครับ ท่านอาจารย์จำผมได้ไหมครับ”
ได้ยินคำถามอย่างนี้ตอบยากทุกที เพราะเมื่ออายุมากขึ้นความจำกลับสั้นลง มักจะคิดชื่อคนไม่ค่อยออก ยิ่งจากกันนานหลายปี บางทีจำหน้าได้แต่คิดชื่อไม่ออก ครั้นจะบอกว่าจำได้ก็เกรงว่าจะถูกถามกลับว่าผมเป็นใคร ครั้นจะบอกว่าจำไม่ได้ก็เกรงว่าจะถูกกล่าวหาว่าเป็นคนลืมง่าย สิ่งที่ทำได้ตอนนั้นคือนิ่งไม่ตอบคำถามในทันที
ผมเคยเรียนวิชาตรรกศาสตร์กับท่านอาจารย์นานหลายปีมาแล้วครับ ตอนนี้เรียนจบปริญญาเอกแล้ว มาเยี่ยมสถาบันเก่านะครับ โชคดีที่พบกับท่านอาจารย์ ผมชื่อพระมหา ดร.เอก(นามสมมุติ)”
พอท่านเอ่ยนามจึงพอนึกขึ้นได้ นานหลายปีมาแล้ว จำได้ว่าที่เชียงใหม่ตอนนั้นกำลังเรียนปริญญาโท สาขาปรัชญาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นช่วงเดียวกับที่วิทยาเขตล้านนาเปิดเรียน จึงเข้าไปช่วยสอนในบางรายวิชาในระดับปริญญาตรี เวลาผ่านมายี่สิบปีแล้ว มีนักศึกษาจบไปแล้วจำนวนมาก อาจารย์มักจะจำนักศึกษาไม่ค้อยได้ แต่นักศึกษามักจะจำอาจารย์ได้
จึงนิมนต์ท่านพระมหา ดร.ไปสนทนาที่ห้องทำงาน สนทนาฟื้นความหลังสักพักจึงวกเข้าสู่สิ่งที่อยากรู้จึงเอ่ยถามในสิ่งที่อยากรู้ว่า “ท่านมหาครับ มีวิธีการเรียนอย่างไรจึงสำเร็จปริญญาเอก หากไม่เป็นการรบกวนกรุณาบอกวิธีการเป็นวิทยาทานด้วยครับ”
พระมหา ดร. เอก ยิ้มก่อนจะเริ่มอารัมภกถาว่า “ผมเรียนจบที่เมืองไทยครับ แม้ในสมัยปัจจุบันจะมีสถานที่ศึกษาที่มีความพร้อมในการเปิดสอนในระดับปริญญาเอกหลายแห่ง แต่ทว่าค่าใช้จ่ายก็ยังแพงมากโขอยู่ นับเฉพาะค่าเทอมก็สามารถซื้อรถได้หนึ่งคัน ดังนั้นผู้ที่จะเรียนจบได้ประการแรกต้องมีเงินค่าเทอม สำหรับผมแล้วพอสรุปได้สั้นดังนี้ “ต้องมีเงิน มีเวลา มีวิชาและมีสุขภาพดี” โดยไม่เปิดโอกาสให้ถาม พระมหาดร.เอก ก็สาธยายต่อไปว่า
การศึกษาในระดับปริญญาที่สูงกว่าปริญญาตรี ต้องใช้เงินมาก ค่าเทอมก็มากขึ้น ดังนั้นจึงต้องมีเงินพอประมาณ อย่างน้อยก็ต้องพอจ่ายค่าเทอมในแต่ละเทอมซึ่งส่วนมากจะเป็นหลักหมื่นบาทขึ้นไป ยิ่งในระดับปริญญาเอกเทอมหนึ่งครึ่งแสนบาท ยังมีค่าใช้จ่ายอย่างอื่นอีกจิปาถะ ค่ากิจกรรมค่าเดินทางไปศึกษาดูงานในต่างประเทศ ต้องใช้เงินทั้งนั้น ดูเหมือนว่าการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาจะสงวนไว้สำหรับคนมีเงิน ลูกคนจนคงไม่มีเงินจ่ายค่าเทอมได้ หากรัฐจะส่งเสริมการศึกษาจริงๆก็ต้องลดค่าใช้จ่ายลง คนจนจะได้มีโอกาสในการศึกษามากขึ้น ผมโชคดีที่มีหลวงพ่อเจ้าอาวาสให้การสนับสนุนด้านการเงินจึงไม่ลำบากมากนัก”
จึงบอกว่า “มหาวิทยาลัยที่จัดการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีก็ต้องหางบประมาณมาบริหารกันเอง ทั้งค่าจ้างอาจารย์สอนชั่วโมงหนึ่งก็ต้องใช้เงินมาก ค่าเอกสาร ค่าตำรา ตลอดจนอุปกรณ์การศึกษาอย่างอื่นก็ต้องใช้เงินงบประมาณจากนักศึกษาทั้งนั้น ผมว่าปัจจุบันค่าใช้จ่ายก็น้อยลงบ้างแล้ว มีเวลานี้หมายถึงอะไรครับ”
“มีเวลา” สำหรับผมหมายถึงเวลาในการศึกษาค้นคว้า แม้ว่าทุกคนจะมีเวลาวันละยี่สิบสี่ชั่วโมงเท่ากัน แต่สำหรับบางคนหาเวลาในการศึกษาได้ยากยิ่ง เพราะต้องยอมรับเบื้องต้นก่อนว่า การศึกษาในระดับนี้ ผู้ที่มาศึกษาส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่มีงานทำแล้ว ต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพ บางคนมีครอบครัวแล้ว มีภาระมาก การที่จะปลีกเวลามาเข้าห้องเรียน มาเขียนงานวิจัยนั้นแสนยาก จึงต้องบริหารเวลาให้ดี
“มีวิชา” เป็นประเด็นที่ต่อเนื่องมาจากเวลา การศึกษาระดับนี้ในเมืองไทยส่วนมากยังใช้แผนการศึกษาสองอย่างคือการเรียนภาคทฤษฎี และการเขียนวิทยานิพนธ์ ภาคทฤษฎีแม้จะดูไม่ยากแต่ที่มีปัญหามากที่สุดคืองานมอบหมายจากอาจารย์ นักศึกษาส่วนหนึ่งทำงานส่งอาจารย์ไม่ทัน ยิ่งบางรายวิชามีอาจารย์สอนหลายคนงานมอบหมายก็มากขึ้น มีนักศึกษาส่วนหนึ่งไม่ส่งงานตามที่ได้รับมอบหมาย เพราะอ้างว่าไม่ค่อยมีเวลา วิชาที่จะพึงเกิดจากการศึกษาค้นคว้าจึงไม่พอ เมื่อมาเขียนวิทยานิพนธ์ก็ไม่รู้จะเขียนอย่างไร วิเคราะห์ปัญหาไม่แตก ทำให้เขียนต่อไม่ได้เป็นต้น
“มีสุขภาพดี” ข้อนี้ดูเหมือนว่าไม่น่าจะมีปัญหา แต่กลับเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุด บางคนตอนเริ่มเรียนสุขภาพดีมาก แต่พอเรียนไปสักพักเหมือนฟ้ากลั่นแกล้ง แรงที่มีก็หดหายเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาต้องรักษา คนที่สุขภาพไม่พร้อมก็เรียนต่อไม่ได้ บางคนเรียนปีสุดท้ายแล้ว เกิดป่วยขึ้นมาก็ต้องหยุดพักการเรียน ผมเคยมีเพื่อนท่านหนึ่งไปเรียนปริญญาเอกที่อินเดียเขียนวิทยานิพนธ์จบแล้ว กำลังรอสอบจบ แต่เกิดเจ็บป่วย แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต้องรักษาอย่างเร่งด่วนต้องตัดสินใจว่าจะรักษาชีวิตไว้หรือจะเอาปริญญา เป็นช่วงที่ตัดสินใจยากที่สุดในชีวิต ในที่สุดท่านก็เลือกปริญญา เดินทางไปสอบจนจบ แต่พอกลับมาได้ไม่นานก็เสียชีวิต สิ่งที่ทุ่มเทมาทั้งหมดก็ไม่มีความหมาย
สิ่งที่สำคัญที่สุดในการศึกษาเริ่มต้นที่ “พอใจทำ แข็งใจทำ ตั้งใจทำ และฉลาดทำ” แปลมาจากหลักธรรมในพระพุทธศาสนาที่เรียกว่าอิทธิบาทสี่เป็นทางแห่งความสำเร็จคือฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ท่านอาจารย์ไปแปลเอาเองก็แล้วกันนะครับ” ท่านพระมหา ดร.เอก จบการสนทนาดื้อๆ พร้อมทั้งทิ้งประเด็นปัญหาเหมือนการมอบหมายงานให้ไปค้นคว้าประมาณนั้น จากนั้นก็ลากลับ
เกิดความสงสัยขึ้นมาว่า “คำว่าอิทธิบาทที่เคยแปลตั้งแต่เมื่อครั้งที่เรียนนักธรรมว่า อิทธิบาทหมายถึง คุณเครื่องให้ถึงความสำเร็จ คุณธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จแห่งผลที่มุ่งหมาย” แท้จริงและพระบรมศาสนามีความปรารถนาจะสอนใคร เมื่อสืบค้นจากพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลี โดยอาศัยคำแปลภาษาไทยจากฉบับหลวงก็พบว่า มีปรากฏในสังคีติสูตร ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค (11/231/233) ความว่า อิทธิบาท 4 อย่าง (1) ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญอิทธิบาท อันประกอบด้วยฉันทสมาธิปธานสังขาร(2) ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยวิริยสมาธิปธานสังขาร(3) ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยจิตตสมาธิปธานสังขาร(4) ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยวิมังสาสมาธิปธานสังขาร”
มีคำอธิบายปรากฎในอภิธรรมปิฎก วิภังคปกรณ์ (35/505/292) ความว่า คำว่า “ฉันทะ” คือความพอใจ การทำความพอใจ ความใคร่เพื่อจะทำ ความฉลาด ความพอใจในธรรมนี้เรียกว่า ฉันทะ”
คำว่า “วิริยะ” (35/510/294) คือ การปรารภความเพียรทางใจ ฯลฯ สัมมาวายามะ อันใด นี้เรียกว่า วิริยะ
คำว่า “จิต” (35/513/295) คือ จิต มโน มานัส ฯลฯ มโนวิญญาณธาตุที่สมกัน อันใด นี้เรียกว่า จิต
คำว่า “วีมังสา” (35/516/296) คือปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลง ความวิจัยธรรม สัมมาทิฏฐิอันใด นี้เรียกว่าวีมังสา
ภาษาบาลีเขียนเป็น “วีมํสา” ภาษาไทยเขียนเป็น “วิมังสา หรือวีมังสา” เป็นคำนามอิตถีลิงค์แปลว่าการพิจารณา
คำว่า "อิทธิ" (35/517/297) ได้แก่ ความสำเร็จ ความสำเร็จด้วยดี การสำเร็จ การสำเร็จด้วยดี ความได้ ความได้อีก ความถึง ความถึงด้วยดี ความถูกต้อง ความกระทำให้แจ้งความเข้าถึง ซึ่งธรรมเหล่านั้น
คำว่า "อิทธิบาท" ได้แก่ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์วิญญาณขันธ์ ของบุคคลผู้บรรลุธรรมเหล่านั้น
คำว่า "เจริญอิทธิบาท" ได้แก่ ย่อมเสพ เจริญ ทำให้มาก ซึ่งธรรมเหล่านั้น ด้วยเหตุนั้นจึงเรียกว่า เจริญอิทธิบาท
อิทธิบาทแม้จะเป็นหลักการในการเจริญสมาธิของภิกษุ แต่ก็สามารถนำมาประยุกต์ในการงานอื่นๆได้ ยังมีคำอธิบายเกี่ยวกับอิทธิบาทไว้อีกหลายแห่งเช่นในอิทธิปาทสูตร อังคุตรนิกาย ปัญจกนิบาต(22/67/93) แสดงไว้ห้าประการ ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง ย่อมเจริญ ย่อมทำให้มากซึ่งธรรม 5 ประการ ภิกษุหรือภิกษุณีรูปนั้น พึงหวังได้ผล 2 ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คืออรหัตผลหรือเมื่อมีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี ในปัจจุบันนี้เทียว ธรรม 5 ประการเป็นไฉน คือ(1) ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วยฉันทสมาธิและปธานสังขาร (2) ย่อมเจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วยวิริยสมาธิและปธานสังขาร (3) ย่อมเจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วยจิตตสมาธิและปธานสังขาร (4) ย่อมเจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วยวิมังสาสมาธิและปธานสังขาร (5) ย่อมเจริญวิริยะอย่างยิ่งเป็นที่ 5 ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง ย่อมเจริญ ย่อมทำให้มาก ซึ่งธรรม 5 ประการนี้แลภิกษุหรือภิกษุณีรูปนั้น พึงหวังได้ผล 2 ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ อรหัตผลหรือเมื่อมีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี ในปัจจุบันนี้เทียว”
การที่จะประกอบการงานอะไรให้สำเร็จได้นั้น ในหลักการนี้จึงเริ่มต้นที่คำว่า “ฉันทะคือความพอใจ” จากนั้นก็ตามมาด้วย “วิริยะคือความเพียร” ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องมี “จิตตะความเอาใจใส่” และปิดท้ายด้วย “วิมังสาคือคอยตรวจสอบ ไตร่ตรอง ทดสอบ ใช้ปัญญาพิจารณา” งานทั้งหลายที่ดำเนินไปตามแนวทางนี้ย่อมจะสำเร็จได้ตามจุดมุ่งหมายที่วางไว้
ต้องขอบคุณพระมหา ดร. ท่านนั้นที่ได้เล่าประสบการณ์ในการศึกษาในระดับปริญญาเอกให้ฟัง ขออนุญาตนำเผยแผ่ เผื่อว่าบางทีอาจจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่กำลังศึกษาหรือผู้ที่กำลังคิดจะศึกษา หรือหากใครที่กำลังท้อแท้สิ้นหวังก็อย่างพึ่งด่วนตัดสินใจ ค่อยคิดพิจารณาย่อมหาทางออกได้ โลกนี้มีปัญหา คนที่มีปัญญาหาทางออกได้เสมอ หากเริ่มต้นด้วยฉันทะคือความพอใจ มีความเพียรเพียงพอ เอาใจใส่และคอยพิจารณาตรวจสอบแก้ไขจุดอ่อน หรือจะท่องเป็นวลีสั้นๆว่า “พอใจทำ แข็งใจทำ ตั้งใจทำ และฉลาดทำ” วางเป้าหมายไว้ไม่ไกลเกินฝัน มีวิธีการในการดำเนินไปสู่เป้าหมายอย่างถูกต้อง สักวันก็ย่อมไปถึงจุดหมายปลายทางแห่งความฝันจนได้
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
22/09/57