สำนักศาสนศึกษาวัดมัชฌันติการาม จัดสอบนักธรรมในสนามวัด เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่จะเข้าสอบนักธรรมในสนามหลวง นักเรียนแผนกนักธรรมมีตั้งแต่อายุ 12 ปี จนถึงอายุ 70 ปี เรียนด้วยกัน เรียนอย่างเดียวกัน ข้อสอบอย่างเดียวกัน การศึกษาแบบนี้คงมีอยู่แต่ในวัด เพราะอายุของผู้เรียนแตกต่างกันมาก การทำความเข้าใจ การวิเคราะห์ย่อมแตกต่างกัน เพราะพื้นฐานของแต่ละท่านไม่เท่ากัน สามเณรน้อยพึ่งเรียนจบชั้นประถมปีที่หก ส่วนพระภิกษุบางรูปเรียนจบปริญญาตรีมาแล้ว แต่ต้องมาเรียนเนื้อหาเดียวกัน หลักสูตรของคณะสงฆ์ไทยแผนกนักธรรมเป็นไปในทำนองนี้มานานศตวรรษแล้ว
กำลังตรวจข้อสอบนักธรรมของนักเรียน ก็มีสามเณรน้อยรูปหนึ่งอายุ 12 ปี เดินเข้ามาหาและบอกว่า “อาจารย์ใหญ่ครับผมไม่เรียนนักธรรม และบาลีได้ไหมครับ ผมจะเรียนแผนกสามัญอย่างเดียวได้ไหม”
อาจารย์ใหญ่ยังคิดหาคำตอบไม่ได้ จึงบอกให้สามเณรน้อยกลับไปสอบให้เสร็จเสียก่อน เพราะตอนนั้นคิดไม่ออกจริงๆว่าจะตอบคำถามของสามเณรน้อยรูปนั้นอย่างไรดี
หลักสูตรนักธรรมและบาลีของคณะสงฆ์ใช้มานานมากแล้ว ไม่ค่อยได้รับการปรับปรุงแก้ไข กำหนดให้มีการสอบปีละครั้ง หากสอบตกก็ต้องเริ่มต้นเรียนใหม่ ไม่มีโอกาสได้สอบแก้ตัว ในขณะที่หลักสูตรแผนกสามัญสอบผ่านปีละชั้น จึงมองเห็นอนาคต เรียนหกปีก็จบหลักสูตรชั้นมัธยมศึกษาปีที่หก จากนั้นก็สามารถเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยต่างๆได้
ส่วนหลักสูตรแผนกบาลียังพอมีโอกาสสอบซ่อมได้บ้าง หากสอบได้วิชาใดวิชาหนึ่ง ก็สามารถเข้าสอบแก้ตัวได้อีกหนึ่งครั้งในเดือนต่อมา แม้จะกำหนดไว้อย่างนั้นแต่จำนวนพระภิกษุสามเณรที่สอบผ่านแผนกบาลีก็ยังมีน้อย ที่เรียนอยู่บางส่วนจึงเรียนเพราะความจำเป็น ถูกขอร้องให้เรียน ถูกบังคับให้เรียนตามกฎของวัด เพราะหากไม่เรียนก็ไม่มีสิทธิ์อยู่จำพรรษาในวัดนั้นเป็นต้น
วัดในกรุงเทพมหานครยิ่งรับพระภิกษุสามเณรเข้าอยู่ในสังกัดยาก เพราะมีผู้ต้องการเข้ามาพักอยู่จำพรรษามาก ในขณะที่วัดในชนบทกำลังขาดแคลนพระภิกษุสามเณร บางแห่งถึงกลับต้องกำหนดเงินเดือนให้เพื่อที่จะทำให้วัดมีพระจำพรรษา
สาเหตุหนึ่งเนื่องเพราะวัดในชนบทไม่ค่อยมีกิจกรรมให้พระภิกษุสามเณรทำมากนัก อยู่เฉยๆทำกิจวัตร ทำวัตร สวดมนตร์ หรือหากจะมีก็จะมีบ้างก็มีเพียงการเรียนการสอนในแผนกนักธรรม ส่วนแผนกบาลีหาครูสอนยาก หานักเรียนก็ยาก วัดในชนบทจึงไม่ค่อยมีสำนักไหนเรียนบาลี
อีกสาเหตุหนึ่งเพราะโรงเรียนปริยัติธรรมแผนกสามัญเปิดสอนในระดับชั้นมัธยมต้นและปลาย เรียนแล้วสอบผ่านได้ปีละชั้น ไม่นานก็จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่หก สามารถเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้ทั่วประเทศ มองเห็นอนาคตได้ดีกว่าการเรียนบาลีเพียงอย่างเดียว
วัดมัชฌันติการามมีข้อกำหนดว่าสามเณรที่จะเข้ามาอยู่จำพรรษาในวัดนี้จะต้องเรียนนักธรรมจนจบชั้นสูงสุดคือนักธรรมเอก และจะต้องเรียนภาษาบาลีอย่างน้อยก็ขอให้สอบได้เปรียญธรรมสามประโยค ส่วนการศึกษาอย่างอื่นปล่อยให้ไปเรียนได้อย่างเสรี
การศึกษาเล่าเรียนเป็นธุระหน้าที่ที่สำคัญในพระพุทธศาสนา ซึ่งระบุธุระไว้สองประการดังที่แสดงไว้ในอรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม 1 ภาค 2 ตอน 1 หน้าที่ 15 ความว่า ครั้งหนึ่งพระมหาปาละได้ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า “พระเจ้าข้าในพระศาสนานี้มีธุระกี่อย่าง”
พระศาสดาตรัสตอบว่า “ภิกษุ ธุระมีอย่างอย่าง คือ คันถธุระ กับวิปัสสนาธุระเท่านั้น”
พระมหาปาละทูลถามว่า “พระเจ้าข้า ก็คันถธุระเป็นอย่างไร วิปัสสนาธุระเป็นอย่างไร”
พระศาสดาตรัสตอบว่า “ธุระนี้คือการเรียนนิกายหนึ่งก็ดี สองนิกายก็ดี จบพุทธวจนะคือพระไตรปิฏกก็ดี ตามสมควรแก่ปัญญาของตนแล้วทรงไว้ กล่าวบอก พุทธวจนะนั้น ชื่อว่าคันถธุระ. ส่วนการเริ่มตั้งความสิ้นและความเสื่อมไว้ในอัตภาพ ยังวิปัสสนาให้เจริญ ด้วยอำนาจแห่งการติดต่อแล้ว ถือเอาพระอรหัตของภิกษุผู้มีความประพฤติแคล่วคล่อง ยินดียิ่งแล้วในเสนาสนะอันสงัด ชื่อว่าวิปัสสนาธุระ
ดังนั้นพระภิกษุสามเณรจึงต้องเลือกดำเนินวิถีชีวิตแห่งความเป็นสมณะตามแนวแห่งคันถะธุระและวิปัสสนาธุระ เมื่อยังเป็นหนุ่มร่างกายแข็งแรง สมองกำลังดีจึงควรเลือกดำเนินตามวิถีแห่งการศึกษา หากชราภาพแล้วเรียนไม่ไหวก็ต้องดำเนินตามแนวแห่งวิปัสสนา หรืออาจจะมีบ้างที่ถือปฏิบัติวิปัสสนาตั้งแต่ยังหนุ่ม การศึกษาเล่าเรียนของคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบันจึงมีสี่แผนกคือแผนกนักธรรม แผนกบาลี แผนกปริยัติสามัญ และแผนกอุดมศึกษา
จะเรียนปริยัติไปเพื่ออะไรนั้น ในอรรถกถาอัคคลัทธูปมสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม 1 ภาค 2 หน้าที่ 305 ได้แสดงปริยัติไว้สามประการความว่า “ปริยัติมี 3 คือ อลคัททปริยัติ นิตถรณปริยัติ ภัณฑาคาริกปริยัติ”
มีคำอธิบายโดยสังเขปดังต่อไปนี้ “บรรดาปริยัติทั้งสามนั้น ภิกษุใดเล่าเรียนพุทธวจนะ เหตุปรารภลาภสักการะว่า เราจักได้จีวรเป็นต้นหรือคนทั้งหลายจักรู้จักเราในท่ามกลางบริษัทสี่อย่างนี้ ปริยัตินั้นของภิกษุนั้น ชื่อว่า “อลคัททปริยัติ”
จริงอยู่การไม่เล่าเรียนพุทธวจนะ แล้วนอนหลับเสีย ยังดีกว่าการเล่าเรียนอย่างนี้
ส่วนภิกษุใดเล่าเรียนด้วยคิดว่า เล่าเรียนพุทธวจนะ บำเพ็ญศีลในฐานะที่ศีลมาถึงเข้าให้ถือเอาห้องสมาธิในฐานะที่สมาธิมาถึงเข้า เริ่มตั้งวิปัสสนาในฐานะที่วิปัสสนามาถึงเข้า ทำมรรคให้เกิด ทำให้แจ้งผล ในฐานะที่มรรคผลมาแล้วปริยัตินั้นของภิกษุนั้นชื่อว่า “นิตถรณปริยัติ”
ปริยัติของพระขีณาสพ ชื่อว่าภัณฑาคาริกปริยัติ จริงอยู่ทุกขสัจที่ยังไม่กำหนดรู้ สมุทัยสัจที่ยังละไม่ได้มรรคสัจที่ยังไม่ได้เจริญ หรือนิโรธสัจที่ยังไม่ทำให้แจ้ง ย่อมไม่มีแก่พระขีณาสพนั้น ด้วยว่าพระขีณาสพนั้น กำหนดรู้ขันธ์แล้ว ละกิเลสได้แล้ว เจริญมรรคแล้ว ทำให้แจ้งผลแล้ว เพราะฉะนั้น ท่านเล่าเรียนพุทธวจนะ จึงเล่าเรียนเป็นผู้ทรงแบบแผน รักษาประเพณี อนุรักษ์วงศ์ ดังนั้นปริยัตินั้นของท่านจึงชื่อว่า “ภัณฑาคาริกปริยัติ”
สำนักศาสนศึกษาวัดมัชฌันติการามจัดการศึกษาสองแผนกคือแผนกนักธรรม และแผนกบาลี ส่วนอีกสองแผนกคือปริยัติสามัญพระภิกษุสามเณรจะเดินทางไปศึกษาที่วัดมกุฏกษัตริยาราม เทเวศร์ อีกแผนกหนึ่งคือระดับอุดมศึกษาจะเดินทางไปเรียนที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ศาลายา นครปฐม อาจจะมีบ้างที่พระภิกษุที่มีอายุมากศึกษาเล่าเรียนไม่ไหวก็จะปฏิบัติในวิปัสสนาธุระ ดังนั้นหากจะมองในแง่ดีการศึกษาปริยัติในปัจจุบันจึงเป็น “นิตถรณปริยัติ” คือศึกษาเล่าเรียนเพื่อนำไปสู่การปฎิบัติเพื่อให้เกิดมรรคผลตามจุดประสงค์สูงสุดของพระพุทธศาสนาคือความหลุดพ้น
การที่สามเณรน้อยไม่อยากเรียนบาลีนั้นย่อมมีเหตุผล เพราะบาลีเป็นภาษาที่มีกฏเกณฑ์ มีหลักไวยากรณ์เฉพาะ ต้องเรียนตั้งแต่เริ่มต้นซึ่งหากไม่มีความตั้งใจจริงแล้ว โอกาสที่จะสอบผ่านจนเป็นมหาเปรียญนั้นมีน้อยมาก วันหนึ่งเรียนหลายอย่างคงเหนื่อย จนเกิดความท้อแท้ได้
วันนั้นไม่ได้ตอบคำถามของสามเณรน้อย เพราะหาคำตอบไม่ได้ว่าจะเรียนบาลีไปทำไมกัน สมัยก่อนเรียนเพื่อรู้ภาษาบาลีจะได้อ่านและแปลพระไตรปิฎกได้ แต่ปัจจุบันมีผู้แปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทยไว้หลายฉบับ หากสงสัยในหลักคำสอนข้อใดก็สามารถศึกษาค้นคว้าจากฉบับภาษาไทยได้ เรียนก็ยาก สอบก็ยาก เรียนจบแล้วก็ไม่รู้จะไปทำงานอะไร เพราะในสมัยปัจจุบันเวลาไปสมัครงานที่ไหนก็มักจะมีข้อกำหนดว่าจบปริญญาสาขาใด ส่วนมากมักจะไม่ค่อยมีหน่วยงานไหนถามว่าเรียนจบบาลีประโยคไหนมา ดังนั้นผู้ที่เรียนภาษาบาลีจึงเรียนเพื่อความรู้จริงๆ ไม่ได้เรียนเพื่อที่จะนำไปประกอบอาชีพ
เพราะคำถามของสามเณรน้อยนักธรรมชั้นตรีแท้ๆ ทำให้คิดถึงการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบัน ระบบการศึกษาแผนกนักธรรมและแผนกบาลีน่าจะถึงเวลาปรับเปลี่ยนได้แล้ว โลกเปลี่ยนเวลาเปลี่ยน หลายอย่างแปรเปลี่ยนไป แต่เหตุใดระบบการศึกษาพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์ไทยที่ใช้มานานแล้วกลับยังอนุรักษ์รูปแบบของการศึกษาไว้ได้อย่างยาวนาน
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
19/09/57