งานบางอย่างทำมานานจนเกิดความเคยชิน แม้จะหลงลืมไปบ้างแต่อาศัยสัญญาความจำได้หมายรู้ ก็พอจะทำงานนั้นต่อไปได้ แม้จะทำงานได้ไม่ดีนัด แต่อย่างน้อยก็ไม่ทำให้งานเกิดความเสียหาย แต่ถ้าในการทำงานมีสติ ความระลึกได้หมายรู้อยู่กับงานที่กำลังทำ งานนั้นก็มักจะทำได้ดี แต่ความหลงลืมมักจะเป็นธรรมชาติประจำมนุษย์อย่างหนึ่ง มักจะจำได้ในสิ่งที่ควรลืม แต่มักจะลืมในสิ่งที่ควรจำ เพราะลืมจึงทำให้ขาดปัญญา หากสติมาปัญญาก็มี หากสติหนีมักมีปัญหา
วันก่อนมีนักศึกษาท่านหนึ่งมาขอคำปรึกษา ที่จริงก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นอาจารย์ที่ปรึกษานักศึกษาท่านนั้นแต่ประการใด เนื่องเพราะอาจารย์ที่ปรึกษาตัวจริงมีภารกิจที่อื่น ต้องรอสักพัก นักศึกษาเห็นห้องทำงานของผู้เขียนว่างอยู่ เลยถือวิสาสะเดือนมาเคาะประตูกห้อง จากนั้นก็เริ่มเข้าสู่ประเด็นสำคัญว่า “คืออย่างนี้ครับอาจารย์ ผมกำลังทำวิทยานิพนธ์ แต่บังเอิญว่าเรื่องที่ได้มานั้นไม่ใช่เรื่องที่ผมอยากทำ ผมไม่มีความรู้พอในเรื่องนั้น แต่ก็จำเป็นต้องทำครับ เพราะผมอยากจบ ท่านอาจารย์จะให้ผมทำอย่างไรดี”
เล่นตั้งคำถามเป็นรถด่วนสายใต้แบบนี้ อาจารย์ที่ฟังอยู่ก็เริ่มจะงงเสียเอง จึงบอกว่า “สมัยเรียนที่อาจารย์ทำวิทยานิพนธ์ก็ประสบปัญหาเดียวกันในทำนองนี้ เรื่องที่คิดว่าจะเขียน อาจารย์บอกว่ายากไป คิดอะไรให้มันง่ายๆกว่านี้ได้ไหม แต่พอวันหลังคิดเรื่องง่ายๆ ไปพบอาจารย์อีก อาจารย์ก็บอกว่า เรื่องนี้ง่ายไปคนเขาทำกันมามากแล้ว คิดอะไรให้มันยากกว่านี้หน่อยได้ไหม ตอนนั้นแม้อยากจะเถียงก็เถียงไม่ได้ เพราะหากผิดใจกับอาจารย์ขึ้นมา อนาคตที่กำลังมองเห็นยาวเป็นถนนสายมิตรภาพ ก็จะกลายเป็นลูกรังขึ้นมาทันที ในที่สุดอาจารย์ก็บอกว่า ทำเรื่องนี้สิน่าสนใจดี จากนั้นอาจารย์ก็บอกชื่อเรื่อง ให้ไปหาข้อมูลเพิ่มเติม และเมื่อทำตามคำแนะนำของอาจารย์ก็สามารถสอบผ่านโครงร่างวิทยานิพนธ์และเริ่มต้นลงมือเขียน แต่เนื่องจากเนื้อหาของเรื่องนั้น ไม่ใช่สิ่งที่เราคิด พอถึงเวลาลงมือทำจึงยากว่าที่คิด บางครั้งคิดแล้วคิกอีกก็ยังหาทางเดินต่อไม่ได้ นี่หากสมัยนั้นมีชาเขียวยี่ห้อดังขายดังเช่นในปัจจุบันคงคิดออกแล้ว มีเขียนหนังสือขายเล่มหนึ่งว่า “โออิชิ ชีวิตนี้ไม่มีทางตัน”
จึงบอกว่าไหนลองวางโครงเรื่องที่จะทำว่าจะทำอย่างไร มองเรื่องทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ วางกรอบให้ดี ต้องชัดเจนและเดินตามกรอบที่วางไว้ อีกไม่นานก็เขียนจบแล้ว
นักศึกษาท่านนั้นจึงบอกว่าเป็นงานวิจัยด้านคุณภาพ บทที่ 1 ผ่านแล้วครับ บทที่ 2 งานวิจัยที่เกี่ยวข้องก็มีบ้างแล้ว ส่วนบทที่ 3 คิดต่อไม่ได้ครับ
ได้เวลาทำหน้าที่อาจารย์ที่ปรึกษาจึงบอกว่า “งานวิจัยเชิงคุณภาพในระดับปริญญาโท ที่นิยมเขียนในปัจจุบันมีสองแบบ แบบแรกวิจัยเอกสารล้วนๆ แบบที่สองวิจัยภาคสนาม แบบแรกศึกษาจากเอกสาร ต้องตั้งวัตถุประสงค์ให้ดี วัตถุประสงค์ข้อแรกนำมาเป็นบทที่สอง วัตถุประสงค์ข้อที่สองนำมาเขียนในบทที่สาม และวัตถุประสงค์ข้อที่สาม นำไปเขียนบทที่สี่ ทำอย่างนี้เรื่อยไป ขึ้นอยู่กับว่าจะตั้งวัตถุประสงค์กี่ข้อ ตามปกติสามข้อก็น่าจะเพียงพอ บทที่ห้าก็สรุป เท่านี้วิทยานิพนธ์ก็สำเร็จแล้ว
แบบที่สองวิจัยคุณภาพภาคสนาม มีวิธีการแตกต่างกันบ้าง บทที่หนึ่งตั้งปัญหา บทที่สองงานวิจัยที่เกี่ยวข้องไปศึกษาค้นคว้ามาว่าใครทำเรื่องทำนองนี้บ้าง จากนั้นก็นำมาวางกรอบในงานวิจัยของเรา ส่วนบทที่สามเป็นวิธีดำเนินการวิจัยวางแผนว่าจะทำอย่างไร จะใช้เครื่องมืออะไร แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ แบบสังเกตการณ์ หรือจัดสนทนากลุ่ม พอถึงบทที่สี่ก็ออกเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนาม บทที่ห้าก็สรุป เพียงเท่านี้ก็เป็นงานวิทยานิพนธ์ได้แล้ว
นักศึกษาท่านนั้นบอกว่า “อาจารย์ก็พูดง่าย เพียงแค่ไม่กี่นาทีก็มองเห็นตอนจบแล้ว แต่วิธีทำมันยากนะครับ”
ก็อย่าคิดว่ามันยากสิตอนเข้ามาเรียนใหม่ๆ เราก็ไม่ได้รู้อะไรมาก งานวิจัยคืออะไร มีรูปแบบในการเขียนอย่างไร จะเขียนอย่างไร เราเองก็ไม่รู้ แต่พอเรียนไปสักพักก็เริ่มจะมองเห็นรูปแบบได้ ในการทำงานวิจัยเพื่อวิทยานิพนธ์ก็ต้องกำหนดให้ชัดว่าจะเขียนในเชิงไหน เชิงปริมาณหรือเชิงคุณภาพ และคุณภาพประเภทไหนยังมีหลายแบบ ต้องเข้าใจและยึดวิธีการให้มั่น เดินตามทางที่วางไว้ อย่าออกนอกทาง
นักศึกษาท่านนั้นเอ่ยขึ้นว่า “อาจารย์เก่งนะครับอายุปูนนี้แล้ว ยังสายตาดี ไม่ต้องใส่แว่น ผมอายุน้อยกว่ามากยังต้องใส่แว่นเลยครับ” พูดจบก็หาถามหาแว่นตา “แล้วนี้แว่นตาผมหายไปไหนครับ”
ตอนนั้นนึกขำ แว่นตาอยู่บนหน้าผากนั่นแหละ แต่เมื่อฟังเรื่องที่ค่อนข้างยาก สติคงหายความจำเลยเลือนไป ทำให้หลงลืมสิ่งที่ใกล้แค่ปลายผม ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา เวลาที่คนมีอะไรอยู่ในสมองคิดอะไรไม่ออก บอกอะไรไม่ได้ ความหลงลืมขาดสติมักมาเยือนเสมอ มักจะได้ยินคนพูดกันบ่อยๆว่า “สติมาปัญญาเกิด สติเตลิดเกิดปัญหา” อุบัติเหตุทั้งหลายส่วนหนึ่งมักจะเกิดเพราะคนขาดสตินี่แหละ
สติเป็นหลักธรรมสำคัญข้อหนึ่งที่เมื่อนำมาประกอบกับธรรมอีกสี่ประการจะกลายเป็นธรรมที่ทำให้มีกำลังที่เรียกว่าพละคือธรรมอันเป็นกำลังหรือินทรีย์คือธรรมที่เป็นใหญ่ในกิจของตน ดังที่แสดงไว้อภิญญาวรรคที่หก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต(21/261/286) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย กำลังสี่ประการนี้คือ กำลังคือความเพียร กำลังคือสติ กำลังคือสมาธิ กำลังคือปัญญา”
แต่ที่แสดงในสังขิตสูตร อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต (22/13/10) มีห้าประการโดยเพิ่ม “กำลังคือศรัทธา” เข้ามา ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย กำลังห้า ประการนี้ คือกำลังคือศรัทธา กำลังคือวิริยะ กำลังคือ สติ กำลังคือสมาธิ กำลังคือปัญญา” หากเขียนเป็นภาษาก็จะได้ดังนี้ “สทฺธาพลํ วิริยพลํ สติพลํ สมาธิพลํ ปญญาพลํ”
ธรรมทั้งห้าประการนี้เมื่อทำให้มาก เจริญให้มากแล้วจะเป็นพลัง ทำให้เกิดความมั่นคง มั่นใจในการทำงานหรือทำกิจทั้งหลาย ที่เรียกว่าอินทรีย์เพราะเป็นใหญ่ในการทำหน้าที่ของตน หากใครฝึกจิตใจให้มีสติเข้าไว้ และมีธรรมทั้งสี่เป็นเครื่องประกอบ “ต้องมีศรัทธาเชื่อ อย่าเบื่อความเพียร อย่าเปลี่ยนใจง่าย อย่าหน่ายสมาธิ อย่าหลีกหนีปัญญา” งานที่ยากก็ง่าย งานที่หน่ายก็สำเร็จได้
พอนักศึกษาท่านนั้นลากลับไปแล้ว ก็ถึงเวลาหาแว่นตาของตัวเอง เมื่อกี้ยังอยู่แถวๆนี้นี่นา เผลอถอดแว่นเดี๋ยวเดียว แต่ตอนนี้ไปวางไว้ที่ไหน ทำไมหาไม่พบ สู้อุตสาหะบากบั่นฝึกสติมานานหลายปี บทจะลืมขึ้นมา ก็จำอะไรไม่ได้ ตอนนี้สติที่เคยมีหนีหายไปไหนกัน
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
15/08/57