ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาสามเดือน พระภิกษุสามเณรจะอธิษฐานเข้าพรรษา ว่าจะอยู่จำพรรษาในอาวาสใดอาวาสหนึ่งตลอดสามเดือนไม่ท่องเที่ยวเดินทางไปไหนไกลหรือหากจะมีกิจธุระเกิดขึ้นก็จะต้องกลับมาจำพรรษา ณ อาวาสที่ตนตั้งจิตอธิษฐานไว้ ยกเว้นแต่มีเหตุการณ์พิเศษที่เรียกว่า “สัตตาหกรณียะ” หมายถึงเหตุที่ทำให้เดินทางไปในที่อื่นได้ภายในพรรษา
คำว่า "สัตตาหกรณียะ" คือสาเหตุหรือภารกิจที่สามารถเดินทางไกลได้และสามารถพักค้างคืนในที่อื่นนอกจากอารามที่อธิษฐานจำพรรษามีแสดงไว้ในพระวินัยปิฎก มหาวรรค (4/210/236) 4 ประการคือ
1. สหธรรมิกหรือมารดาบิดาเจ็บไข้ รู้เข้า ไปเพื่อรักษาพยาบาล
2. สหธรรมิกกระสันจะสึก รู้เข้า ไปเพื่อระงับ
3. มีกิจสงฆ์เกิดขึ้น เป็นต้นว่า วิหารชำรุดลงในเวลานั้น ไปเพื่อหาเครื่องทัพพสัมภาระมาปฏิสังขรณ์
4. ทายกต้องการจะบำเพ็ญกุศล ส่งมานิมนต์ ไปเพื่อบำรุงศรัทธาของเขา
แม้จะเป็นธุระอย่างอื่นนอกจากนี้ที่เป็นกิจลักษณะ ก็ให้ถืออนุโลมตามนี้ เมื่อเกิดขึ้นไปก็ได้เหมือนกัน ดังนั้นพุทธศาสนิกชนแม้จะเห็นพระภิกษุสามเณรเดินทางไกลในช่วงเข้าพรรษา ก็อย่าพึ่งกล่าวโทษ ให้สอบถามก่อน เพราะท่านอาจจะมีภารกิจที่จำเป็นจริงๆที่จะต้องเดินทางและพักค้างคืนในที่อื่น
เทศกาลเข้าพรรษาปีนี้มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน พุทธศาสนิกชนที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัดมักจะถือโอกาสในช่วงวันหยุดยาวเดินทางไปเยี่ยมบ้าน เยี่ยมญาติพี่น้อง บางคนจากบ้านเกิดมานาน ทำงานเก็บเงินเพื่อจะได้นำไปใช้จ่ายในกิจการที่จำเป็น บางคนไม่กล้ากลับบ้านเพราะไม่มีเงินเหลือ เนื่องเพราะเงินเดือนน้อยรายจ่ายมากกว่ารายรับ ครั้งจะกลับก็รู้สึกอายชาวบ้าน ในชนบทคนในหมู่บ้านจะรู้จักกันทั้งหมู่บ้าน ไม่เหมือนในกรุงเทพที่แม้จะมีรั้วบ้านติดกันแต่อาจจะไม่รู้จักกันเลยก็ได้
หลังทำวัตรสวดมนต์เย็น หลวงตาฯ เดินออกจากพระอุโบสถพระอาทิตย์กำลังจะลับขอบฟ้ามองเห็นเป็นเงาสะท้อนพื้นน้ำในคลองหน้าวัดที่กำลังที่บำบัดน้ำเสีย ซึ่งสร้างมานานแล้วแต่ก็ยังไม่สำเร็จเสร็จสิ้นสักที ช่วงนี้เงียบเพราะหยุดงานมีเพียงเครื่องจักร เครื่องมือทำงานกองระเกะระกะอยู่ตามริมคลอง แต่ไม่มีคนทำงาน ศาลาท่าน้ำหน้าวัดจึงเงียบสงัด วันนี้ฟ้าสวยแดดใส แม้ว่ากรมอุตุนิยมวิทยาจะพยากรณ์ว่าจะมีพายุเข้า แต่คงอีกหลายวันหรือว่าพายุพัดหายไปทางตอนใต้แล้วก็ไม่รู้ ช่วงนี้คำพยากรณ์ต่างๆต้องฟังหูไว้หู จะเชื่อทุกอย่างตามคำพยากรณ์ไม่ได้ เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย
กำลังยืนชมน้ำไหลในคลองที่วันนี้น้ำยังดำคล้ำ แต่ก็ยังมีน้ำเอื่อยไหล ได้แต่รำพึงในใจว่าเมื่อใดน้ำในคลองในกรุงเทพมหานครจึงจะใสไหลเย็นสักที ก็ได้แต่หวังว่าเมื่อบ่อกำจัดน้ำเสียเสร็จสิ้น สภาพของคลองที่เคยมีน้ำใสในอดีตจะย้อนกลับคืนมาอีกครั้ง
“หลวงตาครับ เข้าพรรษาแล้ว ผมตั้งใจจะทำบุญในช่วงสามเดือนนี้ แต่คิดไม่ออกว่าผมควรจะทำอะไรดี” ชายหนุ่มคนหนึ่งเดินเข้ามาทักทาย
“โยมมาจากไหน มาทำอะไร”
“ผมมาเฝ้าอุปกรณ์เครื่องมือทำงานในการทำบ่อบำบัดน้ำเสียนี่แหละครับ ช่วงนี้หยุดงานหลายวัน คนงานก็เดินทางกลับไปเยี่ยมบ้าน ผมไม่มีบ้านไม่มีพี่น้องที่ไหน เลยรับอาสาเป็นคนเฝ้าครับ ผมได้ยินหลวงตาเทศน์เมื่อวันเข้าพรรษานะครับ ผมนั่งฟังอยู่ที่นี่แต่ได้ยินเสียงไม่ค่อยชัด มีตอนหนึ่งที่หลวงตาเทศน์ว่า ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาควรจะตั้งจิตอธิษฐานเพื่อทำความดีคนละอย่าง ผมจะอธิษฐานอะไรดีครับ และอธิษฐานอย่างไรจึงจะได้ผลตามที่ปรารถนาไว้”
เนื่องจากเวลาพึ่งผ่านมาเพียงสองวัน สิ่งที่แสดงธรรมในวันเข้าพรรษาจึงพอจดจำได้ สาระในธรรมเทศนาในวันนั้นพอสรุปได้ว่า คำว่า “อธิษฐาน” ในพจนานุกรมบาลีไทยได้ให้ความหมายของ “อธิษฐาน” ไว้ว่า คำว่า “อธิฏฐาน” เป็นคำนามนปุงสกลิงค์ แปลว่า “ความตั้งใจแน่วแน่ การอธิษฐาน การติดแน่น ที่อยู่อาศัย” หากเป็นคำกิริยาก็จะใช้เป็น “อธิฏฺฐาสิ” แปลว่าอธิษฐานแล้ว หรือหากำลังอธิษฐานก็จะนิยมใช้เป็น “อธิฏฺฐามิ” แปลว่า ข้าพเจ้ากำลังอธิษฐานเป็นต้น หรือข้าพเจ้าขออธิษฐาน
อธิษฐานจึงหมายถึง การตั้งใจมั่น การตัดสินใจเด็ดเดี่ยว วางจุดหมายแห่งการกระทำของตนไว้แน่นอน และดำเนินตามนั้นอย่างแน่วแน่
อธิษฐานธรรม หมายถึงธรรมเป็นที่มั่น ธรรมเป็นฐานที่มั่นคงของบุคคล ธรรมที่ควรใช้เป็นที่ประดิษฐานตน เพื่อให้สามารถยึดเอาผลสำเร็จสูงสุดอันเป็นที่หมายได้ โดยไม่เกิดความสำคัญตนผิด และไม่เกิดสิ่งมัวหมองหมักหมมทับถมตน บางที่แปลว่า “ธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ” การอธิษฐานจะสำเร็จหรือไม่นั้น ในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า “อธิษฐานธรรม” จะตั้งอธิษฐานอะไรต้องเป็นไปตามองค์ประกอบหรืออยู่ในกรอบของอธิษฐานธรรมทั้งสี่ประการดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงไว้ในสังคีติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค (10/254/187)ความว่า “อธิษฐานสี่ประการคือปัญญาธิษฐาน สัจจาธิษฐาน จาคาธิษฐาน และอุปสมาธิษฐาน”
ในพระไตรปิฎกมัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ (14/678/436) ก็มีแสดงไว้ว่า “ดูกรภิกษุ คนเรานี้มีธาตุ 6 มีแดนสัมผัส 6 มีความหน่วงนึกของใจ 18 มีธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ 4 อันเป็นธรรมที่ผู้ตั้งอยู่แล้ว ไม่มีกิเลสเครื่องสำคัญตนและกิเลสเครื่องหมักหมมเป็นไปก็เมื่อกิเลสเครื่องสำคัญตนและกิเลสเครื่องหมักหมม ไม่เป็นไปอยู่ บัณฑิตจะเรียกเขาว่า มุนีผู้สงบแล้ว ไม่พึงประมาทปัญญา พึงตามรักษาสัจจะ พึงเพิ่มพูนจาคะ พึงศึกษาสันติ”
มีคำอธิบายโดยสังเขปว่า คำว่า “ธาตุ 6” ได้แก่ คือ ปฐวีธาตุ(ดิน) อาโปธาตุ(น้ำ) เตโชธาตุ(ไฟ) วาโยธาตุ(ลม) อากาสธาตุ(อากาส) วิญญาณธาตุ(วิญญาณ)
คำว่า “แดนสัมผัส 6”ได้แก่ จักษุ(ตา) โสตะ(หู) ฆานะ(จมูก) ชิวหา(ลิ้น) กาย(กาย) มโน(ใจ)
ความหน่วงนึกของใจ 18 ได้แก่บุคคลเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมหน่วงนึกรูปเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัส หน่วงนึกรูปเป็นที่ตั้งแห่งโทมนัส หน่วงนึกรูปเป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา
ฟังเสียงด้วยโสตแล้ว ... ดมกลิ่นด้วยฆานะแล้ว ... ลิ้มรสด้วยชิวหาแล้ว ... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว ... รู้ธรรมารมณ์ด้วยมโนแล้ว ย่อมหน่วงนึกธรรมารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งโสมนัส หน่วงนึกธรรมารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งโทมนัส หน่วงนึกธรรมารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา นี้เป็นการหน่วงนึกโสมนัส 6 หน่วงนึกโทมนัส 6 หน่วงนึกอุเบกขา 6
ธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ 4 ประการได้แก่ ปัญญา สัจจะ และอุปสมะ มีคำอธิบายได้ดังนี้
1. ปัญญา คือรู้ชัด หยั่งรู้ในเหตุผล พิจารณาให้เข้าใจในสภาวะของสิ่งทั้งหลายจนเข้าถึงความจริง
2. สัจจะ คือความจริงคือดำรงมั่นในความจริงที่รู้ชัดด้วยปัญญา เริ่มแต่จริงวาจาจนถึงปรมัตถสัจจะ
3. จาคะ คือความเสียสละคือสละสิ่งอันเคยชิน ข้อที่เคยยึดถือไว้ และสิ่งทั้งหลายอันผิดพลาดจากความจริงเสียได้ เริ่มแต่สละอามิสจนถึงสละกิเลส
4. อุปสมะ หมายถึงความสงบคือระงับโทษข้อขัดข้องมัวหมองวุ่นวายอันเกิดจากกิเลสทั้งหลายแล้วทำจิตใจให้สงบได้
ภาษาบาลีใช้คำว่า “ปญฺญํ นปฺปมชฺเชยฺย สจฺจมนุรกฺเขยฺย จาคมนุพฺรูเหยฺย สนฺติเมว โส สกฺเขยฺยาติ” แปลเป็นภาษาไทยว่า “ไม่พึงละเลยในการใช้ปัญญา พึงตามรักษาสัจจะ พึงเพิ่มพูนจาคะ พึงศึกษาสันติ”
การจะอธิษฐานอะไรต้องคิดตรองให้รอบคอบด้วยปัญญาก่อนว่าสิ่งนั้นเหมาะสมหรือสมควรหรือไม่ การกระทำต้องมีสัจจะรักษาความจริง สิ่งนั้นจะต้องเป็นไปเพื่อการสละความเคยชินต่างๆ และการกระทำตามคำอธิษฐานจะต้องเป็นไปด้วยความสงบ เป็นไปเพื่อความสันติ
“หลวงตาลองยกตัวอย่างสิ่งที่ควรจะอธิษฐานสักข้อได้ไหมครับ” ชายหนุ่มคนนั้น ยังทำหน้างงๆ คงเพราะหลวงตาอธิบายเพลินไปหน่อยจนลืมคิดถึงผู้ฟัง
“อธิบายให้ง่ายก็ได้ เริ่มต้นที่การตั้งจิตคิดจะลด ละ เลิกสิ่งที่เราเคยชินเช่นบุหรี่ เหล้า เป็นต้น ทางราชการเขามีนโยบายงดเหล้าเข้าพรรษา จะนำไปปฏิบัติด้วยการอธิษฐานงดบุหรี่ หรืองดเหล้าตลอดพรรษาก็ได้ หรือหากจะเป็นการกระทำภายในจิตคือตั้งใจจะบรรเทากิเลสภายในให้เบาบางลงก็ได้ เช่น จะไม่พยาบาท ไม่ผูกโกรธ ไม่ตระหนี่ ไม่อิจฉาริษยาใคร จะรักษาสัจจะพูดความจริง ไม่หลอกลวงใคร เป็นต้น
หรือจะเลือกละ ลดเลิกอุปกิเลสที่เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต 16 ประการที่แสดงไว้ในวัตถูปมสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ (12/93/48) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมเหล่าไหน เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิตคือ(1) อภิชฌาวิสมโลภะ ละโมบไม่สม่ำเสมอ คือความเพ่งเล็ง (2) พยาบาท ปองร้ายเขา (3)โกธะ โกรธ (4) อุปนาหะ ผูกโกรธไว้ (5) มักขะ ลบหลู่คุณท่าน (6) ปลาสะ ยกตนเทียบเท่า (7)อิสสา ริษยา (8)มัจฉริยะ ตระหนี่ (9) มายา มารยา (10) สาเฐยยะ โอ้อวด (11) ถัมภะ หัวดื้อ(12) สารัมภะ แข่งดี (13) มานะ ถือตัว (14) อติมานะ ดูหมิ่นท่าน (15) มทะ มัวเมา(16) ปมาทะ เลินเล่อ เหล่านี้เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิต” เลือกเอาธรรมข้อใดข้อหนึ่งมาปฏิบัติก็ได้ ปีนี้อาตมาก็ได้เลือกจะละ ลด เลิกหนึ่งใน 16 ข้อ แต่บอกใครไม่ได้ ประเดี๋ยวจะโดนลองดี
อาจจะตั้งจิตอธิษฐานในใจง่ายๆว่า “ข้าพเจ้าจะไม่ตระหนี่ จะให้ทุกอย่างตามที่มีคนขอ” “ข้าพเจ้าจะไม่โกรธใคร แม้เขาจะทำให้อะไรก็ตาม” ข้าพเจ้าจะไม่พูดปด ไม่หลอกใครตลอดพรรษา”
ทุกอย่างย่อมมีอานิสงส์ทั้งนั้น ดังเรื่องของนางทาสีคนหนึ่ง ตั้งใจประพฤติธรรมรักษา “สัจจะ” เพียงข้อเดียวตลอดชีวิต เมื่อสิ้นชีวิตยังได้รับอานิสงส์ไปเกิดในวิมาน ดังที่มีแสดงไว้ในปติพพตาวิมาน ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ (26/11/14) ความว่า “ครั้งหนึ่งพระมหาโมคคัลลานะได้ถามนางเทพธิดาองค์หนึ่งในปติพพตาวิมาน ความว่า“ดูกรนางเทพธิดาผู้มีอานุภาพอันยิ่งใหญ่ ท่านได้วิมานอันมีนกกระเรียนนกยูงทอง นกดุเหว่าดำ และนกดุเหว่าขาว ซึ่งมีทิพยานุภาพเที่ยวส่งเสียงอย่างไพเราะอยู่รอบด้าน ในวิมานนั้นเต็มไปด้วยดอกไม้หอมชื่นใจ วิจิตรไปด้วยนานาประการ แวดล้อมไปด้วยเทพบุตรและเทพธิดา อนึ่ง หมู่นางเทพอัปสรเหล่านี้มีฤทธิ์ นิรมิตรูปร่างขึ้นแปลกๆ กันเป็นอันมากฟ้อนรำขับร้องอยู่รอบข้าง ให้ท่านมีความร่าเริงอยู่ ดูกรนางเทพธิดาผู้มีอานุภาพอันยิ่งใหญ่ ครั้งท่านยังเป็นมนุษย์ได้ทำบุญสิ่งใดไว้ จึงบรรลุความสำเร็จ ท่านมีอานุภาพรุ่งเรืองอย่างนี้ และรัศมีกายของท่านสว่างไสวไปทั่วทิศเพราะบุญอะไร”
นางเทพธิดานั้น อันพระมหาโมคคัลลานะซักถามแล้ว มีใจยินดี ได้พยากรณ์ปัญหาแห่งผลกรรมที่ถูกซักถามว่า “ครั้งดิฉันยังเป็นมนุษย์อยู่ในหมู่มนุษย์ ได้เป็นผู้มีสัจจะมั่นในสามี ไม่ประพฤตินอกใจ มีความจงรักต่อสามี เหมือนกับมารดารักบุตร แม้ดิฉันจะโกรธเคืองก็ไม่กล่าวถ้อยคำอันหยาบคาย ละทิ้งการพูดเท็จเสีย ดำรงมั่นอยู่ในความสัตย์ ยินดีในการให้ทาน ตามปกติชอบสงเคราะห์ผู้อื่นเช่นกับสงเคราะห์ตน มีใจเลื่อมใส ได้ให้ข้าวและน้ำอย่างดีเป็นทานโดยความเคารพ ด้วยความเป็นผู้ถือสัจจะมั่น เหตุนั้น ดิฉันจึงมีผิวพรรณถึงเช่นนี้ อิฐผลจึงสำเร็จแก่ดิฉันในวิมานนี้ และโภคทรัพย์ทั้งหลายอันเป็นที่รักแห่งใจทุกสิ่งทุกอย่างบังเกิดแก่ดิฉัน ก็เพราะความเป็นผู้ถือสัจจะมั่นในสามีเป็นเหตุนั้น ข้าแต่ภิกษุผู้มีอานุภาพอันยิ่งใหญ่ ดิฉันขอบอกแก่ท่าน ครั้งดิฉันยังเป็นมนุษย์ ได้ทำบุญสิ่งใดไว้ เพราะบุญอันนั้นดิฉันจึงมีอานุภาพรุ่งเรืองถึงเช่นนี้ และรัศมีกายของดิฉันจึงสว่างไสวไปทั่วทิศ”
เรื่องนี้แม้จะเป็นเรื่องของหญิงที่รักษาสัจจะต่อสามี เรียกว่ารักเดียวใจเดียว ถ้าเปลี่ยนมาใช้กับผู้ชายก็จะเป็นไปในทำนองว่า จะรักษาสัจจะมั่นต่อหญิงอันเป็นภรรยาคนเดียว จะรักษาสัจจะความจริงต่อเพื่อนร่วมงาน
สัจจะ ปัญญา ธิติ จาคะ ยังเป็นธรรมของผู้ล่วงพ้นศัตรู ดังที่แสดงไว้ในวานรินทชาดก ขุททกนิกายชาดก (27/57/18) ความว่า “ดูกรพระยาวานร ผู้ใดมีธรรม 4 ประการนี้ คือ สัจจะ ธรรมคือวิจารณปัญญา ธิติคือความเพียร จาคะ เหมือนท่าน ผู้นั้นย่อมล่วงพ้นศัตรูได้”
ในธรรมที่ล่วงพ้นศัตรูหมวดนี้ มีธรรมสามอย่างที่ตรงกับ “อธิษฐานธรรม” คือ สัจจะ ปัญญา และจาคะ ส่วนที่ต่างกัน “ธิติ กับ อุปสมะ” หากใครปรารถนาจะเป็นผู้ไม่มีศัตรูก็ต้องประพฤติธรรมสี่ประการคือสัจจะ ปัญญา ธิติ จาคะ ธรรมทั้งสองหมวดนี้สามารถปฏิบัติในเวลาเดียวกันได้
เรื่องของสัจจะยังเป็นบารมีที่พระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีเมื่อครั้งที่เสวยพระชาติเป็นพระวิธุร อธิษฐานก็เป็นบารมีข้อหนึ่งที่พระโพธิสัตว์บารมีเมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นพระเนมิราช ส่วนปัญญาพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีเมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นพระมโหสถ
“เมื่อได้ฟังหลวงตาสาธยายธรรมนอกธรรมาสน์ ผมก็ได้สิ่งที่จะอธิษฐานในช่วงเข้าพรรษาแล้วครับ ผมจะรักษาสัจจะนี่แหละครับ จะพูดความจริง จะไม่หลอกลวงใคร บางทีในชาติหน้าผมจะได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรเสวยสุขในวิมานใดวิมานหนึ่งบ้าง” ชายหนุ่มคนนั้นยกมือไหว้ ก่อนที่หลวงตาจะเดินกลับกุฏิ
ในค่ำคืนที่ฝนพรำ หลวงตาฯก็ตั้งจิตอธิษฐานว่าในพรรษานี้จะต้องรักษาสิ่งที่ได้อธิษฐานไว้แล้วให้ตลอดจนครบสามเดือน แต่จะอธิษฐานว่าอย่างไรนั้น ขอรับรู้อยู่ในใจคนเดียว คำอธิษฐานนั้นเป็นเรื่องส่วนบุคคลไม่อยากบอกใคร
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
15/07/57