ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

          การเดินทางมีหลายประเภท เช่นเดินทางไปทำงาน เดินทางไปทำธุระหรือแม้แต่เดินทางเพราะไม่อยากอยู่กับที่เป็นต้น ในช่วงชีวิตของมนุษย์แต่ละคนย่อมมีการเดินทางไม่มากก็น้อย  แต่การเดินทางที่สบายใจที่สุดคือการเดินทางท่องเที่ยว จะเที่ยวที่ไหนอย่างไรก็สุดแท้แต่เวลาและเงินตราจะเอื้ออำนวย ส่วนผู้ที่ไม่ค่อยเดินทางไปไหนเพราะพอใจในการอยู่ประจำที่ก็สุดแท้แต่ความนึกคิดของแต่ละคน การได้เดินทางเพื่อไปชมสถานที่ที่ไม่เคยไปย่อมเป็นประสบการณ์ในชีวิตอย่างน้อยก็ได้พานพบประสบกับสิ่งที่แปลกแตกต่างจากสภาพที่เราอยู่ประจำ มีใครไม่รู้เคยบอกไว้ว่า “ชีวิตคือการเดินทาง การเดินทางคือหน้าต่างของจิตใจ”

          ผู้เขียนใช้เวลาช่วงเดือนเมษายนหนีร้อนไปพึ่งเย็นที่เมืองแคชเมียร์สถานที่อันหนาวเย็นเดินเล่นบนลานหิมะกลางเดือนเมษายน ขากลับก็แวะชมเมืองอัมริตสาร์ดูศรัทธาความเชื่อของชาวซิกส์ที่มีต่อศาสนสถานคือวิหารทองคำ จากนั้นก็แวะไปชมวิหารเงินซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนัก ได้เห็นความเชื่อที่แตกต่างกัน ต่างคนต่างก็ปฏิบัติตามหลักคำสอนในศาสนาที่ตนเชื่อ

        เช้าวันหนึ่งได้เดินทางไปที่วิหารเงิน เมืองอัมริตสาร์ หรืออมฤตสา หรืออัมฤตซาร์ (Amritsar) หรือบางคนอาจออกเสียงเป็นอมฤตสระแล้วแต่จะออกเสียง  ที่ด้านหน้าวิหารมีแผ่นดินรูปสี่เหลี่ยมสีทองอันหนึ่งอยู่กลางวงกลมสีเหลือง และมีสี่เหลี่ยมล้อมรอบอีกทีหนึ่ง มีคำจารึกที่อ่านไม่ออกอยู่รอบๆ ผู้ที่เดินผ่านบริเวณนี้จะเอามือแตะที่ก้อนหินแล้วนำมาแตะที่หน้าผาก หินก้อนนั้นคงเป็นสัญลักษณ์แห่งความศักดิ์สิทธิ์อะไรสักอย่าง เสียดายว่าไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าหินที่แทรกอยู่บนพื้นนั้นคืออะไร
          วิหารเงิน (Silver Temple) ที่ชาวบ้านเรียกขานกันนั้นมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า  ”Shri Durgiana Temple”  สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 20 เป็นวัดในศาสนาฮินดู ในเมืองอัมริตสาร์นอกจากจะมีชาวซิกส์อาศัยอยู่เป็นจำนวนมากแล้ว  ชาวฮินดูก็มีอยู่ไม่น้อย ชาวซิกส์มีวิหารทองคำเป็นศูนย์รวมจิตใจ ชาวฮินดูก็มีวิหารเงินเป็นศูนย์กลางเหมือนกัน มองจากภายนอกแทบจะมองไม่เห็นความแตกต่าง เป็นอาคารแบบเดียวกัน ทรงคล้ายกัน ทาด้วยสีทองเหมือนกัน แต่วิหารเงินมีขนาดเล็กว่า สระน้ำก็เล็กกว่าและผู้คนที่เดินทางมาก็น้อยกว่า แต่ก็มีผู้คนลงอาบน้ำไม่ขาด  เมืองนี้จึงมีวิหารทองคำและวิหารเงินเป็นสถานที่สำคัญทางศาสนา

          ตัววิหารตั้งอยู่กลางน้ำเป็นสีทอง ยอดโดมเคลือบด้วยทองคำ ตัววิหารครึ่งบนเป็นทองเหลือเคลือบทองคำ ส่วนครึ่งล่างของตัววิหารเป็นหินอ่อน   ประตูทางเข้ามีการแกะสลักด้วยเงินเป็นรูปแกะสลักเทพเจ้าในศาสนาฮินดู พระแม่กาลี พระแม่อุมาเทวี พระแม่ทุรคา รูปแกะสลักสิงโต  เป็นต้น ภายในประดิษฐานรูปเคารพของท่าน  Pandit Madan  Mohan Malviya มีคำบอกกล่าวเล่าขานกันว่าท่านเป็นบัณฑิตด้านการศึกษาและนักการเมือง ที่มีชื่อเสียงโดดเด่น มีบทบาทในการเคลื่อนไหวเรียกร้องอิสรภาพของอินเดีย  ซึ่งแกะสลักจากหิน ภายในไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ   ชื่อของวัดนี้นัยว่าได้มาจากประตูทางเข้าที่ทำด้วยเงิน วัดนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วัดลักษมีนารยัน”

          วิหารเงินแม้ว่าจะมีผู้คนไม่มากเหมือนที่วิหารทองคำ แต่ทว่าในแต่ละวันก็มีผู้คนเดินทางมาสักการะสิ่งคารพบูชาไม่ขาดสาย เสียงระฆัง ณ บริเวณทางเข้าแว่วดังกังวานเป็นระยะเพราะผู้ที่ผ่านมาผ่านไปมักจะเคาะระฆังให้ได้ยินเสียง สิ่งหนึ่งที่ผู้คนจะทำในวิหารแห่งนี้คือการได้เคาะระฆังประหนึ่งจะเป็นสัญญาณบอกว่าขอให้เทพเจ้าได้รับรู้การมาเยือนของตน ดังนั้นระฆังจึงแกว่งไกวไปตามแรงเคาะตลอดเวลาที่มีผู้เดินผ่าน  บางครั้งมีผู้คนยืนรอเข้าคิวเพื่อเคาะระฆังเป็นแถวยาว แต่ทว่าวันนั้นกลับมีเพียงคนไม่กี่คน มองซ้ายมองขวาจึงเดินไปที่ระฆังยกไม้เคาะระฆังเสียงกังวานเสนาะประหนึ่งเป็นเสียงขอพรต่อเทพเจ้า ซึ่งหากเทพเจ้ามีอยู่จริงและได้รับรู้สิ่งที่ขอในวันนั้นเพียงแค่ขอให้มนุษย์ในโลกนี้อยู่กันอย่างสันติสุขก็พอแล้ว

          ในวันที่เดินทางไปนั้นมีผู้คนไม่มากจึงเดินชมได้สะดวก เมื่อเดินเข้าไปภายในวิหารเห็นป้ายห้ามถ่ายภาพ จึงเลี่ยงออกมาด้านนอกถ่ายภาพประตูแกะสลักอันงดงาม แม้จะไม่ออกบอกไม่ได้ว่าเป็นภาพของใครบ้าง แต่ก็ได้เห็นถึงความวิจิตรงดงามของฝีมือช่างแกะสลักบนแผ่นเงิน ประตูทั้งสี่ด้านมีภาพแกะสลักบานละหลายภาพ  การแสดงความเคารพต่อเทพเจ้าตามความเชื่อเป็นสิทธิส่วนบุคคลว่ากันไม่ได้ หากความเชื่อและการปฏิบัตินั้นไม่ทำร้ายใคร ไม่เบียดเบียนใครแล้ว ใครจะเชื่ออะไรก็ตามแต่ใจปรารถนาเถิด
          บริเวณด้านนอกจะมีนักบวชในศาสนาฮินดูกำลังแจกของที่ระลึกให้แก่ผู้มาเยือน เมื่อผู้เขียนยื่นมือขอรับของที่ระลึกได้มาสี่ห้าก้อนเป็นก้อนสีขาวคล้ายน้ำตาลก้อน มีใครคนหนึ่งบอกให้ลองชิมดู พอใส่ปากแตะปลายลิ้นสัมผัสได้ถึงรสหวานคล้ายน้ำตาล

          กำลังถ่ายภาพรูปปั้นที่โดดเด่นอยู่กลางน้ำก็มีชายคนหนึ่งเดินเข้ามาหาพลางชี้มือไปที่หญิงคนหนึ่งที่อุ้มลูกคนเล็กๆกำลังจ้องมองอยู่ จึงเดินเข้าไปหาเธอแสดงอาการบอกว่าช่วยอธิษฐานขอให้ลูกเธอหายป่วยด้วย เมื่อพิจารณาจึงได้เห็นเด็กคนนั้นมีขาข้างหนึ่งบวมที่บริเวณหัวเข่า แม่ของเด็กแสดงอาการขอให้เอามือแตะที่ขาของลูกชายของเธอ จึงเอามือแตะที่ขาข้างนั้น เด็กและมารดาก็โปรยยิ้มให้  เมื่อขออนุญาตถ่ายภาพ เธอก็ยิ้มให้อย่างเต็มใจ จึงได้ภาพของหญิงฮินดูผู้มีความปรารถนาดีต่อลูก  แม้ว่าจะนับถือศาสนาอะไร มีความเชื่ออย่างไร แต่ทว่าความรักความปรารถนาดีของมารดาที่มีต่อบุตรนั้นคงไม่แตกต่างกัน
          ในพระพุทธศาสนามารดาอยากได้บุตรด้วยเหตุห้าประการ ดังที่แสดงไว้ในปุตตสูตร อังคุตตรนิกาย ปัญจก (22/39/41) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย มารดา บิดา เล็งเห็นฐานะห้าประการนี้จึงปรารถนาบุตรเกิดในสกุล คือ (1) บุตรที่เราเลี้ยงมาแล้วจักเลี้ยงตอบแทน (2) จักทำกิจแทนเรา (3) วงศ์สกุลจักดำรงอยู่ได้นาน (4) บุตรจักปกครองทรัพย์มรดก (5) เมื่อเราตายไปแล้ว บุตรจักบำเพ็ญทักษิณาทานให้

          มารดาบิดาผู้ฉลาดเล็งเห็นฐานะเหล่านี้ จึงปรารถนาบุตร ฉะนั้นบุตรผู้เป็นสัปบุรุษ ผู้สงบ มีกตัญญูกตเวทีเมื่อระลึกถึงบุรพคุณของท่าน จึงเลี้ยงมารดาบิดา ทำกิจแทน ท่าน เชื่อฟังโอวาท เลี้ยงสนองพระคุณท่าน สมดังที่ท่านเป็นบุรพการี ดำรงวงศ์สกุล บุตรผู้มีศรัทธา สมบูรณ์ด้วยศีลย่อมเป็นที่สรรเสริญทั่วไป”
          เดินออกจากวิหารเงินก็ย้อนคิดถึงเด็กคนนั้นจะเติบโตอย่างไร จะเลี้ยงดูมารดาอย่างไรก็ยังคิดไม่ออกบอกไม่ได้ เธอจะอยู่กับแม่จนแก่ชราหรืออย่างไร น้ำใจและความรักความผูกพันของแม่ที่มีต่อลูก แม้ว่าลูกจะเกิดมามีร่างกายไม่สมประกอบก็ยังมอบความรักให้แก่ลูกพยายามหาหนทางในการรักษาบางทีโลกนี้อาจจะพอมีทางให้เธอหายป่วยได้ มนุษย์ส่วนหนึ่งต่างก็หวังพึ่งพิงสิ่งภายนอก จนหลงลืมไปว่าแท้ที่จริงที่พึ่งที่ดีที่สุดคือตัวเราเอง สิ่งเหล่าอื่นพึงพิงได้เพียงชั่วคราว พ่อแม่ก็เป็นที่พึ่งได้เฉพาะในยามที่ท่านมีลมหายใจ ทรัพย์สินเงินทองพึ่งได้ในเวลาที่เรายังพอมีแรงกายใช้จ่ายได้ เมื่อสิ้นลมหายใจสรรพสิ่งทั้งหลายก็กลายเป็นของคนอื่น ในวันเวลาที่ยังมีลมหายใจยังพอมีเวลาทำในสิ่งที่อยากทำ

          ตั้งใจไว้ว่าในแต่ละช่วงปีจะหาเวลาหาโอกาสเดินทางท่องเที่ยวในสถานที่ที่ไม่เคยไปอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง แตก็ไม่รู้ว่าจะมีเวลาเหลืออยู่ในโลกนี้ได้อีกสักกี่ปี่ ในช่วงที่ไม่มีที่จะไปเพราะต้องทำงานตามหน้าที่หนีไม่ได้ ยังมีการเดินทางอีกอย่างหนึ่งที่ไม่ได้ลงทุนอะไร เพราะมนุษย์แต่ละคนมีพาหนะในการเดินทางอยู่แล้ว นั่นคือการเดินทางภายในกำหนดลมหายใจเข้าออกทำใจให้สงบ พยายามคิดถึงสิ่งภายนอกให้น้อยที่สุด เป็นการเดินทางภายในที่ทุกคนสามารถทำได้โดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับกาลเวลา ขอมีเพียงลมหายใจก็เดินทางได้แล้ว 

 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
11/06/57

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก