ผู้ที่ประจำที่นานๆมักจะเกิดความเบื่อหน่ายต่อสถานที่ ดังนั้นในแต่ละช่วงเวลาจึงมักจะมีคนเดินทางเพื่อหลีกหนีจากสถานที่อันจำเจ แต่บางคนอยู่กับที่จนเคยชินเวลาที่เดินทางไปไหนมาไหนก็จะวุ่นวายห่วงนั่นห่วงนี่ไปตามเรื่อง ส่วนผู้คนที่ชอบเดินทางท่องเที่ยวพอไปบ่อยๆเข้าก็มักจะอยู่ไม่ค่อยเป็นที่เพียงแต่ขอให้ได้เดินทางก็นับเป้นความสุขอย่างหนึ่ง โลกนี้กว้างใหญ่นักเป็นเหมือนมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่มีทุถกสาขาให้ศึกษา เรียนไม่มีวันจบ แต่หากมีใครสักคนเดินทางออกนอกถิ่นมาตุภูมิแล้วมีเหตุต้องให้อยู่ในอีกประเทศหนึ่ง ไม่เคยได้กลับบ้านเกิดอีกเลย ความรู้สึกจะเปลี่ยนเป็นโหยหา อาลัย เพราะมาตุภูมิแม้จะเป็นเช่นไรในสายตาคนอื่น แต่ในสายตาของเจ้าของบ้านสถานที่แห่งนั้นมีความทรงจำที่ไม่มีวันลืมเลือน
ในวันที่ลุงสุนทรา ทองมา อุบาสกชาวลาวพลัดถิ่น เดินเข้ามาที่วัดโภคัลพุทธวิหารนั้น ห้องพักแม้จะมีอยู่หลายแห่งและห้องก็ยังว่างอยู่ แต่ลุงสุนทราเลือกที่จะมาชวนสนทนาที่กุฏิพระ “อยู่ใกล้พระสบายใจดี” ลุงสุนทราว่าอย่างนั้น จากนั้นก็เริ่มต้นชวนสนทนา ใครอยากรู้เรื่องอะไรในถิ่นอินเดียถามมาได้ แกสาธยายได้หมด
“เดห์ลีมีสถานที่สำคัญมากมายเช่นอินเดียเกต ราชฆาต ราษฎร์ปติภวัน ป้อมแดง อาชาดัม กุตัปมีนาร์ วัดลักษมีนารายัน เบลามันดิน หุมายุน ทอมบ์ วัดบาไฮ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เสาหินพระเจ้าอโศก และเสาเหล็กพระเจ้าอโศกที่กุตุปมีนาร์ เป็นต้น” ลุงสุนทราบรรยายเอ่ยนามของสถานที่สำคัญให้ฟัง โดยที่แทบจะไม่ต้องเสียเวลาคิด
“เฉพาะในกรุงเดห์ลีแห่งเดียวก็มีวัดในพระพุทธศาสนาถึง 85 วัด กระจายอยู่ตามที่ต่างๆ มีวัดของชาวพุทธจากทั่วโลกเช่นวัดพุทธอินเดีย วัดบังคลาเทศ วัดไทย วัดลาว วัดพม่า วัดศรีลังกา วัดทิเบต วัดกัมพูชา เป็นต้น วัดที่สมบูรณ์ที่สุดมีวิหาร มีสีมาหรือพระอุโบสถก็มีสองแห่งคือวัดกุรุรัฐเขมราราม ก่อตั้งโดยหลวงพ่อฤาษีประเสริฐ ชาวกัมพูชา และวัดอโศกมิชชั่น ที่เคยมีพระสงฆ์ลาวและพระสงฆ์ไทยอยู่จำพรรษามาก่อน”
จึงบอกว่า “เท่าที่เอ่ยนามมานั้นคงไม่มีเวลาไปชมได้หมด แต่ที่อยากไปดูมากที่สุดในช่วงนี้คือวัดที่มีพระอุโบสถสมบูรณ์นี่แหละ อยู่ที่ไหนลุงพาไปได้หรือไม่”
“ได้เลยครับ พรุ่งนี้ออกเดินทางตั้งแต่เช้าไปดูให้เห็นกับตา จะได้ไม่พูดจาในภายหลังว่า ดีแต่พูด” ลุงสุนทรารับปาก จากนั้นก็ชวนคุยในเรื่องต่างๆ
ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2518 เป็นต้นมาใครอยากรู้เรื่องอะไรเชิญถามมาได้ ผู้เขียนกับ “ท่านสิริโพธิ” พระสงฆ์ไทยที่จำพรรษาที่พุทธคยา ถามในสิ่งที่อยากรู้แทบทุกเรื่อลุงสุนทราก็สาธยายได้หมด ไม่ว่าจะเป็นผู้คน นักศึกษา พระสงฆ์ไทย ที่เคยมาศึกษาหรือจำพรรษาที่อินเดีย จนดึกดื่นใกล้เที่ยงคืนเต็มที ลุงสุนทราก็ยังคุยไม่ยอมหยุด ครั้นจะหลับหรือก็กระไรอยู่ จึงเอ่ยถามขึ้นประโยคหนึ่งว่า “ลุงไม่คิดถึงบ้าน ลุงไม่อยากกลับบ้านเกิดหรือ”
ลุงสุนทราเงียบเสียงไปนิดหนึ่งก่อนจะขอตัวเข้าห้องน้ำ พอกลับอีกทีทุกอย่างก็เงียบสงบ ผู้เขียนก็แกล้งนอนหลับทั้งๆหูยังรอฟังเสียง ได้ยินเสียงลุงรำพึงเบาๆว่า “38 ปีแล้วซินะ เรามาทำอะไรอยู่ที่นี่” จากนั้นเสียงก็เงียบหายไป ไม่นานก็ได้ยินเสียงโกรนเบาๆแว่วมาจากที่นอนนั้น
รุ่งเช้าพอตะวันพ้นขอบอาคารมองเห็นผู้คนหน้าวัดกำลังออกันเต็มไปหมดจึงถามว่า “คนพวกนี้มาทำอะไรกัน”
ลุงสุนทราเฉลยให้ฟังว่า “เขามาหางานทำนะครับ ทุกเช้าจะมีคนงาน ช่างฝีมือทุกประเภทถืออุปกรณ์เครื่องมือทำงานมารอนายจ้าง โดยนายจ้างที่ต้องการคนงานหรือช่างฝีมือก็จะมาเลือกจากกลุ่มชนที่แออัดยัดเยียดกันอยู่ที่นี่ ใครโชคดีมีคุณสมบัติตามที่นายจ้างต้องการก็จะขึ้นรถตามนายจ้างไป ส่วนใครที่ยังไม่มีใครจ้างก็ต้องรอกันต่อไป”
รถสามล้อนำพาเราสามคนมีพระสงฆ์สองรูปโยมีลุงสุนทราผู้รอบรู้เป็นผู้นำทางมุ่งหน้าสู่จุดหมายคืออารามนามว่า “วัดกุรุรัฐเขมราราม” มีพระอุโบสถขนาดย่อม มองดูเหมือนกับปราสาทนครวัดจำลอง เป็นสถานที่สำหรับให้การอุปสมบทพระภิกษุในพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องตามธรรมวินัย ข้างๆพระอุโบสถมีเจดีย์บรรจุอัฏฐิของอดีตเจ้าอาวาสผู้สร้างวัดรูปแรกคือ “หลวงพ่อฤษีประเสริฐ เอกปญโญ” บรรยากาศในวันนั้นวัดเงียบสงัดราวป่าช้า แต่พระอุโบสถกลับโดเด่นเป็นสง่าด้วยรูปทรงที่บ่งบอกถึงสถานะภูมิลำเนาของผู้สร้างอย่างชัดเจน เดินไปจนสุดวัดแล้วก็ยังไม่พบพระภิกษุเลย แต่เห็นประตูเปิดแง้มไว้ท่านสิริโพธิจึงถือวิสาสะเดินไปเคาะประตู พระภิกษุชาวกัมพูชารูปหนึ่งเปิดประตูออกมาส่งเสียงเป็นภาษากัมพูชา แต่เมื่อเห็นหน้าแขกผู้มาเยือนไม่ได้โต้ตอบ จึงเปลี่ยนเป็นทักทายด้วยภาษาอังกฤษ ลุงสุนทรารีบโต้ตอบในบัดดล การสนทนาจึงเริ่มต้นขึ้น
พระภิกษุชาวกัมพูชาเล่าว่า “ผมเป็นนักศึกษากำลังเรียนปริญญาเอกสาขาพุทธศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเดห์ลี ร่วมกับพระภิกษุชาติเดียวกันอีกสองรูป”
เมื่อถามว่ามีพระสงฆ์ไทยเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ไหม ท่านบอกว่า “มีอยู่สองสามรูป แต่เรียนคนละคณะจึงไม่ค่อยได้พบกัน”
“ปกติวัดนี้ไม่ค่อยมีคนมาหรอกครับ นอกจากชาวกัมพูชาที่เดินทางมาอินเดีย อาจจะแวะมาพักบ้าง ตั้งแต่หลวงพ่อประเสริฐมรณะวัดก็เงียบเหงา ผมก็เป็นเพียงนักศึกษามาพักชั่วคราว ไม่ได้อยู่ประจำ ช่วงนี้ไม่ได้เรียนจึงมาเฝ้าวัดชั่วคราว”
“เรียนจบแล้วผมก็คงต้องกลับบ้านเกิดที่กัมพูชา จากมานานหลายปีแล้วเหมือนกันไม่ค่อยได้กลับไปเยี่ยมญาติพี่น้องเลย อยู่ที่ไหนก็ไม่เหมือนบ้านเกิด ที่นั่นมีตำนาน มีอดีต มีความทรงจำที่ไม่อาจจะลบให้เลือนหายไปจากหัวใจได้ ส่วนที่นี่เป็นเหมือนตัวแทนแห่งความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาที่กำเนิดเกิดขึ้นที่ชมพูทวีปแห่งนี้ อย่างน้อยกัมพูชาก็มีวัดเป็นศาสนสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งไว้เป็นอนุสรณ์”
เมื่อถามว่า “ทำไมจึงเรียกหลวงอดีตเจ้าอาวาสว่า “หลวงพ่อฤษี”
พระภิกษุชาวกัมพูชายังไม่ได้ตอบ แต่ทว่าลุงสุนทราก็รีบตอบในบัดดลว่า “หลวงพ่อพระมหาประเสริฐ เคยไปปฏิบัติธรรมบำเพ็ญตนเหมือนฤษีกับหมู่ฤษีจริงๆที่ฤษีเกต เชิงเขาหิมาลัย คนทั่วไปจึงเรียกขานกันติดปากว่า “หลวงพ่อฤษีเสริฐ” ตามด้วยนามของท่าน ท่านยังได้สร้างวัดอีกแห่งหนึ่งที่เมืองสาวัตถี หลวงพ่อฤษีเป็นที่เคารพของพระสงฆ์ในอินเดียมาก ท่านอยู่ที่อินเดียจนมรณภาพ ทุ่มเททั้งชีวิตอุทิศแด่พระพุทธศาสนา ผมเองก็คงไม่ต่างจากหลวงพ่อเท่าไหร่ ไม่รู้จะอยู่ได้อีกกี่ปี” พูดจบก็ยกผ้าขึ้นเช็ดหน้า คงเช็ดหยาดน้ำตาที่กำลังที่กำลังจะร่วง
ชีวิตของคนไกลบ้านอีกหลายคนที่ต้องดำรงชีวิตอยู่ในดินแดนที่ไม่คุ้นเคย แต่หากคิดอีกมุมหนึ่งก็เป็นเสมือนบ้าน เพราะดินแดนชมพูทวีปแห่งนี้คือสถานที่กำเนิดพระพุทธศาสนา ได้มาเยือนเหมือนได้กลับมาบ้านเกิดเหมือนกัน ที่นี่มีอดีตแห่งความรุ่งเรือง มีความทรงจำของพระมหาเถระทั้งหลายที่ได้สร้างสรรค์สิ่งอันทรงคุณค่าไว้ให้แก่โลก หันไปมองภาพถ่ายของหลวงพ่อฤษีประเสริฐ เอกปญโญอีกครั้งก่อนจาก ใบหน้าท่านเรียบเฉยไม่แสดงความรู้สึกใดๆให้เห็นเลย จึงกราบคาวระด้วยดวงจิตในความเสียสละของหลวงพ่อที่ทิ้งร่างวางขันธ์ในดินแดนห่างไกลจากมาตุภูมิ แต่อย่างน้อยหลวงพ่อก็ได้สร้างอารามไว้สำหรับคนไกลบ้านได้พักพิงในยามยาก
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
19/05/57