หากจะมีใครสักคนที่มีความรักความผูกพันระหว่างกัน แม้ในช่วงเวลาที่ตายจากกันแล้ว ยังสร้างอนุสรณ์สถานไว้เป็นที่ระลึกนึกถึงกัน สร้างสรรค์ด้วยสถาปัตยกรรมที่มีรูปแบบเฉพาะตัว สร้างด้วยวัสดุที่มีค่าทั้งหินอ่อน อัญญมณีต่างๆอีกมากมาย แม้กาลเวลาจะผ่านไปนานกว่าห้าร้อยปีแล้ว แต่สถานที่แห่งนั้นยังคงอยู่และได้กลายเป็นอนุสรณ์สถานตัวแทนแห่งความรักอันยิ่งใหญ่ระหว่างชายหญิงคู่หนึ่ง ปรากฎโฉมโดดเด่นเป็นสง่าให้ผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกเดินทางมาทัศนาไม่ขาดสาย สถานที่แห่งนั้นมีนามเรียกขานว่า “ทัชมาฮาล”
ทัชมาฮาล เมืองอัครา ประเทศอินเดีย ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในเจ็ดของสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ โดยมูลนิธิ “New 7 Wonders” ได้ดำเนินการโดยให้ผู้คนจากทั่วโลกลงมติคัดเลือกสิ่งมหัศจรรย์ชองโลกยุคใหม่ ซึ่งผลการลงมติจึงได้สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ดังนี้ (1)เมืองโบราณซีเชน อิตซา ของชนเผ่ามายา ในเขตยูคาทาน เม็กซิโก (2) รูปปั้นพระเยซูคริสต์ หรือคริสต์ รีดีมเมอร์ บนยอดเขาในนครริโอ เดอ จาเนโร ของบราซิล (3) กำแพงเมืองจีน (4) เมืองโบราณมาชูปิกชู ของชนเผ่าอินคา ในเปรู (5) เมืองโบราณเพตรา ในจอร์แดน (6) สนามกีฬาโคลอสเซียมในกรุงโรมของอิตาลี (7)ทัชมาฮาล ในเมืองอักรา ประเทศอินเดีย ในทวีปเอเชียมีเพียงสองแห่งเท่านั้นคือกำแพงเมืองจีนและทัชมาฮาล ส่วนปราสาทนครวัด กัมพูชา และพุกาม พม่า ที่มีชื่อติดโผมาโดยตลอด แต่ก็ต้องตกไปเพราะคะแนนไม่มากพอ
ทัชมาฮาลได้ถูกรับเลือกเป็นมรดกโลกเมื่อปีพุทธศักราช 2526 โดยมีเหตุผลตามเกณฑ์การพิจารณาคือ“ทัชมาฮาลเป็นตัวแทนซึ่งแสดงผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันฉลาด”
คณะเดินทางออกจากเมืองอัมริตสาร์มุ่งหน้าสู่เมืองเดห์ลี เมืองหลวงของอินเดียโดยรถไฟ ออกจากสถานีเมืองอัมริตสาร์ประมาณห้าโมงเย็น ถึงเดห์ลีเที่ยงคืน เข้าไปพักที่วัดโภคัลพุทธวิหาร ผู้ร่วมเดินทางมีกำหนดการเดินทางกลับเมืองไทยในอีกสองวันข้างหน้า
ต้องบอกเล่าภูมิหลังของการเดินทางก่อนว่าในการเดินทางครั้งนี้ผู้ร่วมเดินทางต่างฝ่ายต่างไป แต่เมื่อได้พบกันที่พุทธคยาจึงได้ชักชวนกันร่วมเดินทาง ไม่ได้รู้จักมักคุ้นกันมาก่อนแต่ก็ร่วมเดินทางด้วยกันได้ โดยตกลงมอบหมายให้กับพระภิกษุรูปหนึ่งที่จำพรรษาอยู่ที่พุทธคยาเป็นผู้นำทาง อีกสามรูปเป็นผู้ตาม ผ่านไปหลายวันแล้วจนถึงจุดหมายปลายทางอีกสองรูปจะต้องเดินทางกลับเมืองไทย ไม่มีปัญหาแต่ประการใด ผู้เขียนเองก็เป็นผู้ตามที่ดีถือกล้องถ่ายภาพตามแต่จะโอกาสจะเอื้ออำนวย หากอยากได้ภาพเป็นที่ระลึกก็จะขอให้เพื่อนร่วมทางถ่ายภาพให้ ดังนั้นในการเดินทางไปอินเดียครั้งนี้จึงมีภาพส่วนตัวมากเป็นพิเศษ
คณะผู้ร่วมเดินทางจึงมีเวลาพักอยู่ที่เดห์ลีเพียงหนึ่งวันครึ่ง ส่วนผู้เขียนมีกำหนดกลับเมืองไทยในอีกห้าวันข้างหน้า จึงปรึกษาวางกำหนดการไว้สองทางคือเที่ยวชมสถานที่สำคัญในเมืองหลวง และอีกทางเลือกหนึ่งเดินทางไปทัชมาฮาล เมืองอัคราซึ่งอยู่ห่างจากเดห์ลีเพียงสามหรือสี่ชั่วโมง สามารถเดินทางไปกลับได้ในหนึ่งวัน
เมื่อสอบถามจากเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่มาทำงานที่อินเดีย ได้พบกันที่วัดโภคัลฯเขาบอกสั้นๆว่า “จากเดห์ลีไปอัคราเดินทางได้หลายทางเช่นรถยนต์โดยสารประจำทาง หรือรถไฟ ค่าใช้จ่ายไม่แพงไม่น่าจะเกินหนึ่งพันรูปี แต่ต้องใช้เวลานานอย่างน้อยก็ต้องนอนพักที่อัคราอีกหนึ่งคืน ส่วนอีกทางหนึ่งคือเช่ารถขนาดเล็กเดินทางจากวัดโภคัลพุทธวิหารเช้าไปเย็นกลับได้ ค่าใช้จ่ายค่อนข้างจะแพงค่าเช่าเหมารถวันละประมาณห้าพันรูปี
คณะเรามีพระภิกษุสี่รูป หากช่วยกันออกเงินค่าโดยสารก็ตกคนละพันกว่ารูปี จึงตัดสินใจเลือกวิธีสุดท้ายออกเดินทางตั้งแต่เช้าไปถึงทัชมาฮาลก่อนเที่ยงเล็กน้อย
ในช่วงที่ไปถึงอากาศเมืองอัคราร้อนมาก เมื่อเดินกลางเปลวแดดประหนึ่งจะแผดเผากายให้มอดไหม้ไปกับเปลวแดดร้อน วันนั้นมีผู้คนเดินทางไปไม่มากนัก เนื่องเพราะเป็นวันธรรมดา หากอยากดูคนมากก็ต้องไปวันศุกร์ วันนั้นคนจะมากเป็นพิเศษ เพราะมีกิจกรรมและทราบมาว่าวันศุกร์จะเปิดให้คนเข้าชมฟรี แต่หากเป็นวันธรรมดาคนต่างชาติก็ต้องจ่ายคนละ 500-700 รูปี ยังมีการแยกกลุ่มนักท่องเที่ยวอีกว่าจะควรจะจ่ายเท่าไหร่ ซึ่งผู้ขายบัตรผ่านประตูไม่ได้บอก วันนั้นจ่ายไปรูปละ 500 รูปี
การผ่านประตูทางเข้าเข้มงวดมากมีข้อห้ามมากมาย วัสดุที่เป็นของเหลว โลหะ ของมีค่าห้ามนำเข้า สิ่งที่จะถือติดตัวไปได้ต้องผ่านการตรวจสอบอย่างละเอียด กว่าจะผ่านเข้าไปได้ต้องใช้เวลารอนานพอสมควร
พอเดินผ่านประตูเข้าไปก็มองเห็นทัชมาฮาลสีขาวเด่นด้วรูปทรงอันงดงามสะท้อนเงากับสระน้ำตรงกลางมีทางเดินสองด้าน วันนี้มาชมหลุมฝังศพ แต่ทว่าเป็นหลุมศพที่ได้รับการบันทึกว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก คงต้องมีเรื่องราวตำนานเล่าขานจากอดีตสู่ปัจจุบัน
ทัชมาฮาล สร้างโดยจักรพรรดิ์ชาห์ จะฮัน ( Emperor Shah Jahan ) เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความรักแด่พระมเหสีนามว่ามุมทัช มาฮาล ( Mumtaz Mahal ) สร้างขึ้นระหว่างปีพุทธศักราช 2173-2191 (ค.ศ.1630-1648) ณ สวนริมฝั่งแม่น้ำยมุนา เมืองอัครา ออกแบบการก่อสร้างโดยอุสตาด ไอสา (Ustad lsa) สร้างด้วยหินอ่อนสีขาวจากเมืองมะครานา หินอ่อนสีแดงจากเมืองฟาตีบุระ หินอ่อนสีเหลืองจากฝั่งแม่น้ำนรภัทฑ์ เพชรตาแมวจากกรุงแบกแดด ปะการังและหอยมุกจากมหาสมุทรอินเดีย หินเจียระไนสีฟ้าจากเกาะลังขะ เพชรจากเมืองบนทลขัณฑ์
ทัชมาฮาลได้รับการรับรองจากสถาปิกทั่วโลกว่าสร้างได้ถูกสัดส่วน และงดงามที่สุด กว้างยาวด้านละ 100 เมตร ตรงกลางมีโดมสูง 60 เมตร มีหอสูงมีโดมอยู่บนรอบทั้ง 4 มุม ภายใต้โดมใหญ่มีโลงหินอ่อนประดับด้วยอัญมณีมากมายบรรจุอยู่ แต่โลงพระศพจริงๆอยู่ในอุโมงค์ข้างใต้โลงหินนั้น
แต่เดิมนั้นชาห์ จะฮัน ตั้งพระทัยจะสร้างสุสานสำหรับพระองค์เองที่อีกฝั่งของแม่น้ำยมุนา โดยสร้างให้เหมือนกับทัชมาฮาลแต่สร้างด้วยหินอ่อนสีดำ แต่ถูกพระโอรสจับพระองค์ขังอยู่ 7 ปีจึงสิ้นพระชนม์ และพระศพของพรองค์ถูกฝังอยู่เคียงข้างมเหสีสุดที่รักนั่นเอง มีบางตำนานบอกว่า “ทัชมาฮาลสีดำ” นั้นมิใช่สิ่งก่อสร้างใหม่ แต่หากคือทัชมาฮาลอันเดียวกัน เพียงแต่ว่าหากไปยืนที่ฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำยมุนาซึ่งมีสระน้ำกั้นอยู่ตรงกลางในช่วงเวลาที่เหมาะสม ก็จะมองเห็นทัชมาฮาลกลายเป็นเงาสีดำอยู่ใต้สระน้ำนั่นแล
ส่วนอุสตาด ไอสาสถาปนิกผู้ออกแบบในเวลาต่อมาได้ถูกชาห์ จะฮันสั่งประหารชีวิต เนื่องจากไม่ต้องการให้ออกแบบสถาปัตยกรรมใดๆที่สวยกว่าทัชมาฮาลได้อีก เสียดายช่างฝีมือที่ยอดเยี่ยมคนนั้นต้องมาถูกสังหารเพียงเพราะมีฝีมือดีเกินไป อนุสรณ์สถานแห่งนี้จึงมีชีวิตของผู้คนอีกนับไม่ถ้วนที่ต้องสิ้นชีพไป
ชายคนหนึ่งมีความรักความผูกพันกับสตรีนางหนึ่ง แม้เมื่อสิ้นลมหายไปจากกันไปแล้วก็ยังระลึกนึกถึงด้วยความรักความอาลัยไม่เสื่อมคลาย จึงได้สร้างอนุสรณ์สถานเพื่อบรรจุร่างไร้วิญญาณของคนรักไว้ นับได้ว่าเป็นความรักในจินตนาการของชายหญิงทั้งหลาย ดังนั้นในแต่ละวันจึงมักจะมีชายหญิงในวัยหนุ่มสาวเดินทางมาเยือนทัชมาฮาล เพื่อจะได้เป็นเหมือนเครื่องปรุงแต่งความรักของคู่รักทั้งสองให้มั่นคง รักกันเหมือนชาห์ จะฮานกับพระนางมุมมตัชมาฮาล จนกลายเป็นตำนานแห่งความรักยุคใหม่โดยมีทัชมาฮาลเป็นอนุสรณ์สถาน
พวกเราอยู่ที่ทัชมาฮาลจนกระทั่งแสงอาทิตย์สะท้อนเงาของทัชมาฮาลเป็นเงาใต้พื้นน้ำ มองย้อนกลับก่อนลาจาก จึงเอ่ยถามเพื่อนร่วมเดินทางว่า “ในรอบห้าร้อยปีมานี้มีตำนานความรักของใครบ้างที่ยิ่งใหญ่และได้สร้างอนุสรณ์เพื่อแสดงออกถึงความรักที่ทรงคุณค่ามากกว่านี้ไหม” ทุกคนได้แต่หันมามองหน้ากัน ยังหาคำตอบไม่ได้ แม้ว่ารถยนต์จะออกจากเมืองอัครา เหลือไว้แต่ความทรงจำที่ทัชมาฮาล
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
15/05/57