วันหนึ่งตอนเที่ยงวันแดดกำลังร้อน กลางเปลวแดดที่แผดร้อน มีพยับแดดกระทบกับพื้นถนนเหมือนหนึ่งมีน้ำนองขัง แต่พอเข้าไปดูใกล้ๆภาพนั้นก็จางหายไป พยับแดดมักจะเกิดขึ้นในช่วงที่แดดร้อนแรง มีเงาระยิบระยับที่เมื่อเข้าใกล้กลับไม่ปรากฎ กลางพยับแดดนั้นมีชายคนหนึ่งกำลังเดินฝ่าเปลวแดดเข้ามาเสมือนหนึ่งกำลังเดินลุยน้ำกลางถนน เมื่อเข้ามาใกล้จึงจำได้ว่าชายคนนั้นคือกสิกะ ชินากรณ์ อาจารย์สอนที่ภาควิชาปรัชญาศาสนา
เมื่อเดินฝ่าเปลวแดดมาหลบร่มใต้ต้นไม้ซึ่งขณะนั้นหลวงตาไซเบอร์ฯ กำลังหลบแดดอยู่ก่อนแล้ว ทั้งสองต่างทำงานในมหาวิทยาลัยเดียวกัน แม้จะพานพบกันเกือบทุกวันแต่ทว่าหาเวลาในการสนทนตากันไม่ค่อยได้ เวลาส่วนหนึ่งหมดไปกับการสอนในห้องเรียน อยู่กันคนละอาคาร ได้แต่ทักทายกันเมื่อพบหน้า เพราะต้องรีบเข้าห้องสอนหนังสือ หลวงตาไซเบอร์ฯ จึงเอ่ยทักว่า “ไม่พบกันหลายวัน เทอมนี้อาจารย์สอนวิชาอะไร”
สอนวิชาสุนทรียศาสตร์ครับ
ได้พบผู้ที่สอนวิชานี้คงต้องหาเวลาพบปะสนทนา เพราะช่วงนี้กำลังสนใจสุนทรียศาสตร์อยู่พอดี สุนทรียศาสตร์ เป็นวิชาที่ว่าด้วยความสวย ความงาม และความไพเราะ สามารถรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส เกิดความรู้สึกปีติยินดี อิ่มเอมใจ พอใจ และชื่นชมในสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามาปะทะอาจจะเป็นในธรรมชาติเอง หรือที่มนุษย์ผลิตคิดค้นขึ้นโดยมีจุดประสงค์ให้มีความงาม สุนทรียภาพ ประสบการณ์ทางความงามเกิดขึ้นจากการได้สัมผัสกับสิ่งที่มีความงาม ความไพเราะ แล้วทำให้เกิกดอารมณ์สุนทรีย์ เกิดความปิติสุขเพลิดเพลิน” ประสบการณ์ทางความงามมีสองลักษณะ ได้แก่ ประสบการณ์ตรง ซึ่งมีผลต่อการรับรู้คุณค่าสุนทรีย์ได้มากที่สุด และประสบการณ์รอง ส่วนใหญ่ล้วนเป็นผลงานที่มนุษย์สร้างขึ้นและไม่มีโอการได้ชมของจริง
คำว่า “สุนทรียศาสตร์” มาจากคำในภาษาสันสกฤษว่า “สุนทรียะ” ซึ่งแปลว่า “ความงาม” กับคำว่า “ศาสตร์” ซึ่งแปลว่า “วิชา” ดังนั้นเมื่อนำมารวมกันแล้วจึงได้ความหมายว่า “วิชาที่ว่าด้วยความงาม” ส่วนจะงามอย่างไรนั้นต้องศึกษากันอีกนาน
“สอนวิชาว่าด้วยความงามคงมีอารมณ์สุนทรียะสินะ”
กสิกะตอบว่า “เป็นวิชาชีพนะครับ ต้องทำมาหากิน ส่วนจะมาใช้ให้เป็นวิชาชีวิตต้องปรับเปลี่ยนบ้าง ชีวิตมันไม่ได้ยากนะครับ เหมือนการตั้งโจทย์ทางคณิตศาสตร์แหละ ถ้าเราตั้งโจทย์ง่ายก็แก้ง่าย แต่ถ้าตั้งโจทย์ยาก ก็แก้ยาก ขึ้นอยู่กับเราเองว่าจะตั้งโจทย์ชีวิตอย่างไร”
ฟังดูแล้วชีวิตมันง่ายขนาดนั้นเลยหรือ ดูข่าวสารทางโทรทัศน์ทุกวันนี้ เห็นมีแต่ข่าวของการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น เรื่องการแย่งสมบัติ จนถึงกับมีการฆ่ากันตายก็มีให้เห็นแทบทุกวัน มีการประท้วงเพื่อเรียกร้องในสิ่งที่ไม่เห็นด้วย นักการเมืองออกมาโต้ตอบกันต่างก็บอกว่าตนเองถูก อีกฝ่ายผิด หาเรื่องโจมตีกันไปกันมา ไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดสักที นี่ก็มีการประท้วงหลายแห่ง ถนนหนทางถูกปิดหลายที่ รถราติดกันทั้งกรุงเทพมหานคร จนบางคนกำลังจะกลายเป็นโรคภูมิแพ้กรุงเทพฯไปแล้ว แล้วอาจารย์กสิกะจะบอกว่าชีวิตไม่ใช่เรื่องยากอย่างไรกันเล่า
“คืออย่างนี้นะครับ เรื่องความเห็นความเชื่อของมนุษย์นั้น ยากที่จะมีความเห็นตรงกันได้จริงๆ เพราะพื้นฐานในการศึกษาไม่เหมือนกัน แม้จะเรียนจบจากโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเดียวกัน ก็ไม่แน่ว่าจะมีความคิดตรงกัน คนอื่นผมไม่รู้ แต่สำหรับผมแล้ว ผมตั้งโจทย์ชีวิตไว้ง่ายๆ เช่น “วันนี้จะทำอะไร ทำอย่างไร ทำแล้วได้ความสุขหรือความทุกข์” จากนั้นก็ดำเนินตามแผนชีวิตที่วางไว้ ทำเสร็จเป็นวันๆ เสร็จแล้ววันรุ่งขึ้นก็ตั้งโจทย์ใหม่ นี่เป็นโจทย์ประจำวัน แต่ถ้าเป็นโจทย์สำหรับชีวิตผมก็ตั้งไว้ง่ายๆเหมือนกันแหละครับ “ผมเกิดมาทำไม จะทำอะไร อยู่ไปเพื่ออะไร” เคยได้ยินบทประพันธ์เรื่องรุไบยาต ของโอมาร์ คัยยัมไหมครับ ฉบับแปลมีหลายฉบับ แต่ที่ผมชอบอ่านประจำคือฉบับแปลของสุริยฉัตร ไชยมงคล มีตอนหนึ่งที่แปลได้ถูกใจผมมากความว่า
“เออสิ, มาอยู่ใยในโลกกว้าง
เฉกชลคว้างมเมื่อไรไม่นึกฝัน
ยามจากไปก็เหมือนลมรำพัน
โบกกระชั้นสู่หนไหนไม่รู้เลย
แปลมาจากภาษาอังกฤษว่า
“Into this Universe, and why not knowing,
Nor whence, like Water willy-nilly flowing:
And out of it, as Wind along the Waste,
I know not whither, willy-nilly blowing.
ผมก็ไม่เห็นด้วยทั้งหมดนะครับ แต่ชีวิตเฉกเช่นสายลม มาแล้วก็ผ่านไป ไยต้องไปกังวลกับความชนะหรือปราชัยชีวิตต้องมีทั้งแพ้และชนะอยู่แล้ว ไม่มีใครชนะตลอดไป และไม่มีใครพ่ายแพ้ตลอดชีวิต แพ้บ้างชนะบ้างช่างประไร หากมองอย่างนี้ชีวิตจะอยู่ที่ไหนก็สบาย ผมพยายามทำความเข้าใจชีวิตกับโจทย์ง่ายๆอย่างนี้แหละครับ มีหน้าที่อะไรก็ทำไป ไม่มีหน้าที่ก็อย่าไปยุ่ง ไม่เกี่ยวไม่ยุ่งนะครับ ผมเคยฟังพระเทศน์เรื่องชีวิตเหมือนพยับแดดอะไรนี่แหละครับ หลวงตาฯพอจะจำได้ไหมครับ
หลวงตาไซเบอร์ฯ สอนวิชาภาษาบาลีมานานหลายปี จึงพอจำได้ เรื่องนี้ปรากฎใน ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท (25/14/21)ความว่า “ภิกษุทราบกายนี้ว่า เปรียบด้วยฟองน้ำ ตรัสรู้พร้อมเฉพาะกายนี้ว่ามีพยับแดดเป็นธรรม ตัดดอกไม้อันเป็นประธานของมารแล้ว พึงไปสู่ที่ที่มัจจุราชไม่เห็น
แปลมาจากภาษาบาลีว่า
“เผณูปมํ กายมิมํ วิทิตฺวา
มรีจิธมฺมํ อภิสมฺพุธาโน
เฉตฺวาน มารสฺส ปปุปฺผกานิ
อทสฺสนํ มจฺจุราชสฺส คจฺเฉ ฯ
คาถานี้มีที่คำอธิบายในอรรถกถาธรรมบทสรุปความว่า “พระเถระรูปเรียนกัมมัฏฐานในสำนักพระศาสดา แล้วคิดว่า "เราจักทำสมณธรรม" เข้าไปสู่ป่า พากเพียรพยายามแล้ว ก็ไม่อาจบรรลุพระอรหัตได้ จึงกลับมายังสำนักพระศาสดา ด้วยตั้งใจว่า "จักทูลอาราธนาให้ตรัสบอกพระกัมมัฏฐานให้วิเศษ" เห็นพยับแดดในระหว่างทาง เจริญมรีจิกัมมัฏฐานว่า "พยับแดดนี้ตั้งขึ้นแล้วในฤดูร้อน ย่อมปรากฏแก่บุคคลทั้งหลายผู้ยืนอยู่ ณ ที่ไกล ดุจมีรูปร่าง แต่ไม่ปรากฏเลย แก่บุคคลผู้มาสู่ที่ใกล้ฉันใด แม้อัตภาพนี้ก็มีรูปเหมือนอย่างนั้น เพราะอรรถว่า เกิดขึ้นและเสื่อมไป"
เดินมาแล้ว เมื่อยล้าในหนทาง อาบน้ำในแม่น้ำอจิรวดี นั่งที่ร่มไม้ ริมฝั่งแม่น้ำมีกระแสอันเชี่ยวแห่งหนึ่ง เห็นฟองน้ำใหญ่ ตั้งขึ้นด้วยกำลังแห่งน้ำกระทบกันแล้วแตกไป ได้ถือเอาเป็นอารมณ์ว่า "แม้อัตภาพนี้ ก็มีรูปร่างอย่างนั้นเหมือนกัน เพราะอรรถว่า เกิดขึ้นแล้วก็แตกไป"
พระศาสดาประทับอยู่ที่พระคันธกุฎีนั่นแล ทอดพระเนตรเห็นพระเถระนั้นแล้ว จึงตรัสว่า “อย่างนั้นนั่นแหละ ภิกษุ อัตภาพนี้มีรูปอย่างนั้นแล มีอันเกิดขึ้นและแตกไปเป็นสภาพแน่แท้ เหมือนฟองน้ำ และ พยับแดด”
ในอรรถกถามีคำอธิบายเพิ่มเติมว่า คำว่า “เผณูปมํ” หมายถึง “การรู้แจ้งกายนี้ คืออันนับว่าเป็นที่ประชุมแห่งส่วนต่างๆ มีผมเป็นต้น ว่า "เห็นสมด้วยฟองน้ำ เพราะอรรถว่า ไม่มีกำลัง มีกำลังทราม ไม่ตั้งอยู่นานและเป็นไปชั่วกาล”
คำว่า “มรีจิธมฺมํ” หมายถึง ผู้รู้ชัด คือรู้ ได้แก่ทราบว่า "แม้กายนี้ ชื่อว่ามีพยับแดดเป็นธรรม เพราะอรรถว่า เป็นไปชั่วขณะและปรากฏนิดหน่อย เหมือนอย่างพยับแดด เป็นดุจมีรูปร่าง และ เป็นดุจเข้าถึงความเป็นของที่ควรถือเอาได้ แก่บุคคลทั้งหลายผู้ยืนอยู่ ณ ที่ไกล แต่เมื่อบุคคลเข้าไปใกล้ ย่อมปรากฏเป็นของว่างเปล่า เข้าถึงความเป็นของถือเอาไม่ได้ฉะนั้น”
คำว่า “มารสฺส ปปุปฺผกานิ” หมายถึง “ภิกษุผู้ขีณาสพคือผู้สิ้นอาสวะแล้วได้แก่พระอรหันต์ ตัดวัฏฏะอันเป็นไปในไตรภูมิคือกามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ กล่าวคือพวงดอกไม้ของมารเสียได้ ด้วยอริยมรรคแล้ว พึงถึงสถานที่ไม่เห็น คือที่อันไม่เห็น คือที่อันไม่เป็นวิสัยของมัจจุราช ได้แก่พระอมตมหานิพพาน
ชีวิตของกสิกะ ชินากรณ์ช่างเรียบง่ายกระไรปานนั้น เข้าใจทั้งวิชาชีพและวิชาชีวิต ตั้งโจทย์ชีวิตไว้ง่ายๆ แม้ว่าเรื่องของชีวิตจะเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยาก แต่ถ้าเราตั้งโจทย์ชีวิตไว้ไม่ยาก การดำเนินชีวิตก็ไม่ใช่เรื่องยาก
เคยอ่านชีวประวัติของนักคณิคศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลกนามว่า พอล แอร์ดิช นักคณิตศาสตร์ชาวฮังการี “ชายผู้หลงรักตัวเลข” แม้จะได้ชื่อว่าเป็นอัจฉริยะทางตัวเลข แต่ทว่าการใช้ชีวิตประจำวันกลับเรียบง่าย เขาขับรถไม่เป็น ซักรีดผ้าไม่เป็น ทำอาหารไม่เป็น แต่เขากลับได้ชื่อว่าเป็นนักคณิตศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลก ชีวิตของเขาดำเนินไปแบบง่ายโดยไม่ต้องตั้งโจทย์
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
20/11/56