คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดการประชุมเสวนาวิชาการพระธรรมทูตไทย 4 ทวีป ประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดงานประชุมพระธรรมทูตไทยในช่วงระหว่างวันที่ 1-4 ตุลาคม 2556 ที่พระตำหนักล่าง วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม วัตถุประสงค์ที่สำคัญยอย่างหนึ่งคือเป็นการประชุมเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในโอกาสที่พระองค์มีพระชันษาครบ 100 ปี ในวันที่ 3 ตุลาคม 2556
การจัดประชุมพระธรรมทูตในครั้งนี้จัดร่วมกันโดยไม่ได้แยกนิกาย พระธรรมทูตจากทั่วโลกจะเดินทางมาร่วมประชุมโดยการปรึกษาหารือเพื่อหาแนวทางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ พระธรรมทูตที่เข้าร่วมประชุมจำนวนประมาณ 200 รูป สถานที่จัดงานมีสองแห่งคือตึก สว. ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร และห้องประชุมอาคารสุชีพ ปุญญานุภาพ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ศาลายา นครปฐม
พระสงฆ์ที่ทำหน้าที่พระธรรมทูต เผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ(นอกชมพูทวีป)เท่าที่มีหลักฐานปรากฎเกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช (ครองราชย์ พ.ศ. 218) ที่ได้ทรงทำสังคายนาครั้งที่ 3 ภายหลังพุทธปรินิพพาน ประมาณพุทธศตวรรษที่สาม และได้ส่งพระธรรมทูตออกไปเผยแผ่ศาสนาในต่างประเทศ 9 สาย นับเป็นพระธรรมทูตที่เดินทางออกนอกชมพูทวีปครั้งแรก ในประเทศไทยอดีตเรียกว่าสุวรรณภูมิ พระโสณะและพระอุตตระ พร้อมด้วยภิกษุและภิกษุณีกลุ่มหนึ่งได้เดินทางนำเอาพระพุทธศาสนามาเผยแผ่ยังดินแดนที่เรียกว่าสุวรรณภูมิ
สมัยนั้นพระสงฆ์ที่ทำหน้าที่ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา มีคำเรียกขานหลายคำเช่น “พระศาสนทูต” “พระสมณทูต” ปัจจุบันเรียกว่า “พระธรรมทูต” ซึ่งหมายถึงผู้ทำหน้าที่จาริกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในที่ต่าง ๆ ทั้งใกล้และไกล ทั้งในและต่างประเทศ
จากการที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งพระธรรมทูตไปประกาศพระศาสนาในดินแดนต่าง ๆ ทำให้โลกได้รับมรดกทางวิญญาณอันล้ำค่า โดยเฉพาะสายพระโสณเถระและพระอุตตรเถระ ผู้เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติความเป็นพระธรรมทูต ทั้งด้านสมถะและวิปัสสนา ได้เดินทางมายังสุวรรณภูมิ ได้แก่ ประเทศไทยปัจจุบัน มีเมืองนครปฐมเป็นประจักษ์พยานคราวครั้งยังเป็นอาณาจักรทวาราวดีกล่าวได้ว่า พระพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศไทยนับแต่ยุคนั้น ประมาณ พ.ศ. 300 และมีการสืบสานพระพุทธศาสนาเรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน
“พระธรรมทูต” จึงได้แก่ผู้นำธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าไปสู่ประชาชน ทั้งใกล้และไกลทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีคำเรียกพระสงฆ์ผู้ทำหน้าที่ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอีกหลายคำเช่น “พระธรรมกถึก” “พระธรรมจาริก” “พระนักเผยแผ่” แม้จะมีคำเรียกขานต่างกันแต่ก็มีความหมายใกล้เคียงกับ “พระศาสนทูต” หรือ “พระสมณทูต” หรือ “พระธรรมทูต”
ผู้ที่ทำหน้าที่ทูตในพระพุทธศาสนานั้นมีความหมายและคุณสมบัติตามที่แสดงไว้ในหลักฐานต่างๆพอสรุปได้ดังนี้
คำว่า “ทูต” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้คำนิยามไว้ว่า ทูต น. ผู้นําข้อความไปแจ้งทั้งสองฝ่าย ผู้รับใช้ไปเจรจาแทน ผู้สื่อสาร ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทนไปยังต่างประเทศ เพื่อเจรจาหรือเจริญสันถวไมตรีเป็นทางราชการ (ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542, (กรุงเทพมหานคร : นามมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, 2546), หน้า 742.
ส่วนพจนานุกรมบาลีไทยให้ความหมายไว้ว่า คำว่า “ทูต” เป็นคำนามปุงลิงค์(เพศชาย) แปลว่าคนสื่อสาร คนที่ชักนำข้อความไปแจ้งทั้งสองฝ่ายหรืออีกนัยหนึ่ง เป็นคำนามนปุงสกลิงค์(ไม่ชายไม่หญิง) การเล่นการพนัน หากเป็นคำนามอิตถีลิงค์(เพศหญิง)จะใช้เป็น “ทูตี” หมายถึงทูตหญิง แม่สื่อ การงานที่ทูตจะต้องทำ หรือหน้าที่ทูต ใช้คำภาษาบาลีว่า “ทูเตยฺยกมฺม”(พระอุดรคณาธิการ(ชวินทร์ สระคำ,จำลอง สารพัดนึก),พจนานุกรมบาลีไทย,พิมพ์ครั้งที่ 4,(กรุงเทพฯ:ธรรมสาร,2546),หน้า 259.
ผู้ทำหน้าที่ทูตจึงเป็นผู้ประสานผลประโยชน์ทั้งสองฝ่าย จะเจรจาอย่างไรให้ฝ่ายตนได้รับประโยชน์มากที่สุด ในขณะเดียวกับกับฝ่ายที่เราไปเจรจาด้วยก็ได้รับประโยชน์ เรียกว่าเป็นการชนะทั้งสองฝ่าย งานของผู้ทำหน้าที่เจรจาแทนจึงไม่ใช่งานง่าย ที่มองเห็นภาพชัดที่สุดตามธรรมเนียมไทยคือความหมายของทูตฝ่ายหญิงนั่นคือแม่สื่อ จะทำอย่างไรให้ชายหญิงทั้งสองฝ่ายได้แต่งงานกัน หากทำสำเร็จหน้าที่แม่สื่อก็ถือว่าทำงานในฐานะทูตสำเร็จ
การเจรจาต่อรองต้องอาศัยผู้ที่มีความสามารถในการเจรจาเพื่อรักษาผลประโยชน์ ของหมู่คณะ เรียกว่าต้องชนะทั้งสองฝ่ายได้ผลประโยชน์ด้วยกัน การทำหน้าที่นักการทูตพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงคุณสมบัติของผู้ทำหน้าที่ทูตไว้ ก่อนที่จะมอบหมายให้พระสารีบุตรไปทำหน้าที่ทูตเจรจากับลูกศิษย์พระเทวทัตที่ถูกสอนในทางที่ผิด ในที่สุดก็สามารถนำพาภิกษุเหล่านั้นกลับมาในทางที่ถูกได้
ในพระไตรปิฎกได้แสดงองค์คุณของนักการทูตไว้หลายแห่ง แต่วันนี้นำมาเสนอได้เพียงสองแห่งคือในพระวินัยปิฎก จุลวรรค และพระสุตตันตปิฎกทูตสูตร อังคุตตรนิกายมีข้อความดังต่อไปนี้
ในพระวินัยปิฎก จุลวรรค (7/398/201)ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์แปดประการควรทำหน้าที่ทูตคือภิกษุในธรรมวินัยนี้รับฟัง ให้ผู้อื่นฟัง กำหนด ทรงจำ เข้าใจความ ให้ผู้อื่นเข้าใจความ ฉลาดต่อประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ไม่ก่อความทะเลาะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์แปดนี้แล ควรทำหน้าที่ทูต”
เมื่อนำมาใช้กับหลักการทูตทั่วไปก็ตัดคำว่า “ภิกษุ” ออกก็จะได้ความว่า ผู้ประกอบด้วยองค์แปดประการควรทำหน้าที่ทูตคือเป็นผู้รับฟัง ให้ผู้อื่นฟัง กำหนด ทรงจำ เข้าใจความ ให้ผู้อื่นเข้าใจความ ฉลาดต่อประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ไม่ก่อความทะเลาะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ประกอบด้วยองค์แปดนี้แล ควรทำหน้าที่ทูต พระธรรมทูตจึงเป็นทำหน้าที่สร้างศาสนสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน แม้จะมีลัทธิศาสนาต่างกันแต่ก็สามารรถทำงานร่วมกันอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขได้
หน้าที่ของทูตอีกอย่างหนึ่งคือให้การศึกษา ดังที่แสดงไว้ในทูตสูตร อังคุตตรนิกาย (3/106/149)ความว่า “ภิกษุใดแล สอนบริษัทให้เรียนให้อ่าน ไม่สะทกสะท้าน ไม่ให้เสียคำที่พูด ไม่ให้เสียคำสอน ชี้แจงให้เขาหมดสงสัย และเมื่อถูกซักถามก็ไม่โกรธ ภิกษุเช่นนี้นั้นแล ควรไปเป็นทูตได้”
เมื่อนำมาใช้กับผู้ทำหน้าที่ทูตโดยทั่วไปก็จะได้เนื้อความดังต่อไปนี้ “ผู้สามารถสอนคนให้เรียนให้อ่าน ไม่สะทกสะท้าน ไม่ให้เสียคำที่พูด ไม่ให้เสียคำสอน ชี้แจงให้เขาหมดสงสัย และเมื่อถูกซักถามก็ไม่โกรธ คนเช่นนี้แล ควรไปเป็นทูตได้”
การทำหน้าที่ทูตจึงควรดำเนินตามองค์แห่งความเป็นทูตตามที่พระพุทธเจ้าทรง แสดงไว้ดีแล้ว จึงจะทำให้เกิดหิตานุหิตประโยชน์แก่มหาชน หากพระธรรมทูตยึดมั่นในหลักการที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้ว พระภิกษุที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อมเหล่านี้ก็จะเป็น “ทูตแห่งธรรม” ที่จะนำหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาไปประกาศให้ชาวโลกได้รับรู้สัมผัสศึกษาและนำพาไปสู่สันติสุข
พระธรรมทูตในความหมายตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎกจึงความหมายถึงพระภิกษุผู้ทำหน้าที่ประกาศพระพุทธศาสนา
พระธรรมทูตไทยมีสองประเภทคือพระธรรมทูตที่ปฏิบัติหน้าที่ในประเทศ และพระธรรมทูตที่ปฏิบัติหน้าที่ในต่างประเทศ
จากประวัติของพระสงฆ์ไทยที่ทำหน้าที่ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศนั้นเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย มีพระเถระหลายรูปได้เดินทางไปศึกษา ไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศต่างๆ และมีการติดต่อสัมพันธ์ในด้านต่างๆ ตั้งแต่สมัยสุโขทัยถึงสมัยปัจจุบันมีหลักฐานพอสรุปได้ดังนี้
งานพระธรรมทูตต่างประเทศสมัยอาณาจักรสุโขทัย
ประเทศไทยมีความเป็นมาช้านาน มีหลายอาณาจักร แต่ประวัติศาสตร์ชาติไทยเป็นที่ยอมรับกันเริ่มต้นที่อาณาจักรสุโขทัยตามหลักฐานศิลาจารึกหลักที่ 1 คนไทยในอาณาจักรสุโขทัยคงจะนับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท อาจจะมี รูปแบบอย่างพม่า เพราะได้รับอิทธิพลพระพุทธศาสนาแบบล้านนา ต่อมาราว พ.ศ. 1820 พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ขึ้นครองราชย์สมบัติ ทรงสร้างความเจริญให้อาณาจักรสุโขทัยหลายด้านตามหลักฐานในศิลาจารึก ทรงเลื่อมใสคณะสงฆ์ลัทธิลังกาวงศ์ ที่เมืองนครศรีธรรมราช จึงทรงอาราธนานิมนต์พระภิกษุเหล่านั้นให้ขึ้นมาตั้งสำนักเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่อาณาจักรสุโขทัย แสดงให้เห็นว่าจะต้องมีพระธรรมทูตจากลังกาเข้ามาในประเทศไทยก่อนหน้านี้แล้ว
ในสมัยสุโขทัยนี้มีพระเถระชาวสุโขทัยสองรูปคือ พระสุมนะกับพระอโณมทัสสีได้เดินทางไปเรียนกับพระอุทุมพระปุบผามหาสามี ภิกษุชาวสิงหล ซึ่งมาตั้งนิกายลังกาวงศ์ขึ้นที่เมืองเมาตะมะ พระสุมนะกับพระอโณมทัสสีชาวสุโขทัยเรียนอยู่ 5 ปี ก่อนเดินทางกลับสุโขทัย พระอุทุมพระปุบผามหาสามีได้กล่าวว่า “ดูกรสูทั้งหลาย ศาสนาอันกูนำมาแต่ลังกาทวีปนั้นจักไม่มั่นคงในเมืองเม็งนี้นา จักไปตั้งมั่นอยู่ในเมืองสูโพ้น ตราบเท่าห้าพันปี”(เสถียร โพธินันทะ,พระพุทธศาสนาในราชอาณาจักรไทย,(พระนคร: สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย, 2500), หน้า 147.
สมัยสุโขทัยได้มีพระเถระทำหน้าที่พระธรรมทูตไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาที่สิงหลหรือลังกาในปัจจุบัน ดังที่มีหลักฐานในจารึกวัดศรีชุม ซึ่งค้นพบที่ช่องอุโมงค์ มณฑปวัดศรีชุม เมืองเก่าสุโขทัย เมื่อ พ.ศ. 2430 จารึกนี้จารบนแผ่นศิลาขนาดสูง 2 เมตร 75 เซนติเมตร กว้าง 67 เซนติเมตร หนา 8 เซนติเมตร มีข้อความที่เล่าถึงพระเถระนามว่าสมเด็จพระมหาเถระศรีสรธาราชจุฬามนีความว่า “สมเด็จพระมหาเถรศรีสรธาราชจุฬามุนี (ซึ่งมักถอดชื่อท่านเป็นสันสกฤตว่า “ศรีศรัทธาราชจุฬามุนี”) เจ้านายในราชวงศ์ศรีนาวนำถมได้ประทับอยู่ลังกา 10 เข้า (คือ 9 ปีเต็ม) และบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถานที่สำคัญที่สุดของลังกา นั่นคือ มหิยังคณเจดีย์และพระมหาทันตธาตุสุคนธเจดีย์ สมเด็จพระมหาเถรศรีสรธาราชจุฬามุนีทรงกล่าวย้ำว่า “เมื่อทรงกระทำบุญและพระสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าทรงแสดงปาฏิหาริย์หลายครั้งนั้น เป็นเพราะได้ไป “ยอ” (ฟื้นฟู) ศาสนาของพระเจ้าในลังกาทวีป ผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ลังกาในช่วงเวลานี้ย่อมทราบว่า ได้เกิดความวุ่นวายในลังกามากอันเนื่องมาจากการรุกรานของพวกทมิฬจากอินเดียใต้ จนทำให้กษัตริย์ลังกาต้องย้ายเมืองหลวงบ่อยๆ เพราะฉะนั้น สิ่งที่สมเด็จพระมหาเถรฯ ทรงพยายามจะถ่ายทอดก็คือ ได้ทรงกระทำสมภารบารมีอันยิ่งใหญ่ ในส่วนที่เกี่ยวกับธุดงควัตรและการสร้างสมพระบารมีนั้น ทรงเล่าพระประวัติไว้เป็นสองส่วน ส่วนแรกคือชีวิตเมื่อครั้งยังเป็นคฤหัสถ์ เล่าตั้งแต่เป็นเด็กจนถึงเหตุที่ทำให้ทรงออกพระผนวชและส่วนที่สองคือ ชีวิต เมื่อเป็นบรรพชิตและได้ออกเดินทางไปยังดินแดนต่างๆ ทั้งในสยามประเทศเอง ชมพูทวีปและลังกา แล้วจึงเดินทางกลับมายังประเทศสยามอีก
จารึกวัดศรีชุม หลักที่ 2 ตอนที่ 10 บรรทัด 174-186 ระบุว่า “สมเด็จพระมหาเถรศรีสรธาราชจุฬามุนีทรงเล่าเรื่องไปบูรณะพระทันตธาตุ ดังนี้ได้เสด็จไปที่อรัญญิกนอกเมืองกำพไล พวกชาวสีหฬต่างตกแต่งธง ธูป ดอกไม้เครื่องหอม มาพร้อมบริพาร เพื่อไหว้พระมหาทันตธาตุ ถัดจากพระมหาสามี พระมหาเถระและเถระ (ฝ่ายคามวาสี) ยังมีหมู่สงฆ์ อันทรงธุดงคศีลา พระมหาสามีอรัญญวาสี ถัดไปเป็นฝูงอมาตยราชเสนา อุบาสก อุบาสิกา นับไม่ถ้วน ที่ปราสาททองเขาเอาพระทันตธาตุมอบให้แก่สมเด็จพระมหาเถรศรีสรธาราชจุฬามุนี ได้ทรงยอสองมือรับมาพิจารณาดูเห็นเป็นของแท้จริง สมเด็จพระมหาสวามีเป็นเจ้าจึงมีศรัทธาโอยทานพระองค์เอง แล้วไถ่พระองค์ออกมาเพื่อบูรณะพระทันตธาตุ ได้เงินร้อยมาทำยอดพระธาตุที่นั่น พระธาตุจึงแสดงปาฏิหาริย์ถึงสามเดือนเป็นมหัศจรรย์ เป็นคุณแก่สกลโลก ได้เสด็จไปหุบเขาสุมณกูฏ ณ ที่นั้นพระธาตุทั้งหลายอันได้แก่ พระนลาตธาตุ พระคีวาธาตุ พระทักขินอักขกธาตุ และพระทันตธาตุต่างเสด็จขึ้นไปกลางหาวแสดงปาฏิหาริย์อีก ชาวสีหลต่างพากันศรัทธาพระมหาเถรศรีสรธา พากันมาหล่อรูปสมเด็จพระมหาเถรศรีสรธาราชจุฬามุนีไว้เหนือจอมเขา” (ดร. วินัย พงศ์ศรีเพียร,ประวัติศาสตร์และหลักฐานประวัติศาสตร์สุโขทัย บรรยาย ณ โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ (เสาร์ที่ 10 กันยายน 2554)
พระสงฆ์ไทยและพระสงฆ์ลังกาจึงมีการติดต่อสื่อสารกันมาตามลำดับ ในยุคสุโขทัยจึงถือว่ามีความเจริญทางลัทธิศาสนา สาเหตุหนึ่งมาจากการทำหน้าที่พระธรรมทูตจากลังกาจนเกิดนิกายลังกาวงศ์ขึ้น นิกายลังกาวงศ์เจริญรุ่งเรืองและมีบทบาทต่อพระราชอาณาจักรเรื่อยมา เป็นเหตุให้วัดวาอาราม พระเจดีย์ พระพุทธรูปและพระพุทธบาทเป็นต้นซึ่งเป็นปูชนียวัตถุได้รับความเจริญตามไปด้วย แม้ความเจริญทางอักษรศาสตร์ และวรรณกรรมก็ไดรับอิทธิพลจากพระพุทธศาสนาเช่นกัน” (ดร.สุชาติ หงษา, ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาจากอดีตสู่ปัจจุบัน,(กรุงเทพฯ:ธรรมสภา,2549,หน้า 108)
พระธรรมทูตในสมัยสุโขทัยที่ทำหน้าที่ในต่างประเทศคงมีอีกมาก แต่ยังหาหลักฐานอ้างอิงไม่ได้ ในดินแดนแถบนี้มีการติดต่อค้าขายและแลกเปลี่ยนทางด้านศาสนากันมาก
งานพระธรรมทูตต่างประเทศสมัยกรุงศรีอยุธยา
การเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตในสมัยอยุธยา เริ่มในรัชสมัยของพระเจ้าบรมโกษฐ์ราว พ.ศ. 2275 ถึง 2310 มีประเพณีการบวชเรียน กล่าวกันว่าผู้ที่จะเป็นขุนนางมียศศักดิ์ ต้องเป็นผู้ที่ผ่านการบวชเรียนมาแล้ว ในรัชสมัยของพระองค์มีวรรณคดีพระพุทธศาสนามากมาย เช่น นันโทปนันทสูตรคำหลวง พระมาลัยคำหลวง ปุณโณวาทคำฉันท์ และพระราชปุจฉาถามพระสงฆ์ เป็นต้น ประมาณ พ.ศ. 2290 ในประเทศศรีลังกาเกิดการจลาจลจนต้องเสียเอกราชแก่พวกทมิฬ พระพุทธศาสนาก็เสื่อมลงถึงสิ้นสมณวงศ์ ต่อมาพระเจ้ากิตติสิริราชสิงหะได้ทรงกอบกู้เอกราชได้ พระองค์มีพระประสงค์ที่จะตั้งสังฆมณฑลทรงเห็นว่าพระสงฆ์ในประเทศไทยเท่านั้นที่บริสุทธิ์กว่าที่อื่น จึงได้ส่งราชทูตมาขอพระสงฆ์จากประเทศไทยในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ เพื่อให้กลับไปประดิษฐานสมณวงศ์ในศรีลังกา พระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์โปรดฯ ให้พระราชคณะสองรูปคือ พระอุบาลีและพระอริยมุนี พร้อมด้วยพระสงฆ์อีก 12 รูป เดินทางไปยังลังกาเมื่อ พ.ศ. 2296 พำนักอยู่วัดบุบผารามในเมืองแคนดี และได้ให้การอุปสมบทแก่กุลบุตรชาวสีหล พระสงฆ์ที่บวชในสำนักนี้เรียกว่า สยามวงศ์ หรืออุบาลีวงศ์ สืบมาจนปัจจุบันนี้
ในสมัยอยุธยานี้เอง ที่คนไทยได้แสดงความสามารถในการประกาศพระพุทธศาสนาให้ปรากฏในต่างประเทศ คือ เมื่อปี พ.ศ. 2293 พระเจ้ากิตติสิริราชสิงหะแห่งประเทศศรีลังกา ได้ส่งทูตมาขอพระสงฆ์จากประเทศไทยเพื่อออกไปให้อุปสมบทชาวศรีลังกา ตั้งสมณวงศ์ขึ้นใหม่ ทั้งนี้ในประเทศศรีลังกาขณะนั้นไม่มีพระสงฆ์เหลืออยู่เลย มีแต่สามเณร อันมีสามเณรสรณังกรเป็นหัวหน้าอยู่เท่านั้น ลังกาจึงว่างสมณวงศ์ผู้สืบต่อพระพุทธศาสนา การที่ศรีลังกาสิ้นสมณวงศ์ผู้สืบต่อพระศาสนานั้น ก็เพราะประเทศศรีลังกาถูกคนต่างศาสนาเข้าทำลายเบียดเบียน สึกพระภิกษุสามเณร และทำลายวัดวาอาราม วิหารเจดีย์เสียมากต่อมากหลายคราว ประกอบกับ ศรีลังกาก็อ่อนกำลังลง เพราะแย่งอำนาจกันเอง จึงทำให้เกาะลังกาซึ่งเคยรุ่งเรืองด้วย ผ้ากาสาวพัสตร์ต้องหมดสิ้นพระสงฆ์ผู้สืบต่อพระศาสนา
จากบันทึกการเดินทางของพระธรรมทูตจากอยุธยาไปยังลังกาไว้ว่า “วันศุกร์ เดือนอ้ายขึ้น 10 ค่ำ พ.ศ. 2294 คณะสมณทูตประกอบด้วยพระสงฆ์ 18 รูปคือมีพระอุบาลีเป็นประธานและคณะราชทูตอีก 5 ท่านมีพระสุธรรมไมตรีเป็นประธาน ได้ออกเดินทางไปลังกา ระหว่างทางได้แวะพักที่อินโดนีเซีย 16 วัน เพื่อเปลี่ยนเรือลำใหม่ชื่อว่าออสกาเบ็น จากนั้นใช้ระยะเวลาการเดินทางอีก 1 เดือน 23 วัน ถึงเมืองท่าตะวันออกตอนเหนือของลังกาชื่อว่าตริงโกมาลี รวมระยะการเดินทางทั้งสิ้นจากสยามลังกาใช้เวลา 5 เดือน 4 วัน พระเจ้ากิตติศิริราชสิงห์ กษัตริย์ลังกา เมื่อทราบข่าวทรงมีกระแสรับสั่งให้อำมาตย์ชั้นผู้ใหญ่ 9 คน มีอัคครมหาเสนาบดีเป็นหัวหน้า นำของพระราชทานขึ้นไปต้อนรับคณะ พร้อมทั้งขบวนแห่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระสมณทูตจากสยามพักที่ตำหนักของพระเจ้ากรุงลังกาในเมืองโกละโปละ ณ ที่นั้นสามเณรลังกาจำนวน 150 รูป นำโดยสามเณรอโนมัลสี สามเณรสิทธัตถะและสามเณรสรณังกร ได้เดินทางมารอนมัสการพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่ก่อนแล้ว ครั้นขบวนของคณะสมณทูตพบกับคณะสามเณรที่ยืนรอต้อนรับอยู่ พระอุบาลีกล่าวทักทายเป็นภาษาบาลีว่า “โก สรณังกโร” แปลว่า “รูปไหนคือสรณังกร” ต่อมาพระธรรมทูตไทยจึงได้ประกอบพิธีอุปสมบทในลังกา” (สยาม แสนขัติ,สยามวงศ์ในลังกา,(กรุงเทพฯ:สหธรรมิก,2549,หน้า 41)
พระสงฆ์ไทยที่ออกไปให้อุปสมบทแก่ชาวศรีลังกาสมัยนั้น ท่านได้เอาชีวิตไปถวาย เป็นธรรมพลีเสียเป็นอันมาก เพื่ออุปการะให้พระพุทธศาสนามั่นคงอยู่ในโลก จำนวนพระสงฆ์ที่ออกไปพร้อมพระอุบาลี 18 รูป ได้เหลือกลับมาบ้านเพียง 7 รูปเท่านั้น นอกนั้นได้มรณภาพในศรีลังกา
รูปแกะสลักพระอุบาลี
ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่บำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้านทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นนิจ ในสมัยรัชกาลนี้พระราชพงศาวดารได้บันทึกเหตุการณ์สำคัญทางพระพุทธศาสนาคือ กำปั่นที่ออกไปส่งพระสงฆ์ไปอุปสมบทกุลบุตรสืบพระพุทธศาสนา ณ ลังการทวีปตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้กลับเข้ามา จึงทรงพะกรุณาให้แต่งกำปั่นใหม่ ใน พ.ศ. 2301 ให้อาราธนาพระวิสุทธาจารย์ พระวรญาณมุนีพระราชาคณะ 2 รูป พระสงฆ์อันดับ 3 รูป ไปลังกาทวีปกับข้าหลวง เพื่อออกไปผลัดพระสงฆ์ซึ่งไปครั้งก่อนให้กลับมา ที่ลังกาพระอุบาลี พระอริยมุนี และพระสงฆ์ที่ออกไปครั้งก่อนได้บวชกุลบุตรชาวสิงหลเป็นภิกษุถึงเจ็ดร้อยเศษ สามเณรพันคน พระสงฆ์ที่ออกไปครั้งหลังบวชชาวสิงหลเป้นภิกษุอีกสามร้อย สามเณรก็มาก อยู่ได้ปีเศษ พระภิกษุไทยก็เดินทางกลับ คงแต่พระอุบาลีและพระสงฆ์อันดับอยู่บ้าง (วีณา โรจนราธา,นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย,กรุงเทพฯ: มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา,2554,หน้า 179)
จากพระสมณทูตชุดแรกต่อมาก็มีการส่งพระสมณทูตชุดที่สองไปยังลังกา ดังข้อความตอนหนึ่งว่า “พ.ศ. 2298 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงปรารภว่าคณะสงฆ์ไทยที่ส่งไปลังกาครั้งก่อนอยู่ครบสามปีแล้ว เห็นสมควรนิมนต์พระสงฆ์คณะอื่นไปผลัดเปลี่ยนบ้างตามสัญญาที่เคยให้ไว้ ดังนั้นจึงโปรดให้เลือกพระสงฆ์จำนวน 20 รูป โดยการนำของพระวิสุทธาจารย์ และพระวรญาณมุนี พร้อมด้วยสามเณรอีก 20 รูป” (ลังกากุมาร,ตามรอยพระอุบาลีไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาที่ศรีลังกา,กรุงเทพฯ:สาละการพิมพ์, 2552,หน้า 131)
จำนวนพระสงฆ์และสามเณรไม่ตรงกัน แต่พระสงฆ์ผู้เป็นประธานชื่อตรงกัน อีกแห่งหนึ่งระบุไว้ใกล้เคียงกันว่า “ต่อมามีการส่งพระธรรมทูตชุดที่สองไปลังกาประกอบด้วยพระราชาคณะ 2 รูป คือ พระวิสุทธาจารย์ และพระวรญาณมุนี กับพระสงฆ์อันดับอีก 20 รูป และสามเณร 20 รูป ออกเดินทางจากกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2298 เพื่อไปเปลี่ยนธรรมทูตชุดที่หนึ่งให้กลับมา แต่เรือได้แตกในกลางทะเลระหว่างปลายแหลมอินเดียกับเกาะลังกาทำให้ภิกษุ 4 รูป สามเณร 2 รูป สูญหายไปในน้ำพระสงฆ์สามเณรได้รับความลำบากมากในการเดินทางคราวนี้ ส่วนที่เหลือถึงเกาะลังกาได้รับภาระสอนภิกษุสามเณรศรีลังกาในกาลต่อมา(สยาม แสนขัติ, สยามวงศ์ในลังกา, หน้า 70.
กล่าวกันว่าพระวิสุทธาจารย์ชำนาญทางวิปัสสนา ได้สั่งสอนวิปัสสนาธุระมาก และได้ให้บรรพชาอุปสมบทแก่ชาวศรีลังกาเป็นภิกษุ 300 รูป ให้บรรพชาเป็นสามเณรนั้นมากกว่า พระสงฆ์ชาวศรีลังกานั้นมาประชุมกันที่วัดบุปผารามอันเป็นวัดที่อยู่ของพระสงฆ์ไทย เพื่อศึกษาคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ทรงจำพระไตรปิฎกและข้อวัตรปฏิบัติไว้ เพื่อยังพระศาสนาให้ถาวรสืบไป พระไทยไปศรีลังกาครั้งนั้นอยู่ในศรีลังกา 4 ปี ได้กลับมาถึงกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2301 ในปีที่สมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ์สวรรคต
ส่วนทางศรีลังกานั้น ครั้งเมื่อถึง พ.ศ. 2307 สมเด็จพระสังฆราชสรณังกร มีพรรษาได้ 12 จึงได้เป็นอุปัชฌาย์ให้บรรพชาอุปสมบทแก่ชาวสิงหล พระพุทธศาสนาในศรีลังกาจึงได้ประดิษฐานมั่นคงตั้งแต่นั้นมา เมื่อจำนวนพระภิกษุสามเณรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงมีการคัดเลือกพระสงฆ์ผู้มีความรู้ความสามารถให้ดำรงตำแหน่งพระสังฆราช พระสรณังกรได้รับการคัดเลือกเป็นพระสังฆราช มีบันทึกไว้ว่า “เมื่อพระสรณังกรทราบว่าพระเจ้าแผ่นดินและพระสงฆ์ทั้งปวงคัดเลือกตนเป็นผู้ปกครองสงฆ์ ท่านไม่ได้แสดงความดีใจหรือเสียใจแต่อย่างใด เมื่ออ่านพระราชสาส์นสถาปนาแต่งตั้งเป็นพระสังฆราช พระสรณังกรได้เขียนคำว่า “อุตงฺคุรนว มหน” ซึ่งเป็นภาษาสิงหล แปลว่า “อย่าผยอง” ไว้ด้านหลังพระราชสาส์นเสร็จแล้วเก็บสอดไว้ใต้กระเบื้องมุงหลังคากุฏิที่พักอยู่(สยาม แสนขัติ, สยามวงศ์ในลังกา, หน้า 70)
กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานียาวนานกว่า 400 ปี คงมีพระสมณทูตไทยที่เดินทางไปยังประเทศต่างๆอีกมาก แต่ยังค้นหาหลักฐานไม่ได้ บทบาทการทำหน้าที่ฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในลังกาของพระสมณทูตหรือพระธรรมทูตไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาในครั้งนั้น ทำให้ลังกามีคณะสงฆ์สยามวงศ์เกิดขึ้น และตั้งมั่นในลังกามาจนถึงปัจจุบัน
งานพระธรรมทูตต่างประเทศสมัยกรุงธนบุรี
เนื่องจากกรุงธนบุรีมีระยะเวลาอันสั้นเพียง 15 ปี มีการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาตามปกติ และเกิดเหตุวิบัติทำให้คณะสงฆ์เสื่อมโทรม แต่ก็มีงานด้านพระพุทธศาสนาแตกต่างไปจากอยุธยาสรุปได้ดังนี้(1) เมื่อตั้งราชธานีใหม่ๆ สภาพคณะสงฆ์เสื่อมโทรมมากแต่พระเจ้าตากสินทรงมีวิริยะอุตสาหะฟื้นฟูให้ดีขึ้น (2) เมื่อคณะสงฆ์เริ่มมั่นคงขึ้น การศึกษาพระปริยัติธรรมก็ดีขึ้น พระเจ้าอยู่หัวทรงสนับสนุนให้มีการคัดลอกคัมภีร์ที่ขาดหายไป และให้แสวงหาคัมภีร์ตามหัวเมืองต่างๆ” (รศ.สิริวัฒน์ คำวันสา, ประวัติพระพุทธศาสนาในประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: จรัลสนิทวงศ์การพิมพ์, 2542,หน้า 60)
บทบาทของพระธรรมทูตไทยในต่างประเทศตั้งแต่สมัยสุโขทัยถึงกรุงธนบุรี สมัยสุโขทัยพระสงฆ์ไทยไปศึกษาพระพุทธศาสนากับพระสงฆ์ลังกาที่เมืองมะตะมะ และนำเอาพระพุทธศาสนาเถรวาทมาเผยแผ่ที่สุโขทัย พอถึงสมัยอยุธยาพระธรรมทูตไทยไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในลังกา ในสมัยกรุงธนบุรีเนื่องจากบ้านเมืองอยู่ในช่วงเปลี่ยนราชธานีใหม่ จึงไม่มีหลักฐานการส่งพระธรรมทูตไปยังประเทศต่างๆอย่าเป็นทางการ
งานพระธรรมทูตไทยในต่างประเทศสมัยรัตนโกสินทร์
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2325 พระองค์ทรงทะนุบำรุงส่งเสริมพระพุทธศาสนาบำรุงวัดวาอาราม โปรดให้มีการรวบรวมชำระพระไตรปิฎกจารึกลงในลานเป็นหลักฐาน ทำให้พระพุทธศาสนารุ่งเรืองมาจนปัจจุบัน รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในคณะสงฆ์ครั้งใหญ่ คือการเกิดพระสงฆ์ธรรมยุติกนิกายหรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ธรรมยุต ซึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นฟูพระพุทธศาสนา และการแก้ไขข้อวัตรปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงผนวชอยู่ ซึ่งได้ทรงศึกษาพระไตรปิฎกอย่างแตกฉาน ทำให้ทรงมีพระวิจารณญาณเกี่ยวกับความเป็นมาของพระพุทธศาสนา และความประพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์ได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน เป็นเหตุให้ทรงมีพระราชดำริในอันที่จะฟื้นฟูการสั่งสอนพระพุทธศาสนาและการประพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์ให้ถูกต้องตาม พระธรรมวินัยที่ได้ทรงศึกษา และทรงพิจารณาสอบสวนจนเป็นที่แน่แก่พระราชหฤทัยว่าถูกต้องเป็นจริง อย่างไรแล้วพระองค์ได้ทรงนำประพฤติปฏิบัติขึ้นก่อน หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือทรงเริ่มแก้ไขที่พระองค์เองเป็นอันดับแรก ต่อมาเมื่อมีบุคคลอื่นเห็นชอบและนิยมตาม จึงได้มีผู้ประพฤติปฏิบัติตามอย่างพระองค์ขึ้น และมีจำนวนมากขึ้นเป็นลำดับ จนเกิดเป็นพระสงฆ์หมู่หนึ่ง หรือนิกายหนึ่งที่ได้ชื่อในภายหลังว่า “ธรรมยุติกนิกาย” หรือ ที่เรียกสั้นๆ ว่า “ธรรมยุต”
งานพระธรรมทูตในประเทศไทย หรือโครงการพระธรรมทูตที่ต้องการศึกษานี้ ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2507 เนื่องจากกรมการศาสนามีความประสงค์ที่จะฟื้นฟูงานพระธรรมทูต โดยการนำเอารูปแบบการปฏิบัติงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสมัยพระพุทธเจ้าเริ่มส่งพระสาวกออกเผยแผ่พระพุทธศาสนามาใช้ ตามความมุ่งหวังที่ปรากฏในคำกราบบังคับทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่อธิบดีกรมการศาสนา (พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์) ไปปฏิบัติงานพระศาสนาที่ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งมีข้อความบางตอนว่า “เนื่องด้วยกรมการศาสนา ได้ประมวลข้อสังเกตของบุคคลหลายฝ่ายซึ่งมีความปรารถนาดีต่อประเทศชาติศาสนาได้สอดคล้องต้องกันว่าทุกวันนี้ประชาชนพลเมืองจำนวนมาก มีความอุตสาหะวิริยะที่จะปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระศาสนาลดน้อยลง ความเลื่อมใสศรัทธาในพระสงฆ์พุทธสาวกก็ลดถอย ทั้งยังมีผู้นำเอาลัทธิอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อความมั่นคงของประเทศชาติศาสนา และต่อความสงบสุขของประชาชนมาเผยแพร่ชักจูงใจอีกด้วย เพื่อป้องกันความเสื่อมทางด้านจิตใจของประชาชนพลเมืองในอนาคต กรมการศาสนาจึงวางแผนที่จะฟื้นฟูสัมมาปฏิบัติของพุทธศาสนิกชน...โดยส่งพระธรรมทูตออกเผยแผ่พระศาสนาแบ่งเป็น 9 สาย ตามแบบอย่างการส่งพระธรรมทูตออกประกาศพระพุทธศาสนาสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช...” (พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์, ข้อแนะนำพระธรรมทูตพุทธศาสนา,(พระนคร:โรงพิมพ์การศาสนา, 2507, หน้า 5-6)
ในการจัดทำโครงการนี้ กรมการศาสนาปรารถนาจะให้เป็นงานของพระสงฆ์ในความอุปถัมภ์ของกรมการศาสนา แต่เนื่องจากเป็นโครงการใหม่และต้องการจะทดลองทำเพื่อศึกษาให้ได้ข้อสรุปในเบื้องต้นก่อน จึงไม่ได้แต่งตั้งเจ้าคณะตามรูปแบบการปกครองคณะสงฆ์ขึ้นรับผิดชอบทั่วประเทศ ได้ใช้วิธีการอาราธนาพระเถระผู้ใหญ่เป็นหัวหน้าสายจัดพระธรรมทูตออกแยกย้ายจาริกเป็น 7 สายไปก่อน โดยมีพื้นที่ปฏิบัติงานส่วนใหญ่คือชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ (รายงานการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 14/2508 วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม 2508)
จนกระทั้งสองปีผ่านไปปรากฏว่า การปฏิบัติงานเป็นไปด้วยดี และได้ผล เกินคาด กรมการศาสนาพิจารณาเห็นว่าควรจะได้จัดองค์กรการบริหารแต่ละระดับให้สมบูรณ์ มีเจ้าคณะรับผิดชอบแต่ละระดับอย่างเต็มรูปแบบ จึงได้อาราธนาพระเถระหัวหน้าพระธรรมทูต ทุกสายมาประชุมปรึกษาหารือในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2508 ที่ประชุมมีความเห็นพ้องต้องกันว่า สถานการณ์ของโลกปัจจุบันยังเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นจะต้องดำเนินงานพระธรรมทูตให้ได้ผลดียิ่งขึ้น และควรให้รับโครงการนี้เป็นงานของคณะสงฆ์ โดยเสนอให้คณะกรรมการมหาเถรสมาคมพิจารณาลงมติรับรองและมอบหมายให้พระเถระรูปใดรูปหนึ่งเป็นแม่กองดำเนินการ กรมการศาสนาจึงได้ร่างแผนงานโดยสังเขปของ “โครงการเผยแพร่ศีลธรรมโดยพระธรรมทูต” ขึ้น เพื่อประกอบการพิจารณาและกราบทูลสมเด็จพระสังฆราช เพื่อเสนอที่ประชุมคณะกรรมการมหาเถรสมาคม ในที่สุดคณะกรรมการมหาเถรสมาคมได้มีมติรับไว้เป็นโครงการถาวรและเป็นงานของพระสงฆ์ทั้งสองนิกายและมอบให้
1. สมเด็จพระวันรัต (ปุ่น ปุณฺณสิริ) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นแม่กองงานพระธรรมทูต
2. สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธโร) วัดพระศรีมหาธาตุ กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นรองแม่กองงานฯ รูปที่ 1
3. พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ธีร์ ปุณฺณโก) วัดจักรวรรดิราชาวาส กรรมการมหาเถรสมาคมเป็นรองแม่กองงานฯ รูปที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการตามนโยบายของมหาเถรสมาคมและข้อเสนอของกรมการศาสนา พร้อมกันนั้น พันเอกปิ่น มุทุกันต์ อธิบดีกรมการศาสนา ได้เขียนหนังสือคู่มือการปฏิบัติงานพระธรรมทูตขึ้นถวาย เพื่อชี้แจงการจัดระเบียบโครงสร้างของการปฏิบัติงานของพระธรรมทูต
สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธรรมยุต)
เมื่อรัฐบาลอนุมัติให้กรมการศาสนาจัดส่งพระธรรมทูตไปประกาศพระพุทธศาสนา ณ ประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ.2507 เป็นเหตุให้มีการสร้างวัดพระพุทธศาสนา คือวัดพุทธปทีปขึ้น ณ ประเทศนั้น กรมการศาสนาเห็นว่าควรจะได้มีการจัดการฝึกอบรมพระธรรมทูตสำหรับไปปฏิบัติศาสนกิจในต่างประเทศ และเพื่อรองรับโครงการจัดตั้งวัดพระพุทธศาสนาในต่างประเทศดังกล่าวต่อมากรมการศาสนาจึงได้ดำเนินการขออนุมัติคณะรัฐมนตรีจัดตั้งโครงการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ ภายใต้การควบคุมดูแลของมหาเถรสมาคมขึ้น คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติในหลักการให้กรมการศาสนาดำเนินการได้ โดยให้มีคณะกรรมการอำนวยการฝึกอบรมฯ คณะหนึ่ง ประกอบด้วยกรรมการทั้งที่เป็นบรรพชิตและคฤหัสถ์ มีหน้าที่จัดการฝึกอบรมพระสงฆ์เป็นพระธรรมทูต เพื่อส่งไปปฏิบัติศาสนกิจประกาศพระศาสนาในต่างประเทศ ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดว่าการก่อตั้งสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศนั้น เป็นความร่วมมือและเป็นความต้องการในอันที่จะริเริ่มและสนับสนุนงานการประกาศเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งของฝ่ายพุทธอาณาจักรคือคณะสงฆ์และฝ่ายราชอาณาจักรคือรัฐบาล
หลักการเหตุผลและวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งระบุไว้ในหนังสือประวัติวัดบวรนิเวศวิหาร ว่า “สืบเนื่องมาจากการที่ประเทศไทยได้ทำนุบำรุงและเชิดชูพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติมาเป็นเวลาช้านาน ภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์และการสนับสนุนของรัฐบาลจนเป็นหลักฐานมั่นคง มีเกียรติคุณแพร่ไปในนานาประเทศเป็นเวลานาน ต่อมาชาวต่างประเทศได้แสดงออกซึ่งความสนใจในพระพุทธศาสนามากขึ้น ได้ติดต่อขอรับการศึกษาบ้าง ขอหนังสือและเอกสารบ้าง ขอนักปราชญ์ทางศาสนาไปแนะนำสั่งสอนในประเทศของตนบ้าง ทางด้านรัฐบาลและคณะสงฆ์ไทยก็ปรารถนาที่จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปยังต่างประเทศ จึงไปสร้างวัดไทยที่พุทธคยา ประเทศอินเดียอุดหนุนทางการเงินการศึกษาแก่วัด และพระสงฆ์ในประเทศมาเลเซีย ให้ทุนแก่พระสงฆ์ต่างประเทศเข้ามาศึกษาในประเทศไทย ส่งพระธรรมทูตไปเผยแผ่พระศาสนาในประเทศอังกฤษ และประเทศลาว ปรากฏว่าประชาชนในประเทศต่าง ๆ ได้หันมาสนใจศึกษาปฏิบัติตามหลักธรรมทางศาสนามากขึ้นโดยลำดับ และเป็นผลดีแก่คนไทยในประเทศนั้นๆ ด้วย ในขณะเดียวกันฝ่ายอาณาจักร รัฐบาลโดยกรมการศาสนา ก็ได้สนองงานด้านการเผยแผ่ของคณะสงฆ์ ดังเช่นการรับสนองนโยบายของรัฐบาลโดยได้สนับสนุนพระสงฆ์ไปประกาศพระศาสนาในต่างประเทศ 2 สาย คือ ประเทศลาวและประเทศอังกฤษ ทั้งได้ให้พระสงฆ์ประจำวัดไทยพุทธคยาประเทศอินเดีย ปฏิบัติหน้าที่เผยแผ่พระศาสนาด้วยในฐานะเป็นพระธรรมทูตในความอุปถัมภ์ของรัฐบาล
กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ(ในสมัยนั้น) มีพันเอก ปิ่น มุทุกันต์ เป็นอธิบดีได้ดำริว่า การที่รัฐบาลตั้งงบประมาณให้ทุนการศึกษาแก่พระสงฆ์ต่างประเทศที่เข้ามาศึกษาพระปริยัติธรรมในราชอาณาจักรนั้น ก็ด้วยปรารถนาที่จะประกาศพระพุทธศาสนาและเกียรติคุณของชาติให้แพร่ไปในนานาประเทศ หากได้แบ่งงบประมาณนั้นสักส่วนหนึ่งมาทำการฝึกอบรมพระสงฆ์ไทยให้สามารถไปประกาศพระศาสนาในต่างประเทศก็จะเป็นการดี จึงได้กำหนดโครงการฝึกอบรม พระธรรมทูตไปต่างประเทศขึ้นแล้ว ได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาหารือเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2507 อนุมัติในหลักการให้กรมการศาสนาดำเนินการได้ โดยให้มีคณะกรรมการอำนวยการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ ประกอบด้วยบรรพชิตและคฤหัสถ์ โดยมีวัตถุประสงค์คือ
1.เพื่อเลือกเฟ้นและฝึกอบรมพระสงฆ์ไทย ให้สามารถประกาศพระพุทธศาสนาในต่างประเทศ
2.เพื่อเผยแพร่เกียรติคุณของชาติไทย
3.เพื่อสงเคราะห์ทางด้านจิตใจแก่คนไทยในต่างประเทศ
4.เพื่อให้เกิดศาสนสัมพันธ์อันดี ระหว่างพุทธศาสนิกชนกับองค์การศาสนาอื่น (วัดบวรนิเวศวิหาร,ประวัติวัดบวรนิเวศวิหาร, (กรุงเทพ ฯ : โรงพิมพ์มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย, 2547) หน้า 25)
จากคำกราบทูลของพระสาสนโสภณ (ปัจจุบันคือสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก) ประธานกรรมการอำนวยการฝึกอบรมฯ ในพิธีเปิดการฝึกอบรมพระธรรมทูตรุ่นแรก เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2509 ทำให้ทราบถึงหลักการและเหตุผลของวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ ดังปรากฏในคำกราบทูลส่วนหนึ่งในวันเปิดฝึกอบรมพระธรรมทูต (ประวัติวัดบวรนิเวศวิหาร, หน้า 20) ความว่า “บัดนี้พระพุทธศาสนาได้เป็นที่สนใจใคร่จะรู้จะปฏิบัติของบุคคลในประเทศต่าง ๆ ทางฝ่ายตะวันตก และแม้ทางฝ่ายตะวันออกด้วยมากขึ้น นักเรียนไทยตลอดถึงข้าราชการไทยในต่างประเทศได้ถูกซักถามเรื่องพระพุทธศาสนา ได้มีการเชิญให้ไปแสดงเรื่องพระพุทธศาสนา บุคคลผู้สนใจในพระพุทธศาสนาได้รวมกันตั้งสมาคม หรือองค์การทางพระพุทธศาสนาขึ้นในประเทศต่าง ๆ หลายแห่ง บางแห่งก็ต้องการจะได้ศึกษาพระพุทธศาสนาจากพระภิกษุสงฆ์ไทย ที่ได้ติดต่อนิมนต์พระภิกษุไทยออกไปก็มี นอกจากนี้ก็ได้มีพระภิกษุเดินทางออกไปยังต่างประเทศเอง โดยเฉพาะในประเทศใกล้เคียงนี้ ได้มีพระภิกษุไทยเดินทางออกไปอยู่ประจำในที่ต่าง ๆ เป็นเวลานานมาแล้ว แต่เดิมยังไม่มีระเบียบเข้มงวดต่อพระภิกษุที่จะเดินทางออกไปมากนัก ต่อมาเมื่อปรากฏว่าพระภิกษุผู้ที่เดินทางออกไปมากขึ้นและปรากฏผลบางอย่างแสดงว่าควรมีการควบคุม ทางคณะสงฆ์จึงได้วางระเบียบควบคุมรัดกุมขึ้นดังที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และทางฝ่ายตะวันตกไกลซึ่งบัดนี้มีเหตุการณ์แสดงว่าเริ่มจะไม่ไกลนักสำหรับการพระพุทธศาสนา ตลอดถึงพระสงฆ์ไทยจึงเป็นที่รู้สึกว่านอกจากจะมีการควบคุมการเดินทางของพระภิกษุดังกล่าวแล้ว ยังควรมีการเตรียมการฝึกอบรมพระภิกษุให้มีความรู้ความสามารถเดินทางออกไปประกาศพระพุทธศาสนาได้ในประเทศต่าง ๆ อีกด้วย
เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จ พระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก จึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับงานพระธรรมทูตมาตั้งแต่การฝึกอบรมครั้งแรก ในยุคต่อมา แม้ว่าสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ จะได้วิวัฒนาการแบ่งออกเป็นสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศ ในสังกัดของคณะสงฆ์มหานิกาย และสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) แต่ยังคงมีวัตถุประสงค์และหลักการในการโดยการบริหารงานและการฝึกอบรมที่สืบทอดต่อเนื่องมาจากอดีต
เมื่อคณะสงฆ์และรัฐบาล ได้จัดตั้งสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตแล้ว กรมการศาสนาได้รับสนองนโยบายของรัฐบาล ในการสนับสนุนพระสงฆ์ไปประกาศพระศาสนาในต่างประเทศในฐานะเป็นพระธรรมทูตในความอุปถัมภ์ของรัฐบาลไทย การดำเนินการต่างๆ ได้เริ่มทำแต่ พ.ศ. 2507 เป็นต้นมา และได้รายงานมหาเถรสมาคมทราบเป็นระยะ ๆ ทั้งนี้มีการดำเนินการที่สำคัญคือการเลือกเฟ้นพระสงฆ์ที่จะทำการฝึกอบรมและส่งไปปฏิบัติศาสนกิจให้ได้ผล จะต้องได้ท่านผู้มั่นคงในศาสนา มีบุคลิกภาพน่าเลื่อมใส มีความรู้ความสามารถเพียงพอ และอุทิศตนเพื่อพระศาสนาอย่างแท้จริง
ใน พ.ศ.2509 สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก องค์ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม จึงได้มีพระบัญชาแต่งตั้งกรรมการคณะหนึ่ง ทำหน้าที่ฝึกอบรมพระธรรมทูตและบริหารงานอื่น ๆ ซึ่งประกอบด้วยพระสงฆ์และคฤหัสถ์ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการชุดนี้มีชื่อเรียกว่า “คณะกรรมการอำนวยการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ” ถือว่าเป็นคณะกรรมการชุดแรกที่ทำหน้าที่บริหารงานพระธรรมทูตไปต่างประเทศ โดยมีพระสาสนโสภณ (ปัจจุบันคือสมเด็จญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช) และมีคณะกรรมการ ดังนี้ (วัดบวรนิเวศวิหาร,ประวัติวัดบวรนิเวศวิหาร, (กรุงเทพ ฯ : โรงพิมพ์มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย, 2547, หน้า 25)
กรรมการฝ่ายสงฆ์
1. พระสาสนโสภณ (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ประธานกรรมการ
2. สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธโร) วัดพระศรีมหาธาตุ กรรมการ
3. พระราชชัยกวี (เงื้อม อินฺทปญฺโญ) วัดพระบรมธาตุไชยา กรรมการ
4. พระราชสิทธิมุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ) วัดมหาธาตุ กรรมการ
5. พระปัญญานันทมุนี (ปัน ปญฺญานนฺโท) วัดชลประทานรังสฤษดิ์ กรรมการ
6. พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน วัดป่าบ้านตาด อุดรธานี กรรมการ
7. เลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรรมการ
8.เลขาธิการสภาการศึกษามกุฎราชวิทยาลัย กรรมการ
กรรมการฝ่ายคฤหัสถ์
1.ดร.ดิเรก ชัยนาม กรรมการ
2.ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช กรรมการ
3.นายสัญญา ธรรมศักดิ์ กรรมการ
4.พันเอก ปิ่น มุทุกันต์ กรรมการ
5.นายสุชีพ ปุญญานุภาพ กรรมการ
6.พันโท ประสาร ทองภักดี กรรมการและเลขานุการ
มหาเถรสมาคมได้มีมติให้ใช้ตำหนักล่าง วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นที่ตั้งของสำนักฝึกอบรมธรรมทูตไปต่างประเทศ และต่อมาในวันที่ 1 ตุลาคม 2509 จึงได้ประกอบพิธีเปิดการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศรุ่นที่ 1 ขึ้น ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นประธานในพิธี
พระสาสนโสภณในสมัยนั้นปัจจุบันคือเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จ พระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก นอกจากนั้นยังมีพระเถระที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักดีในปัจจุบันคือพระราชชัยกวี (เงื้อม อินฺทปญฺโญ) หรือพุทธทาส,พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน(พระธรรมวิสุทธมงคล)วัดป่าบ้านตาดอุดรธานีร่วมเป็นกรรมการ
พระเถระที่เข้ารับการฝึกอบรมเป็นพระธรรมทูตรุ่นแรก ในปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่เช่นพระศาสนโสภณ(พิจิตร ฐิตวณฺโณ) เจ้าอาวาสวัดโสมนัส พระธรรมเจติยาจารย์ วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน เป็นต้น
ในส่วนของคณะกรรมการอำนวยการฝึกอบรม ได้ประชุมกันพิจารณากำหนดหลักการและวิธีการฝึกอบรมหลายครั้ง และตั้งได้อนุกรรมการขึ้นพิจารณาหลักสูตรการอบรมขึ้นคณะหนึ่ง ได้ตกลงกำหนดสรุปเป็นหลักใหญ่ ๆ เพื่อบริหารงานดังนี้
1.การฝึกอบรม ให้มีทั้งในขั้นปริยัติและขั้นปฏิบัติ และโดยเฉพาะให้มีการฝึกให้สามารถใช้ภาษาได้ดี และให้มีความรู้ทางศาสนาและทางอื่นที่ควรรู้เป็นวิชาประกอบพอเพียง และฝึกทางปฏิบัติให้ถึงระดับที่สมควร
2.ในขั้นปริยัติที่จะเปิดสถานฝึกอบรม ให้เลือกพระภิกษุผู้สำเร็จชั้นปริญญาจากมหาวิทยาลัยสงฆ์สองแห่ง คือ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัยแห่งละ 10 รูป ด้วยมอบให้เลขาธิการมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่งนั้นเป็นผู้เลือกเสนอ กับให้กรรมการฝึกอบรมฝ่ายบรรพชิตซึ่งมีอยู่ (ในระยะแรก) 6 รูปเลือกพระภิกษุอีกท่านละ1 รูป โดยให้เลือกพระภิกษุผู้มีระดับความรู้ชั้นปริญญาสงฆ์หรือเทียบเท่า จึงรวมพระภิกษุผู้เข้ารับการฝึก 26 รูป ส่วนในขั้นปฏิบัติ นอกจากจะมีการฝึกพระภิกษุทั้ง 26 รูปในทางปฏิบัติด้วยแล้ว ได้ตกลงขอให้กรรมการฝ่ายบรรพชิตเลือกพระภิกษุผู้เป็นนักปฏิบัติโดยเฉพาะไว้อีกด้วย จะได้มีกำหนดการอาราธนามาร่วมปฏิบัติอบรมเพื่อให้อยู่ในแนวที่รับรองต้องกันในโอกาสต่อไปเพราะในการออกไปปฏิบัติศาสนกิจนั้น ควรจะมีพระภิกษุผู้มีความรู้สามารถทั้งทางปริยัติและปฏิบัติคู่กันไป ทั้งควรจะปฏิบัติด้วยตนเองและแสดงแก่ผู้อื่นในแนวเดียวกัน ตามแบบพระสงฆ์ไทยสายเถรวาททั้งหมด
3. หลักสูตรที่กำหนดในการฝึกอบรม ได้กำหนดวิชาต่าง ๆ หลายแขนงในระดับที่สูงกว่าขั้นปริญญาตามที่ได้ศึกษามาแล้วในมหาวิทยาลัยทั้ง 2 แห่งนั้น แต่สรุปว่าให้อยู่ในหลักการฝึกดังนี้คือ ฝึกการถ่ายทอด การวางตัว และการวางโครงการดำเนินงาน เพราะการถ่ายทอดเป็นเรื่องสำคัญของการปฏิบัติงาน ทั้งในด้านภาษาทั้งในด้านวิชาจะต้องมีความสามารถที่จะถ่ายทอดจะต้องมีการวางตัวดี อันหมายถึงการปฏิบัติธรรมวินัยดี ตลอดถึงการปฏิบัติวางตัวดีโดยประการอื่น และจะต้องมีโครงการปฏิบัติอันเหมาะสม ในการนี้ได้กำหนดเชิญผู้ทรงคุณวุฒิทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศหลายท่านมาร่วมเป็นวิทยาทายก ซึ่งก็ได้รับความร่วมศรัทธาเป็นอันดี
4. สถานที่ฝึกอบรม ตกลงให้ใช้ที่ชั้นบนแห่งตำหนักเดิมของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ที่เรียกว่า “ตำหนักล่าง” ซึ่งใช้เป็นที่ทำงานและที่ประชุมมานานแล้ว และมีที่ว่างพอเป็นที่ใช้ฝึกอบรมได้ ทั้งนี้เพราะสมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้น ได้ทรงฟื้นฟูส่งเสริมการศึกษาและการปกครองคณะสงฆ์ให้มีระดับสูงขึ้นเป็นอันมาก ดังที่ได้ปรากฏเป็นที่รับรองยกย่องนับถือกันทั่วไป การที่พระภิกษุสงฆ์ในปัจจุบันเจริญขึ้นด้วย การศึกษาและการปฏิบัติย่อมกล่าวได้ว่า เนื่องจากพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้น แม้งานเกี่ยวกับพระธรรมทูตในบัดนี้ ย่อมเนื่องมาจากพระกรุณาธิคุณของพระองค์ท่านเช่นเดียวกัน ฉะนั้นการเปิดฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศขึ้นเป็นสถาบันครั้งแรก ณ ตำหนักที่พระองค์ท่านเคยประทับ ย่อมจะเป็นอนุสติถึงพระกรุณาธิคุณ ซึ่งยังปกแผ่อยู่เป็นที่พึ่งต้านทานอุปสรรคทั้งปวง ทางวัดบวรนิเวศวิหารได้อนุญาตให้ใช้ได้ตามต้องการ
5. ระยะการฝึกอบรม กำหนดหนึ่งปีกับหกเดือน และจะมีการฝึกปฏิบัติงานเหมือนอย่างไปปฏิบัติงานในต่างประเทศจริง กับการฝึกปฏิบัติทางจิตใจในอรัญญิกาวาสในระยะต่างๆ อีกด้วย”
การฝึกอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศได้จัดขึ้นร่วมกันทั้งสองนิกายในระหว่างปี พ.ศ. 2509 – 2510 และได้หยุดลงด้วยเหตุปัจจัยจำเป็นบางประการ แต่ยังมีพระสงฆ์ไทยไป เผยแผ่พระพุทธศาสนาต่างประเทศมากขึ้น
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม จึงให้มีการรื้อฟื้นโครงการนี้ขึ้นมาใหม่ โดยถวายให้สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นกรรมการอำนวยการฝึกอบรมพระสงฆ์มหานิกาย และสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ประจวบ กนฺตาจาโร) กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นกรรมการอำนวยการฝึกอบรมพระสงฆ์ธรรมยุต พระมหาเถระทั้งสองได้มอบภาระงานนี้ แก่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัยโดยลำดับเป็นหน่วยงานดำเนินการ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
ในส่วนของการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) นั้น หลังจากที่มหาเถรสมาคมได้มอบหมายให้สมเด็จพระพุทธชินวงศ์แล้วนั้น ก็ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสำนักฝึกอบรม ฯ ประกอบด้วยพระเถรานุเถระจากคณะธรรมยุตและผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยและคฤหัสถ์ผู้ทรงคุณวุฒิ และในส่วนการฝึกอบรมพระธรรมทูตนั้น ก็ได้มอบมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยพิจารณาดำเนินการเรื่อยมา
การบริหารงานของสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) นั้นหลังจากที่ได้มีการแต่งตั้งกรรมการบริหารแล้ว ก็ได้มีการออกระเบียบสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) ว่าด้วยการไปปฏิบัติศาสนกิจในต่างประเทศสำหรับพระธรรมทูต พ.ศ. 2543 ซึ่งในระเบียบดังกล่าว ได้กำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติศาสนกิจของพระธรรมทูตในต่างประเทศของคณะสงฆ์ธรรมยุต กรอบการบริหารงาน ภาระงาน จริยาพระธรรมทูต และให้มีสำนักงานเลขานุการ สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) เพื่อเป็นศูนย์ประสานการดำเนินงานด้านการฝึกอบรม การบริหารและการเผยแผ่อย่างเป็นระบบและเป็นเอกภาพ
หน่วยงานภายในของสำนักฝึกอบรมนั้น จากการที่ระเบียบสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูต ฯ ระบุให้มีสำนักงานเลขานุการ และให้มีตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วัดบวรนิเวศวิหาร และให้มีรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นเลขานุการสำนักงานพร้อมมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานประจำ ซึ่งนอกจากจะเป็นพระธรรมทูตที่ผ่านการฝึกอบรมและผ่านการปฏิบัติงานจากต่างประเทศมาร่วมปฏิบัติหน้าที่แล้ว ยังมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยร่วมดำเนินการด้วย นอกจากนั้นยังจัดตั้งและขยายหน่วยงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานเช่น มีการจัดตั้งสถาบันฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) ขึ้น ณ วัดพระศรีมหาธาตุ เขตบางเขนเมื่อ พ.ศ. 2547 เพื่อเป็นศูนย์ฝึกอบรมพระธรรมทูตในภาควิชาการ และมีวัดที่ร่วมดำเนินการในการฝึกอบรมด้วยคือวัดเทพพิทักษ์ปุณณาราม ต.กลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นศูนย์ฝึกอบรมภาคจิตภาวนา และวัดเขาสุกิม ต.เขาบายศรี อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ในพระองค์ ต.ทำนบ อ.ท่าตะโก จ.นคสวรรค์ เป็นศูนย์ฝึกอบรมภาคนวกรรม
คณะกรรมการของสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) ชุดปัจจุบันนั้น มีดังนี้
คณะกรรมการบริหาร
สมเด็จพระธีรญาณมุนี วัดเทพศิรินทราวาส ประธานกรรมการ
พระธรรมเมธาจารย์ วัดโสมนัสวิหาร รองประธานกรรมการ
พระธรรมเจติยาจารย์ วัดพระศรีมหาธาตุ กรรมการ
พระเทพวราลังการ วัดพระศรีมหาธาตุ กรรมการ
พระเทพกวี วัดพระยายัง กรรมการ
พระเทพปัญญามุนี วัดอาวุธวิกสิตาราม กรรมการ
พระเทพปริยัติวิมล วัดบวรนิเวศวิหาร กรรมการ
พระเทพวรคุณ วัดบรมนิวาส กรรมการ
พระเทพดิลก วัดปทุมวนาราม กรรมการ
พระราชญาณปรีชา วัดราชาธิวาส กรรมการ
พระราชพิศาลมุนี วัดมกุฏกษัตริยาราม กรรมการ
คณะกรรมการที่ปรึกษา
สมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศวิหาร กรรมการ
สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ วัดราชบพิธ กรรมการ
พระสาสนโสภณ วัดโสมนัสวิหาร กรรมการ
พระธรรมวราจารย์ วัดบวรนิเวศวิหาร กรรมการ
พระธรรมกิตติเมธี วัดสัมพันธวงศ์ กรรมการ
พระธรรมวราภรณ์ วัดเครือวัลย์ กรรมการ
พระเทพวิสุทธิกวี วัดราชาธิวาส กรรมการ
พระธรรมทูตที่ทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศนั้น บางประเทศได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ดังที่เพชรพิกุล ณ นครได้ทำการวิจัยเรื่อง “ศึกษาประสิทธิภาพการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตคณะธรรมยุตในประเทศสหรัฐอเมริกา” สรุปได้พระธรรมทูตทำหน้าที่ด้านส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมได้อย่างดีเยี่ยม รองลงมาคือการสร้างวัด การบริหารจัดการวัด ส่วนที่มีประสิทธิภาพน้อยคือด้านการสอนธรรม” (เพชรพิกุล ณ นคร.ศึกษาประสิทธิภาพการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตคณะธรรมยุตในประเทศสหรัฐอเมริกา” วิทยานิพนธ์ศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาพุทธศาสน์ศึกษา: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย,2555)
ในประเทศอื่นๆกำลังศึกษาหาเอกสารรายงานของพระธรรมทูตในแต่ละประเทศ ส่วนหนึ่งคงต้องรอการประชุมพระธรรมทูตไทยทั้งสี่ทวีปที่กำลังจะจัดขึ้น
คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดการประชุมเสวนาวิชาการพระธรรมทูตไทย 4 ทวีป ได้ประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดงานประชุมพระธรรมทูตไทยในช่วงระหว่างวันที่ 1-4 ตุลาคม 2556 ที่พระตำหนักล่าง วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร สถานที่แห่งนี้เคยเป็นสถานที่ฝึกอบรมพระธรรมทูตในยุคแรก พระธรรมทูตไปต่างประเทศในยุคแรกเริ่มต้นเมื่อปีพุทธศักราช 2509 ปัจจุบันปีพุทธศักราช 2556 ได้ทำการฝึกอบรมเป็นรุ่นที่ 19 แล้ว มีพระธรรมทูตที่ผ่านการฝึกอบรมจำนวนมาก ทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ
ในวโรกาสที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประธานอำนวยการการฝึกอบรมครั้งแรก ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 100 ปี ในวันที่ 3 ตุลาคม 2556 พระธรรมทูตไทยในต่างประเทศจึงพร้อมใจกันมาร่วมประชุมพระธรรมทูตไทยเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติแด่องค์สังฆประมุขแห่งคณะสงฆ์ไทย แม้จะมีภาระหน้าที่อันหนักในต่างประเทศ แต่การได้พบปะสนทนาแลกเปลี่ยนทัศนะในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในมาตุภูมิในวันอันเป็นมหามงคลนั้น นับเป็นเรื่องที่น่ายินดี บางรูปจากไปนานหลายปีวันนี้ได้กลับมาเยือนบ้านเกิดอีกครั้ง
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
ประธานพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธรรมยุต)รุ่นที่ 9
บรรณานุกรม
กรมการศาสนา. พระไตรปิฏกภาษาบาลี เล่มที่ 4 . กรุงเทพมหานคร : กรมการศาสนา, 2525.
กรมการศาสนา. พระไตรปิฏกภาษาไทยฉบับหลวง เล่มที่ 4 7 10 16 23 . กรุงเทพมหานคร :
กรมการศาสนา, 2525.
ปิ่น มุทุกันต์(พ.อ.). ข้อแนะนำพระธรรมทูตพุทธศาสนา.พระนคร:โรงพิมพ์การศาสนา, 2507.
พระอุดรคณาธิการ(ชวินทร์ สระคำ,จำลอง สารพัดนึก).พจนานุกรมบาลีไทย.พิมพ์ครั้งที่
4,กรุงเทพฯ:ธรรมสาร,2546.
เพชรพิกุล ณ นคร."ศึกษาประสิทธิภาพการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตคณะธรรมยุตใน
ประเทศสหรัฐอเมริกา” วิทยานิพนธ์ศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาพุทธศาสน์ศึกษา: บัณฑิต
วิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย,2555.
ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. (กรุงเทพมหานคร : นามมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, 2546.
รายงานการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 14/2508 วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม 2508.
วัดบวรนิเวศวิหาร.ประวัติวัดบวรนิเวศวิหาร. กรุงเทพ ฯ : โรงพิมพ์มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย, 2547.
วินัย พงศ์ศรีเพียร(ดร.).ประวัติศาสตร์และหลักฐานประวัติศาสตร์สุโขทัย. บรรยาย ณ โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ (เสาร์ที่ 10 กันยายน 2554)
วีณา โรจนราธา.นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย.กรุงเทพฯ: มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา,2554.
ลังกากุมาร.ตามรอยพระอุบาลีไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาที่ศรีลังกา.กรุงเทพฯ:สาละการพิมพ์, 2552.
สยาม แสนขัติ.สยามวงศ์ในลังกา.กรุงเทพฯ:สหธรรมิก,2549.
เสถียร โพธินันทะ.พระพุทธศาสนาในราชอาณาจักรไทยพระนคร: สภาการศึกษา
มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2500.
สิริวัฒน์ คำวันสา(รศ.). ประวัติพระพุทธศาสนาในประเทศไทย.กรุงเทพฯ: จรัลสนิทวงศ์การพิมพ์,
2542.
สุชาติ หงษา(ดร.). ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาจากอดีตสู่ปัจจุบัน.กรุงเทพฯ:ธรรมสภา,2549.
สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธรรมยุต).พระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธรรมยุต)
รุ่นที่ 13. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์พิฆเณศ พริ้นท์ติ้ง เซ็นเตอร์ จำกัด, 2550.
สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ.สมเด็จพระญาณวโรดมกับงานพระธรรมทูตในต่าง
ประเทศ.กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ยูไนเต็ดโปรดัดชั่น เพรส จำกัด,2553.