แนวคิดทางญาณวิทยา
เรื่องที่นับได้ว่าเป็นญาณวิทยาได้แก่ญาณการรู้แจ้งดังคำว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้ว แก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขอริยสัจ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขอริยสัจนี้นั้นแล ควรกำหนดรู้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขอริยสัจนี้นั้นแล เราก็ได้กำหนดรู้แล้ว. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขสมุทัยอริยสัจ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจนี้นั้นแลควรละเสีย.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจนี้นั้นแล เราได้ละแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขนิโรธอริยสัจ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่าทุกขนิโรธอริยสัจนี้นั้นแลควรทำให้แจ้ง.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธอริยสัจนี้นั้นแล เราทำให้แจ้งแล้ว. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้นั้นแล ควรให้เจริญ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่าทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้นั้นแลเราให้เจริญแล้ว
ปัญหาที่ว่าความรู้คืออะไรพระพุทธเจ้าแสดงไว้ใน วิชชาสูตร สังยุตตนิกายมหาวารวรรคว่า “ภิกษุนั้นนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า วิชชา ๆ ดังนี้ วิชชาเป็นไฉน และด้วยเหตุเพียงเท่าไร บุคคลจึงจะชื่อว่าถึงวิชชา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ความรู้ในทุกข์ ในเหตุให้เกิดทุกข์ ในความดับทุกข์ ในทางที่ให้ถึงความดับทุกข์ นี้เรียกว่า วิชชา และด้วยเหตุเพียงเท่านี้ บุคคลย่อมชื่อว่าถึงวิชชา ดูก่อนภิกษุ เพราะฉะนั้นแหละ เธอพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา (สํ.มหา.19/1695/ 426.)
ญาณทัสสนะ มีรอบ 3 มีอาการ 12 ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริงของเราในอริยสัจ 4 นี้ มีรอบ 3 มีอาการ 12 อย่างนี้ ยังไม่หมดจดดีแล้ว เพียงใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรายังยืนยันไม่ได้ว่า เป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ อันยอดเยี่ยมในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ใน หมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เพียงนั้น.
ในอรรถกถาตถาคตสูตร พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม 5 ภาค 2 หน้าที่ 425 ได้แสดงอรรถาธิบายไว้ว่า คำว่า มีวนรอบ 3 คือวน 3 รอบ ด้วยอำนาจวนรอบ 3 กล่าวคือ สัจญาณ กิจญาณ และกตญาณ. ก็ในวนรอบ 3 นี้ ญาณตามความเป็นจริงในสัจจะ 4 อย่างนี้ คือ นี้ทุกขอริยสัจจะ นี้ทุกขสมุทัย ชื่อว่าสัจญาณ ญาณที่เป็นเครื่องรู้กิจที่ควรทำอย่างนี้ว่า ควรกำหนดรู้ ควรละในสัจจะเหล่านั้นเที่ยว ชื่อว่า กิจญาณ. ญาณเป็นเครื่องรู้ภาวะเเห่งกิจนั้น ที่ทำแล้วอย่างนี้ว่า กำหนดรู้แล้ว ละได้แล้ว ดังนี้ ชื่อว่า กตญาณ. คำว่า มีอาการ 12 ความว่ามีอาการ 12 ด้วยอำนาจอาการสัจจะละ 3 นั้น คำว่า ญาณทัสสนะ คือ การเห็น กล่าวคือญาณที่เกิดขึ้นแล้วด้วยอำนาจวนรอบ 3 อย่าง อาการ 12 อย่างเหล่านี้. คำว่า ดวงตาเห็นธรรม ได้แก่มรรค 3 และผล 3 ในที่อื่น ชื่อว่า เป็นธรรมจักษุ. ในบทนี้ ได้แก่ปฐมมรรคทีเดียว. คำว่า ธรรมจักร ได้แก่ ญาณ เป็นเครื่องแทงตลอด และญาณเป็นเครื่องแสดง. ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนโพธิบัลลังก์ปฏิเวธญาณ มีอาการ 12 เกิดขึ้นแล้วในสัจจะ 4 ก็ดี ประทับนั่งแม้ในป่าอิสิปตนะ เทศนาญาณ ที่เป็นไปแล้ว เพื่อแสดงสัจจะมีอาการ 12 ก็ดี ชื่อว่าธรรมจักร. ก็ญาณแม้ทั้งสองนั้น ชื่อว่า ญาณที่ที่เป็นไปแล้วในพระอุระของพระทศพลนั่นเที่ยว ธรรมจักรนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงประกาศด้วยเทศนาน ชื่อว่า ทรงให้เป็นไปแล้ว. ก็ธรรมจักรนี้นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้เป็นไป ตราบจนถึงพระอัญญาโกณฑัญญเถระ กับพรหม 18 โกฏิดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล และเมื่อให้ธรรมจักรเป็นไปแล้ว จึงชื่อว่าให้เป็นไปแล้ว ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงให้ธรรมจักรเป็นไปแล้ว ท่านหมายเอาคำนั้น จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า ภุมมเทวดาทั้งหลาย ประกาศให้ได้ยินเสียง (อ.สํ.มหา.31/422.)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใดแล ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริงของเรา ในอริยสัจ 4 นี้ มีรอบ 3 มีอาการ 12 อย่างนี้ หมดจดดีแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อนั้น เราจึงยืนยันได้ว่าเป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ อันยอดเยี่ยมในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ อนึ่ง ปัญญาอันรู้เห็นได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราว่า ความพ้นวิเศษของเราไม่กลับกำเริบ ชาตินี้เป็นที่สุด ภพใหม่ไม่มีต่อไป
ญาณวิทยาว่าด้วยความรู้ และกระบวนการแห่งการรู้ ในพระพุทธศาสนาได้แสดงว่าความรู้คืออะไร เกิดได้อย่างไร และรู้ได้อย่างไรว่าความรู้เกิดขึ้นแล้ว และได้แสดงความรู้คือญาณเกิดขึ้นด้วยอำนาจวนรอบ 3 อย่าง อาการ 12 อย่างเป็นทฤษฎีความรู้ตามแนวแห่งพระพุทธศาสนาที่สมบูรณ์แบบ
แนวคิดทางจริยศาสตร์
ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแสดงหลักจริยศาสตร์ไว้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ที่สุดสองอย่างนี้อันบรรพชิตไม่ควรเสพ คือการประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย เป็นธรรมอันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และการประกอบความเหน็ดเหนื่อยแก่ตน เป็นความลำบาก ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
ในอรรถกถาตถาคตสูตร พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม 5 ภาค 2 หน้าที่ 425 ได้แสดงอรรถาธิบายไว้ว่า “คำว่า ไม่ควรเสพ คือไม่พึงใช้สอย. คำว่า การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย ความว่า การตามประกอบกามสุขในวัตถุกาม กิเลสกาม. คำว่า เป็นของเลว ได้แก่ลามก. คำว่า เป็นของชาวบ้าน. คือเป็นของมีอยู่แห่งชาวบ้านทั้งหลาย. คำว่า เป็นของปุถุชนได้แก่ ที่คนอันธพาลประพฤติเนือง ๆ แล้ว. คำว่า ไม่ประเสริฐ ได้แก่ไม่บริสุทธิ์ คือไม่ใช่ของสูงสุด อีกอย่างหนึ่ง มิใช่ของพระอริยะทั้งหลาย. คำว่าไม่ประกอบด้วยประโยชน์ คือประกอบด้วยประโยชน์หามิได้ อธิบายว่าไม่อาศัย เหตุที่นำประโยชน์เกื้อกูลแสะความสุขมาให้(อ.สํ.มหา.31/425.)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทาสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั้น นั่นตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิปทาสายกลางที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพานนั้นเป็นไฉน
ปฏิปทาสายกลางนั้น ได้แก่อริยมรรค มีองค์ 8 นี้แหละ คือปัญญาอันเห็นชอบ 1 ความดำริชอบ 1 เจรจาชอบ 1 การงานชอบ 1 เลี้ยงชีวิตชอบ 1 พยายามชอบ 1 ระลึกชอบ 1 ตั้งจิตชอบ 1 ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลคือปฏิปทาสายกลางนั้น ที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน.
แนวทางในการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายสูงสุดคือต้องเว้นทางสองสายคือกามสุขัลลิกานุโยคและอัตตกิลมถานุโยค จากนั้นจึงดำเนินตามทางสายกลางคืออริยมรรคมีองค์ 8 ก็จะสามารถบรรลุถึงจุดมุ่งหมายสูงสุดได้
หลักจริยศาสตร์ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนี้เป็นการแสดงวิธีการในการปฏิบัติตนเพื่อให้บรรลุความดีสูงสุดในพระพุทธศาสนานั่นคือนิพพาน กล่าวโดยสรุปทางสายกลางก็คือศีล สมาธิ ปัญญานั่นเอง โดยสรุปลงได้ดังนี้ปัญญาอันเห็นชอบ และความดำริชอบจัดเป็นปัญญา การเจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบจัดเป็นศีล และความพยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งจิตชอบจัดเป็นสมาธิ หลักจริยศาสตร์ในพระพุทธศาสนาจึงอยู่ที่ศีล สมาธิและปัญญานั่นเอง
สุนทรียศาสตร์
ความงามในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรเป็นความงามในการพรรณาถ้อยคำเมื่อเหล่าเทวดาพากันชมเชยพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าความว่า “ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมจักรให้เป็นไปแล้ว เหล่าภุมมเทวดาได้บันลือเสียงว่า นั่นพระธรรมจักรอันยอดเยี่ยม พระผู้มีพระภาคทรงประกาศให้เป็นไปแล้ว ณ ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน เขตพระนครพาราณสี อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือ ใครๆ ในโลก จะปฏิวัติไม่ได้.
เทวดาชั้นจาตุมหาราช ได้ยินเสียงของพวกภุมมเทวดาแล้ว ก็บันลือเสียงต่อไป.
เทวดาชั้นดาวดึงส์ ได้ยินเสียงของพวกเทวดาชั้นจาตุมหาราชแล้ว ก็บันลือเสียงต่อไป.
เทวดาชั้นยามา ได้ยินเสียงของพวกเทวดาชั้นจาตุมหาราชแล้ว ก็บันลือเสียงต่อไป.
เทวดาชั้นดุสิตได้ยินเสียงของพวกเทวดาชั้นจาตุมหาราชแล้ว ก็บันลือเสียงต่อไป.
เทวดาชั้นนิมมานรดีได้ยินเสียงของพวกเทวดาชั้นจาตุมหาราชแล้ว ก็บันลือเสียงต่อไป.
เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวดีได้ยินเสียงของพวกเทวดาชั้นจาตุมหาราชแล้ว ก็บันลือเสียงต่อไป.
เทวดาที่นับเนื่องในหมู่พรหม ได้ยินเสียงของพวกเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวดีแล้ว ก็บันลือเสียงต่อไปว่า นั่นพระธรรมจักรอันยอดเยี่ยม พระผู้มีพระภาคทรงประกาศให้เป็นไปแล้ว ณ ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน เขตพระนครพาราณสี อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก จะปฏิวัติไม่ได้ ชั่วขณะการครู่หนึ่งนั้น เสียงกระฉ่อนขึ้นไปจนถึงพรหมโลก ด้วยประการฉะนี้แล
ทั้งหมื่นโลกธาตุนี้ได้หวั่นไหวสะเทือนสะท้าน ทั้งแสงสว่างอันยิ่งใหญ่หาประมาณมิได้ ได้ปรากฏแล้วในโลก ล่วงเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย
ความหมายของหมู่เทวดาและพรหมในการพรรณาถ้อยคำสรรเสริญพระตถาคตเป็นถ้อยคำที่สละสลวย เมื่อว่าโดยความเป็นสากลอาจกล่าวได้ว่าการชมเชยสัจจธรรมอันเป็นสิ่งจริงแท้ การบรรลุความจริง ความดับสนิทด้วยสันติบทและแนวทางทางแห่งการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงสันติวรบทนั้นนับเป็นความงามที่เชื่อมโยงสัมพันธ์ตั้งแต่ต้น
ส่วนวิธีการทางตรรกศาสตร์มิได้ระบุไว้ชัดเจน แต่อาจจะแทรกอยู่ในวิธีทางที่ทำให้คนเข้าถึงความจริงได้เช่นความสมเหตุสมผลของทางสายกลาง ความมีเหตุผลของกามสุขัลลิกานุโยคและอัตตกิลมถานุโยคที่ไม่เหมาะแก่นักบวชเป็นต้น
ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรจึงสามารถแสดงแนวคิดทางปรัชญาตามทัศนะของปรัชญาทั่วไปได้ แต่ปรัชญาตะวันตกและตะวันออกมีที่มาไม่เหมือนกัน ในทางะวันตกมุ่งเพื่อความรู้เป็นกิจกรรมทางปัญญา แต่ในปรัชญาตะวันออกมุ่งเพื่อการปฏิบัติ ดังนั้นปรัชญาตะวันออกส่วนมากจึงเป็นจริยศาสตร์ และอาจกลายเป็นลัทธิศาสนาในเวลาต่อมา ในขณะที่ปรัชญาตะวันตกได้พัฒนากลายเป็นศาสตร์มากกว่าที่จะกลายเป็นศาสนา
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
เรียบเรียง
เผยแผ่ครั้งแรกใน mbu.ac.th/02/2550
แก้ไขปรับปรุง 04/04/53
บรรณานุกรม
กรมการศาสนา.พระไตรปิฏกภาษาบาลี ฉบับสยามรัฐ.กรุงเทพ ฯ:กรมการศาสนา,2525.
กรมการศาสนา.พระไตรปิฏกภาษาไทย ฉบับหลวง.กรุงเทพ ฯ:กรมการศาสนา,2514.
กรมการศาสนา.พระไตรปิฏกภาษาไทยพร้อมอรรถกถา.กรุงเทพฯ:มหามกุฏราชวิทยาลัย,2525.
พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสตร์. กรุงเทพ ฯ:สหธรรมิก,2545.
วิทย์ วิศทเวย์.ปรัชญาทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ 17. กรุงเทพฯ:อักษรเจริญทัศน์.2547.
พระไตรปิฏกซีดีรอมฉบับเรียนพระไตรปิฎก.