ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

               ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรเป็นเทศนาที่สำคัญสูตรหนึ่ง นอกจากจะเป็นปฐมเทศนาแล้ว เนื้อหายังครอบคลุมหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาไว้ได้เกือบทั้งหมดเป็นการแสดงหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาโวยเทศนาที่กระชับและได้ใจความสำคัญ นอกจากนั้นยังมีผู้รับรองสิ่งที่พระองค์ทรงแสดงคือโกญฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมเมื่อฟังธรรมเทศนาจบ ความสมบูรณ์ของธัมมจักกัปวัตนสูตรนั้นชาวพุทธเข้าใจดี แต่ถ้าจะนำแนวคิดทางปรัชญามาอธิบายจะทำได้หรือไม่ เพราะปรัชญามีขอบข่ายที่แตกต่างจากศาสนา และสิ่งที่ปรัชญาสนใจอาจจะไม่เกี่ยวข้องกับแนวคิดทางศาสนาเลยก็ได้ ก่อนจะวิเคราะห์ตามแนวทางแห่งปรัชญาจึงควรรู้จักปรัชญาบ้างพอสมควร
ปรัชญาคืออะไร
                ปรัชญา (philosophy) มีที่มาจากภาษาสันสกฤต หมายถึงความรู้อันประเสริฐ โดยมีรากศัพท์มาจากคำว่า  ปฺร  ที่แปลว่าประเสริฐ กับ คำว่า ชฺญา ที่แปลว่ารู้  ซึ่งเป็นศัพท์บัญญัติของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ในภาษาอังกฤษคำว่า philosophy มีรากศัพท์มาจากคำ philo-sophia  ในภาษากรีก philos แปลว่าความรัก และ sophia แปลว่าความรู้ เมื่อรวมกันจึงมีความหมายว่า "การรักในความรู้" หรือ ปรารถนาจะเข้าถึงความรู้หรือปัญญา การศึกษาด้าน ปรัชญา มีเป้าหมายที่ความเข้าใจ ความรู้ หรือปัญญาบางอย่าง เกี่ยวกับแนวคิดรากฐาน เช่น สภาพความเป็นจริง ความรู้ ความหมาย ค่านิยม การมีอยู่ และ ความจริง อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าควรใช้แนวทางใดควรเป็นแนวทางในการศึกษานี้ ซึ่งรวมไปถึงความถูกต้องของหลักการวิภาษวิธีแบบโบราณด้วย นอกจากนี้คำว่าปรัชญายังถูกเข้าใจในหลายๆ แบบโดยนักปรัชญาและผู้คนที่อยู่นอกวงการปรัชญา คำว่า ปรัชญา อาจใช้เพื่อหมายถึงกลุ่มของผลงานของนักปรัชญาหลัก คำนี้อาจหมายถึงการศึกษาปัญหาต่างๆ ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาโดยนักปรัชญา หรืออาจหมายถึงวิธีการคิดแบบวิเคราะห์และสร้างสรรค์ ปรัชญาตะวันตกร่วมสมัย สามารถแบ่งออกเป็นสายใหญ่ๆ ได้สองสายคือ 'สายวิเคราะห์' และ 'ปรัชญาสายภาคพื้นทวีป' (continental) สายแรกมุ่งประเด็นอยู่ที่การวิเคราะห์เชิงแนวคิด สายที่สองนั้นมีความแตกต่างตรงที่มุ่งเป้าศึกษาอยู่กับปัญหาที่เฉพาะเจาะจง ปรัชญาตะวันออกก็จัดว่าเป็นอีกกลุ่มหนึ่งเช่นกัน เราสามารถพิจารณากลุ่มแนวคิดเหล่านี้โดยคิดแยกจากกันหรือจะเปรียบเทียบกันก็ได้ในชีวิตประจำวันคำว่าปรัชญานั้นมีความหมายหลากหลาย แต่ในบทความนี้จะสนใจปรัชญาในฐานะที่เป็นสาขาวิชาหนึ่งเท่านั้น

                ศาสตราจารย์วิทย์ วิศทเวย์ได้แสดงทัศนะไว้ว่า วิชาปรัชญาเกิดจากความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ บางทีความอยากรู้อยากเห็นนั้นเกิดขึ้นเพราะมนุษย์ต้องการหาความรู้ เพื่อที่จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของชีวิตเช่นเราอยากรู้ว่าทำอย่างไรต้นข้าวที่ปลูกไว้จึงจะได้ผลิตผลมากๆ แต่บางทีความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์มิได้เกิดขึ้นเพราะต้องการอย่างนั้น ทาเลสบิดาแห่งปรัชญาอยากรู้ธาตุแท้ของโลกเพียงเพราะต้องการรู้โดยมิหวังผลอะไรเป็นกิจจะลักษณะ มนุษย์มีกำเนิดมาอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ความจริงที่ปรากฎอยู่ก็คือว่า ความอยากรู้อยากเห็นและการซักไซ้ไล่เลียงไปเรื่อยๆอย่างไม่มีสิ้นสุด เป็นธรรมชาติอันหนึ่งของคนเรา และวิชาปรัชญาก็เกิดขึ้นเพราะเหตุนี้  วิทย์ วิศทเวย์,ปรัชญาทั่วไป, พิมพ์ครั้งที่ 17, (กรุงเทพฯ:อักษรเจริญทัศน์,2547,หน้า 218.

 หัวข้อทางปรัชญา
                นักปรัชญามักสนใจในเรื่องของ การมีอยู่(Existance) หรือการเป็นอยู่ คุณธรรม ความรู้ ความจริง และความงาม นักปรัชญาอาจตั้งคำถามอย่างเอาเป็นเอาตายกับแนวคิดเหล่านี้  ซึ่งมักเป็นเรื่องที่อยู่นอกขอบเขตของการเข้าถึงของวิทยาศาสตร์ ในอดีต นักปรัชญาส่วนมากมักวางแนวคิดของตนอยู่บนความเชื่อทางศาสนาหรือวิทยาศาสตร์ ผลงานหลักๆ ในหลังยุคกลางเริ่มด้วยการตั้งคำถามเกี่ยวกับความหมายของปรัชญา การถามว่า “ปรัชญาคืออะไร” ก็เป็นปัญหาทางปรัชญาด้วยเช่นกันอย่างไรก็ตามโดยทั่วไปแล้วนักปรัชญามักเริ่มต้นด้วยปัญหาเช่น 
                การคิดที่ถูกต้องเป็นอย่างไร?เมื่อใดที่เราสามารถระบุได้อย่างแน่นอนว่าบางอย่างไม่ถูกต้อง เราจะคิดอย่างรอบคอบในเรื่องที่สลับซับซ้อนได้อย่างไร 
                ความรู้เป็นสิ่งที่มีจริงหรือไม่ เป็นไปได้ที่จะมีความรู้หรือไม่ ธรรมชาติของความรู้เป็นอย่างไร ความรู้เป็นสิ่งที่อยู่นิ่งหรือเคลื่อนไหวไปตามปัจจัยใดบ้าง? อะไรคือกระบวนการที่ทำให้ได้มาซึ่งความรู้? 
                การกระทำควรจะมีเป้าหมายขั้นสุดท้ายอยู่ที่อะไร มีความแตกต่างระหว่างสิ่งที่ดีกับสิ่งที่ชั่วหรือไม่ อะไรคือเกณฑ์แบ่งแยกระหว่างดีและชั่ว ความถูกต้องเป็นสิ่งสัมบูรณ์หรือว่าเป็นสิ่งสัมพัทธ์ เราควรจะใช้ชีวิตเช่นใด 
                อะไรคือความจริง  อะไรคือสิ่งที่มีอยู่  ธรรมชาติพื้นฐานของสิ่งเหล่านั้นคืออะไร  สรรพสิ่งมีอยู่ด้วยตัวของมันเองนอกเหนือการรับรู้ของเราหรือไม่  ธรรมชาติของเนื้อที่และเวลาเป็นอย่างไร? ธรรมชาติของความคิดและการคิดเป็นอย่างไร? การเป็นคนมีความหมายเช่นใด การมีสติรู้คืออะไร มีพระเจ้าหรือไม่ 
                ความงามเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับผู้ที่รับรู้หรือไม่ หรือว่าเป็นสิ่งสากลที่เป็นจริงในตัวเองแม้จะไม่ถูกรับรู้ องค์ประกอบของความงามคืออะไร อะไรคือศิลปะ 
                ในปรัชญากรีกโบราณกลุ่มของคำถามเหล่านี้จะถูกพิจารณาถึงในสาขาแยกย่อยของปรัชญา คือ การวิเคราะห์ หรือตรรกวิทยา(Logic), ญาณวิทยา(Epistemology), จริยศาสตร์(Ethics), อภิปรัชญา(Metaphysics), และสุนทรียศาสตร์ โดยที่จริยศาสตร์กับสุนทรียศาสตร์ถูกรวมเรียกว่าอรรฆวิทยา/คุณวิทยา(Axiology) อย่างไรก็ตามปรัชญามิได้สนใจเฉพาะเรื่องเหล่านี้เท่านั้น อริสโตเติลผู้ริเริ่มการแบ่งสาขาในลักษณะนี้ยังคงจัดให้การเมือง ฟิสิกส์สมัยใหม่ ธรณีวิทยา ชีววิทยา อุตุนิยมวิทยา และดาราศาสตร์เป็นสาขาหนึ่งของการศึกษาทางปรัชญาด้วยเช่นกัน แวดวงปรัชญากรีกได้พัฒนากระแสการคิดแบบวิเคราะห์ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากโสกราตีสและวิธีการของเขา ซึ่งเสนอให้แบ่งปัญหาที่สนใจออกเป็นส่วนๆ เพื่อทำให้เข้าใจปัญหาได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามปรัชญาแนวอื่น เช่นในปรัชญาตะวันออก อาจไม่จำเป็นต้องใช้การแบ่งสาขาย่อยในลักษณะที่กล่าวมา หรือว่าสนใจในเรื่องเดียวกัน สาขาต่าง ๆ ของปรัชญานั้นนักปรัชญาแต่ละยุคอาจจะแบ่งไม่เหมือนกันแต่สาขาที่สำคัญๆพอจำแนกได้ดังต่อไปนี้

 

 

อภิปรัชญา

                อภิปรัชญาเป็นศัพท์บัญญัติของคำว่า Metaphysics หมายถึงศาสตร์ที่ว่าด้วยความแท้จริงหรือสารัตถะ (Reality Essence) มีปรัชญาอีกสาขาหนึ่งที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับ Metaphysics คือ Ontology แปลว่า ภววิทยา ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยความมี (being) ศาสตร์ทั้งสองนี้มีความเกี่ยวข้องกันเพราะว่า Metaphysics คือ ศาสตร์ที่ว่าด้วยความแท้จริงหรือสารัตถะว่ามีจริงหรือไม่ Ontology ก็ศึกษาเรื่องความมีอยู่ของความแท้จริง หรือสารัตถะนั้นเป็นจริงอย่างไรโดยทั่วไปถือว่าศาสตร์ทั้งสองนี้ศึกษาเรื่องเดียวกัน คือ ความมีอยู่ของความแท้จริง หรือความแท้จริงที่มีอยู่ เพราะฉะนั้นจึงถือว่าศาสตร์ทั้งสองเป็นเรื่องเดียวกัน อภิปรัชญาเป็นการศึกษาปรัชญาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากการเห็นทั่ว ๆ ไป หรือความรู้ที่อยู่นอกเหนือการรู้เห็นใด ๆ แต่สามารถรู้และเข้าใจด้วยเหตุผล
ญาณวิทยา
                ญาณวิทยา หรือเรียกอีกอย่างว่า ทฤษฎีความรู้ (Theory of Knowledge)บัญญัติขึ้นเพื่อใช้เป็นคำแปลของคำภาษาอังกฤษว่า Epistemology ซึ่งมาจากภาษากรีกว่า Episteme (ความรู้)และ Logos (วิชา)มีความหมายว่า ทฤษฎีแห่งความรู้ ซึ่งญาณวิทยาจะอธิบายถึงปัญหาเกี่ยวกับที่มาของความรู้ แหล่งเกิดของความรู้ ธรรมชาติของความรู้ และเหตุแห่งความรู้ที่แท้จริง

จริยศาสตร์
                จริยศาสตร์ (Ethics) มีที่มาจากรากศัพท์ภาษาละตินคำว่า (Ethos) ที่หมายถึง อุปนิสัย หรือหลักของความประพฤติ ขนบธรรมเนียมที่เป็นความเคยชิน จริยศาสตร์ เป็นการศึกษาถึงเป้าหมายสูงสุดของมนุษย์เราว่าคืออะไร อะไรควรทำหรือไม่ควรทำเพื่อจะได้ไปถึงเป้าหมายสูงสุดนั้น และจะใช้เกณฑ์อะไรมาตัดสินว่า สิ่งนี้ดี สิ่งนี้ไม่ดี ดังนั้น เป้าหมายของชีวิต คือ ตัวที่จะกำหนดการกระทำของมนุษย์ว่าจะเป็นไปในแนวทางใด และเป้าหมายชีวิตของมนุษย์แต่ละคนนั้นก็แตกต่างกันออกไปหลายแนวคิด

สุนทรียศาสตร์
                สุนทรียศาสตร์เป็นศัพท์คำใหม่ ที่บัญญัติขึ้นโดย โบมการ์เด็น (Alexander Gottieb Baumgarte) ซึ่งก่อนหน้าที่เป็นเวลา 2000 กว่าปี นักปราชญ์สมัยกรีก เช่น เพลโต อริสโตเติล กล่าวถึงแต่เรื่องความงาม ความสะเทือนใจ ซึ่งเป็นความรู้สึกทางการรับรู้ (Sense Perception) ของมนุษย์ ปัญหาที่พวกเขาโต้เถียงกันได้แก่ ความงามคืออะไร ค่าของความงามนั้นเป็นจริงมีอยู่โดยตัวของมันเองหรือไม่ หรือว่าค่าของความงามเป็นเพียงความข้อความที่เราใช้กับสิ่งที่เราชอบ ความงามกับสิ่งที่งามสัมพันธ์กันอย่างไร มีมาตรการตายตัวอะไรหรือไม่ที่ทำให้เราตัดสินใจได้ว่าสิ่งนั้นงามหรือไม่งาม สุนทรียศาสตร์นับว่าเป็นแขนงหนึ่งของปรัชญาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแสวงหาคุณค่า (Axiology) ในสมัยก่อนวิชานี้เป็นที่รู้จักกันในรูปของวิชา “ทฤษฎีแห่งความงาม” (Theory of Beauty)

ตรรกวิทยา
                ตรรกวิทยา (logic) มาจากรากศัพท์ ในภาษากรีกว่า “Logos” และ ความหมายของคำว่า logos ตามรากศัพท์เดิมในภาษากรีก หมายถึง คำพูด การพูด เหตุผล สมมุติฐาน สุนทรพจน์ คำกรีกที่มีรากศัพท์มาจาก logos เช่น logistikon มีความหมายถึง การอธิบาย การให้รายละเอียด นอกจากนี้ยังมีความหมาย หมายถึง คำสัญญา แต่อย่างไรก็ตามความหมาย ที่ซ่อนอยู่ของคำว่า Logic คือ การคิด นั่นเอง ตรรกวิทยามิใช่เรื่องราวของปรัชญาโดยตรง แต่มีความสำคัญในฐานะเป็นเครื่องมือในการคิดทางปรัชญา เพื่อค้นหาเหตุผลและความถูกผิดในการโต้แย้งที่ต่างกัน

 


วิเคราะห์แนวคิดทางปรัชญาในธัมมจักกัปวัตนสูตร

                ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรเป็นปฐมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปัญจวัคคียที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แสดงถึงสิ่งจริงแท้ ความรู้ และแนวทางในการปฏิบัติ มีปรากฎในพระไตรปิฎกสองครั้งคือ ครั้งแรกในพระวินัยปิฎก มหาวรรค (วิ.มหา 4/13/15.)และในสังยุตตนิกาย มหาวรรค  ธัมมจักกัปปวัตตนวรรคที่ 2  ตถาคตสูตร  (สํ. มหา. 19/1664/419.) เมื่อวิเคราะห์แนวคิดในทางปรัชญาสามารถจัดเข้าในสาขาต่างๆของปรัชญาได้ดังนี้                  

แนวคิดทางอภิปรัชญา
                ในธัมมจักกัปวัตตนสูตรมีส่วนที่เป็นปัญหาทางอภิปรัชญาคือทุกข์ดังข้อความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขอริยสัจ คือ ความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่  ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บไข้ก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ ความประจวบด้วยสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก  ก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์  โดยย่นย่อ อุปาทานขันธ์ 5 เป็นทุกข์   ในขันธสูตร สังยุตตนิกาย มหาวารวรรคได้ยืนยันไว้ว่า  “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย   ก็ทุกขอริยสัจเป็นไฉน   ควรจะกล่าวได้ว่าอุปาทานขันธ์  5  อุปาทานขันธ์  5  เป็นไฉน  ได้แก่อุปาทานขันธ์คือรูปอุปาทานขันธ์คือเวทนา  อุปาทานขันธ์คือสัญญา  อุปาทานขันธ์คือสังขาร  อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ  นี้เรียกว่าทุกขอริยสัจ (สํ.มหา. 19/. 1679/422.)    
                ความจิรงแท้ที่มีอยู่ในโลกคือทุกข์ ดังนั้นทุกข์จึงเป็นปริญเญยยธรรมคือธรรมที่ควรกำหนดรู้ หากผู้ใดกำหนดรู้ความจริงแท้คือทุกข์ได้ก็จะเข้าใจธรรมหมวดอื่นๆได้ โดยที่สุดท่านหมายเอาอุปาทานขันธ์ห้าว่าเป็นทุกข์ ขันธ์ห้าคือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สรุปก็คือสิ่งที่ควรกำหนดรู้คือนามรูปดังที่ปรากฎในปริญญาสูตร  สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ว่าด้วยธรรมที่ควรกำหนดรู้และความรอบรู้ความว่า  “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่ควรกำหนดรู้และความรอบรู้ เธอทั้งหลายจงฟัง. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ควรกำหนดรู้เป็นไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปเป็นธรรมที่ควรกำหนดรู้ เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ เป็นธรรมที่ควรกำหนดรู้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่าธรรมที่ควรกำหนดรู้. เมื่อรู้แล้วจะเป็นอย่างไรมีคำตอบในเรื่องเดียวกันว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ความรอบรู้เป็นไฉน? คือความสิ้นไปแห่งราคะ ความสิ้น ปแห่งโทสะ ความสิ้นไปแห่งโมหะดูกรภิกษุทั้งหลายนี้เรียกว่าความรอบรู้ (สํ.ขนฺธ 17/54/26.)           

                สิ่งจริงแท้ปรากฎในตถสูตร พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค  ว่าด้วยของจริงแท้   4 อย่างความว่า  “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย   สิ่ง 4  อย่างนี้     เป็นของจริงแท้   ไม่แปรผัน  ไม่เป็นอย่างอื่น   สิ่ง 4 อย่างเป็นไฉน    สิ่งนี้ว่า   นี้ทุกข์   นี้เหตุให้เกิดทุกข์   นี้ความดับทุกข์    นี้ทางให้ถึงความดับทุกข์    เป็นของจริงแท้    ไม่แปรผัน   ไม่เป็นอย่างอื่น  สิ่ง  4 อย่างนี้     เป็นของจริงแท้   ไม่แปรผัน   ไม่เป็นอย่างอื่น   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  เพราะฉะนั้นแหละ  เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า    นี้ทุกข์    นี้ทุกขสมุทัย    นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา. (สํ.มหา.19/1697/426.)
                พระพุทธศาสนามิได้แสดงแต่สิ่งที่จริงแท้เพียงอย่างเดียวแต่ยังบอกสาเหตุที่มาของความจริงนั้นด้วยว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขสมุทัยอริยสัจ คือตัณหาอันทำให้เกิดอีก ประกอบ ด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิน มีปกติเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา 
ภวตัณหา วิภวตัณหา. 
                เมื่อแสดงถึงที่เกิดยังสืบสาวไปจนถึงความดับของสิ่งจริงแท้นั้นด้วยว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขนิโรธอริยสัจ คือ ตัณหานั่นแลดับ โดยไม่เหลือด้วยมรรคคือวิราคะ สละ สละคืน ปล่อยไป ไม่พัวพัน.  
                 อภิปรัชญาว่าด้วยสิ่งจริงแท้ ความจริงหรือสมัยหนึ่งว่าปฐมธาตุ ในพระพุทธศาสนาแสดงสิ่งจริงแท้ว่าคืออริยสัจจ์ทั้งสี่ประการ โดยเฉพาะทุกข์ว่าเป็นสิ่งจริงแท้ ที่ควรกำหนดรู้ ทุกข์จึงจัดเป็นปัญหาทางอภิปรัชญา 

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก