4. ยุคการสื่อสารโดยสื่ออิเล็คทรอนิคส์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาทางวิทยุ โทรทัศน์
เมื่อมีสถานีวิทยุโทรทัศน์เกิดขึ้นพระสงฆ์ส่วนหนึ่งก็ได้ใช้สื่อวิทยุโทรทัศน์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา จึงมีพระนักจัดรายการวิทยุโทรทัศน์จำนวนมาก ปัจจุบันการดำเนินชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรมอาจจะพยายามแสวงหาทางอยู่ร่วมกันอย่างสันติโดยที่ต่างฝ่ายก็ต้องพยายามปรับตัวไปตามทางของตัวเอง ศาสนาได้แสดงอกในหลากหลายรูปแบบ หลากหลายเนื้อหา เพื่อเอาใจมิตรรักนักธรรมและบรรดาญาติธรรมทั้งหลายให้หันหน้ามาเข้าวัดบ้างรวมทั้งได้ผสมผสานการใช้สื่อแบบใหม่ ๆ อย่างไม่เคอะเขิน เช่น พระพยอม กัลยาโณ ได้จัดรายการสนทนาธรรมคู่กับดีเจรายการวิทยุเป็นประจำเป็นต้น (ณัฐนันท์ ประกายสันติสุข, ประสิทธิผลของการสื่อสารในการเผยแผ่ธรรมะ:หลักสูตรการพัฒนาจิตให้เกิดปัญญาและสันติสุข, กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ภาพพิมพ์, 2542, หน้า 3.
และยังมีพระสงฆ์ไทยอีกกลุ่มหนึ่งจัดรายการทางโทรทัศน์อีกจำนวนมาก ซึ่งทั้งวิทยุโทรทัศน์ก็เป็นเครื่องมือในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้อย่างหนึ่ง
ปัญหาและอุปสรรคในการเผยแผ่ธรรมของสถาบันสงฆ์ไทยมีผู้ศึกษาแล้ว พบว่าปัญหาและอุปสรรคด้านพระสงฆ์และสถาบันสงฆ์ในฐานะผู้เผยแผ่ธรรมะขาดแคลนพระสงฆ์ที่มี ความสามารถในการเผยแผ่ธรรมะอย่างแท้จริง ด้านรูปแบบการสื่อสาร ปัจจุบันเน้นรูปแบบการเทศน์หรือการบรรยายภาคทฤษฎีเป็นหลัก แต่ไม่มีภาคปฏิบัติหรือจัดกิจกรรมต่อเนื่องที่เป็นรูปธรรม ทำให้การเผยแผ่ธรรมะไม่เข้าถึงจิตใจของผู้ฟังอย่างแท้จริง ด้านวิธีการ หรือกลวิธีในการเผยแผ่ ไม่มีการกำหนดหัวข้อธรรมะที่เหมาะสมกับผู้ฟัง หรือไม่มีการศึกษาหัวข้อธรรมะอย่างถ่องแท้ก่อนนำไปเผยแผ่นอกจากนี้พระสงฆ์ไม่ได้มีการฝึกการผลิตและการใช้โสตทัศนูปกรณ์มาก่อน รวมทั้งสื่อต่าง ๆ ส่วนใหญ่มุ่งใช้แต่สื่อบุคคลเป็นหลัก ทำให้การเผยแผ่ธรรมะกระทำได้ในขอบเขตจำกัด (ปนัดดา นพพนาวัน, “การศึกษากระบวนการสื่อสารเพื่อเผยแพร่ธรรมะของสถาบันสงฆ์”, วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, บัณฑิตวิทยาลัย : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2533, หน้า 103) การเผยแผ่ของคณะสงฆ์ไทยจึงติดอยู่รูปแบบมากเกินไปทำให้คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจน้อย
ในการใช้สื่อสมัยใหม่ ในยุคข้อมูลข่าวสาร ผลต่อการเผยแผ่ และการเปลี่ยนแปลงการใช้สื่อ พระภาวนาวิริยคุณ (ทัตตะชีโว) กล่าวว่า บทบาทสื่อสมัยใหม่นั้นมีผลต่อการเผยแพร่แต่หากแยกแยะไม่ออกก็อาจจะนำไปใช้ในทางที่ผิด ซึ่งประการสำคัญโดยพื้นฐาน ต้องพิจารณาให้เห็นก่อน ขณะนี้ที่มีอยู่ คือ พระไตรปิฎกคอมพิวเตอร์อยู่ในแผ่นซีดีรอม แจกจ่ายเผยแพร่แก่องค์กรต่าง ๆ ไปแล้ว (สมเกียรติ เรืองอนันต์เลิศ, “การเปิดรับธรรมะในยุคโลกาภิวัตน์”, วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, (บัณฑิตวิทยาลัย : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย), 2539, หน้า 39)
การเผยแผ่สาระของพระพุทธศาสนาให้กว้างไกลในยุคปัจจุบันนั้นอาจจะมีวิธีการได้หลายแนวทางเท่าที่คณะสงฆ์ใช้ในปัจจุบันเช่นการเทศนา การแสดงธรรม การบรรยายธรรมในแต่ละวัด การเผยแผ่ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ ดาวเทียมดังที่วัดธรรมกายมีรายการธรรมะที่เรียกว่าดาวเทียมดาวธรรม เป็นต้น
ในยุคปัจจุบันมีสถานีวิทยุชุมชนเกิดขึ้น มีวัดหลายวัดต่างก็ใช้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยใช้สื่อคือวิทยุชุมชนเป็นช่องทางในการเผยแผ่ แต่วิทยุชุมชนมีข้อจำกัดคือไม่สามารถสื่อสารไปในที่ไกลได้ เพราะมีข้อจำกัดด้านคลื่น ดังนั้นจึงจำกัดอยู่ในกลุ่มที่ไม่มากนักโดยเฉพาะในกลุ่มที่คลื่นวิทยุชุมชนส่งไปถึงเท่านั้น
การเผยแผ่พระพุทธศาสนาทางวิทยุโทรทัศน์ เป็นที่นิยมมาโดยตลอด ในทางคณะสงฆ์ก็ได้มีการจัดตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์ทางพระพุทธศาสนาขึ้นเรียกว่า “สถานีโทรทัศน์โลกพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย” ตั้งอยู่ที่วัดยานนาวา มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า The World Buddhist Television of Thailand (WBTV) เดิมมีชื่อว่า สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวี เพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เฉลิมพระเกียรติ72 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เจริญพระราชศรัทธา เสด็จฯพร้อมด้วยพระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายามาเป็นประธานเปิดสถานีโทรทัศน์เฉลิมพระเกียรติฯ เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2547 ณ วัดยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร
เนื่องจากสถานีโทรทัศน์ไทยทีวี เป็นระบบอะนาล๊อก (Analog) ซึ่งเป็นระบบเก่า ไม่สามารถที่จะส่งสัญญาณไปในระยะไกลได้ ฉะนั้นจึงไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการตั้งสถานีได้ แต่กระนั้น สถานีก็ได้ทำการออกอากาศในระบบเดิมต่อไป และดำเนินการไปเพียงประมาณ 3 เดือน ก็ต้องหยุดดำเนินการไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว เพราะมีเหตุขัดข้องทั้งจากระบบการออกอากาศ และการบริหารจัดการของผู้อุปถัมภ์รายเดิมของสถานี
เนื่องจากสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ เป็นสถานีโทรทัศน์ช่องประวัติศาสตร์ เพราะเป็นสถานี โทรทัศน์ที่สถาบันพระมหากษัตริย์ได้เสด็จฯ มาทรงเปิดเพื่อจะให้เป็นสถานีโทรทัศน์เฉลิมพระเกียรติ ไว้ที่วัดยานนาวา พระอารามหลวงแห่งนี้โดยเฉพาะ ฉะนั้น เพื่อเป็นการเทิดทูนรักษา พระเกียรติคุณ และประวัติ ศาสตร์ ดังกล่าวเอาไว้ให้ได้ คณะกรรมการดำเนินงานจึงมีความตั้งใจอันแน่วแน่ที่จะรักษาและพัฒนาสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ให้มีความสมบูรณ์ในทุกด้านให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ต่อมาในปี พ.ศ.2548 ด้วยความมุ่งมั่นดังกล่าว สถานีก็ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพบกโดยความอนุเคราะห์ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา (ผู้บัญชาการทหารบก) พล.อ.ประยุทธ์ จันโอชา (เสนาธิการทหารบก) และ พล.ท.กิตติทัศน์ บำเหน็จพันธุ์ (ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5) โดยสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 ได้จัดสรรเวลาออกอากาศเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ทางสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม ไทยทีวีโกลบอล เน๊ตเวิล์ค (THAI TV GLOBAL NETWORK, TGN) สัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง
นอกจากนี้ กองทัพบกก็ยังจัดหาเงินงบประมาณเพื่อสร้างห้องบันทึกเทปโทรทัศน์ขนาดมาตรฐาน พร้อมกับมอบถวายกล้องโทรทัศน์และอุปกรณ์ที่จำเป็นอื่น ๆ ให้แก่สถานีอีกด้วย
ด้วยการช่วยเหลือดังกล่าว ทำให้สถานีมีความพร้อมและสามารถดำเนินงานต่อเนื่องไปได้มากขึ้นโดยลำดับ ฉะนั้นในปี พ.ศ.2551 คณะกรรมการดำเนินงานซึ่งมี พระพรหมวชิรญาณ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดยานนาวา เป็นประธานได้มีโอกาสฟื้นฟูและปรับปรุงสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวี ซึ่งได้หยุดดำเนินการไปเป็นการชั่วคราวแล้วนั้น ให้กลับมาดำเนินการได้อีก ทั้งนี้โดยได้ทำการเปลี่ยนแปลงจากระบบเดิม ซึ่งเป็นระบบอนาล๊อก (Analog) ให้มาเป็นระบบดิจิตอล (Digital) อันเป็นระบบออกอากาศในสถานีโทรทัศน์อันเป็นสากล ซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลาย และมีเครื่องมืออุปกรณ์ส่งสัญญาณไปได้อย่างกว้างไกลมากกว่าเดิม (ระบบเคเบิลทีวี ผ่านดาวเทียม) ซึ่งขณะนี้ก็ได้ดำเนินการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในเรื่องดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้วทุกประการ
พร้อมกันนี้ เพื่อให้เป็นที่สมพระเกียรติยิ่งขึ้น คณะกรรมการดำเนินงาน ได้ขอพระบรมราชานุญาต เปลี่ยนชื่อจากสถานีโทรทัศน์ไทยทีวี เพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เป็นสถานีโทรทัศน์โลกพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย
เนื่องในงานสมโภชพระอารามหลวง วัดยานนาวา 240 ปี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์พระวรชายา และพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ เสด็จทอดพระเนตรห้องบันทึกเทปโทรทัศน์ และเยี่ยมชมกิจกรรมของสถานีโทรทัศน์โลกพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย วัดยานนาวา เป็นกรณีพิเศษ ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2551 โดยการกราบบังคมทูลเชิญของคณะกรรมการดำเนินงานของสถานีโทรทัศน์โลกพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย วัดยานนาวา
งานเผยแผ่พระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ โดยสื่อโทรทัศน์นั้นเป็นงานที่ยิ่งใหญ่มีความ สำคัญต่อการดำรงอยู่ของสถาบันชาติ ศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นอย่างยิ่ง และในขณะเดียวกัน ก็จะต้องใช้เงินงบประมาณดำเนินการเป็นจำนวนมาก งานเผยแผ่จึงจะดำเนินไปได้ด้วยดี ฉะนั้นคณะกรรมการดำเนินงานสถานีจึงได้ขอจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิสถานีโทรทัศน์โลกพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย วัดยานนาวา เพื่อระดมทุนจากผู้มีจิตศรัทธาจากทุกภาคส่วนต่าง ๆ ของประเทศ เพื่อนำดอกผลมาดำเนินการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและส่งเสริมกิจกรรมต่าง ๆ ของคณะสงฆ์ ให้ดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ
วัตถุประสงค์และเป้าหมายในการดำเนินการให้สำเร็จตามภารกิจดังกล่าวแล้วสถานีโทรทัศน์โลกพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย วัดยานนาวา ได้กำหนดวัตถุประสงค์และกำหนดเป้าหมายไว้ดังนี้
1. เป็นสถานีโทรทัศน์เพื่อเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
2. เพื่อการเผยแพร่พระพุทธศาสนาทั้งในประเทศและต่างประเทศ
3. เพื่อเผยแพร่ศาสนกิจ ผลงาน และกิจกรรมต่าง ๆ ของมหาเถรสมาคม คณะสงฆ์ วัด สถาน ศึกษา และองค์กรทางพระพุทธศาสนาต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
4. เพื่อให้การศึกษาในเรื่องศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมของชาติ และเรื่องอื่น ๆ แก่ประชาชน และเยาวชนของชาติ
5. เพื่อเป็นสื่อสร้างความเข้าใจและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ระหว่างคนในชาติซึ่งมีเชื้อชาติและศาสนาที่แตกต่างกัน
6. เพื่อสร้างสรรค์ และปลูกจิตสำนึก ให้คนในชาติมีความรักและเกิดความหวงแหนในสถาบัน ชาติ ศาสนา และ สถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างแท้จริง
การออกอากาศ สถานีโทรทัศน์โทรทัศน์โลกพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย วัดยานนาวา เผยแพร่โดยดาวเทียม NSS 6 KU ความถี่ 11635 MHz SYMBOL RATE 27500 KSPS แนวการรับ H สามารถรับชมได้ทั่วประเทศไทย และประเทศในแถบเอเชียอาคเนย์ เช่น ลาว กัมพูชา พม่า เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง ไต้หวัน และตอนใต้ของประเทศจีน <www.watyan.tv/resume>
การเผยแผ่พระพุทธศาสนาจากอดีต และปัจจุบันได้รับการพัฒนาวิธีการมาโดยตลอด จากยุคมุขปาฐะ ยุคคัมภีร์ใบลาน หนังสือ วิทยุ โทรทัศน์ และในปัจจุบันยังมีสื่อที่นิยมกันมากในคณะสงฆ์ไทย คือ การเผยแผ่พระพุทธศาสนาทางอินเทอร์เน็ต
5. ยุคการสื่อสารโดยโทรคมนาคมและดิจิตอลการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทางอินเตอร์เน็ต
ในปัจจุบันโลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคสังคมข้อมูลข่าวสารอย่างแท้จริง ทำให้วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ส่งผลให้การดำเนินทางธุรกิจและสังคมเปลี่ยนแปลงไปด้วย เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่คู่กับสารสนเทศ ตราบใดที่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้า ก็จะก่อให้เกิดสารสนเทศที่ทันสมัยไปด้วย (สานิตย์ กายาผาด, เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อชีวิต, กรุงเทพมหานคร : เธิร์ดเวฟ เอ็ดดูเคชั่น, 2542, หน้า 110)
ความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ทำให้มีการพัฒนาคิดค้นสิ่งอำนวยความสะดวกสบายต่อการดำชีวิตเป็นอันมาก เทคโนโลยี ได้เข้ามาเสริมปัจจัยพื้นฐานการดำรงชีวิตได้เป็นอย่างดี เทคโนโลยีทำให้การสร้างที่พักอาศัยมีคุณภาพมาตรฐาน สามารถผลิตสินค้าและให้บริการต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์มากขึ้น เทคโนโลยีทำให้ระบบการผลิตสามารถผลิตสินค้าได้เป็นจำนวนมากมีราคาถูกลง สินค้าได้คุณภาพ เทคโนโลยีทำให้มีการติดต่อสื่อสารกันได้สะดวก การเดินทางเชื่อมโยงถึงกันทำให้ประชากรในโลกติดต่อรับฟังข่าวสารกันได้ตลอดเวลา
พัฒนาการของเทคโนโลยีทำให้ชีวิตความเป็นอยู่เปลี่ยนไปมากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า มนุษย์สามารถจัดพิมพ์หนังสือได้ เมื่อประมาณ 500 ถึง 800 ปีที่แล้ว เทคโนโลยีเริ่มเข้ามาช่วยในการพิมพ์ ทำให้การสื่อสารด้วยข้อความและภาษาเพิ่มขึ้นมาก เทคโนโลยีพัฒนามาจนถึงการสื่อสารกัน โดยส่งข้อความเป็นเสียงทางสายโทรศัพท์ได้ประมาณร้อยกว่าปีที่แล้ว และเมื่อประมาณห้าสิบปีที่แล้ว ก็มีการส่งภาพโทรทัศน์และคอมพิวเตอร์ทำให้มีการใช้สารสนเทศในรูปแบบข่าวสารมากขึ้น ในปัจจุบันมีสถานที่วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ แ ละสื่อต่าง ๆ ที่ใช้ในการกระจายข่าวสาร มีการแพร่ภาพทางโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเพื่อรายงานเหตุการณ์สด เห็นได้ชัดว่าเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทอย่างมาก บทบาทของการพัฒนาเทคโนโลยีรวดเร็วขึ้นเมื่อมีการพัฒนาอุปกรณ์ทางด้านคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ จะเห็นได้ว่า ในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมาจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ซึ่งมีคอมพิวเตอร์เข้าไปเกี่ยวข้องให้เห็นอยู่ตลอดเวลา
ระบบสื่อสารโทรคมนาคม และคอมพิวเตอร์ก้าวหน้ามาก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคสังคมสารสนเทศ ชีวิตความเป็นอยู่เกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสารจำนวนมาก การสื่อสารโทรคมนาคมกระจายทั่วถึง ทำให้ข่าวสารแพร่กระจ่ายไปอย่างรวดเร็ว สังคมในปัจจุบันเป็นสังคมไร้พรมแดนเพราะเรื่องราวของประเทศหนึ่งสามารถกระจายแพร่ออกไปยังประเทศต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว