ปัจจุบันพระพุทธศาสนามีอายุยาวนาน 2555 ปี แต่ถ้าหากเริ่มต้นจากวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ปีนี้ก็ครบ 2600 ปี ชาวพุทธนิยมเรียกว่า “พุทธชยันตี” มีการจัดงานเพื่อเฉลิมฉลองวันคล้ายวันตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าทั่วโลก พระพุทธศาสนาผ่ากาลเวลามาตามลำดับ โดยเฉพาะในเรื่องของการเผยแผ่พระพุทธศาสนานั้นมีพัฒนาการมาตามลำดับเริ่มจากยุคแรกที่มีการเผยแผ่ศาสนาโดยวิธีปากต่อปากคือสอนกันด้วยวาจา เรียกว่า “มุขปาฐะ จากนั้นค่อยพัฒนาตามยุคสมัยเช่นจารึก พิมพ์หนังสือ จนกระทั่งปัจจุบันมีคำสอนของพระพุทธศาสนาปรากฏบนโลกไซเบอร์มากขึ้นในหลากหลายรูปแบบ
เมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นครั้งแรกนั้น การเผยแผ่พระพุทธศาสนาอาศัยพระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียว พระองค์ทรงการแสดงธรรมครั้งแรกแก่ปัญจวัคคีย์ หลังจากการตรัสรู้ผ่านไปเจ็ดสัปดาห์ จนกระทั่งปัญจวัคคีย์ได้อุปสมบท จากนั้นจึงแสดงธรรมแก่ยสกุลบุตรและสหายของยสกุลบุตร ในครั้งนั้นได้มีผู้อุปสมบทเป็นภิกษุจำนวน 60 รูป จึงได้เกิดเป็นคณะสงฆ์ขึ้น การเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยคณะสงฆ์จึงได้เริ่มขึ้น วิธีการเผยแผ่จึงเป็นการเทศนาธรรมโดยใช้วิธีสอนที่เรียกว่ามุขปาฐะ ต่อมาจึงมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรจนกลายเป็นคัมภีร์ในยุคต่อ ๆ มาซึ่งมีประวัติและพัฒนาการพอสังเขป ดังนี้
ประวัติและวิวัฒนาการของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ตั้งแต่สมัยพุทธกาลเป็นต้นมา พัฒนาการแห่งคัมภีร์พระพุทธศาสนา นักวิเคราะห์มหายานกล่าวว่า คัมภีร์พระพุทธศาสนามีพัฒนาการ 3 ยุค คือ (1) ยุคมุขปาฐะ ระยะการสืบทอดพระธรรมวินัย โดยระบบปากต่อปาก ผู้มีบทบาทสำคัญมี 3 รูป คือ พระพุทธเจ้า พระอานนท์ และพระอุบาลี (2) ยุคพระสูตร ระยะการสืบทอดพระธรรมวินัยโดยการรวบรวมร้อยเรียงเป็นพระสูตร ผู้มีบทบาทสำคัญมี 3 รูป คือ พระมหากัสสปเถระ พระอุบาลี และพระอานนท์ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน 3 เดือน พระมหากัสสปเถระเป็นประธานจัดปฐมสังคายนา ร้อยเรียงพระธรรมเทศนาเป็นพระสูตร รวบรวมพระวินัยเป็นหมวดหมู่ (3) ยุควิชาการ ระยะการสืบทอดพระธรรมวินัย โดยการแต่งคัมภีร์พระพุทธศาสนา ผู้มีบทบาทสำคัญมี 3 ท่าน คือ พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ พระมัชฌันติกะ และพระมหาเทวะ(พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ, วิพากษ์แนวคิดพระพุทธศาสนาสำหรับโลกหลังยุคใหม่, (กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2547), หน้า 50)
การเผยแผ่พระพุทธศาสนาดำเนินการมาตามลำดับโดยใช้อุปกรณ์ของแต่ละยุค แต่พอมาถึงปัจจุบัน เมื่อโลกเจริญมากขึ้นจึงมีพัฒนาการในการเผยแผ่โดยเพิ่มวิทยุโทรทัศน์และเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามา จึงพอจะแบ่งออกเป็น 5 ยุคคือ
1. ยุคการสื่อสารโดยคำพูดการเผยแผ่พระพุทธศาสนาใช้วิธีมุขปาฐะ
2. ยุคการสื่อสารโดยการเขียนการเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยเขียนตามผนังถ้ำ จารึกลงใบลาน
3. ยุคการสื่อสารโดยการพิมพ์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยการพิมพ์หนังสือพระไตรปิฎก คัมภีร์ ตำราทางพระพุทธศาสนา
4. ยุคการสื่อสารโดยสื่ออิเลคทรอนิคส์มีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทางวิทยุโทรทัศน์
5. ยุคการสื่อสารโดยโทรคมนาคมและดิจิตอลมีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทางดาว เทียม และอินเทอร์เน็ต
ในแต่ละยุคมีรูปแบบ กระบวนการและประสิทธิผลในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่แตกต่างกันไป วิธีการบางอย่างอาจเหมาะสมกับคนในยุคสมัยนั้นๆ แต่พอความเจริญผ่านไป พระพุทธศาสนาก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเพื่อให้เหมาะสมกับคนในยุคสมัย ในแต่ละยุคมีประวัติ รูปแบบ กระบวนการและประสิทธิผลของการใช้วิธีการตามยุคสมัยพอสังเขปดังต่อไปนี้
1. ยุคการสื่อสารโดยคำพูดการเผยแผ่พระพุทธศาสนาใช้วิธีมุขปาฐะ
ในยุคพุทธกาลเมื่อพระพุทธศาสนากำเนิดขึ้นครั้งแรกมีสาวกผู้ปฏิบัติตามคำสอน พระพุทธเจ้าทรงปรารถนาจะให้พระพุทธศาสนาเป็นที่รู้จักของของมหาชน จึงได้ส่งสาวกออกประกาศพระพุทธศาสนา เมื่อพระพุทธองค์ส่งสาวกรุ่นแรกออกไปประกาศศาสนานั้นได้มีพระดำรัสดังที่ปรากฎในวินัย มหาวรรค(วิ.มหา. 4/32/37.)ความว่า “ พวกเธอจงเที่ยวจาริก เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เกื้อกูล และความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ พวกเธออย่าได้ไปรวมทางเดียวกันสองรูป จงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะครบบริบูรณ์ บริสุทธิ์ สัตว์ทั้งหลาย จำพวกที่มีธุลีคือกิเลศในจักษุน้อย มีอยู่ เพราะไม่ได้ฟังธรรมย่อมเสื่อม ผู้รู้ทั่วถึงธรรม จักมี ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรม”
ในครั้งนั้นมีพระสมณทูตจำนวน 60 รูปเกิดขึ้นครั้งแรก การเผยแผ่ธรรมในครั้งนั้นโดยมีจุดมุ่งหมาย คือ เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนหมู่มาก อะไรคือประโยชน์ ในพระพุทธศาสนาแสดงประโยชน์ไว้ 3 ประการดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในสังยุตตนิกาย นิทานวรรคสํ.นิ. (16/67/29)ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันบุคคลผู้เล็งเห็นประโยชน์ตน สมควรแท้เพื่อยังกิจให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท หรือบุคคลผู้เล็งเห็นประโยชน์ผู้อื่น สมควรแท้เพื่อยังกิจให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท ก็หรือว่า บุคคลผู้มองเห็นประโยชน์ทั้งสองฝ่ายสมควรแท้จริง เพื่อยังกิจให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท”
ประการต่อมา คืออย่าไปทางเดียวกันสองรูป ทำไมจึงไม่ให้ไปทางเดียวกันน่าจะมีจุดมุ่งหมายเพื่อ แต่ละองค์จะได้ทำงานอย่างเต็มที่ เพราะสัตว์ที่มีกิเลสน้อยยังมีอยู่เมื่อได้ฟังธรรมก็อาจจะทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานได้ แม้แต่พระองค์เองก็เสด็จไปแสดงธรรมโปรดชฎิลสามพี่น้องที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม
พระธรรมทูตน่าจะเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยนี้ ต่อมาเมื่อจำนวนภิกษุมีจำนวนมากขึ้น พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง จนกระทั่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนจะเสด็จดับขันธปรินิพพานได้แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายในมหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค (10/141/146) ความว่า “ว่า “ธรรมและวินัยอันใด เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็น ศาสดาของพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา”
ภายหลังพุทธปรินิพพาน คณะสงฆ์บริหารด้วยธรรมวินัย ประมาณพุทธศตวรรษที่ 3 พระเจ้าอโศกมหาราช กระทำสังคายนาครั้งที่ 3 ได้ส่งพระธรรมทูตออกไปเผยแผ่ศาสนาในต่างประเทศ 9 สาย นับเป็นพระธรรมทูตที่เดินทางออกนอกชมพูทวีปครั้งแรก ในประเทศไทยอดีตเรียกว่า สุวรรณภูมิ พระโสณะ และพระอุตตระ พร้อมด้วยภิกษุและภิกษุณีกลุ่มหนึ่งได้เดินทางนำเอาพระพุทธศาสนามาเผยแผ่ยังดินแดนนี้
การที่พระโสณะและพระอุตตระเข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมิครั้งแรกนั้น ปราการด่านแรกที่ติดขัด คือ ภาษาในการสื่อความหมาย ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ จะพูดกันรู้เรื่องได้อย่างไร แต่ภาษาธรรมนั้นสื่อกันได้โดยไม่ต้องพูด คือ เข้าใจกันด้วยสื่อภาษาใจ
รูปแบบที่ใช้ในยุคนี้คือ การท่องจำด้วยวาจาและการสาธยายทั้งโดยบุคคลคนเดียวหรือสาธยายเป็นหมู่คณะ เช่นการสาธยายพระวินัยโดยการสวดปาฏิโมกข์
กระบวนการในยุคนี้เป็นการเผยแผ่ปากต่อปาก โดยอาจารย์จะสอนศิษย์ด้วยวาจา จากนั้นศิษย์ก็จะจดจำจนขึ้นใจและสาธยายต่อ เมื่ออาจารย์เสียชีวิตลง ลูกศิษย์ก็จะเป็นอาจารย์ต่อไป ส่วนในการเผยแผ่ต่อคนทั่วไปก็จะใช้การเทศน์ การบรรยายธรรม การสนทนาธรรม การอภิปรายธรรม เป็นต้น
ในด้านประสิทธิผลนั้น การใช้วิธีการเผยแผ่ในยุคนี้จะมีผลมาก หรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนคนที่มาฟังหรือความสามารถของผู้แสดงธรรม ในสมัยพุทธกาลมีบันทึกไว้ว่าบางครั้งมีคนฟังจำนวนหลายแสนคนดังที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่พระเจ้าพิมพิสาร ที่ลัฏฐิวัน ครั้งนั้นมีคนฟังถึง 12 นหุต (หนึ่งแสนสองหมื่นคน) พระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน(วิ.มหา. 4/58/63) มีข้อความตอนหนึ่งว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา ได้เกิดแก่พราหมณ์คหบดีชาวมคธ 11 นหุต ซึ่งมีพระเจ้าพิมพิสารเป็นประมุข ณ ที่นั่งนั้นแล ดุจผ้าที่สะอาด ปราศจากมลทิน ควรได้รับน้ำย้อมเป็นอย่างดีฉะนั้น พราหมณ์คหบดีอีก 1 นหุต แสดงตนเป็นอุบาสก” ในการเผยแผ่โดยวิธีมุขปาฐะนี้ ประสิทธิผลจึงขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของผู้แสดงและของผู้ฟังด้วย
ผลกระทบของวิธีการมุขปาฐะ คือ การเปลี่ยนแปลงความคิดของคนจำนวนมาก หากไม่มีการเตรียมการณ์ไว้ล่วงหน้า ก็อาจจะรับมือกับคนจำนวนมากไม่ได้
2. ยุคการสื่อสารโดยการเขียนการเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยเขียนตามผนังถ้ำ จารึกลงใบลาน
ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาจะมีวรรณกรรมมากกว่าประเทศที่ไม่นับถือพระพุทธศาสนา เพราะว่าประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนามีประชากรที่รู้หนังสือมากกว่า โดยเฉพาะพวกผู้ชายได้มีโอกาสบวชเรียน จึงมีความรู้ด้านนิทานชาดกต่าง ๆ และมีความรู้ทางด้านภาษาดีกว่าผู้ที่ไม่ได้บวชด้วย สำหรับวรรณกรรมที่ถือว่ามีค่านั้น อาจแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ (1) จารึกภาษาบาลี และ (2) วรรณกรรมภาษาบาลี
1.วรรณกรรมประเภทจารึก จารึกที่มีข้อความภาษาบาลีอักษรปัลลวะ ที่พบในประเทศไทยตามภูมิภาคต่าง ๆ มีเนื้อหาแบ่งเป็น 5 กลุ่ม คือ 1. จารึกเนื้อความแสดงธรรม 2. จารึกเนื้อความแสดงเหตุการณ์ 3. จารึกแสดงเนื้อความนมัสการพระรัตนตรัย 4. จารึกแสดงเนื้อความปรารถนา 5. จารึกเนื้อความปกิณณกะ (สุภาพรรณ ณ บางช้าง, วิวัฒนาการงานเขียนภาษาบาลีในประเทศไทย : จารึก ตำนาน พงศาวดาร สาส์น ประกาศ, กรุงเทพมหานคร : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2529, หน้า 15)
1) จารึกเนื้อความแสดงธรรม จารึกภาษาบาลีในกลุ่มนี้เท่าที่สำรวจพบมี 50 หลัก แบ่งเป็นกลุ่มตามเนื้อหาคือ
1.1) กลุ่มจารึกคาถา เย ธมฺมา ที่ค้นพบมีประมาณ 20 หลักเช่นที่ระเบียงด้านขวาองค์ พระปฐมเจดีย์ บนสถูปศิลา บริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ หน้าศาลเจ้าข้างองค์พระปฐมเจดีย์ นครปฐม โดยใช้อักษรอินเดียใต้ที่เรียกว่าปัลลวะ ข้อความเป็นคาถาคัดมาจากคัมภีร์มหาวรรค พระวินัยปิฎก มหาวรรค(4/65/69) มีข้อความว่า
"เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุ(เหตุง) ตถาคโต (อาห)
เตสญฺจ โย นิโรโธ เอวํ วาที มหาสมโณติ ฯ
นอกจากนั้นยังพบบนแผ่นอิฐหลักที่ 30 บ้านท่ามะม่วง ตำบลจระเข้สามพัน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี พบที่บ้านพรหมทิน ตำบลหลุมข้าว อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี พบที่เมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นต้น แสดงว่าจารึกคาถา เย ธมฺมา มีกระจายอยู่ทั่วไปในดินแดนประเทศไทย
1.2) กลุ่มจารึกสารธรรมเอกเทศ คือ แต่ละหลักมีเนื้อหาตามความสนใจหรือตามที่เห็นคุณค่าเฉพาะหลัก ที่รวบรวมได้มี 18 หลัก เป็นจารึกสมัยก่อนสุโขทัย 5 หลัก จารึกสมัยสุโขทัย 8 หลักจารึกอยุธยา 4 หลัก และสมัยรัตนโกสินทร์ 1 หลัก (สุภาพรรณ ณ บางช้าง, วิวัฒนาการงานเขียนภาษาบาลีในประเทศไทย : จารึก ตำนาน พงศาวดาร สาส์น ประกาศ, กรุงเทพมหานคร : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2529, หน้า 34)
1.3) กลุ่มจารึกคาถาย่ออริยสัจ 4 เมื่อจารึกคาถา เย ธมฺมา สิ้นสุดลงในสมัยสุโขทัย และได้เกิดจารึกกลุ่มสาระธรรมขึ้นแทนสืบเนื่องมาจนถึงสมัยอยุธยา ทางอาณาจักรล้านนาได้เกิดนิยมสร้างจารึกแสดงคาถาย่ออริยสัจ 4 ขึ้น โดยได้รับอิทธิพลจากลังกา เท่าที่ค้นพบมี 9 จารึก เช่น จารึกที่ฐานพระพุทธรูปวัดเกศศรี จังหวัดเชียงราย จารึกด้วยอักษรสิงหล ประมาณปี พ.ศ. 2000 มีความว่า
ปฐมํ สกลกฺขณเมกปทํ ทุติยาทิปทสฺส นิทสฺสนํ นิทสฺสนฺโต
สมณิ ทุนิมา สมทู สนิทู วิภเช กมโต ปฐเมน วินา ฯ
แปลได้ใจความว่า “บทแรกเป็นบทที่หนึ่งแสดงลักษณะแห่งตน เว้นแล้วจากบทแรก แสดงบทมีบทที่สองเป็นต้น พึงจำแนก (สาระแห่งอริยสัจ) โดยลำดับแก่งอักษรย่อคือ ส.ม.นิ. ท.นิ.ม. ส.ม.ทุ ส.นิ.ทุ (สุภาพรรณ ณ บางช้าง, หน้า 75.
1.4)กลุ่มจารึกสาระนิพพาน มีเนื้อความกล่าวถึงนิพพานหรือความสงบว่าเป็นสุขอย่างยิ่ง เท่าที่ค้นพบมีเพียงสามหลักสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ทั้งสิ้น
2) จารึกเนื้อความแสดงเหตุการณ์ เป็นการบันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เช่นจารึกวัดดอน จังหวัดลำพูน โดยพระเจ้าสรรพสิทธิ์ แห่งนครหริภุญชัย ประมาณปีพุทธศักราช 1610-1641 ข้อความในจารึก(สุภาพรรณ ณ บางช้าง, หน้า 75)ความว่า
สพฺพาธิสิทฺธฺยาขฺยรถฺสเรน ฉพฺพีสวสฺสสีน ปโยชิเตน
อุโปสถาคารวรํ มโนรมํ มยา กตญฺเชตวนาลยํลยํ.
ติเสกวสฺสีน มยา จ ตสฺมึ กโต หิโตทฺธารณโกว อาวโส
อาวาสิกํ ภิกฺขวรํ สุสีลํ สทา จ อุปฏฺฐหนํ อกํ เว ฯ
สาปายิกํ เหมมยญฺจ เจติยํ กตํ พหุนฺเตปิฏกํ อเลกฺขํ
มุจฺจนฺตุ ทุกฺขา สุขิตา จ สตฺตา รติพฺพเลน รตนฺตยสมึ ฯ
นอกจากนั้นยังมีจารึกวัดกุดดู่ หรือวัดจามเทวี ลำพูน จารึกปราสาทหินพิมาย นครราชสีมา จารึกแม่นาเมือง นครสวรรค์ จารึกเมืองไชยา จังหวัดสุราษฏร์ธานี เป็นต้น
3) จารึกแสดงเนื้อความภาษาบาลีกล่าวนมัสการหรือสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย
จารึกเนินสระบัว เป็นศิลาจารึกทำด้วยหินทรายสีขาว ขนาดกว้าง 40 เซนติเมตร ยาว 177 เซนติเมตร หนา 28 เซนติเมตร ลักษณะตัวอักษร จารึกเนินสระบัว จารึกเป็นตัวอักษรอินเดียใต้ สมัยหลังปาลวะ เป็นภาษาขอมและภาษาบาลี ในตอนที่เป็นภาษาบาลีเขียนเป็น วสันต์ดิลกฉันท์ กล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณ
ศิลาจารึกเนินสระบัว จังหวัดปราจีนบุรี แต่งเมื่อ พ.ศ. 1304 แต่งโดย กมรเตงพุทธสิระผู้อยู่ในตระกูลปาทวะ ศิลาจารึกหลักนี้เป็นหินทรายสีเขียว เดิมอยู่ที่เนินสระบัว ในบริเวณเมืองพระรถ ตำบลโคกปีบ อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี ภายหลังได้เคลื่อนย้ายมาพิงไว้ที่โคนต้นโพธิใหญ่ในวัดศรีมหาโพธิ ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากที่เดิม นายชิน อยู่ดี ครั้งยังเป็นหัวหน้าแผนกพิพิธภัณฑ์พระนคร กองโบราณคดีกรมศิลปากร ได้สำรวจและจัดทำสำเนาครั้งแรก เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2496 ศิลาจารึกนี้ จารึกด้วยรูปอักษรหลังปัลลวะ เป็นคำสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย มี 27 บรรทัด บรรทัดที่ 1-3 เป็นภาษาเขมร บรรทัดที่ 4-16 เป็นภาษาบาลีแต่งเป็นฉันท์ 14 ทำนองจะใช้เป็นวสันตดิลกฉันท์ และบรรทัดที่ 17-27 เป็นภาษาเขมร ในระหว่างปี พ.ศ. 2522 ศาสตราจารย์นาวาอากาศเอก (พิเศษ) แย้ม ประพันธ์ทอง ได้รวบรวมวรรณคดีบาลีที่นักปราชญ์ในอดีตได้รจนาขึ้นด้วยสติปัญญาของตนโดยตรง มิได้คัดลอกมาจากคัมภีร์พระบาลี หรืออรรถกถาใด ๆ เท่าที่ปรากฏในแผ่นดินไทยปัจจุบัน หลักฐานดังกล่าวส่วนใหญ่จะปรากฏอยู่ในศิลาจารึก วรรณคดีบาลีในประเทศไทยที่มีอายุเก่าที่สุด คือศิลาจารึกเนินสระบัว ถึงแม้ว่าศิลาจารึกหลักนี้ ศาสตราจารย์ฉ่ำ ทองคำวรรณ จะได้อ่านแปล และพิมพ์เผยแพร่แล้วก็ตามแต่เนื่องจากศาสตราจารย์นาวาอากาศเอก (พิเศษ) แย้ม ประพันธ์ทองได้พิจารณาเห็นว่า คำประพันธ์ภาษาบาลีของท่านพุทธสิริ ในศิลาจารึกเนินสระบัวนี้ ไม่เพียงแต่จะเป็นวรรณคดีบาลีที่เก่าที่สุดของไทยในปัจจุบันเท่านั้น ยังเป็นคำประพันธ์ที่ประกาศความรู้ความสามารถอันยอดเยี่ยมของผู้รจนา ซึ่งไม่เพียงแต่เชี่ยวชาญในทางปริยัติธรรมเท่านั้น ยังเป็นนักปฏิบัติที่เข้าถึงธรรโมชะเป็นพระมหาเถระที่ทรงปรีชาญาณในพระพุทธศาสนาครั้งนั้นอีกด้วย และเพื่อเผยแพร่คำประพันธ์ดังกล่าว คณะกรรมการจัดพิมพ์หนังสือจารึกในประเทศไทย ศาสตราจารย์นาวาอากาศเอก (พิเศษ) แย้ม ประพันธ์ทอง เฉพาะคำอ่านแปล ศิลาจารึกเนินสระบัวตอนที่เป็นภาษาบาลี ระหว่างบรรทัดที่ 4-16 รวมพิมพ์ไว้ในลำดับต่อไปด้วย(เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี, “ศิลาจารึกเนินสระบัว”, <http://www.prachinburi-museum.go.th/inscript/> จารึกประเภทนี้ยังพบอีกมาในประเทศไทย
4) จารึกเนื้อความภาษาบาลีแสดงความปรารถนา พบหลายแห่งเช่นจารึกลานทองสมเด็จพระมหาเถรจุฑามณี (พ.ศ. 1919) มีเนื้อความว่า
อิมินา ปุญฺญกมฺเมน พุทโธ โหมิ อนาคเต
สงฺสารา โมจนตฺถาย สพฺเพ สตฺเต อเสสโต
นอกจากนี้ยังมีจารึกทองคำ (1927) จารึกที่ฐานพระพุทธรูปวัดผาบ่อง จังหวัดเชียงใหม่ จารึกที่ฐานพระพุทธรูปพระธาตุพนม จารึกบนฐานปราสาทโลหะ จังหวัดเชียงราย เป็นต้น (ก่องแก้ว วีระประจักษ์, จารึกลานทองสมเด็จพระมหาเถรจุพามณี, กรุงเทพมหานคร : ศิลปากร, 2526, หน้า 81)
5)จารึกเนื้อความปกิณณกะ จารึกในกลุ่มนี้มีข้อความภาษาบาลีแทรกเป็นบางส่วนสั้นๆเช่นจารึกที่ฐานพระพุทธรูปวัดชัยพระเกียรติ จังหวัดเชียงใหม่ จารึกที่ฐานพระพุทธรูปปางสมาธิ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นต้น
รูปแบบของการเผยแผ่โดยใช้จารึกนั้น ส่วนมากจะใช้ภาษาดั้งเดิมของพระพุทธศาสนา ทำให้คนทั่วไปไม่สามารถเข้าใจได้ การจารึกจึงเป็นเหมือนการบันทึกเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ จำกัดอยู่เฉพาะหมู่นักปราชญ์ผู้มีความรู้ในภาษาที่จารึกเท่านั้น คนทั่วไปมองด้วยความเคารพและสักการบูชามากกว่าจะศึกษาเนื้อหาของหลักธรรมในจารึกนั้น
กระบวนการในการจารึกตามผนังถ้ำ ถ้ากระทำโดยผู้มีอำนาจอาจใช้ช่างฝีมือเป็นผู้จารึก าคนทั่วไปอาจกระทำด้วยความเลื่อมใส ดังนั้นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในรูปแบบนี้งานที่ออกมาจึงมีคุณภาพไม่เท่ากัน ส่วนการจารึกลงใบลาน มีกระบวนการและขั้นตอนสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ดังที่มีบันทึกของการจารึกลงใบลานของชาวเหนือตอนหนึ่งว่า “ในสมัยโบราณพระสงฆ์จะต้องฝึกหัดในการจารึกคัมภีร์ใบลาน สามเณรจะเรียนรู้เทคนิคในการเตรียมใบลาน ซึ่งได้จากต้นลานที่ปลูกไว้รอบ ๆ วัดแต่ละวัด ในขณะเดียวกันสามเณรจะฝึกอ่านและเขียนอักษรไทยวนด้วย คัมภีร์ใบลานจะถูกจารด้วย ความระมัดระวังเมื่อเสร็จแล้วจะรักษาไว้อย่างดีด้วยการห่อผ้าที่เรียกว่า ผ้าห่อคัมภีร์ คัมภีร์ใบลานผลิตจากใบลานซึ่งตัดมาจากต้นลาน ทำให้เป็นแผ่นเท่ากัน แล้วนำไปแช่ในน้ำยาสมุนไพรเพื่อป้องกันแมลง ผึ่งให้แห้งนำใบลานมาเจาะรูเพื่อร้อยด้วยเชือกหรือด้ายใช้เส้นด้ายชุบน้ำยายางและเขม่าผสมกัน เพื่อทำเป็นเส้นบรรทัด คัมภีร์ใบลาน จะจารด้วยอักษรไทยวน โดยใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า เหล็กจาร เป็นไม้เหลาคล้ายปากาที่ปลายเสียบด้วยเหล็กแหลมคมเพื่อจารใบลาน หลังจารแล้วนำเขม่าและน้ำมันยางทาทับ เพื่อให้ตัวอักษรเด่นชัดสามารถอ่านได้
หลังจากนั้นจะนำใบลานเหล่านั้นไปร้อยด้วยด้ายหรือเชือก เรียกว่า สายสยอง ใบลานจะร้อยรวมกันเป็นผูก เพื่อป้องกัน การบิดงอของใบลานจะทำแผ่นไม้ขนาดเท่ากับใบลานประกบหน้าหลังของคัมภีร์และผูก เรียกว่า ไม้ปะกับธรรม หรือบางผูกจะห่อ ด้วยผ้าซึ่งทอพิเศษมีไม้ไผ่สอดไว้ตรงกลางป้องกันหักงอเรียกว่า ผ้าห่อคัมภีร์ ด้านบนผ้าห่อคัมภีร์จะมีไม้ไผ่ขนาดเล็กยาวเขียนชื่อเรื่อง ของคัมภีร์ใบลานผูกนั้นไว้ เพื่อสะดวกในการค้นหา เรียกไม้นั้นว่า ไม้ปันซัก (สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เครือข่ายกาญนาภิเษก, “คัมภีร์ใบลาน”, <http://kanchanapisek.or.th/kp8/cem/cem603.html>
ผู้ที่ไม่มีความรู้และความชำนาญจะทำไม่ได้ ดังนั้นการจารึกอักษรลงบนใบลานจึงต้องมีวิธีการ กระบวนที่ถูกต้องจึงจะได้คัมภีร์ใบลานที่มุคุณภาพและเก็บรักษาไว้ได้นาน คัมภีร์บางฉบับมีอายุยืนยาวถึงพันปี
สาเหตุที่ต้องจารึกคัมภีร์บาลี อรรถกถาและฎีกาลงใบบนใบลานนั้น มาจากพระขีณาสพในรัชสมัยของพระเจ้าสัทธาติสสะ แห่งลังกาทวีปได้พิจารณาว่า “ในกาลต่อไป พระสาวกที่เป็นปุถุชน มีปัญญาหยาบ ไม่สามารถท่องจำนิกายทั้งห้าให้ขึ้นปากได้ จึงได้จารึกคัมภีร์ลงบนใบลาน เพื่อให้พระสัทธรรมดำรงอยู่ได้นานและเพื่อให้อนุชนได้บุญกุศลสืบไป(พระนันทปัญญาจารย์, จูฬคันถวงศ์, กรุงเทพมหานคร : ธนาเพรสแอนด์กราฟฟิค, 2546, หน้า 41)
นอกจากนั้นยังได้อ้างถึงอานิสงส์การสร้างคัมภีร์ว่า “ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นบัณฑิตมีปรีชาญาณ สร้างเองก็ดี ให้คนอื่นสร้างก็ดีซึ่งคัมภีร์อรรถกถา ฎีกา ย่อมเป็นกองบุญอันหาที่สุดมิได้ มีอานิสงส์บุญไม่มีที่สิ้นสุดเช่นเดียวกับการสร้างพระเจดีย์ และการสร้างพระพุทธรูป 84,000 องค์ ปลูกต้นโพธิ์ไว้ 84,000 ต้น หรือสร้างพระวิหาร 84,000 หลัง” เพราะการมองการณ์ไกลของพระขีณาสพในอดีตและความเชื่อว่าการจารึกคัมภีร์ได้อานิสงส์มาก พุทธสาวกจึงนิยมสร้างคัมภีร์โดยการจารึกลงบนผนังถ้ำและจารลงบนใบลาน
3. ยุคการสื่อสารโดยการพิมพ์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยการพิมพ์หนังสือพระไตรปิฎก คัมภีร์ ตำราทางพระพุทธศาสนา
พระพุทธศาสนาเถรวาทใช้ภาษาบาลี หรือมคธเป็นภาษาบันทึกพระพุทธศาสนา ดังนั้นในยุคต่อมาจึงมีการพิมพ์คัมภีร์พระพุทธศาสนาที่เรียกว่าพระไตรปิฎก และคัมภีร์อื่น ๆ เป็นภาษาบาลี พระไตรปิฎกเกิดขึ้นครั้งแรกมีผู้สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นตั้งแต่การสังคายนาครั้งที่ 1 ภายหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ 7 เดือนโดยปรารภเหตุพระสุภัททวุฑฒบรรพชิต พระมหากัสสปะจึงได้ดำริว่า เอาเถิด ท่านทั้งหลาย พวกเราจงสังคายนา พระธรรมและพระวินัย เถิด ในภายหน้าสภาวะมิใช่ธรรมจักรุ่งเรือง ธรรมจักเสื่อมถอย สภาวะมิใช่วินัยจักรุ่งเรือง วินัยจักเสื่อมถอย ภายหน้าอธรรมวาทีบุคคลจะ มีกำลัง ธรรมวาทีบุคคลจักเสื่อมกำลัง อวินยวาที บุคคลจักมีกำลัง วินยวาทีบุคคล จักเสื่อมกำลัง ฯ ( วิ.จู. 7/614/303.)
ในการทำสังคายนาครั้งนั้นมีระบุไว้เพียงพระธรรมและพระวินัย ไม่มีพระอภิธรรมในการทำสังคายนาครั้งนั้นยังคงใช้วิธีมุขปาฐะ ยังไม่ได้จดจารึกลงในเอกสารใดๆ
หลังการทำสังคายนาครั้งที่สาม พระเจ้าอโศกมหาราชได้ทำการบันทึกหลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนาลงบนเสาหินและส่งพระเถระออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังต่างประเทศอีก 9 สาย
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าท่านจารึกไว้ในคัมภีร์ต่าง ๆ ด้วยภาษาบาลีซึ่งสามารถแบ่งลำดับชั้นของคัมภีร์ต่าง ๆ ได้ดังนี้
1. พระไตรปิฎก เป็นหลักฐานชั้นหนึ่ง เรียกว่า บาลี
2. คำอธิบายพระไตรปิฎกเป็นหลักฐานชั้นสอง เรียกว่า อรรถกถา หรือ วัณณนา
3. คำอธิบายอรรถกถา เป็นหลักฐานชั้นสาม เรียกว่า ฎีกา
4. คำอธิบายฎีกา เป็นหลักฐานชั้นสี่ เรียกว่า อนุฎีกา
5.นอกจากนี้ยังมีหนังสือที่แต่งขึ้นภายหลังเป็นทำนองอธิบายเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่มีในคัมภีร์พระพุทธศาสนาโดยเฉพาะ หนังสือประเภทนี้ เรียกว่า “ทีปนี” หรือ “ทีปิกา” หรือ “ปทีปิกา” และหนังสือที่อธิบายเรื่องปลีกย่อยต่าง ๆ ที่มีในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา หนังสือประเภทนี้ เรียกว่า “โยชนา” หนังสือทั้งสองประเภทนี้จัดเป็นคัมภีร์อรรถกถา
คำสอนที่อยู่ในคัมภีร์เหล่านี้ คำสอนที่อยู่ในพระไตรปิฎกเป็นหลักฐานสำคัญที่สุด การบันทึกใช้ภาษาบาลีเป็นภาษาที่จารึกคำสอนของพระพุทธศาสนาเถรวาท ในขณะที่ภาษาสันสกฤตใช้บันทึกคำสอนของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน
พระไตรปิฎกเป็นหลักฐานชั้นแรกที่สุด คำสอนที่อยู่ในพระไตรปิฎกนั้นมีถึง 84,000 พระธรรมขันธ์แบ่งเป็น 3 หมวด คือ หมวดที่หนึ่ง พระวินัย ว่าด้วยเรื่อง ระเบียบ กฎ ข้อบังคับควบคุมกิริยา มารยาท ของภิกษุสงฆ์ มีทั้งข้อห้ามและข้ออนุญาต ทั้งนี้เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในหมู่สงฆ์ มี 21,000 พระธรรมขันธ์ หมวดที่สอง พระสูตร ว่าด้วยเรื่องราว นิทาน ประวัติศาสตร์ ที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนและทรงสนทนากับบุคคลทั้งหลายอันเกี่ยวกับชาดกต่าง ๆ ที่ทรงสอน เปรียบเทียบเป็นอุปมาอุปไมย เป็นต้น มี 21,000 พระธรรมขันธ์ และหมวดที่สามพระอภิธรรมว่าด้วยธรรมขั้นสูง คือ ว่าด้วยเรื่องเฉพาะคำสอนที่เป็นแก่น เป็นปรมัตถ์ ในรูปปรัชญาล้วน ๆ มี 42,000 พระธรรมขันธ์ คำสอนทั้ง 84,000 พระธรรมขันธ์นั้น เรียกว่า “ธรรมวินัย”
ธรรมวินัยเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุดของชาวพุทธ เพราะถือเป็นสิ่งแทนองค์พระศาสดา ดังพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ก่อนจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ทีฆนิกาย มหาวรรค (10/141/147) ความว่า “ธรรมและวินัยอันใด เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้นจักเป็นศาสดาของพวกเธอ โดยการล่วงไปแห่งเรา” ดังนั้น กล่าวได้ว่าพระไตรปิฎกอันเป็นคัมภีร์ที่บรรจุพระธรรมและวินัยจึงเป็นคัมภีร์ที่สำคัญมากที่สุดของชาวพุทธ
พระไตรปิฎกแต่เดิมเป็นภาษาบาลีซึ่งเป็นภาษาที่มีในมัชฌิมประเทศที่เรียกว่า แคว้นมคธ ในครั้งพุทธกาล ต่อมาพุทธศาสนาแพร่หลายไปในนานาประเทศที่ใช้ภาษาอื่น ประเทศต่าง ๆ เหล่านั้น มีทิเบตและจีนเป็นต้นได้แปลพระไตรปิฎกจากภาษาบาลีเป็นภาษาของตน เพื่อประสงค์ที่จะให้เรียนรู้ได้ง่าย จะได้มีคนเลื่อมใสศรัทธามาก ครั้นไม่มีใครเล่าเรียนพระไตรปิฎก ต่อมาก็ค่อย ๆ สูญสิ้นไป สิ้นหลักฐานที่จะสอบสวนพระธรรมวินัยให้ถ่องแท้ได้ ลัทธิศาสนาในประเทศฝ่ายเหนือเหล่านั้นก็แปรผันวิปลาสไป
ส่วนประเทศฝ่ายใต้มี ลังกา พม่า ไทย ลาว และ เขมร ประเทศเหล่านี้คิดเห็นมาแต่เดิมว่า ถ้าแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาอื่นโดยทิ้งของเดิมเสียแล้ว พระธรรมวินัยก็คงคลาดเคลื่อน จึงรักษาพระไตรปิฎกไว้ในเป็นภาษาบาลี
การเล่าเรียนคันถธุระก็ต้องเรียนภาษาบาลีให้เข้าใจเสียชั้นหนึ่งก่อน แล้วจึงเรียนพระธรรมวินัย ในพระไตรปิฎกต่อไป ด้วยเหตุนี้เองประเทศฝ่ายใต้จึงสามารถรักษาลัทธิศาสนาตามหลักธรรมวินัยยั่งยืนมาได้ การศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรมและบาลี นอกจากจะเป็นการศึกษาหลักธรรมคำสั่งสอนแล้วยังได้ชื่อว่า เป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาไว้อีกด้วย โดยเฉพาะการศึกษาภาษาบาลี เพราะถ้าไม่รู้ภาษาบาลีแล้ว ก็จะไม่มีผู้ใดสามารถรู้และเข้าใจพระพุทธวจนะในพระไตรปิฎก ถ้าขาดความรู้เรื่องพระไตรปิฎกแล้ว พระพุทธศาสนาก็จะต้องเสื่อมสูญไปด้วยเหตุนี้
ปัจจุบันการศึกษาพระพุทธศาสนามิได้จำกัดอยู่เฉพาะภิกษุสามเณรเท่านั้น ในมหาวิทยาลัยต่างได้มีการเปิดสอนวิชาเอกพระพุทธศาสนาจนถึงขั้นปริญญาเอก ดังนั้น การเผยแผ่พระพุทธศาสนาก็มิได้จำกัดวงอยู่เฉพาะภิกษุสามเณรอย่างเดียว ในประเทศไทยมีประวัติความเป็นมาของการแต่งคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาโดยสังเขปดังต่อไปนี้
การแต่งคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาในสมัยล้านนา
ในสมัยที่ยังไม่รวมเป็นประเทศไทยนั้น ดินแดนแหลมทองมีหลายอาณาจักร เช่น ล้านนา ล้านช้าง ศรีวิชัย แต่อาณาจักรที่มีผลงานทางด้านพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมากจนกล่าวได้ว่าเป็นยุคทองแห่งพระพุทธศาสนา คือ อาณาจักรล้านนา มีผู้วิจัยไว้ว่า “ยุคทองแห่งพระพุทธศาสนาในล้านนาตกอยู่ในระหว่าง 3 รัชกาล คือ พระญาติโลกราช พระยอดเชียงรายและพระเมืองแก้ว ดังที่ได้กล่าวมาแล้วซึ่งเริมตั้งแต่ปี พ.ศ. 1985 - 2068 รวมเป็นเวลา 84 ปี ซึ่งเป็นเวลาที่มีการศึกษาพระธรรมวินัยและรจนาคัมภีร์ภาษาบาลีเป็นจำนวนมาก พอพ้นจากสามรัชกาลนี้ไปแล้วก็ไม่มีผลงานภาษาบาลีที่ดีเด่นอีก และหลังจากการทำสังคายนาที่วัดมหาโพธารามมาแล้วเกียรติคุณแห่งพระพุทธศาสนา ในล้านนาไทยได้แผ่กระจายไปถึงประเทศใกล้เคียง และในปี พ.ศ. 2066 กษัตริย์แห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต (ล้านช้าง) ทรงส่งราชทูตมายังราชสำนักเชียงใหม่ เพื่อขอคณะสงฆ์และพระไตรปิฎกไปสืบสานศาสนาในอาณาจักรล้านช้าง พระเจ้านครเชียงใหม่จึงให้พระเทพมงคลกับภิกษุพาคณะสงฆ์นำพระไตรปิฎกบาลี 60 คัมภีร์ ไปยังกรุงศรีสัตนาคนหุตในปีเดียวกันนั้น
ในรัชการพระเมืองแก้ว ได้มีพระเถระจำนวนหลายท่านที่เป็นนักปราชญ์และเชี่ยวชาญในภาษาบาลี จนสามารถแต่งคัมภีร์ต่าง ๆ เป็นภาษาบาลี สมควรจะกล่าวนามไว้ ณ ที่นั้น คือ พระโพธิรังสี พระธรรมเสนาบดี พระญาณกิตติ พระสัทธัมมกิตติมหาผุสสเทวะ พระญาณวิลาส พระสิริมังคลาจารย์ และพระรัตนปัญญาเถระ เป็นต้น โดยแต่ละท่านได้แต่งวรรณกรรมบาลีไว้มาก และสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน เช่น พระโพธิรังสีเถระชาวเมืองใหม่แต่ง จามเทีวงศ์ และสิหิงคนิทาน หรือตำนานพระพุทธสิหิงค์ พระธรรมเสนาบดีเถระแต่ง คัมภีร์เกี่ยวกับไวยากรณ์ภาษาบาลีชื่อว่า สัททัตถเภทจินตา ปทักกมโยชนา พระญาณกิตติชาวเชียงใหม่รจนาคัมภีร์เป็นภาษาบาลีไว้ถึง 12 เรื่อง โดยเฉพาะพระสิริมังคลาจารย์ชาวเชียงใหม่ เป็นพระที่มีชื่อเสียงมากที่สุด เพราะผลงานคือ มังคลัตถทีปนี งานนิพนธ์ของท่านมีอยู่ 4 เรื่องซึ่งมีขนาดยาวทั้งสิ้นคือ เวสสันดรทีปนี จักกวาลทีปนี สังขยาปกาสกฎีกา และมังคลัตถทีปนี ส่วนพระรัตนปัญญาเถระ ซึ่งนัยว่าท่านเป็นชาวเชียงราย หรือไม่ก็ลำปาง มีผลงานอยู่ 3 เรื่อง คือชินกาลมาลี วชิรสารัตถสังคหะ และ มาติกัตถสรุปธัมมสังคิณี เป็นต้น
นอกจากพระคัมภีร์ที่กล่าวมาแล้วนี้ ยังมีงานนิพนธ์ภาษาบาลีอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง แต่มีหลักฐานทำให้เชื่อได้ว่าเป็นผลงานพระล้านนาแต่งขึ้นในยุคเดียวกันนี้ เช่น ปัญญาสชาดก หรือชาดก 50 ชาติ อันเป็นบ่อเกิดแห่งวรรณคดีสำคัญของไทยอีกหลายเรื่อง เช่น สมุทรโฆษคำฉันท์ สังข์ทอง พระสุธนมโนห์รา นอกจากนั้นก็เป็นบทสวดมนต์ คือ อุปปาตสันติ เป็นฉันท์ภาษาบาลี ซึ่งนิยมใช้สวดในการทำบุญสะเดาะเคราะห์และสืบชะตาเมือง งานนิพนธ์เป็นภาษาบาลีที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ล้วนแต่แต่งขึ้นหลังรัชสมัยของพระญาติโลกราชทั้งสิ้น และมากที่สุดในรัชการของพระเมืองแก้ว ต่อแต่นั้นมางานนิพนธ์ภาษาบาลีที่แสดงความเป็นปราชญ์ของพระชาวล้านนาก็เสื่อมถอยไปเรื่อย ๆ พร้อมกับการสิ้นสุดลงแห่งยุคทองของล้านนา โดยเฉพาะหลังจากเสียเอกราชแก่พม่าใน พ.ศ. 2101 อาณาจักรล้านนาก็ถูกพม่ายึดครองอยู่เป็นเวลานานกว่า 216 ปี แต่พม่าก็มิได้รุกรานพระพุทธศาสนา เพราะนับถือศาสนาเดียวกัน ทั้งนี้ในภายหลังได้สำรวจ พบว่า มีชาดกนอกนิบาตที่แต่งในล้านนาอีกประมาณ 250 เรื่อง (ลิขิต ลิขิตานนท์, ยุคทองแห่งวรรณกรรมพระพุทธศาสนาในล้านนาไทย : ล้านนาไทย, อนุสรณ์พระราชพิธีเปิดพระบรมราชานุสรณ์สามกษัตริย์, เชียงใหม่ : ทิพย์เนตรการพิมพ์, 2523, หน้า 103)
ยุคทองแห่งพระพุทธศาสนาในล้านาไทยมีเผยแพร่โดยละเอียดที่เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ (www.lanna.mju.ac.th/lannareligion_detail.php?recordID=5)ในช่วงนี้มีงานวรรณกรรมที่แต่งเป็นภาษาบาลีโดยใช้ตัวอักษรล้านนาเป็นจำนวนมาก วรรณกรรมเหล่านี้บางเล่มได้รับการปริวรรตเป็นอักษรไทย บางเล่มที่บันทึกบนใบลานยังพอสืบค้นได้บ้าง หรือบางเล่มอาจสูญหายไปแล้ว อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าในยุคที่พระพุทธศาสนารุ่งเรือง วรรณกรรมพระพุทธศาสนาก็พลอยรุ่งเรืองไปด้วย
การแต่งคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาในสมัยสุโขทัย - อยุธยา
ภาษาบาลี ซึ่งเป็นภาษาที่จารึกคำสอนของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทนั้น แม้ตามหลักฐานจะปรากฏว่าเข้ามามีอิทธิพลในแถบเอเชียอาคเนย์นี้ตั้งแต่สมัยที่คนไทยยังไม่ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในดินแดนปัจจุบัน ก็มีหลักฐานตั้งแต่สมัยสุโขทัยว่า พ่อขุนรามคำแหงเคยส่งสมณทูตไปลังกา (ศรีลังกา) และในรัชกาลที่ 5 ของสมัยสุโขทัย คือ สมัยพระมหาธรรมราชาลิไทใน พ.ศ. 1904 มีการส่งสมณทูตไปลังกาเช่นกัน ลังกาใช้ภาษาบาลีในการจารึกคำสอนทางพุทธศาสนา มีการแต่งตำราไวยากรณ์บาลีกันมากและศึกษากันอย่างแพร่หลาย ไทยจึงได้รับอิทธิพลภาษาบาลีจากลังกา ใน พ.ศ.1905 พระยาลิไททรงผนวช ก็ได้ศึกษาภาษาบาลีอย่างแตกฉาน ขณะเดียวกันพระอีกสายหนึ่งจากลังกาเข้ามาในกรุงสุโขทัย ไทยจึงรับภาษาเข้ามาอีกระลอกหนึ่ง และใช้ภาษาบาลีจารึกคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ เช่นเดียวกับที่ลังกาใช้ จะเห็นว่าทั้งภาษาบาลีเข้ามามีอิทธิพลมากขึ้น
ต่อจากสมัยสุโขทัย ความนิยมใช้คำภาษาบาลีในภาษาไทยยังคงอยู่ เพราะเราพบศัพท์ภาษาบาลีสันสกฤตในภาษาไทยมากขึ้น ๆ ดังหลักฐานจากวรรณคดีสมัยหลัง ๆ และเราจะสังเกตเห็นว่า ในวรรณคดีสมัยสุโขทัยมีคำยืมจากภาษาบาลีนี้น้อยกว่าคำภาษาไทยแท้ แต่ในวรรณคดีสมัยอยุธยามีคำยืมเหล่านี้เป็นจำนวนมากจนเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยอยุธยาตอนต้น เช่น ในเรื่องยวนพ่ายและทวาทศมาส แล้วค่อยลดลงบ้างในสมัยอยุธยาตอนกลางและตอนปลาย ในสมัยหลังนี้จะมีคำยืมจากภาษาบาลีสันสกฤตปรากฏมากเฉพาะในวรรณคดีที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา
ส่วนวรรณคดีบางเรื่องที่สะท้อนชีวิตคฤหัสถ์หรือสามัญชนและมีเนื้อหาเกี่ยวกับธรรมชาติหรือความรัก หรือที่เขียนด้วยคำประพันธ์ไทยที่ไม่ได้ดัดแปลงมาจากคำประพันธ์อินเดีย เช่น กลอนจะมีคำบาลีสันสกฤตน้อยลงกว่าสมัยอยุธยาตอนต้น
การแต่งคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาในสมัยรัตนโกสินทร์
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ การติดต่อกับชาติตะวันตกซึ่งเริ่มมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้วนั้นเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น การยืมคำมาจากภาษาตะวันตกก็มีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาอังกฤษ แต่คำยืมจากภาษาบาลีสันสกฤตไม่ลดน้อยลงกลับมีบทบาทมากขึ้น อาจเรียกว่ามากกว่าเดิมก็ได้ เพราะแต่เดิมในสมัยโบราณผู้ที่ใช้คำยืมเหล่านี้มีเฉพาะผู้รู้หรือนักปราชญ์ทางภาษา เช่น พระมหากษัตริย์ ราชบัณฑิต กวี พระสงฆ์ โหรหลวง เป็นต้น แต่ปัจจุบันนี้แพร่หลายออกในหมู่ชนอาชีพต่าง ๆ ทั่วประเทศ แม้แต่กรรมกรและชาวไร่ชาวนา เพราะการติดต่อสื่อสารมีประสิทธิภาพมาก นอกจากนี้ ยังมีการยืม และการสร้างคำใหม่ ๆ จากภาษาบาลีสันสกฤตเพิ่มขึ้นไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อใดที่มีสิ่งประดิษฐ์ หรือความคิดใหม่ ๆ จากต่างประเทศเข้ามา คนไทยก็จะหาคำมาเรียกสิ่งประดิษฐ์หรือความคิดนั้น เรียกว่าการบัญญัติศัพท์ การบัญญัติศัพท์ส่วนใหญ่มักพิจารณาจากคำไทยแท้หรือคำบาลีสันสกฤต และเลือกใช้คำที่เหมาะสมหรือประกอบคำขึ้นใหม่ คำบาลีสันสกฤตที่ใช้นั้นอาจ อยู่เดี่ยว ๆ หรือเกิดจากการประสมกันระหว่างคำบาลีด้วยกัน หรือคำสันสกฤตด้วยกันหรือคำบาลีกันคำสันสกฤต แม้แต่คำบาลีสันสกฤตกับคำไทย คำเขมร ฯลฯ มีให้เห็นอยู่ทั่วไป
การชำระและจารึกพระไตรปิฎกในสมัยรัตนโกสินทร์
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ได้มีการชำระและการจารึกพระไตรปิฎก จากหนังสือพงศวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา (อ้างจากสุชีพ ปุญญานุภาพ, พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน, พิมพ์ครั้งที่ 16,กรุงเทพมหานคร : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2539, หน้า 30) ตอนหนึ่งความว่า “ในปีวอกสัมฤทธิศกนั้น พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าหลวง ทรงพระราชรำพึงถึงพระไตรปิฎกธรรมอันเป็นมูลราก แห่งพระปริยัติศาสนา ทรงพระราชศรัทธาพระราชทานพระราชทรัพย์เป็นอันมากให้เป็นค่าจ้างช่างจารจารึกพระไตรปิฎกลงลาน แต่บรรดามีฉบับในที่ใด ๆ ที่เป็นอักษรลาว อักษรรามัญก็ให้ชำระแปลออกมาเป็นอักษรขอม สร้างขึ้นใส่ตู้ไว้ในหอพระมณเฑียรธรรม และสร้างพระไตรปิฎกถวายพระสงฆ์ให้เล่าเรียนทุก ๆ พระอารามหลวงตามความปรารถนา จึงเจ้าหมื่นไวยวรนาถกราบทูลว่าพระไตรปิฎก ซึ่งทรงพระราชศรัทธาสร้างขึ้นไว้ทุกวันนี้ อักษรบทพยัญชนะตกวิปลาสอยู่แต่ฉบับเดิมมา หาผู้จะทำนุบำรุงตกแต้มดัดแปลงให้ถูกต้องบริบูรณ์ขึ้นมิได้ ครั้นได้ทรงสดับก็ทรงพระปรารภไปว่า พระบาลีอรรถกถาฎีกาพระไตรปิฎกทุกวันนี้ เมื่อและผิดเพี้ยนวิปลาสอยู่เป็นอันมาก ฉะนี้จะเป็นเค้ามูลพระปฏิปัตติศาสนา ปฏิเวธศาสนานั้นมิได้ อนึ่งท่านผู้รักษาพระไตรปิฎกมีอยู่ทุกวันนี้ก็น้อยนัก ถ้าสิ้นท่านเหล่านี้แล้ว เห็นว่าพระปริยัติศาสนาและปฏิเวธสาสนาจะเสื่อมศูนย์เป็นอันเร็วนัก สัตว์โลกทั้งปวงจะหาที่พึ่งบ่มิได้ในอนาคตกาลเบื้องหน้า ควรจะทำนุบำรุงพระบวรพุทธศาสนาไว้ให้ถาวรวัฒนาการเป็นประโยชน์ไปแก่เทพามนุษย์ทั้งปวง จึงจะเป็นทางพระบรมโพธิญาณบารมี
ครั้นทรงพระราชดำริฉะนี้แล้วจึงให้ประชุมพระราชวงศานุวงศ์ มีสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ เป็นประธาน บนพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท ให้อาราธนาสมเด็จพระสังฆราชพระราชาคณะฐานานุกรมบาเรียนร้อยรูปมารับพระราชทานฉัน ครั้นเสร็จสังฆภัตตกิจแล้วสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์จึ่งทรงถวายนมัสการดำรัสเผดียงถามพระราชาคณะทั้งปวงว่า พระไตรปิฎกธรรมทุกวันนี้ยังถูกต้องบริบูรณ์อยู่หรือพิรุธผิดเพี้ยนประการใด จึ่งสมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะทั้งปวงพร้อมกันถวายพระพรว่า พระบาลี และ อรรถกถาฎีกาพระไตรปิฎกทุกวันนี้พิรุธมากมาช้านานแล้ว หากกษัตริย์พระองค์ใดจะทำนุบำรุงเป็นศาสนูปถัมภกมิได้แต่กำลังอาตมภาพ ทั้งปวงก็คิดจะใคร่ทำนุบำรุงอยู่เห็นจะไม่สำเร็จ
กาลเมื่อสมเด็จพระสรรเพชญพระพุทธองค์ผู้ทรงพระทัศอรหาทิคุณอันประเสริฐ เมื่อพระองค์เสด็จบรรทมเหนือพระมรณมัญจาพุทธาอาสน์ เป็นอนุฏฐานไสยาสน์ ณ หว่างนางรังทั้งคู่ในสาลวโนทยานแห่งพระยามลราช ใกล้กรุงสินาราราชธานี มีพระพุทธฎิกาตรัสแก่พระภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรสงฆ์ทั้งปวง พระธรรมวินัยอันใดทั้งแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ อันพระตถาคตเทศนาสั่งสอนท่าน เมื่อพระตถาคตนิพพานแล้ว พระธรรมแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์นั้น จะเป็นครูสั่งสอนท่านและสรรพสัตว์ทั้งหลาย ต่างพระตถาคตแปดหมื่นสี่พันพระองค์ ตรัสมอบพระพุทธศาสนาไว้แก่พระปริยัติธรรมฉะนี้แล้วก็เข้าสู่พระปรินิพพาน จำเดิมแต่สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้านิพพานถวายพระเพลิงแล้วเจ็ดวันพระมหากัสสปเจ้าระลึกถึงถ้อยคำพระสุภัทรภิกษุแก่ กล่าวติเตียนพระบรมครูเป็นมูลเหตุจึงดำริการจะกระทำสังคายนาย เลือกสรรพระสงฆ์ทั้งหลายล้วนพระอรหันต์ทรงพรจตุปฏิสัมภิทญาณกับพระอานนนท์เป็นเสกขบุคคลพระองค์หนึ่งได้พระอัรหัตต์ในราตรี รุ่งขึ้นจะทำสังคายนายพอครบห้าร้อยพระองค์ มีพระเจ้าอชาตสัตรูเป็นศาสนูปถัมภก กระทำสังคายนายพระไตรปิฎกในพระมณฑปแถบถ้ำสัตตบรรณคูหา ณ เขาเวการบรรพตใกล้ กรุงราชคฤห์มมหานคร เจ็ดเดือนจึงสำเร็จการปฐมสังคายนาย
ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาถึง 100 ปี ภิกษุชาววัชชีคามเป็นอลัชชีสำแดงวัตถุสิบประการ กระทำผิดพระวินัยบัญญัติ และพระมหาเถรขีณาสพแปดองค์ มีพระยศเถรเป็นต้นพระเรวัตเถรเป็นปริโยสาน ชำระทศวัตถุอธิกรณ์รำงับ ยังพระพุทธศาสนาให้บริสุทธิ์แล้วเลือกพระอรหันต์อันทรงพระปฏิสัมภิทาญาณเจ็ดร้อยพระองค์ มีพระสัพพกามิเถรเจ้าเป็นประธานกระทำสังคายนาพระไตรปิฎกในวาลุกการามวิหารใกล้เมืองเวสาลี มีพระเจ้ากาลาโสกราชเป็นศาสนูปถัมภกแปดเดือนจึงสำเร็จทุติยสังคายนา
ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาถึง 218 ปีครั้งนั้นเหล่าเดียรถีย์เข้าปลอมบวชในพระศาสนา จึงพระโมคลีบุตรดิสเถรเจ้ายังพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชให้เรียนรู้ในพุทธสมัย แล้วชำระสึกเดียรถีย์เสียถึงหกหมื่น ยังพระศาสนาให้บริสุทธิ์แล้วพระโมคลีบุตรดิสเถร จึงเลือกพระอรหันต์อันทรง พระปฏิสัมภิทาญาณพันพระองค์ กระทำสังคายนายพระไตรปิฎกในอโสการามวิหารใกล้กรุง ปาตลีบุตรมหานคร มีพระเจ้าศรีธรรมาสากราชเป็นศาสนูปถัมภก เก้าเดือนจึงสำเร็จการตติยสังคายนาย
ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาถึง 238 ปี จึงพระมหินทเถรเจ้าออกไปสู่ลังกาทวีป บวชกุลบุตรให้เล่าเรียนพระปริยัติธรรม คือ หยั่งรากพระพุทธศาสนาลงในเกาะลังกาแล้ว พระขีณาสพทั้งสามสิบแปดพระองค์ มีพระมหินทเถร และพระอริฏฐเถรเป็นประธาน กับพระสงฆ์ซึ่งทรงพระปริยัติธรรมร้อยรูป กระทำสังคายนายพระไตรปิฎกในมณฑปถูปารามวิหารใกล้กรุงอนุราธบุรี มีพระเจ้าเทวานัมปิยดิสเป็นศาสนูปถัมภกสิบเดือน จึงสำเร็จการจตุตถสังคายนาย
ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาถึง 433 ปี ครั้นนั้นพระอรหันต์ทั้งปวงในลังกาทวีป พิจารณาเห็นว่า พระพพุทธศาสนาจะเสื่อมลง เหตุพระสงฆ์ซึ่งทรงพระไตรปิฎกขึ้นปากเจนใจนั้น เบาบางลงกว่าแต่ก่อน จึงเลือกพระอรหันต์อันทรงพระปฏิสัมภิทาญาณและพระสงฆ์ปุถุชนผู้ทรงพระปริยัติมากว่าพัน ประชุมกันในอภัยคิรีวิหารใกล้เมืองอนุราธบุรี มีพระเจ้าวัฏฏคามินีอภัยเป็นศาสนูปถัมภกกระทำพระมณฑปถวายให้กระทำสังคายนายพระไตรปิฎกแล้วจารึกลงลานทั้งพระบาลีและอรรถกถาเป็นสิงหฬภาษาปีหนึ่งจึงสำเร็จการปัญจมสังคายนาย
ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาถึง 956 ปีจึงพระพุทธโฆษจารย์เถรเจ้าออกไปแต่ชมพูทวีปแปลพระไตรปิฎกอันเป็นสิงหฬภาษา จารึกลงลานใหม่แปลงเป็นมคธภาษากระทำในโลหปราสาท ณ เมืองอนุราธบุรี มีพระเจ้ามหานามเป็นศาสนูปถัมภกปีหนึ่ง จึงสำเร็จนับเนื่องในฉัฏฐมสังคายนาย
พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ เมื่อทรงสดับพระสงฆ์ราชาคณะถวายพระพรโดยพิสดารดังนั้น จึงดำรัสว่าครั้งนี้ขออาราธนา พระผู้เป็นเจ้าทั้งปวงจงมีอุตสาหะในฝ่ายพระพุทธจักรให้พระไตรปิฎกบริบูรณ์ข้นจงได้ ฝ่ายอาณาจักรที่จะเป็นศาสนูปถัมภกนั้นเป็นพนักงานโยม โยมจะสู้เสียสละชีวิตบูชาพรรัตนตรัย สุดแต่จะให้พระปริยัติบริบูรณ์เป็นมูลที่ตั้งพระพุทธศาสนาให้จงได้ ได้มีพระราชกำหนดให้นิมนต์พระสงฆ์ ประชุมพร้อมกัน ณ พระอุโบสถวัดพระศรีสรรเพชรดาราม ในวันกติกบุรณมีเพ็ญเดือนสิบสองในปีวอกสัมฤทธิศก พระพุทธศักราชล่วงแล้ว 2331 พระวัสสา
การชำระคัมภีร์และพระไตรปิฎกในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้มีการจารึกและพิมพ์พระไตรปิฎกลงบนใบลาน เหตุที่ยกมายืดยาวก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงกระบวนการ วิธีการในการชำระพระไตรปิฎก การจารึกพระไตรปิฎกและการเป็นศาสนูปถัมภกของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
การชำระและจารึกพระไตรปิฎกในสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการชำระและการพิมพ์พระไตรปิฎกอีกครั้ง ดังหลักฐานจากหนังสือกฎหมายรัชกาลที่ 5 หน้า 838 ซึ่งหลวงรัตนาญาณปติ (เปล่ง) อธิบดีกรมอัยการเป็นผู้รวบรวบรวมไว้มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริห์จะทรงนุบำรุง พระพุทธศาสนาให้เจริญวัฒนายิ่งขึ้นไปประการใด ท่านทั้งหลายก็คงแลเห็นในการที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสิ่งที่เป็นถาวรวัตถุให้เป็นภาชนะรับรองพระพุทธศาสนาประการหนึ่ง ทั้งอเนกทานบริจาคของประณีตต่าง ๆ ฤาการยกย่องโดยสมณศักดิ์ ซึ่งเป็นเสบียงกำลังแก่พระภิกษุสงฆ์ทั้งปวง ผู้ทรงวิไนยบัญญัติของพระพุทธเจ้าให้ดำรงอยู่ แลเป็นผู้แนะนำชาวสยามให้ประพฤติการละบาปบำเพ็ญบุญนั้นก็มีเป็นอันมากในปีหนึ่งๆ ก็อีกประการหนึ่งการที่ทรงบริจาคทั้งสองอย่างนั้นปีหนึ่งก็สิ้นพระราชทรัพย์เป็นอันมาก เพราะเหตุด้วยทรงเลื่อมใสในคุณพระรัตนไตรยนั้น บัดนี้ทรงพระราชดำริห์ถึงพระไตรยปิฎก ซึ่งเป็นพุทธภาสิตเป็นที่ร่ำเรียนศึกษาของผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนานั้นด้วยเหตุอย่างไร คงปรากฏในกระแสพระราชดำรัสแก่พระเถรานุเถร ซึ่งจะมีต่อไปในหน้ากระดาษนี้แล้ว เพราะฉะนั้นจึ่งจะโปรดเกล้าฯ ให้ตีพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นอักษรสยาม เย็บเล่มสมุดให้มากแพร่หลายสืบสานายุกาลต่อไป จึ่งโปรดให้ผเดียงพระสงฆ์เถรานุเถระที่ชำนาญในพระไตรยปิฎกอันมีสมณศักดิ์ 110 พระองค์ เป็นผู้ตรวจแก้ฉบับพระไตรปิฎกที่ตีพิมพ์ โปรดให้พระบรมวงษานุวงษเข้าราชการฝ่ายคฤหัสถ์เป็นกรรมสัมปาทิกสภา จัดการพิมพ์พระไตรปิฎกให้สำเร็จทันในสมัยเมื่อเสด็จดำรงสิริราชสมบัติครบ 25 ปี จะได้มีการมหกรรมฉลองพระไตรปิฎกนี้ในมงคลสมัยนั้น” (สุชีพ ปุญญานุภาพ, พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน, หน้า 37.)
ในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ยังบันทึกลงบนใบลาน คัมภีร์พระไตรปิฎกจึงเริ่มจะเป็นรูปร่างและมีครบทุกคัมภีร์
การชำระและจารึกพระไตรปิฎกในสมัยรัชกาลที่ 7 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7ได้มีการชำระและการพิมพ์พระไตรปิฎกอีกครั้ง ดังที่ปรากฏในรายงานการสร้างพระไตรปิฎก (ฉบับสยามรัฐ) ของพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ จากราชกิจจานุเษกษา เล่ม 44 หน้า 3927 ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2470 นั้น (สุชีพ ปุญญานุภาพ, พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน, หน้า 42)มีรายงานการสร้างพระไตรปิฎกตอนหนึ่งว่า “ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระราชวโรกาสกราบบังคมทูลรายงานการสร้างพระไตรปิฎก เป็นอนุสาวรีย์เชิดชูพระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราวุตธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้าจัดสนองพระเดชพระคุณนั้น บัดนี้ต้นฉบับพระไตรปิฎกสำหรับที่จะพิมพ์นั้น ใช้ฉบับพิมพ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างเมื่อพระพุทธศักราช 2436 นั้นเป็นพื้น มีการแก้ไข คือ เปลี่ยนใช้ พินทุ แทนวัญฌการและยามักการจัดวางระยะวรรคตอนหนังสือนั้นเสียใหม่ และใช้เครื่องหมายประกอบให้เป็นอย่างเดียว ตามแบบที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ประทานไว้ในการพิมพ์อรรถกถาพระไตรปิฎก ส่วนคัมภีร์ที่ขาดไปในฉบับพิมพ์ พ.ศ. 2436 ใช้ฉบับลานของหลวงเป็นต้นฉบับ และชำระโดยวิธีเดียวกัน แก้คำผิดแต่จำเพาะที่ปรากฏว่าคัดลอกผิด กำหนดการให้ได้พิมพ์แล้วเสร็จในพระพุทธศักราช 2470 อนึ่ง เพราะเหตุที่ได้ทรงเป็นประมุขบริจจาคพระราชทรัพย์ในการสร้างพระไตรปิฎกฉบับนี้ และโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการทวยราษฎรชาวสยามทั้งฝ่ายบรรพชิตและฆราวาสบริจาคทรัพย์โดยเสด็จในพระราชกุศลนั้น ที่ประชุมชำระพระไตรปิฎก จึงขนานนามพระไตรปิฎกนี้ว่า “สฺยามรฏฐสฺสเตปิฏกํ” “พระไตรปิฎกสยามรัฐ”
การพิมพ์พระไตรปิฎกภาษาบาลีที่นิยมเรียกว่าฉบับสยามรัฐ และเป็นฉบับที่ใช้อ้างอิงในปัจจุบันมากที่สุดฉบับหนึ่ง แม้ในรัชกาลต่อมาจะมีการชำระและพิมพ์พระไตรปิฎกขึ้นอีกหลายฉบับทั้งฉบับภาษาไทย ฉบับอรรถกถา แต่ก็ยังอาศัยรูปแบบของพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐเป็นหลัก สรุปว่าการชำระการจารึกและการพิมพ์พระไตรปิฎกในประเทศไทยนั้นมี 4 ครั้งคือ (สุชีพ ปุญญานุภาพ, พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน, หน้า 17.)
1. ชำระและจารลงในใบลาน กระทำที่เชียงใหม่ สมัยพระเจ้าติโลกราชประมาณ พ.ศ. 2020
2. ชำระและจารลงในใบลาน กระทำที่กรุงเทพ สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกรัชกาลที่ 1 พ.ศ. 2331
3. ชำระและพิมพ์เป็นเล่ม กระทำที่กรุงเทพ สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2431-2436
4. ชำระและพิมพ์เป็นเล่ม กระทำที่กรุงเทพ สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พ.ศ. 2468-2473
ส่วนในสมัยรัชกาลที่ 9 ได้มีการชำระ และพิมพ์พระไตรปิฎกอีกหลายครั้ง นอกจากนั้นยังมีการปริวรรตคัมภีร์อรรถกถาจากภาษาต่างๆเป็นภาษาไทยและจัดพิมพ์เผยแพร่อีกจำนวนมากดำเนินการโดยมูลนิธิภูมิพโลภิกขุ จนกระทั่งมีการบันทึกพระไตรปิฎกลงแผ่นซีดี และนำเผยแผ่ทางอินเทอร์เน็ต