พระพุทธศาสนาเถรวาทเจริญรุ่งเรืองในประเทศไทยมานาน แต่ในประเทศใกล้เคียงเราไม่ค่อยคุ้นเคยนักเช่นลาว เขมร พม่า ในส่วนของประเทศลาวถือได้ว่าพระพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรมใกล้เคียงกับไทยมากที่สุด เรามักจะคุ้นเคยกับคำว่าบ้านพี่เมืองน้อง เพราะมีวัฒนธรรมใกล้เคียงกันมากนั่นเอง
บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้จัดทำโครงการศึกษาทางวิชาการนอกสถานที่เพื่อประกอบรายวิชาพระพุทธศาสนากับศิลปวัฒนธรรม เพื่อให้นักศึกษาได้ศึกษาศิลปวัฒนธรรมจากประสบการณ์ตรง เพื่อให้สอดคล้องกับการศึกษาที่มีทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติอันจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาความคิดและทัศนะต่อการศึกษาศิลปวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ในครั้งนี้ได้เดินทางไปยังนครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนลาวกำหนดเดินทางในช่วงระหว่างวันที่ 18-20 ตุลาคม 2551
ศิลปวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขงมีกระแสธารผ่านกาลเวลามาหลายศตวรรษ ประชาชนในประเทศที่มีอาณาเขตทั้งสองฟากฝั่งแห่งแม่น้ำโขงนั้น มีวัฒนธรรมประเพณีหลายอย่างที่คล้ายคลึงกันโดยเฉพาะที่มีพื้นฐานมาจากพระพุทธศาสนา
ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พระพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศลาวประมาณปีพุทธศักราช 1896 เมื่อเจ้าฟ้างุ้มขึ้นครองราชย์สถาปนาเมืองหลวงนามว่า “กรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว” พุทธศาสนาได้เข้ามาสู่อาณาจักรล้านช้างในยุคนี้ กล่าวกันว่าพระนางแก้วยอดฟ้าพระมเหสีผู้ทรงเคยนับถือพุทธศาสนามาก่อน เมื่อครั้งอยู่ในเมืองขอมทรงเห็นประชาชนนับถือผีสางเทวดา และฆ่าสัตว์บูชาเซ่นสรวง จึงได้ทูลขอให้พระเจ้าฟ้างุ้มไปอัญเชิญพระพุทธศาสนามาเผยแผ่ในอาณาจักรล้านชัาง พระเจ้าฟ้างุ้มทรงเห็นด้วย จึงให้ทูตไป ทูลขอนิมนต์พระสงฆ์เขมรเข้ามาเผยแผ่ในประเทศลาว และพระนางยังได้ขอร้องทางเขมรได้จัดส่งพระสงฆ์มาประกาศศาสนาแบบเถรวาท ซึ่งมีพระมหาปาสามันตเถระ และพระมหาเทพลังเป็นประมุข เข้ามาเผยแผ่ในล้านช้าง ได้นำนักปราชญ์ นายช่าง และบริวาร พร้อมกับนำพระพุทธรูปปางห้ามญาติชื่อ “พระบาง” พร้อมด้วยพระไตรปิฎกและศาสนวัตถุไปด้วย (สุชาติ หงษา,ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา,กรุงเทพฯ: ธรรมสภา,๒๕๔๙,หน้า ๑๑๑)
รัชสมัยของพระเจ้าฟ้างุ่มนั้นเต็มไปด้วยศึกสงคราม ทำให้ชาวลาวที่มีนิสัยรักสงบเกิดความเบื่อหน่าย จนในที่สุดพร้อมใจกันขับพระเจ้าฟ้างุ่มออกจากราชสมบัติ และอภิเษกพระราชโอรสทรงพระนามว่า "พญาสามแสนไท" ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน และพระองค์ทรงอภิเษกกับเจ้าหญิงแห่งอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ซึ่งทำให้มีการจัดระเบียบบ้านเมืองตามแบบแผนวิธีการที่ได้รับจากประเทศไทยเป็นอันมาก
ในด้านการพระพุทธศาสนา พญาสามแสนไททรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก เช่นทรงสร้างวัดมโนรมย์ วัดอุโบสถ หอสมุด โรงเรียนปริยัติธรรม เป็นต้น และทรงเจริญพระราชไตรีกับทางกรุงศรีอยุธยา ตลอดจนถึงกัมพูชา เวียดนาม ซึ่งถือได้ว่าในสมัยนี้เป็นสมัยแห่งการจัดสรรบ้านเมือง และการสร้างความมั่นคงเป็นปึกแผ่นอย่างมาก
สมัยพระเจ้าวิชุลราชาธิปัต (พ.ศ. ๒๐๔๔-๒๐๖๓) บ้านเมืองอยู่ในภาวะสงบ กษัตริย์ทรงเอาใจใส่ทำนุบำรุงพุทธศาสนา ได้สร้างวัดวาอารามต่าง ๆ เช่น สร้างวัดบรมมหาราชวังเวียงทอง วัดวิชุลราช เพื่ออัญเชิญพระบางจากเวียงคำมาประดิษฐานที่วัดนี้ ต่อมาทรงสร้างวัดโพธิ์สบ เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระราชธิดาที่ได้สวรรคตไป
ในรัชสมัยพระเจ้าโพธิสารราช (พ.ศ. ๒๐๖๓-๒๐๙๐) พระองค์เป็นผู้เคร่งครัดทางพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ได้ทรงมีพระราชโองการให้พลเมืองเลิกนับถือผีสางเทวดา เลิกทรงเจ้าเข้าผีทั่วพระราชอาณาจักร ทรงให้รื้อศาลหลวง ศาลเจ้าผีเสื้อเมืองทรงเมือง และให้หันมานับถือพระพุทธศาสนาแทน ทรงสร้างวัดสุวรรณเทวโลกแต่เนื่องจากประเพณีการนับถือผีนั้นมีมานานมาก และได้ฝังเข้าไปในจิตใจของประชาชนทั่วไป จึงยากที่จะเลิกอย่างเด็ดขาดได้
ครั้นต่อมาทางอาณาจักรล้านนาว่างกษัตริย์ปกครอง จึงได้อัญเชิญเจ้าไชยเชษโฐหรือ เชษฐวังโส พระโอรสของพระเจ้าโพธิสาร ไปครองนครล้านนา เมื่อปีพ.ศ. ๒๐๘๙ พระเจ้าโพธิสารเสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๐ ด้วยถูกช้างล้มทับขณะประพาสป่า ทรงกลับนครได้เพียง ๓ สัปดาห์ก็สวรรคต เมื่อสวรรคตแล้ว พระโอรสทั้งหลายต่างแย่งชิงราชสมบัติกัน อาณาจักรลาวได้แตกเป็น ๒ ฝ่าย คือ อาณาจักรฝ่ายเหนือ และฝ่ายใต้ พระเจ้าไชยเชษโฐแห่งล้านนา จึงยกทัพตีกรุงล้านช้าง และได้อัญเชิญพระแก้วมรกตที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดบุปผาราม เชียงใหม่ รวมทั้งพระพุทธสิหิงค์ (พระสิงค์) และพระแก้วขาวไปด้วย เมื่อเสด็จถึงล้านช้าง ทรงยึดราชสมบัติจากเจ้าครองนครทั้งสองได้ ด้วยความเกรงกลัวของเจ้าครองนครทั้งสอง จึงทรงครองนครทั้งสองซึ่งเรียกว่า กรุงศรีสัตนาคตหุต พระองค์จึงขึ้นครองราชสมบัติ นับเป็นมหาราชองค์ที่ ๒ ของลาว ที่ทรงพระปรีชาสามารถ ทรงพระนามว่า “พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช"
พระพุทธศาสนาในยุคของพระเจ้าเชษฐาธิราช นับว่ามีความเจริญสูงสุด ทรงได้สร้างวัดสำคัญมากมาย ในกำแพงเมืองมีวัดอยู่ประมาณ ๑๒๐ วัด และยังได้สร้างวัดพระแก้ว ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกต ที่นำมาจากเมืองเชียงใหม่ ในสมัยนี้ได้มีการแต่งวรรณกรรมหลายเรื่อง เช่น สังสินชัย การเกต พระลักพระราม เป็นต้น
สมัยนี้ราชอาณาจักรไทยได้มีความสัมพันธ์ลาวอย่างแน่นแฟ้น ได้ร่วมมือกันเพื่อต่อสู้กับพม่า ได้สร้างเจดีย์ "พระธาตุศรีสองรัก" ในอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เพื่อเป็นอนุสรณ์ แห่งความเป็นพี่เป็นน้องกัน ของสองอาณาจักร
พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้ทรงย้ายเมืองหลวงจากเมืองเชียงคำมาอยู่ที่เวียงจันทน์ ได้ประดิษฐานพระแก้วมรกต และพระแซกคำ (พระพุทธสิหิงค์ หรือพระสิงค์) ไว้ที่เวียงจันทน์ เรียกว่าเวียงจันทน์ล้านช้างส่วนพระบางประดิษฐานไว้ที่เมืองเชียงทอง จึงได้ชื่อว่าหลวงพระบางมาจนถึงบัดนี้ บางครั้งก็เรียกชื่อว่าล้านช้างหลวงพระบาง และได้สร้างวัดเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตขึ้นเป็นพิเศษ พระองค์ได้ทรงสร้างพระธาตุหลวง ซึ่งถือเป็นสถาปัตยกรรมชิ้นยอดเยี่ยมของลาวเมื่อ พ.ศ. ๒๑๐๙ ซึ่งต่อมาได้ถูกพวกปล้นจากยูนานทำลายเสียหายไปมาก นอกจากพระองค์จะได้ทรงสร้างพระธาตุ อื่น ๆ และพระพุทธรูปสำคัญ ๆ อีกมากมาย เช่น พระเจ้าองค์ตื้อ ที่เวียงจันทน์ พระเจ้าองค์ตื้อ ที่อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย พระเสริม พระสุก พระใส พระอินทร์แปลง พระองค์แสน ทรงสร้างวัดพระธาตุ ที่จังหวัดหนองคาย และพระธาตุที่จมน้ำโขงอยู่ พระธาตุบังพวน อำเภอเมืองหนองคาย สร้างวัดศรีเมือง จังหวัดหนองคาย และพระประธานในโบสถ์ นามว่า พระไชยเชษฐา พระศรีโคตรบูร ที่แขวงคำม่วน พระธาตุอิรัง ที่แขวงสุวรรณเขต (สุวรรณเขต) พระธาตุศรีสองรัก อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และทรงปฏิสังขรณ์พระธาตุพนม เป็นต้น
พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงประคับประคองนำราชอาณาจักรล้านช้างผ่านพ้นภัยการเป็นเมืองขึ้นของพม่าไปได้ ตลอดรัชสมัยของพระองค์ แม้ว่าในขณะนั้นอาณาจักรล้านนา (เสียแก่พม่า พ.ศ. ๒๑๐๑) และอาณาจักรศรีอยุธยา (เสียแก่พม่า พ.ศ. ๒๑๐๗) ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าแล้ว แต่หลังจากพระองค์สวรรคตในปี พ.ศ. ๒๑๑๔ พอมาถึง พ.ศ. ๒๑๑๗-๒๑๑๘ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองได้ยกทัพมาตีลาวและได้รับชัยชนะ และทรงนำโอรสองค์เดียวของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชซึ่งประสูติในปีที่สวรรคต ไว้เป็นประกันที่หงสาวดีด้วย ต่อจากนั้นมาหลายปีแผ่นดินลาวก็วุ่นวายด้วยเรื่องราชสมบัติ จนพ.ศ. ๒๑๓๔ พระเถระเจ้าอาวาสวัดต่าง ๆ จึงได้ประชุมกันลงมติให้ส่งทูตไปเชิญเจ้าชายหน่อแก้วโกเมน ซึ่งเป็นตัวประกันอยู่ประเทศพม่ากลับมาครองราชย์ และในเวลานั้นพระเจ้าบุเรงนองสวรรคตลง พม่าเริ่มอ่อนแอลง และเจ้าหน่อแก้วโกเมนขึ้นครองราชย์สมบัติ พ.ศ. ๒๑๓๕ และประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นกับพม่าต่อไป
พระเจ้าสุริยวงศาเป็นกษัตริย์ที่มีความปรีชาสามารถ และเข้มแข็ง สามารถปกครองให้ลาวสงบเรียบร้อยได้ ในสมัยนี้วัฒนธรรมรุ่งเรือง ศิลปกรรม ดนตรี ประติมากรรมต่าง ๆ เจริญแพร่หลาย
หลังจากสิ้นราชกาลพระเจ้าสุริยวงศา ใน พ.ศ. ๒๒๓๕ อาณาจักรลาวได้แตกเป็น ๒ อาณาจักร คือ เมืองหลวงพระบาง กับ เมืองเวียงจันทน์ ทั้ง ๒ อาณาจักร ต่างระแวงกัน และคอยหาโอกาสแย่งชิงอำนาจกัน จนถึงกับไปผูกมิตรกับต่างประเทศเพื่อกำจัดกันและกัน เช่น ฝ่ายหนึ่งเข้ากับพม่า ฝ่ายหนึ่งเข้ากับไทย หรือฝ่ายหนึ่งเข้ากับไทย ฝ่ายหนึ่งเข้ากับญวน เป็นต้น
จนในที่สุดเมื่อไทยสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งเป็นมิตรกับหลวงพระบางกู้เอกราชจากพม่าได้แล้ว ก็ยกทัพมาตีเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นพันธมิตรของพม่า เข้ายึดครองได้ในพ.ศ.๒๓๒๑และได้นำเอาพระแก้วมรกตไปยังอาณาจักรไทยด้วย อาณาจักรเวียงจันทน์ได้สลายตัวลงเป็นดินแดนของไทยใน พ.ศ. ๒๓๗๑ ส่วนอาณาจักรหลวงพระบางซึ่งเป็นเมืองออกของไทยได้ส่งทูตไปอ่อนน้อม และมอบบรรณาการแก่เวียดนาม พ.ศ. ๒๓๗๔ กลายเป็นข้ออ้างของฝรั่งเศส ผู้เข้ายึดครองเวียดนามในสมัยต่อมา ที่จะเข้าครอบครองลาวต่อไปด้วย อาณาจักรลาวได้ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสโดยลำดับ เริ่มแต่ พ.ศ. ๒๔๓๖ จนหมดสิ้นใน พ.ศ. ๒๔๔๗ ลาวถูกฝรั่งเศสครอบครองอยู่ ๔๕ ปี จึงได้เอกราชกลับคืนโดยสมบูรณ์ เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๔๙๒ มีชื่อเป็นทางการว่า “พระราชอาณาจักรลาว”
นั่นเป็นประวัติศาสตร์ลาวโดยสังเขป ลาวมีการปกครองระบบกษัตริย์เหมือนไทย แต่ถูกล้มเลิกด้วยระบอบสังคมนิยมและกลายเป็นประเทศสาธารรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยลาวตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๑๘ เป็นต้นมา จากนั้นมาพระพุทธศาสนาก็ถูกกลืนหายไปกับระบอบการปกครอง เพราะสังคมนิยมถือว่าศาสนาคือยาเสพติด แต่ภายหลังได้รับการผ่อนปรนเพราะทนกับศรัทธาความเชื่อของประชาชนไม่ไหว ลาวจึงหันกลับมาฟื้นฟูพระพุทธศาสนาขึ้นอีกครั้งดังจะเห้นได้จากมีการมาเยือนชองคณะสงฆ์ลาวอย่างเป้นทางการคือ ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๐ คณะสงฆ์ลาวได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชไทย ได้เยี่ยมชมพบปะสนทนากับพระเถรานุเถระฝ่ายไทย เยี่ยมชมสถาบันการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยหลายแห่ง (สุชาติ หงษา,ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา,กรุงเทพฯ: ธรรมสภา,๒๕๔๙,หน้า ๑๕๓) ข้อมูลเบื้องต้นค้นคว้าได้มาเพียงเท่านี้ แม้ในปัจจุบันจะมีนักศึกษาจากลาวเข้ามาศึกษาใน มมร หลายรูป แต่ในส่วนของประวัติพระพุทธศาสนาลาวไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงนัก ส่วนมากมักจะเล่าเพียงสั้นๆว่า “พระพุทธศาสนาในประเทศลาวก็คล้ายๆกับไทย” ซึ่งไม่ได้ทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึกเท่าใดนัก จึงเกิดการกระตุ้นความอยากรู้มานานาน
จนกระทั่งได้เดินทางไปจริงๆในรุ่งสางของวันที่ 18 ตุลาคม 2552 คณะเดินทางแวะพักรับประทานอาหารที่จังหวัดหนองคาย ก่อนจะข้ามโขงไปยังนครเวียงจันทน์ ดินแดนแห่งอารยธรรมโบราณ เรามีไกด์สาวนำเที่ยวนามว่านางแสงเพชร เป็นไกด์ชาวลาว ได้บรรยายต้อนรับคณะเดินทางอย่างเป็นกันเอง อย่าพึ่งเข้าใจว่านางแสงเพชรแต่งงานแล้วเพราะใช้คำนำหน้าว่านาง ที่จริงเธอยังเป็นสาว เธอบอกกล่าวว่าที่ประเทศลาวไม่มีคำว่านางสาวมีแต่เด็กหญิง พอโตเป็นสาวก็ใช้คำนำหน้าว่า “นาง” ไม่มีนางสาวมาขั้นกลางเหมือนคนไทย กว่าที่จะรู้สึกว่าได้เดินทางมาถึงพระธาตุหลวงก็ปาเข้าไปเกือบเก้าโมงเช้า
พระธาตุหลวงแห่งนครเวียงจันทร์นั้น นางแสงเพชรได้สาธยายประวัติพระธาตุหลวงโดยสังเขปว่า “พระธาตุหลวงตั้งอยู่ใจกลางเมืองหลวงประเทศลาวถือเป็นศาสนสถานที่สำคัญที่สุดของประเทศลาว เป็นสัญญาลักษณ์ประจำชาติและยังแทนความเป็นเอกราชและอำนาจอธิปไตยของประเทศลาวอีกด้วย พระธาตุนี้สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 16 พระธาตุองค์นี้มีรูปทรงที่ไม่เหมือนกับองค์อื่นๆ เพราะเป็นการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมในพระพุทธศาสนากับสถาปัตยกรรมของอาณาจักรขอม
ตามตำนานเล่าว่า พระธาตุองค์นี้ได้สร้างในสมัยพุทธศักราชที่ 236 โดยมีพระภิกษุลาวจำนวน 5 รูปเดินทางไปศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย และได้อันเชิญพระอุรังคธาตุของพระพุทธเจ้ามายังนครเวียงจันทน์ด้วย ต่อมาได้กราบทูลพระยาจันทบุรีประสิทธิ์ศักดิ์ เจ้านครเวียงจันทน์ในสมัยนั้น ให้สร้างพระธาตุหลวงขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุเพื่อให้ชาวลาวได้กราบไหว้ กล่าวไว้ว่า พระธาตุองค์เดิมนั้นสร้างด้วยหินเป็นทรงโอคว่ำ มีการก่อกำแพงล้อมรอบเอาไว้ทั้ง 4 ด้าน แต่ละด้านมีความกว้าง 10 เมตร หนา 4 เมตร และสูง 9 เมตร เชื่อกันว่าพระธาตุที่เห็นในปัจจุบันสร้างครอบองค์เดิม ซึ่งต่อมาสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองหลวงของราชอาณาจักรล้านช้างจากหลวงพระบางมาอยู่ที่เวียงจันทน์ ตามดำริของพระราชบิดา คือพระเจ้าโพธิสาร จากนั้นทรงมีพระบัญชา ให้ทรงสร้างพระเจดีย์องค์ใหม่ครอบพระธาตุองค์เดิมไว้ ณ บริเวณที่เคยเป็นเทวสถานเก่าของขอมโดยเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.2109 และหลังจากสร้างพระธาตุหลวงได้โปรดฯ ให้สร้างวัดขึ้นล้อมรอบพระธาตุไว้ทั้งสี่ทิศด้วย แต่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงสองแห่งด้วยกันคือ วัดพระธาตุหลวงเหนือและวัดพระธาตุหลวงใต้
ในปัจจุบัน พระธาตุหลวงมีลักษณะคล้ายป้อมปราการ เพราะมีการสร้างระเบียงสูงใหญ่ขึ้นโอบล้อมรอบองค์พระธาตุไว้ พร้อมกับทำช่องหน้าต่างเล็กๆเอาไว้โดยตลอด สำหรับประตูทางเข้านั้นเป็นประตูไม้บานใหญ่ ลงรักสีแดงไว้ทั้งหมด นอกจากนี้รอบๆองค์พระธาตุใหญ่ยังมีเจดีย์บริวารล้อมรอบอยู่โดยรอบอีหลายองค์ เมื่อเดินเข้าไปดูใกล้ๆ ก็จะเห็นสัญลักษณ์หนึ่งแสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธศาสนาแห่งนี้ปรากฏอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นรูปแกะสลักพญานาค พระพุทธรูปปิดทองลายกลีบบัวประดับอยู่บนฐานปักษ์ และถัดจากประตูทางเข้าใหญ่ประมาณ 100 เมตรจะแลเห็นพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ตั้งอยู่บนฐานสูง พระหัตถ์ทรงถือพระแสงดาบวางพาดไว้บนพระเพลา เล่ากันว่า พระแสงดาบเล่มนี้ทำหน้าที่ปกป้องพระธาตุหลวงซึ่งได้ถือว่าเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนชาวลาวทุกคน
คณะนักศึกษาจากประเทศไทยได้สักการะพระธาตุหลวง พร้อมกับเดินเวียนปทักษิณรอบองค์พระธาตุ จากนั้นจึงได้เดินทางไปยังหอพระแก้วซึ่งเคยเป็นสถานที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต นางแสงเพชรไกด์นำเที่ยวได้บรรยายประวัติหอพระแก้วไว้อย่างน่าสนใจว่า “หอพระแก้ว ตั้งอยู่บนถนน เชษฐาธิราช ติดกับทำเนียบประธานประเทศ แต่เดิมเป็นวัดหลวงประจำราชวงศ์ของลาว พระเชษฐาธิราชมีพระราชประสงค์ให้สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2108 เพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตที่ได้อัญเชิญมาจากล้านนา เมื่อต้องเสด็จกลับมาครองราชบัลลังก์ล้านช้างหลังจากที่พระราชบิดาคือพระเจ้าโพธิสารสิ้นพระชนม์ลงในการทำศึกสงครามกับประเทศสยาม เมื่อปีพ.ศ.2322 นครเวียงจันทน์ถูกกองทัพสยามตีแตก กองทัพสยามได้อัญเชิญพระแก้วมรกต พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของนครเวียงจันทน์ไป พร้อมทั้งกวาดต้อนราชวงศ์ชาวลาวกลับไปยังกรุงเทพฯมากมาย สำหรับหอพระแก้วที่นักท่องเที่ยวเห็นอยู่ในปัจจุบันเป็นของที่ถูกบูรณะขึ้นใหม่เกือบทั้งหมด ในปีพ.ศ.2480-2483 ภายใต้การควบคุมดูแลการก่อสร้างของ เจ้าสุวรรณภูมา ผู้ที่จบการศึกษาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์จากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และต่อมายังได้ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีหลังจากได้รับเอกราชอีกด้วย
แม้ว่าหอพระแก้วปัจจุบันจะไม่ใช่วัดอีกต่อไป แต่นักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางมาท่องเที่ยวยังนครเวียงจันทน์ก็ยังเดินทางมาสักการบูชากันเป็นจำนวนมาก สำหรับส่วนในของพิพิธภัณฑ์นั้น จัดแสดง พระแท่นบัลลังก์ปิดทองจารึกพระไตรปิฏก ภาษาขอมและกลองสำริดประจำราชวงศ์ลาว สำหรับประตูใหญ่ทั้งสองเป็นของเก่าที่หลงเหลือมาแต่เดิม บานประตูจำหลักเป็นรูปองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บริเวณโดยรอบของหอพระแก้วเงียบสงบ ร่มเย็นมีไหขนาดกลางจากทุ่งไหหิน ในเชียงขวางวางตั้งอยู่ 1 ใบ อาณาบริเวณรอบๆ วัดสีสะเกดและหอพระแก้วเคยถูกใช้เป็นศูนย์กลางของหน่วยงานปกครองของฝรั่งเศสสมัยอาณานิคมมาก่อน”
ด้านนอกหอพระแก้วมองจากหน้าหน้ามีลักษณะเก่าแก่ ประตูด้านหน้าปิดสนิท ต้องเข้าทางด้านหลัง พอล่วงประตูเข้าไปด้านในจะมีลักษณะอับทึบ มีเพียงแสงไฟเลือนราง พอให้มองเห็นวัตถุโบราณทั้งใหญ่และเล็ก ส่วนมากจะเป็นพระพิมพ์ที่ทำด้วยดินเหนียวเหมือนกับพระเครื่องในสมัยเก่า บางองค์แตกหักเหลือเพียงบางส่วนเท่านั้น หลายท่านอยากเก็บความขลังลงบนแผ่นฟิล์มแต่ก็ทำไม่ได้เพราะมีกฎห้ามถ่ายรูปอย่างเด็ดขาด จึงไม่มีภาพภายในหอพระแก้วมาให้ชม ได้เห็นเพียงด้านนอกก็บ่งบอกถึงความเก่าและมีคุณค่าทางศิลปะได้เป็นอย่างดี คำถามหนึ่งที่นักทัศนศึกษาไม่ควรถามอย่างยิ่งคือ ทำไมจึงมีแต่หอพระแก้ว แล้วพระแก้วไปไหน เพราะคำตอบจะกลายเป็นสิ่งสะเทือนใจของคนตอบ นั่นคือพระแก้วองค์ที่เคยประทับบนหอพระแก้วแห่งนี้คือพระแก้วมรกตองค์เดียวกันกับที่ประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานครนั่นเอง ลาวมีหอพระแก้วให้คนได้ศึกษา ส่วนไทยมีพระแก้วให้คนได้สักการะ
วันนั้นคณะนักศึกษาปริญญาเอกจาก มมร แวะรับประทานอาหาร ณ ร้านอาหารไทย ซึ่งเจ้าของร้านเป็นคนไทยมาจากจังหวัดชลบุรีมาเปิดร้านอาหารโดยร่วมทุนกับคนลาว วันนั้นเราจึงได้ทานอาหารไทย เพียงแต่รับประทานที่เวียงจันทน์
หลังฉันภัตตาหารเพลและรับประทานอาหารเที่ยงของเหล่าอุบาสกอุบาสิกาแล้ว จึงได้เดินทางไปยังวัดองค์ตื้อ อันเป็นที่ตั้งของวิทยาลัยสงฆ์องค์ตื้อ ได้ฟังการแลกเปลี่ยนทางวิชาการโดยตัวแทนจากวิทยาลัยสงฆ์องค์ตื้อและคณาจารย์จาก มมร ตัวแทนจากวิทยาลัยสงฆ์ได้นำเสนอการกำเนิดของวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้ โดยความร่วมมือของรัฐบาลลาวและคณะสงฆ์ลาว เปิดสอนระดับปริญญาตรีแก่พระสงฆ์สามเณรจากทั่วประเทศ ปัจจุบันมีนักศึกษามากว่า 500 รูป ในส่วนคณาจารย์มีอาจารย์ที่จบระดับปริญญาเอก 1 รูปคือ พระ ดร. บุญสี จบมาจากมหาวิทยาลัยบานารัส ฮินดู เมืองพาราณสี อินเดีย นอกนั้นก็จบระดับปริญญาตรีในประเทศ หรือจบระดับปริญญาโทจากประเทศไทย ค่าตอบแทนอาจารย์ที่นี่หากฟังเพียงตัวเลขก็น่าตกใจคือเดือนละประมาณหนึ่งแสนกีบ หากคิดเป็นเงินไทยก็ตกประมาณ 400 บาท น่าจะเป็นค่าตอบแทนอาจารย์ที่น้อยที่สุด เพราะที่ประเทศไทยอัตราของผู้จบระดับปริญญาเอกเริ่มต้นที่ประมาณ 12,000 บาท หากไม่มีการเปรียบเทียบก็ไม่เป็นไร ปัจจุบันสินค้าที่นครเวียงจันทน์ส่วนมากจะขายให้นักท่องเที่ยวชาวไทยเป็นเงินบาท เช่นน้ำอัดลมทุกยี่ห้อขายในราคากระป๋องละ 20 บาท เครื่องดื่มชูกำลังขวดละ 20 บาท วันนั้นคณะนักศึกษาปริญญาเอกถวายผ้าป่าให้กับวิทยาลัยสงฆ์องค์ตื้อได้เงินไปหลายล้าน(กีบ)
ปัจจุบันที่ มมร มีนักศึกษาจากประเทศลาวศึกษาในระดับปริญญาตรี และโท จำนวนมาก หากนักศึกษาเหล่านี้ไม่คิดถึงค่าตอบแทนเดือนละ 400 บาทแล้วกลับมาช่วยงานวิทยาลัยสงฆ์องค์ตื้อหรือเปิดสาขาในแขวงอื่นๆ เชื่อว่าการศึกษาของสงฆ์ในประเทศลาวน่าจะเจริญไม่น้อย
วัดองตื้อมหาวิหารเป็นสถาบันการศึกษาของคณะสงฆ์ลาวที่สำคัญ มีการปรับปรุงการศึกษาให้ทันสมัยตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๐๗ จัดการเรียนเป็น ๓ ชั้น ผู้ที่เรียนจบแล้วต้องปฏิบัติงานในสมณเพศอย่างน้อยสองปี จึงจะลาสิกขาได้ ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองได้มีการประกาศพระราชโองการแต่งตั้งระเบียบสงฆ์แห่งพระราชอาณาจักรลาว มีการกำหนดสมณศักดิ์ของภิกษุลาวไว้หกชั้นคือ พระยอดแก้ว(สมเด็จพระสังฆราช) พระลูกแก้ว(สมเด็จพระราชาคณะ) พระหลักคำ (พระราชาคณะ) พระครู พระซา พระสมเด็จ (พระธรรมปิฎก,พระพุทธศาสนาในอาเซีย.กรุงเทพฯ: ธรรมสภา, หน้า ๒๐๔) เมื่อก่อนพระสมเด็จลาวจึงเป็นเพียงสมศักดิ์ขั้นแรกน่าจะเทียบได้เท่ากับพระครูสัญญาบัตรของไทย
ในวัดพระเจ้าองค์ตื้อมีสิ่งที่น่าสนใจคือต้นมะพร้าวและต้นตาลภายในวัดจะเขียนเป็นสุภาษิตคำคมไว้มากมาย พวกเราหลายคนพยายามอ่านข้อความภาษาลาวผิดๆถูกๆ แต่ก็ถือเป็นเหตุในการสนทนากับพระนักศึกษาลาวบางท่านที่ช่วยเราอ่านจนได้ความหมาย แต่บางคำก็ยังอ่านไม่ออก ตัวอักษรไทยและลาวมีความใกล้เคียงกันมาก หากใช้เวลาสังเกตและศึกษาเพิ่มเติมคงอ่านได้
จากวิทยาลัยสงฆ์องค์ตื้อพวกเราไปต่อที่วัดศรีเมือง นางแสงเพชรได้เล่าประวัติวัดศรีเมืองให้พวกเราฟังว่าวัดศรีเมืองตั้งอยู่บนถนนเชษฐาธิราช ทางทิศตะวันออกของสถานทูตฝรั่งเศส เป็นวัดแห่งหนึ่งในนครเวียงจันทน์ที่มีประชาชนลาวเดินทางไปสักการบูชาเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน ภายในวัดศรีเมืองเป็นที่ตั้งของเสาหลักเมืองประจำนครเวียงจันทน์ วัดศรีเมืองสร้างขึ้นในปีพ.ศ.2106 โดยเหล่าเสนาอำมาตย์ของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้ลงความเห็นให้สร้างวัดศรีเมือง ณ ที่แห่งนี้ ต่อมาถูกกองทัพสยามทำลายลงในปีพ.ศ.2371 และสร้างวัดศรีเมืองขึ้นมาใหม่ในปี พ.ศ.2458 ภายในวัดศรีเมืองมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่มากมาย โดยเฉพาะพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์และเก่าแก่ พระพุทธรูปองค์นี้ได้ชำรุดไปบางส่วน ซึ่งชาวลาวเชื่อกันว่าพระพุทธรูปองค์นี้ศักดิ์สิทธิ์เป้นอย่างมาก ด้านหน้าบริเวณตรงข้ามประตูทางเข้าวัดศรีเมืองมีร้านจำหน่ายดอกไม้ ธูป เทียน และร้านจำหน่ายผลไม้ให้บริการทางด้านตะวันออกของวัดศรีเมืองมีสวนสาธารณะเล็กๆ มีพระบรมรูปของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ ตั้งอยู่บนแท่นสูงกลางสวนสาธารณะ พระหัตถ์ทรงถือสมุดใบลานที่จารึกประมวลกฏหมายฉบับแรกของลาวไว้ พระบรมรูปเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์นี้เป็นของขวัญที่ทางสหภาพโซเวียตมอบให้มาก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลังจากนั้นแผ่นป้ายโลหะจารึกพระนามถูกฝ่ายคอมมิวนิสต์รื้อทิ้งออกไป ภายหลังฝ่ายคอมมิวนิสต์ประสบชัยชนะในปี พ.ศ.2518” นางแสงเพชรแกแม่นยำเรื่องประวัติแม้แต่ปีพุทธศักราชก็จำได้ไม่ผิดพี้ยน หากข้อมูลใดผิดไปจากที่นางแสงเพชรกล่าวอ้าง ขอให้เป็นความผิดของข้าพเจ้าเองที่บันทึกไว้ไม่หมด ทั้งๆที่มีทั้งเครื่องบันทึกเสียงและขอดูภาพและเสียงจากกล้องถ่ายวีดีโอที่คนคณะของเราถ่ายเอาไว้ หากผิดพลาดข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว
วันนั้นสถานที่สุดท้ายในการเที่ยวชมคือประตูชัย นางแสงเพชรไกด์สาวประจำคณะได้โอกาสเล่าประวัติและความสำคัญของประตูชัยไว้อย่างน่าสนใจว่า “ประตูชัย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองเวียงจันทน์บนถนนล้านช้างไปสิ้นสุดที่บริเวณประตูชัย สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2512 เป็นอนุสรณ์สถานเพื่อระลึกถึงประชาชนชาวลาวผู้เสียสละชีวิตในสงครามก่อนหน้าการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์ ประตูชัยแห่งนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า รันเวย์แนวตั้ง เพราะการก่อสร้างประตูชัยแห่งนี้ ใช้ปูนที่อเมริกาซื้อเพื่อนำมาสร้างสนามบินใหม่ในนครเวียงจันทน์ในระหว่างสงครามอินโดจีน แต่ไม่ทันได้สร้างเพราะอเมริกาแพ้สงครามในอินโดจีนเสียก่อน จึงนำปูนซีเมนต์มาสร้างประตูชัยแทน ลักษณะสถาปัตยกรรมได้รับอิทธิพลของประตูชัยในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เจ้าอาณานิคมในสมัยนั้น แต่ลักษณะสถาปัตยกรรมก็ยังมีเอกลักษณ์ของลาวปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปศิลปะลาว ภาพเรื่องราวมหากาพย์รามายณะ แบบปูนปั้นใต้ซุ้มประตูโค้งของประตูชัย บันไดวันให้ขึ้นไปชมทิวทัศน์ของนครเวียงจันทน์ บนยอดของประตูชัยอีกด้วย
ตลอดแนวบันไดวนขึ้นขั้นสูงสุดของประตูชัยจะแบ่งออกเป็นชั้นๆ ซึ่งแต่ละชั้นจะมีร้านจำหน่ายของที่ระลึก เปิดให้นักท่องเที่ยวได้ขึ้นชมวิวทิวทัศน์ทุกวัน” บรรยากาศยามเย็นที่ประตูชัยวันนั้นงดงามน่าชมมาก เพราะมีทั้งเสียงเพลงขับกล่อมประชาชนของที่นี่ หลายคนร้องเพลงไปพูดคุยกันไป ช่างเป็นยามเย็นที่เปี่ยมสุข หลายท่านในคณะ มมร ได้เดินขึ้นบนประตูชัยจนถึงยอดแล้วก็เดินลงมาเป็นการออกกำลังที่คุ้มค่า บนประตูชัยมีร้านค้าขายสินค้ามากมายมาย มีท่านหนึ่งสนใจพระร่วงรางปืน ก่อนตัดสินใจซื้อมาด้วยอัตราเงินไทยถึงสองร้อยบาท แต่พอลงมาข้างล่างเด็กชาวลาวที่ขายของที่ระลึกนำเสนอพระร่วงรางปืนรุ่นเดียวกัน เหมือนกันทุกประการในราคา 20 บาท อย่านึกว่านักศึกษาปริญญาเอกทุกคนจะไม่โดนหลอก เพราะร่ำเรียนมาสูง ทุกคนโดนหลอกได้ทั้งนั้น แต่นั่นก็ไม่เป็นไร เพราะเราจะไม่โดนใครหลอกในเรื่องเดียวกันนี้อีก เจ็บครั้งนี้ขอจำจนวันตาย เสียงนักศึกษาท่านนั้นกัดฟันขบกรามอุทานออกมาจากไรฟัน
ในการทัศนศึกษาวันแรกทุกคนอิ่มใจ อิ่มธรรม เพราะได้รับการซึมซับศิลปวัฒนธรรมอย่างเต็มอิ่ม ก่อนจะเข้าสู่ที่พักและหลับใหลด้วยใจที่อิ่มบุญ การทัศนศึกษาในครั้งนี้ แม้จะมีเวลาจำกัด แต่จากสภาพที่ได้สัมผัสด้วยตนเองก็นับว่าเป็นบุญตา ได้เจรจาเป็นบุญปาก
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน