จัมมูและแคชเมียร์
มีชาวพุทธใรัฐจัมมูแคชเมียร์จำนวน 69,706 คน เกือบทั้งหมดอยู่ที่เมืองเลห์และคารกิลในลาดัคห์ ชาวลาดักคห์นับถือพระพุทธศาสนามหายานและถือเป็นกลุ่มที่เก่าแก่ที่สุดในอินเดีย มีพระภิกษุประมาณ 2,000 รูป และมีสามเณรี(แม่ชี)ประมาณ 1,000 คน อยู่ภายใต้การจัดการทางด้านการศึกษาที่มีศูนย์กลางอยู่ตามที่ต่างๆของอินเดียคือ บังกาลอร์,ดารัมศาลา, ไมซอร์,วาราณสี เป็นต้น มีผู้นำลามะจำนวน 7 องค์คือ
1. พระกุสัก ภากุล ประธานลามะแห่งสปิตุกกอมปา
2. พระกุสัก สตักสัง เรสปาแห่งเฮมิสกอมปา
3. พระกุสัก ขันโป ริมโปเชแห่งธิคเชย์กอมปา
4. พระกุสัก สตักนะ ริมโปเชแห่งสตักนะกอมปา
5. พระกุสัก โตกดัน ริมโปเชแห่งกาโอนกอมปา
6. พระกุสัก สตรัส ริมโปเชแห่งริซงกอมปา
7. พระกุสัก โชเจ ริมโปเชแห่งชุมุระกอมปา
คำว่ากุสักหรือกุโชคหมายถึงผู้ที่กลับชาติมาเกิดโดยการจุติลงมา พระกุสัก ภากุลเป็นลามะที่มีอาวุโสสูงสุดในลาดัคห์ เป็นผู้นำชาวพุทธแห่งลาดัคห์ที่ได้รับความเคารพนับถือมากที่สุด ปัทมภูสุนะได้รับรางวัลจากรัฐบาลอินเดีย พระกุสัก ภากุลได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลอินเดียให้เป็นเอกอัคราชทูตประจำมองโกเลียเป็นเวลายาวนานถึง 14 ปี และท่านยังได้เป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลจัมมูแคชเมียร์ด้วย หลังจากนั้นยังได้เป็นสมาชิกรัฐสภา ในฐานะที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเอกอัคราชทูตคนแรกแล้ว ยังได้เป็นสมาชิกแห่งคณะกรรมการชนกลุ่มน้อยแห่งอินเดียอีกด้วย
มีวัดกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในลาดัคห์ที่เรียกว่า “กอมปา” คำว่า “กอมปา” หมายถึง สถานที่ที่โดดเดี่ยวเดียวดาย และสถานที่เหล่านั้นโดดเดี่ยวจริง วัดที่สำคัญๆในลาดัคห์อยู่ที่ เลห์,เฮมิส,เชมเรย์,ตักตัก,ชาชุกุล,นโยมาคอร์โซค,อันเลย์,ชุมุระ,ธิคเชย์,มาโธ,สตักนะ,สปิตุก,กาโอน(เฟียง),ไลคิระ,โรซง,ลามะยุรุ,ลิโนชาด,โทสกิต,สัมสตันลินน์,ยารมะ,โคนโบ, ซานโปโซลิงในเลห์,นูบราและฉันธัน ที่อยู่ตามส่วนต่างๆอีกคือคารซา,สานิ,ปาทัม,บารทัน,มุนี,ผุกตัล,สตองเด,ซางคุลในซันสการ์และรังดุม,สารโนน,มุลเบคในคารกิล
ในปีพุทธศักราช 2530 สมาคมชาวพุทธแห่งลาดัคห์ ด้วยความช่วยเหลือของชาวพุทธท้องถิ่นได้สร้างสถานที่ทางประวัติศาสตร์เพื่อเป็นที่พักขององค์ทะไล ลามะที่ชีวา ซัล เชย์ด้วยจำนวนเงิน 33 แสนรูปี องค์ทะไล ลามะเสด็จมาเยือนลาดัคห์ทุกปีในช่วงฤดูร้อน
มหาสันติสถูป(เจดีย์สันติภาพ) สร้างไว้บนภูเขาซังสปา เลห์ โดยคณะสงฆ์แห่งญี่ปุ่นด้วยความร่วมมือจากชาวพุทธท้องถิ่น
วัดที่สำคัญบางแห่งในลาดัคห์มีคำพรรณาไว้ดังนี้
เฮมิสกอมปา ห่างจากเลย์บนถนนสายลาดัคห์-ธิเบตประมาณ 45 กิโลเมตรเป็นวัดที่ใหญ่และสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งในลาดัคห์ สร้างเมื่อปีพุทธศักราช 2173 โดยลามะสตัก-ซัง-รัส-ปะ ภายใต้การให้ความอุปถัมภ์ของกษัตริย์แห่งเซงเก นัมกยัล วิหารหลักคือทูขาง มีจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนขึ้นในปีพุทธศตวรรษที่ 22 แม้ว่าจะอยู่ในสภาพที่ไม่ดีนัก วัดโชค-ขางยังมีโชร์เต็นที่ทำด้วยเงินที่มีขนาดใหญ่ กล่าวกันว่าได้รับการถวายมาโดยลามะ ชัมภูนาถ กุโชคองค์ที่สามในฐานะของผู้สร้างวัด บางครั้งอาจจะอยู่ในช่วงกลางๆ พุทธศตวรรษที่ 23 มีพระพุทธรูปที่มีลักษณะที่สวยงามอยู่ด้วยมากมาย
สันคาร์กอมปา จากเลห์ประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นการรวมตัวกันของอาคารและที่พักผ่อนที่เต็มไปด้วยต้นไม้ ตั้งอยู่ริมหมู่บ้าน มีรูปเหมือนของซงขปะผู้ก่อตั้งนิกายเกลุกหรือนิกายเหลือง
สปิตุก กอมปา จากเลห์ลงไปทางอินดัสประมาณ 8 กิโลเมตร วัดนี้สร้างในพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นวัดแรกของนิกายเกลุก ที่สร้างในลาดัคห์ ชื่อนี้ในภาษาธิเบตหมายถึง “ข้อเตือนใจที่มีประสิทธิผล” มีวิหารเล็กๆ อยู่จำนวนหนึ่ง
เชย์ กอมปา ห่างจากเลห์ประมาณ 14 กิโลเมตรบนเส้นทางไปสู่เฮมิส กอมปา เชย์เป็นเมืองหลวงเก่าของลาดัคห์ จนกระทั่งเซงเก นัมกยัล สร้างปราสาทที่เลห์ในพุทธศตวรรษที่ 22 วิหารมีขนาดใหญ่โตมีพระพุทธรูปที่ทำด้วยทองแดงประดิษฐานอยู่ นอกจากนั้นยังมีรูปเทพเจ้าและสิ่งที่ควรสักการบูชาอย่างอื่นอีกด้วย ชั้นล่างเป็นห้องสมุดมีหนังสือจำนวนมาก ที่ผนังมีภาพเขียนที่แสดงถึงพระพุทธเจ้าจำนวนพันองค์
ธิคเชย์ อยู่ระหว่างทางไปสู่เฮมิส กอมปา เป็นกอมปาที่มีขนาดใหญ่และน่าประทับใจมากที่สุดในลาดัคห์ภาคกลาง คาดว่าน่าจะสร้างประมาณกลางพุทธสตวรรษที่ 20 ในช่วงที่นิกายเกลุกกำลังแผ่ขยายไปที่ลาดัคห์ในยุคแรกๆ สิ่งที่น่าสนใจในปัจจุบันคือวิหารไมเตรยะหลังใหม่ ซึ่งอุทิศถวายโดยองค์ทะไล ลามะในเดือนกันยายน พ.ศ. 2523 กอมปาที่น่าประทับใจนี้มีรูปเหมือนพระไมเตรยะอันใหญ่โต ประทับนั่งบนบัลลังค์ดอกบัว
เฟียง กอมปา ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำอินดัส ห่างจากเลห์ไปทางทิศใต้ประมาณ 15 กิโลเมตร สร้างโดยกษัตริย์ตาชิ นัมกยัลประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 21 ที่กอมปานี้มีพระพุทธรูปและภาพเขียนจำนวนมาก
เชมเรย์ กอมปา อยู่ห่างจากเลห์ประมาณ 45 กิโลเมตร บริเวณทางแยกไปสู่ซังลา สร้างสำเร็จในปีพุทธศักราช 2189 ทูขางหลักมีภาพเหมือนของสตักซังรัสปะ และดรุกปะลามะองค์อื่นๆ จิตรกรรมฝาผนังเน้นภาพพระพุทธเจ้าเป็นหลัก ยังมีโชร์เต็นเงินที่สวยงามอีกจำนวนหนึ่ง มีคัมภีร์พระสูตรจำนวน 29 ชุดที่ตัวอักษรแกะสลักด้วยเงิน เป็นฝีมือของช่างที่ประณีตปิดด้วยทองคำบริสุทธิ์
ธัค-ธัค กอมปา อยู่ห่างจากเชมเรย์เล็กน้อย สร้างในยุคปลายพุทธศตวรรษที่ 21 บริเวณใกล้ๆกันมีถ้ำแห่งหนึ่ง ที่เล่าลือกันว่าปัทมสัมภวะได้เคยบำเพ็ญสมาธิในช่วงระหว่างการเดินทางไปธิเบตในพุทธศตวรรษที่ 13 สตักนา กอมปาคือวัดดรุกปะในยุคแรกๆที่สร้างในลาดัคห์ วิหารที่มีอยู่ปรากฎว่าสร้างในยุคต้นพุทธศตวรรษที่ 22 ทู-ขาง มีพระพุทธรูปและจิตรกรรรมฝาผนังจำนวนหนึ่ง เมื่อไม่นานมานี้มีการสร้างโชร์เต็นเงินด้วยช่างฝีมือที่ประณีต ประดับตกแต่งด้วยหินสีน้ำเงินอมเขียวอย่างไร้ตำหนิ
ไลคิระ กอมปาเป็นวัดแห่งแรกที่สร้างในพุทธศตวรรษที่ 16 โดยกษัตริย์แห่งลาดัคห์ ได้รับการปรัปรุงซ่อมแซมใหม่โดยนิกายเกลุกในพุทธศตวรรษที่ 20 ทู-ขางเล็กๆ มีพระอวโลกิเตศวร 11 เศียร และภาพวาดที่ผนังด้านข้าง เป็นพระโพธิสัตว์แห่งความเมตตา
วัดลามะยุร อยู่ห่างจากเลห์บนถนนสายเลย์คารกิล 96 กิโลเมตร เป็นกอมปาแห่งหนึ่งที่เก่าที่สุดในลาดัคห์ สิ่งที่น่าสนใจคือรูปพระอวโลกิเตศวร 11 เศียร พันกรสร้างในพุทธศตวรรษที่ 21
วัดอัลชิ อยู่ไม่ไกลจากลามะยุระ ประมาณ 10 กิโลเมตร บนถนนสายศรีนาคาร์-เลห์ มีภาพจิตรกรรมที่สวยงามในพุทธศตวรรษที่ 14-17 อัลชิสร้างโดยรินเชน ชังโป ในรัฐสมัยของกษัตริย์กูเก้แห่งลาดัคห์ (พ.ศ.1513-1743) ผู้เป็นศาสนูปภัมภกที่ยิ่งใหญ่ ภาพจิตรกรรมที่อัลชิมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่อนุรักษ์ประเพณีทางศิลปะ ซึ่งเคยเจริญรุ่งเรืองในหมู่บ้านของแคชเมียร์ ในช่วงที่พระพุทธศาสนาเคยเจริญรุ่งเรืองที่สุด มีวิหาร 5 แห่งที่หมู่บ้านอัลชิ ในวิหารเหล่านั้น ซุม เซค มีโครงสร้างที่น่าสนใจมากที่สุดในอัลชิ ภาพจิตรกรรมในวัดนี้มีสภาพที่ค่อนข้างจะสมบูรณ์ ภาพจิตรกรรมแบ่งออกเป็น 2 ระดับด้านบนเป็นภาพมณฑล และภาพพระอมิตาภะ,พระมัญชุศรีและพระศากยมุนีจำนวนมากอยู่ด้านล่าง นอกจากภาพจิตรกรรมแล้ว ในวิหารยังมีภาพพระอวโลกิเตศวร,พระไมเตรยะและพระมัญชุศรีที่ทำด้วยปูนปั้น สูง 12 ฟุต
ในวัดแห่งที่สอง ทู-ขาง ห้องโถงกลางมีพระไวโรจนะอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์อยู่ตรงกลาง,พระธยานิพุทธะ และเทพเจ้าอีก 36 องค์ มีภาพวาดมณฑลขนาดใหญ่ 6 ภาพ ที่ฝาผนังและมหากาพย์ว่าด้วยเทพผู้พิทักษ์อยู่เหนือประตู มณฑลแสดงวงกลมของพระไวโรจนะด้วยลักษณะต่างๆ ล้อมรอบด้วยพุทธะอีก 4 องค์คือพระอักโศภยะ,พระรัตนสัมภวะ,พระอมิตาภะและพระอโมฆสิทธิ พร้อมศักติอีก 4 องค์ วัดที่สามรู้จักกันดีว่า ลาขาง โชมา เป็นวิหารที่สมบูรณ์ที่สุด ภาพจิตรกรรมที่วิหารแห่งนี้แตกต่างกับที่อื่นๆ วัดลอตสวา—ลา-ขาง และมัญชุศรี ลา-ขางตั้งอยู่ปลายสุดและมีสภาพสมบูรณ์ วิหารหลังแรกอุทิศให้กับผู้สร้างวัดอัลชิ คือรินเชน ซังโป ส่วนวัดอื่นๆ มีการต่อเติมเสริมแต่งด้วยภาพปูนปั้นของพระมัญชุศรีขนาดใหญ่กว่าคนจริงประมาณสี่เท่า
การนาตกะ
ปัจจุบันการนาตกะมีพุทธศาสนิกชนจำนวน 42,142 คน เพิ่มขึ้นจากปีพุทธศักราช 2494 ซึ่งมีจำนวนเพียง 1,707 คน วิหารที่สำคัญในการนาตกะมี 14 แห่ง ถนนกาลิทาส คานธีนาคาร์ บังกาลอร์ สร้างในปีพุทธศักราช 2483 โดยมหาโพธิสมาคม ถวายไว้เพื่อให้เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาที่ดำรงอยู่เพียงแห่งเดียวในปีพุทธศักราช 2499 ภายหลังการมาถึงของพระอาจารญ์พุทธรักขิต เป็นผลมาจากการอุทิศตนและถวายชีวิตในศาสนาเพียงหนึ่งเดียวนี้ จึงทำให้วิหารแห่งนี้มีความเจริญรุ่งเรืองจนกลายเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาในปัจจุบัน เป็นสถาบันการศึกษาทางพุทธวิทยา และเป็นศูนย์กลางฝึกอบรมสมาธินานาชาติ สถูปและและภาพจิตรกรรม และองค์กรอื่นๆที่พระอาจารย์พุทธรักขิตจัดตั้งขึ้นคือมหาโพธิ ไมตรี มันดัล,บังการ์ลอร์และไมซอร์,โรงพยาบาลมหาโพธิ์อโรคยาและศูนย์ผลิตแขนขาเทียม,บังการ์ลอร์, และมหาโพธิ์วิทยาพีธ บังการ์ลอร์พร้อมด้วยสาขาที่ไมซอร์และเลห์ ลาดัคห์ พระพุทธรักขิต เป็นพระนักวิปัสสนาจารย์,นักจิตวิทยา,นักปรัชญาและนักการศึกษา เป็นนักเขียนที่มีผลงานจำนวนมาก จัดพิมพ์หนังสือและจุลสารทางพระพุทธศาสนามากกว่า 50 เล่มในอังกฤษและแคนาดา เป็นบรรณาธิการวารสารรายเดือนชื่อ “ธรรมะ” ซึ่งท่านก่อตั้งเองในปีพุทธศักราช 2519 ส่วนกิจกรรมต่างๆ ในวิหาร พระอาจารย์พุทธรักขิต มีพระสังฆเสนเป็นผู้ช่วยเหลือ
พุทธวิหารที่สำคัญอีก 2 แห่งในการนาตกะคืออโศกวิหาร,อโศกปูรัม เมืองไมซอร์ และพุทธวิหาร แชมเปี้ยน รีฟทุ่งโกลาร์ โกลด์ มีวัดธิเบตสองแห่งในรัฐนี้คือ วัดธิเบตเธคเชย์ ลิง ไบลาคุปเป และวัดธิเบตนัมโกลิง ไบลาคุปเป
เคราลา
ที่เคราลามีชาวพุทธเพียง 223 คนเท่านั้น มีวิหารเพียงแห่งเดียวในรัฐนี้ที่กาลิคุต ควิลอน สร้างโดยมหาโพธิสมาคมแห่งอินเดียในปีพุทธศักราช 2470 ด้วยความเพียรพยายามของ ซี. กฤษณัน บรรณาธิการหนังสือ “มิตาวตี” และเอ็ม.รามา ไอเยอร์ พระธัมมขันธะคือชาวมลาลยาลีคนแรกที่อุปสมบทเป็นภิกษุ เพื่อการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาที่มาลาบาร์
มัธยประเทศ
ในมัธยประเทศมีชาวพุทธเป็นจำนวนมากถึง 75,312 คน พุทธวิหารสมัยใหม่ที่สำคัญมากที่สุดในดินแดนของพระพุทธศาสนาในอดีตกาลคือเจติยคีรีวิหารที่ศานจิ สถานที่เก็บรักษาสารีริกธาตุอันศักดิ์สิทธิ์ของพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ ศิลาฤกษ์ในนิวเจติยวิหาร ซึ่งวางอยู่บนปลายสุดหน้ามุขทางด้านหน้าทิศเหนือของภูเขาเจติยคีรีที่มีชื่อเสียง ได้วางในวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2489 โดยนาวับแห่งโภปัล ไรอัน และสวามี ราโอ เป็นผู้ออกแบบวิหารที่สวยงามแห่งนี้ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานสารีริกธาตุที่ศักดิ์สิทธิ์ของอัครมาหสาวกที่ยิ่งใหญ่คือพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ นำมาประดิษฐานไว้ในเดือนพฤศจิกายน 2495 ในงานนี้มียวาหราล เนห์รู นายกอินเดียและอุนุนายกรัฐมนตรีพม่าเข้าร่วมพิธีด้วย สารีริกธาตุเหล่านี้คันนิงแฮมค้นพบในปีพุทธศักราช 2394 และนำไปเก็บรักษาไว้ที่กรุงลอนดอน อังกฤษ ส่งกลับคืนอินเดียในปีพุทธศักราช 2492 โดยการเรียกร้องของมหาโพธิสมาคมแห่งอินเดีย มูลค่าวิหารประมาณ 2 แสนรูปี ด้วยความรับผิดชอบร่วมกันของมหาโพธิสมาคมแห่งอินเดียและศรีลังกา นาวับแห่งโภปัลได้บริจาคเงินช่วยเหลือ 25,000รูปี ด้วยการสนับสนุนด้านการก่อสร้างและเทคนิค
พระปุณณติสสะมหาเถระแห่งศรีลังกา ภิกษุรูปแรกที่เป็นผู้บริหารเจติยคีรีมหาวิหาร เป็นผู้รับผิดชอบในการปรับปรุงศานจิเพื่อความเจริญรุ่งเรืองและยิ่งใหญ่ให้เหมือนกับวันเวลาในอดีต
พุทธวิหารอื่นๆในมัธยประเทศอยูที่โภปัล,สาคาร์,ภิไล,มโฮว์,ดอนการกาด,อามลา,โกหกาดีบาร์ในเมืองบาลากัต,โสนาคีรีในเมืองทาเตียและมธานีในเมืองเบตุล พระภิกษุในมัธยประเทศคือพระธัมมศีล,สุกาตนันท์,พระธัมมปิติและยชัส
มหาราษฎร์
รัฐมหาราษฎร์มีประชากรที่เป็นชาวพุทธจำนวนมากถึง 3,946,149 คน หรือคิดเป็น 84 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรที่เป็นชาวพุทธทั้งหมดในอินเดีย นับเป็นความภาคภูมิใจของชาวพุทธในอินเดีย
การดำเนินการฟื้นฟูพระพุทธศาสนายุคแรกในรัฐมหาราษฎร์เริ่มต้นโดย ดร. อนันดราโอ แอล เนียร์และธัมมนันทะ โกสัมพี ดร. เนียร์ เป็นเภสัชกรและเป็นที่รู้จักกันดีในความใจบุญ ในปีพุทธศักราช 2465 เขาได้ก่อตั้งพุทธสมาคมแห่งบอมเบย์ขึ้น เพื่อให้พระพุทธศาสนาแพร่หลายในมหาราษฎร์ ในปีพุทธศักราช 2474 ได้สร้างพุทธวิหาร(อานันทวิหาร) ภายในบริเวณโรงพยาบาลของเขาที่บอมเบย์ พระธัมมนันทะเป็นชาวมหาราษฎร์คนแรกที่อุปสมบทเป็นภิกษุ ท่านอุปสมบทที่ศรีลังกาในปีพุทธศักราช 2445 จากปีพุทธศักราช 2455- 2461 โกสัมพีสอนภาษาบาลีที่วิทยาลัยเฟอร์กุสสัน ที่ปูณา ในปีพุทธศักราช 2480 โกสัมพีสร้างวิหารเล็กๆที่ปาเรล บริเวณที่พักของกรรมกรในบอมเบย์ และเรียกว่า “พหุชนวิหาร” หรือพุทธวิหารเพื่อมวลชน ท่านยังได้เขียนหนังสือเพื่อเป็นแรงกระตุ้นความคิดทางพระพุทธศาสนาในภาษาคูจราตีและมาราธี ที่สำคัญที่สุดคือ “ภควัน พุทธะ” พิมพ์ในปีพุทธศักราช 2483 แต่ผลตอบแทนในความเพียรพยายามของท่านนั้นมีไม่มากนัก
เมื่อ ดร. เอ็มเบ็ดการ์ ผู้ที่เป็นพลังปัญญาอันยิ่งใหญ่ได้เกิดขึ้นในท่ามกลางชนชั้นต่ำในอินเดีย เขาได้ก่อให้เกิดสติปัญญาใหม่ในระหว่างมหาชน ได้ต่อสู้อย่างกล้าหาญเพื่อเปลี่ยนสถานภาพของพวกเขา แสดงวิถีทางแห่งความก้าวหน้า เพื่อความเป็นอิสระ เมื่อ ดร. เอ็มเบ็ดการ์ ได้มีการเรียกร้องที่ชัดเจน และมีการปฏิบัติตามมาคือในปีพุทธศักราช 2499 ได้ประกาศตนหันมานับถือพระพุทธศาสนา ประชาชนในรัฐมหาราษฎร ก็ได้ตอบสนองในวิถีทางที่ยิ่งใหญ่นี้ และพระพุทธศาสนาก็ได้เข้าถึงวิถีชีวิตของพวกเขาอย่างฉับพลันในรัฐมหาราษฎร์
พระภิกษุที่มีชื่อเสียงมากที่สุด ซึ่งเป็นผู้ช่วยในการรักษาขบวนการชาวพุทธในมหาราษฎร์ ภายหลังจากการเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุของบาบาสาเหบ เอ็มเบ็ดการ์ในเดือนธันวาคม 2499 เมื่อพระ ดร. ภทันต์ อนันท์ เกาสัลยยัน พระภิกษุชาวปัญจาป ได้มาพักอาศัยอยู่ที่ดีกสา ภูมี นาคปุร์ ภายหลังกลับจากศรีลังกาในปีพุทธศักราช 2511 ท่านได้สร้างพุทธวิหารอันศักดิ์สิทธิ์และภิกษุนิวัติ เพื่อความสะดวกในการฝึกอบรมภิกษุใหม่ พระอนันท์ เกาสัลยยันได้ย้ายไปอยู่ที่พุทธภูมี ในปีพุทธศักราช 2525 ถนนแคมป์ที ไครี นาคปุร์ ซึ่งได้กลายเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาที่ดีเยี่ยมอีกแห่งหนึ่ง พระภิกษุที่โดดเด่นรูปอื่นๆในมหาราษฎร์คือพระ ดร. เอส. เมธันการ์,พระ สิวลี โพธิ,พระ เค. อานันทะ,พระธัมมกิตติ,พระ โพธนันทะ,พระสุเมธะ,พระสาทนันทะ,พระธัมมสถาน,พระศีลรัตนะ,พระพุทธโกศ,พระสัตศีล
ในมหาราษฎร์ มีวิหารพุทธขนาดเล็กๆ ปรากฎขึ้นในชุมชนชาวพุทธและวิหารแทบทุกแห่ง พุทธวิหารที่ถนนเดหุ ปูเณ คือวิหารแห่งเดียวที่ ดร. เอ็มเบ็ดการ์ได้นำเอาพระพุทธรูปที่ชาวพม่ามอบให้ในปีพุทธศักราช 2497 มาประดิษฐานไว้ ที่ถนนเดหุได้สร้างวิหารขึ้นในวันที่ 25 ธันวาคม พุทธศักราช 2498 ส่วนในบอมเบย์วิหารที่สำคัญๆคือ (1) อานันทวิหาร ตั้งอยู่ภายในโรงพยาบาลเนียร์ ถนนดร. อานันท์ ราโอเนียร์ บอมเบย์-8 สร้างโดย ดร. เอ. แอล. เนียร์ มหาโพธิสมาคมแห่งอินเดียเข้าดูแลในปีพุทธศักราช 2496 (2) พหุชนวิหาร ปาเรล บอมเบย์-12 วิหารแห่งนี้พระธัมมนันทะ โกสัมพีสร้างในปีพุทธศักราช 2480 ด้วยความช่วยเหลือของเสธ เจ.เค. พิรลา มหาโพธิสมาคมเข้าดูแลในปีพุทธศักราช 2493 (3) พุทธวิหารญี่ปุ่น(วัดนิปปอนซาน เมียวโฮจิ) วอร์ลี บอมเบย์ สร้างโดยฟูจิอิ คุรุจิ ด้วยความช่วยเหลือของพิรลาบราเทอร์ (4) นาลันทาวิหาร เอ็มเบ็ดการ์ โคโลนี คาร์ บอมเบย์- 29 สร้างภายใต้การควบคุมของ ดร. เอ็มเบ็ดการ์ (5) สิทธารถวิหาร วาทาลา บอมเบย์ สร้างโดยสมาคมเพื่อการศึกษาของมหาชน ติดกับหอพักนักศึกษา (6) เจติยภูมีสถูป สิวลี ปาร์ค สร้างภายในบริเวณที่เผาศพของดร. เอ็มเบ็ดการ์ ในวันที่ 7 ธันวามคม 2499 เปิดทำการในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2511
ในนาคปุร์ สถานที่ ดร. เอ็มเบ็ดการ์ประกาศตนเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา พร้อมกับผู้ติดตามอีกประมาณครึ่งล้านคนในวันที่ 14 ตุลาคม 2499 มีวิหารอยู่ประมาณ 40 แห่ง วิหารที่มีชื่อเสียงอื่นๆ ในนาคปุร์คือดีกสาภูมี,พุทธภูมี(ถนนแคมป์ที),สาทาร์,ปันช์ สีลนาคาร์,มิลินท์ นาคาร์,กิตติ ข่าน, วาร์ดหมายเลข 62,อิมอัมบารา,สัมตนาคาร์,บารา อินโดรา,ธัมมเพชร,เอ็มเบ็ดการ์ นาคาร์, ภีม นาคาร์,มหาวิหาร วาร์ด หมายเลข 14, บสันต์ นาคาร์และสันติวิหาร
วิหารในที่บางแห่งในมหาราษฎร์คือ นาวับ เมธี คานา ปูเณ-1 ถนนนาสิก นาสิก, นิว พุทธวาร์ เพชร เอ็มเบ็ดการ์ นาคาร์ โซลาปุระ-2 , มาเน่ กาโอน เมืองภันดารา ภูสวรรค์,ปุลกาโอน เมืองเคอร์ชาร์วารธา สหปุระ,เมืองภันทารา, มาดจิ, เมืองภันทารา, นันกาโอน เมืองจัลกาโอน,พาลาปุระ, เมืองอโกลา
มนีปุร์
ในเมืองมนีปุร์มีชาวพุทธจำนวน 473 คน โดยมากเป็นชาวเขา
เมฆาลัย
หุบเขากาโร ซึ่งรวมเอาหุบเขากาสี,จันเทียและมิคิระเข้าด้วยกัน เป็นส่วนหนึ่งของรัฐอัสสัม แต่ปัจจุบันได้แบ่งออกเป็นรัฐเมฆาลัย มีชาวพุทธในรัฐนี้จำนวน 2,739 คน วิหารสำคัญอยู่ที่สิลลอง เมืองหลวงของรัฐเมฆาลัย พระชินรัตนะมหาเถระ คือภิกษุผู้บริหารในวิหารแห่งนี้
ไมซอรัม
การแบ่งอาณาเขตใหม่ของรัฐไมซอรัม(ในอดีต)เมืองในหุบเขาไมซออยู่ในรัฐอัสสัม มีชาวพุทธจำนวนมากถึง 40,429 คนในปีพุทธศักราช 2524 ชาวพุทธในไมซอรัมเป็นชาวเขาเผ่าจักมา ที่มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมสืบเนื่องยาวนาน ในยุคที่อังกฤษปกครองพื้นที่กว้างขวางรอบๆเดมะคีรีในหุบเขาไมซอทางทิศตะวันตก พวกเขายังยึดมั่นกับศาสนาประจำถิ่นอย่างมั่นคง ในภาคตะวันตกของไมซอรัม เพียบพร้อมไปด้วยพระสงฆ์และวัด มีพุทธวิหารมากกว่า 40 แห่ง และมีภิกษุ 13 รูปในไมซอรัม ประธานสงฆ์คือพระรักข พาอูโส
นาคแลนด์
ที่นาคแลนด์มีชาวพุทธอยู่เพียง 517 คนเท่านั้น
โอริสสา
ปัจจุบันมีชาวพุทธในโอริสสาจำนวน 8,462 คน พุทธวิหารที่สำคัญอยู่ที่พลอต 4 ยูนิต 9 เมืองหลวงใหม่คือภูวเนศวร์ ปัจจุบันมีพระสัทธนันทะเป็นผู้บริหารวัดแห่งนี้
ชาวพุทธหลักที่มีเครื่องบ่งชี้ถึงยุคสมัยใหม่คือการสร้างเจดีย์สันติภาพโดยฟูอิจิ คุรุจิ ผู้ก่อตั้งพุทธสงฆ์ในญี่ปุ่น สร้างบนยอดเขาทาอูลิ สถานที่ทางประวัติศาสตร์ในสมัยที่พระเจ้าอโศกมหาราช ภายหลังจากเห็นการสังหารหมู่ครั้งใหญ่ในสงครามกาลิงคะ จึงได้ยึดเอาพุทธธรรมเป็นเครื่องป้องกัน เจดีย์สันติภาพแห่งกาลิงคะ ตั้งอยู่ในระยะทาง 15 กิโลเมตรจากภูวเนศวร์ ใกล้ๆกับแผ่นจารึกหินของพระเจ้าอโศก การวางศิลาฤกษ์สถูปนี้เริ่มขึ้นในวันที่ 25 มกราคม 2514 ได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินจากรัฐบาลแห่งโอริสสา เจดีย์สันติภาพกาลิงคะมีพิธีเปิดในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2515
ปอนดิเซอร์รี
ที่ปอนดิเชอร์รีมีชาวพุทธอยู่เพียง 75 คนเท่านั้น
ปัญจาป
ปัญจาปยุคใหม่ เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2509 ภายหลังที่มีการจัดการองค์กรใหม่ มีชาวพุทธจำนวน 799 คน จำนวนนี้มิได้นับชาวพุทธที่จันดิการ์ด้วย เมื่อไม่นานมานี้มีพุทธวิหารสมัยใหม่ 2 แห่งเกิดขึ้นในปัญจาป แห่งแรกคือสิทธารถนาคาร์ พี.โอ. โมเดล ทาวท์ เมืองจันดิการ์ และแห่งที่สองอยู่ที่อนันทการห์(เมหลันวาลี)ในเมืองโฮสิอารปุร์
ราชสถาน
ในรัฐราชสถานมีชาวพุทธ 4,427 คน มหาโพธิอโศกมิชชั่น อัชเมอร์ ที่ก่อตั้งโดยราหุล สุมัน ฉันวาร นับเป็นความเพียรพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อการฟื้นฟูธรรมะ ท่ามกลางชาวโกลิยะในราชสถาน ปัจจุบันชาวโกลิยะมีจำนวนน้อยมากเมื่อนับจากต้นกำเนิดดั้งเดิมในสมัยพุทธกาล โกลิยะในอดีตได้รับการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า และได้สร้างสถูปที่รามคราม เมืองหลวง พุทธวิหารในราชสถานอยู่ที่ ดร. เอ็มเบ็ดการ์ มาร์ค, ถนนมโยลิงค์ อัชเมอร์ วาดิปุระ,เตหศีล กิสหันกานช์,เมืองโกตาห์,และภีม นาคาร์,สารมธุระ, เมืองภารัตปุระ
สิกขิม
สิกขิมได้กลายเป็นรัฐอิสรภาพทางการเมืองในปีพุทธศักราช 2185 เมื่อลามะ 3 รูปคือกยัลวา ลัตสัน เฉมโป,เสมปา โฉมโปและริกซิม เฉมโปจากนิกายนยิงมาปะแห่งธิเบต ได้สถาปนาผุนโซค นัมกยัล(2147-2213)ในฐานะกษัตริย์แห่งเลปชา ดินแดนที่ได้รับการขนานนามว่าโชคยัล (กษัตริย์ผู้ปกครองตามกฎแห่งความชอบธรรม และบังคับใช้กฎนี้) ที่นัมกยัลในสิกขิมตะวันตก จนกระทั่งวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2518 สิกขิมก็ได้กลายเป็นรัฐหนึ่งในสาธารณรัฐอินเดีย เพราะเหตุนี้สถาบันแห่งโชคยัลจึงได้ถูกยกเลิกไป
มีวัดหรือกอมปาในสิกขิมประมาณ 70 แห่ง ในวัดเหล่านี้วัดที่สำคัญมีดังต่อไปนี้
วัดเปมยังเซ ที่กยัลซิง ในสิกขิมตะวันตก เป็นวัดที่สำคัญมากที่สุดและเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาที่สำคัญในสิกขิม เป็นวัดของนิกายนยิงมาปะ ก่อตั้งในปีพุทธศักราช 2248 โดยกยัลวา ลัตสัน เฉมโป หัวหน้าลามะ ผู้ได้รับพิธีเฉลิมฉลองและสถาปนาที่ยักสัมในปีพุทธศักราช 2185 พระพุทธรูปที่สำคัญในกอมปานี้เป็นรูปเหมือนของคุรุปัทมสัมภวะและคุรุเซงยัตขนาดใหญ่ปิดทอง ยังมีรูปเหมือนที่น่าเคารพบูชาและวัตถุแห่งการเคารพสักการะอีกมากมาย
วัดตาชิดิง อยู่ในภาคกลางของสิกขิม เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในสิกขิม เป็นสถานที่สวดมนต์ประสิทธิพรครั้งแรกของปัทมสัมภวะผู้ยิ่งใหญ่ ในปีพุทธศตวรรษที่ 13 และในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 22 โดยงาดัก เชมปา เฉมโป หนึ่งในลามะที่ร่วมในการสถาปนะโชคยัลครั้งแรกที่ยักสัมในปีพุทธศักราช 2185
วัดรุมเต็ก ในสิกขิมตะวันออก ที่สร้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ 23 เป็นวัดในนิกายการมะ การกยุด หลังจากที่จีนยึดครองธิเบต สังฆราช กยัลวา การมาปะ ผู้ถือจุติในพุทธศตวรรษที่ 21 เป็นต้นกำเนิดของกยัลวา การมาปะแห่งธิเบต ได้เดินทางมาสิกขิมพร้อมกับลามะกลุ่มหนึ่ง รวมทั้งภิกษุและฆราวาสติดตามมาด้วย โชคยัลแห่งสิกขิมองค์สุดท้ายได้ถวายที่ดิน 74 เอเคอร์ต่อสังฆราชาเพื่อสร้างวัดในบริเวณใกล้ๆกับวัดรุมเต็ก ในห้องสวดมนต์ที่วัดใหม่นี้มีจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงาม และพระพุทธรูปทองคำขนาดเล็กสูงประมาณ 1 นิ้วจำนวน 1,001 องค์ บนผนังด้านหน้าประตูทางเข้า ทางด้านข้างมีรูปมหาวิหารของพุทธศาสนา
วัดเผนซัง อยู่ห่างจากคังโตกประมาณ 25 กิโลเมตร ใกล้ถนนหลวงสิกขิมทางด้านทิศเหนือ สร้างในปีพุทธศักราช 2264 โดยลามะ จิกเม ปาโว ผู้ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นกยัลวา ลัตสัน เฉมโป กลับชาติมาเกิดครั้งที่สาม ผู้ที่อยู่ในยุคสมัยของโชคยัลแห่งสิกขิมองค์ที่สาม อาคารหลังแรกถูกไฟไหม้ในปีพุทธศักราช 2490 และได้รับการสร้างใหม่ในปีพุทธศักราช 2491 เป็นวัดในนิกายนยิงมาปะ
วัดราลงในสิกขิมตะวันตกที่สร้างโดยโชคยัลแห่งสิกขิมองค์ที่ 4 ในพุทธศตวรรษที่ 23 ผู้ที่ได้รับความสำเร็จตามสัญญาที่พระองค์ได้ให้ไว้กับผู้นำลามะแห่งโชผุใกล้ๆลาซา ผู้นำนิกายการมะ การกยุปะ ที่พระองค์ได้พบกันในระหว่างที่เดินทางแสวงบุญในธิเบต
วัดโผดัง จากคังโตกไปทางสิกขิมภาคเหนือประมาณ 35 กิโลเมตรสังกัดนิกายการกยุปะ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ทำด้วยปูนปั้นและภาพเขียนที่มีชื่อเสียง เขียนขึ้นในสมัยโชคยัลแห่งสิกขิม
วัดที่มีชื่อเสียงอื่นๆ อีกในสิกขิมคือสังคโชลิง,ขาโชด ปาลรี,ดับดี,และไซโนน(อยู่ในสิกขิมตะวันตก)วัดโธลุง(สิกขิมเหนือ)และวัดอันเชย์ที่คังโตก