ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

         วันวิสาขบูขาปีพุทธศักราช 2555 เป็นวันครบรอบ 2600 ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ชาวพุทธทั่วโลกได้จัดงาน “พุทธชยันตี 2600 ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า” เพื่อระลึกถึงวันที่พระพุทธพุทธองค์ได้ตรัสรู้ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ปัจจุบันคือพุทธคยาหรือโพธคยา เผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ชาวโลก พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นในชมพูทวีปหรือปัจจุบันคือดินแดนส่วนหนึ่งของประเทศอินเดีย เนปาล เผยแผ่คำสอนอยู่ได้พันกว่าก็ปีก็ถูกลืมเลือนไปจากดินแดนอินเป็นมาตุภูมิ ในยุคปัจจุบันมีพระภิกษุชาวอินเดีย วัดและวิหารเกิดขึ้นมากมายหลายแห่งในรัฐต่างๆ  ข้อมูลจากหนังสือ "Buddhism in Modern India, โดย A.C. Ahir พิมพ์จำหน่ายในอินเดียโดยสำนักพิมพ์ Sri Satguru Publications,Delhi,1991 บทที่ 4 ว่าด้วยภิกษุและวิหารในอินเดียยุคใหม่ เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ศึกษาประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในอินเดียยุคใหม่ แปลเก็บไว้หลายปีแล้ว สำนวนแปลยังมิได้ขัดเกลาแต่เนื้อหายังใช้ได้ ขอเชิญติดตามได้


         ภิกษุและวัดคือสิ่งที่แสดงถึงบทบาทอันสำคัญในความเคลื่อนไหวของแต่ละศาสนา ที่สำคัญมากที่สุดสำหรับพระพุทธศาสนาคือพระสงฆ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเสาหลักที่สำคัญทั้งสาม(พระรัตนตรัย) ที่ทำให้ศาสนามีความยิ่งใหญ่และดำรงอยู่ได้ เมื่อขบวนการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาเริ่มขึ้นในปีพุทธศักราช 2434 ถึงแม้จะไม่มีพระภิกษุและวิหารเหลืออยู่เลยในอินเดีย ยกเว้นเพียงบางเมืองในบริเวณที่เป็นหุบเขา สัญลักษณ์แห่งความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในอดีตจึงเหลืออยู่ที่วัดมหาโพธิ์ที่ยิ่งใหญ่ที่โพธคยาเพียงแห่งเดียว แต่ก็ไม่มีพระภิกษุเหลืออยู่เลย เพราะการกระทำย่ำยีของฮินดูนิกายมหันต์
         ชาวฮินดูคนแรกที่เข้ามาบวชเป็นภิกษุในยุคสมัยใหม่นี้คือมหาวีระ เป็นหลานของบาบูคุนวาร ซิงห์แห่งจักดิสห์ปุระในรัฐพิหาร ผู้มีส่วนร่วมในการต่อต้านรัฐบาลอังกฤษที่ปกครองอินเดียในปีพุทธศักราช 2400 ในช่วงชีวิตที่ผ่านมามหาวีระเป็นนักมวยปล้ำ ในขณะที่ท่องเที่ยวเพื่อเข้าแข่งขันในกีฬามวยปล้ำนั้น ได้เดินทางผ่านมัทราสไปจนถึงศรีลังกา ในที่สุดได้เปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนาและอุปสมบทเป็นภิกษุที่ศรีลังกาในปีพุทธศักราช  2433 หลังจากนั้นได้เดินทางไปพม่าและย้อนกลับมาอินเดียในปีพุทธศักราช 2434  ได้พักอยู่ที่กุสินารา สถานที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ในปีพุทธศักราช 2444  ท่านมหาวีระได้สร้างธรรมศาลาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่บรรดานักจาริกแสวงบุญ ในปีพุทธศักราช 2445 ก็ได้สร้างวิหารในศิลปตามแบบสมัยใหม่ขึ้น ซึ่งเป็นวิหารร่วมสมัยแห่งแรกที่สร้างขึ้นในอินเดีย
         หลังจากพระมหาวีระ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่ามหาวีระ สวามี  ก็มีท่านธัมมนันทะโกสัมพีได้อุปสมบทต่อมา ท่านโกสัมพีเกิดที่กัว ในปีพุทธศักราช 2419 วันหนึ่งในปีพุทธศักราช 2440 ได้อ่านประวัติย่อของพระพุทธเจ้าในวารสารมารธี วารสารสำหรับเด็กพิมพ์ที่บอมเบย์ จึงได้เกิดความประทับใจอย่างมากในเรื่องราวแห่งความสูงส่งของพระพุทธเจ้า จึงได้ตัดสินในที่จะศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างละเอียด จนกลายเป็นแรงกระตุ้นให้เขาเดินทางออกจากบ้านในเดือนธันวาคม ปีพุทธศักราช 2442  เริ่มต้นศึกษาภาษาสันสกฤตอีก 2 ปีที่เมืองปูณาและพาราณสี ไม่เพียงแต่สนใจในภาษาสันสกฤตเท่านั้น ยังได้เดินทางไปถึงเนปาลเพื่อแสวงหาพระพุทธศาสนา แต่เมื่อไปถึงกัฏฐมัณฑุ ในเนปาลก็ต้องผิดหวังในสิ่งที่ได้เห็น โกสัมพีจึงกลับอินเดียและเดินทางไปยังโพธคยา สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ที่โพธคยาพระภิกษุรูปหนึ่งแนะนำให้ท่านเดินทางไปศรีลังกา เพื่อที่จะได้เห็นพระพุทธศาสนาที่ยังคงมีวิถีปฏิบัติอยู่จริงๆ  เขาจึงได้เดินทางไปศรีลังกาถึงเมืองโคลัมโบในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2445 ไม่นานนักก็ได้เปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนาและอุปสมบทเป็นภิกษุ ท่านโกสัมพีจึงกลายเป็นคนอินเดียคนที่สองที่อุปสมบทเป็นภิกษุในยุคสมัยใหม่  พระธัมมนันทะ โกสัมพีเป็นนักวิชาการด้านภาษาบาลีคนแรกที่ศึกษาภาษาบาลีจากอักษรเทวนาครีในอินเดีย ท่านได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเป็นภาษามารธีและคูจราตี  ในปีพุทธศักราช 2480 ท่านได้สร้างวิหารเล็กๆหลังหนึ่งที่ปาเรล บอมเบย์ เรียกว่า “พหุชนวิหาร” หรือวัดของมหาชนชาวพุทธ ท่านมรณภาพในปี 2490

 

         ต่อจากท่านธัมมนันทะโกสัมพีก็เป็นท่านโพธนันทะ เกิดในสกุลชาวเบงคลีในไมรซาปุระ รัฐอุตตรประเทศ พ่อแม่เสียชีวิตตั้งแต่ท่านยังเด็ก จึงอาศัยอยู่กับป้าที่เป็นหม้ายที่เมืองวาราณสี(บานารัส)  ต่อมาเป็นบวชเป็นสาธุมีนามว่านิจ โพธินันทะ ในปีพุทธศักราช 2439 ได้พบกับภิกษุกลุ่มหนึ่งจากศรีลังกาซึ่งเดินทางจาริกแสวงบุญที่สารนาถ เกิดความประทับในในกิริยาอาการที่สงบรวมทั้งวิถีชีวิตที่สง่าผ่าเผย จึงเกิดความสนใจพระพุทธศาสนาและได้รับการอุปสมบทเป็นภิกษุในปีพุทธศักราช 2457 และเป็นภิกษุรูปแรกที่อุปสมบทในอินเดีย ณ ช่วงเวลานั้นยังไม่มีการสมมุติสีมาเพื่อทำการอุปสมบทขึ้นในอินเดียเลย พระโพธนันทะที่อุปสมบทในปีพุทธศักราช 2457 นั้นโดยพระกริปสรัน มหาเถระและหมู่ภิกษุอื่นๆ บนเรือในแม่น้ำคงคาใกล้กัลกัตตา ตามพระวินัยอนุญาตให้พระภิกษุอุปสมบทในน้ำ ในที่ที่ยังไม่มีสีมาที่สร้างไว้บนบกได้ นับเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจว่า การสมมุติสีมาเพื่อการอุปสมบทของพระภิกษุปัจจุบันนี้เกิดขึ้นที่สารนาถ อิสิปตนะดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์และกุสินาคาร์ ในอุตตรประเทศ ต่อมาก็ได้มีสีมาขึ้นที่ธัมมันกุระ วิหาร กัลกัตตาและสิลิคุรี ในเวสท์ เบงกอล,อโศกมิชชั่นวิหาร นิวเดลี,ในอัสสัมและไตรปุระ
         ในปีพุทธศักราช 2459 พระโพธนันทะได้ก่อตั้งพุทธสมาคม มีสำนักงานใหญ่ที่ลัคเนาว์ เพื่อสอนและเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอินเดียเหนือ ในปีพุทธศักราช 2468 พระโพธนันทะได้สร้างพุทธวิหารอันสวยงามขึ้นที่สวนสาธารณะไรสัลดาร์ ลัคเนาว์  ท่านสร้างห้องสมุดทางพระพุทธศาสนาและมีจำนวนหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก    ทั้งภาษาบาลี,สันสกฤต,เบงกาลี,ฮินดี อุรดู,เปอร์เซี่ยนและอังกฤษ เพราะการสร้างวิหารและห้องสมุดนี้ ลัคเนาว์จึงได้กลายเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาที่ยอดเยี่ยมแห่งหนึ่ง นับเป็นเวลาหลายปี ที่ท่านได้กระตุ้นให้ประชาชนหันมาปฏิญาณตนเป็นพุทธศาสนิกชน พระโพธนันทะมรณภาพในปีพุทธศักราช 2495
         ต่อจากพระโพธนันทะก็มีพระภทันต์ อนันท์ เกาสัลยยัน  เกิดเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2448 ในครอบครัวชาวปัญจาบที่เมืองโสหนะใกล้ๆ จันดิการห์ สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยนานาชาติลาฮอร์ในปีพุทธศักราช 2467  หลังจากนั้นไม่นานจึงได้ละบ้านเรือนออกท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆเพื่อแสวงหาความสุขสงบภายใน ได้พบกับพระราหุล สันกฤตยยันโดยบังเอิญในปีพุทธศักราช 2469  หลักฐานที่พบในเวลาต่อมาท่านได้กลายเป็นอารยะ สามาจิ ปาริวราชิก และเปลี่ยนชื่อจากหารนัมทัสเป็นพรหมจารี วิสหวนาถ ในปีพุทธศักราช 2470 พระราหุล สันกฤตยยันได้ร่วมมือกับวิทยาลังการ ปริเวนะ,เกลานิยะ,ศรีลังกาในฐานะครูสอนภาษาสันสกฤต เมื่อได้รับคำเชิญพร้อมกับวิสหวนาถจึงเดินทางไปศรีลังกาเพื่อร่วมมือกับปริเวนะ ที่ศรีลังกานี่เองวิสหวนาถได้นับถือพระพุทธศาสนาและได้รับการอุปสมบทเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์  2471 พร้อมกับได้ฉายาใหม่ว่าอนันท์ เกาสัลยยัน
         ราหุล สันกฤตยยัน เกิดเมื่อวันที่  9 เมษายน พุทธศักราช 2435    ในเมืองอซัมครห์ รัฐอุตตรประเทศ  เป็นผู้ที่ย้ายที่อยู่บ่อยไม่มีหลักแหล่งแน่นอนย้ายที่อยู่หลายครั้ง ออกจากบ้านตั้งแต่อายุได้ 13 ขวบ ในขณะที่ยังเรียนหนังสืออยู่ แต่ก็ได้ออกเดินทางท่องเที่ยวอย่างไร้จุดหมาย  ปาราสมหันต์ในเมืองฉาประ รัฐพิหาร ให้การอุปถัมภ์ เพื่อให้บรรลุสิทธิในนามว่าสาธุ ราโมทารทัส แต่ “ความกระหายอยาก”(ความปรารถนา)ในการแสวงหาความรู้ และ “ความปรารถนาอย่างแรงกล้า” ในการเดินทางท่องเที่ยว ได้กระตุ้นให้ราหุลออกจากปาราส ดังนั้นจึงได้กลายเป็นผู้จาริกแสวงบุญต่อไป ในเดือนกรกฎาคม  พ.ศ 2456 ขณะที่ท่องเที่ยวไปตามชนบท ได้เข้าไปอยู่ภายใต้อิทธิพลของอารยะสมาช และได้กลายเป็นสมาชิกใหม่ในฐานะนักเทศน์แห่งอารยสมาช ครั้งหนึ่งระหว่างการเทศนาที่ลัคเนาว์ ในปีพุทธศักราช 2460 เขาได้มาพบกับพระโพธนันทะ และได้ศึกษาพระพุทธศาสนาครั้งแรกจากพระโพธนันทะ ในปีพุทธศักราช  2470 ได้เข้าร่วมงานกับท่านวิทยาลังการ ปริเวนะ และท่านเกลานิยะในศรีลังกา ในฐานะครูสอนภาษาอังกฤษ และได้รับการอุปสมบทเป็นภิกษุในปีพุทธศักราช 2473

 

 

         ต่อจากท่านราหุล สันกฤตยยันคือพระจักดิสห์ กัสหยัป  เกิดที่รันชิ รัฐพิหาร พุทธศักราช 2451 หลังจากที่จบการศึกษาที่ปัตนะในปีพุทธศักราช 2472 ก็ได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยบานารัส ฮินดู และจบปริญญาโททางด้านปรัชญาในปีพุทธศักราช 2474 เพราะอิทธิพลของปู่ จักดิสห์ กัสหยัป จึงถูกดึงเข้าสู่อารยสมาช และได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานคุรุกุละ ที่ไภทยนาถธัมในพิหารในช่วงระหว่างปีพุทธศักราช 2474-2476 อย่างค่อยเป็นค่อยไป เขาพยายามที่จะหลุดพ้นจากการจัดการของคุลุกุละ ปัญหาที่น่าวิตกกังวลอย่างมากคือช่องว่างระหว่างหลักคำสอนและการปฏิบัติของอารยสมาช โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับระบบวรรณะ  ดังนั้นในเดือนพฤศจิกายน 2476 เมื่อได้พบกับราหุล สันกฤตยยันที่ปัตนะ ณ ที่พักคนเดินทาง เค.พี. ไชสวัน เกิดความประทับใจในหนังสือที่เป็นต้นฉบับลายมือที่ราหุลนำมาจากธิเบต จึงได้ตัดสินใจที่จะศึกษาพระพุทธศาสนา และมีความปรารถนาที่จะเดินทางไปศรีลังกา ด้วยการเตรียมการของพระราหุล สันกฤตยยัน จากนั้นไม่นานพระจักดิสห์ กัสหยัปก็ได้เข้าร่วมกับวิทยาลังการ ปริเวนะ ในปีพุทธศักราช 2477 ก็ได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ
         พระราหุล สันกฤตยยัน,พระภทันต์ อนันท์ เกาสัลยยันและพระจักดิสห์ กัสหยัป ได้กลายเป็นเพื่อนที่ร่วมกันทำงานเพื่อฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินเดียตลอดระยะเวลายาวนาน หลังจากที่กลับจากศรีลังกาก็ได้กลายเป็น “สามประสาน,(ไตรภาคี)” ครั้งหนึ่งได้มาพบกันที่อัลลาฮาบัสในปีพุทธศักราช 2479 กล่าวกันว่าพวกท่านทั้งสามได้กำหนดแผนงานในอนาคตของแต่ละคนมีสาระสรุปได้ว่า “พระราหุลกล่าวว่า ข้าพเจ้าจะเขียนหนังสือให้มากที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้, พระอนันท์ เกาสัลยยันกล่าวว่า ข้าพเจ้ารักที่จะเดินทางท่องเที่ยวเพื่อแสดงธรรมเทศนาและทำงานทางด้านหนังสือพิมพ์ เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ตามสาระแห่งวรรณคดีฮินดี ส่วนพระจักดิสห์ กัสหยัปแสดงความปรารถนาไว้ว่าจะอุทิศชีวิตทางด้านการศึกษา,วิจัย การสอนและตั้งสถาบันทางการศึกษาขึ้นมา”
         ด้วยความปรารถนาอันยิ่งใหญ่พวกท่านจึงได้เริ่มปฏิบัติตามนโยบายที่กำหนดไว้ ท่านมหาบัณฑิตราหุล มักจะมีผู้รู้จักในด้านวรรณคดีฮินดีอันทรงคุณค่า การสร้างสรรค์วรรณกรรมทางด้านพระพุทธศาสนาอันมากมาย เมื่อสิ่งไหนยังไม่มี ท่านก็ทำการค้นคว้าและเขียนหนังสือที่สำคัญๆ ในเรื่องที่เกี่ยวพระพุทธศาสนาในอินเดีย โดยการค้นคว้าจากภาษาสันสกฤตที่ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีในวัดธิเบต พระภทันต์ อนันท์ เกาสัลยยัน นอกจากจะสร้างสรรค์งานเขียนทางด้านพระพุทธศาสนาจำนวนมากในภาษาฮินดีแล้ว ยังให้การสนับสนุนคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ในการเคลื่อนไหวเพื่อพระพุทธศาสนา ภายหลังที่ดร. เอ็มเบ็ดการ์เสียชีวิตอย่างฉับพลันในปีพุทธศักราช 2499 ความเชื่อถือในการกระทำดีกส ภูมี นาคปูร์ แสงสว่างแห่งการคงอยู่ของพระพุทธศาสนาก็มุ่งมาที่เขา ท่านได้มาอาศัยสถานที่แห่งนี้ในปีพุทธศักราช 2511 เป็นระยะเวลาประมาณ 20 ปี ได้สร้างพุทธวิหารและภิกษุนิวัติ เพื่อทำการฝึกอบรมพระภิกษุ และยังแปลวรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่ของ ดร. เอ็มเบ็ดการ์คือ “พระพุทธเจ้าและพุทธธรรม” ออกเป็นภาษาฮินดีและภาษาปัญจาป  ส่วนผลงานที่มีชื่อเสียงโดดเด่นของพระจักดิสห์ กัสหยัปคือการสร้างนวนาลันทามหาวิหารที่นาลันทา ในรัฐพิหาร ซึ่งปัจจุบันเป็นสถบันวิจัยทางด้านภาษาบาลีที่มีชื่อเสียง ท่านยังได้ทำงานที่ประสบความสำเร็จในภารกิจที่ยุ่งยากอีกอย่างหนึ่งคือการเป็นบรรณาธิการและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกภาษาบาลีโดยใช้ตัวอักษรเทวนาครี

 

 

         พระภิกษุชาวอินเดียที่มีชื่อเสียงรูปที่เจ็ดคือพระ เค. ธัมมรักษิต เกิดเมื่อปีพุทธศักราช 2466 ใกล้ๆเมืองกุสินาคาร์ รัฐอุตตรประเทศ หันมานับถือพระพุทธศาสนาด้วยการชักชวนของพระ อู  จันทรามนี มหาเถระ อุปสมบทเป็นภิกษุในเดือนกรกฎาคม ปีพุทธศักราช  2485 ศึกษาภาษาบาลีที่ศรีลังกา จนได้รับปริญญาติปิฏกาจารย์ หลังจากนั้นได้เข้าร่วมกับมหาโพธิสมาคม ท่านใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่สารนาถ เป็นบรรณาธิการธรรมทูตที่จัดพิมพ์เป็นภาษาฮินดี เป็นวารสารรายเดือนภาษาฮินดีจัดพิมพ์ที่สารนาถ ท่านเป็นนักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่ และได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก เป็นนักการศึกษาที่มีชื่อเสียงโดดเด่น ในปีพุทธศักราช 2502  ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการมหาโพธิวิทยาลัย ที่สารนาถ ด้วยความโดดเด่นนี้เองจึงได้อยู่ในตำแหน่งนานถึง 15 ปี
         ภิกษุที่ยิ่งใหญ่รูปแรกที่เกิดในยุคสมัยใหม่นี้ในท่ามกลางสังคมชาวพุทธเก่าคือพระกริปสรัน มหาเถระ ท่านเกิดในปีพุทธศักราช 2408 ในสกุลชาวพุทธเก่าบารัว ในเมืองจิตกอง (ปัจจุบันอยู่ในบังคลาเทศ)  เมื่ออายุได้ 16 ปีได้บรรพชาเป็นสามเณร และได้รับการอุปสมบทในปีพุทธศักราช 2428 ในปีพุทธศักราช 2429 ได้เดินทางกลับไปที่กัลกัตตา และได้เริ่มต้นรวบรวมชาวพุทธสกุลบารัวที่ตั้งรกรากอยู่ที่นั่น และได้ก่อตั้งพุทธสมาคมแห่งเบงกอลขึ้นในปีพุทธศักราช 2435 ในปีพุทธศักราช 2446 ได้สร้างธัมมันกุรวิหารขึ้นที่กัลกัตตา ซึ่งได้กลายเป็นศูนย์กลางในการปฏิบัติทางศาสนาและวัฒนธรรมสำหรับชาวพุทธแห่งเบงกอล

         เพราะแรงกระตุ้นด้วยจิตวิญญาณของนักเผยแผ่พระพุทธศาสนา   คืออนาคาริก ธรรมปาละ พระภิกษุจำนวนหนึ่งที่มาจากศรีลังกาและปวารณาตนที่จะพักอาศัยอยู่ที่อินเดีย  เพื่อเป็นมูลเหตุในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอินเดีย พระ เค. ศรีนิวาส ซึ่งเป็นพระภิกษุรูปแรกที่เดินทางมาจากศรีลังกา และเริ่มต้นดำเนินงานเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอินเดีย ท่านเดินทางมาถึงในปีพุทธศักราช 2463 โดยการนิมนต์ของอนาคาริกธรรมปาละ ร่วมกับมหาโพธิสมาคมในฐานะผู้ทำงานด้านพระธรรมทูต  หลังจากที่ได้เผยแผ่ธรรมเป็นเวลายาวนานกว่า 48 ปี จนกระทั่งมรณภาพในปีพุทธศักราช 2511 พระภิกษุจากศรีลังการูปที่สองที่เดินทางมาอินเดียคือพระ ดี. ศาสนสิริ เดินทางมาตามคำนิมนต์ของอนาคาริกธรรมปาละในปีพุทธศักราช 2472 เริ่มต้นด้วยการฝึกสอนอบรมสามเณรที่เดินทางมาด้วยจำนวน 10 รูป เพื่อให้ทำงานด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอินเดีย  ต่อมาก็ได้เข้าร่วมงานกับมหาโพธิสมาคม  มรณภาพที่สารนาถในปีพุทธศักราช 2509  พระเอ็น ชินรัตนะ เป็นพระภิกษุจากศรีลังกาที่มีชื่อเสียงรูปที่สาม ที่ได้อุทิศชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนาในอินเดีย เดินทางมาถึงอินเดียในปีพุทธศักราช 2479 เข้าร่วมกับมหาโพธิสมาคมในฐานะผู้ทำงานด้านพระธรรมทูต ในเวลาไม่นานนักท่านก็ได้กลายเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในสมาคม ในปีพุทธศักราช 2511 ได้รับตำแหน่งเลขาธิการทั่วไปของสมาคม ภายหลังจากที่ท่านเทวาปริยะ วาลิสิงห์ เสียชีวิต
         พระเอ็ม สิงหรัตนะและพระ ดร. ยู ธัมมรัตนะ คือสองในสามเณร 10 รูปที่อนาคาริกนิมนต์มาจากศรีลังกาในปีพุทธศักราช 2473 เพื่อทำงานฟื้นฟูพระพุทธศาสนา หลังจากจบการศึกษาพระสิงหรัตนะได้อุทิศตนเพื่อภารกิจของสมาคมที่สารนาถ และเป็นหัวหน้าในการสร้างอิสิปตนะอันศักดิ์สิทธิ์ให้เป็นวิหารอีกแห่งหนึ่งในปีพุทธศักราช 2512 ท่านได้เดินทางไปที่สรวัสติ(สาวัตถี) และได้สร้างโรงเรียนและบ้านพักและพุทธวิหารขึ้น ท่านมรณภาพในปีพุทธศักราช 2527 ส่วนพระ ดร. ยู ธัมมรัตนะ เป็นนักวิชาการทางภาษาบาลีและพระพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่รูปหนึ่ง  ท่านได้เป็นอาจารย์สอนทางด้านภาษาบาลีและปรัชญาที่นวนาลันทา มหาวิหารอยู่หลายปี ท่านเป็นกองบรรณาธิการวารสารมหาโพธิ ในปีพุทธศักราช 2526 ได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการทั่วไปของมหาโพธิสมาคม แต่ทำงานอยู่ในตำแหน่งได้ไม่นานเพราะสุขภาพไม่ค่อยดีนัก ท่านได้มรณภาพที่โรงพยาบาลในกรุงลอนดอนในปีพุทธศักราช 2528
         พระภิกษุรูปอื่นๆ ที่มาจากศรีลังกาที่ได้อุทิศตนเพื่องานด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอินเดียคือพระเอช. ธัมมนันทะ, พระเอ็น. โสมนันทะและพระเอช. ปุณณติสสะ
         พระภิกษุที่มาจากประเทศอื่นๆ ที่ดำเนินงานด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนพุทธภูมิคือพระอู จันทรามนี,พระอู ชายันตะ,พระ ดร. เรวตะ และพระกิตติมะ(พม่า)  พระวี. ธัมมวร(กัมพูชา)และท่านฟูจิอิ คูรุจิ(ญี่ปุ่น) ในท่านเหล่านั้น การอุทิศตนของพระจันทรามนีเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ท่านเกิดในครอบครัวชาวพุทธที่มีศรัทธา เมืองอัคยับ พม่าในปีพุทธศักราช 2419 เริ่มต้นศึกษาพระพุทธศาสนาตั้งแต่อายุ 7 ปี บรรพชาเป็นสามเณรในปีพุทธศักราช 2431 ได้รับฉายาว่าจันทา ในปีพุทธศักราช 2434 อนาคาริกธรรมปาละ ได้นิมนต์พระอู จันทิมา แห่งอัคยับ เพื่อขอให้จัดส่งพระธรรมทูตมาเพื่อทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอินเดีย ท่านจันทิมะจึงได้ส่งสามเณร 2 รูปคือสามเณรจันทาและสามเณรสุรยะมาที่กัลกัตตา เมื่อเข้ามาพักอาศัยอยู่ในอินเดียสามเณรจันทาหรือท่านอู จันทรามนีได้กลายเป็นผู้ที่มีชื่อเสียง ได้เดินทางมาที่โพธคยาที่บ้านพักสำหรับนักจาริกแสวงบุญชาวพม่า ในปีพุทธศักราช 2438 ได้พบกับพระมหาวีระ ณ ที่พักของชาวพุทธพม่า ในเมืองกัลกัตตาโดยบังเอิญ เกิดความประทับใจ ด้วยความกระตือรือร้นของสามเณรหนุ่ม ท่านมหาวีระได้ส่งเข้าศึกษาที่สันสกฤตปาธศาลาในพิหาร  เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจึงเดินทางกลับไปพม่า เพื่อศึกษาภาษาบาลีต่อไป และได้รับการอุปสมบทที่พม่าในปีพุทธศักราช 2446 เมื่อกลับไปอินเดียได้พักอาศัยอยู่กับพระมหาวีระ ที่กุสินาคาร์
         สิ่งแรกที่ท่านจันทรามนีทำที่กุสินาคาร์คือการเรียกร้องกรรมสิทธิ์วัดนิรวานในประวัติศาสตร์จากคณะสำรวจทางโบราณคดีในอินเดีย ทำให้เป็นวิหารเพื่อพักอาศัย ท่านได้ทำการซ่อมแซมและปรับปรุงสถูปที่สำคัญและวัดมาธากูอาร์ ครั้นแล้วจึงย้อนกลับไปที่ความคิดทางด้านการศึกษา จึงได้สร้างโรงเรียนและวิทยาลัยขึ้นที่กุสินานาคาร์ การดำเนินงานของท่านขยายออกไปยังวิหารอื่นๆ รอบเมืองกุสินาคาร์ ท่านได้สร้างพุทธวิหารที่สรวัสติ(สาวัตถี),สร้างธัมศาลาที่บัลรามปุระและสารนาถและสร้างพุทธวิหารที่ลุมพินี เนื่องจากเป็นนักบวชและนักวิชาการที่ยิ่งใหญ่ ท่านจันทรามนีได้กระตุ้นให้ชาวอินเดียและต่างชาติอื่นๆ เป็นจำนวนมากให้หันมานับถือพระพุทธศาสนา และมีประชาชนจำนวนมากเข้ามาอุปสมบท ท่านได้รับการยกย่องในฐานะ “ธรรมคุรุ” ของดร. เอ็มเบ็ดการ์ ผู้ที่หันมานับถือพระพุทธศาสนาเป็นในวันที่ 14 ตุลาคม 2499 หลังจากเผยแผ่ธรรมในอินเดียเป็นเวลายาวนาน 70 ปี พระจันทรามนีได้ถึงแก่มรณภาพที่กุสินาคาร์ในปีพุทธศักราช 2515 มีอายุ 96 ปี
         ภิกษุสงฆ์ในอินเดียสมัยใหม่ได้ยอมรับทั้งรูปแบบของเถรวาทและมหายาน ตั้งแต่ในยุคเริ่มต้นที่พระพุทธศาสนากลับคืนสู่อินเดียเริ่มต้นจากศรีลังกา พระพุทธศาสนารุ่งเรืองในความงามอันบริสุทธิ์ตามแบบดั้งเดิม ตั้งแต่ในยุคสมัยในพุทธศตวรรษที่ 2 ชาวพุทธรุ่นใหม่ได้ถือปฏิบัติตามประเพณีของเถรวาท ชาวพุทธตามประเพณีนิยมแห่งอัสสัม,เบงกอลและไตรปุระก็ได้ถือปฏิบัติตามธรรมเนียมของเถรวาทเหมือนกัน ชาวพุทธแห่งหิมาลัยเป็นฝ่ายมหายานถือปฏิบัติตามพระพุทธศาสนาแบบธิเบต ปัจจุบันอินเดียมีพระภิกษุฝ่ายเถรวาทมากกว่า 500 รูป ภิกษุในฝ่ายมหายานหรือลามะมีมากกว่า 5,000 รูป พระภิกษุฝ่ายเถรวาทกระจายอยู่ทั่วอินเดีย ลามะส่วนใหญ่อาศัยอยู่ที่ลาดักคห์,หิมาจัลประเทศ,สิกขิมและอรุนาจัลประเทศ เมืองลาดักห์แห่งรัฐแคชเมียร์มีลามะและสามเณรีประมาณ 2,500 รูปอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่อินเดียประมาณ 1,000 รูป
         ภิกษุฝ่ายเถรวาทมีรูปแบบที่ค่อนข้างจะเคร่งครัด มีกองบัญชาการอยู่ที่สารนาถ สังฆนายกรูปแรกในอินเดียคือพระภทันต์ อนันท์ เกาสัลยยัน (พ.ศ. 2448-2531) ปัจจุบันมีพระอานันท์ มิตรามหาเถระ แห่งกัลกัตตาเป็นสังฆนายก  ภิกษุแห่งหิมาลัย มีพระกุสัก ภกุล เป็นประธานลามะแห่งลาดักคห์


 

 

วิหาร
         ย้อนกลับไปที่วิหาร พบวิหารแห่งแรกที่สร้างขึ้นในยุคใหม่อยู่ที่กุสินาคาร์ในปีพุทธศักราช 2445 โดยพระมหาวีระ ต่อจากนั้นเป็นธัมมันกุระวิหาร สร้างขึ้นที่กัลกัตตา โดยพระกริปสรัน มหาสถวีระในปีพุทธศักราช 2446  ส่วนวิหารที่สร้างที่เปรัมบุระ มัทราสในปีพุทธศักราช 2449 โดยพุทธสมาคมอินเดียภาคใต้เป็นแห่งที่สาม  กลับมาที่ศรีธัมมราชิกวิหารอันงดงาม ที่กัลกัตตา      ซึ่งสร้างโดยท่านอนาคาริก ธรรมปาละในปีพุทธศักราช 2463  พระโพธนันทะสร้างวิหารแห่งที่ 5 ที่สวนสาธารณะไรสัลดาร์ ลัคเนาว์ในปีพุทธศักราช 2468  และในปีพุทธศักราช 2470 ยังได้สร้างพุทธวิหารขึ้นอีกแห่งหนึ่งที่กัลลิกุต ควีโลน (เคราลา), ในปีพุทธศักราช 2474 สร้างมูลคันธกุฎีวิหารที่มีชื่อเสียงที่สารนาถ โดยมหาโพธิสมาคมทำการเปิด ซึ่งได้จารึกไว้บนแผ่นหินไว้เป็นประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาสมัยใหม่ในปีเดียวกัน  ดร. อานันดาโอ แอล เนียร์ได้สร้างอานันทวิหารขึ้นที่บอมเบย์ วิหารที่สร้างขึ้นภายหลังจากนั้นมามีดังนี้ พหุชนวิหาร บอมเบย์ (พ.ศ. 2480),พุทธวิหาร นิวเดลี (พ.ศ. 2482), เทสังปานีวิหาร อัสสัม(พ.ศ. 2482), พุทธวิหาร บังกาลอร์(พ.ศ. 2483),เวนุวันวิหาร อการตาลา (พ.ศ. 2489),มัทราส (เคนเนส เลน) วิหาร(พ.ศ. 2490),อโศกมิชชั่นวิหาร นิวเดลี(พ.ศ. 2493)และนิว เจติยคีรีวิหาร ศานจิ (พ.ศ. 2495) มีวิหารหลังอื่นๆ อีกมากที่เกิดขึ้นหลังจากการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในปีพุทธศักราช 2499 ที่เริ่มต้นด้วย ดร. เอ็มเบ็ดการ์ ในรัฐมหาราษฎร์ ทุกแห่งเกือบจะเป็นดินแดนของชาวพุทธแทบทุกหมู่บ้านจะมีวิหารเป็นของตัวเอง วิหารจำนวนมากที่สุดอยู่ที่นาคปุร์, ดีกสาภูมี, เดลีเมืองหลวงของอินเดียมีวิหารที่ใหญ่เป็นอันดับสอง ปัจจุบันมีวิหารมากกว่า 25 แห่ง เริ่มตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2499 จุดเด่นพิเศษในปีพุทธศักราช 2499 คือการสร้างวัดพร้อมด้วยอุโบสถพุทธที่สวยงามโดยชาวพุทธจากต่างประเทศเช่นวัดไทย(วัดพุทธ)ที่โพธคยา สร้างโดยรัฐบาลแห่งประเทศไทยในปีพุทธศักราช 2513-2515,วัดอินโดซาน นิปปอนจิ (วัดญี่ปุ่น) ที่โพธคยาสร้างโดยสมาคมพี่น้องชาวพุทธนานาชาติแห่งญี่ปุ่นในปีพุทธศักราช 2516,วัดไดโจเกียว (วัดญี่ปุ่น) สร้างโดยสมาคมไดโจเกียวแห่งญี่ปุ่นในปีพุทธศักราช 2526,สถูปสันติภาพแห่งโลก(วิศวศานติสถูป) บนยอดเขาคิชกูฏ เมืองราชคฤห์ สร้างโดยฟูจิอิ คุรุจิแห่งญี่ปุ่นในปีพุทธศักราช 2512,เจดีย์สันติภาพกลิงคะที่ภูเวเนสหวาร์ สร้างโดยฟูจิอิ คุรุจิในปีพุทธศักราช 2515 และและเวฬุวันวิหาร (วัดนิปปอนซาน เมียวโฮจิ) ที่ราชคฤห์ สร้างโดยฟูจิอิ คุรุจิในปีพุทธศักราช 2524
         เนื่องจากมีความขาดแคลนพระภิกษุที่มีคุณสมบัติ วิหารที่สร้างใหม่ในบางแห่งจึงไม่มีภิกษุพักอาศัยอยู่เลย การดำเนินการต่อไปมีความลำบาก เมื่อพระภิกษุที่มีชื่อเสียงมรณภาพลง นั่นคือพระ ดี. ศาสนศิริ(2509), พระเค. ศรีนิวาส (2511),พระอู จันทรามณี (2515) พระจักดิสห์ กัสหยัป (2519),พระธัมมรักษิต(2520),พระเอ็น.ชินรัตนะ(2526),พระเอ็ม. สังฆรัตนะ (2528), พระอู ธัมมรัตนะ(2528)และพระ ดร. ภทันต์ อนันท์ เกาสัลยยัน (2531)
         การนำเสนอโดยสังเขปนี้ เรามุ่งที่จะอธิบายสถานะของพระภิกษุและวิหารในแต่ละรัฐ ขณะที่ทำการศึกษาเรื่องนี้อยู่ ได้บอกจำนวนประชากรที่นับถือพระพุทธศาสนาในแต่ละรัฐ แต่ละอาณาเขตไว้ด้วย ตัวเลขมาจากสำมโนประชากรในปีพุทธศัราช 2524 พุทธศาสนิกชนในรัฐมหาราษฎร์จะมีจำนวนมากที่สุด มีจำนวนถึง 84 เปอร์เซ็นต์ของชาวพุทธในอินเดียอาศัยอยู่ในรัฐนี้

 

เกาะอันดามันและนิโคบาร์
         สหพันธรัฐอันดามันและหมู่เกาะนิโคบาร์มีชาวพุทธอยู่เพียง 127 คนเท่านั้น เป็นชาวพม่าที่อพยพเข้ามา พุทธวิหารในเกาะอันดามันและนิโคบาร์อยู่ที่เมืองท่าแบลร์ ไมเมียวและมายาบุนเดอร์ พระอู  คินาวงศ์แห่งวิสหวศานติวิหาร, โพนกยิ กยุง,พอร์ท แบลร์ เป็นประธานภิกษุในหมู่เกาะนี้

 

อันธระประเทศ
         ในปีพุทธศักราช 2494 อันธระมีชาวพุทธอยู่เพียง 230 คนเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีชาวพุทธประมาณ 12,830 คน พระภิกษุรูปแรกที่ประกาศพระพุทธศาสนาในอันธรประเทศคือพระสุเมธา วิมลักษะ เกิดที่เบงกอล เดินทางมาที่คุนตุระในขณะที่ยังเป็นสามเณรในปีพุทธศักราช 2503 และจัดตั้งองค์กรขึ้นภายใต้ชื่อว่า “พุทธวิหาร สรัสวตี สามิธิ ที่คุนตุระ” เริ่มต้นประกาศพุทธธรรมในอันธระ ดินแดนที่เคยมีเกียรติคุณในสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ในนามอมรวตีและนาครชุนคอนดา พระสุเมธายังได้สร้างวิหารอีกแห่งหนึ่งคือ “นาครชุนพุทธวิหาร” ทีฮินดูปุระรายัลสีมา ท่านยังได้จัดพิมพ์จุลสารคือ “พุทธธรรม” เรื่องที่นำมาตีพิมพ์และมีชื่อเสียงคือ ธัมมบท(เตลุกุ),ธัมมบท (พิมพ์เป็นภาษาอังกฤษกำกับด้วยภาษาบาลี),อโศก สามรัฐ (เตลุกุ)และพุทธานี ชีวิตา กาธาลี (เตลุกุ)
         ภิกษุอีกสองรูปที่ทำงานเผยแผ่พุทธศาสนาในอันธรประะเทศคือท่านสารีปุตตภิกษุและพระอู รัตนปาล ภิกษุในฐานะกรรมการของมหาเถรสมาคม มัทราส เมื่อสร้างพุทธวิหารขึ้นที่ไฮเดอราบัด,เซคุนเดอราบัสและวิสาขปัตนัม จุดเปลี่ยนที่สำคัญในอันธระสมัยใหม่น่าจะอยู่ที่การสร้างพระพุทธรูปโดยรัฐบาลของอันธรประเทศ พระพุทธรูปสูง 60 ฟุตประดิษฐานอยู่บนหินคิบราลเตอร์มองเห็นทัศนียภาพของทะเลสาบหัสสอินซาคาร์ เป็นใจกลางของเมืองสองเมืองคือไฮเดอราบัสและเชคุนเดอราบัส

 

อรุนาจัลประเทศ
         อรุนาจัลประเทศ(ดินแดนแห่งพระอาทิตย์อุทัย) ในยุคแรกเป็นสำนักงานชายแดนด้านตะวันออกเฉียงเหนือ  (NEFA) มีชาวพุทธจำนวน 86,483 คน ส่วนมากอยู่ที่เมืองตะวัง,โลหิตและไตรัป สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ของอรุนาจัลประเทศคือวัดตะวัง
 วัดตะวังสร้างขึ้นโดยเมรา ลามะ ผู้นำชาวพุทธท้องถิ่นประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 22  ตั้งอยู่ที่ราบสูงมีความสูง 3,048 เมตร มองดูเหมือนเป็นป้อมปราการ สามารถมองเห็นทัศนียภาพอันสวยงาม วิหารหลักคือห้องโถงใหญ่อยู่กลางกอมปาที่ทอดยาว มี “ธังกา” (ภาพวาดบนแผ่นผ้า)ที่ศักดิ์สิทธิ์และมหัศจรรย์ ทะไลลามะองค์ที่ 5 ได้มอบให้ในช่วงที่ปกครองกอมปาแห่งนี้มีสภาพที่สมบูรณ์ ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีในห้องพิเศษ วัดตะวงมีคัมภีร์มากกว่า 700 เล่ม ชุดที่ใหญ่ที่สุดคือเกตมาที่มีคุณค่าและราคาประเมินค่ามิได้
 ต้นกำเนิดของตะวังกอมปาคือเป็นที่หลบซ่อนอันลึกลับ กล่าวกันว่าเป็นสถานที่สำหรับใช้ศึกษาสำหรับลามะในนิกายหมวกเหลืองของตาซิ มิมโป และเดรบุงในธิเบต เมื่อลามะหนุ่มเมรากลับไปที่บ้านเกิดและได้สร้างกอมปาเล็กๆขึ้นแห่งหนึ่ง ในไม่ช้าก็ได้กลายเป็นที่รู้จักแพร่หลายในพื้นที่ ลามะในนิกายตรงกันข้ามได้เกิดความอิจฉาขึ้น      ในเวลากลางคืนได้จุดไฟเผาทำลาย
         กอมปาของเมรา แต่เมราลามะหนีรอดไปได้โดยเดินทางไปทางภูเขา เพราะความอ่อนเพลียและหิวโหยจึงได้นอนหลับในป่าทึบ ในระหว่างที่ม่อยหลับไปนั้นได้นิมิตว่ามีม้าขาวกำลังนอนเล่นอยู่บนเนินหญ้า ท่านพิจารณาว่าน่าจะเป็นสัญญาณแห่งศุภมงคลฤกษ์ จึงได้ตัดสินใจสร้างกอมปาขึ้นใหม่ในบริเวณนั้น  ทางดินแดนทางภาคเหนือ คำว่าโมนปาหมายถึงม้า และวังหมายถึงความเจริญรุ่งเรือง การแปลความหมายอีกอย่างหนึ่งคือสถานที่ที่ “ม้า(ตา)คือเงื่อนไขแห่งความฉลาด อีกทัศนะหนึ่งหมายถึง “ม้า (ตา)หมายถึงพระพุทธเจ้า และ“โอง” หมายถึงการประทานพรเพื่อความโชคดี ดังนั้นคำว่า “ตะอง” หรือ “ตะวัง” จึงหมายถึงการประทานพรเพื่อความโชคดีของพระพุทธเจ้า
         วัดตะวัง ปัจจุบันเป็นศูนย์กลางทางศาสนาและวัฒนธรรมของอรุนาจัลประเทศ เป็นสถานที่ที่ยิ่งใหญ่ที่ให้การศึกษาและฝึกอบรมลามะ ปัจจุบันมีลามะที่กำลังศึกษาประมาณ 350 รูป ตามประเพณีชาวพุทธในตะวังจะถวายลูกชายคนที่สองให้แก่วัด รินโปเชองค์ปัจจุบัน ประธานลามะได้รับแต่งตั้งเมื่อปีพุทธศักราช 2524  เมื่อครั้งที่ทะไล ลามะองค์ที่ 14 แห่งธิเบตเสด็จเยือนวัดตะวัง
         วัดสำคัญอื่นๆในอรุนาจัลประเทศคือ ไดราน,ดโซง,โดมซาง,จักดา,จังดา,จาง,บันกาจันกะและการโพซัง ส่วนวิหารยุคใหม่ที่สำคัญคือโชว์ขัม ราช วิหาร โชว์ขัม

 

อัสสัม
         ในรัฐอัสสัมมีชาวพุทธประมาณ 55,000 คน ชาวพุทธอัสสัมมีต้นกำเนิดมาจากคนไทจากประเทศไทยและรัฐฉานในพม่า ชาวพุทธอัสสัมทางภาคกลางและภาคตะวันออกเป็นเผ่าอโฮมา ชาวเผ่านี้มีความสัมพันธ์กับรัฐฉานของพม่าที่อยู่สูงขึ้นไปทางตอนเหนือ ที่อพยพเข้าไปยังอัสสัมประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 และก่อตั้งอาณาจักรนี้ขึ้น มีวิหารประมาณ 100 แห่งและมีภิกษุประมาณ 150 รูป
         พระภิกษุที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาในยุคแรกในอัสสัมสมัยใหม่คือพระนันทพรรษา เกิดในครอบครัวฮินดูพุทธศักราช 2452 ที่เมืองสิบสาคาร์ เริ่มต้นศึกษาศาสนาภายหลังจากที่พ่อแม่เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ เริ่มศึกษาคัมภีร์ฮินดู แต่ไม่พอใจในคัมภีร์เหล่านั้น จึงกลับไปศึกษาพระพุทธศาสนาในปีพุทธศักราช 2473  ต่อมาในปีพุทธศักราช 2480 ได้รับการอุปสมบทที่วัดราหันปาเธอร์ โดยมีพระอุสุมังคล มหาสถวีระเป็นพระอุปัชฌาย์ พระอุตตมนันทะ มหาสถวีระและพระเตชภันตะ มหาสถวีระ เป็นกรรมวาจาจารย์ ในปีพุทธศักราช 2482 ท่านได้สร้างวัดพระพุทธศาสนาขึ้นที่เทสังปานี และได้ก่อตั้งพุทธสมาคมแห่งอัสสัมขึ้น นอกจากทำให้พระพุทธศาสนาในอัสสัมเจริญขึ้นแล้ว พระนันทพรรษายังได้สร้างโรงเรียนและวิทยาลัยขึ้นอีกด้วย ท่านยังได้จัดพิมพ์หนังสือธรรมะจากพระพุทธศาสนาให้แพร่หลายในอัสสัมมากกว่า 25 เล่ม ซึ่งช่วยให้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอัสสัมแพร่หลายมากยิ่งขึ้น ภิกษุที่มีชื่อเสียงรูปอื่นๆในอัสสัมคือพระสีลพรรษา มหาสถวีระ, พระพุทธนันทะ มหาสถวีระ,พระศาสนพรรษา,พระปรัชญานันทะ,พระเทพปริยา, พระราหุล,พระสัญชัยนันทะ,ดร. พระธัมมวงศ์,พระพระคุณาจร,พระสังฆรักขิตและพระคนทินยา
         วัดพระพุทธศาสนาที่สำคัญๆ ในอัสสัมอยู่ที่เมืองเทสังปานี,สิบสาคาร์,เมืองชาลาปาเธอร์,สิบสาคาร์,เกรแฮมบาร์ซาร์,ทีบรูครห์, ทิคโบอิ, โจรหัต,นาหารคาเตีย,ติปัม,ทีบรุครห์,ทุเลียจัน, คุวาหติ,ตินสุเกีย,โบรขมตี, ลาขิมปุระเหนือ,ราชปุขุรี,โคลัคหัต

 

พิหาร
         ประชากรชาวพุทธในรัฐพิหาร  เมืองโบราณดินแดนแห่งวิหาร ปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 3,003 คน มีพระภิกษุประมาณ 50 รูปในรัฐนี้ พระที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือพระ ดร. ธัมมวังโส มหาเถระ,พระบี. ปัญญารามะ มหาเถระ, พระชญาณชกัต มหาเถระ,พระ ดร. รัชตรปาล,พระอู ชยันตะ,พระ เท็นโซ ยากิ,พระเทพวิสุทธิโมลี,พระวิปัสสี,พระดี. วิมลา,พระบี.เอ็ม.ปรัชญา นันทศรี
         สถานที่ศักดิ์สิทธิ์มากที่สุดในพิหารคือวัดมหาโพธิ์ที่โพธคยา สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ตามประวัติศาสตร์วัดมหาโพธิ์มีปรากฏว่าสร้างตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 7 หลังจากนั้นมาก็มีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุง โดยชาวพุทธในแต่ละช่วงเวลา เมื่อพระพุทธศาสนาในอินเดียเสื่อมลง โพธคยาก็ได้ถูกทอดทิ้ง ผู้ที่ถือเอาประโยชน์ในสถานนั้นคือฮินดูนิกายมหันต์ได้สร้าง “มาธ” ขึ้นที่โพธคยาในปีพุทธศักราช 2133 เมื่อมหันต์เข้ายึดครอง  สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ของชาวพุทธก็ตกอยู่ภายใต้การครอบครองของฮินดูมหันต์ พวกเขาได้ทำการหลบหลู่สถานที่สักการะอันศักดิ์สิทธิ์ จนกระทั่งปีพุทธศักราช 2404 เซอร์คันนิ่งแฮมได้พบพวกมหันต์และบรรดาศานุศิษย์กระทำพิธีกรรมที่มิใช่ของพระพุทธศาสนาในวิหารใหญ่ของวัดมหาโพธิ์ ถึงแม้มหันต์จะอ้างกรรมสิทธิ์ในการครอบครองพื้นที่รอบๆบริเวณวัดว่าเป็นสมบัติของพวกเขาก็ตาม แต่ก็ไม่เคยคิดที่จะทำการซ่อมแซมวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เลย
         ในปีพุทธศักราช 2418 กษัตริย์มินทัน มินแห่งพม่าได้รับคำมั่นสัญญาจากรัฐบาลอินเดียและฮินดูมหันต์ เพื่ออนุมัติให้ทำการปรัปรุงซ่อมแซม วัดมหาโพธิ์ที่เสื่อมโทรม การซ่อมแซมจึงเริ่มต้นขึ้นโดยชาวพม่าซึ่งมิได้เป็นไปตามรูปแบบในอดีตนัก ในปีพุทธศักราช 2423 ทางรัฐบาลอินเดียได้แต่งตั้งให้เจ.ดี.เบคลาร์เพื่อทำการซ่อมแซมอาคาร คันนิ่งแฮมและดร.ราเชนทรา ลาล มิตราเป็นผู้ควบคุมดูแลการซ่อมแซม การซ่อมแซมได้เริ่มกระทำที่ฐานตัวแบบเล็กๆในแผ่นหิน ได้ค้นพบซากปรักหักพังจากสิ่งที่ออกแบบทั้งหมดของตัวอาคารซึ่งสร้างในยุคกลาง สามารถที่จะพบร่องรอยความสมบูรณ์ที่ยังคงมีความแข็งแรง การซ่อมแซมเพื่อให้กลับคืนสู่สภาพเดิม วัดมหาโพธิ์เพื่อให้มีสภาพที่ดีขึ้น เกือบจะเป็นรูปจำลองที่ชัดเจนตามวิหารอันเป็นต้นกำเนิด เป็นเรื่องราวที่ยาวนาน แต่สำเร็จด้วยความเลื่อมใสบูชาและการอุทิศตนด้วยความเสียสละ
         วัดมหาโพธิ์ ปัจจุบันมีเจดีย์ใหญ่สูงประมาณ 170 ฟุต ฐานวัดโดยรอบ 50 ฟุต ประกอบด้วยอาคารรูปปิรามิดรายล้อมสถูป ภายในวิหารมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ปิดทองที่กำลังสัมผัสพื้นดิน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเหตุการณ์ในการตรัสรู้อันยิ่งใหญ่ ต้นโพธิ์อยู่ทางด้านตะวันตกของวิหาร มีแท่นวัชรอาสน์ที่ประทับนั่งในวันตรัสรู้ กำหนดไว้ด้วยแผ่นดินหนาสีแดง
        การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องกรรมสิทธิ์ในการครอบครองวัดมหาโพธิ์อันศักดิ์สิทธิ์   เริ่มต้นขึ้นในเดือนมกราคมพุทธศักราช  2434 เมื่อท่านอนาคาริกธรรมปาละเดินทางมาที่โพธคยา ที่ประทับนั่งสำหรับการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าได้ถูกทอดทิ้งละเลยไม่ใส่ใจ ธรรมปาละจึงตัดสินใจตั้งแต่บัดนั้นว่าจะดำเนินการเพื่อให้มหันต์เลิกดูหมิ่นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวพุทธ ด้วยการมองการไกลของธรรมปาละ จึงได้ก่อตั้ง “พุทธคยามหาโพธิสมาคม” ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2434 และได้นิมนต์พระภิกษุจากศรีลังกา 4 รูปให้มาอยู่จำพรรษาที่โพธคยามีพระทูอนุรลา จันทโชติ,พระมตเล สุมังคละ,พระอนุราธปุระ เปมนันทะและพระกัลเลสุทัสสนะ เดินทางมาถึงโพธคยาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2434 และเข้าพักจำพรรษาที่บ้านพักสำหรับนักจาริกแสวงบุญที่พม่าได้สร้างไว้เมื่อสองสามปีที่ผ่านมา ฮินดูมหันต์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ถูกต้องในการครอบครองพุทธคยา จึงได้เสนอคำคัดค้านต่อการเข้ามาอยู่จำพรรษาของพระภิกษุในเดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2436 พระภิกษุ 2 รูปถูกทำร้ายอย่างรุนแรงโดยมหันต์ ต่อมาในปีพุทธศักราช 2438 เมื่อธรรมปาละพยายามที่จะประดิษฐานพระพุทธรูปที่ประชาชนชาวญี่ปุ่นนำมาถวาย บนพื้นด้านบนของวิหาร ก็ได้ถูกโจมตีและขัดขวางโดยคนของมหันต์ พระพุทธรูปจึงได้ถูกเก็บรักษาไว้ที่บ้านพักสำหรับชาวพม่า
         ในปีพุทธศักราช 2449 มหันต์ได้คัดค้านการที่พระภิกษุอยู่อาศัยที่บ้านพัก พระภิกษุจึงได้เรียกร้องสิทธิ์ในการครอบครองวัดมหาโพธิ์  การต่อสู้ในทางกฎหมายยังคงดำเนินต่อไป หลังจากที่อินเดียได้รับเอกราช รัฐบาลรัฐพิหารจึงได้ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหารจัดการวัดพุทธคยาในปีพุทธศักราช 2492  เพื่อให้มีความสอดคล้องกันในทางการบริหาร รัฐบาลกลางแต่งตั้งกรรมการบริหารขึ้นในปีพุทธศักราช 2495 ได้มอบหมายให้คณะกรรมการเข้าจัดการและควบคุมที่ดินและทรัพย์สินอื่นๆของวัด คณะกรรมการที่เข้าจัดการบริหารพุทธคยาในปีพุทธศักราช 2492 ให้มีคณะกรรมการประกอบด้วยสมาชิก 8 คน เป็นฮินดู 4 คนและพุทธ 4 คน โดยมีผู้ที่ควบคุมดูแลจากคยาเป็นประธาน
         พระชญาณชกัตปัจจุบันเป็นผู้ควบคุมดูแลในฐานะคณะกรรมการบริหารพุทธคยา  ส่วนการให้บริการประจำวันในวัดมหาโพธิ์อยูในการดูแลของพระบี. ปัญญารามะ ภิกษุผู้บริหารบ้านพักมหาโพธิ์ ผู้ช่วยของท่านคือพระดี.วิมลาเถระ
         วัดมหาโพธิ์ที่ยิ่งใหญ่ได้กลับมามีประกายอันโชติช่วงอีกครั้ง มีนักเดินทางจาริกแสวงบุญปีละหลายพันคนจากทั่วโลกมาเยือนมิได้ขาด สัญลักษณ์แห่งความเจริญรุ่งเรืองที่ยังคงมีชีวิตอยู่นี้ได้ถูกเสริมด้วยวิหารและวัดสมัยใหม่จำนวนหนึ่งที่สร้างขึ้นที่พุทธคยา โดยพุทธศาสนิกชนจากนานาประเทศ มีบันทึกไว้ดังนี้วัดพม่า (2418),วัดจีน(2478),วัดธิเบต(2481),วัดไทย(2515),วัดญี่ปุ่น อินโดซาน นิปปอนจิสร้างโดยสมาคมพี่น้องชาวพุทธนานาชาติ(2516),วัดไดโจเกียว สร้างโดยสมาคมไดโจเกียวแห่งญี่ปุ่น(2526),วัดภูฐาน(2531)และพระพุทธรูปใหญ่โดยสมาคมไดโจเกียว(2532)
         ราชคิระหรือเมืองราชคฤห์ในอดีต เมืองหลวงของพระเจ้าพิมพิสารในสมัยพุทธกาล ในปัจจุบันที่รู้จักกันดีคือมหาวิศวะศานติสถูป (เจดีย์เสรีภาพแห่งโลก) สร้างบนยอดเขารัตนคีรีใกล้ๆกับคิฌกูฏ หรือเขาอีแร้งที่ราชคฤห์ เป็นศิลปะการออกแบบของศาสตราจารย์มิโนรุ โอโฮกะแห่งญี่ปุ่น ร่วมกับช่างฝีมือชาวอินเดียผู้มีชื่อเสียงคืออุเปนทร มหาราธี เจดีย์สูง 16 ฟุตปิดทองทองคำตลอดองค์ เกือบจะมีขนาดเท่ากับเจดีย์ศานจิสถูป  สร้างโดยฟูจิอิ คุรุจิ ผู้สถาปนาคณะสงฆ์ในญี่ปุ่น ทำพิธีฉลองเจดีย์ในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2512 บนยอดเจดีย์มีห้องบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่รัฐบาลอินเดียมอบให้ญี่ปุ่นในปีพุทธศักราช 2495 ประดิษฐานไว้ด้วย
         พุทธสังฆ์แห่งญี่ปุ่นก่อตั้งโดยฟูจิอิ คุรุจิ ได้มีการสร้างวิหารที่สวยงามที่ราชคฤห์โดยจำลองแบบมาจากเวนุวัน วิหาร ซึ่งพระพุทธเคยพักจำพรรษาในสัมยที่พักอยู่ที่ราชคฤห์ สร้างในพื้นที่ 32,400 ตารางฟุต  วิหารแห่งนี้รู้จักกันดีว่าวัดนิปปอนซาน เมียวโฮจิ เป็นวิหารที่ใหญ่ที่สุดในอินเดียยุคใหม่ พิธีฉลองเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2524
         ราชคฤห์สมัยใหม่ยังมีวัดพม่าอีกแห่งหนึ่ง ปัจจุบันพระอู  ชยันตะ เป็นผู้บริหารวิหารแห่งนี้ ที่นาลันทา นวนาลันทามหาวิหารก่อตั้งโดยพระจักดิสห์ กัสหยัปเป็นสถาบันหลักที่สำคัญในนาลันทา นอกจากนั้นยังมีวัดจีน,วัดญี่ปุ่น,วัดไทย,และวัดธิเบต
         ในรัฐพิหารยังมีวิหารที่สำคัญอีกสามแห่งคือปาตลีบุตร วิหาร, ราเชนทร นาคาร์,ที่ปัตตนะมีพุทธวิหาร,เกาตัมธร,รานจิและพุทธวิหาร,สักชิ,จัมเชดปุระ

 

จันดิการห์
         ประชากรที่นับถือพุทธศาสนาในจันดิการห์มีจำนวน 454 คน พุทธวิหารที่สร้างเมื่อไม่นานนี้อยู่ใกล้หมู่บ้านกูดาอาลีเชร์ ห่างจากตัวเมืองจันดิการห์ประมาณ 5 กิโลเมตร

 

ดาดราและนาคาร์ฮาเวลี
         มีพุทธศาสนิกชนอยู่เพียง 189 คนเท่านั้น


 

 

เดลี
         ในปีพุทธศักราช 2524 กรุงเดลีมีชาวพุทธจำนวน 7,117 คน ในปีพุทธศักราช 2494 มีเพียง 503 คน ในปีพุทธศักราช 2493 เดลีมีวิหารเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ในปัจจุบันมีพุทธวิหารมากว่า 25 แห่งให้บริการตามความต้องการของผู้ศรัทธาชาวพุทธในเมืองหลวงของอินเดีย วิหารที่สำคัญคือนิวเดลีพุทธวิหาร,อโศกมิชชั่นวิหาร,เอ็มเบ็ดการ์ภวันวิหาร,ลาดักห์พุทธวิหารและชกัชชโยติพุทธวิหาร
         วัดพระพุทธศาสนาแห่งแรกที่สร้างขึ้นในเดลีคือพุทธวิหารที่แมนดีร์ มาร์ค นิวเดลี-110001  ศิลาฤกษ์ในวิหารแห่งแรกในเมืองหลวงของอินเดียยุคใหม่วางโดย เค. โยเนวาซา กงศุลญี่ปุ่นในวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2479  เทวนัมปิยะ วาลิสิงห์ เลขาธิการมหาโพธิสมาคมแห่งอินเดียได้เชิญชวนราชาเสธ จูกัล กิสอร์ พิรลา เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการสร้างวิหาร  และอุทิศเพื่อระลึกถึงความทรงจำอันแสนหวานต่อบิดาของเขาคือราชา พัลเทว ดัส พิรลา เขาได้อุทิศวิหารถวายต่อมหาโพธิสมาคมแห่งอินเดียเพราะเข้าใจว่าเมื่อเวลาเกิดความเสียหายจะได้ไม่ต้องริบผิดชอบเป็นภาระในการซ่อมแซมต่อทายาทผู้รับมรดก มหาตมะคานธีเป็นประธานเปิดวิหารในวันที่ 18 มีนาคม  2482  มีรูปจำลองของพระพทุธเจ้าที่กำลังแสดงธรรมเทศนา (ในพิพิธภัณฑ์ที่สารนาถ) ประดิษฐานที่วิหารแห่งนี้ด้วย ที่ฝาผนังมีภาพเขียนบรรยายถึงเหตุการณ์ตามพุทธประวัติ
         ภิกขุที่เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกในวิหารแห่งนี้คือพระคยานสิริ ตามมาด้วยพระมหานามะ,พระธัมมธร,พระภทันต์ ดี. ศาสนรังสี,พระวาย. ธัมมโลกาและพระดร. เอช. ศัทธาติสสะ,พระแอล.อริยวงศ์เป็นผู้รับตำแหน่งในปัจจุบันตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2493
         เพราะการสร้างวิหารแห่งนี้ จึงสามารถกล่าวได้ว่าพระพุทธศาสนาได้เข้ามาสู่เมืองหลวงของอินเดียแล้ว ประวัติศาสตร์ของวิหารแห่งนี้จึงถือเป็นประวัติศาสตร์ของการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในเมืองหลวง  การจัดงานฉลองพุทธชยันตีครั้งแรกในกรุงเดลีก็ได้จัดขึ้นที่วิหารแห่งนี้ในปีพุทธศักราช 2482  ตั้งแต่นั้นมาการจัดงานพุทธชยันตีก็ได้จัดขึ้นที่วิหารแห่งนี้ทุกปี ในปีพุทธศักราช 2493 เดลีก็ได้ถูกบันทึกไว้เป็นหลักฐานในการที่ขบวนแห่ของชาวพุทธครั้งแรกที่จัดขึ้นที่วิหารแห่งนี้เป็นกรณีตัวอย่างพร้อมด้วยความช่วยเหลือของดร.เอ็มเบ็ดการ์ ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2494 ภายหลังจากที่พระอริยวงศ์เดินทางมาถึงและเข้ารับตำแหน่งเจ้าอาวาส งานฉลองพุทธชยันตี ก็ได้จัดขึ้นที่วิหารแห่งนี้ในลักษณะที่เป็นองค์กร  ในทุกๆปี ประชาชนทุกเพศทุกวัย นักวิชาการที่มีชื่อเสียงตลอดจนนักการทูตจากประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ได้เข้าร่วมในงานนี้ด้วย  สิ่งที่น่าสนใจแสดงโดยผู้นำระดับชาติที่แสดงพฤติกรรมในวิหารนี้ที่เด่นชัดคือในจำนวนผู้ร่วมงานในวันพุทธปุรนิมาที่จัดขึ้นในปีพุทธศักราช 2494 มีแขกร่วมงานพิเศษคือ ดร. บี.อาร์ เอ็มเบ็ดการ์,ยวาหราล เนห์รู,ดร.ไกรลาส นาถ กัตจุ,โควินท์ พัลลัภ ปันท์, โมรารจิ เดไส,  ดร. ราเชนทร ประสาท, ลาล พหดุร ศาสตรี,ศรีมาตี อินทิรา คานธี,โคปัล สวารุป ปทักและ บี.ดี. จัตตี
         อโศกมิชชั่นวิหาร พี.โอ. เมหราอูลี นิวเดลี 110030 สร้างในปีพุทธศักราช 2493 โดยพระธัมมวรมหาเถระ ภิกษุชาวกัมพูชา  วิหารแห่งนี้ตั้งอยู่ในสถานที่ที่สวยงามมาก สภาพแวดล้อมเงียบสงบอยู่ใกล้กุตับ มินาร์และมีห้องอาหารตามต้องการแวดล้อมด้วยประชาชนท้องถิ่น ปัจจุบันพระลามะ ลอบซังเป็นประธานอโศกมิชชั่นแห่งนี้
         ศิลาฤกษ์ของเอ็มเบ็ดการ์ภวัน,ถนนรานี ชันสี,นิวเดลี-110055 วางในวันที่ 15 เมษายน 2494  โดยบาบาสาเหบ ดร. บี.อาร์ เอ็มเบ็ดการ์ ในปีพุทธศักราช 2499 ห้องในวิหารห้องหนึ่งได้เปลี่ยนแปลงเป็นห้องที่ศักดิ์สิทธิ์ วิหารแห่งนี้จัดการดูแลโดยพุทธสมาคมแห่งอินเดีย(ภารติยะ พุทธมหาสภา) ที่ก่อตั้งโดยดร.เอ็มเบ็ดการ์เพื่อทำงานในการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินเดีย พุทธสมาคมแห่งอินเดียได้มารวมกันทุกปี ในโอกาสพุทธชยันตี มีขบวนแห่ที่ใหญ่โตเต็มไปด้วยสีสรรค์ เริ่มต้นจากสถานสำคัญที่ในประวัติศาสตร์คือเรดฟอร์ท ผ่านไปที่ย่านชุมชนในเมือง และหยุดลงที่เอ็มเบ็ดการ์ภวัน  มีการประชุมสาธารณะที่จัดขึ้นทุกเย็น
         ลาดัคห์พุทธวิหาร ถนนเบลา เดลี 110054 ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยุมนา เป็นวิหารที่กว้างขวางมากที่สุดในเดลี มีห้องมากกว่า 40 ห้อง มีห้องประชุม วัดและห้องสมุด  สถาบันที่มีชื่อเสียงของชาวพุทธแห่งลาดัคห์ก่อตั้งโดยสังฆราชกุสัก ภากุล ผู้ที่เป็นประธานตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง สร้างขึ้นในปีพุทธศักราช 2506 ภายใต้การอุปถัมภ์ของยวาหลาล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย และได้เดินทางมาเปิดทำการในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2506 
         ห้องสวดมนตร์ของลาดัคห์พุทธวิหารมีพระพุทธรูปที่สวยงามสามองค์คือพระพุทธเจ้า พระสารีปุตต์และพระโมคคัลลานะ ภาพวาดขนาดใหญ่ 6 ภาพ บรรยายถึงพุทธประวัติประดับอยู่ที่ฝาผนังวิหาร
บ้านพักอยู่ในวิหารแห่งนี้ สร้างโดยรัฐบาลอินเดีย มูลค่า 5.50 แสนรูปี สำหรับใช้เป็นที่พักของลามะและนักเดินทางจาริกแสวงบุญจากบริเวณชายแดนตามคำร้องขอของพระกุสัก ภากุลต่อนายกรัฐมนตรีอินเดีย วิหารสร้างด้วยเงินบริจาคของมหาชน
ในห้องสมุดของลาดัคห์พุทธวิหารมีคัมภีร์ภาษาธิเบตที่ทรงคุณค่าจำนวนมาก คัมภีร์เหล่านี้นำมาจากวัดในลาดัคห์ ต้นฉบับลายมือที่เก่าที่สุดภายในวิหารมีอายุ 1,200 ปี เขียนโดยกษัตริย์สรองเซ็น คัมโปแห่งธิเบต ในวิหารยังมีคัมภีร์ที่มีชื่ออีก 16 ชุด ซึ่งเป็นคำอธิบายพระไตรปิฏก และเป็นที่นิยมใช้ศึกษาสำหรับชาวพุทธมหายาน
         ชกัชชโยติพุทธวิหาร ซานต์ นาคาร์ นิวเดลี 110016 อยู่ใกล้กับสถานที่ค้นพบจารึกบนแผ่นหินของพระเจ้าอโศกที่พาหปุระ สร้างในปีพุทธศักราช 2511 โดยชาวพุทธแห่งเบงกอลที่อาศัยอยู่ในเมืองหลวง โดยการแนะนำของพระแอล. อริยวงศ์ นายกะมหาเถระ
         วิหารอื่นๆอีก 20 แห่งในเดลีคือ อโศกวิหาร พารัดปุระ,พัลจิต นาคาร์ (เวสท์ ปาเตล นาคาร์), โภคัล,ดร.เอ็มเบ็ดการ์นาคาร์,โควินทปุรี (ใหญ่),โควินทปุรี (ดีดีเอ แฟลต),โคเวรธัน พิหารี โคโลนี (โภลานาถ นาคาร์),ลักษมีนาคาร์,อยู่ใกล้ๆกับ สพานไอ.ที.โอ. (1.สร้างโดยพระวิสุทธนันทะ 2. วัดธิเบต 3. วัดญี่ปุ่น) มดันคีรี,มุนิริกา,ปัจจิมวิหาร,อาร์.เค.ปูรัม,เซกเตอร์ 3,สหดรา (1. ในวิสวัส นาคาร์, 2. ถนนโลนี) สิทธารถ โคโลนี,บ้านพักสำหรับคนเดินทางชาวพุทธศรีลังกา,อยู่ใกล้สถานีรถไฟนิวเดลีและสัลตันปุรี
         พุทธวิหารในเดลีส่วนมากจะมีที่พักสำหรับภิกษุ ภิกษุที่มีอาวุโสในเดลีคือพระอริยวงศ์นายกะมหาเถระ และนายกผู้นำสงฆ์อินเดียภาคเหนือ เกิดในปีพุทธศักราช 2458 ในครอบครัวชาวพุทธบารัวที่จิตตกอง(ปัจจุบันคือบังคลาเทศ) ได้รับการอุปสมบทในปีพุทธศักราช 2481 ที่ศรีลังกาศึกษาพระพุทธศาสนาเป็นเวลา 9 ปี เข้าร่วมกับมหาโพธิสมาคมแห่งอินเดียในฐานะพระธรรมทูตในปีพุทธศักรา 2492 เดินทางมาที่เดลีในเดือนพฤศจิกายน 2493  ในหมู่พระมหายาน พระกุสัก ภากุล ประธานลามะแห่งลาดัคห์เป็นผู้มีอาวุโสสูงสุด เคยเป็นอดีตรัฐมนตรีแห่งจามูแคชเมียร์และอดีตสมาชิกรัฐสภา เคยได้รับมอบหมายเป็นคณะกรรมการเสียงข้างน้อยของอินเดีย        และยังเคยเป็นเอก อัคราชทูตอินเดียประจำมองโกเลีย
         พระภิกษุที่มีชื่อเสียงในอินเดียรูปอื่นๆคือพระลามะ ลอบซัง,พระวิสุทธนันทะ มหาเถระ,พระมหานาม มหาเถระ,พระศีลนันทะ มหาเถระ,พระดร.สัตยปาล,พระกรุนานันท์,พระคยันรัตนะ,พระสัตยศีล,พระ ดร. โดบูม ตุลกู(ธิเบต),พระมหาวีโร มหาเถระ(ไทย) ,พระวิจิตธัมมะ มหาเถระ (ศรีลังกา)

 

กัว
         มีพุทธศาสนิกชนที่กัว,ดามันและดิอูจำนวน 302 คน

 

คูจราต
         ในปีพุทธศักราช 2494 มีพุทธศาสนิกชนจำนวน 198 คน ปัจจุบันมีอยู่ถึง 7,550 คน พุทธวิหารที่สร้างใหม่ในคูจราตคืออาหเม็ด บัด,บาโรดาและเกโชด,จูนคารห์

 

หารยนะ
         มีประชากรที่นับถือพระพุทธศาสนาในหารยนะเพียง 761 คนเท่านั้น

 

หิมาจัลประเทศ
         ตามสัมโนประชากรในปีพุทธศักราช 2524 มีชาวพุทธในหิมาจัลประเทศจำนวนมากถึง 52,629 คน อาศัยอยู่ตามหุบเขาในลาหุล,สปิติ,คินนาอูระ,กุรุและคังกรา มีองค์กรสำหรับผู้สนใจศึกษาทางศาสนา มีวัดพุทธสำหรับพวกลามะจำนวนมากประมาณ 100 แห่ง ในหิมาจัลประเทศ

 

ลาหุล
         วัดที่มีชื่อเสียงในลาหุลอยู่ที่กเยลังและทุปชิลิง กเยลัง เป็นเมืองศูนย์กลางของลาหุลมีวัดพุทธศาสนาที่น่าประทับใจ สะสุระกอมปา เล่าลือกันว่าสร้างโดยลามะเทวกยัสโสแห่งลาดักคห์ในพุทธศตวรรษที่ 22  วัดคุรุ คันตัลที่ทุปชิลิง กล่าวกันว่าตั้งอยู่ ณ สถานที่ที่คุรุปัทมสัมภวะนั่งบำเพ็ญสมาธิก่อนที่จะเดินทางไปธิเบตในปีพุทธศักราช 1290 ในครั้งแรกวัดนี้เรียกว่าวัดคุรุ คันโธลา คำว่าคันโธลาในภาษาธิเบตหมายถึงบ้านพักที่ไม่มีมลทิน(บริสุทธิ์) และอ้างถึงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าที่พุทธคยา วัดนี้เชื่อกันว่าเป็นสถานที่ตรัสรู้ธรรมของปัทมสัมภวะ ที่มักจะเรียกกันว่าคุรุ คันโธลา ในช่วงเวลาหนึ่งวัดนี้ได้ถูกทำให้ผิดปรกติไปโดยชาวต่างชาติที่รู้จักกันดีว่าคุรุ คันโธลา วัดนี้มีพระพุทธรูปที่ทำด้วยไม้ เชื่อกันว่าได้รับมาจากรินเชนซองโปแห่งคินนาอูระประมาณพุทธศตวรรษที่ 16
         วัดอื่นๆในลาหุลอยู่ที่ลินดุระ,โบการ์,คุมรัง,ตยุล,ตินโน,โกลง,ขังสาร์,เคมุระ,จิสปะ,ตินกัล,ดารชา,เล็ปชัง,โธลา-ปยาสุ,โจห์ลิง,ปิอุการ์,คาจัง,การ์ดัง,ดาลัง,คนธาล,ขินัง,สสิน,จัคดัง,ลาบรัง,โคกุระ,เตลิง,ดัมผุงและโอธาง

 

สปิติ
         วัดตาโบรู้จักกันดีในนามว่าโชส-หโขร์ เป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดในสปิติ มีวิหารมากถึง 9 แห่ง อย่างน้อยที่สุดวิหาร 5 แห่งสร้างในพุทธศตวรรษที่ 16 ส่วนวิหารอีก 3 แห่งที่สำคัญมากที่สุดคือวิหารทองคำวิหารใหญ่ที่ทรอมป์ตันวัดแห่งเทพผู้ตรัสรู้ธรรม วัดทองคำมีจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับภาพเทพเจ้าต่างๆ และเทพผู้พิทักษ์ต่างๆจำนวนมาก  บนผนังหลังคาด้านในมีภาพวาดของคันธารวะ,ภาพนกและดอกไม้ต่างๆ วิหารใหญ่ทรอมป์ตันมีภาพวาดพระพุทธเจ้าขนาดใหญ่ ขนาบซ้ายขวาด้วยพระมหาโมคคัลลานะและพระสารีบุตร ที่ด้านข้างมีเทพผู้รักษา(แพทย์)อีก 8 องค์ ในวิหารแห่งนี้มีพระพุทธรูปจำนวนมาก
         วัดที่สำคัญอื่นๆอยู่ที่กิ ผนังห้องประชุม(ดูขาง)ของวัดมีจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงาม วัดที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งคือคุนคีรีอยู่ในหุบเขาพิน เชื่อกันว่าสร้างโดยปัทมสัมภวะในพุทธศตวรรษที่ 13
         วัดอื่นๆในหุบเขาสปิติอยู่ที่โลซาร์,หันษา,รังริค,กิบาร์,กาซา,กูอัง,เกอูลิง,โกมิก,ฮิกิม,ลังจา,ลารา,ไลดัง,โดมัล,สังรุง,รามา,ลา-ลุน,ดันคาร์,มาเนกอมปา,มาเนโยคมา,คิอู,กาอุริกตังติ,ผาร์,สัคนัม,โทดนัม,ติลิงและมุด

 

คินนาอุระ
         วัดพระพุทธศาสนาแทบทุกแห่งในหิมาจัลประเทศมักจะอยู่ที่คานุม หมู่บ้านเล็กๆในคินนาอุระ แต่สำคัญมากที่สุดเพราะสามารถอธิบายศิลปะทางสถาปัตยกรรมได้เป็นอย่างดี จิตรกรรมฝาผนัง และคุณค่าทางวรรณกรรมอยู่ที่หุบเขาบนความสูง 9,600 ฟุต คานุมอยู่ห่างจากชิมลา เมืองหลวงของหิมาจัลประเทศ ไปทางกัลปาเมืองที่เป็นศูนย์กลางของคินนาอุระประมาณ 33 ไมล์ เมืองเตหซิน ศูนย์กลางคือโป ไกลออกไปอีก 16 ไมล์ มีวิหาร 7 แห่งในคานุม ที่สำคัญสามแห่งมีพรรณาไว้ดังนี้
         วัดคังยุระ เก่าที่สุดในคานุม ตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน ตึกสองชั้นทำเป็นห้องสมุดที่ใหญ่โตมาก มีหนังสือคังยุระ(คันเจอร์) จำนวน 108 ชุด และตังยุระ(ตันเจอร์)จำนวน 255 ชุด เป็นตำราที่เขียนเป็นภาษาธิเบต เก็บรวบรวมไว้เพื่อเป็นห้องสมุดประจำหมู่บ้าน กล่องไม้สำหรับหนังสือตำราเหล่านี้แกะสลักที่ธิเบตกลางประมาณพุทธศตวรรษที่ 21 โดยนักวิชาการธิเบตที่เกิดในฮังการีคืออเล็กซานเดอร์ ชโสมา เด โคโรส(2327-2385) ได้ใช้ห้องสมุดแห่งนี้ทำการรวบรวมพจนานุกรมธิเบต-อังกฤษ เขาพักอยู่ที่คานุมเป็นเวลานานถึง 3 ปี ระหว่างปีพุทธศักราช 2370-2373 ได้รวบรวมคำศัพท์ภาษาธิเบตมากกว่า 40,000 คำ และเกือบจะเป็นพจนานุกรมธิเบต-อังกฤษ ฉบับที่สมบูรณ์ ต่อมาได้รับการตีพิมพ์โดยสมาคมเอเชียติกแห่งเบงกอล กัลกัตตา
         ลุนดุป กันเฟล กอมปาคือวัดที่ใหญ่ที่สุดในคานุมตั้งอยู่ในสถานที่สูงที่สุดของหมู่บ้าน วัดนี้เรียกว่าคาเช-ลหา-ขาง คือวิหารแคชเมียร์ สร้างโดยคนท้องถิ่น ตามทัศนะของท่านราหุล สันกฤตยยันกล่าวว่าสร้างโดยมหาบัณฑิตศักยะ วิรภันทรแห่งแคชเมียร์ สังฆราชาองค์สุดท้ายแห่งอินเดีย เดินทางออกจากินเดียในปีพุทธศักราช 1756 อาศัยอยู่ในธิเบต 10 ปี พื้นเพและบ้านเกิดของท่านอยู่ที่แคชเมียร์ เมื่อท่านมาพักอยู่ที่คานุมได้สร้างวิหารขึ้น 1 แห่งคือศากยะ วิรภัทรในโภตรู้จักกันในนามว่าคาเช-ปัน-เชน (บัณฑิตแห่งแคชเมียร์) ดังนั้น วิหารที่สร้างจึงได้ชื่อว่าคาเช-ลหา-ขาง  กอมปาแห่งนี้ที่ผนังมีภาพจิตรกรรมที่สวยงาม พรรณาถึงเรื่องราวต่างๆในพุทธประวัติ วัดแห่งนี้ยังได้รวบรวมหนังสือตำราทางศาสนาและพระพุทธรูปที่ทำด้วยดินเหนียวและไม้จันทน์ไว้อย่างดี
         วัดลาเชา ลาบรังหรือลหา-ขาง โลชาลามะ ได้ระลึกถึงการมาเยือนของรินโปเช โลชา ลามะแห่งตาชิลุนโป ที่ได้เดินทางมาเยือนคานุมในปีพุทธศักราช 2440 เมื่อเดินทางมาถึงได้สร้างวัดพุทธศาสนาที่รามปุระ โดยฝีมือติกกะ ราคุนาถ ซิงห์แห่งบูชาหระ
 วัดที่สำคัญอื่นๆในคินนาอุระอยู่ที่ ฮันโก,ซูลิง,ลีโอ,จังโก,นาโก ซาลขระ(กยาหาระ),สุมระ,ปิลู,โรปา,สุนัม,ซิอะซู,โป,นัมเกีย,ลิปา รารัง,ริบบา,ริสปา,โมรัง,ตาซิเกียง,ธังกิ,ชารัง,ชินี,ปันกิ,ปุรบานี,เปารี,บาริง,คิลบะ,สัปนิ,บารัวและสันคลา

 

คุลุ-คันกรา
         พุทธวิหารที่สำคัญในคุลุ-คันกราอยู่ที่หุบเขาคุลุและดารัมศาลา วัดธิเบตอีกแห่งที่สร้างเมื่อไม่นานมานี้ที่มนาลี ดารัมศาลาศูนย์กลางแห่งเมืองคันกรา มีวัดธิเบตที่สร้างใหม่อย่างสวยงาม เป็นที่พักอาศัยขององค์ทะไล ลามะ ซึ่งเข้ามาลี้ภัยการเมืองในอินเดียในปีพุทธศักราช 2502 ภายใต้สภาวะดินฟ้าอากาศที่โหดร้ายของดารัมศาลา แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นสถานที่สำหรับเดินทางท่องเที่ยวของนักจาริกแสวงบุญของชาวพุทธจากทั่วโลก คณะกรรมการบริหารทางศาสนาขององค์ทะไล ลามะ ซึ่งดำเนินการโดยหน่วยงานของธิเบตในอินเดียมีศูนย์กลางอยู่ที่ดารัมศาลา
         ในเมืองคันกรา มีวัดพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งสร้างเสร็จไม่นานมานี้ที่พิระ หมู่บ้านแห่งหนึ่งในเตหสิล ปาลัมปุระ สร้างโดยผู้อพยพชาวธิเบต ยังมีวัดต่างๆ อีก 5 วัด ในวัดเหล่านี้มีรูปเหมือนของพุทธปัทมสัมภวะและเทพเจ้าองค์อื่นๆ ในวัดเหล่านี้มีวัดแห่งหนึ่งคือเซรับ ลิง “แผ่นดินแห่งปัญญา” ตั้งอยู่บนภูเขารายล้อมไปด้วยหมู่แมกไม้ วิหารหลักเป็นอาคาร 3 ชั้น ด้านหน้าเป็นสนามหญ้า โอบล้อมไปด้วยห้องเรียนและห้องพักสำหรับพระภิกษุ บัลลังค์ ไตสิตูแกะสลักไว้อย่างสวยงาม  ประดับด้วยกงล้อธรรมจักรและมังกรตามประเพณีนิยมเหนือห้องในวิหาร เซรับลิงเป็น        

         โครงการที่ใหญ่โตออกแบบไว้เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาทางวิญญาณ,วัฒนธรรม,แพทย์และการศึกษา เพื่อประชาชนทั่วไป มีการจัดเตรียมห้องพักและห้องบำเพ็ญสมาธิ จัดเตรียมอุปกรณ์ทางด้านการศึกษาอย่างเพียงพอ พิระ ปัจจุบันเป็นที่ดึงดูดใจของนักท่องเที่ยวจำนวนมากทั้งจากอินเดียและต่างประเทศ ที่เดินทางมาเพื่อการศึกษาและบำเพ็ญสมาธิ
         วัดที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในเมืองคันกราอยู่ที่ติโลกปุระ อยู่ห่างจากดารัมศาลาไปทางใต้ประมาณ 32 กิโลเมตร และเดินทางสายตรงจากปธันโกตถึงแมนดี เป็นวัดสำหรับแม่ชีทางฝ่ายมหายาน
         เรวัลสาร์ จากแมนดีไป 20 กิโลเมตร  เป็นวิหารที่สำคัญมากที่สุดในแมนดี มีงานมหกรรมที่เรียกตามภาษาถิ่นว่า สิชูจัดขึ้นทุกปีในช่วงเดือนผัลคุณะ (มีนาคม-เมษายน) ที่วิหารมนิ-ปานี วิหารเก่าแก่ที่อุทิศต่อคุรุปัทมสัมภวะ ผู้ที่เคยบำเพ็ญสมาธิอยู่ในสถานที่แห่งนี้ในปีพุทธศักราช 1290 ก่อนที่จะเดินทางไปธิเบต ตั้งแต่นั้นมาปัทมสัมภวะ ที่รู้จักกันดีว่าคุรุรินโปเช ผู้ที่นำพระพุทธศาสนาเข้าสู่ธิเบตครั้งแรก และได้รับความเคารพจากลามะโดยไม่ได้คำนึงถึงนิกาย ในงานมหกรรมนี้มีชาวพุทธจากจากหิมาจัลประเทศและลาดักคห์เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
         ที่เมืองซิมลามีวิหารที่เก่าแก่อีกแห่งหนึ่ง อยู่ที่รามปุระสร้างโดยติกกะ ระคุนาถ ซิงห์ แห่งบุสาหระในปีพุทธศักราช  2440 เมื่อไม่นานมานี้มีการสร้างวัดธิเบตที่ใหญ่โตอีกแห่งหนึ่งในสันจัวลี      ในซิมลา เมืองหลวงของหิมาจัลประเทศ


 

 

จัมมูและแคชเมียร์

         มีชาวพุทธใรัฐจัมมูแคชเมียร์จำนวน 69,706 คน เกือบทั้งหมดอยู่ที่เมืองเลห์และคารกิลในลาดัคห์  ชาวลาดักคห์นับถือพระพุทธศาสนามหายานและถือเป็นกลุ่มที่เก่าแก่ที่สุดในอินเดีย มีพระภิกษุประมาณ 2,000 รูป และมีสามเณรี(แม่ชี)ประมาณ 1,000 คน อยู่ภายใต้การจัดการทางด้านการศึกษาที่มีศูนย์กลางอยู่ตามที่ต่างๆของอินเดียคือ บังกาลอร์,ดารัมศาลา, ไมซอร์,วาราณสี เป็นต้น มีผู้นำลามะจำนวน 7 องค์คือ
         1. พระกุสัก ภากุล ประธานลามะแห่งสปิตุกกอมปา
         2. พระกุสัก สตักสัง เรสปาแห่งเฮมิสกอมปา
         3. พระกุสัก ขันโป ริมโปเชแห่งธิคเชย์กอมปา
         4. พระกุสัก สตักนะ ริมโปเชแห่งสตักนะกอมปา
         5. พระกุสัก โตกดัน ริมโปเชแห่งกาโอนกอมปา
         6. พระกุสัก สตรัส ริมโปเชแห่งริซงกอมปา
         7. พระกุสัก โชเจ ริมโปเชแห่งชุมุระกอมปา
         คำว่ากุสักหรือกุโชคหมายถึงผู้ที่กลับชาติมาเกิดโดยการจุติลงมา พระกุสัก ภากุลเป็นลามะที่มีอาวุโสสูงสุดในลาดัคห์ เป็นผู้นำชาวพุทธแห่งลาดัคห์ที่ได้รับความเคารพนับถือมากที่สุด ปัทมภูสุนะได้รับรางวัลจากรัฐบาลอินเดีย พระกุสัก ภากุลได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลอินเดียให้เป็นเอกอัคราชทูตประจำมองโกเลียเป็นเวลายาวนานถึง 14 ปี และท่านยังได้เป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลจัมมูแคชเมียร์ด้วย หลังจากนั้นยังได้เป็นสมาชิกรัฐสภา ในฐานะที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเอกอัคราชทูตคนแรกแล้ว ยังได้เป็นสมาชิกแห่งคณะกรรมการชนกลุ่มน้อยแห่งอินเดียอีกด้วย
         มีวัดกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในลาดัคห์ที่เรียกว่า    “กอมปา” คำว่า “กอมปา” หมายถึง สถานที่ที่โดดเดี่ยวเดียวดาย และสถานที่เหล่านั้นโดดเดี่ยวจริง วัดที่สำคัญๆในลาดัคห์อยู่ที่ เลห์,เฮมิส,เชมเรย์,ตักตัก,ชาชุกุล,นโยมาคอร์โซค,อันเลย์,ชุมุระ,ธิคเชย์,มาโธ,สตักนะ,สปิตุก,กาโอน(เฟียง),ไลคิระ,โรซง,ลามะยุรุ,ลิโนชาด,โทสกิต,สัมสตันลินน์,ยารมะ,โคนโบ, ซานโปโซลิงในเลห์,นูบราและฉันธัน ที่อยู่ตามส่วนต่างๆอีกคือคารซา,สานิ,ปาทัม,บารทัน,มุนี,ผุกตัล,สตองเด,ซางคุลในซันสการ์และรังดุม,สารโนน,มุลเบคในคารกิล
         ในปีพุทธศักราช 2530 สมาคมชาวพุทธแห่งลาดัคห์ ด้วยความช่วยเหลือของชาวพุทธท้องถิ่นได้สร้างสถานที่ทางประวัติศาสตร์เพื่อเป็นที่พักขององค์ทะไล ลามะที่ชีวา ซัล เชย์ด้วยจำนวนเงิน 33 แสนรูปี องค์ทะไล ลามะเสด็จมาเยือนลาดัคห์ทุกปีในช่วงฤดูร้อน
         มหาสันติสถูป(เจดีย์สันติภาพ) สร้างไว้บนภูเขาซังสปา เลห์ โดยคณะสงฆ์แห่งญี่ปุ่นด้วยความร่วมมือจากชาวพุทธท้องถิ่น
 วัดที่สำคัญบางแห่งในลาดัคห์มีคำพรรณาไว้ดังนี้
         เฮมิสกอมปา ห่างจากเลย์บนถนนสายลาดัคห์-ธิเบตประมาณ 45 กิโลเมตรเป็นวัดที่ใหญ่และสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งในลาดัคห์ สร้างเมื่อปีพุทธศักราช  2173 โดยลามะสตัก-ซัง-รัส-ปะ ภายใต้การให้ความอุปถัมภ์ของกษัตริย์แห่งเซงเก นัมกยัล วิหารหลักคือทูขาง มีจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนขึ้นในปีพุทธศตวรรษที่ 22 แม้ว่าจะอยู่ในสภาพที่ไม่ดีนัก วัดโชค-ขางยังมีโชร์เต็นที่ทำด้วยเงินที่มีขนาดใหญ่ กล่าวกันว่าได้รับการถวายมาโดยลามะ ชัมภูนาถ กุโชคองค์ที่สามในฐานะของผู้สร้างวัด บางครั้งอาจจะอยู่ในช่วงกลางๆ พุทธศตวรรษที่ 23 มีพระพุทธรูปที่มีลักษณะที่สวยงามอยู่ด้วยมากมาย
         สันคาร์กอมปา จากเลห์ประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นการรวมตัวกันของอาคารและที่พักผ่อนที่เต็มไปด้วยต้นไม้ ตั้งอยู่ริมหมู่บ้าน มีรูปเหมือนของซงขปะผู้ก่อตั้งนิกายเกลุกหรือนิกายเหลือง
         สปิตุก กอมปา จากเลห์ลงไปทางอินดัสประมาณ 8 กิโลเมตร วัดนี้สร้างในพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นวัดแรกของนิกายเกลุก ที่สร้างในลาดัคห์ ชื่อนี้ในภาษาธิเบตหมายถึง “ข้อเตือนใจที่มีประสิทธิผล” มีวิหารเล็กๆ อยู่จำนวนหนึ่ง
         เชย์ กอมปา ห่างจากเลห์ประมาณ 14 กิโลเมตรบนเส้นทางไปสู่เฮมิส กอมปา เชย์เป็นเมืองหลวงเก่าของลาดัคห์ จนกระทั่งเซงเก นัมกยัล สร้างปราสาทที่เลห์ในพุทธศตวรรษที่ 22 วิหารมีขนาดใหญ่โตมีพระพุทธรูปที่ทำด้วยทองแดงประดิษฐานอยู่ นอกจากนั้นยังมีรูปเทพเจ้าและสิ่งที่ควรสักการบูชาอย่างอื่นอีกด้วย ชั้นล่างเป็นห้องสมุดมีหนังสือจำนวนมาก ที่ผนังมีภาพเขียนที่แสดงถึงพระพุทธเจ้าจำนวนพันองค์
         ธิคเชย์  อยู่ระหว่างทางไปสู่เฮมิส กอมปา เป็นกอมปาที่มีขนาดใหญ่และน่าประทับใจมากที่สุดในลาดัคห์ภาคกลาง คาดว่าน่าจะสร้างประมาณกลางพุทธสตวรรษที่  20 ในช่วงที่นิกายเกลุกกำลังแผ่ขยายไปที่ลาดัคห์ในยุคแรกๆ สิ่งที่น่าสนใจในปัจจุบันคือวิหารไมเตรยะหลังใหม่ ซึ่งอุทิศถวายโดยองค์ทะไล ลามะในเดือนกันยายน พ.ศ. 2523 กอมปาที่น่าประทับใจนี้มีรูปเหมือนพระไมเตรยะอันใหญ่โต ประทับนั่งบนบัลลังค์ดอกบัว
         เฟียง กอมปา ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำอินดัส ห่างจากเลห์ไปทางทิศใต้ประมาณ 15 กิโลเมตร สร้างโดยกษัตริย์ตาชิ นัมกยัลประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 21  ที่กอมปานี้มีพระพุทธรูปและภาพเขียนจำนวนมาก
         เชมเรย์ กอมปา อยู่ห่างจากเลห์ประมาณ 45 กิโลเมตร บริเวณทางแยกไปสู่ซังลา สร้างสำเร็จในปีพุทธศักราช 2189  ทูขางหลักมีภาพเหมือนของสตักซังรัสปะ และดรุกปะลามะองค์อื่นๆ จิตรกรรมฝาผนังเน้นภาพพระพุทธเจ้าเป็นหลัก ยังมีโชร์เต็นเงินที่สวยงามอีกจำนวนหนึ่ง มีคัมภีร์พระสูตรจำนวน 29 ชุดที่ตัวอักษรแกะสลักด้วยเงิน เป็นฝีมือของช่างที่ประณีตปิดด้วยทองคำบริสุทธิ์
         ธัค-ธัค กอมปา อยู่ห่างจากเชมเรย์เล็กน้อย สร้างในยุคปลายพุทธศตวรรษที่ 21 บริเวณใกล้ๆกันมีถ้ำแห่งหนึ่ง ที่เล่าลือกันว่าปัทมสัมภวะได้เคยบำเพ็ญสมาธิในช่วงระหว่างการเดินทางไปธิเบตในพุทธศตวรรษที่  13 สตักนา กอมปาคือวัดดรุกปะในยุคแรกๆที่สร้างในลาดัคห์ วิหารที่มีอยู่ปรากฎว่าสร้างในยุคต้นพุทธศตวรรษที่ 22  ทู-ขาง มีพระพุทธรูปและจิตรกรรรมฝาผนังจำนวนหนึ่ง เมื่อไม่นานมานี้มีการสร้างโชร์เต็นเงินด้วยช่างฝีมือที่ประณีต ประดับตกแต่งด้วยหินสีน้ำเงินอมเขียวอย่างไร้ตำหนิ
         ไลคิระ กอมปาเป็นวัดแห่งแรกที่สร้างในพุทธศตวรรษที่ 16 โดยกษัตริย์แห่งลาดัคห์ ได้รับการปรัปรุงซ่อมแซมใหม่โดยนิกายเกลุกในพุทธศตวรรษที่ 20  ทู-ขางเล็กๆ มีพระอวโลกิเตศวร 11 เศียร และภาพวาดที่ผนังด้านข้าง เป็นพระโพธิสัตว์แห่งความเมตตา
วัดลามะยุร อยู่ห่างจากเลห์บนถนนสายเลย์คารกิล 96 กิโลเมตร เป็นกอมปาแห่งหนึ่งที่เก่าที่สุดในลาดัคห์ สิ่งที่น่าสนใจคือรูปพระอวโลกิเตศวร 11 เศียร พันกรสร้างในพุทธศตวรรษที่ 21
         วัดอัลชิ อยู่ไม่ไกลจากลามะยุระ ประมาณ 10 กิโลเมตร บนถนนสายศรีนาคาร์-เลห์ มีภาพจิตรกรรมที่สวยงามในพุทธศตวรรษที่ 14-17 อัลชิสร้างโดยรินเชน ชังโป ในรัฐสมัยของกษัตริย์กูเก้แห่งลาดัคห์ (พ.ศ.1513-1743) ผู้เป็นศาสนูปภัมภกที่ยิ่งใหญ่ ภาพจิตรกรรมที่อัลชิมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่อนุรักษ์ประเพณีทางศิลปะ ซึ่งเคยเจริญรุ่งเรืองในหมู่บ้านของแคชเมียร์ ในช่วงที่พระพุทธศาสนาเคยเจริญรุ่งเรืองที่สุด มีวิหาร 5 แห่งที่หมู่บ้านอัลชิ ในวิหารเหล่านั้น ซุม เซค มีโครงสร้างที่น่าสนใจมากที่สุดในอัลชิ ภาพจิตรกรรมในวัดนี้มีสภาพที่ค่อนข้างจะสมบูรณ์ ภาพจิตรกรรมแบ่งออกเป็น 2 ระดับด้านบนเป็นภาพมณฑล และภาพพระอมิตาภะ,พระมัญชุศรีและพระศากยมุนีจำนวนมากอยู่ด้านล่าง นอกจากภาพจิตรกรรมแล้ว ในวิหารยังมีภาพพระอวโลกิเตศวร,พระไมเตรยะและพระมัญชุศรีที่ทำด้วยปูนปั้น สูง 12 ฟุต 

         ในวัดแห่งที่สอง ทู-ขาง ห้องโถงกลางมีพระไวโรจนะอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์อยู่ตรงกลาง,พระธยานิพุทธะ และเทพเจ้าอีก 36 องค์ มีภาพวาดมณฑลขนาดใหญ่ 6 ภาพ ที่ฝาผนังและมหากาพย์ว่าด้วยเทพผู้พิทักษ์อยู่เหนือประตู มณฑลแสดงวงกลมของพระไวโรจนะด้วยลักษณะต่างๆ ล้อมรอบด้วยพุทธะอีก 4 องค์คือพระอักโศภยะ,พระรัตนสัมภวะ,พระอมิตาภะและพระอโมฆสิทธิ พร้อมศักติอีก 4 องค์  วัดที่สามรู้จักกันดีว่า ลาขาง โชมา เป็นวิหารที่สมบูรณ์ที่สุด ภาพจิตรกรรมที่วิหารแห่งนี้แตกต่างกับที่อื่นๆ วัดลอตสวา—ลา-ขาง และมัญชุศรี ลา-ขางตั้งอยู่ปลายสุดและมีสภาพสมบูรณ์ วิหารหลังแรกอุทิศให้กับผู้สร้างวัดอัลชิ คือรินเชน ซังโป ส่วนวัดอื่นๆ  มีการต่อเติมเสริมแต่งด้วยภาพปูนปั้นของพระมัญชุศรีขนาดใหญ่กว่าคนจริงประมาณสี่เท่า

 

การนาตกะ
         ปัจจุบันการนาตกะมีพุทธศาสนิกชนจำนวน 42,142 คน เพิ่มขึ้นจากปีพุทธศักราช 2494 ซึ่งมีจำนวนเพียง 1,707 คน วิหารที่สำคัญในการนาตกะมี 14 แห่ง  ถนนกาลิทาส คานธีนาคาร์ บังกาลอร์ สร้างในปีพุทธศักราช 2483 โดยมหาโพธิสมาคม ถวายไว้เพื่อให้เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาที่ดำรงอยู่เพียงแห่งเดียวในปีพุทธศักราช 2499 ภายหลังการมาถึงของพระอาจารญ์พุทธรักขิต เป็นผลมาจากการอุทิศตนและถวายชีวิตในศาสนาเพียงหนึ่งเดียวนี้ จึงทำให้วิหารแห่งนี้มีความเจริญรุ่งเรืองจนกลายเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาในปัจจุบัน เป็นสถาบันการศึกษาทางพุทธวิทยา และเป็นศูนย์กลางฝึกอบรมสมาธินานาชาติ สถูปและและภาพจิตรกรรม และองค์กรอื่นๆที่พระอาจารย์พุทธรักขิตจัดตั้งขึ้นคือมหาโพธิ ไมตรี มันดัล,บังการ์ลอร์และไมซอร์,โรงพยาบาลมหาโพธิ์อโรคยาและศูนย์ผลิตแขนขาเทียม,บังการ์ลอร์, และมหาโพธิ์วิทยาพีธ บังการ์ลอร์พร้อมด้วยสาขาที่ไมซอร์และเลห์ ลาดัคห์ พระพุทธรักขิต เป็นพระนักวิปัสสนาจารย์,นักจิตวิทยา,นักปรัชญาและนักการศึกษา เป็นนักเขียนที่มีผลงานจำนวนมาก จัดพิมพ์หนังสือและจุลสารทางพระพุทธศาสนามากกว่า 50 เล่มในอังกฤษและแคนาดา เป็นบรรณาธิการวารสารรายเดือนชื่อ “ธรรมะ” ซึ่งท่านก่อตั้งเองในปีพุทธศักราช 2519 ส่วนกิจกรรมต่างๆ ในวิหาร พระอาจารย์พุทธรักขิต มีพระสังฆเสนเป็นผู้ช่วยเหลือ
         พุทธวิหารที่สำคัญอีก 2 แห่งในการนาตกะคืออโศกวิหาร,อโศกปูรัม เมืองไมซอร์ และพุทธวิหาร แชมเปี้ยน รีฟทุ่งโกลาร์ โกลด์ มีวัดธิเบตสองแห่งในรัฐนี้คือ วัดธิเบตเธคเชย์ ลิง ไบลาคุปเป และวัดธิเบตนัมโกลิง ไบลาคุปเป

 

เคราลา

         ที่เคราลามีชาวพุทธเพียง 223 คนเท่านั้น มีวิหารเพียงแห่งเดียวในรัฐนี้ที่กาลิคุต ควิลอน สร้างโดยมหาโพธิสมาคมแห่งอินเดียในปีพุทธศักราช 2470  ด้วยความเพียรพยายามของ ซี. กฤษณัน บรรณาธิการหนังสือ “มิตาวตี” และเอ็ม.รามา ไอเยอร์ พระธัมมขันธะคือชาวมลาลยาลีคนแรกที่อุปสมบทเป็นภิกษุ เพื่อการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาที่มาลาบาร์

 

มัธยประเทศ

         ในมัธยประเทศมีชาวพุทธเป็นจำนวนมากถึง 75,312 คน พุทธวิหารสมัยใหม่ที่สำคัญมากที่สุดในดินแดนของพระพุทธศาสนาในอดีตกาลคือเจติยคีรีวิหารที่ศานจิ สถานที่เก็บรักษาสารีริกธาตุอันศักดิ์สิทธิ์ของพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ ศิลาฤกษ์ในนิวเจติยวิหาร ซึ่งวางอยู่บนปลายสุดหน้ามุขทางด้านหน้าทิศเหนือของภูเขาเจติยคีรีที่มีชื่อเสียง ได้วางในวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2489 โดยนาวับแห่งโภปัล ไรอัน และสวามี ราโอ เป็นผู้ออกแบบวิหารที่สวยงามแห่งนี้ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานสารีริกธาตุที่ศักดิ์สิทธิ์ของอัครมาหสาวกที่ยิ่งใหญ่คือพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ นำมาประดิษฐานไว้ในเดือนพฤศจิกายน 2495  ในงานนี้มียวาหราล เนห์รู นายกอินเดียและอุนุนายกรัฐมนตรีพม่าเข้าร่วมพิธีด้วย สารีริกธาตุเหล่านี้คันนิงแฮมค้นพบในปีพุทธศักราช 2394 และนำไปเก็บรักษาไว้ที่กรุงลอนดอน อังกฤษ ส่งกลับคืนอินเดียในปีพุทธศักราช 2492 โดยการเรียกร้องของมหาโพธิสมาคมแห่งอินเดีย มูลค่าวิหารประมาณ 2 แสนรูปี  ด้วยความรับผิดชอบร่วมกันของมหาโพธิสมาคมแห่งอินเดียและศรีลังกา นาวับแห่งโภปัลได้บริจาคเงินช่วยเหลือ 25,000รูปี ด้วยการสนับสนุนด้านการก่อสร้างและเทคนิค
 พระปุณณติสสะมหาเถระแห่งศรีลังกา ภิกษุรูปแรกที่เป็นผู้บริหารเจติยคีรีมหาวิหาร เป็นผู้รับผิดชอบในการปรับปรุงศานจิเพื่อความเจริญรุ่งเรืองและยิ่งใหญ่ให้เหมือนกับวันเวลาในอดีต
 พุทธวิหารอื่นๆในมัธยประเทศอยูที่โภปัล,สาคาร์,ภิไล,มโฮว์,ดอนการกาด,อามลา,โกหกาดีบาร์ในเมืองบาลากัต,โสนาคีรีในเมืองทาเตียและมธานีในเมืองเบตุล พระภิกษุในมัธยประเทศคือพระธัมมศีล,สุกาตนันท์,พระธัมมปิติและยชัส


มหาราษฎร์
         รัฐมหาราษฎร์มีประชากรที่เป็นชาวพุทธจำนวนมากถึง 3,946,149 คน หรือคิดเป็น 84 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรที่เป็นชาวพุทธทั้งหมดในอินเดีย นับเป็นความภาคภูมิใจของชาวพุทธในอินเดีย
         การดำเนินการฟื้นฟูพระพุทธศาสนายุคแรกในรัฐมหาราษฎร์เริ่มต้นโดย ดร. อนันดราโอ แอล เนียร์และธัมมนันทะ โกสัมพี  ดร.  เนียร์ เป็นเภสัชกรและเป็นที่รู้จักกันดีในความใจบุญ ในปีพุทธศักราช 2465 เขาได้ก่อตั้งพุทธสมาคมแห่งบอมเบย์ขึ้น เพื่อให้พระพุทธศาสนาแพร่หลายในมหาราษฎร์ ในปีพุทธศักราช 2474 ได้สร้างพุทธวิหาร(อานันทวิหาร) ภายในบริเวณโรงพยาบาลของเขาที่บอมเบย์ พระธัมมนันทะเป็นชาวมหาราษฎร์คนแรกที่อุปสมบทเป็นภิกษุ ท่านอุปสมบทที่ศรีลังกาในปีพุทธศักราช 2445 จากปีพุทธศักราช  2455- 2461 โกสัมพีสอนภาษาบาลีที่วิทยาลัยเฟอร์กุสสัน ที่ปูณา ในปีพุทธศักราช  2480 โกสัมพีสร้างวิหารเล็กๆที่ปาเรล บริเวณที่พักของกรรมกรในบอมเบย์ และเรียกว่า “พหุชนวิหาร” หรือพุทธวิหารเพื่อมวลชน ท่านยังได้เขียนหนังสือเพื่อเป็นแรงกระตุ้นความคิดทางพระพุทธศาสนาในภาษาคูจราตีและมาราธี ที่สำคัญที่สุดคือ “ภควัน พุทธะ” พิมพ์ในปีพุทธศักราช 2483  แต่ผลตอบแทนในความเพียรพยายามของท่านนั้นมีไม่มากนัก

         เมื่อ ดร. เอ็มเบ็ดการ์ ผู้ที่เป็นพลังปัญญาอันยิ่งใหญ่ได้เกิดขึ้นในท่ามกลางชนชั้นต่ำในอินเดีย เขาได้ก่อให้เกิดสติปัญญาใหม่ในระหว่างมหาชน ได้ต่อสู้อย่างกล้าหาญเพื่อเปลี่ยนสถานภาพของพวกเขา แสดงวิถีทางแห่งความก้าวหน้า เพื่อความเป็นอิสระ เมื่อ ดร. เอ็มเบ็ดการ์ ได้มีการเรียกร้องที่ชัดเจน และมีการปฏิบัติตามมาคือในปีพุทธศักราช 2499 ได้ประกาศตนหันมานับถือพระพุทธศาสนา ประชาชนในรัฐมหาราษฎร ก็ได้ตอบสนองในวิถีทางที่ยิ่งใหญ่นี้ และพระพุทธศาสนาก็ได้เข้าถึงวิถีชีวิตของพวกเขาอย่างฉับพลันในรัฐมหาราษฎร์
         พระภิกษุที่มีชื่อเสียงมากที่สุด ซึ่งเป็นผู้ช่วยในการรักษาขบวนการชาวพุทธในมหาราษฎร์ ภายหลังจากการเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุของบาบาสาเหบ เอ็มเบ็ดการ์ในเดือนธันวาคม 2499 เมื่อพระ ดร. ภทันต์ อนันท์ เกาสัลยยัน พระภิกษุชาวปัญจาป ได้มาพักอาศัยอยู่ที่ดีกสา ภูมี นาคปุร์ ภายหลังกลับจากศรีลังกาในปีพุทธศักราช 2511 ท่านได้สร้างพุทธวิหารอันศักดิ์สิทธิ์และภิกษุนิวัติ เพื่อความสะดวกในการฝึกอบรมภิกษุใหม่ พระอนันท์ เกาสัลยยันได้ย้ายไปอยู่ที่พุทธภูมี ในปีพุทธศักราช 2525 ถนนแคมป์ที ไครี นาคปุร์ ซึ่งได้กลายเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาที่ดีเยี่ยมอีกแห่งหนึ่ง พระภิกษุที่โดดเด่นรูปอื่นๆในมหาราษฎร์คือพระ ดร. เอส. เมธันการ์,พระ สิวลี โพธิ,พระ เค. อานันทะ,พระธัมมกิตติ,พระ โพธนันทะ,พระสุเมธะ,พระสาทนันทะ,พระธัมมสถาน,พระศีลรัตนะ,พระพุทธโกศ,พระสัตศีล
         ในมหาราษฎร์ มีวิหารพุทธขนาดเล็กๆ ปรากฎขึ้นในชุมชนชาวพุทธและวิหารแทบทุกแห่ง พุทธวิหารที่ถนนเดหุ ปูเณ คือวิหารแห่งเดียวที่ ดร. เอ็มเบ็ดการ์ได้นำเอาพระพุทธรูปที่ชาวพม่ามอบให้ในปีพุทธศักราช 2497 มาประดิษฐานไว้ ที่ถนนเดหุได้สร้างวิหารขึ้นในวันที่ 25 ธันวาคม พุทธศักราช 2498 ส่วนในบอมเบย์วิหารที่สำคัญๆคือ (1) อานันทวิหาร ตั้งอยู่ภายในโรงพยาบาลเนียร์ ถนนดร. อานันท์ ราโอเนียร์ บอมเบย์-8 สร้างโดย ดร. เอ. แอล. เนียร์ มหาโพธิสมาคมแห่งอินเดียเข้าดูแลในปีพุทธศักราช 2496 (2) พหุชนวิหาร ปาเรล บอมเบย์-12  วิหารแห่งนี้พระธัมมนันทะ โกสัมพีสร้างในปีพุทธศักราช  2480 ด้วยความช่วยเหลือของเสธ เจ.เค. พิรลา มหาโพธิสมาคมเข้าดูแลในปีพุทธศักราช  2493  (3) พุทธวิหารญี่ปุ่น(วัดนิปปอนซาน เมียวโฮจิ) วอร์ลี บอมเบย์ สร้างโดยฟูจิอิ คุรุจิ ด้วยความช่วยเหลือของพิรลาบราเทอร์ (4) นาลันทาวิหาร เอ็มเบ็ดการ์ โคโลนี คาร์ บอมเบย์- 29 สร้างภายใต้การควบคุมของ ดร. เอ็มเบ็ดการ์ (5) สิทธารถวิหาร วาทาลา บอมเบย์ สร้างโดยสมาคมเพื่อการศึกษาของมหาชน ติดกับหอพักนักศึกษา (6) เจติยภูมีสถูป สิวลี ปาร์ค สร้างภายในบริเวณที่เผาศพของดร. เอ็มเบ็ดการ์ ในวันที่ 7 ธันวามคม 2499 เปิดทำการในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2511
         ในนาคปุร์ สถานที่ ดร. เอ็มเบ็ดการ์ประกาศตนเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา พร้อมกับผู้ติดตามอีกประมาณครึ่งล้านคนในวันที่ 14 ตุลาคม 2499  มีวิหารอยู่ประมาณ 40 แห่ง วิหารที่มีชื่อเสียงอื่นๆ ในนาคปุร์คือดีกสาภูมี,พุทธภูมี(ถนนแคมป์ที),สาทาร์,ปันช์ สีลนาคาร์,มิลินท์ นาคาร์,กิตติ ข่าน, วาร์ดหมายเลข 62,อิมอัมบารา,สัมตนาคาร์,บารา อินโดรา,ธัมมเพชร,เอ็มเบ็ดการ์ นาคาร์, ภีม นาคาร์,มหาวิหาร วาร์ด หมายเลข 14, บสันต์ นาคาร์และสันติวิหาร
 วิหารในที่บางแห่งในมหาราษฎร์คือ นาวับ เมธี คานา ปูเณ-1 ถนนนาสิก นาสิก,  นิว พุทธวาร์ เพชร เอ็มเบ็ดการ์ นาคาร์ โซลาปุระ-2 , มาเน่ กาโอน เมืองภันดารา ภูสวรรค์,ปุลกาโอน เมืองเคอร์ชาร์วารธา  สหปุระ,เมืองภันทารา, มาดจิ, เมืองภันทารา, นันกาโอน เมืองจัลกาโอน,พาลาปุระ,    เมืองอโกลา

 

มนีปุร์
         ในเมืองมนีปุร์มีชาวพุทธจำนวน 473 คน โดยมากเป็นชาวเขา

 

เมฆาลัย
         หุบเขากาโร ซึ่งรวมเอาหุบเขากาสี,จันเทียและมิคิระเข้าด้วยกัน เป็นส่วนหนึ่งของรัฐอัสสัม แต่ปัจจุบันได้แบ่งออกเป็นรัฐเมฆาลัย มีชาวพุทธในรัฐนี้จำนวน 2,739 คน วิหารสำคัญอยู่ที่สิลลอง เมืองหลวงของรัฐเมฆาลัย พระชินรัตนะมหาเถระ คือภิกษุผู้บริหารในวิหารแห่งนี้

 

ไมซอรัม
         การแบ่งอาณาเขตใหม่ของรัฐไมซอรัม(ในอดีต)เมืองในหุบเขาไมซออยู่ในรัฐอัสสัม มีชาวพุทธจำนวนมากถึง 40,429 คนในปีพุทธศักราช 2524 ชาวพุทธในไมซอรัมเป็นชาวเขาเผ่าจักมา ที่มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมสืบเนื่องยาวนาน ในยุคที่อังกฤษปกครองพื้นที่กว้างขวางรอบๆเดมะคีรีในหุบเขาไมซอทางทิศตะวันตก พวกเขายังยึดมั่นกับศาสนาประจำถิ่นอย่างมั่นคง ในภาคตะวันตกของไมซอรัม เพียบพร้อมไปด้วยพระสงฆ์และวัด มีพุทธวิหารมากกว่า 40 แห่ง และมีภิกษุ 13 รูปในไมซอรัม ประธานสงฆ์คือพระรักข พาอูโส

 

นาคแลนด์
         ที่นาคแลนด์มีชาวพุทธอยู่เพียง 517 คนเท่านั้น

 

โอริสสา
         ปัจจุบันมีชาวพุทธในโอริสสาจำนวน 8,462 คน พุทธวิหารที่สำคัญอยู่ที่พลอต 4 ยูนิต 9 เมืองหลวงใหม่คือภูวเนศวร์ ปัจจุบันมีพระสัทธนันทะเป็นผู้บริหารวัดแห่งนี้
         ชาวพุทธหลักที่มีเครื่องบ่งชี้ถึงยุคสมัยใหม่คือการสร้างเจดีย์สันติภาพโดยฟูอิจิ คุรุจิ ผู้ก่อตั้งพุทธสงฆ์ในญี่ปุ่น สร้างบนยอดเขาทาอูลิ สถานที่ทางประวัติศาสตร์ในสมัยที่พระเจ้าอโศกมหาราช ภายหลังจากเห็นการสังหารหมู่ครั้งใหญ่ในสงครามกาลิงคะ จึงได้ยึดเอาพุทธธรรมเป็นเครื่องป้องกัน เจดีย์สันติภาพแห่งกาลิงคะ ตั้งอยู่ในระยะทาง 15 กิโลเมตรจากภูวเนศวร์ ใกล้ๆกับแผ่นจารึกหินของพระเจ้าอโศก การวางศิลาฤกษ์สถูปนี้เริ่มขึ้นในวันที่ 25 มกราคม 2514    ได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินจากรัฐบาลแห่งโอริสสา เจดีย์สันติภาพกาลิงคะมีพิธีเปิดในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2515

 

ปอนดิเซอร์รี
         ที่ปอนดิเชอร์รีมีชาวพุทธอยู่เพียง 75 คนเท่านั้น

 

ปัญจาป
         ปัญจาปยุคใหม่ เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2509 ภายหลังที่มีการจัดการองค์กรใหม่ มีชาวพุทธจำนวน 799 คน จำนวนนี้มิได้นับชาวพุทธที่จันดิการ์ด้วย เมื่อไม่นานมานี้มีพุทธวิหารสมัยใหม่ 2 แห่งเกิดขึ้นในปัญจาป แห่งแรกคือสิทธารถนาคาร์ พี.โอ. โมเดล ทาวท์ เมืองจันดิการ์ และแห่งที่สองอยู่ที่อนันทการห์(เมหลันวาลี)ในเมืองโฮสิอารปุร์

 

ราชสถาน
         ในรัฐราชสถานมีชาวพุทธ 4,427 คน มหาโพธิอโศกมิชชั่น อัชเมอร์ ที่ก่อตั้งโดยราหุล สุมัน ฉันวาร นับเป็นความเพียรพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อการฟื้นฟูธรรมะ ท่ามกลางชาวโกลิยะในราชสถาน ปัจจุบันชาวโกลิยะมีจำนวนน้อยมากเมื่อนับจากต้นกำเนิดดั้งเดิมในสมัยพุทธกาล โกลิยะในอดีตได้รับการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า และได้สร้างสถูปที่รามคราม เมืองหลวง พุทธวิหารในราชสถานอยู่ที่ ดร. เอ็มเบ็ดการ์ มาร์ค, ถนนมโยลิงค์  อัชเมอร์ วาดิปุระ,เตหศีล กิสหันกานช์,เมืองโกตาห์,และภีม นาคาร์,สารมธุระ, เมืองภารัตปุระ

 

สิกขิม
         สิกขิมได้กลายเป็นรัฐอิสรภาพทางการเมืองในปีพุทธศักราช 2185 เมื่อลามะ 3 รูปคือกยัลวา ลัตสัน เฉมโป,เสมปา โฉมโปและริกซิม เฉมโปจากนิกายนยิงมาปะแห่งธิเบต ได้สถาปนาผุนโซค นัมกยัล(2147-2213)ในฐานะกษัตริย์แห่งเลปชา ดินแดนที่ได้รับการขนานนามว่าโชคยัล (กษัตริย์ผู้ปกครองตามกฎแห่งความชอบธรรม และบังคับใช้กฎนี้) ที่นัมกยัลในสิกขิมตะวันตก จนกระทั่งวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2518 สิกขิมก็ได้กลายเป็นรัฐหนึ่งในสาธารณรัฐอินเดีย เพราะเหตุนี้สถาบันแห่งโชคยัลจึงได้ถูกยกเลิกไป 
มีวัดหรือกอมปาในสิกขิมประมาณ 70 แห่ง ในวัดเหล่านี้วัดที่สำคัญมีดังต่อไปนี้
วัดเปมยังเซ ที่กยัลซิง ในสิกขิมตะวันตก เป็นวัดที่สำคัญมากที่สุดและเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาที่สำคัญในสิกขิม เป็นวัดของนิกายนยิงมาปะ ก่อตั้งในปีพุทธศักราช 2248 โดยกยัลวา ลัตสัน เฉมโป หัวหน้าลามะ  ผู้ได้รับพิธีเฉลิมฉลองและสถาปนาที่ยักสัมในปีพุทธศักราช  2185  พระพุทธรูปที่สำคัญในกอมปานี้เป็นรูปเหมือนของคุรุปัทมสัมภวะและคุรุเซงยัตขนาดใหญ่ปิดทอง ยังมีรูปเหมือนที่น่าเคารพบูชาและวัตถุแห่งการเคารพสักการะอีกมากมาย
         วัดตาชิดิง อยู่ในภาคกลางของสิกขิม เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในสิกขิม เป็นสถานที่สวดมนต์ประสิทธิพรครั้งแรกของปัทมสัมภวะผู้ยิ่งใหญ่ ในปีพุทธศตวรรษที่ 13 และในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 22  โดยงาดัก เชมปา เฉมโป  หนึ่งในลามะที่ร่วมในการสถาปนะโชคยัลครั้งแรกที่ยักสัมในปีพุทธศักราช 2185
         วัดรุมเต็ก ในสิกขิมตะวันออก ที่สร้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ 23 เป็นวัดในนิกายการมะ การกยุด หลังจากที่จีนยึดครองธิเบต สังฆราช กยัลวา การมาปะ ผู้ถือจุติในพุทธศตวรรษที่ 21   เป็นต้นกำเนิดของกยัลวา การมาปะแห่งธิเบต ได้เดินทางมาสิกขิมพร้อมกับลามะกลุ่มหนึ่ง รวมทั้งภิกษุและฆราวาสติดตามมาด้วย โชคยัลแห่งสิกขิมองค์สุดท้ายได้ถวายที่ดิน 74 เอเคอร์ต่อสังฆราชาเพื่อสร้างวัดในบริเวณใกล้ๆกับวัดรุมเต็ก ในห้องสวดมนต์ที่วัดใหม่นี้มีจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงาม และพระพุทธรูปทองคำขนาดเล็กสูงประมาณ 1 นิ้วจำนวน 1,001 องค์  บนผนังด้านหน้าประตูทางเข้า  ทางด้านข้างมีรูปมหาวิหารของพุทธศาสนา
         วัดเผนซัง อยู่ห่างจากคังโตกประมาณ 25 กิโลเมตร ใกล้ถนนหลวงสิกขิมทางด้านทิศเหนือ สร้างในปีพุทธศักราช 2264 โดยลามะ จิกเม ปาโว ผู้ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นกยัลวา ลัตสัน เฉมโป กลับชาติมาเกิดครั้งที่สาม ผู้ที่อยู่ในยุคสมัยของโชคยัลแห่งสิกขิมองค์ที่สาม อาคารหลังแรกถูกไฟไหม้ในปีพุทธศักราช 2490 และได้รับการสร้างใหม่ในปีพุทธศักราช 2491 เป็นวัดในนิกายนยิงมาปะ
         วัดราลงในสิกขิมตะวันตกที่สร้างโดยโชคยัลแห่งสิกขิมองค์ที่ 4 ในพุทธศตวรรษที่ 23 ผู้ที่ได้รับความสำเร็จตามสัญญาที่พระองค์ได้ให้ไว้กับผู้นำลามะแห่งโชผุใกล้ๆลาซา ผู้นำนิกายการมะ การกยุปะ ที่พระองค์ได้พบกันในระหว่างที่เดินทางแสวงบุญในธิเบต
         วัดโผดัง จากคังโตกไปทางสิกขิมภาคเหนือประมาณ 35 กิโลเมตรสังกัดนิกายการกยุปะ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ทำด้วยปูนปั้นและภาพเขียนที่มีชื่อเสียง เขียนขึ้นในสมัยโชคยัลแห่งสิกขิม
         วัดที่มีชื่อเสียงอื่นๆ อีกในสิกขิมคือสังคโชลิง,ขาโชด ปาลรี,ดับดี,และไซโนน(อยู่ในสิกขิมตะวันตก)วัดโธลุง(สิกขิมเหนือ)และวัดอันเชย์ที่คังโตก


 

 

ทมิฬนาดู
         มีชาวพุทธในทมิฬนาดูเพียง 735 คนเท่านั้นขบวนการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในทมิฬนาดู เริ่มขึ้นครั้งแรกโดยบัณฑิตอโยธยา ดัสส์ ผู้ก่อตั้งพุทธสมาคมในอินเดียใต้  ศาสตราจารย์ พี. ลักษมี นราสุ นักเขียนผลงานทางพระพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงเรื่อง “สาระสำคัญแห่งพุทธศาสนา” และพระนิลวักเก โสมนันทเถระ พระภิกษุผู้ทรงความรู้ในทมิฬ ในเวลาต่อมาได้เป็นผู้แทนแห่งโพธิสมาคมใน

 

มัทราส
         พุทธวิหารที่สำคัญ 2 แห่งในรัฐนี้อยู่ในมัทราส วัดแรกอยู่ที่เคนเนต เลนท์ เอกมอร์ มัทราส-8 ดำเนินการโดยมหาโพธิสมาคมแห่งอินเดีย สิ่งก่อสร้างอันเป็นศุภมงคลฤกษ์สำหรับวิหารนี้ชื้อมาในปีพุทธศักราช 2490 ในราคา 60,000 รูปี ภิกษุที่เป็นผู้บริหารในวิหารนี้คือพระรัตนปาล
         วิหารแห่งที่สอง เรียกว่าอาคารพุทธของนางแมรี ฟอสเตอร์ เลขที่ 41 ถนนปัดดี ฟิลด์ เปรัมบุร มัทราส-11 อาคารรวมทั้งวิหารด้วย ซื้อมาด้วยเงินกองทุนที่บริจาคโดยนางแมรี  อี. ฟอสเตอร์แห่งโฮโนลูลู           ผู้ที่ร่วมมือกับอนาคาริกธรรมปาละ และทำให้มีเงินกองทุนเป็นจำนวนมากมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการฟื้นฟูพระพุทธธรรมในอินเดีย        ภิกษุผู้บริหารวิหารนี้คือพระ
นันทรามแห่งศรีลังกา ผู้เดินทางมาเพื่อสั่งสอนธรรมแก่ประชาชนท้องถิ่นในปีพุทธศักราช 2449 ห้องสวดมนต์ยังทำเป็นศูนย์บัญชาการ(ที่ทำงาน) ของพุทธสมาคมแห่งอินเดียใต้
         วิหารอีกสองแห่งในทมิฬนาดูอยู่ที่พุทธเวดู เมืองมัทราสและราชาปัลยัม เมืองรามนาส

 

ไตรปุระ
         มีชาวพุทธในไตรปุระจำนวน 54,306 คน ส่วนมากเป็นชาวเผ่าจักมา เผ่าที่มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ในไตรปุระมีภิกษุประมาณ 100 รูป ส่วนมากเป็นชนเผ่าดั้งเดิม ที่อาศัยอยู่ในไตรปุระมาก่อน ภิกษุที่มีชื่อเสียงในไตรปุระคือพระขันติวรมหาสถวีระ,พระอู เตซา มหาสถวีระ,พระอู เซจินดะ มหาสถวีระ, พระอู นันทะ มหาสถวีระ,พระอู จันทสาร มหาสถวีระ,พระสุทารสันและพระเขมสาระ มีวิหารที่สำคัญในไตรปุระ 14 แห่ง วิหารที่สำคัญที่สุดคือเวนุวันวิหารในอการตาละ เมืองหลวงของไตรปุระ วัดพระพุทธศาสนาที่งดงามแห่งนี้สร้างในปีพุทธศักราช 2489 โดยเจ้าชายมหาราช ศรี พิระ พิกรัม กิชอร์ มนิคยา บาหดุรแห่งรัฐไตรปุระ มหาราชแห่งไตรปุระมีความเคารพรักและศรัทธาในพระพุทธศาสนามาก ดังนั้นพระองค์จึงสร้างวัดพระพุทธศาสนาแห่งนี้ในเมืองหลวงที่อการตาละใกล้ๆบริเวณพระราชวังของพระองค์ขนานนามว่า “เวนุวัน วิหาร” เพื่อเป็นการระลึกถึงสถานอันศักดิ์สิทธิ์คือ “เวฬุวัน” วิหารในเมืองราชคฤห์ในอดีต ปัจจุบันคือราชคิระในรัฐพิหาร หลังจากพิธีฉลองอย่างเป็นทางการปีพุทธศักราช 2489 มหาราชาผู้ยิ่งใหญ่ได้อุทิศวัดแห่งนี้และแผ่นดินทั้งหมดที่ทำการก่อสร้างวัดต่อภิกษุสงฆ์ และแต่งตั้งพระอารยมิตราเป็นผู้บริหารเวนุวันวิหาร เพราะความเร่าร้อนในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา วิหารแห่งนี้ ปัจจุบันเป็นศูนย์กลางในการประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาในไตรปุระ

 

อุตตรประเทศ
         ในอุตตรประเทศ ปัจจุบันมีชาวพุทธจำนวน 54,542 คน เพิ่มขึ้นจากปีพุทธศักราช 2494 ซึ่งมีอยู่เพียง 3,221 คน ภิกษุที่มีชื่อเสียงในรัฐนี้คือปรักยนันทะ,พระคอนทินยา,พระคยเนศวร,พระ ดี. เรวตะ,พระติสสะ,พระธัมมปิติ,พระสังหปาล,พระประกยารัตนะ,พระธรรมเกียรติ,พระโพธนันท์,พระ เอ. กรุณา,พระสุคตนันทะ,พระอุปาลี,พระจันทิมา,พระมหาวีระ,พระโสภิตะ,พระศีลภัทร์,พระอชุตนันท์,พระเอ.อมรวังศะ,พระ อู สมิธิ,พระ ดี. อารยเทวะ,พระธัมมดารศรี,พระประกยัชโยติ,พระคยัน ประภาการ,พระธัมมโลก,พระศาสนรัศมี,พระสุมังคละ,พระศีลรัตนะ
         มีวิหารมากกว่า 40 แห่งในอุตตรประเทศ ที่สำคัญมากที่สุดอยู่ที่สารนาถ,กุสินาคาร์และลัคเนาว์ สารนาถ อิสิปตนะอันศักด์สิทธิ์ ถูกทำลายทั้งหมดจนกระทั่งเริ่มต้นในศตวรรษนี้ เมื่ออนาคาริกธรรมปาละมาเยี่ยมสถานที่แห่งนี้ในปีพุทธศักราช 2434  จึงได้ตัดสินใจที่จะธำรงรักษาธัมเมกสถูปสัญลักษณ์ที่พระพุทธเจ้าได้สาวกรูปแรกที่กำลังเสื่อมสลาย และการแกะสลักของมือของคนป่าเถื่อน ต่อมาอีกหลายปีจึงได้เริ่มปรับปรุงสารนาถใหม่ โดยการซื้อที่ดินเพิ่มขึ้น2-3 พิกัส จากเจ้าของแผ่นดินท้องถิ่น ในปีพุทธศักราช 2447 ได้ซื้อที่ดินเพิ่มขึ้นอีก 10 พิกัส ได้วางศิลาฤกษ์ที่มูลคันธกุฎีวิหาร การฟื้นฟูสารนาถใหม่ได้กระทำในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2465 โดยเซอร์ฮาร์คอร์ท บัสเลอร์ นายกเทศมนตรีรัฐ ชื่อว่า “มูลคันธกุฏิ” ถือว่าพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ ชื่อนี้ครั้งแรกใช้ชื่อวัดตามสถานที่พระพุทธเจ้าเคยพักจำพรรษา

         ระหว่างการขุดค้นทางโบราณคดีที่สารนาถได้พบชิ้นส่วนป้ายจารึกขนาดเล็กๆแผ่นหนึ่ง ตามชื่อในแผ่นจารึกนี้ เป็นการกระตุ้นให้อนาคาริกธรรมปาละตั้งชื่อวิหารใหม่แห่งนี้ว่า “มูลคันธกุฏิวิหาร” มูลคันธกุฏิวิหารมีราคาประมาณ 120,000 รูปี ได้มาจากเงินบริจาคของนางแมรี ฟอสเตอร์แห่งโฮโนลูลู ผู้ที่คนโดยทั่วไปเรียกว่านางวิสาขะแห่งพระพุทธศาสนายุคใหม่ วิหารที่สง่างามนี้เปิดเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2474 (การติกะ ปุรนิมา) ในวันเดียวกัน พระบรมสารีริกธาตุอันศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธเจ้าที่ค้นพบจากเมืองตักศิลา ปัญจาปในปีพุทธศักราช 2456-2457 โดยเซอร์จอนห์ มาแชล ผู้อำนวยการทางโบราณคดีทั่วไปมอบให้มหาโพธิสมาคม โดยการสนับสนุนของรัฐบาลอินเดีย นำมาประดิษฐานไว้ที่วิหารแห่งนี้
         ศิลปะปูนปั้นตามแบบอชันตะอันสวยงามในมูลคันธกุฏิวิหาร วาดโดยจิตรกรชาวญี่ปุ่นผู้มีชื่อเสียง โคเสตสุ โนสุ ใช้เวลาในการวาดงานชิ้นนี้ถึง 3 ปี (2475-2478)  บี.แอล โบรคห์ตัน บริจาคเงิน 10,000 รูปี เป็นผู้นำในการบริจาคสำหรับผลงานอันสง่างามเพื่อความสวยงามแห่งวิหารนี้

 

วัดพระพุทธศาสนาอื่นๆ ในสารนาถคือวัดพม่า,วัดจีน,วัดไทยและวัดธิเบต
         ปลายปีพุทธศักราช 2433 พระมหาวีระสวามี ได้มาพักอาศัยอยู่ที่กุสินาคาร์ สถานที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ซึ่งไม่เพียงแต่ถูกทอดทิ้งเท่านั้น ยังเป็นสถานที่น่าหวาดกลัวอีกด้วย ครั้งแรกพระมหาวีระพักอาศัยอยู่ที่กุฏิไม้ไผ่ ค่อยๆฟื้นฟูซ่อมแซมวิหารและจัดเตรียมที่พักอาศัยสำหรับผู้จาริกแสวงบุญ เงินทุนที่จำเป็นเพื่อวัตถุประสงค์นี้มาจากพม่าด้วยความช่วยเหลือของเมือง ขี ซาร์ฮีแห่งพม่าผู้ที่ตั้งรกรากอยู่ที่กัลกัตตา งานของสวามีค่อยๆ ดำเนินต่อไปด้วยความร่วมมือของพระอู จันทรามณี ซึ่งได้มาพักอาศัยอยู่ที่กุสินาคาร์ด้วย ในปีพุทธศักราช 2446 ได้ร่วมสร้างกุสินาคาร์เพื่อให้เป็นที่พักอาศัยอย่างถาวร ผู้ที่เป็นประธานคือพระคยาเนศวรมหาเถระ
         พระโพธนันทะ มหาสถวีระ เป็นผู้หนึ่งในยุคแรกของการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินเดียเหนือ เพื่อทำให้การเผยแผ่พระพุทธศาสนามีความสมบูรณ์ จึงได้สร้างวิหารที่สวยงามแห่งหนึ่งในสวนสาธารณะริสัลดาร์ ลัคเนาว์ในปีพุทธศักราช 2468 ดังนั้นที่ลัคเนาว์จึงมีชื่อเสียงว่ามีวิหารแห่งแรกในอุตตรประเทศสมัยใหม่ อันเป็นสถานที่ไม่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าเลย หลังจากมรณกรรมของพระโพธนันทะในเดือนพฤษภาคม 2495 การจัดการวิหารแห่งนี้ ดำเนินการโดยมหาโพธิสมาคมแห่งอินเดีย ผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานคือพระปรักยนันท์มหาเถระ
         วิหารที่สำคัญอื่นๆ ในอุตตรประเทศคือ    (1)     พุทธวิหาร จักกี ปาต อัครา (2) พุทธวิหาร ดิกกี สหกานช์ อัครา (3) พุทธวิหาร กัตร วาซิร ข่าน อัครา (4) ศากยะ ศูนย์กาลางทางศาสนา(ราชปุร์) มัซโซรี (5) พุทธวิหารเอ็มเบ็ดการ์ นาคาร์ ฟาเตหปุระ (6) พุทธวิหาร อันชา การหิ ราชาปุระ (อัลลาฮาบัด) (7) พุทธวิหาร อังคุรี บัคห์ เฟอร์รุกฮาบาส (8) พุทธวิหาร ดาเทีย เมืองชันสี (9) พุทธวิหาร เอตาห์ (10) พุทธมาธ พุทธปุรี บาบูปุรวา คันปุระ (11) พุทธวิหาร มาโธกานช์ ปารตัปครห์ (12) พุทธวิหาร ซาดาร์ พาซาร์ ปารตัปครห์ (13) เนาชีวัน พุทธวิหาร เมืองมีรุต (14) นิวเชตวนาวิหาร สรัสวตี  (15) พุทธวิหาร คันกา ดารวาซ อเมธี เมืองฟาร์รุกฮาบาส (16) พุทธวิหาร นีมกรูรี เมืองฟาร์รุกฮาบาส (17) พุทธวิหาร ภารตัน เมืองเอตาวาห์ (18) อัลวัควิหาร วันคารมาอู เมืองอันนาโอ (19) มหาตมพุทธวิหาร สิทธารถนาคาร์ ลาคิมปุระ-เครี (20) ดร. ภิมเรา เอ็มเบ็ดการ์ พุทธวิหาร ไร บาริลลี และ (21) มหา ประคยา พุทธวิหาร ภูร์ พูลันศีหร์ (ก่อตั้งโดยพระภิกษุประคยา รัตนะ)

 

เวสท์เบงกอล
         ในเวสท์เบงกอล มีชาวพุทธ 156,296 คน ในปีพุทธศักราช 2524 ด้วยเหตุนี้จึงเป็นจำนวนประชากรใน 2 รัฐของอินเดีย ชาวพุทธที่สำคัญในเวสท์เบงกอลคือชาวพุทธบารัว ผู้ที่ยึดมั่นในพระพุทธศาสนาเป็นเวลายาวนานกว่า 2000 ปี และชาวพุทธในเนปาล ซึ่งตั้งหลักแหล่งอยู่รอบๆเมืองดาร์จิลิง มีภิกษุประมาณ 70 รูป ลามะชาวธิเบตประมาณ 480 รูป ในเวสท์เบงกอล ภิกษุที่มีชื่อเสียงในรัฐนี้คือพระธรรมปาลมหาเถระ,พระอนันทมิตรามหาเถระ,พระธรรมธรมหาเถระ,พระ ดร. ปรัชญานันทะ,พระ ชินเสน,พระชินนันทะ,พระ แอล. อริยวังศมหาเถระ ที่นิวเดลี, พระพุทธรักขิตมหาเถระ ที่บังกาลอร์มีพระ ดร. รัสตรปาลมหาเถระที่โพธคยาและพระชินรัตนะมหาเถระ สิลลอง มีพระภิกษุชาวเบงกอลที่มีชื่อเสียง 4 รูปที่ทำคุณประโยชน์ภายนอกรัฐเวสท์เบงกอล
         มีวิหารมากกว่า 50 แห่งในเวสท์เบงกอล ที่สำคัญที่สุดคือศรีธัมมราชิกวิหาร และพุทธธัมมันกุรวิหารในกัลกัตตา,ธัมมราชิกวิหาร พันคิม ถนนจัตเตอร์จี กัลกัตตา-73 ที่สร้างโดยอนาคาริกธรรมปาละ โดยได้รับเงินบริจาคจากนางแมรี อี. ฟอสเตอร์แห่งโฮโนลูลู ในปีพุทธศักราช 2457 อนาคาริกได้ที่ดินในที่ปลอดภัยบริเวณสี่แยกวิทยาลัยซื้อมาด้วยราคา 20,000 รูปี การวางศิลาฤกษ์วิหารนี้กระทำในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2461 เซอร์จอห์น มาแซล เป็นผู้ออกแบบวิหารที่สวยงามแห่งนี้ ในรูปแบบตามศิลปะอชันตะวิหาร  และ เอ็ม.เอ็ม. คันกุลี นักเขียนนักออกแบบทางสถาปัตยกรรมแห่งโอริสสา เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง วิหารแห่งนี้ใช้เงินทุนในการก่อสร้างมากกว่า 110,000 รูปี นางฟอสเตอร์ได้บริจาคมีจำนวนมากถึง 88,000 รูปี พิธีฉลองเริ่มเปิดเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2463  โดย เอช.อี.โรนัลทเชย์ นายกเทศมนตรีแห่งเบงกอล ในวันเดียวกัน พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าที่ค้นพบในโกศหินคริสตัลในระหว่างการขุดค้นที่ภัตติโปรลูในอันธรประเทศ  ได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ในวิหารนี้ ตั้งแต่เริ่มก่อสร้างธัมมราชิกวิหาร ได้ให้บริการในฐานะที่เป็นแสงสว่างนำทางในขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินเดีย
         วิหารที่สำคัญแห่งที่สองในเวสท์เบงกอลคือพุทธธัมมันกุรวิหาร หมายเลข 1 ถนนวัดพุทธ กัลกัตตา-12 วิหารแห่งนี้เป็นพุทธวิหารแห่งแรกที่สร้างในเวสท์เบงกอล สร้างโดยพระกริปสรันมหาเถระ ผู้ก่อตั้งพุทธสมาคมแห่งเบงกอล ประธานสงฆ์แห่งวิหารนี้คือพระธัมมปาลมหาเถระ
         พุทธวิหารอื่นๆในกัลกัตตาคือญี่ปุ่นพุทธวิหาร ถนน 60 เลค,วัดจีนพุทธวิหาร ถนนจัสเซอร์ 426, พุทธวิหารตัลลิกานช์ หิมาลัยพุทธกอมปา,เวนุพันวิหาร,ดุม ดุม กานต์,พุทธวิหาร กาเรีย,ธัมมจักรวิหาร,ดุม ดุม, วัดพม่า ถนนโรงพยาบาลอีเด็น,วัดจีน ตันกรา,โพธิจริยาวิหาร ใกล้สนามบินดุมดุม
         วิหารและวัดที่ดาร์จิลิงคือวัดกฮูม,วัดโภเทีย บัสติ,วัดธูปเท็น สันกัก โชลิงที่เวสท์พอยส์, วัดโดรโม โดงการ์,คุรุลาขาง,วัดดู ซู,วัดเม็ม, คันธามทันวิหาร,โชตะ กักโชรา,อานันทวิหารที่โสนาทะ  วิหารอื่นๆในเมืองดาร์จิลิงคือไตรยยันวารธนะวิหาร กลิมปง,ธัมโมทัยวิหาร กลิมปง,วัดธารปะ โชลิง กลิมปง สังโด เปรี, วัดกลิมปงโดงเซอร์ โกน สุม, กลิมปง, พุทธวิหาร ถนนเชโวค สิริคุรี,พุทธวิหาร กุเรซง,พุทธวิหาร ปราธัน นาคาร์ สิลิคุรี
         ในเขต 24 ปารการมีพุทธวิหารคือ พุทธวิหาร, เคาตมะนาคาร์,มเหษตาลา, ศักยมุนีวิหาร รามปุระ,โพธิวิหาร สหยัมนาคาร์, คุนจาบันวิหาร โมหันปุระ, ตถาคตวิหาร อิชาปุระ, รัตนกุระวิหาร โสเดปุระ,ไตรรัตนะวิหาร วิเวกนาคาร์, เชตวันวิหาร ทูตตปุคุระ
         สถานที่อื่นๆในเวสท์เบงกอลมีพุทธวิหารคือ เคาตมะวิหาร ทุรกปุระ,พุทธวิหาร กัลนา,พุทธวิหารบุรนะปุระ อสันโซลในเมืองบุรทวัน,ธัมโมทัยวิหาร ริสหรา,เชตวันวิหารริสหรา,สันติวันวิหาร เดอุลปาระในเมืองฮูกลี,พุทธวิหาร ราชจันทรปุระในเมือง โฮว์ราห์, พุทธวิหาโร มัล จัลไปคุรี,พุทธชยันตีวิหาร,นาคารกตะ,สันติวิหาร นิเกตัน ดัมดิน, สันติวิหาร เมย์นาครี,ไมตรีวิหาร บินนาคุรี,พุทธวิหาร ฮาสิวระในเมืองจัลไปคุรีและพุทธวิหาร เดสหบันธุ นาคาร์ในเมืองมิดนาปุระ

 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
แปลจาก D.C. Ahir, Buddhism in Modern India, Sri Satguru Publications,Delhi,1991. (บทที่ 4)
21/05/55


 

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก