วันวิสาขบูขาปีพุทธศักราช 2555 เป็นวันครบรอบ 2600 ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ชาวพุทธทั่วโลกได้จัดงาน “พุทธชยันตี 2600 ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า” เพื่อระลึกถึงวันที่พระพุทธพุทธองค์ได้ตรัสรู้ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ปัจจุบันคือพุทธคยาหรือโพธคยา เผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ชาวโลก พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นในชมพูทวีปหรือปัจจุบันคือดินแดนส่วนหนึ่งของประเทศอินเดีย เนปาล เผยแผ่คำสอนอยู่ได้พันกว่าก็ปีก็ถูกลืมเลือนไปจากดินแดนอินเป็นมาตุภูมิ ในยุคปัจจุบันมีพระภิกษุชาวอินเดีย วัดและวิหารเกิดขึ้นมากมายหลายแห่งในรัฐต่างๆ ข้อมูลจากหนังสือ "Buddhism in Modern India, โดย A.C. Ahir พิมพ์จำหน่ายในอินเดียโดยสำนักพิมพ์ Sri Satguru Publications,Delhi,1991 บทที่ 4 ว่าด้วยภิกษุและวิหารในอินเดียยุคใหม่ เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ศึกษาประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในอินเดียยุคใหม่ แปลเก็บไว้หลายปีแล้ว สำนวนแปลยังมิได้ขัดเกลาแต่เนื้อหายังใช้ได้ ขอเชิญติดตามได้
ภิกษุและวัดคือสิ่งที่แสดงถึงบทบาทอันสำคัญในความเคลื่อนไหวของแต่ละศาสนา ที่สำคัญมากที่สุดสำหรับพระพุทธศาสนาคือพระสงฆ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเสาหลักที่สำคัญทั้งสาม(พระรัตนตรัย) ที่ทำให้ศาสนามีความยิ่งใหญ่และดำรงอยู่ได้ เมื่อขบวนการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาเริ่มขึ้นในปีพุทธศักราช 2434 ถึงแม้จะไม่มีพระภิกษุและวิหารเหลืออยู่เลยในอินเดีย ยกเว้นเพียงบางเมืองในบริเวณที่เป็นหุบเขา สัญลักษณ์แห่งความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในอดีตจึงเหลืออยู่ที่วัดมหาโพธิ์ที่ยิ่งใหญ่ที่โพธคยาเพียงแห่งเดียว แต่ก็ไม่มีพระภิกษุเหลืออยู่เลย เพราะการกระทำย่ำยีของฮินดูนิกายมหันต์
ชาวฮินดูคนแรกที่เข้ามาบวชเป็นภิกษุในยุคสมัยใหม่นี้คือมหาวีระ เป็นหลานของบาบูคุนวาร ซิงห์แห่งจักดิสห์ปุระในรัฐพิหาร ผู้มีส่วนร่วมในการต่อต้านรัฐบาลอังกฤษที่ปกครองอินเดียในปีพุทธศักราช 2400 ในช่วงชีวิตที่ผ่านมามหาวีระเป็นนักมวยปล้ำ ในขณะที่ท่องเที่ยวเพื่อเข้าแข่งขันในกีฬามวยปล้ำนั้น ได้เดินทางผ่านมัทราสไปจนถึงศรีลังกา ในที่สุดได้เปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนาและอุปสมบทเป็นภิกษุที่ศรีลังกาในปีพุทธศักราช 2433 หลังจากนั้นได้เดินทางไปพม่าและย้อนกลับมาอินเดียในปีพุทธศักราช 2434 ได้พักอยู่ที่กุสินารา สถานที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ในปีพุทธศักราช 2444 ท่านมหาวีระได้สร้างธรรมศาลาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่บรรดานักจาริกแสวงบุญ ในปีพุทธศักราช 2445 ก็ได้สร้างวิหารในศิลปตามแบบสมัยใหม่ขึ้น ซึ่งเป็นวิหารร่วมสมัยแห่งแรกที่สร้างขึ้นในอินเดีย
หลังจากพระมหาวีระ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่ามหาวีระ สวามี ก็มีท่านธัมมนันทะโกสัมพีได้อุปสมบทต่อมา ท่านโกสัมพีเกิดที่กัว ในปีพุทธศักราช 2419 วันหนึ่งในปีพุทธศักราช 2440 ได้อ่านประวัติย่อของพระพุทธเจ้าในวารสารมารธี วารสารสำหรับเด็กพิมพ์ที่บอมเบย์ จึงได้เกิดความประทับใจอย่างมากในเรื่องราวแห่งความสูงส่งของพระพุทธเจ้า จึงได้ตัดสินในที่จะศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างละเอียด จนกลายเป็นแรงกระตุ้นให้เขาเดินทางออกจากบ้านในเดือนธันวาคม ปีพุทธศักราช 2442 เริ่มต้นศึกษาภาษาสันสกฤตอีก 2 ปีที่เมืองปูณาและพาราณสี ไม่เพียงแต่สนใจในภาษาสันสกฤตเท่านั้น ยังได้เดินทางไปถึงเนปาลเพื่อแสวงหาพระพุทธศาสนา แต่เมื่อไปถึงกัฏฐมัณฑุ ในเนปาลก็ต้องผิดหวังในสิ่งที่ได้เห็น โกสัมพีจึงกลับอินเดียและเดินทางไปยังโพธคยา สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ที่โพธคยาพระภิกษุรูปหนึ่งแนะนำให้ท่านเดินทางไปศรีลังกา เพื่อที่จะได้เห็นพระพุทธศาสนาที่ยังคงมีวิถีปฏิบัติอยู่จริงๆ เขาจึงได้เดินทางไปศรีลังกาถึงเมืองโคลัมโบในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2445 ไม่นานนักก็ได้เปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนาและอุปสมบทเป็นภิกษุ ท่านโกสัมพีจึงกลายเป็นคนอินเดียคนที่สองที่อุปสมบทเป็นภิกษุในยุคสมัยใหม่ พระธัมมนันทะ โกสัมพีเป็นนักวิชาการด้านภาษาบาลีคนแรกที่ศึกษาภาษาบาลีจากอักษรเทวนาครีในอินเดีย ท่านได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเป็นภาษามารธีและคูจราตี ในปีพุทธศักราช 2480 ท่านได้สร้างวิหารเล็กๆหลังหนึ่งที่ปาเรล บอมเบย์ เรียกว่า “พหุชนวิหาร” หรือวัดของมหาชนชาวพุทธ ท่านมรณภาพในปี 2490
ต่อจากท่านธัมมนันทะโกสัมพีก็เป็นท่านโพธนันทะ เกิดในสกุลชาวเบงคลีในไมรซาปุระ รัฐอุตตรประเทศ พ่อแม่เสียชีวิตตั้งแต่ท่านยังเด็ก จึงอาศัยอยู่กับป้าที่เป็นหม้ายที่เมืองวาราณสี(บานารัส) ต่อมาเป็นบวชเป็นสาธุมีนามว่านิจ โพธินันทะ ในปีพุทธศักราช 2439 ได้พบกับภิกษุกลุ่มหนึ่งจากศรีลังกาซึ่งเดินทางจาริกแสวงบุญที่สารนาถ เกิดความประทับในในกิริยาอาการที่สงบรวมทั้งวิถีชีวิตที่สง่าผ่าเผย จึงเกิดความสนใจพระพุทธศาสนาและได้รับการอุปสมบทเป็นภิกษุในปีพุทธศักราช 2457 และเป็นภิกษุรูปแรกที่อุปสมบทในอินเดีย ณ ช่วงเวลานั้นยังไม่มีการสมมุติสีมาเพื่อทำการอุปสมบทขึ้นในอินเดียเลย พระโพธนันทะที่อุปสมบทในปีพุทธศักราช 2457 นั้นโดยพระกริปสรัน มหาเถระและหมู่ภิกษุอื่นๆ บนเรือในแม่น้ำคงคาใกล้กัลกัตตา ตามพระวินัยอนุญาตให้พระภิกษุอุปสมบทในน้ำ ในที่ที่ยังไม่มีสีมาที่สร้างไว้บนบกได้ นับเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจว่า การสมมุติสีมาเพื่อการอุปสมบทของพระภิกษุปัจจุบันนี้เกิดขึ้นที่สารนาถ อิสิปตนะดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์และกุสินาคาร์ ในอุตตรประเทศ ต่อมาก็ได้มีสีมาขึ้นที่ธัมมันกุระ วิหาร กัลกัตตาและสิลิคุรี ในเวสท์ เบงกอล,อโศกมิชชั่นวิหาร นิวเดลี,ในอัสสัมและไตรปุระ
ในปีพุทธศักราช 2459 พระโพธนันทะได้ก่อตั้งพุทธสมาคม มีสำนักงานใหญ่ที่ลัคเนาว์ เพื่อสอนและเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอินเดียเหนือ ในปีพุทธศักราช 2468 พระโพธนันทะได้สร้างพุทธวิหารอันสวยงามขึ้นที่สวนสาธารณะไรสัลดาร์ ลัคเนาว์ ท่านสร้างห้องสมุดทางพระพุทธศาสนาและมีจำนวนหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก ทั้งภาษาบาลี,สันสกฤต,เบงกาลี,ฮินดี อุรดู,เปอร์เซี่ยนและอังกฤษ เพราะการสร้างวิหารและห้องสมุดนี้ ลัคเนาว์จึงได้กลายเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาที่ยอดเยี่ยมแห่งหนึ่ง นับเป็นเวลาหลายปี ที่ท่านได้กระตุ้นให้ประชาชนหันมาปฏิญาณตนเป็นพุทธศาสนิกชน พระโพธนันทะมรณภาพในปีพุทธศักราช 2495
ต่อจากพระโพธนันทะก็มีพระภทันต์ อนันท์ เกาสัลยยัน เกิดเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2448 ในครอบครัวชาวปัญจาบที่เมืองโสหนะใกล้ๆ จันดิการห์ สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยนานาชาติลาฮอร์ในปีพุทธศักราช 2467 หลังจากนั้นไม่นานจึงได้ละบ้านเรือนออกท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆเพื่อแสวงหาความสุขสงบภายใน ได้พบกับพระราหุล สันกฤตยยันโดยบังเอิญในปีพุทธศักราช 2469 หลักฐานที่พบในเวลาต่อมาท่านได้กลายเป็นอารยะ สามาจิ ปาริวราชิก และเปลี่ยนชื่อจากหารนัมทัสเป็นพรหมจารี วิสหวนาถ ในปีพุทธศักราช 2470 พระราหุล สันกฤตยยันได้ร่วมมือกับวิทยาลังการ ปริเวนะ,เกลานิยะ,ศรีลังกาในฐานะครูสอนภาษาสันสกฤต เมื่อได้รับคำเชิญพร้อมกับวิสหวนาถจึงเดินทางไปศรีลังกาเพื่อร่วมมือกับปริเวนะ ที่ศรีลังกานี่เองวิสหวนาถได้นับถือพระพุทธศาสนาและได้รับการอุปสมบทเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2471 พร้อมกับได้ฉายาใหม่ว่าอนันท์ เกาสัลยยัน
ราหุล สันกฤตยยัน เกิดเมื่อวันที่ 9 เมษายน พุทธศักราช 2435 ในเมืองอซัมครห์ รัฐอุตตรประเทศ เป็นผู้ที่ย้ายที่อยู่บ่อยไม่มีหลักแหล่งแน่นอนย้ายที่อยู่หลายครั้ง ออกจากบ้านตั้งแต่อายุได้ 13 ขวบ ในขณะที่ยังเรียนหนังสืออยู่ แต่ก็ได้ออกเดินทางท่องเที่ยวอย่างไร้จุดหมาย ปาราสมหันต์ในเมืองฉาประ รัฐพิหาร ให้การอุปถัมภ์ เพื่อให้บรรลุสิทธิในนามว่าสาธุ ราโมทารทัส แต่ “ความกระหายอยาก”(ความปรารถนา)ในการแสวงหาความรู้ และ “ความปรารถนาอย่างแรงกล้า” ในการเดินทางท่องเที่ยว ได้กระตุ้นให้ราหุลออกจากปาราส ดังนั้นจึงได้กลายเป็นผู้จาริกแสวงบุญต่อไป ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ 2456 ขณะที่ท่องเที่ยวไปตามชนบท ได้เข้าไปอยู่ภายใต้อิทธิพลของอารยะสมาช และได้กลายเป็นสมาชิกใหม่ในฐานะนักเทศน์แห่งอารยสมาช ครั้งหนึ่งระหว่างการเทศนาที่ลัคเนาว์ ในปีพุทธศักราช 2460 เขาได้มาพบกับพระโพธนันทะ และได้ศึกษาพระพุทธศาสนาครั้งแรกจากพระโพธนันทะ ในปีพุทธศักราช 2470 ได้เข้าร่วมงานกับท่านวิทยาลังการ ปริเวนะ และท่านเกลานิยะในศรีลังกา ในฐานะครูสอนภาษาอังกฤษ และได้รับการอุปสมบทเป็นภิกษุในปีพุทธศักราช 2473
ต่อจากท่านราหุล สันกฤตยยันคือพระจักดิสห์ กัสหยัป เกิดที่รันชิ รัฐพิหาร พุทธศักราช 2451 หลังจากที่จบการศึกษาที่ปัตนะในปีพุทธศักราช 2472 ก็ได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยบานารัส ฮินดู และจบปริญญาโททางด้านปรัชญาในปีพุทธศักราช 2474 เพราะอิทธิพลของปู่ จักดิสห์ กัสหยัป จึงถูกดึงเข้าสู่อารยสมาช และได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานคุรุกุละ ที่ไภทยนาถธัมในพิหารในช่วงระหว่างปีพุทธศักราช 2474-2476 อย่างค่อยเป็นค่อยไป เขาพยายามที่จะหลุดพ้นจากการจัดการของคุลุกุละ ปัญหาที่น่าวิตกกังวลอย่างมากคือช่องว่างระหว่างหลักคำสอนและการปฏิบัติของอารยสมาช โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับระบบวรรณะ ดังนั้นในเดือนพฤศจิกายน 2476 เมื่อได้พบกับราหุล สันกฤตยยันที่ปัตนะ ณ ที่พักคนเดินทาง เค.พี. ไชสวัน เกิดความประทับใจในหนังสือที่เป็นต้นฉบับลายมือที่ราหุลนำมาจากธิเบต จึงได้ตัดสินใจที่จะศึกษาพระพุทธศาสนา และมีความปรารถนาที่จะเดินทางไปศรีลังกา ด้วยการเตรียมการของพระราหุล สันกฤตยยัน จากนั้นไม่นานพระจักดิสห์ กัสหยัปก็ได้เข้าร่วมกับวิทยาลังการ ปริเวนะ ในปีพุทธศักราช 2477 ก็ได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ
พระราหุล สันกฤตยยัน,พระภทันต์ อนันท์ เกาสัลยยันและพระจักดิสห์ กัสหยัป ได้กลายเป็นเพื่อนที่ร่วมกันทำงานเพื่อฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินเดียตลอดระยะเวลายาวนาน หลังจากที่กลับจากศรีลังกาก็ได้กลายเป็น “สามประสาน,(ไตรภาคี)” ครั้งหนึ่งได้มาพบกันที่อัลลาฮาบัสในปีพุทธศักราช 2479 กล่าวกันว่าพวกท่านทั้งสามได้กำหนดแผนงานในอนาคตของแต่ละคนมีสาระสรุปได้ว่า “พระราหุลกล่าวว่า ข้าพเจ้าจะเขียนหนังสือให้มากที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้, พระอนันท์ เกาสัลยยันกล่าวว่า ข้าพเจ้ารักที่จะเดินทางท่องเที่ยวเพื่อแสดงธรรมเทศนาและทำงานทางด้านหนังสือพิมพ์ เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ตามสาระแห่งวรรณคดีฮินดี ส่วนพระจักดิสห์ กัสหยัปแสดงความปรารถนาไว้ว่าจะอุทิศชีวิตทางด้านการศึกษา,วิจัย การสอนและตั้งสถาบันทางการศึกษาขึ้นมา”
ด้วยความปรารถนาอันยิ่งใหญ่พวกท่านจึงได้เริ่มปฏิบัติตามนโยบายที่กำหนดไว้ ท่านมหาบัณฑิตราหุล มักจะมีผู้รู้จักในด้านวรรณคดีฮินดีอันทรงคุณค่า การสร้างสรรค์วรรณกรรมทางด้านพระพุทธศาสนาอันมากมาย เมื่อสิ่งไหนยังไม่มี ท่านก็ทำการค้นคว้าและเขียนหนังสือที่สำคัญๆ ในเรื่องที่เกี่ยวพระพุทธศาสนาในอินเดีย โดยการค้นคว้าจากภาษาสันสกฤตที่ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีในวัดธิเบต พระภทันต์ อนันท์ เกาสัลยยัน นอกจากจะสร้างสรรค์งานเขียนทางด้านพระพุทธศาสนาจำนวนมากในภาษาฮินดีแล้ว ยังให้การสนับสนุนคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ในการเคลื่อนไหวเพื่อพระพุทธศาสนา ภายหลังที่ดร. เอ็มเบ็ดการ์เสียชีวิตอย่างฉับพลันในปีพุทธศักราช 2499 ความเชื่อถือในการกระทำดีกส ภูมี นาคปูร์ แสงสว่างแห่งการคงอยู่ของพระพุทธศาสนาก็มุ่งมาที่เขา ท่านได้มาอาศัยสถานที่แห่งนี้ในปีพุทธศักราช 2511 เป็นระยะเวลาประมาณ 20 ปี ได้สร้างพุทธวิหารและภิกษุนิวัติ เพื่อทำการฝึกอบรมพระภิกษุ และยังแปลวรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่ของ ดร. เอ็มเบ็ดการ์คือ “พระพุทธเจ้าและพุทธธรรม” ออกเป็นภาษาฮินดีและภาษาปัญจาป ส่วนผลงานที่มีชื่อเสียงโดดเด่นของพระจักดิสห์ กัสหยัปคือการสร้างนวนาลันทามหาวิหารที่นาลันทา ในรัฐพิหาร ซึ่งปัจจุบันเป็นสถบันวิจัยทางด้านภาษาบาลีที่มีชื่อเสียง ท่านยังได้ทำงานที่ประสบความสำเร็จในภารกิจที่ยุ่งยากอีกอย่างหนึ่งคือการเป็นบรรณาธิการและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกภาษาบาลีโดยใช้ตัวอักษรเทวนาครี
พระภิกษุชาวอินเดียที่มีชื่อเสียงรูปที่เจ็ดคือพระ เค. ธัมมรักษิต เกิดเมื่อปีพุทธศักราช 2466 ใกล้ๆเมืองกุสินาคาร์ รัฐอุตตรประเทศ หันมานับถือพระพุทธศาสนาด้วยการชักชวนของพระ อู จันทรามนี มหาเถระ อุปสมบทเป็นภิกษุในเดือนกรกฎาคม ปีพุทธศักราช 2485 ศึกษาภาษาบาลีที่ศรีลังกา จนได้รับปริญญาติปิฏกาจารย์ หลังจากนั้นได้เข้าร่วมกับมหาโพธิสมาคม ท่านใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่สารนาถ เป็นบรรณาธิการธรรมทูตที่จัดพิมพ์เป็นภาษาฮินดี เป็นวารสารรายเดือนภาษาฮินดีจัดพิมพ์ที่สารนาถ ท่านเป็นนักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่ และได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก เป็นนักการศึกษาที่มีชื่อเสียงโดดเด่น ในปีพุทธศักราช 2502 ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการมหาโพธิวิทยาลัย ที่สารนาถ ด้วยความโดดเด่นนี้เองจึงได้อยู่ในตำแหน่งนานถึง 15 ปี
ภิกษุที่ยิ่งใหญ่รูปแรกที่เกิดในยุคสมัยใหม่นี้ในท่ามกลางสังคมชาวพุทธเก่าคือพระกริปสรัน มหาเถระ ท่านเกิดในปีพุทธศักราช 2408 ในสกุลชาวพุทธเก่าบารัว ในเมืองจิตกอง (ปัจจุบันอยู่ในบังคลาเทศ) เมื่ออายุได้ 16 ปีได้บรรพชาเป็นสามเณร และได้รับการอุปสมบทในปีพุทธศักราช 2428 ในปีพุทธศักราช 2429 ได้เดินทางกลับไปที่กัลกัตตา และได้เริ่มต้นรวบรวมชาวพุทธสกุลบารัวที่ตั้งรกรากอยู่ที่นั่น และได้ก่อตั้งพุทธสมาคมแห่งเบงกอลขึ้นในปีพุทธศักราช 2435 ในปีพุทธศักราช 2446 ได้สร้างธัมมันกุรวิหารขึ้นที่กัลกัตตา ซึ่งได้กลายเป็นศูนย์กลางในการปฏิบัติทางศาสนาและวัฒนธรรมสำหรับชาวพุทธแห่งเบงกอล
เพราะแรงกระตุ้นด้วยจิตวิญญาณของนักเผยแผ่พระพุทธศาสนา คืออนาคาริก ธรรมปาละ พระภิกษุจำนวนหนึ่งที่มาจากศรีลังกาและปวารณาตนที่จะพักอาศัยอยู่ที่อินเดีย เพื่อเป็นมูลเหตุในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอินเดีย พระ เค. ศรีนิวาส ซึ่งเป็นพระภิกษุรูปแรกที่เดินทางมาจากศรีลังกา และเริ่มต้นดำเนินงานเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอินเดีย ท่านเดินทางมาถึงในปีพุทธศักราช 2463 โดยการนิมนต์ของอนาคาริกธรรมปาละ ร่วมกับมหาโพธิสมาคมในฐานะผู้ทำงานด้านพระธรรมทูต หลังจากที่ได้เผยแผ่ธรรมเป็นเวลายาวนานกว่า 48 ปี จนกระทั่งมรณภาพในปีพุทธศักราช 2511 พระภิกษุจากศรีลังการูปที่สองที่เดินทางมาอินเดียคือพระ ดี. ศาสนสิริ เดินทางมาตามคำนิมนต์ของอนาคาริกธรรมปาละในปีพุทธศักราช 2472 เริ่มต้นด้วยการฝึกสอนอบรมสามเณรที่เดินทางมาด้วยจำนวน 10 รูป เพื่อให้ทำงานด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอินเดีย ต่อมาก็ได้เข้าร่วมงานกับมหาโพธิสมาคม มรณภาพที่สารนาถในปีพุทธศักราช 2509 พระเอ็น ชินรัตนะ เป็นพระภิกษุจากศรีลังกาที่มีชื่อเสียงรูปที่สาม ที่ได้อุทิศชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนาในอินเดีย เดินทางมาถึงอินเดียในปีพุทธศักราช 2479 เข้าร่วมกับมหาโพธิสมาคมในฐานะผู้ทำงานด้านพระธรรมทูต ในเวลาไม่นานนักท่านก็ได้กลายเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในสมาคม ในปีพุทธศักราช 2511 ได้รับตำแหน่งเลขาธิการทั่วไปของสมาคม ภายหลังจากที่ท่านเทวาปริยะ วาลิสิงห์ เสียชีวิต
พระเอ็ม สิงหรัตนะและพระ ดร. ยู ธัมมรัตนะ คือสองในสามเณร 10 รูปที่อนาคาริกนิมนต์มาจากศรีลังกาในปีพุทธศักราช 2473 เพื่อทำงานฟื้นฟูพระพุทธศาสนา หลังจากจบการศึกษาพระสิงหรัตนะได้อุทิศตนเพื่อภารกิจของสมาคมที่สารนาถ และเป็นหัวหน้าในการสร้างอิสิปตนะอันศักดิ์สิทธิ์ให้เป็นวิหารอีกแห่งหนึ่งในปีพุทธศักราช 2512 ท่านได้เดินทางไปที่สรวัสติ(สาวัตถี) และได้สร้างโรงเรียนและบ้านพักและพุทธวิหารขึ้น ท่านมรณภาพในปีพุทธศักราช 2527 ส่วนพระ ดร. ยู ธัมมรัตนะ เป็นนักวิชาการทางภาษาบาลีและพระพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่รูปหนึ่ง ท่านได้เป็นอาจารย์สอนทางด้านภาษาบาลีและปรัชญาที่นวนาลันทา มหาวิหารอยู่หลายปี ท่านเป็นกองบรรณาธิการวารสารมหาโพธิ ในปีพุทธศักราช 2526 ได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการทั่วไปของมหาโพธิสมาคม แต่ทำงานอยู่ในตำแหน่งได้ไม่นานเพราะสุขภาพไม่ค่อยดีนัก ท่านได้มรณภาพที่โรงพยาบาลในกรุงลอนดอนในปีพุทธศักราช 2528
พระภิกษุรูปอื่นๆ ที่มาจากศรีลังกาที่ได้อุทิศตนเพื่องานด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอินเดียคือพระเอช. ธัมมนันทะ, พระเอ็น. โสมนันทะและพระเอช. ปุณณติสสะ
พระภิกษุที่มาจากประเทศอื่นๆ ที่ดำเนินงานด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนพุทธภูมิคือพระอู จันทรามนี,พระอู ชายันตะ,พระ ดร. เรวตะ และพระกิตติมะ(พม่า) พระวี. ธัมมวร(กัมพูชา)และท่านฟูจิอิ คูรุจิ(ญี่ปุ่น) ในท่านเหล่านั้น การอุทิศตนของพระจันทรามนีเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ท่านเกิดในครอบครัวชาวพุทธที่มีศรัทธา เมืองอัคยับ พม่าในปีพุทธศักราช 2419 เริ่มต้นศึกษาพระพุทธศาสนาตั้งแต่อายุ 7 ปี บรรพชาเป็นสามเณรในปีพุทธศักราช 2431 ได้รับฉายาว่าจันทา ในปีพุทธศักราช 2434 อนาคาริกธรรมปาละ ได้นิมนต์พระอู จันทิมา แห่งอัคยับ เพื่อขอให้จัดส่งพระธรรมทูตมาเพื่อทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอินเดีย ท่านจันทิมะจึงได้ส่งสามเณร 2 รูปคือสามเณรจันทาและสามเณรสุรยะมาที่กัลกัตตา เมื่อเข้ามาพักอาศัยอยู่ในอินเดียสามเณรจันทาหรือท่านอู จันทรามนีได้กลายเป็นผู้ที่มีชื่อเสียง ได้เดินทางมาที่โพธคยาที่บ้านพักสำหรับนักจาริกแสวงบุญชาวพม่า ในปีพุทธศักราช 2438 ได้พบกับพระมหาวีระ ณ ที่พักของชาวพุทธพม่า ในเมืองกัลกัตตาโดยบังเอิญ เกิดความประทับใจ ด้วยความกระตือรือร้นของสามเณรหนุ่ม ท่านมหาวีระได้ส่งเข้าศึกษาที่สันสกฤตปาธศาลาในพิหาร เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจึงเดินทางกลับไปพม่า เพื่อศึกษาภาษาบาลีต่อไป และได้รับการอุปสมบทที่พม่าในปีพุทธศักราช 2446 เมื่อกลับไปอินเดียได้พักอาศัยอยู่กับพระมหาวีระ ที่กุสินาคาร์
สิ่งแรกที่ท่านจันทรามนีทำที่กุสินาคาร์คือการเรียกร้องกรรมสิทธิ์วัดนิรวานในประวัติศาสตร์จากคณะสำรวจทางโบราณคดีในอินเดีย ทำให้เป็นวิหารเพื่อพักอาศัย ท่านได้ทำการซ่อมแซมและปรับปรุงสถูปที่สำคัญและวัดมาธากูอาร์ ครั้นแล้วจึงย้อนกลับไปที่ความคิดทางด้านการศึกษา จึงได้สร้างโรงเรียนและวิทยาลัยขึ้นที่กุสินานาคาร์ การดำเนินงานของท่านขยายออกไปยังวิหารอื่นๆ รอบเมืองกุสินาคาร์ ท่านได้สร้างพุทธวิหารที่สรวัสติ(สาวัตถี),สร้างธัมศาลาที่บัลรามปุระและสารนาถและสร้างพุทธวิหารที่ลุมพินี เนื่องจากเป็นนักบวชและนักวิชาการที่ยิ่งใหญ่ ท่านจันทรามนีได้กระตุ้นให้ชาวอินเดียและต่างชาติอื่นๆ เป็นจำนวนมากให้หันมานับถือพระพุทธศาสนา และมีประชาชนจำนวนมากเข้ามาอุปสมบท ท่านได้รับการยกย่องในฐานะ “ธรรมคุรุ” ของดร. เอ็มเบ็ดการ์ ผู้ที่หันมานับถือพระพุทธศาสนาเป็นในวันที่ 14 ตุลาคม 2499 หลังจากเผยแผ่ธรรมในอินเดียเป็นเวลายาวนาน 70 ปี พระจันทรามนีได้ถึงแก่มรณภาพที่กุสินาคาร์ในปีพุทธศักราช 2515 มีอายุ 96 ปี
ภิกษุสงฆ์ในอินเดียสมัยใหม่ได้ยอมรับทั้งรูปแบบของเถรวาทและมหายาน ตั้งแต่ในยุคเริ่มต้นที่พระพุทธศาสนากลับคืนสู่อินเดียเริ่มต้นจากศรีลังกา พระพุทธศาสนารุ่งเรืองในความงามอันบริสุทธิ์ตามแบบดั้งเดิม ตั้งแต่ในยุคสมัยในพุทธศตวรรษที่ 2 ชาวพุทธรุ่นใหม่ได้ถือปฏิบัติตามประเพณีของเถรวาท ชาวพุทธตามประเพณีนิยมแห่งอัสสัม,เบงกอลและไตรปุระก็ได้ถือปฏิบัติตามธรรมเนียมของเถรวาทเหมือนกัน ชาวพุทธแห่งหิมาลัยเป็นฝ่ายมหายานถือปฏิบัติตามพระพุทธศาสนาแบบธิเบต ปัจจุบันอินเดียมีพระภิกษุฝ่ายเถรวาทมากกว่า 500 รูป ภิกษุในฝ่ายมหายานหรือลามะมีมากกว่า 5,000 รูป พระภิกษุฝ่ายเถรวาทกระจายอยู่ทั่วอินเดีย ลามะส่วนใหญ่อาศัยอยู่ที่ลาดักคห์,หิมาจัลประเทศ,สิกขิมและอรุนาจัลประเทศ เมืองลาดักห์แห่งรัฐแคชเมียร์มีลามะและสามเณรีประมาณ 2,500 รูปอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่อินเดียประมาณ 1,000 รูป
ภิกษุฝ่ายเถรวาทมีรูปแบบที่ค่อนข้างจะเคร่งครัด มีกองบัญชาการอยู่ที่สารนาถ สังฆนายกรูปแรกในอินเดียคือพระภทันต์ อนันท์ เกาสัลยยัน (พ.ศ. 2448-2531) ปัจจุบันมีพระอานันท์ มิตรามหาเถระ แห่งกัลกัตตาเป็นสังฆนายก ภิกษุแห่งหิมาลัย มีพระกุสัก ภกุล เป็นประธานลามะแห่งลาดักคห์