เสียงเพลงในเทศกาลสงกรานต์โหมโรงมาหลายวันแล้ว เดินไปไหนมาไหนก็มักจะได้ยินเสียงเพลงวันสงกรานต์ อันบ่งบอกให้รู้ว่าสงกรานต์เริ่มต้นขึ้นแล้ว ปีนี้อากาศร้อนผู้คนเริ่มเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อไปเที่ยวงานในเทศกาลสงกรานต์ ธรรมเนียมของคนไทยแม้จะไปทำมาหากินที่ไหน หากมีเวลาก็มักจะกลับไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่วนคนที่ไม่มีบ้านก็หาทางสนุกสนานกันจนได้ ความสนุกสนานกับสังคมไทยแยกกันไม่ออก
เพื่อนเก่าปัจจุบันเป็นนักเขียนที่ใช้นามปากกาว่า“โมกขสิทธิ์” ผู้เขียนหนังสือ “รวยข้ามภพ สุขข้ามชาติ” ได้ส่งบทความเรื่อง “สงกรานต์:สายน้ำแห่งความรักบนเปลวเพลิงแห่งฤดูกาล” มาให้ อ่านแล้วมีสาระน่าสนใจเข้ากับเหตุการณ์ในเทศกาลสงกรานต์พอดี ขอบคุณ "โมกขสิทธิ์" อย่างยิ่งที่ส่งบทความอันมีคุณค่ามาร่วมเผยแผ่ ขอเชิญอ่านได้ตามสะดวก
สงกรานต์
สายน้ำแห่งความรักบนเปลวเพลิงแห่งฤดูกาล
เสียงเพลง เสียงดนตรี เสื้อผ้าลายดอกไม้ที่เบ่งบาน ส่งกลิ่นหอมทวนลมจากบ้านเก่าเมืองเกิด เรียกร้องให้ลูกหลานที่ไปทำมาหากินยังถิ่นไกลบ้าน ให้หวนกลับคืนบ้านเกิดเมืองนอน มาร่วมแสดงความเคารพบูชาต่อพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ ทำบุญอัฏฐิ และเล่นสาดน้ำประเพณีสงกรานต์
วันสงกรานต์จึงไม่ใช่แค่การเล่นสาดน้ำปะแป้งเที่ยวงานบุญ แต่วันสงกรานต์คือวันขึ้นปีใหม่ไทย เป็นวันบรรจุความรัก ความห่วงใย หวังพบหน้าพ่อแม่พี่น้องสายรกเดียวกัน อย่างพร้อมหน้าพร้อมตา เพื่อขอศีลขอพร และร่วมทำบุญอุทิศให้ญาติที่ย้ายจากบัญชีคนไปสู่บัญชีผี ให้ได้มีโอกาสอนุโมทนาบุญ
ถึงแม้ว่าเทคโนโลยี่สมัยใหม่ จะช่วยสื่อสารถามสาระทุกข์สุขดิบ สามารถมองเห็นหน้าเห็นตากันได้ เหมือนอยู่ใกล้ ๆ แต่ยากที่จะซึมซับเทียบเท่าอธิบายความรู้สึกทางใจได้ และยากที่ช่วยผ่อนคลายให้ความรู้สึกด้านจิตใจได้ดีเท่ากับการรวมตัวกันของเหล่าญาติ ๆ ปู่ ย่า ลุง ป้า น้า อา หลาน และเหลน ๆ
ไม่แปลกเลยที่ใกล้วันสงกรานต์ 13 – 15 เมษายนของทุกปี รถติดตามท้องถนนเหมือนหนึ่งสายน้ำที่ไม่ขาดสาย กลายเป็นคลื่นรถมุ่งตรงสู่ถิ่นฐานบ้านเกิด ต่างคนต่างหอบหิ้วความรักความห่วงใย หวังให้รักได้พบความชุ่มชื้นหัวใจมอบให้กันและกัน ลูกหลานต้องกลับบ้านเข้าสู่อ้อมกอดแห่งสายใยรัก
แม้ว่าทางรัฐจะมีการปรับเปลี่ยนขึ้นปีใหม่ให้คอยตามสังคมโลกหลายครั้งหลายคราว แต่มนต์เสน่ห์วันสงกรานต์ยังไม่เสื่อมคลาย เพราะคนส่วนใหญ่ทั่วทุกภูมิภาคประเทศไทย ยังให้ความสำคัญยังยึดถือวันสงกรานต์เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองปีใหม่แบบไทย ๆ ที่สืบประเพณีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย
วันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของไทยคือวันสงกรานต์ ชุมชนชาวเอเชียอุษาคเนย์ส่วนใหญ่มีความเชื่อประเพณีวันสงกรานต์คล้ายคลึงกัน ยึดถือว่าเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของโลกและอายุ โดยประชาชนส่วนใหญ่จะหยุดงานและออกมาเล่นสาดน้ำร่วมเฉลิมฉลอง ประกอบกิจกรรมงานบุญตามประเพณีท้องถิ่น เช่น รดน้ำดำหัว ทำบุญตักบาตร และเล่นน้ำสาดน้ำ ก่อนเริ่มศักราชใหม่
ประเพณีสงกรานต์ตามโหราศาสตร์ที่สืบประเพณีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย หมายถึงการก้าวขึ้น ย้ายที่ของพระอาทิตย์จากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ระหว่างวันที่ 13, 14, 15 เมษายนของทุกปี ประเทศไทยทางรัฐบาลกำหนดวันที่ 13, 14, 15 เมษายน ประกาศให้เป็นวันหยุดราชการ เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสสั่งสมบุญ ไปขอศีลขอพรพบปะญาติ ๆ รดน้ำดำหัว ทำบุญตักบาตร และเล่นน้ำสาดน้ำ เพื่อรวบรวมพลังใจก่อนสู้งานใหม่ในศักราชใหม่
ตำนานกล่าวว่า มีเศรษฐีคนหนึ่งร่ำรวยแต่ไม่มีบุตร จึงกลายเป็นขี้ปากชาวบ้านย่านตลาดว่า มีเงินมีทองแต่ไม่มีบุตรเหมือนตกนรกทั้งเป็น เศรษฐีจึงได้ทำการบวงสรวงเทวดาที่สถิตย์อยู่ต้นไม้ใหญ่ ตรงกับวันพระอาทิตย์ย้ายเข้าสู่ราศีเมษพอดี รุกขเทวดาเห็นใจติดใจในเส้นบุญจึงอาสาไปทูลพระอินทร์ให้รับทราบ
พระอินทร์เห็นว่าจะได้ช่องแห่งการสั่งสมบุญ ได้ช่วยเหลือให้มนุษย์ผ่อนคลายจากความทุกข์ของเศรษฐีที่ยังไม่มีบุตรบรรเทาลง จึงได้ให้เทวบุตรที่สิ้นวาระแห่งบุญที่จะอยู่ในสรวงสวรรค์ ให้ไปเกิดในครรภ์ของเศรษฐีนี ไม่ช้าไม่นานจึงได้บุตรชื่อว่า “ธรรมบาล”
ธรรมบาลกุมารเกิดมามีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์ เป็นที่รักใคร่ของญาติพ่อแม่ประดุจแก้วตา แต่เศรษฐีฉลาดเลือกไม่ให้ความรักทำลายลูก พยายามเสาะหาอาจารย์ทั่วทุกทิศที่เก่งและมีชื่อในยุคนั้น ให้ลูกชายน้อมกายน้อมใจเข้าไปศึกษาเรียนรู้ จนจบไตรเพท รู้เจนภาษาสัตว์ เฉลี่ยวฉลาดถึงพร้อมด้วยคุณธรรมเป็นที่เลืองลือถึงเมืองสวรรค์ ความเก่งกล้าความองอาจทนงในตน ถ้าตั้งจิตไว้ผิดคือรอยร้าวแห่งความวินาศ
เมื่อความหลงครอบงำปัญญาความวินาศย่อมถามหา ท้าวกบิลพรหมผู้สถิตย์อยู่สวรรค์ชั้นพรหม ทนไม่ได้กับกิตติศัพท์ของธรรมบาลกุมาร ที่จะมาทัดเทียมตน จึงได้วางอุบายถามปัญหาแก่ธรรมบาลกุมารหมายเอาชีวิต โดยการตีกรอบเชิงบีบบังคับ ตั้งข้อแม้ว่าถ้าใครแพ้ต้องตัดศีรษะของตนเพื่อเป็นที่ระลึกแก่ผู้ชนะ และถามปัญหาว่า “ตอนเช้าราศีอยู่ที่ไหน ? ตอนเที่ยงราศีอยู่ที่ไหน ? และตอนค่ำราศีอยู่ที่ไหน ?”
เมื่อได้ยินปัญหาทำให้ธรรมบาลกุมารถึงกับนิ่ง ขอผัดผ่อนกับท้าวกบิลพรหมเป็นเวลา 7 วัน ความกลัวตายและบีบด้วยวันเวลายังหาคำตอบไม่ ทำให้ธรรมบาลกุมารแทบทอดใจ ล่วงเข้าวันที่หกยังหาคำตอบไม่ จึงปลีกตนไปอยู่ในป่าเงียบ ๆ คนเดียว
ด้วยการตั้งจิตมีความหวังว่า ถ้าตั้งอยู่ในความบริสุทธิ์ชีวิตย่อมมีหวัง พยายามข่มอารมณ์ให้มีสติอยู่กับปัจจุบัน ระหว่างนั่งอยู่ใต้ต้นตาลใหญ่ มีสายลมพัดเอื่อย ๆ ความเหนื่อยอ่อนทางอารมณ์ทำให้เผลอหลับไปชั่วขณะหนึ่ง พอตื่นขึ้นมาก็ได้ยินเสียงพญานกอินทรี ที่ทำรังอยู่บนต้นตาลคุยกัน
นางนกอินทรีถามสามีว่า “คุณพี่ค่ะ! พรุ่งนี้เราจะไปหากินสถานที่ใดดี ?” พอสิ้นเสียงคำถามพญานกอินทรีรีบตอบทันทีว่า “พรุ่งนี้เราไม่ต้องไปหากินไกลหรอกที่รัก พรุ่งนี้เราจะกินซากศพธรรมบาลกุมาร”
นางนกอินทรีถามสามีด้วยความสงสัยว่า “ทำไมจึงเป็นเช่นนั้นเล่า” นางนกอินทรีถามอย่างสนใจ พร้อมกระพือปีกขยับเข้าใกล้พญานกอินทรี
พญานกอินทรีขยับปีกเบา ๆ พร้อมตอบคำถามภรรยาว่า “ที่รัก! เพราะธรรมบาลกุมารได้ทำสัจจะสัญญากับกบิลพรหมว่า ถ้าไม่สามารถตอบปัญหาได้ ต้องตัดศีรษะของบูชาความรู้ของอีกฝ่าย เพื่อมอบให้เป็นที่ระลึก”
นางนกอินทรีถามต่อด้วยความสนใจว่า “เธอรู้หรือเปล่าละที่รักว่า คำถามของกบิลพรหมคืออะไร ? หมายถึงอะไร ? บอกฉันให้รู้บ้างจะได้ไหม” พญานกอินทรีกระพือปีกเบา ๆ พร้อมตอบด้วยความภาคภูมิใจ หวังให้เป็นที่ซึ้งใจและทำลายความสงสัยแก่ภรรยาว่า “รู้สิจ๊ะที่รัก! เพราะคำถามของท้าวกบิลพรหมลือกันไปทั่วทุกชั้นฟ้า มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่ปฏิบัติจนเคยชินจึงลืมสังเกต”
แล้วพญานกอินทรีจึงได้ทำการบอกปัญหาและเฉลยเป็นข้อ ๆ ให้ภรรยาที่รักฟังว่า “คำถามว่า ตอนเช้าราศีอยู่ที่ไหน ? คำตอบที่ถูกต้องคือ ตอนเช้า ราศีอยู่ที่หน้า คนจึงชำระล้างหน้าทุก ๆ เช้า
คำถามว่า ตอนเที่ยงราศีอยู่ที่ไหน ? คำตอบที่ถูกต้องคือ ตอนเที่ยง ราศีอยู่ที่อก คนจึงเครื่องหอมประพรมที่อก ส่วนคำถามว่า ตอนค่ำราศีอยู่ที่ไหน ? คำตอบที่ถูกต้องคือ ตอนเย็นราศีอยู่เท้า คนจึงล้างเท้าก่อนเข้านอนทุกครั้ง”
คนที่ไม่ย่อท้อไม่ประมาทในชีวิต ไม่ละเลยความรู้แม้เพียงเล็กน้อย ย่อมได้รับโอกาสที่ดี พอได้ฟังคำสนทนาและคำตอบที่พญานกอินทรีเฉลยปริศนาธรรมให้นางนกอินทรีฟัง ชีวิตธรรมบาลกุมารเหมือนนาข้าวที่แล้งน้ำ ได้รับน้ำฝนจากฟากฟ้า ความกังวลในใจจึงหายสิ้นเหมือนนาที่สมบูรณ์ด้วยน้ำ
ความรู้มีอยู่ทุกสถานที่อย่าได้ประมาทในความรู้ การวางตัวตั้งจิตไว้ดี สิ่งดีก็จะหลั่งไหลเข้ามา ประดุจทองย่อมไหลไปหาทอง ครั้งรุ่งเช้าวันที่ 7 ท้าวกบิลพรหมผู้ตั้งจิตไว้ผิดเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นพรหม คิดว่าตนเองแน่คำถามตนเองยากที่สุด มนุษย์ไม่มีทางแก้ได้ ยิ้มกระหยิมในใจคิดว่าวันนี้ชีวิตธรรมบาลกุมารต้องตกเป็นของเราเป็นแน่แท้
จิตที่ตั้งไว้ผิดคือความประมาทในชีวิตคือหนทางแห่งรความตาย การเสด็จลงมาจากสวรรค์ครั้งนี้จึงเหมือนมาแล้วไม่กลับ พอท้าวมหากบิลพรหมนั้งในที่สมควรเรียบร้อยแล้ว ธรรมบาลกุมารจึงได้ตอบคำถามของกบิลพรหมตามคำบอกเล่าของพญานกอินทรีทุกประการ
พอสิ้นเสียงคำตอบของธรรมบาลกุมาร ท้าวกบิลพรหมเกิดหวั่นในจิตเหมือนอสุนีฟาดเสียงสะนั้นลั่นฟ้าโกลาหลขึ้นทันทีทันใด ความทนงตนประมาททำให้ชะตาต้องสิ้นเมื่อยังไม่หมดอายุขัย เพราะถูกความหลงเข้าครอบงำทำให้หูตามืดบอด ทั้งยังติดอยู่ในสัจจะกล่าวแล้วต้องรักษาด้วยถือตนเป็นใหญ่
โบราณท่านจึงว่าวาจานั้นเมื่อยังไม่พูดเราเป็นนายมัน แต่เมื่อวาจาหลุดผ่านปากออกไปเป็นถ้อยคำ วาจาจะกลายเป็นนายตนทันที ฉะนั้นจะพูดจะกล่าวสิ่งใดออกไปจงพินิจใคร่ครวญให้ดี ดังคำกลอนสุนทรภู่ว่า“เป็นมนุษย์สุดนิยมเพียงลมปาก จะได้ยากโหยหิวเพราะชิวหา แม้นพูดดีมีคนเขาเมตตา จะพูดจาจงพิเคราะห์ให้เหมาะความ”
เพราะสัจจะค้ำคอ ท้าวกบิลพรหมจึงได้เรียกบุตรสาวเจ็ดนางมาประชุมพร้อมกัน แล้วบอกว่า “บัดนี้พ่อแพ้แล้วต่อธรรมบาล เราจะตัดเศียรบูชาธรรมบาลกุมาร แต่ศีรษะของเราถ้าตกลงสู่แผ่นดิน ไฟจะไหม้โลก ถ้าตั้งอยู่ในอากาศ ฝนฟ้าจะแห้งแล้ง ถ้าตั้งอยู่ในห้วงน้ำมหาสมุทร น้ำบนพื้นแผ่นดินจะเหือดแห้ง เมื่อผิดแล้วพ่อไม่ปรารถนาผิดซ้ำ ไม่ปรารถนาสร้างกรรมให้เกิดแก่โลกมนุษย์ได้รับความลำบากอีก
หลังจากศีรษะของพ่อถูกตัดขาดแล้ว ให้ลูกทั้งเจ็ดนำพานทองมารองรับ แล้วอัญเชิญศีรษะของพ่อเวียนขวารอบเขาพระสุเมรุ เสร็จแล้วให้เก็บรักษาไว้ในถ้ำคันธุลีในเขาไกรลาศ จากนั้นเมื่อครบ 365 วันหรือทุก 1 ปี ก่อนพระอาทิตย์ย้ายออกจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ เริ่มศักราชใหม่ให้ลูกทั้งเจ็ด
ตามลำดับที่เกิดในแต่ละวัน คือ วันอาทิตย์นางทุงษะ วันจันทร์นางโคราคะ วันอังคารนางรากษส วันพุธนารากษส วันพฤหัสบดีนางกิริณี วันศุกร์นางกิมิทา และวันเสาร์นางมโหทร เมื่อวันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันใดให้บุตรสาวที่ประจำวันนั้นผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน มาทำหน้าที่อัญเชิญศีรษะของพ่อเวียนขวารอบเขาพระสุเมรุราช ประพรมด้วยน้ำจากสระอโนดาด บูชาด้วยเครื่องทิพย์ แล้วประดิษฐานไว้ตามเดิม
สำหรับปี พุทธศักราช 2555 บุตรสาวของท้าวกบิลพรหมที่รับหน้าที่อัญเชิญเศียรท้าวกบิลพรหมเวียนขวารอบเขาพระสุเมรุเป็นนางสงกรานต์นามว่า กิมิทาเทวี ทรงพาหุรัด ทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ หัตถ์ขวาทรงขรรค์ หัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จไสยาสน์ลืมเนตร(นอนลืมตา) มาเหนือหลังมหิงสา(ควาย) เป็นพาหนะ
ตรงกับปีมะโรง เทวดาผู้ชาย ธาตุทอง จัตวาศก จุลศักราช 1347 ทางจันทรคติ เป็นอธิกมาส ทางสุริยคติเป็นอธิกสุรทิน วันที่ 13 เมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์ ตรงกับวันศุกร์ แรม 7 ค่ำ เดือน 5 เวลา 19 นาฬิกา 12 นาที 00 วินาที
วันอาทิตย์ที่ 15 เมษายน เวลา 23 นาฬิกา 43 นาที 48 วินาทีเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ เป็น 1374 ปีนี้วันจันทร์เป็นธงชัย วันเสาร์เป็นอธิบดี วันอาทิตย์เป็นอุบาทว์ วันจันทร์เป็นโลกาวินาศ
เกณฑ์พิรุณศาสตร์ ปีนี้วันพฤหัสบดี เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 500 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 50 ห่า ตกในมหาสมุทร 100 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 150 ห่า ตกในเขาจักรวาล 200 ห่า
เกณฑ์นาคราชให้น้ำ ปีมะโรง นาคราชให้น้ำ 3 ตัว ทำนายว่า ฝนต้นปีมาก กลางปีงาม แต่ปลายปีน้อยแล เกณฑ์ธัญญาหารชื่อ วิบัติ ข้าวกล้าในไร่นา จะเกิดกิมิชาติ คือ มีด้วงแมลงรบกวน ข้าวกล้า จะได้ผลกึ่งเสียกึ่งบ้านเมืองจะเกิดยุทธสงคราม จะฆ่าฟันกัน จะนิราชจากกัน จะฉิบหายเป็นอันมากแล
เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีวาโย(ลม) น้ำน้อย
การเปลี่ยนแปลงเป็นกฏเกณฑ์ของธรรมชาติ มีร้อน มีหนาว มีมืด มีสว่างเป็นธรรมดา การปรับเปลี่ยนตนเองให้คล้อยตามธรรมชาติอย่างสมดุล เป็นหน้าที่ของมนุษย์เราบนถนนกฏแห่งกรรม
พุทธศาสนาเข้าสู่สังคมไทยแบบพี่แบบน้อง ปรับเปลี่ยนความเชื่อดั่งเดิมให้เหมาะสมต้องตามประเพณีคล้อยตามหลักธรรมะ วันที่ 13 เมษายน นอกจากจะเป็นวันสงกรานต์แล้ว ทางรัฐยังเป็นวันผู้สูงอายุ และวันที่ 15 กำหนดให้เป็นวันครอบครัว โดยหวังให้บุตรหลานกลับไปแสดงความเคารพบูชาต่อพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ ทำบุญอัฏฐิ ด้วยการอาศัยน้ำเป็นสื่อแสดงความบริสุทธิ์เชื่อมสายใยรักให้ชุ่มชื่นใจ
เดือนเมษายนถือว่าเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดในประเทศไทย มีผลทำให้อารมณ์คนที่ขาดการอบรมเดือดปุด ๆ ง่าย และเชื้อโรคติดต่อมักเกิดในฤดูร้อนทั้งคนและสัตว์ การบรรเทาความร้อนแบบหยาบสามารถทำได้ด้วยการผ่อนคลาย เล่นสาดน้ำ สนุกสนานสร้างความรื่นเริง ช่วยผ่อนคลายความร้อนในร่างกายได้บ้าง
ส่วนความร้อนในใจสยบได้ด้วยการทำบุญทำทาน รับคำอบรมสั่งสอนการเตือนสติจากพระที่นับถือพ่อแม่และผู้ที่เคารพ รดน้ำดำหัวขอศีลขอพร ด้วยการอาศัยสายน้ำแห่งความรักสยบเปลิวเพลิงฤดูกาลให้เย็นทั้งกายและใจ ตามกรอบประเพณีสงกรานต์ที่ดีงาม
ประเพณีสงกรานต์ที่ดีงามที่สืบมาตั้งแต่บรรพบุรุษ มุ่งหวังให้อนุชนรุ่นหลังอย่าได้ทำผิดเพี้ยน ให้สำเนียกไว้เสมอว่าประเพณีสงกรานต์ ไม่ใช่ประเพณีอวดสัดส่วน ไม่ใช่ประเพณีกินสุราเล่นการพนัน เพราะนั้นคือหนทางแห่งความตาย
เหมือนกบิลพรหมที่ทนงตนตั้งจิตไว้ในอกุศลมีชีวิตอย่างประมาท อยู่ดีไม่ว่าดี จึงต้องสังเวยชีวิตแก่ธรรมบาลกุมาร ดังพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ในปรินิพพานสูตร เป็นปัจฉิมโอวาทว่า “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ! บัดนี้เป็นวาระสุดท้ายแห่งเราแล้ว เราขอเตือนเธอทั้งหลายให้จำให้มั่นไว้ว่า สิ่งทั้งปวงมีความเสื่อมและสิ้นไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงอยู่ด้วยความไม่ประมาทเถิด”
ช่วงสงกรานต์ขออย่าได้ทำให้ประเพณีไทยบิดเบี้ยว ช่วยกันชำระร้อนรดน้ำดำหัว ทำบุญตักบาตร กินข้าวร่วมพ่อแม่พูดจาร่วมญาติพี่น้อง เติมพลังกายเติมพลังใจให้เต็มอิ่มจากสายน้ำแห่งความรักความห่วงใย บนฐานสายน้ำแห่งสงกรานต์ ก่อนก้าวเดินสู่ศักราชใหม่ เดินทางปลอยภัย โชคดีวันสงกรานต์.
โมกขสิทธิ์
12/04/55