ดูเหมือนว่าในโลกนี้จะมีเรื่องที่ไร้สาระมากมายหลายประการ บางอย่างกระทำไปโดยไม่ต้องมีเหตุผลมาอธิบาย หากชอบหรือพอใจก็กระทำตามๆกัน คนโบราณเคยกล่าวไว้ว่ามีคนบ้าห้าร้อยจำพวก ซึ่งอาจจะเป็นเพียงคำที่กล่าวถึงสิ่งต่างๆที่มีจำนวนมากจนไม่สามารถจะนับได้ถูก ห้าร้อยสมัยนั้นคงมากแล้ว แต่หากในโลกปัจจุบันมีคนบ้าคงมีมากกว่าห้าร้อยจำพวก เพราะบางอย่างเพียงแต่ขอให้ได้ทำ อย่างกรณีของแพลงกิ้งที่กำลังระบาดไปทั่วโลก พระสงฆ์บางรูปก็พลอยกระทำตามไปด้วย และยังมีข่าวเป็นที่วิพากย์ของสังคมต่เนื่องติดต่อกันอีกหลายวัน
โลกในปัจจุบันมีคนทำอะไรที่แปลกและแหวกแนวก็มักจะมีคนปฏิบัติตตามดังกรณีของการทำแพลงกิ้ง โดยการทำท่าแกล้งตายกำลังกลายประเด็นวิพากย์ของสังคม ชาวบ้านทั่วไปหากกระทำก็คงไม่เป็นไรถือว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่เมื่อมีพระสงฆ์บางรูปอยากทำขึ้นมาบ้างจึงกลายเป็นเรื่องขึ้นมาตามรายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 16 มิ.ย. 2554 สรุปว่า “ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รูปภาพพระสงฆ์ห่มจีวร ทำท่าแพลงกิ้ง หรือท่าแกล้งตายที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในสังคมไทย ถูกนำมาโพสลงในโลกอินเตอร์และโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างแพร่หลาย สร้างความประหลาดใจแก่ชาวเน็ตที่ได้พบเห็นเป็นอย่างมาก โดยภาพดังกล่าวถูกโพสต์และส่งต่อกันในเว็บไซต์ทวิตเตอร์ เป็นภาพพระสงฆ์ทำท่าแพลงกิ้ง บริเวณราวบันได เหยียดลำตัวตรง โดยใช้ขาดันติดอยู่กับประตู โดยผู้ที่พบเห็นและส่งต่อต่างแสดงความคิดเห็นในแง่มุมว่าความเหมาะสมหรือไม่ เนื่องจากพฤติกรรมดังกล่าวเป็นกิริยาที่ไม่สำรวมนักในหมู่พระสงฆ์
นายสด แดงเอียด อธิบดีกรมศาสนา เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวแล้วว่า เป็นการทำท่าทางที่ไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นท่าแพลงกิ้งหรือท่าใด พระสงฆ์ ก็ไม่สามารถทำได้เพราะถือว่าผิดวินัยของสงฆ์ รวมทั้งภาพที่ทำแพลงกิ้งที่ปรากฏในอินเทอร์เน็ต ขณะนี้โดยส่วนตัวตนเองยังไม่เห็นภาพดังกล่าว แต่ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพระสงฆ์ที่กระทำการดังกล่าวแล้ว
อย่างไรก็ตาม การทำท่าแพลงกิ้งนั้น กำลังเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่น ซึ่งกรมสุขภาพจิตออกมาเตือนผู้ที่กระทำดังกล่าว ควรทำในที่ที่ปลอดภัยและไม่เสี่ยงอันตรายและไม่ต้องการเห็นภาพการเสียชีวิตจาการทำแพลงกิ้งของคนไทย เหมือนที่เคยเกิดขึ้นที่ต่างประเทศมาแล้ว
ดูจากภาพแล้วแม้จะหาวินัยที่ว่าด้วยการทำแพลงกิ้งมาเอาผิดกับพระสงฆ์รูปนี้ไม่ได้ แต่หากพิจารณาให้ดีเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม พระสงฆ์นุ่งสงบเกิดมีลมพัดมาในขณะนั้นผ้าสงบหลุดลุ่ยคงดูไม่สวยงามสักเท่าไหร่ ตามกระแสข่าวจาหหน้าหนังสือพิพม์บางฉบับถึงกับมีการปรับอาบัติขั้นร้ายแรงว่าเป็นการอวดอุตตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตนซึ่งเป็นการปรับโทษที่น่าจะร้ายแรงเกินกว่าเหตุ
เพราะคำว่า “อุตตริมนุสสธรรม” ท่านแสดงไว้ในพระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค (1/233/337) ความว่า “บทว่า อุตตริมนุสสธรรม ได้แก่ ฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ ญาณทัสสนะ มรรคภาวนา การทำให้แจ้งซึ่งผล การละกิเลส ความเปิดจิต ความยินดียิ่งในเรือนอันว่างเปล่า” การกระทำของพระภิกษุรูปนี้คงไม่ถึงขั้นอวดอุตตริมนุสสธรรม แต่การกระทำแพลงกิ้งตามที่ปรากฎในข่าวนั้นน่าจะจัดเข้าเป็น “การประพฤติอนาจาร” อย่างหนึ่ง
คำว่า “อนาจาร” หมายถึงความประพฤติที่ไม่ดีงามไม่เหมาะสมแก่บรรพชิต แยกเป็นสามประเภทคือการเล่นต่างๆเช่นเล่นอย่างเด็ก การร้อยดอกไม้ และการเรียนดิรัจแนวิชาเช่นทาย หวย ทำเสน่ห์ (พระธรรมปิฎ(ป.อ. ปยุตฺโต,พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์,มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,2543,หน้า367)
ส่วนพจนานุกรมบาลีไทย ให้ความหมายของคำว่า “อนาจาร” ไว้ว่าเป็นคำนามปุงลิงค์แปลว่าอนาจาร ความประพฤติที่น่าอับอาย
ในพระวินัยปิฎกจุลลวรรค (6/84/37) ได้แสดงการประพฤติอนาจารของภิกษุพวกอัสสชิและปุพพสุกะไว้โดยละเอียดว่า “ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุพวกอัสสชิและปุพพสุกะเป็นเจ้าถิ่นในชนบทกิฏาคีรีเป็นภิกษุอลัชชีเลวทราม ภิกษุพวกนั้นประพฤติอนาจารเห็นปานดังนี้คือปลูกต้นไม้ดอกเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นปลูกบ้าง รดน้ำเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่น รดบ้าง เก็บดอกไม้เองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นเก็บบ้าง ร้อยกรองดอกไม้เองบ้าง ใช้ให้ ผู้อื่นร้อยกรองบ้าง ทำมาลัยต่อก้านเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง ทำมาลัยเรียงก้านเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้ช่อเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้ พุ่มเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้เทริดเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้ พวงเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้แผงสำหรับประดับอกเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่น ทำบ้าง ภิกษุพวกนั้นนำไปเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นนำไปบ้าง ซึ่งมาลัยต่อก้าน นำไปเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นนำไปบ้าง ซึ่งมาลัยเรียงก้าน นำไปเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นนำไปบ้าง ซึ่งดอกไม้ช่อ นำไปเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นนำไปบ้าง ซึ่งดอกไม้พุ่ม นำไปเองบ้าง ใช้ให้ ผู้อื่นนำไปบ้าง ซึ่งดอกไม้เทริด นำไปเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นนำไปบ้าง ซึ่งดอกไม้พวง นำไปเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นนำไปบ้าง ซึ่งดอกไม้แผงสำหรับประดับอก เพื่อกุลสตรี เพื่อกุลธิดา เพื่อกุมารีแห่งตระกูล เพื่อสะใภ้แห่งตระกูล เพื่อกุลทาสี ภิกษุ พวกนั้นฉันอาหารในภาชนะอันเดียวกันบ้างดื่มน้ำในขันใบเดียวกันบ้าง นั่งบนอาสนะอันเดียวกันบ้าง นอนบนเตียงอันเดียวกันบ้าง นอนร่วมเครื่องลาดอันเดียวกันบ้าง นอนคลุมผ้าห่มผืนเดียวกันบ้าง นอนร่วมเครื่องลาดและคลุมผ้าห่มร่วมกันบ้างกับกุลสตรี กุลธิดา กุมารีแห่งตระกูล สะใภ้แห่งตระกูล กุลทาสี
ฉันอาหารในเวลาวิกาลบ้าง ดื่มน้ำเมาบ้าง ทัดทรงดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้ บ้าง ฟ้อนรำบ้าง ขับร้องบ้างประโคมบ้าง เต้นรำบ้าง ฟ้อนรำกับหญิงฟ้อนรำบ้าง ขับร้องกับหญิงฟ้อนรำบ้าง ประโคมกับหญิงฟ้อนรำบ้าง เต้นรำกับหญิงฟ้อนรำบ้าง ฟ้อนรำกับหญิงขับร้องบ้าง ขับร้องกับหญิงขับร้องบ้าง ประโคมกับหญิงขับร้องบ้าง เต้นรำกับหญิงขับร้องบ้าง ฟ้อนรำกับหญิงประโคมบ้าง ขับร้องกับหญิงประโคมบ้าง ประโคมกับหญิงประโคมบ้าง เต้นรำกับหญิงประโคมบ้าง ฟ้อนรำกับหญิงเต้นรำบ้าง ขับร้องกับหญิงเต้นรำบ้าง ประโคมกับหญิงเต้นรำบ้าง เต้นรำกับหญิงเต้นรำบ้าง เล่นหมากรุกแถวละแปดตาบ้าง เล่นหมากรุกแถวละสิบตาบ้าง เล่นหมากเก็บบ้าง เล่นชิงนางบ้าง เล่นหมากไหวบ้าง เล่นโยนบ่วงบ้าง เล่นไม้หึ่งบ้าง เล่นฟาดให้ เป็นรูปต่างๆ บ้าง เล่นสะกาบ้าง เล่นเป่าใบไม้บ้าง เล่นไถน้อยๆ บ้าง เล่นหกคะเมนบ้าง เล่นไม้กังหันบ้าง เล่นตวงทรายด้วยใบไม้บ้างเล่นรถน้อยๆ บ้าง เล่นธนูน้อยๆ บ้าง เล่นเขียนทายบ้าง เล่นทายใจบ้าง เล่นเลียนคนพิการบ้าง หัดขี่ช้างบ้าง หัดขี่ม้าบ้าง หัดขี่รถบ้าง หัดยิงธนูบ้าง หัดเพลงอาวุธบ้าง วิ่ง ผลัดช้างบ้าง วิ่งผลัดม้าบ้าง วิ่งผลัดรถบ้าง วิ่งขับกันบ้าง วิ่งเปี้ยวกันบ้าง ผิวปากบ้าง ปรบมือบ้าง ปล้ำกันบ้าง ชกมวยกันบ้าง ปูลาดผ้าสังฆาฏิ ณ กลางสถานเต้นรำแล้ว พูดกับหญิงฟ้อนรำอย่างนี้ว่า น้องหญิง เธอจงฟ้อนรำ ณ ที่นี้ดังนี้บ้าง ให้การคำนับบ้าง ประพฤติอนาจารมีอย่างต่างๆ บ้าง”
หากดูตามที่อธิบายมานี้ แม้ว่า “การทำแพลงกิ้ง” จะไม่ได้ระบุไว้ในการประพฤติอนาจาร แต่น่าจะสงเคราะห์เข้ากับคำว่า “เล่นหกคะเมน เล่นเลียนคนพิการ” สมัยนั้นยังไม่มีการเล่นแกล้งเป็นคนตายหรือเลียนนแบบคนตายอย่างที่เป็นข่าว พระภิกษุที่ประพฤติอนาจารในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าจะประชุมสงฆ์ทรงสอบถามจนทราบความจริง และภิกษุผู้ประพฤติยอมรับแล้ว พระพุทธเจ้าจะทรงติเตียนด้วยถ้อยคำว่า “พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย การกระทำของโมฆบุรุษเหล่านั้นนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ”
จากนั้นจึงให้ลงปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุผู้กระทำผิดตามพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า(6/88/35) “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลปัพพาชนียกรรม พึงทำอย่างนี้คือพึงโจทภิกษุพวกอัสสชิและปุนัพพสุกะก่อน ครั้นแล้วพึงให้ พวกเธอให้การ แล้วพึงปรับอาบัติ ครั้นแล้ว ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา”
คำว่า “ปพฺพาชนิยกมฺม” พจนานุกรรมบาลีไทยอธิบายว่าเป็นคำนานมนปุงสกลิงค์ หมายถึงปัพพาชนียกรรม กรรมที่สงฆ์ทำแก่ภิกษุผู้ควรถูกสงฆ์ควรขับไล่ การลงโทษด้วยการขับไล่จากอาวาส(หน้า 329)
ส่วนในพจนานุกรมพุทธศาสน์อธิบายว่า “ปัพพาชนียกรรม”คือกรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุอันพึงจะไล่เสีย การขับออกจากหมู่ การไล่ออกจากวัด กรรมนี้สงฆ์กระทำแก่ภิกษุผู้ประทุษร้ายสกุลและประพฤติเลวทรามเป็นข่าวเซ็งแหรือแก่ภิกษุผู้เล่นคะนอง อนาจาร ลบล้างพระบัญญัติ มิจฉาชีพ(หน้า 116)
การกระทำแพลงกิ้งของฆราวาสนั้นน่าจะเป็นสิทธิโดยเสรี หากทำไปแล้วไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายแก่ตนเองและคนอื่น ขอเชิญทำต่อไปตามสะดวกเถิด บางทีการทำอะไรแปลกๆอาจจะทำให้หายเครียดได้บ้าง มนุษย์เรามีคนบ้าห้าร้อยจำพวกอยู่แล้ว ไม่บ้าอย่างหนึ่งก็หาทางบ้าอย่างหนึ่งจนได้
แต่สำหรับพระสงฆ์หากจะทำอะไรก็ต้องหันกลับไปศึกษาพระธรรมวินัยซึ่งเป็นเหมือนกฎหมายที่คอยชี้บอกทางเป็นศาสดาของชาวพุทธดังที่พระพุทธเจ้าประกาศไว้ก่อนปรินิพพานในมหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค (10/141/147)ว่า “ดูกรอานนท์ บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่าปาพจน์(ธรรมวินัย)มีพระศาสดาล่วงแล้ว พระศาสดาของพวกเราไม่มี ก็ข้อนี้ พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมและวินัยอันใด เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา”
แม้ว่าการกระทำแพลงกิ้งดูเหมือนจะเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่การที่มีภาพเผยแผ่ทางสื่อต่างๆนั้น มีผลกระทบต่อคณะสงฆ์โดยรวม เป็นภาพที่ไม่เหมาะสมกับสมณภาวะ เบื้องต้นต้องพิจารณาก่อนว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่าย “ประพฤติอนาจาร” หรือไม่ หากไม่เข้าข่ายก็ไม่ได้มีความผิดอะไร แต่หากเข้าข่ายการประพฤติอนาจาร ก็มีทางออกสองประการคือสงฆ์ลงปัพพาชนียกรรมด้วยวิธีการของสงฆ์ และอีกอย่างหนึ่ง “การประพฤติอนาจาร” มีวินัยข้อห้ามปรับโทษไว้ในมหาวิภังค์ ทุติภาค (2/681/674 )สหธรรมิกวรรค สิกขาบทที่ 1 ความว่า “ภิกษุประพฤติอนาจาร ภิกษุอื่นตักเตือน พูดผัดเพี้ยนว่ายังไม่ได้ถามท่านผู้รู้ก่อน ข้าพเจ้าจักไม่ศึกษาในสิกขาบทนี้ต้องปาจิตตีย์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้ศึกษาอยู่ ควรรู้ทั่วถึง ควรสอบถาม ควรตริตรอง นี้เป็นสามีจิกรรมในเรื่องนั้น ” หากจะปรับโทษตามอาบัติข้อนี้ก็เพียงแต่แสดงอาบัติต่อหน้าพระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง อาบัตินั้นก็ตกไป
พระวินัยบางอย่างแม้จะมีบทลงโทษไม่มาก แต่หากการกระทำนั้นมีผลกระทบต่อส่วนรวม จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่หมู่คณะก็อาจให้ออกจากหมู่คณะได้เหมือนกันเช่นกรณีของภิกษุดื่มน้ำเมา หากจะปรับอาบัติก็เป็นเพียงอาบัติปาจิตตีย์ ดังที่แสดงไว้ในมหาวิภังค์ ทุติภาค (2/575/598 ) สุราปานวรรค สิกขาบทที่ 10 ความว่า “เป็นปาจิตตีย์ในเพราะดื่มสุราและเมรัย” แสดงอาบัติต่อหน้าภิกษุรูปใดรูปหนึ่งก็พ้นจากอาบัติ แต่ทว่าภิกษุที่อยู่ในอาการเมามายไร้สติเพราะฤทธิ์แห่งน้ำเมา ส่วนมากตำรวจจะให้ลาสิกขาหรือให้สึกออกไปก่อนค่อยพิจารณาสอบสวนในภายหลัง
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
19/06/54
อ้างอิง
กรมการศาสนา,พระไตรปิฎกฉบับหลวง,กรุงเทพฯ:โรงพิพม์การศาสนา,2514.
พระธรรมปิฎ(ป.อ. ปยุตฺโต,พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์,มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,2543.
พระอุดรคณาธิการ,พจนานุกรมบาลี-ไทย,(พิมพ์ครั้งที่ 4),กรุงเทพฯ:ธรรมสาร,2546.
หมายเหตุ: ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต