ห้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพม่าได้แก่เจดีย์ชเวดากอง เจดีย์ชเวสิกอง เจดีย์มุเตา พระมหามัยมุนี และพระธาตุอินแขวน อยู่กันคนละเมืองต้องเดินทางไกล บางครั้งต้องเดินทางหลายรอบจึงจะไปได้ครบ แต่สิ่งหนึ่งที่พุทธศาสนิกชนชาวไทย เมื่อเดินทางไปเมียนมาร์จะต้องไปนมัสการเจดีย์ชเวดากองเป็นอันดับแรก เพราะเจดีย์อยู่ที่เมืองย่างกุ้ง ห่างจากสนามบินแห่งชาติไม่ไกลนัก
ครั้งแรกที่ไดเห็นเจดีย์ชเวดากอง เพราะมีการประชุมสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาเถรวาทนานาชาติ แต่การไปครั้งที่สองห่างกันไม่ถึงปี เพราะมีเจตนาเพียงไปไหว้พระจริงๆ วันแรกที่มาถึงเมียนมาร์แม้จะไม่มีรายการเยี่ยมชมเจดีย์ชเวดากองในโปรแกรม แต่ทว่าที่พักกับเจดีย์อยู่ไม่ห่างกันนัก เปิดหน้าต่างมองเห็นเจดีย์สะท้อนแสงอาทิตย์ยามบ่ายเหลืองอร่ามงามจับใจ จนต้องแหกโปรแกรมเหมารถแท๊กชี่ราคา 1500 จั๊ตไปยังมหาเจดีย์ คนที่คิดแบบนี้มีไม่น้อย แม้แต่พระเดชพระคุณพระเทพปริยัติวิมลอธิการบดี มมร ก็พาคณะไปนมัสการเจดีย์ด้วย ชาวพม่าคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าเจดีย์ชเวดากองจะงามที่สุดในตอนกลางคืน เพราะแสงไฟจะสะท้อนกับทองคำบนองค์พระเจดีย์จะเหลืองอร่ามเกิดความมลังมะเลืองเหมือนสถิตย์อยู่ในสรวงสวรรค์
การเดินทางขึ้นไปยังเจดีย์ขึ้นได้สองทางหนึ่งคือเดินขึ้นตามบันได สองขึ้นลิฟต์ วันนั้นพระเดชพระคุณอธิการบดีพาคณะขึ้นลีฟต์เป็นแขกพิเศษของย่างกุ้ง ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น ทางวิทยาลัยสิตาคูส่งพระและฆราวาสมาต้อนรับและนำชมเจดีย์อย่างเต็มที่ แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องปฏิบัติเหมือนกันหมดคือทุกคนต้องถอดรองเท้า ฝากไว้ก่อนขึ้นเจดีย์ เพราะในบริเวณพุทธสถานทุกที่กฏเข้มงวดที่สุดข้อแรกที่ไม่มีข้อยกเว้นคือทุกคนต้องเดินเท้าเปล่า
เรื่องการสวมรองเท้าในอดีตกษัตริย์เคยสั่งประหารทูตมงโกลมาแล้วและเป็นเหตุให้เกิดสงครามดังความว่า “สมัยพระเจ้านรธิหบดีหรือนราสีหปติทรงสั่งประหารทูตมองโกลเพราะเหตุที่ไม่ยอมแสดงคารวะต่อพระองค์คือไม่ยอมถอดรองเท้าเวลาเข้าเฝ้า (ไพโรจน์ โพธิ์ไทร,ภูมิหลังของพม่า,กรุงเทพฯ:โอเดียนร์สโตร์,2518,หน้า 71) เรื่องการถอดรองเท้าภายหลังกลายเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของนักชาตินิยมพม่าที่จะไม่ยอมให้ฝรั่งสวมรองเท้าเข้าไปในบริเวณโบสถ์ วิหารและพระเจดีย์อื่นๆ มีอาจารย์ท่านหนึ่งในคณะจาก มมร ลืมถอดรองเท้าเดินขึ้นเจดีย์ เด็กหนุ่มพม่าอายุไม่เกิน 15 ปี วิ่งตามพร้อมกับตะโกนเสียงดังว่า “NO SHOE” ต้องรีบถอดแทบไม่ทัน แสดงให้เห็นว่าคนพม่าต่างก็พยายามรักษาวัฒนธรรมนี้ไว้
ในการเข้าชมมหาเจดีย์ชเวดากองมีกฏที่สำคัญอยู่ 4 ข้อคือ (1) ห้ามผู้ชายและผู้หญิงนุ่งกางเกงขาสั้น(2)ห้ามสวมถุงน่อง รองเท้าทุกชนิด ข้อห้ามนี้รวมถึงพุทธสถาน เจดีย์อื่นๆทั่วเมียนมาร์ด้วย โดยไม่มีข้อยกเว้น นัยว่าเพื่อเป็นการเคารพสถานที่ (3)นักท่องเที่ยวทุกคนจะต้องชำระค่าเข้าชมคนละ 5 ดอลล่าร์ แล้วต้องติดสติกเกอร์สีประจำวันไว้ที่หน้าอกเพื่อแสดงไว้ว่าได้ชำระค่าเข้าชมแล้ว และ (4)การเที่ยวชมมหาเจดีย์ชเวดากอง ให้เดินวนทางขวามือ เป็นการเดินประทักษิณ ถ้าให้ดีต้องเดินสามรอบ แต่คณะเราเดินได้เพียงรอบเดียว วันนั้นเราได้รับการยกเว้นข้อสามคือไม่ต้องจ่ายค่าเข้าชมและไม่ต้องติดสติกเกอร์
การไปครั้งที่สองเป็นภารกิจส่วนตัวไม่มีศิทธิ์พิเศษใดๆจึงตัดสินใจเดินขึ้นตามบันไดเหมือนภิกษุชาวพม่ารูปอื่นๆ แต่ทว่าการเดินตามขั้นบันไดกลับได้พบสิ่งที่น่าประทับใจยิ่งกว่า สองฟากฝั่งมีสินค้าเรียงรายขายให้กับคนทั่วไป แม้เราจะพูดภาษาพม่าไม่ได้ แต่ก็ต่อราคาด้วยภาษาสากลนั่นคือภาษามือ จนในที่สุดก็ได้สินค้าตามใจปารถนา เห็นภาพที่ชาวพม่าศรัทธาในเจดีย์แล้วนับเป้นสิ่งมหัศจรรย์อย่างหนึ่ง เพราะเกิดขึ้นด้วยพลังศรัทธาจริงๆ
เจดีย์ชเวดากองได้รับผลกระทบจาพายุนากีสเมื่อหลายปีที่ผ่านมา ทำให้แผ่นทองคำบนเจดีย์บางส่วนปลิวหายไป หลังพายุสงบพุทธศาสนิกชนต่างก็ช่วยกันเก็บรวบรวมแผ่นทองคำกลับคืนมา ตามรายงานข่าวทราบว่าเก็บมาได้เกือบหมด นัยว่าได้มาถึง 96 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว ที่เหลือหาไม่พบ แม้คนพม่าจะยากจนแต่สำหรับศาสนาแล้วทุกคนอุทิศตนให้อย่างเต็มที่ ในวันที่เราไปถึงนั้นเจดีย์กำลังอยู่ในช่วงซ่อมแซม
พระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากอง
พระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากอง ตั้งอยู่บริเวณเนินเขาเชียงกุตระ เมืองย่างกุ้ง เชื่อกันว่าเป็นมหาเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าจำนวน 8 เส้น ตามตำนาน เจดีย์ชเวดากองนั้นสร้างเมื่อง 2,500 ปีที่แล้ว แต่นักโบราณคดีเชื่อกันว่าสร้างระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 6-10 สร้างโดยชาวมอญ ตามตำนานนั้นเริ่มจากว่า มีสองพี่น้องพ่อค้า 2 คน ได้ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้ามา พระองค์จึงประทานพระเกศามา 8 เส้น ถ้าเป็นจริงตามตำนาน ชาวมอญก็รู้จักพระพุทธศาสนาเป็นชาติแรก เพราะตอนที่พระพุทธเจ้าทรงประทานพระเกศาให้กับสองพี่น้องนั้น เป็นช่วงเวลาก่อนที่พระพุทธเจ้าจะทรงแสดงปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์เสียอีก
พระเจดีย์ได้ถูกทิ้งร้างจนมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 14 พระเจ้าพินยาอู่ได้ซ่อมแซมเจดีย์ หม่องทินอ่องบันทึกไว้ว่า “ปี ค.ศ. 1356(พ.ศ. 1899) ทั้งอยุธยาและเชียงใหม่มาโจมตีเมืองมอญในพม่าตอนล่าง แต่พวกมอญยังโชคดีที่มีกษัตริย์ที่เข้มแข็งคือพระเจ้าพินยาอู่ในพม่าตอนล่าง ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถสู้ข้าศึกได้และต้องเสียริมฝั่งตะนาวศรีไปทั้งหมด แต่พระองค์ก็ได้ย้ายเมืองหลวงไปยังเมืองพะโค และรวบรวมดินแดนที่ยังเหลืออยู่ในความครอบครองของพระองค์ให้เข้าเป็นอาณาจักรที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พระองค์ทรงซ่อมเจดีย์ใหญ่ของมอญคือเจดีย์พระเกศธาตุ(ชเวดากอง) (หม่องทินอ่อง,ประวัติศาสตร์พม่า, หน้า 79)
พระเจ้าพินยาอู่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างพระเจดีย์ใหม่สูง 18 เมตร พระเจดีย์ได้ถูกซ่อมแซมมาเรื่อยมา จนมามีความสูง 98 เมตรในคริสต์ศตวรรษที่ 15 แผ่นดินไหวเล็กๆน้อยๆ เรื่อยมาทำให้พระเจดีย์นั้นได้รับความเสียหาย และเมื่อปี พ.ศ. 2311 ตรงกับสมัยกรุงธนบุรี ได้เกิดแผ่นดินไหวอย่างหนัก ทำให้ยอดของพระเจดีย์หักถล่มลงมา
บนยอดสุดของพระเจดีย์ มีเพชรอยู่ 5,448 เม็ด โดยเฉพาะชื้นข้างบนสุดมีเพชรเม็ดใหญ่อยู่ 72 กระรัต และทับทิม 2,317 เม็ด พม่าได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ร่ำรวยด้วยอัญญมณีอยู่แล้ว การนำเพชรและทับทิมมาประดับบนยอดเจดีย์แสดงให้เห็นถึงศรัทธาอันยิ่งยวดที่มีต่อพระพุทธศาสนา
พระมหาเจดีย์ชเวดากองหรือเจดีย์ทองแห่งเมืองดากองหรือตะเกิงอันเป็นชื่อเดิมของเมืองย่างกุ้ง แห่งลุ่มน้ำอิระวดี มหาเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศพม่า มีความสูงถึง 326 ฟุต
มหาเจดีย์ชเวดากองนั้นเชื่อกันว่าพระมหากษัตริย์มอญคือพระเจ้าโอกะลาปะ ทรงเลื่อมใสในศรัทธาพระพุทธศาสนา ได้ทรงก่อสร้างองค์พระเจดีย์ชเวดากองขึ้นมาเมื่อกว่า 2500 ปี ก่อน ต่อมาพระมหากษัตริย์มอญและพม่าแทบทุกพระองค์ได้ถือเป็นพระราชภารกิจในการก่อเสริมองค์พระเจดีย์ให้สูงใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนสูงถึง 326 ฟุต กว้าง 1355 ฟุตในปัจจุบัน โดยเฉพาะในสมัยพระนางซินสอบูและพระเชษฐาองค์ที่สองเป็นผู้ริเริ่มในการสมทบทุนสร้างเจดีย์พระเกศธาตุ (ชเวดากอง) และเสริมให้สูงขึ้น 302 ฟุตและปิดทองตลอดองค์(หม่องทินอ่อง,หน้า 101)
นอกจากนั้นพระนางชินสอบูยังได้ทรงริเริ่มธรรมเนียมบริจาคทองคำเท่าน้ำหนักพระองค์เองในการบูรณะพระมหาเจดีย์ นับตั้งแต่ทรงขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ.1996 ตรงกับสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา จนกลายเป็นพระราชพิธีที่ถือปฎิบัติสืบต่อกันมา ปัจจุบันมหาเจดีย์ชเวดากองเชื่อกันว่ามีทองคำโอบหุ้มอยู่เป็นน้ำหนักถึง 1100 กิโลกรัม โดยช่างชาวพม่า จะใช้ทองคำแท้ตีเป็นแผ่นปิดองค์เจดีย์ไว้รอบองค์ หากสังเกตในรายละเอียดจะเห็นรอบต่อของแผ่นทองคำ ซึ่งมิได้ผสานเป็นเนื้อเดียว แต่จะเป็นแผ่นๆ มาเรียกกัน ครั้งเมื่อแผ่นทองหมองคล้ำก็จะถอดหมุดแล้วแกะแผ่นทองออกมาขัดล้างปีละครั้งเป็นประเพณีสืบเนื่องกันมาตลอด
ผลกระทบจากพายุนากีส แผ่นทองหลายแผ่นปลิวหายไป จึงมีนโยบาบายซ่อมแซม ไกด์ชาวเมียนมาร์เล่าให้ฟังว่า “ช่างที่จะทำการซ่อมแซมเจดีย์ต้องถือศีลห้าให้บริสุทธิ์ตลอดสี่สิบเก้าวัน เวลาจะขึ้นซ่อมพระเจดีย์ต้องแต่งชุดขาว และที่สำคัญที่สุดจะต้องเป็นไทยใหญ่เท่านั้น” ไม่ทราบจำมาผิดหรือว่าไกด์พูดผิด แต่สอบถามแล้วไกด์ยังยืนยันว่าต้องเป็นไทยใหญ่ การซ่อมแซมจึงจะสำเร็จลุล่วงไม่มีอุปสรรค ถ้าเป็นเผ่าอื่นมักจะมีอุปสรรคเสมอ นี่เป็นความเชื่อมาแต่โบราณกาล เรื่องนี้คงต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่าทำไมการซ่อมเจดีย์จึงจำกัดอยู่เฉพาะช่างไทยใหญ่เท่านั้น เจดีย์ชเวดากองจึงเป็นเจดีย์ที่มอญสร้าง พม่าดูแล แต่ไทยใหญ่ซ่อมแซม
สุวรรณฉัตร หรือทององค์ใหญ่บนยอดเจดีย์ชเวดากองเคยมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเท่าที่มีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์พม่า 3 ครั้ง คือ ครั้งแรก ในปี พ.ศ.2317 รัชสมัยพระเจ้าฉินบูชิน ทรงถวายสุวรรณฉัตรองค์ใหม่ รูปทรงพม่า แทนองค์เดิมที่เป็นรูปทรงมอญ โดยโปรดฯให้ระฆังเงินระฆังทองและทองแดง รวม 600 ใบ และมีเพชรประดับโดยรอบด้วย เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4
ต่อมาเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว เป็นเหตุให้สุวรรณฉัตร หักตกลงมา จึงมีการบูรณะครั้งที่สองในปี พ.ศ.2414 รัชสมัยพระเจ้ามินดง โดยทรงบริจาคพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อสร้างฉัตรใหม่ จนร่ำลือกันว่า ยอดฉัตรแห่งชเวดากองนั้นประดับประดาด้วยเพชรพลอยอัญญมณีล้ำค่า คิดเป็นมูลค่ากว่า 62000 ปอนด์ ในสมัยนั้น โดยเฉพาะยอดเจดีย์ประดับระฆังใบเล็กถึง 5000 ใบ ครั้งล่าสุดในปี พ.ศ. 2542 พุทธศาสนิกชนชาวมอญพม่าได้พร้อมใจกันเปลี่ยนสุวรรณฉัตรองค์ใหม่ ถวายพระมหาเจดีย์ชเวดากอง ซึ่งมีผู้มีจิตศรัทธาแห่แหนมามืดฟ้ามัวดิน ร่วมทำบุญ ถวายปัจจัย บางคนถึงกับถอดแหวนเพชร สร้อยทองเครื่องประดับอัญญมณีนานาชนิดประดับสุวรรณฉัตรองค์ใหม่ด้วยแรงศรัทธาอันสูงส่ง
รอบๆองค์พระเจดีย์ชเวดากองเป็นลานกว้างรองรับแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชนได้จำนวนมาก บริเวณทางขึ้นทั้งสี่ทิศจะมีวิหารโถง สร้างด้วยเครื่องไม้หลังคาทรงปราสาท ปิดทองล่องชาดประดับกระจกทั้งหลัง ภายในประดิษฐานพระประธานสำหรับให้ประชาชนมากราบไหว้บูชา เพราะชาวมอญและชาวพม่าถือการกราบไหว้บูชาเจดีย์ชเวดากองเป็นนิตย์ จะนำมาซึ่งบุญกุศลอันเป็นหนทางสู่การหลุดพ้นทุกข์โศกโรคภัยทั้งมวล บ้างนั่งทำสมาธิเจริญสติภาวนานับลูกประคำ และบ้างเดินประทักษัณรอบองค์เจดีย์ พระภิกษุจะนั่งตามซุ้มเจดีย์บางรูปนั่งสมาธิ บางรูปนั่งนับลูกประคำ
นอกจากนี้รอบองค์เจดีย์ยังมีพระประจำวันเกิดประดิษฐานทั้งแปดทิศรวม 8 องค์ หากใครเกิดวันไหนก็ให้ไปสรงน้ำพระประจำวันเกิดตน จะเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ทิศและสัตว์ประจำวันคือวันอาทิตย์ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีครุฑเป็นสัตว์ประจำวัน วันจันทร์ ทิศตะวันออก มีเสือเป็นสัตว์ประจำวัน วันอังคาร ทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีสิงห์เป็นสัตว์ประจำวัน วันพุธ (เช้าหรือกลางวัน) ทิศใต้ มีช้างงาเป็นสัตว์ประจำวัน วันพุธ (เย็นหรือกลางคืน) ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีช้างไม่มีงาเป็นสัตว์ประจำวัน วันพฤหัสบดี ทิศตะวันตก มีหนู วันศุกร์ ทิศเหนือ มีหนูตะเภา วันเสาร์ ทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีพญานาคเป็นสัตว์ประจำวัน ไม่รู้ว่าความเชื่อนี้มีความเป็นมาอย่างไร คนไทยไหว้พระประจำวันเกิด แต่ชาวเมียนมาร์ไหว้สัตว์ประจำวันเกิด
วันนั้นหลายท่านเดินหาทิศและสัตว์ประจำวันเกิดไม่พบ มีผู้แนะนำว่าอย่าหาเลย เพราะเพียงแค่จะกำหนดทิศก็ยังยาก จงไหว้และสรงน้ำทุกแห่งที่พบนั่นแหละดีที่สุด ดังนั้นจึงมีบางท่านพยายามสรงน้ำครบทั้งแปดทิศ
พระมหาเจดีย์ชเวดากองนั้น คนไทยจำนวนมาก คิดว่าทองและเครื่องอัญญมณีมากมายที่องค์พระมหาเจดีย์คือสิ่งที่กองทัพพม่าลอกทองจากวัดวาอารามในกรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งตีกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่สอง แล้วนำมาประดับองค์เจดีย์ แต่สำหรับชาวพม่าก็มิได้เศร้าใจน้อยไปกว่าคนไทยเท่าใดนัก เพราะพม่าเชื่อกันว่าทองคำบนเจดีย์นั้นถูกอังกฤษขนไปหมดแล้ว ดังนั้นทองที่ประดับในปัจจุบันจึงเป็นทองคำที่มาจากศรัทธาของชาวเมียนมาร์ มิใช่ทองที่ขนไปจากอยุธยา
มีใครคนหนึ่งพูดได้อย่างน่าคิดว่า ผมไม่ได้ไหว้ทองคำ แต่ผมกำลังไหว้พระเกศาธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่สถิตย์อยู่บนเจดีย์ต่างหาก
กราบลาชเวดากอง
คืนวันสุดท้ายก่อนดินทางกลับพวกเราได้มีโอกาสไปกราบนมัสการพระธาตุเจดีย์ชเวดากองอีกครั้ง วันนั้นตรงกับวันธัมมัสสวนะ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 เราตกลงกันว่าวันนี้จะเดินขึ้นเจดีย์ เพื่อจะได้ชมสองข้างทางที่เต็มไปด้วยร้านค้าของระลึกมากมายและไม่ต้องจ่ายค่าเข้าชม
คณะผู้เดินทางเข้าร่วมประชุมพักที่ย่างกุ้งคืนหนึ่ง หลังการประชุมสิ้นสุดลงในวันที่ 9 มีนาคม 2552 บางท่านกลับก่อนแล้ว แต่ผู้ที่เหลือนำโดยพระมหาวิทยา ปริปุณฺณสีโล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา และอาจารย์ถนอม บุตรเรือง ที่ปึกษาอธิการบดี กลับมาพักที่ย่างกุ้งอีกครั้งก่อนจะเดินทางกลับในวันที่ 11 มีนาคม 2552
วันนั้นเราได้เห็นแรงศรัทธาของชาวพุทธในเมียนมาร์ที่เดินทางมาจากทุกสารทิศเพื่อจะได้นมัสการพระธาตุชเวดากอง คลื่นมหาชนที่เดินรอบเจดีย์ก่อเกิดความอัศจรรย์แก่ผู้ที่ได้พบเห็น พ่อแม่ลูกจูงมือถือดอกไม้ธูปเทียนเดินเวียนประทักษิณ สรงนำเพระประจำวันเกิด ที่ซุ้มสรงน้ำพระธาตุมีคนยืนรอเข้าคิวยาวเหยียด ที่ลานเจดีย์อีกส่วนหนึ่งมหาชนกำลังไหว้พระ นั่งสมาธิ เจดีย์สีทองเมื่อต้องแสงไฟและแสงจันทร์งดงามจนเกินบรรยาย กล้องถ่ายรูปไม่สามารถบันทึกความงามได้ทั้งหมด ถ้าใช้ไฟแฟ็ชเจดีย์จะมืด แต่ถ้าไม่ใช้ต้องมือนิ่งเพราะต้องใช้ซัดเตอร์ต่ำมากภาพจะไหว การพึ่งขาตั้งกล้องน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่เราไม่มีขาตั้งกล้องจึงได้ภาพออกมาอย่างที่เห็น
วันนั้นพวกเรานั่งสนทานากันว่าทำไมศรัทธาของคนที่นี่จึงมั่นคงต่อพระพุทธศาสนา แต่ก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ แม้ว่าในสายตาของหลายประเทศรัฐบาลพม่าจะไม่ได้รับการยอมรับในแง่ของประชาธิปไตย สิ่งที่เราได้เห็นในพม่าคือวัฒนธรรมโสร่งยังคงเหนียวแน่น พลังศรัทธาในพระพุทธศาสนายังเหนียวแน่น โยเฉพาะกฎของการไม่สวมรองเท้าในบริเวณเจดีย์ หากชาวพม่าไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่เห็นใครสวมรองเท้าบริเวณเจดีย์จะวิ่งมาบอกทันทีว่า “NO SHOE” โดยไม่สนใจว่าจะเป็นใครยิ่งใหญ่มาจากไหน เราได้แต่นับถือในความเอาใจใส่ของคนเมียนมาร์ เจอเข้าครั้งเดียวก็อายพอที่จะไม่สวมรองเท้าบนลานเจดีย์อีกเลย โดยไม่ต้องมีใครมาคอยเตือน บงครั้งเท้าแสบร้อนพุพองก็ต้องทน เพราะนั่นเป็นการแสดงออกถึงความเคารพต่อโบราณสถาน
ดังนั้นในการเดินทางครั้งนี้สิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งแรกที่เราได้ไปนมัสการคือพระธาตุชเวดากอง เมืองย่างกุ้ง และวันสุดท้ายในคืนวันเพ็ญเดือนสี่ ยังได้ไปกราบนมัสการพระธาตุเจดีย์ ได้เห็นพลังศรัทธาของชาวเมียนมาร์ที่มีต่อพระบรมธาตุอันเป็นเหมือนตัวแทนของพระพุทธศาสนา ชาวพุทธที่นี่ยังคงมีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ ไม่ได้สนใจข่าวสารจากต่างประเทศเท่าใดนัก นอกจากกราบไหว้สิ่งศักดิ์เพื่อความอยู่ดีมีความสุข หากไม่นับว่าพม่ามีระบอบการปกครองที่ไม่เหมือนใครและชาวโลกไม่ยอมรับแล้ว แต่หากมองอีกมุมหนึ่งจะเห็นว่าเพราะเมียนมาร์มีระบอบการปกครองแบบนี้จึงรักษาพลังศรัทธาชาวพุทธและรักษาโบราณสถานอื่นๆไว้ได้
การประชุมสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาเถรวาทครั้งที่สองในครั้งนี้ นับว่าเมียนมาร์ได้แสดงให้ชาวพุทธเถรวาททราบว่าพระพุทธศาสนาในเมียนมาร์นั้นยังคงมีความมั่นคง พลังศรัทธาของชาวพุทธยังคงเหนียวแน่น การบรรพชาอุปสมบทยังเป็นที่นิยม โบราณสถานยังคงได้รับการดูแลรักษาไว้อย่างดี ชาวพุทธเมียนมาร์ไม่คำนึงปัจจุบันเท่าไรนัก ชาตินี้จะเป็นอย่างไรไม่สำคัญ แต่อนาคตต้องได้เกิดในสวรรค์ ยังคงยึดมั่นตามปณิธานในอดีตสมัยอาณาจักรพุกามเมื่อหนึ่งพันปีที่ผ่านมานั่นคือ “เท้ายืนบนพื้นอย่างเข้มแข็งแต่วิญญาณมุ่งตรงสู่สวรรค์” ตาตาชเวดากอง ลาก่อนมหาเจดีย์จิตวิญญาณของเมียนมาร์ สิ่งสักการะสำคัญของพระพุทธศาสนา
การไปพม่าครั้งแรกเพราะภารกิจคือการประชุม แต่การไปครั้งที่สองเป็นการไปนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ความรู้สึกนึกคิดจึงต่างกัน พลังมหาชนที่หลั่งไหลเดินเวียนรอบเจดีย์ในแต่ละคืนเป็นสิ่งที่คนพม่ากระทำด้วยพลังศรัทธา หากมีเวลาก็ต้องมาที่นี่ถือดอกไม้ธูปเทียนเดินเวียนประทักษิณ แม้จะมีคำกล่าววไว้ว่าพระอยู่ที่ใจไหว้ที่ไหนก็ได้ แต่หากได้เห็นฝูงชนมาร่วมกระทำกิจกรรมอย่างเดียวกันในที่เดียวกันย่อมจะทำให้เกิดพลังใจขึ้นได้อย่างน่าอัศจรรย์
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
เรียบเรียง
พิมพ์เผยแผ่ครั้งแรกใน www.mbu.ac.th 23/03/52
แก้ไขปรับปรุงใหม่ 05/03/53