เริ่มต้นเดือนเมษายนประชาชนชาวไทยมักจะคิดถึงวันสงกรานต์ อันเป็นประเพณีที่สำคัญของคนไทย แต่พอถึงปีนี้ก่อนวันสงกรานต์เพียงไม่กี่วันหลายคนคิดถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยหรือสี่แยกคอกวัวที่เกิดเหตุการณ์เมษาเลือดเมื่อปีที่ผ่านมา สงกรานต์ในอดีตเคยเป็นวันขึ้นปีใหม่ แต่พอยุคสมัยเปลี่ยนไปทำให้ปีใหม่กลายมาเป็นวันที่ 1 มกราคมอย่างเช่นในปัจจุบัน แต่ทว่าความทรงจำของคนไทยในวันขึ้นปีใหม่ตามประเพณีของบรรพบุรุษยังคงมีประชาชนยึดถือปฏิบัติสืบต่อมา ดังนั้นพอถึงวันสงกรานต์ คนไทยทั่วทุกภาคแม้จะร้อนด้วยไอแดด หรือร้อนด้วยเพลิงความคิดทางการเมือง แต่ยังรักษาประเพณีการเล่นน้ำในวันสงกรานต์ให้เย็นทั่วหล้าในทุกภาคของประเทศ
ประเพณีสงกรานต์ ถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย ซึ่งยึดถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมาแต่โบราณกาล และเป็นวัฒนธรรมประจำชาติที่งดงามฝังลึกอยู่ในชีวิตของคนไทยมาช้านาน คำว่า “สงกรานต์” มาจากภาษาสันสฤต แปลว่าผ่านหรือเคลื่อนย้าย หมายถึง การเคลื่อน การย้ายของพระอาทิตย์เข้าไปจักรราศีใดราศีหนึ่ง จะเป็นราศีใดก็ได้ แต่ความหมายที่คนไทยทั่วไปใช้ หมายเฉพาะวันและเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษในเดือนเมษายนเท่านั้น
กำหนดการทำบุญวันสงกรานต์ 2554
วัดมัชฌันติการาม
สงกรานต์ยังเป็นการทำนายถึงอนาคตของพืชพรรณธัญญาหาร ทำนายฝนฟ้าอากาศของเกษตรกรได้ด้วย จึงมีประกาศสงกรานต์ของทุกปีในปีพุทธศักราช 2554 ได้มีประกาศสงกรานต์ความว่า
ประกาศสงกรานต์ปีพุทธศักราช 2554 ปีเถาะ โทศก จุลศักราช 1373 ทางจันทรคติเป็นปกติ มาสวาร ทางสุริยคติเป็นปกติสุรทิน วันที่ 14 เมษายนเป็นวันมหาสงกรานต์ ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 5 เวลา 13 นาฬิกา 25 นาที 25 วินาที
นางสงกรานต์นามว่า กิริณีเทวี ทรงพาหุรัด ทัดดอกมณฑา อาภรณ์แก้วมรกต ภักษาหารถั่วงา พระหัตถ์ขวาทรงขอ(ช้าง) พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จนั่งมาเหนือหลังกุญชร(ช้าง)เป็นพาหนะ
วันที่ 16 เมษายน เวลา 17 นาฬิกา 31 นาที 12 วินาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่ เป็น 1373 ปีนี้วันศุกร์เป็นธงชัย วันเสาร์เป็นอธิบดี วันพฤหัสบดีเป็นอุบาทว์ วันอาทิตย์เป็นโลกวินาส
ปีนี้ วันพุธ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 600 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 60 ห่า ตกในมหาสมุทร 120 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 180 ห่า ตกในเขาจักรวาล 240 ห่า นาคให้น้ำ 5 ตัว เกณฑ์ธัญญาหารได้เศษ 6 ชื่อ ลาภะ ข้าวกล้าในภูมินาจะได้ 9 ส่วน เสีย 1 ส่วน ธัญญาหาร พลาหาร มัจฉมังษาหารจะบริบูรณ์
เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีปถวี (ดิน) น้ำงามพอดี (ที่มา: ปฏิทินศาสนา 2554)
เรื่องประกาศวันสงกรานต์อาจมีตำราอื่นๆแตกต่างกันไปบ้าง ส่วนมากจะต่างที่เวลา ส่วนชื่อนางสงกรานต์มักจะตรงกัน ส่วนคำทำนายจะมีพิศดารตามความื่อของแต่ละท้องถิ่น คนไทยกับโหราศาสตร์แยกกันไม่ค่อยออก วันสงกรานต์จึงเป็นการผสมผสานความเชื่อของพราหมณ์และพระพุทธศาสนาปะปนกันอยู่
วันมหาสงกรานต์ วันเนา และวันเถลิงศกมีคำทำนายเพิ่มเติมอีกว่า ถ้าวันเสาร์ เป็น วันมหาสงกรานต์ โจรผู้ร้ายจะชุกชุม จะเกิดการเจ็บไข้ร้ายแรง ถ้าวันเสาร์เป็น วันเนา ข้าวปลาจะแพง ข้าวจะได้น้อย ผลไม้จะแพง น้ำน้อย จะเกิดเพลิงกลางเมือง ขุนนางจะต้องโทษ ถ้าวันเสาร์เป็น วันเถลิงศกบรรดาทหารทั้งปวงจะมีชัยชนะแก่ข้าศึกศัตรู
นอกจากนี้ยังมีคำพยากรณ์อันเป็น ความเชื่อทางล้านนา อีกตำราว่า ถ้า วันมหาสงกรานต์ตรงกับวันอาทิตย์ นางสงกรานต์ชื่อ นางแพงศรี ปีนั้นข้าวจักแพงมากนัก คนทั้งหลายจักเป็นพยาธิ(เป็นโรค) ข้าศึกจักเกิดมีกับบ้านเมือง หนอนแมลงจักลงกินพืชไร่ข้าวนา ฝนตกบ่ทั่วเมือง คนมั่งมีเศรษฐีจักฉิบหาย ไม้ยางเป็นไม้ใหญ่แก่ไม้ทั้งหลาย ขวัญข้าวอยู่ไม้ไผ่ ถ้ามหาสงกรานต์ตรงกับ วันจันทร์ นางสงกรานต์ชื่อ มโนรา ปีนั้นงูจักเกิดมีมาก คนทั้งหลายจักเกิดเป็นพยาธิมากนัก ฝนหัวปีดี หางปีบ่พอดี ข้าวกล้าลางที่ดี ลางที่ก็บ่ดี ไม้กุ่มเป็นพญาแก่ไม้ทั้งหลาย ขวัญข้าวอยู่ไม้เดื่อเกลี้ยง หากตรงกับ วันอังคาร นางสงกรานต์ชื่อ รากษสเทวี ปีนั้นฝนหัวปีดี กลางปีไม่ดี ปลายปีดีมาก ข้าวไร่ข้าวนาจักเสีย ลูกไม้บ่มีหน่วยหลาย(ได้ผลน้อย)
บ้านเมืองจักเกิดกลียุค แมลงมีปีกจักทำร้ายพืชผักข้าวกล้ามากนัก ไม้พิมานเป็นพญาไม้ ขวัญข้าวอยู่ที่ไม้อ้อยช้าง หากตรงกับ วันพุธ นางสงกรานต์ชื่อ มันทะ ปีนั้นฝนตกบ่ทั่วเมือง หัวปีมีมาก กลางปีน้อย ข้าวในนาจะได้ครึ่งเสียครึ่ง ของบริโภคจะแพง ขุนนางขุนเมืองจะตกต่ำ ไม้สะเดา เป็นพญาไม้ ขวัญข้าวอยู่ที่ไม้คราม ถ้าตรงกับ วันพฤหัสบดี นางสงกรานต์ชื่อ นางกัญญาเทพ ปีนั้นฝนตกเสมอต้นเสมอปลายชอบตามฤดูกาล ผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่จักมีอันตราย ช้างม้าวัวควายจักตายมากนัก ไพร่ราษฎรจักอยู่ดีมีสุข ขุนใหญ่ ปุโรหิต พระสงฆ์จักเป็นทุกข์ ไม้สักเป็นพญาไม้ ขวัญข้าวอยู่ไม้ทองกวาว ถ้าตรงกับ วันศุกร์ นางสงกรานต์ชื่อ ริญโท ปีนั้น ฝนตกหัวปีดี กลางปีบ่มีหลาย เพลี้ย บุ้งจักกัดกินทำร้ายข้าวนาพืชไร่ อันตรายจักเกิดมีแก่สมณพราหมณ์ ไม้สะเดาเป็นพญาไม้ ขวัญข้าวอยู่ไม้พุทรา หากตรงกับ วันเสาร์ นางสงกรานต์ชื่อ สามาเทวี ปีนั้นฝนแล้ง แมลงต่างๆจักทำร้ายพืชไร่มากนัก ไฟจักไหม้บ้านไหม้เมือง เกิดอัคคีภัยใหญ่ ข้าวยากหมากแพง (อมรรัตน์ เทพกำปนาท,กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติกระทรวงวัฒนธรรม)
ตำนานสงกรานต์ในแต่ละท้องที่ มักจะมีการแต่งตำนานเสริมขึ้นมา เพื่อรองรับกับประเพณีที่ชาวท้องถิ่นๆนั้นถือปฏิบัติ และการละเล่นต่างๆ ในแต่ละท้องที่ก็อาจจะมีแตกต่างกันบ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนถือปฏิบัติร่วมกันคือการเล่นสาดน้ำเพื่อคลายความร้อนและการละเล่นเพื่อความมสนุกสนานเพลิดเพลิน นิสัยของคนไทยอยู่ที่ไหนก็มักจะสนุกสนานไว้ก่อน
ตำนานเกี่ยวกับกำเนิดวันสงกรานต์
มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ก่อนพุทธกาลมีเศรษฐีครอบครัวหนึ่ง อายุเลยวัยกลางคนก็ยังไร้ทายาทสืบสกุล ซึ่งทำให้ท่านเศรษฐีทุกข์ใจเป็นอันมาก ข้างรั้วบ้านเศรษฐีมีครอบครัวหนึ่ง หัวหน้าครอบครัวเป็นนักเลงสุรา ถ้าวันไหนร่ำสุราสุดขีด ก็จะพูดเสียงดังแสดงวาจาเยาะเย้ยเศรษฐีสบประมาทในความมีทรัพย์มาก แต่ไร้ทายาทสืบสมบัติเสมอ วันหนึ่งเศรษฐีจึงถามว่ามีความขุ่นเคืองอะไรจึงแสดงอาการเยาะเย้ยและสบประมาท เฒ่านักดื่มจึงตอบ ถึงท่านมั่งมีสมบัติมากก็จริง แต่เป็นคนมีบาปกรรมท่านจึงไม่มีบุตร ตายไปแล้วสมบัติก็ตกเป็นของผู้อื่นหมด สู้เราไม่ได้ถึงแม้จะยากจนแต่ก็มีบุตรคอยดูแลรักษายามเจ็บไข้และรักษาทรัพย์สมบัติเมื่อเราสิ้นใจ
นับแต่นั้นมา เศรษฐียิ่งมีความเสียใจ จึงพยายามไปบวงสรวงพระอาทิตย์และพระจันทร์ เพียรพยายามตั้งจิตอธิษฐานขอบุตร ทำเช่นนี้เป็นเวลาติดต่อกันถึงสามปี ก็ไม่ได้บุตรดังที่ตนปรารถนาจนวันหนึ่งเป็นวันนักขัตฤกษ์สงกรานต์ ท่านเศรษฐีก็พาข้าทาสบริวารของตนมาที่โคนต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่ง ที่อยู่บนฝั่งแม่น้ำที่อาศัยของนกทั้งหลาย ท่านเศรษฐีให้บริวารล้างข้าวสารด้วยน้ำสะอาดถึง 7 ครั้ง แล้วจึงหุงข้าวสารนั้น เมื่อสุกแล้วยกขึ้นบูชาพระไทร เทพเหล่านั้นเกิดความสงสาร จึงขึ้นไปเฝ้าพระอินทร์ ทูลขอบุตรแก่เศรษฐี พระอินทร์จึงบัญชาให้เทพบุตรองค์หนึ่งชื่อ “ธรรมบาล” ลงมาเกิดในครรภ์ของภรรยาเศรษฐี เมื่อครบกำหนดภรรยาเศรษฐีก็คลอดบุตรเป็นชาย เศรษฐีจึงตั้งชื่อว่า ธรรมบาลกุมาร เพื่อตอบสนองพระคุณเทพเทวา เศรษฐีจึงสร้างปราสาทสูง 7 ชั้น ถวายเทพต้นไทร
เมื่อธรรมบาลกุมารเจริญวัยขึ้น เป็นเด็กที่มีปัญญาเฉียบแหลม รอบรู้ และวัยเพียง 7 ขวบก็เรียนจบไตรเพท ยังมีเทพองค์หนึ่งชื่อ “ท้าวกบิลพรหม”ได้ยินกิตติศัพท์ทางสติปัญญาอันยอดเยี่ยมของเด็กน้อย จึงคิดทดลองภูมิปัญญาโดยการเอาชีวิตเป็นเดิมพันจึงถามปัญหา 3 ข้อ ถ้ากุมารน้อยแก้ปัญหาทั้ง 3 ข้อได้ กบิลพรหมจะตัดศีรษะของตนบูชา ถ้าธรรมบาลแก้ไม่ได้ ก็จะต้องเสียหัวเพื่อยอมรับความพ่ายแพ้ปัญหานั้นมีว่า
1. ตอนเช้าราศีคนอยู่แห่งใด
2. ตอนเที่ยงราศีของคนอยู่แห่งใด
3. ตอนค่ำราศีของคนอยู่แห่งใด
เมื่อได้ฟังปัญหาแล้ว ธรรมบาลไม่อาจทราบคำตอบในทันทีได้ จึงผลัดวันตอบปัญหาไปอีก 7 วัน ครั้นเวลาล่วงจากนั้นไป 6 วัน ธรรมบาลกุมารก็ยังคิดหาคำตอบปัญหานั้นไม่ได้ จึงหลบออกจากปราสาทหนีเข้าป่า และไปนอนพักเอาแรงใต้ต้นตาล ขณะนั้นบนต้นตาลมีนกอินทรีคู่หนึ่งอาศัยอยู่ นางนกถามสามีว่า “พรุ่งนี้เราจะไปหาอาหารที่ไหน” นกสามีก็ตอบว่า “พรุ่งนี้เราไม่ต้องบินไปไกล เพราะจะได้กินเนื้อธรรมบาลกุมาร ซึ่งจะถูกท้าวกบิลพรหมตัดหัว เนื่องจากแก้ปัญหาไม่ได้” นางนกถามว่า “ปัญหานั้นว่าอย่างไร” นกสามีตอบว่า ปัญหามีอยู่ 3 ข้อ และหมายถึง
ข้อหนึ่ง ตอนเช้าราศีของมนุษย์อยู่ที่หน้า คนจึงต้องล้างหน้าทุกๆ เช้า
ข้อสอง ตอนเที่ยงราศีคนอยู่ที่อก มนุษย์จึงต้องเอาเครื่องหอมประพรมที่อก
ข้อสาม ตอนค่ำราศีคนอยู่ที่เท้า มนุษย์จึงต้องล้างเท้าก่อนเข้านอน
ธรรมบาลกุมาร ได้ยินการไขปัญหาของนกอินทรี และจำจนขึ้นใจ ทั้งนี้เพราะธรรมบาลรู้ภาษานก จึงกลับสู่ปราสาทอันเป็นที่อยู่แห่งตน รุ่งขึ้นเป็นวันครบกำหนดแก้ปัญหา ท้าวกบิลพรหมมาฟังคำตอบ ธรรมบาลกุมารกล่าวแก้ปัญหาตามที่นกอินทรีคุยกันทุกประการ ท้าวกบิลพรหมจึงเรียก ธิดาทั้ง 7 ของตนอันเป็นบริจาริกาคือหญิงรับใช้ของพระอินทร์มาพร้อมกัน แล้วบอกว่าตนจะตัดเศียรบูชาธรรมบาลกุมาร แต่ถ้าเอาศีรษะพ่อวางไว้บนแผ่นดินก็จะลุกไหม้ไปทั้งโลก ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศ อากาศจะแห้งแล้งฟ้าฝนจะหายไปสิ้น ถ้าทิ้งลงไปในมหาสมุทร น้ำในมหาสมุทรจะแห้งแล้งไปเช่นกัน จึงสั่งให้ นางทั้ง 7 คน เอาพานมารองรับศีรษะ แล้วจึงตัดศรีษะส่งให้นางทุงษธิดาคนโต นางทุงษจึงเอาพานรับเศียรบิดาไว้แล้วแห่ประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุ 60 นาที แล้วอัญเชิญไปไว้ในมณฑปถ้ำคันธุรลี เขาไกรลาส บูชาด้วยเครื่องทิพย์ พระเวสสุกรรมก็เนรมิตโรงประดับด้วยแก้ว 7 ประการ ชื่อภควดี ให้เป็นที่ประชุมเทวดา เทวดาทั้งปวงก็เอาเถาฉมูนวดลงมาล้างในสระอโนดาต 7 ครั้ง แล้วก็แจกกันเสวยทุกๆ องค์ ครั้นครบ 365 วัน โลกสมมุติว่าเป็นหนึ่งปีเป็นสงกรานต์ ธิดา 7 องค์ ของเท้ากบิลพรหมก็ผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรของพระบิดาออกแห่ประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุทุกปีแล้วจึงกลับไปเทวโลก (แหล่งข้อมูลhttp://www.songkran.net/th/history.php)
เย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์
จากประวัติวันสงกรานต์ซึ่งเป็นเรื่องที่เล่าขานสืบต่อกันมานานจนกลายเป็นเรื่องเล่าที่ดูเหมือนว่าจะกลายเป็นตำนานที่คนรุ่นต่อมามีความเชื่อโดยไม่ต้องการพิสูจน์ ปัจจุบันสาระสำคัญของวันสงกรานต์มิได้อยู่ตำนาน แต่อยู่ที่การละเล่นเพื่อคลายร้อนในช่วงเดือนเมษายนที่เป็นช่วงที่ร้อนที่สุดของปี
ธรรมบาลกับกบิลพรหมหากจะเปรียบเทียบกับสังคมยุคเกษตรกรรมก็อาจจะเป็นการต่อสู้ทางชนชั้นของนักปราชญ์หนุ่มฝ่ายหัวก้าวหน้ากับนักปราชญ์หัวอนุรักษ์นิยมที่เชื่อมั่นว่าการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีไว้เป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่ในที่สุดฝ่ายหัวก้าวหน้าชนะ สังคมไทยจึงก้าวผ่านจากสังคมเกษตรกรรมเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรมและสังคมสารสนเทศ แต่การก้าวผ่านยังไม่สำเร็จ เพราะปัจจุบันคนไทยส่วนมากก็ยังยึดอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งน่าจะใกล้เคียงกับสังคมของกบิลพรหม
ที่น่าคิดอีกอย่างหนึ่งคือทำไมศีรษะของพรหมจึงร้อนอยู่ดินก็ไม่ได้ ในอากาศก็ไม่ได้ แม้แต่ในมหาสมุทรก็ยังรับศีรษะของท้าวมหาพรหมไม่ได้ ต้องเก็บไว้ในถ้ำ ครบหนึ่งปีนำออกมาชำระล้างในสระอโนดาตครั้งหนึ่ง พรหมในพระพุทธศาสนาคือผู้ที่ประกอบด้วยคุณธรรมที่เรียกว่าพรหมวิหารคือเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นธรรมของผู้ใหญ่ซึ่งถ้าผู้หลักผู้ใหญ่ในครอบครัวหรือแม้แต่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองมีพรหมวิหาร บ้านเมืองก็จะสงบสุข แต่ถ้าผู้ใหญ่ไม่มีธรรมประจำใจแล้วบ้านเมืองจะไม่สงบเรียบร้อย
ในพระพุทธศาสนาเรามีตัวแทนของผู้ใหญ่คือพระพุทธรูป มีผู้สรุปองค์คุณของพระพุทธรูปไว้ว่า “เผาไม่ไหม้ ใกล้ไม่ร้อน นอนไม่มาก ปากไม่โป้ง โกงไม่เป็น” ความหมายที่แฝงเร้นในปริศนาธรรมเหล่านี้คือ
“เผาไม่ไหม้” หมายถึงคุณงามความดีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีความคงทน แม้จะถูกกล่าวหาว่าร้ายอย่างไรความจริงแท้ยังคงอยู่
“ใกล้ไม่ร้อน” หมายถึงพระพุทธเจ้ามีความเย็นสงบ คนที่เข้าใกล้จะได้รับแต่ความสงบเย็นใจไปด้วย หากใครเกิดความทุกข์เดือดร้อนใจให้เข้าหาพระพุทธรูปอันเป็นเหมือนตัวแทนของพระพุทธเจ้าจากนั้นเพ่งมองก็จะได้พุทธานุสติ
“นอนไม่มาก” หมายถึงพระพุทธเจ้าทรงประกอบความเพียรไม่ย่อท้อ แม้เมื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้วก็ยังทรงบำเพ็ญพุทธกิจไม่เคยขาดคือตอนเช้ามืดตรวจดูสัตว์โลกผู้ควรจะตรัสรู้ จากนั้นออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ ตอนเย็นแสดงธรรมแก่พุทธบริษัท ตอบปัญหาพุทธสาวก จนกระทั่งตอนดึกจึงคอยตอบปัญหาเทวดา กว่าจะได้หลับก็ต้องรอให้เทวดากลับหมดก่อน
“ปากไม่โป้ง” หมายถึงพระพุทธเจ้าตรัสเฉพาะสิ่งที่มีประโยชน์เหมาะกับกาล ไม่แสดงสิ่งเหลวไหลไร้สาระ ไม่เหมือนนักการเมืองบางท่านพูดเก่งแต่หาสิ่งที่เป็นสาระแทบไม่ได้เลย
“โกงไม่เป็น” หมายถึงพระพุทธรูปอันเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้านั้นฉ้อโกงใครไม่เป็น ตรงไปตรงมา ไม่เห็นแก่หน้าใคร แม้ถึงครางแต่งตั้งใครในตำแหน่งอะไรก็ดูที่ความสามารถ ดังที่ทรงตั้งเอตทัคคะในแต่ละตำแหน่งก็ตั้งตามความสามารถ
ตัวแทนของพระพุทธเจ้านอกจากพระพุทธรูปแล้วยังมีผู้สรุปไว้อีกหลายอย่างว่า “พุทธปฏิมา โพธิรุกขา เจติยา ถูปา อัฎฐารสสหัสสธัมมขันธา” ใครอยู่ใกล้อะไรก็ไหว้สิ่งนั้น
สงกรานต์ปีนี้ชาวไทยคงเล่นสาดน้ำในวันสงกรานต์อย่างเปี่ยมสุข ให้สมกับที่เราได้เรียกวันแห่งความสนุก สงบเย็นว่า “เย็นทั่วหล้ามหาสงกราต์” ใครจะเกลียดจะโกรธกันยังไงขอให้เก็บไว้ก่อนเล่นกันให้สนุกเถิด
เก็บความชัง ขังความรัก ไว้สักครู่
หันมาดู วันสงกรานต์ ศานต์สุขสันต์
เล่นให้สุข ใจสบาย อีกหลายวัน
ต่อนั้นจาก ค่อยหันหน้า มาคุยกัน......... ฯ
ใครจะเชียร์พรรคการเมืองไหน คิดว่าจะเลือกพรรคใดเข้ามาบริหารประเทศ ปล่อยให้สงกรานต์ผ่านไปก่อน เรื่องที่พูดกันแล้วมักจะทะเลาะกันมีอยู่สองเรื่องคือเรื่องศาสนาและการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่หนักทั้งสองเรื่อง หากสนทนากันเมื่อไหร่มีเรื่องไม่ลงรอยกันทุกที สิ้นสงกรานต์วันแห่งความสุขสนุกสนานเมื่อไหร่ค่อยว่ากันอีกที
ปีนี้ใครยังไม่รู้จะไปเที่ยวงานสงกรานต์ที่ไหน ขอเชิญมาร่วมงานวันสงกรานต์ที่วัดมัชฌันติการาม วงศ์สว่างซอย 11 บางซื่อ กรุงเทพมหานครก็ได้ ยินดีต้อรับทุกท่าน
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
วัดมัชฌันติการาม
เรียบเรียง
12/04/54