พระพุทธศาสนาได้ชื่อว่าศาสนาที่ประชาชาวไทยนับถือมากที่สุด แต่ทว่าปัจจุบันได้ถูกลดบทบาทลงอย่างมากทำให้ดูเหมือนจะค่อยๆถูกผลักดันออกจากสังคมไปทุกที พระพุทธศาสนามีคำสอนส่วนหนึ่งไม่ให้ยึดติดกับวัตถุนิยมแต่ชาวพุทธก็ยังตกอยู่ใต้กระแสวัตถุนิยมมีปัญหาหนี้สินและการทุจริตคอรัปชั่นเพิ่มมากมากขึ้น มีคนกล่าวว่าชาวพุทธส่วนใหญ่ให้ความสนใจการบันเทิงมากกว่าความรู้ หรือถ้าจะสนใจความรู้ก็เป็นความรู้ทางโลกมากกว่าทางธรรมะ คณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมอยากทราบปัญหาและหาทางออก จึงได้จัดการสัมมนาเรื่อง “พุทธไทย ลงเอยอย่างไร”ขึ้นที่อาคารรัฐสภา
คณะกรรมาธิการการศาสนาศิลปะและวัฒนธรรมได้เชิญเข้าร่วมการสัมมนาครั้งนี้ด้วย โดยจัดขึ้นในวันเสารที่ 2 เมษายน 2554 ตั้งแต่เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ อาคารรัฐสภา 2 งานนี้วิทยากรผู้ร่วมอภิปรายสี่ท่านคือพระดุษฎี เมธังกุโร เจ้าอาวาสวัดทุ่งไผ่ จังหวัดชุมพร ดร.อุทัย ดุลยเกษม อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร นางอานิก อัมระนันท์ กรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม นายแทนคุณ จิตต์อิสระ ประธานกองทุนสื่อธรรมะเพื่อเยาวชน โดยมี ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เป็นผู้ดำเนินรายการ นัยว่ารายการนี้มีการบันทึกเทปเพื่ออกอากาศทางโทรทัศน์ด้วย ถ้าหากรู้ว่ามีการบันทึกเทปเพื่อออกอากาศคงปฎิเสธแต่ต้นแล้ว แต่ไปรู้ตอนเข้าห้องประชุมจึงแก้ไขอะไรไม่ทัน
วัตถุประสงค์ของการจัดการสัมมนาวางไว้ดีคือเพื่อวิเคราะห์ประเด็นปัญหาที่เป็นอุปสรรค์ต่อการส่งเสริมสนับสนุนกิจการพระพุทธศาสนาของประเทศไทย และนำมาสังเคราะห์เป็น แนวทางหลักในการส่งเสริมสนับสนับกิจการพระพุทธศาสนาให้เห็นผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ซึ่งจะทำให้พระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองวัฒนาถาวรสืบไป อีกอย่างเพื่อกระตุ้นให้สังคมเห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดจากการขาดความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา และสร้างภูมิคุ้มกันให้เยาวชนไทยซึ่งเป็นพุทธศาสนิกชนน้อมนำหลักธรรมของพระพุทธศาสนามาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน
วิทยากรทั้งสี่ท่านเสนอมุมมมองที่ดีเช่นโลกปัจจุบันควรพัฒนาไปพร้อมๆกันทั้งสามด้านคือการศึกษา การสื่อสาร และศาสนา ในขณะที่ประชากรของประเทศเพิ่มมากขึ้นแต่ปริมาณของพระสงฆ์กลับลดลง บทบาทของพระสงฆ์ในอดีตที่เคยเป็นผู้นำของสังคมก็ลดลง ในชนบทบางแห่งมีวัดร้างเพิ่มมากขึ้น การจัดการศึกษาของรัฐก็มีผลกระทบต่อการบรรพชาอุปสมบทมากขึ้น เพราะเด็กอยู่ในระบบโรงเรียนนานขึ้น การบรรพชาสามเณรจึงมีน้อยลง แม้จะมีการบวชภาคฤดูร้อนแต่ก็เป็นเพียงช่วงสั้นๆ มีแนวโน้มว่าในอนาคตจำนวนพระภิกษุสามเณรจะลดปริมาณลงเรื่อยๆ และพระสงฆ์ที่มีความรู้ทางด้านการปฎิบัติที่สามารถสอนชาวบ้านจะมีน้อยลง เพราะพระสงฆ์นิยมบวชในช่วงเวลาสั้นๆ
ด้านการสื่อสารก็มักจะนำเสนอแต่ข่าวที่เป็นด้านลบของคณะสงฆ์ จนมีคนกล่าวเชิงเปรียบเทียบว่า “ข่าวร้ายลงฟรี แต่ข่าวดีต้องเสียสตางค์” วิทยากรท่านหนึ่งบอกว่า สาเหตุที่เป็นอย่างนั้นเพราะข่าวร้ายหรือข่าวด้านลบคนจะสนใจมากกว่าข่าวด้านดี และข่าวในทำนองนี้มักจะเป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป คนไม่ค่อยตามไปสืบสวนสอบสวนว่าจริงหรือเท็จ เพราะด้านร้ายคนจะมีเกณฑ์ในการตัดสินอยู่แล้ว คนเสนอข่าวก็ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรมาก หากเสนอข่าวผิดก็ลงประกาศขออภัยทุกอย่างก็จบ
ตรงกันข้ามกับข่าวเรื่องคนทำความดี สังคมให้ความสนใจและสงสัยว่าดีจริงหรือไม่ เอาเกณฑ์อะไรมาวัด หรือเป็นเพียงเรื่องที่สร้างกระแสเพื่ออยากดัง ประชาชนจะตรวจสอบมากกว่า หากข่าวนั้นไม่จริง คนเสนอข่าวก็ขาดความเชื่อถือ กลายเป็นผลกระทบกับอาชีพไปเลย จำได้ว่าครั้งหนึ่งมีคนขับแท็กชี่เก็บเงินได้และนำส่งเจ้าของทรัพย์ ทั้งหนังสือพิมพ์โทรทัศน์ลงข่าวติดต่อกันหลายวัน ถ้าจำไม่ผิดเขาได้รับรางวัลคนดีอะไรสักอย่างของกระทรวงวัฒนธรรมด้วยซ้ำ แต่พอตรวจสอบจริงๆกลับกลายเป็นเรื่องหลอกลวงสร้างภาพสร้างข่าวเพื่ออยากกดังเท่านั้นเอง นักข่าวทั้งหลายพลอยเสียหน้าไปตามๆกัน
มีวิทยากรท่านหนึ่งเสนอว่าต้องยอมรับความหลากหลายว่าสังคมมีคนหลายระดับ พระสงฆ์ก็เช่นเดียวกันมาจากคนทุกระดับแต่ที่มากที่สุดคือลูกชาวบ้านธรรมดาที่มีการศึกษาไม่สูงนัก บางท่านบวชเพื่อเรียนในระดับที่สูงกว่า คนที่วิพากย์พระสงฆ์ส่วนมากจะเป็นคนในชนชั้นกลางหรือผู้ที่มีการศึกษามากกว่าพระสงฆ์ คนพวกนี้ศึกษาพระพุทธศาสนาจากตำรา จนคิดว่าตัวเองมีความรู้มากพอที่จะวิจารณ์พระสงฆ์ได้ บางคนตัวเองคิดว่ามีความรู้ทางด้านศาสนาดีกว่าพระสงฆ์ที่เป็นเพียงลูกชาวไร่ชาวนา
ในอดีตพระสงฆ์ไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวแต่มีความสัมพันธ์ทางสังคม หากพระสงฆ์ประพฤติเสียหายชาวบ้านก็จะเป็นเหมือนศาลตัดสิน โดยการไม่ฬใส่บาตรบ้าง ไม่นิมนตร์ พระสงฆ์รูปนั้นก็อยู่ไม่ได้ ส่วนชาวบ้านนั้นสาเหตุที่คนไม่ทำชั่วนอกจากจะกลัวบาปแล้วยังกลัวความสัมพันธ์ทางสังคมด้วย กลัวว่าสังคมจะไม่ยอมรับ หากเป็นหนุ่มก็หาภรรยายาก หรือหากเป็นหญิงสาวถ้ามีเรื่องอื้อฉาวเกิดขึ้นจะกลายเป็นรอยบาปที่ไม่มีใครอยากคบค้าสมาคมด้วย ความชื่อเรื่องการรักนวลสงวนตัวจึงเกิดขึ้น แต่ปัจจุบันบริบทของสังคมเปลี่ยนไป มีระบบบ้านจัดสรร ความสัมพันธ์ทางสังคมก็เปลี่ยนไปด้วย อยู่บ้านหลังคาติดกันแทบจะไม่รู้จักชื่อกันเลย ใครทำงานอะไร ที่ไหนบางแห่งไม่รู้เลย ความสัมพันธ์ของคนในเมืองเปลี่ยนไป การนับถือศาสนาก็เปลี่ยนไปด้วย นิมนตพระสงฆ์จากที่ไหนมาก็ไม่รู้มาแสดงธรรมให้ฟังจากนั้นก็จำชื่อไม่ได้ ความสัมพันธ์ทางสังคมแทบจะไม่เกี่ยวข้องกันเลย
การสัมมนาเขาจัดอภิปรายกันสามชั่วโมงแต่ประเด็นสำคัญคือต่างฝ่ายก็เสนอความเห็นไปตามที่วิทยากรถามเฃ่นปัญหาเรื่องสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ ปัญหานักบวชสตรีเป็นต้น วิทยากรก็ตอบไปตามทัศนะของตน ซึ่งก็หาบทสรุปอะไรไม่ได้ จึงเป็นการอภิปรายปลายเปิด ตามใจของวิทยากรซึ่งต้องคิดถึงการออกอากาศทางโทรทัศน์เป็นหลัก ดูเหมือนว่าสาระสำคัญของการอภิปรายเป็นเรื่องรอง
พยายามฟังตั้งแต่ต้นจนจบ เวลาเขานำออกอากาศจริงจะมีภาพหรือไม่ก็ต้องคอยดู ปกติไม่ค่อยได้ดูโทรทัศน์เพราะมึความรู้สึกว่าสื่อไม่ค่อยเป็นกลาง เปิดโทรทัศนมาเมื่อไหร่เห็นแต่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีบางคนโฆษณาประชาสัมพันธ์ผลงานของตัวเอง ดูโทรทัศน์เมืองไทยปัจจุบันเหมือนกำลังฟังการหาเสียงของนักการเมือง หยุดดูยอมโง่ไม่รับรู้อะไรเลยดีกว่าไปฟังคำโฆษณาที่อาศัยเพียงวาทะที่ไพเราะเสนาะโสตวาดหวังถึงอนาคตที่ยังมาไม่ถึงเพื่อเอาชนะฝ่ายตรงข้าม
พุทธไทย...จะลงเอยอย่างไรนั้น วันนี้ยังไม่มีคำตอบ แต่การสัมมนาในครั้งนี้ดูเหมือนว่าคนฟังจะมีความเห็นไม่ค่อยตรงกับวิทยากรทั้งสี่ท่านสักเท่าไหร่นัก โดยเฉพาะผู้ดำเนินรายการที่พยายามจะถามคำถามเพื่อยั่วยุให้วิทยากรมองพระสงฆ์ในทัศนะที่ไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่นัก ผู้ฟังหลายท่านพยามยามเสนอความเห็นแย้ง ผู้ดำเนินรายการฟังแต่คงไม่ได้ยิน เหมือนกับว่าเขามีคำตอบมาก่อนที่จะจัดสัมมนาแล้ว
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
03/04/53