ทุกศาสนาในโลกล้วนมีคำสอนให้ศาสนิกชนประพฤติตนเป็นคนดี ทั้งดีต่อสังคมและดีต่อศาสนา วิธีการทำความดีนั้นแต่ละศาสนาก็จะแตกต่างกันไป ตามแต่บทบัญญัติและหลักการของศาสนานั้น ๆ แต่ทุกศาสนาก็มีจุดร่วมกัน คือการให้ความสำคัญแก่จิตใจ การเชื่อมั่นในความดี การเสียสละ โดยให้เห็นแก่ตัวน้อยที่สุด จนไม่มีความเห็นแก่ตัวเป็นที่สุด แต่ปัจจุบันศาสนาสากลของโลกกำลังเผชิญกับปัญหาท้าทายร่วมกัน บางศาสนาเผชิญกับปัญหาท้าทายจากภายนอก บางศาสนาเผชิญกับปัญหาท้าทายจากภายใน และบางศาสนาก็เผชิญกับปัญหาท้าทายทั้งสองประการ
ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะกรณีพระพุทธศาสนา ปัจจุบันทั้งในสังคมไทยและสังคมอื่น ๆ ที่นับถือพระพุทธศาสนา กำลังเผชิญกับปัญหานานาประการ ซึ่งพอสรุปได้เป็น 3 ประเด็น คือ
1.ปัญหาท้าทายที่เกิดจากภายในหน่วยงานพระพุทธศาสนา
2.ปัญหาท้าทายที่เกิดจากการรุกรานของลัทธิความเชื่อและศาสนาอื่น ๆ
3.ปัญหาท้าทายที่เกิดจากระบบความเชื่อและค่านิยมตามสื่อสมัยใหม่
1. ปัญหาท้าทายที่เกิดจากภายในหน่วยงานพระพุทธศาสนา
หน่วยงานพระพุทธศาสนา คือ รูปแบบบรรทัดฐาน ข้อปฏิบัติต่าง ๆ สถานภาพ ตำแหน่ง หน้าที่หรือบทบาทซึ่งผู้มีตำแหน่งในหน่วยงานจะต้องปฏิบัติ ส่วนประกอบที่สำคัญก็คือหลักคำสอนในพระไตรปิฎกของพระพุทธเจ้าและพระสาวก ร่วมทั้งด้านพิธีกรรม ศาสนสถาน และแนวคำสอนอื่น ๆ ที่พุทธบริษัทในพระพุทธศาสนาจะพึ่งปฏิบัติต่อกันและกัน ทั้งพระภิกษุสามเณร ภิกษุณี อุบากสกและอุบาสิกา
ปัญหาท้าทายที่เกิดจากบุคลากรในพระพุทธศาสนา
1.1. การอธิบายความตามหลักพระธรรมวินัย เป็นปัญหาหลักที่สำคัญในการทำให้เกิดความอ่อนแอของพระพุทธศาสนามาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและต่อไปในอนาคต การแตกแยกทางความคิดได้เกิดมาแล้วตั้งแต่หลังพุทธปรินิพพาน มีมูลเหตุจากพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อว่าพระสุภัททะ ได้แสดงความคิดเห็นเปิดเผยว่า ต่อไปนี้ใครมีความคิดเห็นในหลักธรรมอย่างไร ก็สามารถแสดงความคิดเห็นและตีความได้โดยอิสระ ไม่จำเป็นต้องหวาดกลัวต่ออะไรทั้งสิ้น เพราะพระพุทธเจ้าได้ปรินิพพานแล้ว เรื่องราวอันมีมูลเหตุจากพระสุภัททะนี้เป็นที่กล่าวกันอย่างกว้างขวาง โดยปรารภเหตุดังกล่าว พระอริยสาวกในสมัยนั้น อันประกอบด้วยพระมหากัสสปะเถระ พระอุบาลีเถระ และพระอานนทเถระ เป็นต้น ได้อาศัยมูลเหตุดังกล่าวในการสังคายนาพระธรรมวินัย เพื่อชำระหลักคำสอนของพระพุทธองค์ให้เป็นหมวดหมู่ เพื่อเป็นหลักแนวทางแห่งการปฏิบัติร่วมกัน พอเวลาผ่านไปพระสาวกรุ่นต่อ ๆ มา มีความคิดเห็นไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อธิบายพระธรรมวินัยแตกต่างกันในบางหมวด ไม่สามารถร่วมกันได้จนเกิดนิกายใหม่ขึ้นมา คือ นิกายมหายาน ซึ่งมุ่งเน้นช่วยคนให้ได้เป็นจำนวนมาก ๆ มีพระอวตารของพระพุทธเจ้าในปางต่าง ๆ เพื่อจะได้มาช่วยเหลือพุทธศาสนิกชนได้อย่างทั่วถึง และทีสำคัญเป็นการแย่งศาสนิกชนกับศาสนาพราหมณ์ในขณะนั้นด้วย ซึ่งการต่อสู้ในด้านพิธีกรรม การสื่อระหว่างศาสนิกกับศาสดากำลังขับเคี่ยวกันระหว่างทั้งสองศาสนา พร้อมทั้งโจมตีนิกายเดิมว่าเป็นนิกายที่คับแคบช่วยเหลือศาสนิกชนได้ที่ละไม่กี่คน พร้อมทั้งเรียกนิกายเดิมว่าหินยานหรือเปลี่ยนเป็นนิกายเถรวาทในการต่อมา การแตกแยกทางความคิดของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาในการต่อมาได้แตกออกเป็นนิกายย่อย ๆ อีกเป็นจำนวนมาก
สำหรับสังคมไทย การปฏิบัติที่แตกต่างกัน การอธิบายพระธรรมวินัยต่างกัน ก็มีให้เห็นเช่นกัน เช่น การเกิดคณะธรรมยุติกนิกาย สาเหตุมาจากการปฏิบัติตามตามพระธรรมวินัยแตกต่างกัน การเกิดขึ้นของสำนักสันติอโศก ที่เน้นการทานอาหารมังสวิรัติ และสำนักวัดพระธรรมกายที่สอนการฝึกสมาธิแบบกำหนดลูกแก้วและอธิบายพระนิพพานเป็นอัตตา
จากกรณีดังกล่าว ทำ ให้เกิดการแตกแยกในพระพุทธศาสนาของเมืองไทยอย่างรุนแรง ซึ่งกระทบกระเทือนต่อศรัทธาของประชาชนอย่างมากในปัจจุบันและในอนาคต
1.2. ปัญหาการประพฤติผิดพระธรรมวินัยของพระภิกษุสามเณร เป็นปัญหาที่วิกฤตที่สุดในปัจจุบัน เพราะพระภิกษุสามเณรเป็นตัวแทนของพระรัตนตรัย ความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อพระพุทธศาสนานั้น ส่วนหนึ่งมาจากการประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุสามเณร หากท่านเหล่านั้นประพฤติผิดต่อพระธรรมวินัยแล้ว ย่อมมีผลต่อศรัทธาของประชาชนอย่างหลีกไม่ได้ ปัญหาการประพฤติผิดพระวินัยของพระภิกษุสามเณรนั้น พอจะสรุปสาเหตุได้ดังนี้ คือ
- พระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนาของสังคมไทยมีพื้นฐานทางครอบครัวแตกต่างกัน
- มีระดับการศึกษาและสติปัญญาแตกต่างกัน
- เหตุจูงใจในการบรรพชาและอุปสมบทแตกต่างกัน
- การขอบรรพชาและอุปสมบท เป็นกระบวนการที่ทำได้ง่าย ไม่มีระเบียบในการปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกันในการพิจารณาและฝึกก่อนให้การบรรพชาและอุปสมบท
- พระอุปัชฌาย์ผู้มีอำนาจตามกฎหมายในการให้บรรพชาและอุปสมบท ไม่ได้อบรมสั่งสอนพระบวชใหม่ที่ตนบวชให้เท่าที่ควร มุ่งเน้นอติเรกลาภอันเกิดจากผู้บวชเป็นหลัก จึงได้แต่ปริมาณ ไม่ได้คุณภาพตามต้องการ ควรมีมาตรการหรือมาตรฐานให้กับพระอุปัชฌาย์ทุกรูปได้นำไปเป็นแนวปฏิบัติที่ชัดเจนกว่าที่เป็นอยู่
-เจ้าอาวาสที่มีหน้าดูแลอบรมสั่งสอนไม่มีเวลาอันเนื่องจากอำนาจต่าง ๆ เบ็ดเสร็จอยู่กับเจ้าอาวาสหมด อะไร ๆ ก็อยู่กับเจ้าอาวาสหมด ทำให้เจ้าอาวาสไม่มีเวลาต่อการอบรมสั่งสอน เพราะภารกิจต่าง ๆ เบียดบังเอาเวลาไปหมด
- สื่อมวลชนเสนอข่าวเกินความเป็นจริง โดยมุ่งขายข่าวมากกว่าจะร่วมรับผิดชอบต่อปัญหา บางทีข่าวไม่เป็นจริงอย่างที่เสนอไปแล้ว แต่ไม่มีความรับผิดชอบใด ๆ ทำให้พระภิกษุที่ดีตกเป็นจำเลยที่ถูกสังคมตัดสินผิดแล้ว โดยไม่มีโอกาสชี้แจงต่อสังคมเลย
พระพุทธศาสนาในปัจจุบันไม่มีเวลาพอที่จะรอการปฏิรูปหน่วยงานจากคณะใดคณะหนึ่งแล้ว พุทธบริษัททั้ง 4 ต้องร่วมมือร่วมใจกันในการปฏิวัติหน่วยงาน หลักการบริหาร หลักการดำเนินงาน การติดตามผล ทำงานเป็นเครือข่ายทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ จนถึงระดับโลก เพื่อให้ตอบสนองต่อความเป็นไปของสังคม หรือเราจะรอวันพระพุทธศาสนาสูญสิ้นจากเมืองไทยมาถึง........ ?
พระมหาสายันต์ มหาปุญโญ (ดร.)
ผู้เขียน
หมายเหตุ :พระมหา ดร.สายัณต์ มหาปญฺโญ จบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยอัครา รัฐอุตรประเทศ ประเทศอินเดีย ในปี 2548 เรียนจบยังไม่ได้ทำงานที่ไหน แต่ป่วยเข้าออกโรงพยาบาลรักษาอาการมาโดยตลอดในที่สุดก็ได้มรณภาพในวันเสาร์ที่ 1 กรกฎาคม 2549 เวลา 14.00 น. ก่อนมรณภาพเพียงไม่กี่เดือนท่านได้มอบบทความไว้เรื่องหนึ่งให้พร้อมทั้งบอกว่าให้นำเผยแผ่ได้ แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้นำเผยแผ่ที่ไหนมาก่อนเลย บังเอิญในขณะที่ค้นหาข้อมูลบางอย่างจึงได้พบบทความนี้ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเขียนหลังเรียนจบปริญญาเอกได้ไม่นาน เพราะท่านไม่ได้ลงวันที่กำกับไว้ เห็นว่าน่าจะมีประโยชน์ จึงนำมาเผยแผ่ให้ได้อ่านกัน
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
รวบรวม
28/03/54