เรื่องของการทำธุรกรรมทางการเงินในรูปแบบของธนาคาร ดูเหมือนจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาเลย เพราะพระสงฆ์ทำนิติกรรมตามกฎหมายไม่ได้ องค์กรสงฆ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันจึงมอบหมายให้มีผู้ทำธุรกรรมทางการเงินแทน วัดมีไวยาวัจกรทำหน้าที่ ส่วนองค์กรอื่นๆหากมีการทำนิติกรรมเกิดขึ้นก็มอบหมายให้ฆราวาสทำหน้าที่แทน หากมีคนคิดจะตั้งธนาคารพระพุทธศาสนาขึ้นมาเพื่อทำธุรกรรมทางการเงิน ระดมการออม ให้สินเชื่อ ตราสารทางการเงิน จัดกองทุน ให้ผลตอบแทนสงเคราะห์และให้บริการแก่ลูกค้าเพื่ออุปถัมภ์คุ้มครองพระพุทธศาสนาและส่งเสริมการบริหารงานของคณะสงฆ์จะทำอย่างไร
วันศุกร์ที่ผ่านมา(18 มีนาคม 2554)นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ ประธานคณะกรรมาธิการการศาสนาศิลปและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้จัดการประชุมเรื่อง “ร่างพระราชบัญญัติธนาคารพระพุทธศาสนา พ.ศ.........”ร่วมกันระหว่างคณะทำงานกองทุนพระพุทธศาสนา และผู้บริหารคณาจารย์เจ้าหน้ามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยา ที่ห้องประชุมอาคารสุชีพ ปุญญานุภาพ ศาลายา จังหวัดนครปฐม ในงานนี้มีอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยและเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทยเข้าร่วมประชุมด้วย
แนวคิดของการเสนอร่างพระราชบัญญัติธนาคารพระพุทธศาสนาเกิดจากคณะกรรมาธิการการศาสนาศิลปวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งปัจจุบันมีนายวิรุฬ เตชะไพบูลย์เป็นประธาน ได้แนวคิดมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 79 ความว่า “ รัฐต้องให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านานและศาสนาอื่น ทั้งต้องส่งเสริมความเข้าใจอันดีและความสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนของทุกศาสนา รวมทั้งสนับสนุน การนำหลักธรรมของศาสนามาใช้เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต”
น่าสังเกตว่ารัฐธรรมพยายามเลี่ยงคำว่า “ศาสนาประจำชาติ” โดยใช้คำว่า “ศาสนาที่ประชาชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน”แทน ในส่วนของธนาคารที่มาจากศาสนาในปัจจุบันมีอยู่เพียงสองศาสนาคือศาสนาคริสต์มีธนาคารวาติกัน และศาสนาอิสลามมีธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยมีพระราชบัญญัติธนาคารประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 119 ตอนที่ 108 ก เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2545 มีทั้งหมด 55 มาตรา ดำเนินการมียังไม่ถึงสิบปีแต่มีเงินฝากจำนวนมหาศาล
พระพุทธศาสนาเกิดมาก่อนสองศาสนานั้น แต่ยังไม่เคยมีธนาคารสำหรับพระพุทธศาสนามาก่อนเลย เท่าที่มีส่วนมากจะเป็นมูลนิธิ กองทุนด้านศาสนาต่างๆ มูลนิธิทางพระพุทธศาสนาที่ชาวพุทธรู้จักมากที่สุดคือ “มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย” ปัจจุบันมีเงินบริจาคเพื่อใช้ดอกผลในการบำรุงพระพุทธศาสนาเช่นศาสนวัตถุ การศึกษา การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นต้น มีจำนวนเงินมหาศาลเหมือนกัน
ร่างพระราชบัญญัติธนาคารพระพุทธศาสนาที่คณะทำงานได้จัดทำขึ้นมี่ทั้งหมดสิบหมวด 63 มาตรา สรุปสาระสำคัญในแต่ละหมวดได้ดังนี้
หมวดที่ 1 มาตรา 7 ให้กำหนดทุนเรือนหุ้นของธนาคารไว้สองพันล้านบาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญสองร้อยล้านหุ้น
หมวดที่ 2 มาตารา 12 “ให้ธนาคารมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินธุรกรรมทางการเงินอันเป็นการพัฒนา ส่งเสริม อุปถัมภ์ สนับสนุน และคุ้มครองการดำเนินงานด้านพระพุทธศาสนา โดยมุ่งหมายเพื่อให้บริการแก่ประชาชนทั่วไป ตลอดจนองค์กรทางพระพุทธศาสนาโดยวัตถุประสงค์กำหนดไว้ 17 ข้อเช่นรับฝากเงิน จัดหาเงินทุน ประกอบธุรกิจการเงิน ให้สินเชื่อ ให้คำแนะนำด้านการเงิน เรียกเก็บดอกเบี้ย ส่วนลด ค่าธรรมเนียมและค่าบริการอื่นๆ เป็นต้น โดยมีบทสรุปสำคัญว่า “การดำเนินกิจการของธนาคารจะต้องสอดคล้องกับหลักการของพระพุทธศาสนา”
หมวดที่ 3 กรรมการและการจัดการ กำหนดให้มีกรรมการสามชุดคือคณะกรรมการที่ปรึกษา คณะกรรมการธนาคารพระพุทธศาสนา และกรรมการบริหารและการจัดการ กรรมการทั้งสามชุดมีคุณสมบัติสำคัญประการหนึ่งคือ “กรรมการทุกท่านต้องเป็นพุทธศาสนิกชน”
หมวดที่ 4 ว่าด้วยคณะกรรมการบริหารและผู้จัดการ ว่าด้วยคุณสมบัติและหน้าที่ของกรรมการกำหนดไว้ 7 มาตรา
หมวดที่ 5 ว่าด้วยที่ปรึกษาธนาคารพระพุทธศาสนา กำหนดไว้สี่มาตรา
หมวดที่ 6 ว่าด้วยการกำกับ การดำเนินงานและการควบคุม กำหนดไว้สี่มาตรา
หมวดที่ 7 ว่าด้วยการสอบบัญชีรายงาน และหมวดที่ 8ว่าด้วยการตรวจสอบ หมวดที่ 9 บทกำหนดโทษและบทเฉพาะกาลระบุว่า “ให้รัฐบาลดำเนินการจัดตั้งธนาคารพระพุทธศาสนาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ”
รายละเอียดต่างๆคงพรรณาได้ไม่หมดแต่สาระสำคัญคือร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะทำให้มีธนาคารพระพุทธศาสนา ปัญหาอย่างหนึ่งทำไมไม่มี “แห่งประเทศไทย” ต่อท้าย เหตุผลของคณะกรรมการยกร่างบอกไว้น่าคิดว่า “เพราะต้องการให้ธนาคารนี้เป็นธนาคารของพระพุทธศาสนาทั่วโลก ไม่ใช่พระพุทธศาสนในประเทศไทยเท่านั้น” พิจารณาดูก็เข้าท่าดี
อีกแห่งหนึ่งคือคุณสมบัติของคณะกรรมการที่ทุกคนจะต้องเป็นพุทธศาสนิกชน จะไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 หรือ ซึ่งมีหลายมาตราว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนเช่นมาตราที่ 29, 30, 31, 33, 36, 41 และมาตรา 43
ในมาตรา 29 ระบุไว้ว่า “ การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้ กฎหมายตามวรรคหนึ่งต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป และไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง ทั้งต้องระบุบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการตรากฎหมายนั้นด้วย บทบัญญัติในวรรคหนึ่งและวรรคสองให้นำมาใช้บังคับกับกฎที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายด้วยโดยอนุโลม
โดยเฉพาะมาตรา 30 ความว่า “ บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็น ทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้ มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถ ใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรคสาม
ในมาตรา 43 ก็ระบุไว้ว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศ การคุ้มครองประชาชนในด้านสาธารณูปโภค การรักษา ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การจัดระเบียบการประกอบอาชีพ การคุ้มครองผู้บริโภค การผังเมือง การรักษา ทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพของประชาชน หรือเพื่อป้องกันการผูกขาดหรือขจัดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับหลักประกันความปลอดภัยและสวัสดิภาพในการทำงาน รวมทั้งหลักประกันในการดำรงชีพทั้งในระหว่างการทำงานและเมื่อพ้นภาวะการทำงาน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ”
คณะกรรมการยกร่างอธิบายว่า “ไม่ได้จำกัดสิทธิของบุคคลใด แต่ต้องการให้กรรมการที่ทำหน้าที่บริหารต้องมีความเข้าใจในหลักการของพระพุทธศาสนาพร้อมทั้งมีความรู้ทางด้านเศรษฐกิจการเงิน หากมิใช่พุทธศาสนิกชนจะเข้าใจสาระสำคัญของพระพุทธศาสนาได้อย่างไร อาจจะนำพาธนาคารพระพุทธศาสนาไปในทางที่ขัดต่อหลักการของพระพุทธศาสนาได้”
พระพุทธศาสนามิได้สอนให้คนมุ่งสู่ความหลุดพ้นไปนิพพานเท่านั้น แต่มีหลักธรรมส่วนหนึ่งที่สอนเรื่องเศรษฐกิจ การเป็นอยู่ซึ่งเรียกว่าเป็นธรรมระดับชาวบ้าน มีแทรกอยู่ในพระไตรปิฎกแห่งแห่ง ในเรื่องของการใช้จ่ายทรัพย์มีแสดงไว้ในอาทิยสูตร อังคุตรนิกาย ปัญจก(22/41/40)ความว่า “ดูกรคฤหบดี ประโยชน์ที่จะพึงถือเอาแต่โภคทรัพย์ห้าประการคือ
(1)อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ย่อมใช้จ่ายโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความหมั่น ความขยัน สะสมขึ้นด้วยกำลังแขน อาบเหงื่อต่างน้ำ ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม เลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำบริหารตนให้เป็นสุขสำราญ เลี้ยงมารดาบิดาให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ บริหารให้เป็นสุขสำราญ เลี้ยงบุตร ภรรยา ทาสกรรมกร คนใช้ ให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำบริหารให้เป็นสุขสำราญ
(2)อริยสาวกย่อมใช้จ่ายโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความหมั่น ความขยัน สะสมขึ้นด้วยกำลังแขน อาบเหงื่อต่างน้ำ ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม เลี้ยงมิตรสหายให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ บริหารให้เป็นสุขสำราญ
(3)อริยสาวกย่อมใช้จ่ายโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความหมั่น ความขยัน สะสมขึ้นด้วยกำลังแขน อาบเหงื่อต่างน้ำ ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม ป้องกันอันตรายที่เกิดแต่ไฟ น้ำ พระราชา โจร หรือทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก ทำตนให้สวัสดี
(4)อริยสาวกย่อมใช้จ่ายโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความหมั่น ความขยัน สะสมขึ้นด้วยกำลังแขน อาบเหงื่อต่างน้ำ ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม ทำพลีห้าอย่าง คือ(1)ญาติพลี บำรุงญาติ (2)อติถิพลี ต้อนรับแขก (3)ปุพพเปตพลี บำรุงญาติผู้ตายไปแล้วคือทำบุญอุทิศกุศลให้ (4)ราชพลี บำรุงราชการ คือบริจาคทรัพย์ช่วยชาติ (5) เทวตาพลี บำรุงเทวดา คือทำบุญอุทิศให้เทวดา
(5)อริยสาวกย่อมใช้จ่ายโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความหมั่น ความขยัน สะสมขึ้นด้วยกำลังแขน อาบเหงื่อต่างน้ำ ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม บำเพ็ญทักษิณา มีผลสูงเลิศ เกื้อกูลแก่สวรรค์ มีวิบากเป็นสุข ยังอารมณ์เลิศให้เป็นไปด้วยดีในสมณพราหมณ์ ผู้เว้นจากความมัวเมาประมาท ตั้งอยู่ในขันติและโสรัจจะ ผู้มั่นคง ฝึกฝนตนให้สงบระงับดับกิเลสโดยส่วนเดียว
นรชนเมื่อคำนึงถึงเหตุนี้ว่า เราได้ใช้จ่ายโภคทรัพย์เลี้ยงตนแล้ว ได้ใช้จ่ายโภคทรัพย์เลี้ยงคนที่ควรเลี้ยงแล้ว ได้ผ่านพ้นภัยที่เกิดขึ้นแล้ว ได้ให้ทักษิณาอันมีผลสูงเลิศแล้ว ได้ทำพลีห้าประการแล้ว และได้บำรุงท่านผู้มีศีล สำรวมอินทรีย์ประพฤติพรหมจรรย์แล้ว บัณฑิตผู้อยู่ครองเรือน พึงปรารถนาโภคทรัพย์ เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้น เราก็ได้บรรลุแล้ว เราได้ทำสิ่งที่ไม่ต้องเดือดร้อนแล้ว ดังนี้ชื่อว่าเป็นผู้ดำรงอยู่ในธรรมของพระอริยะ บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญเขาในโลกนี้ เมื่อเขาละจากโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงใจในสวรรค์
ถึงจะไม่มีส่วนใดในหลักคำสอนของพระพุทธศาสนากล่าวถึงธนาคารไว้เลย แต่หากจะวิเคราะห์ให้ดีในข้อที่สามคือ “ใช้เพื่อป้องกันอันตราย” อาจจะพอประยุกต์ใช้ได้ เพราะไม่รู้ว่าอันตรายจะมาถึงเมื่อไหร่ จึงมีความจำเป็นต้องเก็บทรัพย์ส่วนหนึ่งไว้ ในอดีตอาจจะฝังดินไว้ หรือเก็บรักษาไว้ในที่มิดชิด แต่ปัจจุบันมีวิธีเลือกหลายทางเช่นทำประกันชีวิต ประกันภัย และฝากธนาคารไว้ ในเวลาที่มีอันตรายจะได้นำมาใช้ทันท่วงที
ธนาคารส่วนมากจะดำเนินการเพื่อหวังผลกำไร หลายวัดพอได้ยินเรื่องนี้อาจจะสงสัยว่ารัฐบาลต้องการยึดเงินวัดหรืออย่างไร อาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ แต่ในมาตรา 3 แห่งร่างพระราชบัญญัติธนาคารพระพุทธศาสนากล่าวถึง “บัญชีบริจาค” ไว้ความว่า “บัญชีบริจาค หมายความว่าบัญชีที่ธนาคารจัดตั้งขึ้นเพื่อรับเงินบริจาค รวบรวมจัดการผลประโยชน์อันเกิดจากหุ้นและรับดำเนินการตามประสงค์ของผู้บริจาค เพื่อใช้ในกิจกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาตามที่คณะกรรมการกำหนด” ถ้าอย่างนี้คงหายกังวลว่าธนาคารจะใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ของผู้บริจาคซึ่งมีสิทธิระบุว่าจะนำดอกผลจากเงินต้นไปใช้ในกิจการใดก็ได้ตามที่ตนเองเห็นสมควร
ธนาคารพระพุทธศาสนาจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ยังมองอนาคตไม่ได้ แต่อย่างน้อยที่สุดก็มีผู้ให้ความสนใจเพื่อจะได้บริหารการเงินอย่างมีระบบ มีพระราชบัญญัติรองรับ เพื่อที่จะให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พศ. 2550 มาตรา 79 ที่ ระบุไว้ว่า“รัฐต้องให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน........” เมื่อรัฐจะอุปถัมภ์และคุ้มครองจึงมีวิธีการของรัฐ ส่วนหนึ่งรัฐเห็นว่าน่าจะตั้งธนาคารพระพุทธศาสนาขึ้นมา
ใครเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเชิญแสดงความเห็นมาได้ จะได้รวบรวมข้อมูลนำเสนอความเห็นต่อกรรมาธิการการศาสนา ศิลปวัฒนและธรรม สภาผู้แทนราษฎรต่อไป
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
20/03/54
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
http://library2.parliament.go.th/giventake/con2550-2.html
พะราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
http://www.chachoengsao.go.th/database/data/28.pdf