ปัจจุบันโลกแข่งขันกันด้วยเทคโนโลยี แข่งกันสร้างสรรตึกรามใหญ่โตโอฬาร วัดกันด้วยความสูง ประเทศใดมีทรัพยากรน้ำมันมากจะได้เปรียบกลายเป็นประเทศที่ร่ำรวยและมีอิทธิพลต่อสังคมโลก ประเทศในตะวันออกกลางเกิดสงครามก็สะเทือนไปทั้งโลก ปัจจุบันตึกที่สูงที่สุดในโลกอยู่ที่ดูไบ แต่ในอดีตสิ่งที่ยิ่งใหญ่มักเกิดจากพลังความเชื่อทางศาสนา ใช้เครื่องมือธรรมดาเท่าที่จะหาได้เจาะภูเขาทั้งลูกให้กลายเป็นวิหารหรือสิ่งเคารพสักการะของศาสนา พันกว่าปีมาแล้วพระพุทธศาสนา ศาสนาฮินดูและศาสนาเชนได้เจาะถ้ำหินสร้างเป็นมหาวิหารยังปรากฎหลักฐานให้เห็นมาจนถึงปัจจุบันที่ถ้ำเอลโลรา
ศาสนาแต่ละศาสนามีแหล่งกำเนิดและมูลเหตุในการเกิดไม่เหมือนกัน มีหลักคำสอนแตกต่างกัน ถึงแม้จะมีบางส่วนใกล้เคียงกันแต่แนวคิดมูลฐานไม่เหมือนกัน แต่เมื่อศาสนาทั้งสามมาอยู่ร่วมกันในภูเขาแห่งเดียวกัน โดยเจาะภูเขาจนกลายเป็นถ้ำหิน เพื่อใช้เป็นวัด โบสถ์ สังฆาราม วิหาร หอสวดมนต์มีจำนวนทั้งหมดถึง 34 ถ้า อยู่ในภูเขาลูกเดียวกันทั้งสามศาสนาคือศาสนาพุทธ ศาสนาฮินดูและศาสนาเชน ที่ถ้ำเอลโลรา เมืองออรังกบาด ประเทศอินเดีย แต่ละถ้ำทอดยาวตามแนวแห่งจากเหนือจรดใต้ เป็นถ้ำที่เกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์โดยเจาะภูเขาหินทั้งลูกจนกลายเป็นถ้ำ
มีคนเคยกล่าวไว้ว่าหากใครได้ชมถ้ำอชันตาแล้วถ้ำเอลโลราก็ดูเหมือนจะไร้ความหมาย เพราะความวิจิตรพิศดารและความงามอยู่ที่ถ้ำอชันตาหมดแล้ว แต่หากพิเคราะห์ให้ดีจะเห็นว่าถ้ำอชันตาและถ้ำเอลโลรานั้นมีความมหัศจรรย์กันคนละแบบ อชันตามีความงดงามก็จริงอยู่ แต่มีเพียงศาสนาเดียวคือพระพุทธศาสนาเพียงแต่มีสองนิกายหลักคือมหายานและเถรวาท ส่วนเอลโลรามีถึงสามศาสนาซึ่งมีความแตกต่างทางความเชื่อคนละอย่าง
ถ้ำในเอลโลร่าสร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 9-12 ในขณะที่การสร้างถ้ำอชันตากำลังจะสิ้นสุดลงจึงเป็นเหมือนรอยต่อแห่งประวัติศาสตร์ เอลโลร่ามี 34 ถ้ำ แบ่งเป็นสามตอน สามศาสนา คือศาสนาพุทธมี 12 ถ้ำตั้งแต่ถ้ำที่ 1-12, ศาสนาฮินดูมี 17 ถ้ำคือถ้ำที่ 13-29, และศาสนาเชนมี 5 ถ้ำคือถ้ำที่ 30-34 เริ่มสร้างจากด้านใต้ซึ่งเป็นถ้ำของพระพุทธศาสนาทอดยาวตามภูเขาไปทางทิศเหนือและสิ้นสุดลงด้วยถ้ำของศาสนาเชนตามระยะทางประมาณสองกิโลเมตร นัยว่าไม่ได้สร้างพร้อมกัน โดยศาสนาพุทธเริ่มต้นสร้างก่อน พอพระพุทธศาสนาเริ่มเสื่อม ศาสนาฮินดูกำลังรุ่งเรืองจึงสร้างต่อ และตามมาด้วยศาสนาเชน (Abdul Nasir Almohammadi. Ajanta & Ellora: Cave of Ancient India.New Delhi: Mital Publications,2004. P.57)
ข้อมูลเบื้องต้นสรุปได้ว่าเอลโลรา เป็นหมู่ถ้ำในยุคหลังเกิดขึ้นในช่วงประมาณพุทธศักราช 1100 ถึง ถึง 1400 เป็นสมบัติของสามศาสนาคือพระพุทธศาสนานิกายมหายาน ศาสนาฮินดู และศาสนาเชน รวมถ้ำทั้งหมด 34 ถ้ำ แบ่งเป็น
1. ถ้ำพระพุทธศาสนามหายาน (พ.ศ.1100-1350) มี 12 ถ้ำ (ถ้ำหมายเลขที่ 1-12)
2. ถ้ำศาสนาฮินดู ( พ.ศ.1200-1450) มี 17 ถ้ำ (ถ้ำหมายเลขที่ 13-29)
3. ถ้ำศาสนาเชน (พ.ศ.1350- 1450) มี 5 ถ้ำ (ถ้ำหมายเลขที่ 30-34)
แต่ละศาสนาสร้างขึ้นต่างกรรมต่างวาระกัน มีวัตถุประสงค์ต่างกัน สำหรับถ้ำของพระพุทธศาสนานั้นสร้างถ้ำขึ้นเพื่อใช้เป็นวัดหรือสังฆารามและใช้เพื่อประกอบพิธีสังฆกรรม และใช้เป็นที่พักอาศัย จึงมีสังฆารามเป็นที่อยู่อาศัยของพระภิกษุ มีสถานที่สำหรับใช้เพื่อการศึกษาพระพุทธศาสนาทั้งหอสวดมนต์ หอฉัน บางถ้ำใช้เป็นเหมือนโรงเรียนที่พระภิกษุใช้ในการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมซึ่งมีหลักฐานที่ถ้ำหมายเลขสิบเอ็ดเป็นอาคารสามชั้นเจาะเข้าไปในผนังหิน
ส่วนถ้ำของศาสนาฮินดูนั้น เชื่อกันว่าเนื่องจากได้เห็นถ้ำของพระพุทธศาสนาเป็นตัวอย่างจึงได้แกะสลักภูเขาหินจนกลายเป็นถ้ำอย่างงดงามวิจิตรพิศดาร ใหญ่โต มีเครื่องประดับมากมาย ซึ่งการสร้างขึ้นในลักษณะนี้ น่าที่จะมีไว้เพื่อแสดงความยิ่งใหญ่แห่งศาสนาของตน มากกว่าที่จะเป็นศาสนสถานที่ใช้ประกอบพิธีกรรมจริงๆ แม้แต่ประตูทางเข้าก็ใหญ่โตโอฬาร มีเจดีย์สำหรับประดิษฐานสัญญลักษณ์แห่งความเชื่อในศาสนาของตน หลายคนที่ได้พบเห็นถึงกลับเปล่งอุทานว่า “ชาวฮินดูน่าจะสร้างถ้ำเหล่านี้เพื่อแสดงถึงชัยชนะที่มีต่อพระพุทธศาสนา” เพราะในยุคนั้นพระพุทธศาสนาเริ่มเข้าสู่ยุคแห่งความเสื่อมแล้วในขณะที่ฮินดูเริ่มฟื้นฟูขึ้นใหม่และกลายเป็นที่นิยมของชาวอินเดีย จนมีนักปราชญ์ฮินดูท่านหนึ่งถึงกับเขียนตำราว่าพระพุทธเจ้าที่แท้ก็คือพระนารายณ์อวตารปางหนึ่งนั่นเองที่เรียกว่าพุทธาวตาร สิ่งก่อสร้างและรูปเคารพที่ปรากฎในถ้ำของฮิดูจึงดูโดดเด่นกว่าศาสนาพุทธและเชน
ส่วนถ้ำของศาสนาเชนนั้นมีการแกะสลักหินที่งดงามไม่แพ้ถ้ำของศาสนาฮินดู แต่มีลักษณะที่โดดเด่นอย่างหนึ่งคือแสดงรูปแกะสลักของศาสดามหาวีระอย่างชัดเจน จึงน่าจะสร้างขึ้นเพื่อเผยแผ่ศาสนาเป็นหลัก หากไม่สังเกตให้ดีอาจจะมองว่าภาพศาสดามหาวีระกับพระพุทธเจ้านั้นมีลักษณะใกล้เคียงกันมาก แต่มีข้อสังเกตคือศาสดามหาวีระมีลักษณะเปลือยกายไม่มีริ้วจีวร บางภาพถึงกับแสดงให้เห็นถึงอวัยวะเพศชายชัดเจน แต่ภาพพระพุทธเจ้าจะมีริ้วจีวรชัดเจน
เมื่อได้เห็นถ้ำทั้งสามศาสนาจะเกิดความรู้สึกที่แตกต่างกัน ถ้ำของศาสนาพุทธมองดูเรียบง่าย สงบเยือกเย็น มองเห็นประโยชน์ โดยเฉพาะถ้ำหมายเลขสิบซึ่งใช้เป็นถ้ำเจดีย์มีสองชั้นเป็นหอสวดมนต์ใครที่ได้เข้าไปสัมผัสจะเกิดความเงียบสงบเย็นสบาย ยิ่งเวลาที่แสงอาทิตย์สาดส่องเข้ามาทางปากถ้ำจะเกิดเป็นลำแสงสะท้อนกับเสาหินและพระพุทธรูปที่เรียงรายตามผนังถ้ำเกิดเป็นความงดงามที่เหมือนมนต์สะกดตรึงทุกคนที่ไปเยือนให้ตะลึงงัน
ชั้นบนมีหน้ามุขและระเบียงยื่นออกมามีเสาเรียงราย บนผนังหน้ามุขมีภาพหินแกะสลักเป็นรูปนางฟ้ากำลังโผบินเหมือนนกที่กำลังเริงระบำบนปลายฟ้า ตรงกลางถ้ำมีประตูขนาดใหญ่และมีประตูขนาดเล็กอีกสองบานเป็นซุ้มกอมีพระพุทธรูปแกะสลักไว้ข้างเสา ด้านบนของซุ้มกอเป็นภาพแกะสลักคล้ายราหู แต่ถูกแบ่งครึ่งหน้าเป็นสองซีก แต่ละซีกประกบอยู่กับยอดเจดีย์ ภายในถ้ำมีเพดานทำเป็นโดมแบบสาญจี มีการแกะสลักหิน เป็นคานตามศิลปะแบบสาญจี มีหน้าต่างเป็นรูปเกือกม้าเพื่อให้แสงสว่างจากดวงอาทิตย์ ส่องเข้าไปภายในได้ เกือบชิดผนังท้ายห้องประดิษฐานพระสถูปขนาดใหญ่สูงประมาณ 9 เมตร ด้านหน้าสถูปมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ปางปฐมเทศนาประทับนั่งบนบัลลังก์สิงห์ เป็นพระประธานและข้างทั้งสองด้านมีพระอัครสาวกยืนอยู่ด้วย
วันนั้นอยู่ที่ถ้ำหมายเลขสิบนานที่สุด พยายามเก็บภาพทุกแง่มุมให้มากที่สุด แม้เวลาจะเดินลงจากชั้นที่สองแล้วก็ยังหันหลังกลับไปมองอีกครั้งด้วยความมหัศจรรย์ในความพยายามของบรรดาพระสงฆ์ที่ได้สร้างสรรค์สิ่งมหัศจรรย์จากธรรมชาติและได้กลายเป็นสมบัติของโลก พลังศรัทธาที่ยิ่งใหญ่ถึงกับเจาะภูเขาสร้างเป็นมหาวิหารได้ พลังแห่งศรัทธาอันไม่หวั่นไหวในหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาไยจะไม่สร้างสันติภาพขึ้นในโลกได้
หันมาดูถ้ำของศาสนาฮินดูเริ่มจากถ้ำที่ 13-17 เรียงรายกันไปส่วนมากภายในจะเป็นรูปเคารพของเทพเจ้าต่างๆตามความเชื่อของศาสนาฮินดู แต่ที่น่าอัศจรรย์และดูยิ่งใหญ่ที่สุดคือถ้ำหมายเลข 16 ซึ่งถือเป็นเหมือนเขาไกรลาส เป็นถ้ำที่เจาะภูเขาทั้งลูกและแกะสลักอย่างวิจิตรพิศดาร ตรงกลางของถ้ำไกรลาศ เจาะและสลักหินเป็นที่ประดิษฐานศิวลิงค์ขนาดใหญ่ตั้งอยู่กลางโยนี เหนือเพดาน ตรงกับศิวลึงค์นั้นแกะสลัก เป็นรูปดอกบัวขนาดใหญ่ มีหม้อน้ำแขวนไว้ เหนือศิวลึงค์ น้ำในหม้อนั้น จะค่อยๆหยดลงบน หัวศิวลึงค์ทีละหยดๆ แล้วไหลไปรวมกันตามแอ่งของโยนี ก่อนที่จะไหลออกไปทางปลายของโยนี ชาวฮินดูนิยมใช้มือแตะที่น้ำนั้น แล้วมาแตะกับหน้าผากของตนเอง เพื่อความเป็นศิริมงคล วันนั้นมีชาวฮินดูท่านหนึ่งที่เฝ้าแท่นบูชาแห่งนี้พยายามให้เราแตะน้ำและนำมาแตะที่หน้าผาก เพื่อรักษาน้ำใจจึงได้ลองแตะน้ำแต่ไม่ได้แตะที่หน้าผาก เพราะวันนั้นอากาศร้อนอยู่แล้วเหงื่อที่หน้าผากจึงคล้ายน้ำที่ศักดิ์สิทธิ์
ข้างล่างอาคารหินมีฝูงช้างที่เป็นหินแกะสลักขนาดเท่าช้างตัวจริงๆ จำนวนหลายสิบเชือก มีอิริยาบถต่างๆ เหมือนกำลังแบกอาคารไว้บนหลังและต่างพากันวิ่งแบกศิวลิงค์และโยนีของพระแม่อุมาเทวีไปที่ไหนสักแห่ง อาจเป็นเขาไกรลาสหรือที่ประทับของเทพเจ้าตามความเชื่อ
ตามฝาผนังบริเวณรอบๆ อาคารชั้นล่าง ทางด้านนอกมีเทพเจ้าต่างๆ ตามเรื่องเล่าในลัทธิศาสนาฮินดู มีทั้งพระศิวะ พระวิษณุ พระพรหม และเทพปางต่างๆ เทพเจ้าบางองค์มีมือหลายสิบหลายร้อยมือ และมีภาพหินแกะสลัก เป็นเรื่องในวรรณคดีต่างๆ เช่น รามายณะ มหาภารตยุทธ แต่ละเรื่องมีภาพเป็นจำนวนมาก ดูกันไม่ไหวหากจะดูทั้งหมดคงต้องใช้เวลาหลายวัน ตรงข้ามกับอาคารมีวิหารสองหลัง ด้านหน้าวิหารมีรูปเทพเจ้าต่างๆ ซึ่ง มีขนาดใหญ่มาก ในวิหารมีหินแกะสลักรูปวัว หันหน้าไปทางศิวลึงค์ในโบสถ์ นัยว่าวัวตัวนี้เป็นพาหนะของพระอิศวร จึงต้องอยู่คู่กับศิวลึงค์ตลอดไป ลองจับวัวตัวนี้ดูรู้สึกได้ถึงความเย็นของหินที่อยู่กลางอาคารมานาน วัวตัวนี้คงนอนหนาวมานานแล้ว
ส่วนถ้ำของศาสนาเชนมีเพียงสี่ถ้ำเริ่มจากถ้ำที่ 32 ถึง 35 ถ้ำที่ 32 ใช้เป็นวิหารหรือโบสถ์ในศาสนาเชน มีรูปหินแกะสลักของศาสดามหาวีระมีสองปางคือเป็นปางสมาธินั่งอยู่ใต้ต้นไม้ ท่านเกล้าผมจุกไว้ข้างบน มองดูคล้ายพระพุทธรูปในพระพุทธศาสนามาก เพียงแต่ไม่มีริ้วจีวร ส่วนอีกปางเป็นปางยืน มองเห็นอวัยวะเพศชายได้ชัดเจน และมักมีเถาวัลย์ พันรอบแขนและเท้า
นักท่องเที่ยวหลายท่านบอกว่าหากอยากจะได้ชื่อว่าแสดงความเคารพต่อศาสดามหาวีระต้องจับศิวลึงค์ของท่านที่ยื่นออกมามองเห็นชัดเจนจากนั้นก็ตั้งจิตอธิษฐานตามที่ใจปรารถนา ส่วนมากจะสมปรารถนา ดังนั้นศิวลิงค์ของศาสดามหาวีระส่วนมากจึงมีคนจับจนแทบทุกภาพกลายเป็นสีดำคล้ำ ความเชื่อของแต่ละศาสนาก็ว่ากันไป อย่าได้ประมาทหรือดูถูกกันละกัน ใครเชื่ออย่างไรในศาสดาใดก็ปฏิบัติไปตามนั้นเถิด จะมีประโยชน์หรือไม่นั่นเป็นเรื่องของศรัทธาความเชื่อของแต่ละคน
ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ในวันที่อากาศกำลังร้อนระอุที่เชิงเขาเอลโรลา ได้เดินชมถ้ำทั้งสามศาสนา แม้ดวงตะวันจะเปล่งแสงอันแรงร้อน แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับการเที่ยวชม มีใครบางคนบอกว่าการเดินทางคือสมุดบันทึกเล่มใหญ่ของชีวิต ทำให้ได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยได้เห็น วันนั้นเดินมาขึ้นรถเพื่อเดินทางกลับเกิดความรู้สึกว่า แม้ว่าศาสนาจะมีหลักคำสอนที่แตกต่างกัน แต่ทว่าก็อยู่ร่วมกันได้ มองดูถ้ำของศาสนาพุทธจะได้ความรู้สึกที่เรียบง่าย สงบเย็นและมองเห็นการใช้ประโยชน์ แต่เมื่อได้ยลถ้ำของศาสนาฮินดูกลับเกิดความรู้สึกที่อลังการหรูหราอันแสดงถึงพลังศรัทธาในเทพเจ้าที่จะต้องยิ่งใหญ่กว่ามษย์ แต่เมื่อได้เห็นถ้ำของศาสนาเชนกลับเกิดความรู้สึกทั้งสองอย่างรวมกันคือเรียบง่าย ปรับตัวได้ง่าย แม้จะไม่ได้อลังการแต่ทว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่น ในขณะที่พระพุทธศาสนาได้หายสาบสูญไปจากอินเดียแต่ศาสนาเชนยังคงอยู่กับสังคมฮินดูได้อย่างสันติ แม้จะไม่โดดเด่นแต่ไม่ก็เคยเสื่อมสูญ ส่วนศาสนาฮินดูนั้นได้กลายเป็นจิตวิญญาณของชาวอินเดียไปนานแล้ว
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
11/03/54
อ้างอิง
Abdul Nasir Almohammadi. Ajanta & Ellora: Cave of Ancient India.New Delhi: Mital Publications,2004.