แบบ : สิ่งสัมบูรณ์ในปรัชญาของเพลโต
ความเป็นมาโดยย่อของปรัชญาเพลโต
เพลโต เป็นนักปรัชญากรีก มีชีวิตอยู่ราว 428 – 347 B.C. เป็นเจ้าของแนวคิดเรื่องแบบ (Forms or Ideas) แนวคิดของท่านได้มีอิทธิพลอย่างสูงต่อระบบปรัชญาตะวันตก คณิตศาสตร์ที่เพลโตได้ศึกษามาจากท่านพิธากอรัส (Pythagoras)ได้มีอิทธิพลต่อแนวคิดแบบสัจนิยมด้านมโนคติ (Ideal realism) นั่นก็คือท่านได้เสนอหลักการของมโนคติ (Ideas) ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสัมบูรณ์ตามทัศนะของเพลโต เพลโตเชื่อว่าในตัวมนุษย์มีวิญญาณ (Soul) ที่เป็นอมตะ และเชื่อว่าวิญญาณนี้สามารถออกจากร่างหนึ่งไปสู่อีกร่างหนึ่งได้ สอดคล้องกับความเชื่อดังกล่าวนี้ ท่านเชื่อว่า มโนคติ เป็นสิ่งสูงสุดและสัมบูรณ์ เป็นอมตะและเป็นนิจภาวะ ท่านยืนยันว่าโลกแห่งประสาทสัมผัสเป็นโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา (Becoming) แต่โลกแห่งมโนคติมีนัยตรงกันข้าม คือเป็นสิ่งจริงแท้อย่างถาวร (Being)
แบบ หรือ มโนคติ
เพลโต เชื่อว่า แบบ (forms) หรือ มโนคติ (Ideas) คือ แก่นแท้ ดำรงอยู่ได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องอาศัยสิ่งอื่นใด เป็นภาวะที่มีอยู่ในตัวเองด้วยตัวเอง เป็นสิ่งสากล ยกตัวอย่างเช่น ความเป็นวัว และความสวย สิ่งที่สวยงาม เช่นดอกกุหลาบสวยงามเป็นเพียงการเลียนแบบและลอกแบบมาจากมโนคติแห่งความสวย มโนคติแห่งความสวย หรือความสวยจริงๆ (Idea of beauty) ไม่ได้มีในดอกกุหลาบ แต่มีอยู่ในสติปัญญา (intellect)ของมนุษย์ที่อยู่ในขั้นที่สงบลึกที่สุด และมโนคติของสิ่งอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน สิ่งที่สัมผัสได้ล้วนย้ำเตือนให้มนุษย์ได้เห็นมโนคติที่อยู่ในภาวะสงบลึกเหล่านั้น มโนคติหรือแบบ ตามทัศนะของเพลโตไม่ได้มีอยู่ก่อนแล้วในใจมนุษย์หรือพระเจ้า แต่ว่ามโนคตินั้นมีอยู่ในแนวทางของมันเองและถูกมนุษย์ค้นพบ
มโนคติ หรือแบบ เป็นอมตะ อยู่เหนือกาลเวลา ไม่มีอดีตอนาคตและปัจจุบัน เวลาเป็นผลงานของพระเจ้า (God) ที่ทรงสร้างไว้ในโลก แต่แบบมีมาก่อนที่พระเจ้าจะสร้างโลกและเวลา
มโนคติเป็นสิ่งสัมบูรณ์ เพราะเป็นภาวะที่ไม่เปลี่ยนแปลงและเป็นภาวะที่มั่นคงถาวรตราบนิรันดร์ มโนคติ คือสารัตถะ (essence) ของสิ่งในโลกประสาทสัมผัสทั้งหลาย เพราะเป็นภาวะที่แท้จริง และถูกสิ่งเหล่านี้เลียนแบบมา มโนคติเป็นภาวะที่ไม่เคลื่อนไหวแต่เป็นสาเหตุแห่งการเคลื่อนไหวของสรรพสิ่ง
ไม่มีประสาทสัมผัสใดๆจะรับรู้แบบหรือมโนคติได้ เพราะเป็นนามธรรม แต่จะสามารถรับรู้ได้โดยสติปัญญาไม่ใช่โดยประสาทสัมผัส แต่ละมโนคติ เป็นหนึ่งเดียว ซึ่งพระเจ้าทรงสร้างขึ้นมา แต่ละมโนคติ เช่น มโนคติแห่งความงามก็เป็นหนึ่งเดียวแต่สิ่งต่างๆในโลกประสาทสัมผัสเลียนแบบมาจากความงามในโลกมโนคติ
มโนคติ หรือ แบบแห่งความดีเป็นสิ่งสูงสุดกว่ามโนคติหรือแบบทุกประเภท
ตามทัศนะของเพลโต ทุกสิ่งล้วนมีแบบเป็นของตัวเอง เช่น ม้าในโลกนี้มีนับล้านๆตัว แต่ก็มีแบบเพียงอันเดียว สุนัขก็มีแบบของสุนัข และสัตว์เหล่านี้ก็สังกัดอยู่ในแบบของสิ่งมีชีวิต โต๊ะ และเก้าอี้ก็มีแบบเป็นของตนเองและสิ่งเหล่านี้ก็สังกัดอยู่ในแบบของสิ่งไม่มีชีวิต ในโลกนี้สิ่งต่างๆมีมากมายและแบบของสิ่งต่างๆก็มีมากมายตามประเภทของสิ่งเหล่านั้น แต่แบบทั้งหมดเหล่านี้ก็รวมอยู่ภายใต้แบบอันเดียวเท่านั้นที่ยิ่งใหญ่ที่สุด กว้างที่สุด ครอบคลุมทุกแบบ นั่นก็คือแบบหรือมโนคติแห่งความดี (Form or Idea of the Good)
มโนคติแห่งความดีมีความสำคัญต่อโลกแห่งมโนคติ เช่นเดียวกับพระอาทิตย์มีความสำคัญต่อโลกแห่งผัสสะ เพราะพระอาทิตย์ให้พลังความอบอุ่นแก่สิ่งมีชีวิตในโลกนี้จึงมีชีวิตอยู่ได้ และที่เราสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆได้ก็เพราะแสงจากดวงอาทิตย์ ในทำนองเดียวกันมโนคติแห่งความดีเป็นที่มาของมโนคติทั้งหลาย เพราะมโนคติแห่งความดีนี้เอง เราจึงรู้จักมโนคติอื่นๆได้ เพลโตกล่าวว่า “มโนคติแห่งความดีไม่ใช่เป็นเพียงบ่อเกิดแห่งความรู้ในสิ่งทั้งปวงเท่านั้น แต่ยังเป็นภาวะและแก่นแท้ของสิ่งทั้งปวง กระนั้น มโนคติแห่งความดีก็ไม่ได้เป็นแค่แก่นแท้ เพราะมันมีศักดิ์ศรีและอำนาจเหนือความเป็นแก่นแท้มากนัก”[1] ดังนั้นตามทัศนะของเพลโต แบบหรือมโนคติที่สูงสุดคือแบบหรือมโนคติแห่งความดีนั่นเอง
มนุษย์บรรลุแบบหรือมโนคติได้ด้วยพุทธิปัญญา (Perfect Intelligence)
มโนคติมีอยู่ได้โดยตัวมันเอง และมีอยู่ก่อนที่มนุษย์จะรับรู้ มนุษย์สามารถรับรู้มโนคติได้ด้วยพุทธิปัญญา ซึ่งมีขีดความสามารถที่จะรับรู้มโนคติได้โดยตรง ในขั้นที่จิตมีพุทธิปัญญานี้ จิตก็จะสงบเป็นอิสระจากอิทธิพลของการรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสทุกชนิด กล่าวคือไม่ต้องอาศัยสื่อหรือสัญลักษณ์ใดเพื่อจะรับรู้มโนคตินั้น ในภาวะนี้ จิตไม่มีความลังเลสงสัยจึงไม่มีสมมติฐานในการค้นหาความจริง เมื่อไม่มีสมมติฐาน ข้อจำกัดของความรู้จึงไม่มี เมื่อข้อจำกัดไม่มีจิตก็จะค้นพบเอกภาพของมโนคติทั้งหลายด้วยพลังแห่งพุทธปัญญานั้น นั่นคือ จิตพบว่ามโนคติถึงแม้จะมีหลากหลายตามประเภทของสิ่งต่างๆ แต่ทั้งหมดก็อยู่ภายใต้มโนคติแห่งความดี
ตามทัศนะของเพลโตพุทธิปัญญาคือความรู้ที่แท้จริงเพราะเข้าถึงสิ่งสัมบูรณ์สูงสุดคือมโนคติแห่งความดี เพลโตเชื่อว่า วิญาณของมนุษย์เป็นอมตะและเคยเพ่งพินิจมโนคติอยู่ในโลกแห่งมโนคติก่อนจุติลงมาเกิดในโลกแห่งประสาทสัมผัสนี้ เมื่อเกิดมาแล้วมนุษย์ลืมมโนคติเหล่านั้นเพราะถูกความรู้ระดับประสาทสัมผัสครอบคลุมปิดบังเอาไว้ เมื่อฝึกฝนจิตจนเกิดพุทธิปัญญาขึ้นก็สามารถกลับมารับรู้มโนคติได้อีกเหมือนเดิม