ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

           ผู้ที่ศึกษามาทางด้านปรัชญาย่อมจะเข้าใจภาษาทางปรัชญาเช่น "สิ่งสัมบูรณ์" "มโนทัศน์"  “ทฤษฎีแบบ”  เป็นต้น ผู้ที่ศึกษามาทางศาสนาก็ย่อมจะเคยได้ยินคำว่า “นิพพาน” เต๋า” “โมกษะ” ส่วนผู้ที่ศึกษามาทางอื่นอาจจะเคยได้ยินแต่ไม่เข้าใจ เพราะภาษาทางด้านปรัชญาและศาสนาเป็นศัพท์เฉพาะที่ใช้เรียกสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ศาสนาและปรัชญาแม้จะอยู่ในขอบข่ายสาขาวิชาที่ใกล้เคียงกัน แต่ทว่าความหมายของคำบางคำก็มีวิธีการอธิบายที่ต่างกัน นักปรัชญาอาจจะไม่ได้ปฏิบัติตามสิ่งที่ตนเองอธิบายเลยก็ได้ ในขณะที่นักการศาสนาต้องปฏิบัติตามสิ่งที่ตนค้นพบ วิถีของนักปรัชญาและนักศาสนาจึงเริ่มต้นต่างกัน ดร.สมบูรณ์ วัฒนะ ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยท่านหนึ่ง แต่ไปจบปริญญาเอกทางด้านปรัชญาที่มหาวิทยาลัยปัญจาป อินเดีย ดินแดนแห่งผู้สนใจในด้านศาสนาและปรัชญาโดยตรง ได้อธิบายและตีความตามทัศนะทางปรัชญา เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ศึกษาจึงขออนุญาตนำเผยแพร่ โปรดอ่านด้วยใจที่เป็นกลาง

 สิ่งสัมบูรณ์:นิพพาน เต๋า โมกษะ แบบ
 โดย ดร.สมบูรณ์ วัฒนะ  ศน.บ. M.A. Ph.D. (Philosophy)

           ปัญหาที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของศาสนาและปรัชญาหลายสำนัก คือปัญหาที่ว่าด้วยสิ่งสัมบูรณ์ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุด แต่ละศาสนาและสำนักปรัชญาต่างก็ให้คำตอบเกี่ยวกับปัญหาเรื่องสิ่งสัมบูรณหรือสิ่งสูงสุดนี้แตกต่างกันไปตามวิวัฒนาการแห่งความคิด ในบทความนี้จะกล่าวถึงแนวคิดเรื่องสิ่งสัมบูรณ์ในศาสนาพุทธ ปรัชญาของเล่าจื้อ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และปรัชญาของเพลโต (Plato) จุดมุ่งหมายเพื่อเข้าใจความหมายของสิ่งสูงสุดและวิธีการปฏิบัติเพื่อบรรลุสิ่งสูงสุดนั้นตามทรรศนะของศาสนาและปรัชญาเหล่านี้ พร้อมกับแสดงให้เห็นถึงคุณประโยชน์ที่คาดว่าจะได้จากการศึกษาสิ่งสัมบูรณ์ตามทัศนะของศาสนาและปรัชญาเหล่านี้ ในชีวิตประจำวันของมนุษย์
           นิพพาน เป็นชื่อของสิ่งสัมบูรณ์ในพุทธศาสนา เต๋า เป็นชื่อของสิ่งสัมบูรณ์ในปรัชญาของเล่าจื้อ โมกษะ เป็นชื่อของสิ่งสัมบูรณ์ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และแบบ (Form) หรือ มโนคติ (Idea) เป็นชื่อของสิ่งสัมบูรณ์ในปรัชญาของเพลโต (Plato)

นิพพาน: สิ่งสัมบูรณ์ในพระพุทธศาสนา
ความเป็นมาโดยย่อของพุทธศาสนา
           พระพุทธศาสนาอุบัติขึ้นในโลกในประเทศอินเดียเมื่อ 2600 ปี มาแล้ว มีพระศาสดาพระนามว่าสมณโคดม พระองค์ได้ประกาศคำสอนของพระองค์อย่างองอาจท้าทายแนวความคิดเดิมของศาสนาพราหมณ์ในยุคนั้นนั่นคือเรื่องอาตมัน ภาวะแห่งความมีตัวตนที่อมตะ โดยพระองค์ได้เสนอหลักอนัตตา กล่าวคือความเป็นสิ่งไร้ซึ่งตัวตนของสรรพสิ่ง พระองค์ประกาศคำสอนมากมาย ซึ่งก็ล้วนแต่มีพื้นฐานอยู่บนหลักอนัตตานี้ ว่ากันว่าในสมัยพุทธกาลนั้น ไม่มีใครที่จะสามารถท้าทายบุญบารมีของพระพุทธองค์ได้เลย ทั่วชมพูทวีปล้วนได้รับน้ำอมฤตธรรมที่พระองค์ทรงรินหลั่งไหลให้ได้ดื่มด่ำกันถ้วนหน้า พระองค์ยังมีวิสัยทัศน์อันกว้างไกล กล่าวคือพระองค์ได้ส่งสาวกออกไปประกาศอมฤตธรรมที่พระองค์ค้นพบไปยังหลายๆประเทศ เพื่อปลดเปลื้องมวลมนุษยชาติให้พ้นจากความทุกข์ จุดหมายสูงสุดแห่งการปฏิบัติตามหลักพุทธธรรมของพระองค์คือการหลุดพ้นจากความโลภ ความโกรธ และความหลง  และรู้แจงเห็นจริงในความไร้ตัวตนหรืออัตตาของสรรพสิ่ง เป็นต้น ภาวะที่หลุดพ้นนี้เรียกว่า นิพพาน
นิพพาน 
           คำว่า “นิพพาน” แปลว่า ความดับสนิท คือภาวะที่ตัณหาซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ดับสิ้นไป ภาวะที่จิตรู้แจ้งอริยสัจ 4 ทำลายกระบวนการแห่งปฏิจจสมุปบาทลงได้เด็ดขาด  ภาวะที่ปราศจากความโลภ ความโกรธ ความหลง  คือภาวะจริงแท้สูงสุดหรือสิ่งสัมบูรณ์ที่บัญญัติและตรรกใดๆเข้าถึงไม่ได้ อยู่เหนือกิเลส กรรม และวิบาก
           ภาวะแห่งนิพพาน คือ ภาวะที่เกิดขึ้นในบุคคลผู้ที่ทำลายกระบวนการแห่งปฏิจจสมุปบาทในตัวบุคคลนั่นเอง หรือถ้าจะกล่าวให้กระชับเข้าก็คือกระบวนการแห่งปฏิจจสมุปบาทไม่ได้มีอำนาจบงการจิตของบุคคลนั้นได้ในทันทีที่บุคคลนั้นเข้าใจถ่องแท้ในอริยสัจทั้งสี่  นิพพานไม่ใช่ภาวะที่บุคคลจะต้องเดินทางไปให้ถึง หรืออยู่ภายนอกบุคคลที่เขาจะต้องออกจากสังสารวัฏที่แห่งหนึ่ง ไปสู่วิวัฏอีกแห่งหนึ่ง
           ในกระบวนการแห่งปฏิจจสมุปบาทในตัวบุคคลนั้น อวิชชา ตัณหา อุปาทาน มีความสำคัญในการก่อให้เกิดสังสารวัฏอย่างต่อเนื่อง การดับอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ก็คือวิวัฏ หรือ ภาวะนิพพาน  ในช่วงก่อนที่บุคคลจะบรรลุพระนิพพาน อวิชชา ตัณหา อุปาทานครอบงำ ปกปิด เคลือบแฝงจิตใจ กำบังปัญญาไม่ให้มีบทบาท มิหนำซ้ำยังนำเอากิเลสต่างๆให้ไหลเข้ามาสู่จิตใจให้ยึดติดอยู่ในโลกสมมุติสัจ (Conventional Truth) หลงผิดคิดว่าโลกสมมุติสัจนี้ว่าเป็นสิ่งจริงแท้ จึงยึด จึงไขว่คว้าหาเข้ามาพอกพูนจนปิดบังปัญญา (วิชชา)ไม่ให้มีบทบาทในอันที่จะนำแสงสว่างแห่งปัญญาคือโลกแห่งอริยสัจ (Noble Truth) เข้ามาแทนที่ จิตใจมีแต่ความวุ่นวาย มืดมัว มองเห็นสิ่งต่างๆตามสภาพที่ไม่เป็นจริง ถูกเหนี่ยวรั้งไว้ให้วนเวียนขัดข้องและคับแคบอยู่กับเครื่องผูกมัดหน่วงเหนี่ยวชนิดต่างๆ เมื่ออวิชชา ตัณหา อุปาทาน นั้นดับหายไป ในทันทีก็เกิดปัญญาความสว่างแจ้ง ทำให้มองเห็น (โลกทัศน์) สิ่งต่างๆ โลกและชีวิต ถูกต้องชัดเจนตามสภาพความเป็นจริงตามที่มันเป็น ไม่ใช่ตามที่อำนาจของตัณหาอยากให้เป็น เหมือนครั้งที่จิตใจถูกปกปิดด้วยอวิชชา ตัณหา อุปาทาน
           ตามทัศนะของพุทธศาสนา พระนิพพาน คือสิ่งสัมบูรณ์ คือปรมัตถ์สัจหนึ่งเดียวไม่มีสอง ถึงกระนั้นก็ตาม พระนิพพานได้ถูกอธิบายว่ามี 2 ประเภท เพื่อแสดงอาการของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับพระนิพพาน ไม่ใช่หมายความว่าพระนิพพานมี 2 ประเภทจริง พระนิพพาน 2 ประเภท นั้น ได้แก่
           1.สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ ได้แก่พระนิพพานที่บุคคลผู้บรรลุยังมีชีวิตอยู่ ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่คือผู้ที่ยังมีเบญจขันธ์  ดังนั้นพระนิพพานประเภทนี้จึงเป็นพระนิพพานยังมีเบญจขันธ์เหลือ
           2.อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ได้แก่พระนิพพานที่บุคคลผู้บรรลุสิ้นชีวิตแล้ว ผู้ที่ไม่มีชีวิตคือผู้ที่ปราศจากเบญจขันธ์  ดังนั้นพระนิพพานประเภทนี้จึงเป็นพระนิพพานที่ไม่มีเบญจขันธ์เหลือ
           แนวทางปฏิบัติเพื่อบรรลุนิพพาน คือสำนึกอย่างชัดแจ้งในอริยสัจ 4 แล้วปฏิบัติตามหลักอริยมรรคมีองค์ 8 และปฏิบัติตามหลักมหาสติปัฏฐาน 4 จนกระทั่งทำลายอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ได้อย่างสิ้นเชิง แล้วรู้แจ้งแทงตลอดในสัจธรรมตามสภาพความเป็นจริง (ยถาภูตญาณทัสสนะ) กระบวนการแห่งปฏิจจสมุปบาทก็หยุดแสดงบทบาทโดยสิ้นเชิงทันที บุคคลผู้นั้นกลายเป็นพระอรหันต์บุคคลคือผู้บรรลุสอุปาทิเสสนิพพานเพราะยังมีชีวิตอยู่ ครั้นเมื่อสิ้นชีวิตลงเรียกอนุปาทิเสสนิพพาน

เต๋า : สิ่งสัมบูรณ์ในปรัชญาเล่าจื้อ
ความเป็นมาโดยย่อของปรัชญาเล่าจื้อ
           เล่าจื้อ เป็นคนแรกที่ใช้คำว่า “เต๋า” ท่านได้ถ่ายทอดปรัชญาแห่งเต๋าดังปรากฏในคัมภีร์ ต๋า-เต๊ะ-จิง ท่านมีชีวิตอยู่ช่วง 62 ปีก่อนพุทธศักราช ที่หมู่บ้านจูเหยน ตำบลหลีเซียง อำเภอคู รัฐซู (ฌ้อ) ทางภาคกลางของจีน เล่ากันว่าท่านได้อยู่ในครรภ์ของมารดานานถึง 81 ปี เมื่อตอนคลอดออกมาท่านมีผมหงอกขาวโพลน จึงถูกขนานนามว่า “เล่าจื้อ” ซึ่งแปลว่าเด็กแก่ คือผู้มีภาวะเหมือนเด็ก หรือเป็นผู้บริสุทธิ์เช่นเด็ก เป็นนักปราชญ์ผู้เฒ่า ทันทีที่คลอดออกมาดูโลกท่านยกมือซ้ายชี้ขึ้นฟ้าพร้อมกับเปล่งวาจาว่า “ในฟ้าเบื้องบน ในดินเบื้องล่าง เต๋าเท่านั้นควรเป็นที่สักการะ” เล่าจื้อเป็นผู้เสนอแนวคิดที่ว่า เต๋าคือสภาวะที่แท้จริงสูงสุด เต๋าไม่ได้เกิดมาจากสิ่งใดๆ สรรพสิ่งถือกำเนิดมาจากเต๋า ในที่สุดก็จะกลับคืนสู่เต๋า และสรรพสิ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเต๋า ดังนั้น เต๋า จึงเป็นสิ่งสัมบูรณ์

เต๋า 
           เล่าจื้อ คือคนแรกที่สอนแนวคิดเรื่องเต๋า  เต๋าคือสภาวะที่แท้จริงสูงสุด สรรพสิ่งถือกำเนิดมาจากเต๋า ในที่สุดก็จะกลับคืนสู่เต๋า และสรรพสิ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเต๋า เต๋าคือสิ่งสมบูรณ์แห่งเอกภพที่มิใช่พระเจ้าหรือเทพเจ้า ตามทรรศนะของเล่าจื้อ คำว่า “เต๋า” เป็นเพียงชื่อสมมุติเท่านั้น ว่ากันโดยปรมัตถ์แล้ว ไม่มีชื่อ อยู่เหนือถ้อยคำ ถ้อยคำเป็นเรื่องภาษาบัญญัติของมวลมนุษย์  แต่ครั้นจะไม่ใช้ถ้อยคำมาสมมุติเรียกคนสามัญก็ยิ่งจะไม่รู้ไม่เข้าใจอะไรเลย ดังนั้นเล่าจื้อจึงบัญญัติคำว่า “เต๋า”มาเรียกชื่อปรมัตถภาวะนี้ 
           คำว่า “เต๋า” แปลได้หลายนัย เช่น แปลว่า หนทาง คุณสมบัติ วิธีการ กฎ จารีต ธรรมชาติ แต่ว่าโดยปรมัตถ์ตามแนวคิดของเล่าจื้อ หมายถึง ธรรมชาติอันเป็นอมฤต  ไร้เบื้องต้น –ท่ามกลาง – ที่สุด สรรพสิ่งเกิดจากเต๋าและดับลงในเต๋านี้
เนื่องจากว่า เต๋า อยู่เหนือถ้อยคำ อยู่พ้นขอบเขตแห่งจินตนาการของมนุษย์ ไม่มีสิ่งใดจะเท่าเทียมตีค่าเท่าเต๋าได้ ทั้งไม่สามารถบอกได้ว่าเต๋าคือนั้น คือนี่ ไม่มีลักษณาการใดๆในโลกิยธรรมที่จะแสดงถึงภาวะแห่งเต๋าได้ ดังนั้นจึงสุมมุติเรียกเต๋าว่าอภาวะคือความไม่มี แต่ไม่ใช่นัตถิภาวะที่ไม่มีอะไรเลย ที่เรียกว่าอภาวะเพราะว่าเต๋าเป็นสิ่งที่ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้เป็นเหมือน แต่ว่าโดยความจริงแล้วมันมีสภาพของมัน และยังเรียกสภาพนั้นว่าภาวะ อภาวะและภาวะทั้งสองนี้ก็คือคุณสมบัติของเต๋า เพราะเต๋าไม่มีความเปลี่ยนแปลง ไม่มีลักษณะใดๆในโลกที่จะเทียบเคียงเต๋าได้ ในแง่นี้เต๋าคืออภาวะ  เมื่อมองในแง่ที่เต๋าเป็นผู้ให้กำเนิดของสรรพสิ่ง เป็นสาเหตุของการเกิดมีขึ้นของสรรพสิ่ง และทุกสิ่งก็จะสิ้นสุดที่เต๋า ในแง่นี้ เต๋าคืออภาวะ “จะกล่าวว่ามันไม่มี ไม่เป็นอะไร ก็ไม่ถูกต้อง เพราะสรรพสิ่งก็ถือกำเนิดมาจากมัน ครั้นจะพูดว่ามันมี มันเป็นอะไรสักอย่างหนึ่ง ก็ดูจะไม่ตรงนัก เพราะเราไม่สามารถมองเห็นตัวมัน”  
           เต๋าให้กำเนิดทุกสิ่งในจักรภพ แต่ไม่มีสิ่งใดให้กำเนิดเต๋าได้ เต๋าเป็นอิสระเพราะไม่มีสิ่งใดมาปรุงแต่งมันได้ มันเป็นภาวะที่สิ่งที่ไม่ปรุงแต่งทีแรกแต่ปรุงแต่งในขณะต่อมาอาศัยเกิดขึ้น ดังปรากฏในคัมภีร์เต๋า-เต๊ะ-จิง บทที่ 37 ว่า  “เต๋าโดยตัวของมันเอง ไม่มีอะไรมาปรุงแต่ง แต่ก็ไม่มีสิ่งใดที่เต๋ามิได้ทำให้เกิดมีขึ้น...” 
           เต๋า เป็นกระบวนการแห่งเอกภพซึ่งทุกสิ่งมีส่วนสัมพันธ์อยู่ด้วย โลกเป็นกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงอันต่อเนื่องไม่รู้สิ้นสุด คือแบบแผนของวิถีทางแห่งเอกภาพ  คือธรรมชาติแห่งการหมุนวนของการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไม่รู้จบ เล่าจื้อกล่าวว่า “การหมุนกลับคือการเคลื่อนไหวของเต๋า” และ “ยิ่งไปได้ไกลหมายถึงการย้อนกลับ”   สรรพสิ่งล้วนมีพัฒนาการที่เป็นแบบแผนแห่งการหมุนไปและหมุนกลับมา แบบแผนแห่งการยืดขยายและหดตัว ต่อแนวคิดนี้ ฟริตจอฟ คาปรา อธิบายว่า “ความคิดนี้ได้จากการสังเกตการเคลื่อนไหวของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์และจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลอย่างไม่ต้องสงสัย และได้ถูกยึดถือเป็นกฎเกณฑ์ของชีวิต ชาวจีนเชื่อว่า เมื่อใดก็ตามที่สภาพการณ์หนึ่งใดได้พัฒนาไปจนถึงที่สุดในทางหนึ่ง มันจะต้องหมุนย้อนกลับมาถึงที่สุดในอีกทางหนึ่ง ความเชื่อพื้นฐานอันนี้ได้ให้ความกล้าหาญและอดทนในยามยากลำบาก ทำให้ระมัดระวังและมัธยัสถ์ในยามที่ประสบความสำเร็จ “ 117-118

ชีวิตที่เรียบง่ายคือชีวิตที่ใกล้ชิดเต๋า
             เล่าจื้อ สอนให้คนทำชีวิตให้เรียบง่าย ยิ่งชิงดีชิงเด่นกับคนอื่นมากมากเท่าไรก็ยิ่งไม่มีความสุข ถ้าไม่ยุ่งวุ่นวายกับสังคม ความสุขก็จะมีมากขึ้น เพราะว่าโดยธรรมชาติแล้วมนุษย์มีความสุขเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว สังคมเป็นเรื่องของคนหลากหลายความคิดดังนั้นสังคมจึงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และทำให้คนที่ตกลงมาในหลุมพรางของสังคมย่อมมีความทุกข์มากกว่าความสุข เล่าจื้อสอนให้คนอยู่อย่างเรียบง่าย อย่าสร้างกฎเกณฑ์ประเพณีวัฒนธรรม และกฎหมายให้มากนัก เพราะมันจะมาครอบงำทำให้เกิดความทุกข์และเกิดความอึดอัด  เล่าจื้อ สอนให้คนดำเนินชีวิตไปตามธรรมชาติและผสมกลมกลืนกับธรรมชาติ ให้ใช้ชีวิตดุจเดียวกับน้ำ กล่าวคือ ธรรมชาติของน้ำย่อมไม่ฝืนกับสถานการณ์แวดล้อมของมัน น้ำจะปรับตัวไปตามสิ่งที่มันอาศัย แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้น้ำจะมีลักษณะไปตามสิ่งนั้นๆ แต่น้ำก็ยังคงเป็นน้ำอยู่วันยังค่ำ ความเป็นน้ำไม่ได้หายไปไหน  ดังนั้นถ้าบุคคลเรียนแบบการดำเนินชีวิตให้ปรับตัวไปตามธรรมชาติ รู้จักปรับชีวิตของตนให้เข้ากับสภาพแวดล้อมโดยไม่เสียคุณสมบัติและอุดมคติแล้วก็จะมีแต่สันติสุขและเข้าใกล้เต๋ามากยิ่งขึ้น

โมกษะ : สิ่งสัมบูรณ์ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
               
ความเป็นมาของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู 

           ศาสนานี้ถือกำเนิดในประเทศอินเดีย ประมาณ 1,000 ปี ก่อนพุทธกาล ยุคเริ่มแรกเรียกว่าศาสนาพราหมณ์
เป็นยุคที่คัมภีร์พระเวทและคัมภีร์อุปนิษัทซึ่งเป็นคัมภีร์ที่สำคัญที่สุดของศาสนาพราหมณ์มีอิทธิพลสูงสุดโดยตรง และยุคต่อมาประมาณ 100 ปี ก่อนพุทธกาล เป็นยุคที่มหากาพย์รามายณะ และมหากาพย์มหาภารตะยุทธ์ ซึ่งเป็นมหากาพย์ที่ได้รับอิทธิพลจากคัมภีร์อุปนิษัทอีกทอดหนึ่ง และมีอิทธิพลสูงสุดในศาสนาพราหมณ์ ในช่วง 2 ยุคนี้ศาสนาพราหมณ์ยังคงรักษาชื่อเดิมคือศาสนาพราหมณ์และยังไม่มีการตีความคัมภีร์อุปนิษัทมากนัก แต่ในยุคเริ่มต้นพุทธกาล ศาสนาพราหมณ์ไม่เป็นที่นิยมของชาวชมพูทวีป เพราะต้านกระแสของพุทธธรรมไว้ไม่ไหว และมองเห็นว่าไม่สามารถรักษาสถานะเดิมอันมีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของปวงชนได้เท่ากับพุทธศาสนา จึงได้มีการตีความหมายของคัมภีร์อุปนิษัทเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้มีเหตุผลน่าเชื่อถือและทันสมัยเพื่อชิงความเป็นหนึ่งกับพุทธศาสนา จนกระทั่งช่วง พ.ศ. 700 เป็นต้นมา ศาสนาพราหมณ์ได้พัฒนาการแนวความคิดจนแบ่งออกเป็นลัทธิปรัชญาต่างๆ ที่สำคัญถึง 6 ระบบ กล่าวคือ นยายะ ไวเศษิกะ สางขยา โยคะ  มีมามสา และเวทานตะ ลัทธิทั้งหกนี้ล้วนแต่มีพื้นฐานแนวคิดที่ได้มาจากคัมภีร์อุปนิษัท แต่ตีความคัมภีร์อุปนิษัทแตกต่างกันไปบ้าง ดังนั้นทั้ง 6ระบบนี้ จึงเรียกว่าปรัชญาฮินดู และเรียกว่าศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ก็เพราะปรัชญาฮินดูพัฒนามากจากศาสนาพราหมณ์ และเรียกว่าศาสนาฮินดูก็เพราะว่าถึงแม้ระบบทั้ง 6 นี้ เรียกกันว่าระบบปรัชญา แต่ปรัชญาของอินเดียล้วนมีพื้นฐานอยู่บนศาสนาและไม่เคยแยกออกจากศาสนา ระบบปรัชญาทั้ง 6 ดังกล่าวนี้ก็เช่นเดียวกัน
               
โมกษะ 
                
           สิ่งสัมบูรณ์ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู คือโมกษะ หมายถึง ความหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะสงสาร และดำรงอยู่อย่างเป็นสุขนิรันดร์ในภาวะหนึ่งเดียวกับพรหมัน อีกประการหนึ่ง มโนทัศน์เกี่ยวกับ โมกษะ มี 2 ด้าน กล่าวคือ ด้านปฏิเสธ หมายถึงภาวะที่ไร้ร่างกาย  ไร้ ความชั่วร้าย ไร้ความอยากได้ใคร่มี และไร้การทำสิ่งชั่วร้ายใด และ ด้านตอบรับ คือภาวะที่รู้แจ้งหรือรู้ชัดแจ้งว่าเป็นหนึ่งเดียวกับพรหมัน
           สาเหตุที่มนุษย์ไม่สามารถบรรลุโมกษะ เพราะถูกอวิทยาครอบงำ มนุษย์ (ชีวาตมัน หรืออาตมัน) ดังนั้น จึงไม่รู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรมคือปรมาตมันหรือพรหมมัน อันเป็นสรรพมูลการณ์ของสรรพสิ่งและแม้กระทั่งของชีวาตมันนี้ด้วย ดังนั้นมนุษย์จึงทำกรรมด้วยโมหะจิตคือความโง่เขลา ด้วยเหตุนี้ บุญและบาปจึงเกิดขึ้น และทำให้ติดอยู่ในสุข และพยายามหลีกหนีทุกข์ แต่ตราบใดที่ยังไม่รู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรม มนุษย์ก็จะวนเวียนอยู่ในสุขและทุกข์อย่างไม่สิ้นสุด ต่อเมื่อมนุษย์โดยชีวาตมันซึ่งเป็นแก่นแท้ของมนุษย์รู้แจ้งเห็นจริง (วิทยา) ในภาวะที่แท้จริงของพรหมมัน ขจัดความเห็นต่างระหว่างพรหมมัน (หรือปรมาตมัน) กับชีวาตมันและสรรพสิ่งได้ และประจักษ์ชัดว่าพรหมัน ชีวาตมัน และสรรพสิ่ง ล้วนเป็นหนึ่งเดียว เมื่อนั้นก็เป็นอันหลุดพ้น (โมกษะ) จากการเวียนว่ายตายเกิด ดำรงอยู่อย่างเป็นสุขในภาวะหนึ่งเดียวกับพรหมันตราบนิรันดร์

            โมกษะเป็นภาวะที่มีอยู่จริงและไม่ใช่แค่เพียงเป็นภาวะที่ปราศจากความทุกข์ โมกษะไม่ได้อยู่ภายนอกชีวาตมัน ไม่ใช่ภาวะที่จะต้องเข้าไปให้ถึงแต่เป็นภาวะที่แฝงอยู่ในตัวชีวาตมันนั่นเอง เพียงแต่ชีวาตมันปฏิบัติให้สอดคล้องจนทำลายอวิทยาได้จนความรู้แจ้งว่าชีวาตมันเป็นอันเดียวกับอาตมันหรือปรมาตมัน และนั่นก็คืออันเดียวกันกับพรหมัน ไม่มีการแบ่งแยกระหว่างผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ ไม่มีการแบ่งแยกระหว่างอาตมันและพรหมัน
               ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูมีทรรศนะว่าโมกษะเป็นเป้าหมายสูงสุดและเป็นที่รับรู้กันของชาวอินเดีย ดังที่นักปรัชญาชาวอินเดียได้ยืนยันอยู่เสมอว่า จุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิตมนุษย์ก็คือการหลุดพ้นจากเครื่องพันธนาการทางโลก มนุษย์ทุกคนต่างต้องเผชิญหน้าหรือถูกท้าทายจากความสัมพันธ์ของเขากับวัตถุสิ่งของต่างๆอันเป็นที่รัก หรือกับบุคคลอื่นซึ่งมีความใกล้ชิดสนิทสนม และทุกครั้งที่มนุษย์เรารู้สึกว่าตนเองถูกจองจำผูกมัดอยู่กับสิ่งเหล่านี้ ใจหนึ่งอยากจะปลดเปลื้องตนเองให้พ้นไป แต่อีกใจหนึ่งก็ยังผูกพัน นี้คือ ความท้าทายที่ให้โอกาสแก่มนุษย์ได้เลือก

           ดังนั้น บุคคลผู้เห็นภัยหรือเห็นความทุกข์ของชีวิตในวัฏฏะสงสาร จึงต้องการให้วิญญาณหรืออาตมันของตนเข้าสู่ภาวะแห่งการหลุดพ้นหรือโมกษะ วิถีทางแห่งการหลุดพ้นคือการปฏิบัติธรรมตามหลักอาศรมสี่ มรรคสี่หรือโยคะสี่ การปฏิบัติตามหลักดังกล่าวนี้จะทำลายมายาหรือ อวิทยาให้หมดสิ้นไป และนำไปสู่การบรรลุโมกษะหรือการหลุดพ้นอันเป็นเป้าหมายหรืออุดมการณ์สูงสุด 
           แนวทางปฏิบัติเพื่อบรรลุโมกษะ คือการปฎิบัติหลักโยคะ ได้แก่ชญานโยคะ กรรมโยคะ และภักติโยคะ ผู้ที่ปฏิบัติได้ตามหลักการนี้อย่างสมบูรณ เรียกว่า โยคี ที่แท้จริง โยคี แปลว่าผู้ประสาน คือประสานหลักการทั้งสามนั้นเป็นหนึ่งเดียว จนกลายเป็นโยคี คือผู้บรรลุโมกษะ  ในบรรดาโยคะสามนี้ ชญานโยคะ สำคัญที่สุด ถ้าปราศจากชญานโยคะแล้ว  โยคะอื่นก็หามีไม่ เพราะกรรมโยคะ และภักติโยคะเป็นเพียงการแสดงออกของชญานโยคะ  ถ้าปราศจากชญานโยคะเสียแล้ว โมกษะก็หาเกิดขึ้นไม่ การละความยึดมั่นถือมั่นในกรรมคือการกระทำ (กรรมโยคะ) และการมีความภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าโดยไม่หวังผลไดๆตอบแทน (ภักติโยคะ)ย่อมไม่อาจมีได้


แบบ : สิ่งสัมบูรณ์ในปรัชญาของเพลโต

ความเป็นมาโดยย่อของปรัชญาเพลโต
             เพลโต เป็นนักปรัชญากรีก มีชีวิตอยู่ราว 428 – 347 B.C. เป็นเจ้าของแนวคิดเรื่องแบบ (Forms or Ideas)  แนวคิดของท่านได้มีอิทธิพลอย่างสูงต่อระบบปรัชญาตะวันตก คณิตศาสตร์ที่เพลโตได้ศึกษามาจากท่านพิธากอรัส (Pythagoras)ได้มีอิทธิพลต่อแนวคิดแบบสัจนิยมด้านมโนคติ (Ideal realism)  นั่นก็คือท่านได้เสนอหลักการของมโนคติ (Ideas) ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสัมบูรณ์ตามทัศนะของเพลโต เพลโตเชื่อว่าในตัวมนุษย์มีวิญญาณ (Soul) ที่เป็นอมตะ และเชื่อว่าวิญญาณนี้สามารถออกจากร่างหนึ่งไปสู่อีกร่างหนึ่งได้ สอดคล้องกับความเชื่อดังกล่าวนี้ ท่านเชื่อว่า มโนคติ เป็นสิ่งสูงสุดและสัมบูรณ์ เป็นอมตะและเป็นนิจภาวะ ท่านยืนยันว่าโลกแห่งประสาทสัมผัสเป็นโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา (Becoming) แต่โลกแห่งมโนคติมีนัยตรงกันข้าม คือเป็นสิ่งจริงแท้อย่างถาวร (Being)  

 แบบ หรือ มโนคติ
           เพลโต เชื่อว่า แบบ (forms) หรือ มโนคติ (Ideas) คือ แก่นแท้ ดำรงอยู่ได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องอาศัยสิ่งอื่นใด เป็นภาวะที่มีอยู่ในตัวเองด้วยตัวเอง เป็นสิ่งสากล ยกตัวอย่างเช่น ความเป็นวัว และความสวย สิ่งที่สวยงาม เช่นดอกกุหลาบสวยงามเป็นเพียงการเลียนแบบและลอกแบบมาจากมโนคติแห่งความสวย มโนคติแห่งความสวย หรือความสวยจริงๆ (Idea of beauty) ไม่ได้มีในดอกกุหลาบ แต่มีอยู่ในสติปัญญา (intellect)ของมนุษย์ที่อยู่ในขั้นที่สงบลึกที่สุด และมโนคติของสิ่งอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน สิ่งที่สัมผัสได้ล้วนย้ำเตือนให้มนุษย์ได้เห็นมโนคติที่อยู่ในภาวะสงบลึกเหล่านั้น มโนคติหรือแบบ ตามทัศนะของเพลโตไม่ได้มีอยู่ก่อนแล้วในใจมนุษย์หรือพระเจ้า แต่ว่ามโนคตินั้นมีอยู่ในแนวทางของมันเองและถูกมนุษย์ค้นพบ 
           มโนคติ หรือแบบ เป็นอมตะ อยู่เหนือกาลเวลา ไม่มีอดีตอนาคตและปัจจุบัน เวลาเป็นผลงานของพระเจ้า (God) ที่ทรงสร้างไว้ในโลก แต่แบบมีมาก่อนที่พระเจ้าจะสร้างโลกและเวลา
มโนคติเป็นสิ่งสัมบูรณ์ เพราะเป็นภาวะที่ไม่เปลี่ยนแปลงและเป็นภาวะที่มั่นคงถาวรตราบนิรันดร์ มโนคติ คือสารัตถะ (essence) ของสิ่งในโลกประสาทสัมผัสทั้งหลาย เพราะเป็นภาวะที่แท้จริง และถูกสิ่งเหล่านี้เลียนแบบมา มโนคติเป็นภาวะที่ไม่เคลื่อนไหวแต่เป็นสาเหตุแห่งการเคลื่อนไหวของสรรพสิ่ง
           ไม่มีประสาทสัมผัสใดๆจะรับรู้แบบหรือมโนคติได้ เพราะเป็นนามธรรม แต่จะสามารถรับรู้ได้โดยสติปัญญาไม่ใช่โดยประสาทสัมผัส แต่ละมโนคติ เป็นหนึ่งเดียว ซึ่งพระเจ้าทรงสร้างขึ้นมา แต่ละมโนคติ เช่น มโนคติแห่งความงามก็เป็นหนึ่งเดียวแต่สิ่งต่างๆในโลกประสาทสัมผัสเลียนแบบมาจากความงามในโลกมโนคติ

มโนคติ หรือ แบบแห่งความดีเป็นสิ่งสูงสุดกว่ามโนคติหรือแบบทุกประเภท
                ตามทัศนะของเพลโต ทุกสิ่งล้วนมีแบบเป็นของตัวเอง เช่น ม้าในโลกนี้มีนับล้านๆตัว แต่ก็มีแบบเพียงอันเดียว สุนัขก็มีแบบของสุนัข และสัตว์เหล่านี้ก็สังกัดอยู่ในแบบของสิ่งมีชีวิต โต๊ะ และเก้าอี้ก็มีแบบเป็นของตนเองและสิ่งเหล่านี้ก็สังกัดอยู่ในแบบของสิ่งไม่มีชีวิต ในโลกนี้สิ่งต่างๆมีมากมายและแบบของสิ่งต่างๆก็มีมากมายตามประเภทของสิ่งเหล่านั้น แต่แบบทั้งหมดเหล่านี้ก็รวมอยู่ภายใต้แบบอันเดียวเท่านั้นที่ยิ่งใหญ่ที่สุด กว้างที่สุด ครอบคลุมทุกแบบ นั่นก็คือแบบหรือมโนคติแห่งความดี (Form or Idea of the Good)
                มโนคติแห่งความดีมีความสำคัญต่อโลกแห่งมโนคติ เช่นเดียวกับพระอาทิตย์มีความสำคัญต่อโลกแห่งผัสสะ เพราะพระอาทิตย์ให้พลังความอบอุ่นแก่สิ่งมีชีวิตในโลกนี้จึงมีชีวิตอยู่ได้ และที่เราสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆได้ก็เพราะแสงจากดวงอาทิตย์ ในทำนองเดียวกันมโนคติแห่งความดีเป็นที่มาของมโนคติทั้งหลาย เพราะมโนคติแห่งความดีนี้เอง เราจึงรู้จักมโนคติอื่นๆได้ เพลโตกล่าวว่า “มโนคติแห่งความดีไม่ใช่เป็นเพียงบ่อเกิดแห่งความรู้ในสิ่งทั้งปวงเท่านั้น แต่ยังเป็นภาวะและแก่นแท้ของสิ่งทั้งปวง กระนั้น มโนคติแห่งความดีก็ไม่ได้เป็นแค่แก่นแท้ เพราะมันมีศักดิ์ศรีและอำนาจเหนือความเป็นแก่นแท้มากนัก”[1] ดังนั้นตามทัศนะของเพลโต แบบหรือมโนคติที่สูงสุดคือแบบหรือมโนคติแห่งความดีนั่นเอง

มนุษย์บรรลุแบบหรือมโนคติได้ด้วยพุทธิปัญญา (Perfect Intelligence)
                มโนคติมีอยู่ได้โดยตัวมันเอง และมีอยู่ก่อนที่มนุษย์จะรับรู้ มนุษย์สามารถรับรู้มโนคติได้ด้วยพุทธิปัญญา ซึ่งมีขีดความสามารถที่จะรับรู้มโนคติได้โดยตรง ในขั้นที่จิตมีพุทธิปัญญานี้ จิตก็จะสงบเป็นอิสระจากอิทธิพลของการรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสทุกชนิด กล่าวคือไม่ต้องอาศัยสื่อหรือสัญลักษณ์ใดเพื่อจะรับรู้มโนคตินั้น ในภาวะนี้ จิตไม่มีความลังเลสงสัยจึงไม่มีสมมติฐานในการค้นหาความจริง เมื่อไม่มีสมมติฐาน ข้อจำกัดของความรู้จึงไม่มี เมื่อข้อจำกัดไม่มีจิตก็จะค้นพบเอกภาพของมโนคติทั้งหลายด้วยพลังแห่งพุทธปัญญานั้น นั่นคือ จิตพบว่ามโนคติถึงแม้จะมีหลากหลายตามประเภทของสิ่งต่างๆ แต่ทั้งหมดก็อยู่ภายใต้มโนคติแห่งความดี
                ตามทัศนะของเพลโตพุทธิปัญญาคือความรู้ที่แท้จริงเพราะเข้าถึงสิ่งสัมบูรณ์สูงสุดคือมโนคติแห่งความดี เพลโตเชื่อว่า วิญาณของมนุษย์เป็นอมตะและเคยเพ่งพินิจมโนคติอยู่ในโลกแห่งมโนคติก่อนจุติลงมาเกิดในโลกแห่งประสาทสัมผัสนี้ เมื่อเกิดมาแล้วมนุษย์ลืมมโนคติเหล่านั้นเพราะถูกความรู้ระดับประสาทสัมผัสครอบคลุมปิดบังเอาไว้ เมื่อฝึกฝนจิตจนเกิดพุทธิปัญญาขึ้นก็สามารถกลับมารับรู้มโนคติได้อีกเหมือนเดิม

มุมมองเชิงเปรียบเทียบ
                
           สิ่งสัมบูรณ์ทั้ง 4 นี้ มีความเหมือนกันคือต่างก็เป็นสิ่งสูงสุดในศาสนาและสำนักปรัชญานั้นๆ เป็นเป้าหมายสูงสุดหรือสิ่งสูงสุดที่มนุษย์ผู้ศรัทธาควรที่จะปฏิบัติตนเพื่อบรรลุถึง เป็นภาวะที่ไม่บกพร่อง กล่าวคือเมื่อบรรลุถึงแล้วก็ไม่มีสิ่งใดที่จะต้องพยายามให้บรรลุถึงอีกต่อไป
            พระนิพพาน เต๋า โมกษะ และแบบ ต่างก็ถูกอธิบายว่าเป็นภาวะที่อยู่เหนือเหตุและผล อยู่เหนือการปรุงแต่งของจิตใจ และอยู่เหนือประสบการณ์ระดับประสาทสัมผัสทั้งหมดของมนุษย์  นี้ไม่ได้หมายความว่ามนุษย์จะไม่มีทางเข้าถึงภาวะอันสัมบูรณ์นี้ได้ในขณะที่มีชีวิตอยู่ในร่างกายนี้ แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าปราศจากชีวิตในร่างกายนี้แล้วมนุษย์ก็ไม่อาจบรรลุสิ่งสัมบูรณ์นี้ได้ อาจกล่าวได้ว่า สิ่งสัมบูรณ์คือภาวะที่เป็นไปได้ (Possibility)ที่มีอยู่ในมนุษย์นั่นเอง แต่รอวันเวลาที่เหมาะสมมาถึงเมื่อมนุษย์ฝึกฝนตนเองตามแนวทางที่คู่ควรแก่การเข้าถึงภาวะอันสัมบูรณ์นั้น
              ในบรรดาสิ่งสัมบูรณ์เหล่านี้ พระนิพพาน ในพระพุทธศาสนาเท่านั้นที่ถูกแสดงไว้อย่างชัดเจนว่า เป็นภาวะที่เป็นอนัตตา คือภาวะที่ไร้ตัวตนทุกชนิดหรือสิ่งที่คอยกำกับบงการทุกสิ่ง เป็นภาวะที่ อวิชชา ตัณหา อุปาทานถูกทำลายลง  นอกนั้นดูจะมีแนวโน้มไปในการยืนยันว่าเป็นสิ่งที่เป็นอัตตาถึงแม้จะมีการอธิบายแตกต่างกันไปบ้างก็ตาม เต๋า ถูกอธิบายว่าเป็นต้นกำเนิดของสรรพสิ่งทุกสิ่งเกิดจากเต๋าและจะดับลงในเต๋า ซึ่งมีทัศนะในการอธิบายใกล้เคียงกับ โมกษะ ในตอนที่อธิบายว่า โมกษะคือภาวะที่ชีวาตมันเข้าใจอย่างชัดแจ้งว่าตัวเองคืออาตมันซึ่งเป็นอันเดียวกันกับปรมาตมันหรือพรหมัน และพรหมันนี้ คือสรรพมูลการณ์ของสรรพสิ่ง สรรพสิ่งล้วนเป็นมายาหรือลีลาของพรหมัน และท้ายสุดแล้วล้วนกลับเข้าสู่พรหมันซึ่งเป็นอัตตารวมศูนย์ สำหรับ แบบ ตามทัศนะของเพลโต เป็นภาวะที่คล้ายคลึงกับพรหมันในหลายประเด็น เช่นประเด็นที่ว่าเป็นภาวะเป็นอมตะและไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ล้วนเป็นสิ่งที่เรียนแบบสิ่งสัมบูรณ์คือแบบ ดังนั้นพอจะสรุปได้ว่าในบรรดาสิ่งสัมบูรณ์ทั้ง 4ทรรศนะนี้ นิพพานเป็นทัศนะฝ่ายอนัตตา ส่วน เต๋า โมกษะ และแบบ เป็นทัศนะฝ่ายอัตตา

จากแนวคิดเกี่ยวกับสิ่งสัมบูรณ์สู่ประโยชน์ในการแก้ปัญหาระดับโลกสมมุติสัจ
           จากการกล่าวถึงสิ่งสัมบูรณ์ข้างต้นนั้น คงจะมีประโยชน์น้อย ถ้ามัวถกเถียงกันว่าทัศนะไหนถูกที่สุด ปัญหานี้ก็คงคล้ายปัญหาว่าระหว่างไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน เพราะปัญหาที่เราอยากจะทราบความจริงนี้เป็นเรื่องของปรมัตถสัจ แต่มนุษย์เราผู้ยังเต็มไปด้วยอวิชชา ตัณหา อุปาทาน พยายามจะศึกษาให้เข้าใจ ก็คงพอเข้าใจตามประสามนุษย์ แต่ก็คงไม่เข้าใจในเนื้อแท้แห่งความจริง ก็เหมือนกับนิทานเรื่องเต่ากับปลา ที่เต่าพยายามจะบอกว่าแผ่นดินเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ปลามันก็ได้แต่จินตนาการไปว่าคงเหมือนสิ่งนั้นสิ่งนี้ที่มันคุ้นเคย และก็คงเปรียบเหมือนคนรวยถึงจะเห็นอกเห็นใจคนจนสักปานใดเขาก็คงไม่รู้ซึ้งว่าความจนเป็นอย่างไรเท่ากับเขากลายเป็นคนจนจริงๆ 
           ไม่ว่าจะนิพพาน เต๋า โมกษะ หรือ แบบ (มโนคติ) ถึงจะมีชื่อเรียกแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือเป็นสิ่งสัมบูรณ์เหมือนกันหมดเป็นภาวะที่ไม่มีเงื่อนไขใดๆ คงมีแต่ภาวะที่เราพอจะพูดได้ว่า น่าจะเป็นภาวะที่สงบระงับเป็นหนึ่งเดียว ปราศจากความทุกข์โศก มีแต่ภาวะสันติภาพ จากแนวคิดนี้นำไปสู่การเกิดแนวคิดเพื่อบรรเทาปัญหาเลวร้ายต่างๆในโลก ในความเป็นจริง มนุษย์เกิดมาบนโลกอันแสนจะสวยงามใบนี้ พร้อมกับความไม่มีอะไร ไม่ว่าความรู้ ศาสนา วัฒนธรรม ภาษา ฯลฯ แต่ต่อเมื่อมีความสามารถในการรับรู้และมีขีดความสามารถที่จะปรุงแต่ง (conceptualize)สิ่งต่างๆตามที่กล่าวมาจึงเกิดมีขึ้น มนุษย์แต่ละคนต่างก็มีโลก (ประสบการณ์) เป็นของตนเอง ทำหน้าที่ตามโลกของตนเอง จึงดูเหมือนว่ามนุษย์แต่ละคนแตกต่างกัน ไม่ว่าจะทางเชื้อชาติ ทางศาสนา วัฒนธรรม ภาษา ฯลฯ แต่ถ้าใช้หลักคิดที่มุ่งหาความเป็นจริงซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษย์จริงแล้ว จะพบว่ามนุษย์แตกต่างกันเพียงแค่ปรากฏการณ์ หรือ สิ่งสมมุติ เท่านั้น ในความเป็นจริงแล้ว มนุษย์ล้วนแต่มีลักษณะที่เป็นเอกภาพ เป็นอันเดียวกันทั้งนั้น “สัจจธรรมสูงสุดของชีวิตและสกลจักรวาลเป็นเอกภาพ แต่ในขณะเดียวกันก็ปรากฏเป็นความหลากหลายตามเงื่อนไขของกาละเทศะและระบบวิธีการที่ใช้ศึกษาค้นคว้า”[2] จากคำกล่าวนี้ อาจกล่าวต่อไปอีกได้ว่า ทัศนะเกี่ยวกับสิ่งสัมบูรณ์ข้างฝ่ายอนัตตาและอัตตา เป็นเพียงความเห็นต่างกัน แต่ความเป็นจริงแล้วคือภาวะอันเดียวกัน เหมือนกับคนมองเหรียญคนละด้านแต่เหรียญนั้นก็คือเหรียญเดียวกัน
           เด็กแรกเกิดจะมีความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาเหมือนกันทั้งหมด วัฒนธรรม ภาษา ศาสนา แม้กระทั่ง ความรัก ความชัง ความคิดแบ่งแยกเขาแยกเรา ยังไม่มีในเด็กแรกเกิดเลย  จะแตกต่างก็เพียงส่วนที่เป็นร่างกายเท่านั้น เช่นอาจมีผิวสีดำ สีขาว น้ำหนักน้อย น้ำหนักมาก ต่อเมื่อมีการรับรู้และการปรุงแต่งจินตนาการของจิต จึงถูกอิทธิพลของสภาพแวดล้อม เช่น ความคิดทางศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี ภาษา ความรัก ความชัง ฯลฯ  ที่มนุษย์ผู้เกิดก่อนถ่ายทอดมาให้ในการดำเนินชีวิต สิ่งที่ได้รับอิทธิพลมานั้นก็ล้วนแต่ก็เป็นฝีมือทางความคิดของมนุษย์ทั้งนั้น มนุษย์แต่ละคนก็เพียงแค่ทำหน้าที่แตกต่างกันไปตามสาขาอาชีพ สภาพแวดล้อม การดำเนินชีวิตบนโลกใบนี้จึงไม่ผิดอะไรกับคำพังเพยที่ว่า “โลกนี้เป็นเหมือนละคร” แต่มนุษย์ก็ไปยึดเอาบทบาทดุจละครของแต่ละคนว่าเป็นความต่างระหว่างบุคคล จึงก่อให้เกิดยึดติดว่าเขาว่าเรา และปัญหาต่างๆตามมาบนพื้นฐานนี้ มนุษย์ต้องสำนึกในความเป็นจริงอันนี้ให้จงหนัก และปรากฎการณ์ต่างๆที่มนุษย์พากันสรรค์สร้างขึ้นจุดหมายปลายทางที่แท้จริงแล้วควรต้องมีต้องเป็นเพื่อความสงบสุขแห่งจิตวิญญาณ ความไม่เบียดเบียนกันของมนุษย์ นั่นถึงจะสอดคล้องกับหลักสัจธรรมคือเอกภาพ มนุษย์รวมถึงสรรพสิ่งทั้งผองล้วนเป็นพี่น้องกันเพราะถือกำเนิดมาจากสัจธรรมอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ว่าแหล่งกำเนิดของสรรพสิ่งเหล่านี้จะถูกเรียกในชื่อที่แตกต่างกัน เช่น เรียกว่า “พระเจ้า” “พระพรหม” “เต๋า” “นิพพาน” “แบบ” และ “ธรรมชาติ” เป็นต้น ก็ตาม นั่นก็เป็นเพราะวัฒนธรรมทางภาษาที่มนุษย์ปรุงแต่งขึ้นแตกต่างกัน แต่ในความจริงแล้ว มนุษย์และสรรพสิ่งทั้งผองล้วนเป็นพี่น้องกันเพราะมีสาเหตุที่มาอันเดียวกันนั่นคือภาวะตามที่มันเป็น การที่มนุษย์ทุกคนตระหนักในหัวใจว่าพวกเราและสรรพสิ่งต่างเป็นพี่น้องกันนี้ก็คงจะไม่น่าน้อยใจนักใช่ไหม  ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถตระหนักได้เลยว่าตัวเราเป็นอันเดียวกันกับพรหมัน โลกใบนี้ก็คงไม่เกิดสงครามฆ่าฟันกันเช่นนี้อีกต่อไป
           ในช่วง 2-3 ปีมานี้ เราพบว่าโลกเต็มไปด้วยปัญหาต่างๆมากมาย ซึ่งก็ล้วนเกิดมาจากน้ำมือของมนุษย์บางคนซึ่งยังไม่ทราบซึ้งถึงสัจธรรมดังกล่าว และมนุษย์เหล่านี้ก็มีอำนาจครอบงำจิตใจให้หลงมัวเมาในอำนาจสั่งสมความอยากได้อยากมีเพื่อตัวเอง พรรคพวกตัวเอง เมืองของตัวเอง และประเทศของตัวเอง แต่ไม่คิดเพื่อโลกทั้งหมดว่าเป็นของตัวเอง ปัญหาการเข้ายึดครองอิรัก การก่อการร้ายนานาชาติ ความขัดแย้งกรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหายาเสพติด จี้ ปล้น ข่มขืน การต้มตุ๋น หลอกลวง เป็นต้น ล้วนแต่สร้างภาวะอสัจจธรรม (ความเลวร้าย) มากยิ่งขึ้น
ผู้ที่จะต้องรับผิดชอบและแก้ไขปัญหาอันเลวร้ายเหล่านี้ ก็คือมนุษย์เราทุกคนที่จะต้องเข้าใจอย่างถูกต้องต่อความจริงแท้สูงสุด (Ultimate Truth) ไม่หลงมัวเมาในความเป็นจริงที่จอมปลอม (Conventional Truth) ทุกคนต้องตระหนักในธรรมชาติที่แท้จริงของมนุษย์และสรรพสิ่ง ร่วมมือร่วมใจกันสร้างสรรค์แต่สิ่งที่ดีงามกล่าวคือสัจธรรม โดยไม่ทำกิจการทุกอย่างที่ทำลายเบียดเบียนผู้อื่นทั้งมนุษย์ และสรรพสิ่งทางธรรมชาติบนโลกนี้ ลดละเลิกการกระทำที่เห็นแก่ตัวทุกอย่าง และตระหนักอยู่ในใจเสมอว่า “สรรพสิ่งทั้งผองล้วนเป็นพี่น้องกัน” เมื่อนั้นปัญหาความวุ่นวาย ความเดือดร้อนต่างๆ ก็คงจะมีน้อยหรือว่าไม่มีเลยก็เป็นได้

ดร. สมบูรณ์ วัฒนะ  ศน.บ. M.A. Ph.D. (Philosophy)
ที่มา:
http://buddhistphilo.blogspot.com/search?updated-max=2010-09-28T04%3A56%3A00-07%3A00&max-results=7

 

บรรณานุกรม
สุชีพ ปุญญานุภาพ, ศาสนาเปรียบเทียบ. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, กรุงเทพฯ 2534
สุนทร ณ รังสี, ปรัชญาอินเดีย ประวัติและลัทธิ. สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,กรุงเทพฯ 2537
จำนง ทองประเสริฐ, ปรัชญาตะวันตกสมัยโบราณ. โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, กรุงเทพ: 2533
พระธรรมปิฏก (ประยุทธ์ ปยุตโต) , พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความ.  โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,กรุงเทพ:  2538.
ฟริตจอฟ คาปรา, เต๋าแห่งฟิสิกส์. วเนช แปล
รศ. ทองหล่อ วงษ์ธรรมา, ปรัชญาจีน. สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์,  กรุงเทพ.
โจเซฟ แกร์, ศาสนาทั้งหลายนับถืออะไร,  ฟื้น ดอกบัว (แปล).สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์ ,กรุงเทพ:2533.
Y. Mashi.  A Critical History of Western Philosophy. Motilal Banarsidass, Delhi :1994.
Sinha Jadunath. Outlines of Indian Philosophy. New Central Book Agency (P) LTD. 1996.
Dr. N.N. Banerjee, K. Singh. Western Philosophy. Prakashan Kendra, Lucknow.
John Cottingham,Western Philosophy An Anthology.  Blackwell Publishers, Oxford: 1996.

 

 

________________________________________
[1] Stace, W.T., A Critical History of Greek Philosophy, Macmillan&Co.,Ltd., 1953,p. 44.  ดู เมธีธรรมาภรณ์, พระ, ปรัชญากรีก,  สำนักพิมพ์ศยาม,  กรุงเทพ., 2537 หน้า 143.
[2]   คำนิยมโดย ศ. ระพี ภาวิไล  ฟริตจอฟ คาปรา, เต๋าแห่งฟิสิก, วเนช (แปล)

 

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก