ผู้ที่ศึกษามาทางด้านปรัชญาย่อมจะเข้าใจภาษาทางปรัชญาเช่น "สิ่งสัมบูรณ์" "มโนทัศน์" “ทฤษฎีแบบ” เป็นต้น ผู้ที่ศึกษามาทางศาสนาก็ย่อมจะเคยได้ยินคำว่า “นิพพาน” เต๋า” “โมกษะ” ส่วนผู้ที่ศึกษามาทางอื่นอาจจะเคยได้ยินแต่ไม่เข้าใจ เพราะภาษาทางด้านปรัชญาและศาสนาเป็นศัพท์เฉพาะที่ใช้เรียกสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ศาสนาและปรัชญาแม้จะอยู่ในขอบข่ายสาขาวิชาที่ใกล้เคียงกัน แต่ทว่าความหมายของคำบางคำก็มีวิธีการอธิบายที่ต่างกัน นักปรัชญาอาจจะไม่ได้ปฏิบัติตามสิ่งที่ตนเองอธิบายเลยก็ได้ ในขณะที่นักการศาสนาต้องปฏิบัติตามสิ่งที่ตนค้นพบ วิถีของนักปรัชญาและนักศาสนาจึงเริ่มต้นต่างกัน ดร.สมบูรณ์ วัฒนะ ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยท่านหนึ่ง แต่ไปจบปริญญาเอกทางด้านปรัชญาที่มหาวิทยาลัยปัญจาป อินเดีย ดินแดนแห่งผู้สนใจในด้านศาสนาและปรัชญาโดยตรง ได้อธิบายและตีความตามทัศนะทางปรัชญา เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ศึกษาจึงขออนุญาตนำเผยแพร่ โปรดอ่านด้วยใจที่เป็นกลาง
สิ่งสัมบูรณ์:นิพพาน เต๋า โมกษะ แบบ
โดย ดร.สมบูรณ์ วัฒนะ ศน.บ. M.A. Ph.D. (Philosophy)
ปัญหาที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของศาสนาและปรัชญาหลายสำนัก คือปัญหาที่ว่าด้วยสิ่งสัมบูรณ์ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุด แต่ละศาสนาและสำนักปรัชญาต่างก็ให้คำตอบเกี่ยวกับปัญหาเรื่องสิ่งสัมบูรณหรือสิ่งสูงสุดนี้แตกต่างกันไปตามวิวัฒนาการแห่งความคิด ในบทความนี้จะกล่าวถึงแนวคิดเรื่องสิ่งสัมบูรณ์ในศาสนาพุทธ ปรัชญาของเล่าจื้อ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และปรัชญาของเพลโต (Plato) จุดมุ่งหมายเพื่อเข้าใจความหมายของสิ่งสูงสุดและวิธีการปฏิบัติเพื่อบรรลุสิ่งสูงสุดนั้นตามทรรศนะของศาสนาและปรัชญาเหล่านี้ พร้อมกับแสดงให้เห็นถึงคุณประโยชน์ที่คาดว่าจะได้จากการศึกษาสิ่งสัมบูรณ์ตามทัศนะของศาสนาและปรัชญาเหล่านี้ ในชีวิตประจำวันของมนุษย์
นิพพาน เป็นชื่อของสิ่งสัมบูรณ์ในพุทธศาสนา เต๋า เป็นชื่อของสิ่งสัมบูรณ์ในปรัชญาของเล่าจื้อ โมกษะ เป็นชื่อของสิ่งสัมบูรณ์ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และแบบ (Form) หรือ มโนคติ (Idea) เป็นชื่อของสิ่งสัมบูรณ์ในปรัชญาของเพลโต (Plato)
นิพพาน: สิ่งสัมบูรณ์ในพระพุทธศาสนา
ความเป็นมาโดยย่อของพุทธศาสนา
พระพุทธศาสนาอุบัติขึ้นในโลกในประเทศอินเดียเมื่อ 2600 ปี มาแล้ว มีพระศาสดาพระนามว่าสมณโคดม พระองค์ได้ประกาศคำสอนของพระองค์อย่างองอาจท้าทายแนวความคิดเดิมของศาสนาพราหมณ์ในยุคนั้นนั่นคือเรื่องอาตมัน ภาวะแห่งความมีตัวตนที่อมตะ โดยพระองค์ได้เสนอหลักอนัตตา กล่าวคือความเป็นสิ่งไร้ซึ่งตัวตนของสรรพสิ่ง พระองค์ประกาศคำสอนมากมาย ซึ่งก็ล้วนแต่มีพื้นฐานอยู่บนหลักอนัตตานี้ ว่ากันว่าในสมัยพุทธกาลนั้น ไม่มีใครที่จะสามารถท้าทายบุญบารมีของพระพุทธองค์ได้เลย ทั่วชมพูทวีปล้วนได้รับน้ำอมฤตธรรมที่พระองค์ทรงรินหลั่งไหลให้ได้ดื่มด่ำกันถ้วนหน้า พระองค์ยังมีวิสัยทัศน์อันกว้างไกล กล่าวคือพระองค์ได้ส่งสาวกออกไปประกาศอมฤตธรรมที่พระองค์ค้นพบไปยังหลายๆประเทศ เพื่อปลดเปลื้องมวลมนุษยชาติให้พ้นจากความทุกข์ จุดหมายสูงสุดแห่งการปฏิบัติตามหลักพุทธธรรมของพระองค์คือการหลุดพ้นจากความโลภ ความโกรธ และความหลง และรู้แจงเห็นจริงในความไร้ตัวตนหรืออัตตาของสรรพสิ่ง เป็นต้น ภาวะที่หลุดพ้นนี้เรียกว่า นิพพาน
นิพพาน
คำว่า “นิพพาน” แปลว่า ความดับสนิท คือภาวะที่ตัณหาซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ดับสิ้นไป ภาวะที่จิตรู้แจ้งอริยสัจ 4 ทำลายกระบวนการแห่งปฏิจจสมุปบาทลงได้เด็ดขาด ภาวะที่ปราศจากความโลภ ความโกรธ ความหลง คือภาวะจริงแท้สูงสุดหรือสิ่งสัมบูรณ์ที่บัญญัติและตรรกใดๆเข้าถึงไม่ได้ อยู่เหนือกิเลส กรรม และวิบาก
ภาวะแห่งนิพพาน คือ ภาวะที่เกิดขึ้นในบุคคลผู้ที่ทำลายกระบวนการแห่งปฏิจจสมุปบาทในตัวบุคคลนั่นเอง หรือถ้าจะกล่าวให้กระชับเข้าก็คือกระบวนการแห่งปฏิจจสมุปบาทไม่ได้มีอำนาจบงการจิตของบุคคลนั้นได้ในทันทีที่บุคคลนั้นเข้าใจถ่องแท้ในอริยสัจทั้งสี่ นิพพานไม่ใช่ภาวะที่บุคคลจะต้องเดินทางไปให้ถึง หรืออยู่ภายนอกบุคคลที่เขาจะต้องออกจากสังสารวัฏที่แห่งหนึ่ง ไปสู่วิวัฏอีกแห่งหนึ่ง
ในกระบวนการแห่งปฏิจจสมุปบาทในตัวบุคคลนั้น อวิชชา ตัณหา อุปาทาน มีความสำคัญในการก่อให้เกิดสังสารวัฏอย่างต่อเนื่อง การดับอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ก็คือวิวัฏ หรือ ภาวะนิพพาน ในช่วงก่อนที่บุคคลจะบรรลุพระนิพพาน อวิชชา ตัณหา อุปาทานครอบงำ ปกปิด เคลือบแฝงจิตใจ กำบังปัญญาไม่ให้มีบทบาท มิหนำซ้ำยังนำเอากิเลสต่างๆให้ไหลเข้ามาสู่จิตใจให้ยึดติดอยู่ในโลกสมมุติสัจ (Conventional Truth) หลงผิดคิดว่าโลกสมมุติสัจนี้ว่าเป็นสิ่งจริงแท้ จึงยึด จึงไขว่คว้าหาเข้ามาพอกพูนจนปิดบังปัญญา (วิชชา)ไม่ให้มีบทบาทในอันที่จะนำแสงสว่างแห่งปัญญาคือโลกแห่งอริยสัจ (Noble Truth) เข้ามาแทนที่ จิตใจมีแต่ความวุ่นวาย มืดมัว มองเห็นสิ่งต่างๆตามสภาพที่ไม่เป็นจริง ถูกเหนี่ยวรั้งไว้ให้วนเวียนขัดข้องและคับแคบอยู่กับเครื่องผูกมัดหน่วงเหนี่ยวชนิดต่างๆ เมื่ออวิชชา ตัณหา อุปาทาน นั้นดับหายไป ในทันทีก็เกิดปัญญาความสว่างแจ้ง ทำให้มองเห็น (โลกทัศน์) สิ่งต่างๆ โลกและชีวิต ถูกต้องชัดเจนตามสภาพความเป็นจริงตามที่มันเป็น ไม่ใช่ตามที่อำนาจของตัณหาอยากให้เป็น เหมือนครั้งที่จิตใจถูกปกปิดด้วยอวิชชา ตัณหา อุปาทาน
ตามทัศนะของพุทธศาสนา พระนิพพาน คือสิ่งสัมบูรณ์ คือปรมัตถ์สัจหนึ่งเดียวไม่มีสอง ถึงกระนั้นก็ตาม พระนิพพานได้ถูกอธิบายว่ามี 2 ประเภท เพื่อแสดงอาการของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับพระนิพพาน ไม่ใช่หมายความว่าพระนิพพานมี 2 ประเภทจริง พระนิพพาน 2 ประเภท นั้น ได้แก่
1.สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ ได้แก่พระนิพพานที่บุคคลผู้บรรลุยังมีชีวิตอยู่ ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่คือผู้ที่ยังมีเบญจขันธ์ ดังนั้นพระนิพพานประเภทนี้จึงเป็นพระนิพพานยังมีเบญจขันธ์เหลือ
2.อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ได้แก่พระนิพพานที่บุคคลผู้บรรลุสิ้นชีวิตแล้ว ผู้ที่ไม่มีชีวิตคือผู้ที่ปราศจากเบญจขันธ์ ดังนั้นพระนิพพานประเภทนี้จึงเป็นพระนิพพานที่ไม่มีเบญจขันธ์เหลือ
แนวทางปฏิบัติเพื่อบรรลุนิพพาน คือสำนึกอย่างชัดแจ้งในอริยสัจ 4 แล้วปฏิบัติตามหลักอริยมรรคมีองค์ 8 และปฏิบัติตามหลักมหาสติปัฏฐาน 4 จนกระทั่งทำลายอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ได้อย่างสิ้นเชิง แล้วรู้แจ้งแทงตลอดในสัจธรรมตามสภาพความเป็นจริง (ยถาภูตญาณทัสสนะ) กระบวนการแห่งปฏิจจสมุปบาทก็หยุดแสดงบทบาทโดยสิ้นเชิงทันที บุคคลผู้นั้นกลายเป็นพระอรหันต์บุคคลคือผู้บรรลุสอุปาทิเสสนิพพานเพราะยังมีชีวิตอยู่ ครั้นเมื่อสิ้นชีวิตลงเรียกอนุปาทิเสสนิพพาน
เต๋า : สิ่งสัมบูรณ์ในปรัชญาเล่าจื้อ
ความเป็นมาโดยย่อของปรัชญาเล่าจื้อ
เล่าจื้อ เป็นคนแรกที่ใช้คำว่า “เต๋า” ท่านได้ถ่ายทอดปรัชญาแห่งเต๋าดังปรากฏในคัมภีร์ ต๋า-เต๊ะ-จิง ท่านมีชีวิตอยู่ช่วง 62 ปีก่อนพุทธศักราช ที่หมู่บ้านจูเหยน ตำบลหลีเซียง อำเภอคู รัฐซู (ฌ้อ) ทางภาคกลางของจีน เล่ากันว่าท่านได้อยู่ในครรภ์ของมารดานานถึง 81 ปี เมื่อตอนคลอดออกมาท่านมีผมหงอกขาวโพลน จึงถูกขนานนามว่า “เล่าจื้อ” ซึ่งแปลว่าเด็กแก่ คือผู้มีภาวะเหมือนเด็ก หรือเป็นผู้บริสุทธิ์เช่นเด็ก เป็นนักปราชญ์ผู้เฒ่า ทันทีที่คลอดออกมาดูโลกท่านยกมือซ้ายชี้ขึ้นฟ้าพร้อมกับเปล่งวาจาว่า “ในฟ้าเบื้องบน ในดินเบื้องล่าง เต๋าเท่านั้นควรเป็นที่สักการะ” เล่าจื้อเป็นผู้เสนอแนวคิดที่ว่า เต๋าคือสภาวะที่แท้จริงสูงสุด เต๋าไม่ได้เกิดมาจากสิ่งใดๆ สรรพสิ่งถือกำเนิดมาจากเต๋า ในที่สุดก็จะกลับคืนสู่เต๋า และสรรพสิ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเต๋า ดังนั้น เต๋า จึงเป็นสิ่งสัมบูรณ์
เต๋า
เล่าจื้อ คือคนแรกที่สอนแนวคิดเรื่องเต๋า เต๋าคือสภาวะที่แท้จริงสูงสุด สรรพสิ่งถือกำเนิดมาจากเต๋า ในที่สุดก็จะกลับคืนสู่เต๋า และสรรพสิ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเต๋า เต๋าคือสิ่งสมบูรณ์แห่งเอกภพที่มิใช่พระเจ้าหรือเทพเจ้า ตามทรรศนะของเล่าจื้อ คำว่า “เต๋า” เป็นเพียงชื่อสมมุติเท่านั้น ว่ากันโดยปรมัตถ์แล้ว ไม่มีชื่อ อยู่เหนือถ้อยคำ ถ้อยคำเป็นเรื่องภาษาบัญญัติของมวลมนุษย์ แต่ครั้นจะไม่ใช้ถ้อยคำมาสมมุติเรียกคนสามัญก็ยิ่งจะไม่รู้ไม่เข้าใจอะไรเลย ดังนั้นเล่าจื้อจึงบัญญัติคำว่า “เต๋า”มาเรียกชื่อปรมัตถภาวะนี้
คำว่า “เต๋า” แปลได้หลายนัย เช่น แปลว่า หนทาง คุณสมบัติ วิธีการ กฎ จารีต ธรรมชาติ แต่ว่าโดยปรมัตถ์ตามแนวคิดของเล่าจื้อ หมายถึง ธรรมชาติอันเป็นอมฤต ไร้เบื้องต้น –ท่ามกลาง – ที่สุด สรรพสิ่งเกิดจากเต๋าและดับลงในเต๋านี้
เนื่องจากว่า เต๋า อยู่เหนือถ้อยคำ อยู่พ้นขอบเขตแห่งจินตนาการของมนุษย์ ไม่มีสิ่งใดจะเท่าเทียมตีค่าเท่าเต๋าได้ ทั้งไม่สามารถบอกได้ว่าเต๋าคือนั้น คือนี่ ไม่มีลักษณาการใดๆในโลกิยธรรมที่จะแสดงถึงภาวะแห่งเต๋าได้ ดังนั้นจึงสุมมุติเรียกเต๋าว่าอภาวะคือความไม่มี แต่ไม่ใช่นัตถิภาวะที่ไม่มีอะไรเลย ที่เรียกว่าอภาวะเพราะว่าเต๋าเป็นสิ่งที่ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้เป็นเหมือน แต่ว่าโดยความจริงแล้วมันมีสภาพของมัน และยังเรียกสภาพนั้นว่าภาวะ อภาวะและภาวะทั้งสองนี้ก็คือคุณสมบัติของเต๋า เพราะเต๋าไม่มีความเปลี่ยนแปลง ไม่มีลักษณะใดๆในโลกที่จะเทียบเคียงเต๋าได้ ในแง่นี้เต๋าคืออภาวะ เมื่อมองในแง่ที่เต๋าเป็นผู้ให้กำเนิดของสรรพสิ่ง เป็นสาเหตุของการเกิดมีขึ้นของสรรพสิ่ง และทุกสิ่งก็จะสิ้นสุดที่เต๋า ในแง่นี้ เต๋าคืออภาวะ “จะกล่าวว่ามันไม่มี ไม่เป็นอะไร ก็ไม่ถูกต้อง เพราะสรรพสิ่งก็ถือกำเนิดมาจากมัน ครั้นจะพูดว่ามันมี มันเป็นอะไรสักอย่างหนึ่ง ก็ดูจะไม่ตรงนัก เพราะเราไม่สามารถมองเห็นตัวมัน”
เต๋าให้กำเนิดทุกสิ่งในจักรภพ แต่ไม่มีสิ่งใดให้กำเนิดเต๋าได้ เต๋าเป็นอิสระเพราะไม่มีสิ่งใดมาปรุงแต่งมันได้ มันเป็นภาวะที่สิ่งที่ไม่ปรุงแต่งทีแรกแต่ปรุงแต่งในขณะต่อมาอาศัยเกิดขึ้น ดังปรากฏในคัมภีร์เต๋า-เต๊ะ-จิง บทที่ 37 ว่า “เต๋าโดยตัวของมันเอง ไม่มีอะไรมาปรุงแต่ง แต่ก็ไม่มีสิ่งใดที่เต๋ามิได้ทำให้เกิดมีขึ้น...”
เต๋า เป็นกระบวนการแห่งเอกภพซึ่งทุกสิ่งมีส่วนสัมพันธ์อยู่ด้วย โลกเป็นกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงอันต่อเนื่องไม่รู้สิ้นสุด คือแบบแผนของวิถีทางแห่งเอกภาพ คือธรรมชาติแห่งการหมุนวนของการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไม่รู้จบ เล่าจื้อกล่าวว่า “การหมุนกลับคือการเคลื่อนไหวของเต๋า” และ “ยิ่งไปได้ไกลหมายถึงการย้อนกลับ” สรรพสิ่งล้วนมีพัฒนาการที่เป็นแบบแผนแห่งการหมุนไปและหมุนกลับมา แบบแผนแห่งการยืดขยายและหดตัว ต่อแนวคิดนี้ ฟริตจอฟ คาปรา อธิบายว่า “ความคิดนี้ได้จากการสังเกตการเคลื่อนไหวของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์และจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลอย่างไม่ต้องสงสัย และได้ถูกยึดถือเป็นกฎเกณฑ์ของชีวิต ชาวจีนเชื่อว่า เมื่อใดก็ตามที่สภาพการณ์หนึ่งใดได้พัฒนาไปจนถึงที่สุดในทางหนึ่ง มันจะต้องหมุนย้อนกลับมาถึงที่สุดในอีกทางหนึ่ง ความเชื่อพื้นฐานอันนี้ได้ให้ความกล้าหาญและอดทนในยามยากลำบาก ทำให้ระมัดระวังและมัธยัสถ์ในยามที่ประสบความสำเร็จ “ 117-118
ชีวิตที่เรียบง่ายคือชีวิตที่ใกล้ชิดเต๋า
เล่าจื้อ สอนให้คนทำชีวิตให้เรียบง่าย ยิ่งชิงดีชิงเด่นกับคนอื่นมากมากเท่าไรก็ยิ่งไม่มีความสุข ถ้าไม่ยุ่งวุ่นวายกับสังคม ความสุขก็จะมีมากขึ้น เพราะว่าโดยธรรมชาติแล้วมนุษย์มีความสุขเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว สังคมเป็นเรื่องของคนหลากหลายความคิดดังนั้นสังคมจึงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และทำให้คนที่ตกลงมาในหลุมพรางของสังคมย่อมมีความทุกข์มากกว่าความสุข เล่าจื้อสอนให้คนอยู่อย่างเรียบง่าย อย่าสร้างกฎเกณฑ์ประเพณีวัฒนธรรม และกฎหมายให้มากนัก เพราะมันจะมาครอบงำทำให้เกิดความทุกข์และเกิดความอึดอัด เล่าจื้อ สอนให้คนดำเนินชีวิตไปตามธรรมชาติและผสมกลมกลืนกับธรรมชาติ ให้ใช้ชีวิตดุจเดียวกับน้ำ กล่าวคือ ธรรมชาติของน้ำย่อมไม่ฝืนกับสถานการณ์แวดล้อมของมัน น้ำจะปรับตัวไปตามสิ่งที่มันอาศัย แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้น้ำจะมีลักษณะไปตามสิ่งนั้นๆ แต่น้ำก็ยังคงเป็นน้ำอยู่วันยังค่ำ ความเป็นน้ำไม่ได้หายไปไหน ดังนั้นถ้าบุคคลเรียนแบบการดำเนินชีวิตให้ปรับตัวไปตามธรรมชาติ รู้จักปรับชีวิตของตนให้เข้ากับสภาพแวดล้อมโดยไม่เสียคุณสมบัติและอุดมคติแล้วก็จะมีแต่สันติสุขและเข้าใกล้เต๋ามากยิ่งขึ้น