พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาที่โด่งดังเป็นที่รู้จักทั่วโลกในปัจจุบัน คงไม่มีใครเกินหน้าองค์ดาไลลามะ ผู้นำแห่งจิตวิญญาณของทิเบต การพบกันระหว่างสองผู้ยิ่งใหญ่คือประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐอเมริกา กับองค์ดาไลลามะ จึงเป็นที่สนใจของชาวโลก และตกเป็นข่าวไปทั่วโลก ได้ดูข่าวศิลปะบันเทิงว่าประเทศไทยก็ได้จัดเทศกาลภาพยนตร์ทิเบตขึ้นในช่วงนี้ด้วย
การพบกันของทั้งผู้นำทั้งสองเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2553 ที่ผ่านมา โดยไม่อนุญาตให้มีการถ่ายทอดเสียงการสนทนากัน จนถึงวันนี้พยายามตามข่าวอยู่ว่าผู้นำทั้งสองได้คุยเรื่องอะไรกันบ้าง
ที่เป็นข่าวใหญ่โตกลับเป็นประเทศจีนที่แถลงคัดค้านการพบกันของผู้นำทั้งสองเช่นข่าวจากหังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 19 กพ. 53 สรุปได้ว่า “สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 19 ก.พ. ว่า โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีน แถลงไม่เห็นด้วย และแสดงไม่พอใจกรณีการพบกันระหว่าง บารัค โอบามา ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ และ องค์ดาไล ลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบต ว่าเป็นการสร้างความตึงเครียดด้านความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและจีนให้เพิ่มมากขึ้น แต่ทั้งนี้ทางการจีนยังหวังให้สหรัฐฯฟื้นความสัมพันธ์ทวิภาคีให้ดีขึ้นกว่าเดิม
สำหรับการพบกันระหว่างผู้นำประเทศมหาอำนาจ และผู้นำทางด้านศาสนา มีขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ( 18 ก.พ.) ที่ทำเนียบขาว โดยทั้ง 2 ผู้นำใช้เวลาหารือราว 1 ชั่วโมงเศษ โดย โอบามา กล่าวยกย่ององค์ดาไล ลามะ ที่ยึดมั่นในแนวทางที่หลีกเลี่ยงความรุนแรง
ทำไมจีนต้องไม่พอใจการพบกันของผู้ทั้งสองท่าน เพราะจีนถือว่าทิเบตคือมณฑลหนึ่งของจีน ในขณะที่ชาวทิเบตถือว่าทิเบตคือประเทศเอกราชมาก่อน ภายหลังถูกจีนยึดครอง ความเห็นของทั้งสองประเทศจึงมีความขัดแย้งกันเรื่อยมา องค์ดาไลลามะได้เรียกร้องอิสรภาพเพื่อให้ชาวทิเบตได้ปกครองตนเองมาเป็นเวลา 50 กว่าปีแล้ว ปัจจุบันองค์ดาไลลามะมีถิ่นพำนักที่เมืองดาลัมสลาหรือที่เรียกติดปากคนไทยว่า “ธัมมศาลา” มีรัฐบาลพลัดถิ่น มีคณะรัฐมนตรี โดยองค์ทดาไลลามะผู้นำทั้งทางโลกและทางจิตวิญญาณ ในโลกนี้คงมีประเทศเดียวที่มีผู้นำทั้งทางโลกและทางศาสนาเป็นคนๆเดียวกัน
ผู้เขียนเคยพบกับ ดร. ลอบชัง วังยัล ชาวทิเบตและท่านธูปเท็น ซองโป ลามะชาวอิตาลี ที่มีถิ่นพำนักในเมืองเดลี เมืองหลวงของประเทศอินเดีย เมื่อหลายปีก่อน เคยพบกันช่วงสั้นๆ ขณะที่ ดร.ลอบซัง พึ่งจบปริญญาเอกใหม่ๆ ดร.ลอบซังได้กรุณาเล่าเรื่องพระพุทธศาสนาในทิเบตให้ฟัง เห็นว่าน่าจะป์นประโยชน์ต่อผู้ใฝ่รู้จึงได้นำเสนอดังนี้
ดร. ลอบชัง วังยัล เล่าให้ฟังว่า “ก่อนที่พระพุทธศาสนาจะเข้าสู่ทิเบตประมาณพุทธ ศตวรรษที่ 11 ในรัฐสมัยของกษัตริย์ซองต์เชน กัมโป (พ.ศ. 1151-1193) ทิเบตมีศาสนาอยู่ก่อนแล้ว คือศาสนาบอน (Bon) หรือ บอนโป ซึ่งมีความเชื่อในการถือโชคลางไสยศาสตร์ และเทพเจ้า พิธีกรรมบางอย่างน่ากลัว เพราะต้องมีการสละเลือดเพื่อเซ่นสังเวยแด่เทพเจ้า เหมือนในความเชื่อของทางอินเดียโบราณ” ผู้เขียนแสดงความเห็นแม้แต่ความเชื่อของชาวสยามเอง ก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก
เป็นที่น่าสังเกตว่า “พระพุทธศาสนามักจะเกิดขึ้นและเจริญรุ่งเรืองในประเทศที่เคยนับถือเรื่องโชคลาง ไสยศาสตร์ แม้แต่ในสยามประเทศเองการที่พระพุทธศาสนาอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมินี้ได้ก็เพราะการผสมผสานระหว่างความเชื่อเก่ากับความเชื่อใหม่ การนับถือพระพุทธศาสนาไม่ได้ทำลายความเชื่อเดิม ชาวไทยยังคงสวดมนต์ไหว้พระพร้อมกับประกอบพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ไปด้วย บางแห่งพระสงฆ์กลายเป็นผู้เข้าทรงเสียเอง นี่อาจจะเป็นคุณลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งของพุทธศาสนาคือการผสมผสานแนวคิดเดิมกับความเชื่อใหม่เหมือนกับการต่อกิ่งต้นมะม่วงของชาวสวน ในขณะที่มะม่วงต้นเดิมยังอยู่ แต่มีมะม่วงพันธ์ใหม่เกิดขึ้นที่ต้นมะม่วงต้นเดิม พระพุทธศาสนาในทิเบตก็เช่นเดียวกัน ความเชื่อเก่ายังมีอยู่แต่มีความเชื่อใหม่คือพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น