ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

            ประเทศไทยกำลังประสบภาวะน้ำท่วมอย่างหนักมาหลายอาทิตย์แล้ว จากอีสานน้ำพึ่งลดกำลังกลับคืนสู่สภาวะปกติ แต่น้ำหลากได้ทะลักลงใต้ หลายจังหวัดกำลังประสบปัญหา บางแห่งน้ำท่วมสูงมิดหลังคา ประชาชนคนไทยเดือดร้อนกันทั่วหน้า ถึงแม้จะมีการช่วยเหลือจากทั้งหน่วยงาน องค์กร และประชาชนทั่วไป แต่ก็ยังมองเห็นความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยพิบัติในครั้งนี้ น้ำยังไม่ทันลด แต่ทางภาคเหนือของประเทศกำลังประสบกับความหนาวเย็น ทั้งน้ำท่วมและความหนาวมาเยือนในเวลาพร้อมๆกัน จะชาวยเหลือยังไงก็คงไปไม่ทั่วถึง พระพุทธศาสนามีคำสอนส่วนหนึ่งที่สอนให้มนุษย์สู้หน้ากับความจริง เมื่อเราเลี่ยงไม่ได้ หนีไปไม่พ้นก็ต้องทนสู้กับความจริง วันนี้ขอเชิญอ่าน "คุณลักษณะพิเศษของพระพุทธศาสนา" ซึ่งอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพเขียนไว้นานแล้ว แต่ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับสภาวการณ์ในปัจจุบัน

บทที่ 6
พระพุทธศาสนาสอนให้สู้หน้าความจริงและสอนตรงไปตรงมา
โดย...อาจารย์สุชีพ  ปุญญานุภาพ


             “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาสอนลัดตัดตรงเข้าหาความจริง ให้สู้หน้ากับความจริง เช่นในเรื่องความเกิดแก่เจ็บตาย แล้วให้หาประโยชน์จากความจริงนั้นให้ได้ รวมทั้งสอนอย่างตรงไปตรงมาในเรื่องฤกษ์ยาม น้ำศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น และการสอนให้เป็นเทวดาได้ในชีวิตนี้ โดยไม่ต้องรอให้ตายเสียก่อน โดยชี้ไปที่ความประพฤติปฏิบัติว่าทำคนให้เป็นเทวดาได้”
             การสอนลัดตัดตรงเข้าหาความจริงนั้น กล่าวอีกสำนวนหนึ่ง ก็คือการสอนอย่างตรงไปตรงมา การกล้าพูดความจริงอย่างเปิดเผยนั้นเอง ท่านผู้อ่านที่ได้ผ่านบทที่ว่าด้วยการเลิกแบ่งวรรณะ (บทที่ 4) คงจำได้ว่า พวกพราหมณ์สั่งสอนกันว่า ตนเป็นพวกประเสริฐเกิดจากปากพรหม แต่พระพุทธเจ้ากล้าตรัสตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า พวกพราหมณ์ก็เกิดมาจากมารดาและคลอดออกมาทางช่องคลอด ไฉนจะว่าวิเศษกว่าคนประเภทอื่น ความดีเลวจึงมิใช่อยู่ที่ชาติชั้นวรรณะ หากอยู่ที่การกระทำและความประพฤติต่างหาก
             คราวนี้จึงมาถึงปัญหาเรื่องการพูดความจริง ขึ้นชื่อว่าความจริงแล้ว จะต้องพูดกันอย่างไม่จำกัดอะไรเลยหรือ เพื่อซ้อมความเข้าใจไว้ในเบื้องแรกก่อน จึงจะขอยกหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา อันว่าด้วยการกล่าวความจริงมาเป็นแนวพิจารณาในที่นี้
             1. ในติกนิบาต อังคุตตรนิกาย สุตตันตปิฏก เล่ม 20 หน้า 261 พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนที่ไม่ถูกความโลภ ความคิดประทุษร้าย และความหลงครอบงำ ย่อมเป็นผู้กล่าวถูกกาล (กาลวาที), กล่าวความจริง (ภูตวาที), กล่าวเป็นประโยชน์ (อัตถวาที), กล่าวเป็นธรรม (ธัมมวาที), กล่าวเป็นวินัย (วินัยวาที)
             ในพระพุทธภาษิตนี้แสดงองค์ประกอบในการกล่าวถ้อยคำที่นับว่าดีไว้หลายประการ คือกล่าวถูกกาลไม่ใช่พูดพร่ำเพรื่อ กล่าวความจริง และกล่าวคำเป็นประโยชน์คือ คำจริงที่จะกล่าวนั้นถ้าไม่มีประโยชน์ก็ไม่ควรกล่าวนอกจากจะกล่าวให้ถูกกาล ถูกตามความจริง และมีประโยชน์แล้ว ยังควรให้อิงธรรมอิงวินัยด้วย  ธรรมกับวินัยที่มาคู่กันเช่นนี้ ก็คล้ายกับคำว่าศีลธรรม  ศีลหมายถึงการเว้นความชั่ว ธรรมหมายถึงการประพฤติความดี ธรรมที่มาคู่กับวินัยหมายถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นไปเพื่อปลูกฝังความดี ชำระจิตใจให้สะอาด วินัยหมายถึงการเว้นความชั่ว ทางกายวาจาใจ ตลอดจนจรรยามารยาท  ต่าง ๆ จึงเป็นอันเข้าใจได้ว่า การพูดความจริงนั้นไม่ใช่พูดส่ง ๆ ไปโดยไม่มีความหมาย จะต้องพูดให้ถูกกาลเทศะ อิงประโยชน์อิงธรรม อิงวินัย จึงจะนับว่าเป็นความถูกต้องอย่างสมบูรณ์
             2. อีกแห่งหนึ่งพระพุทธเจ้าตรัสตอบอภัยราชกุมารปรากฏในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ สุตตันตปิฏก เล่ม 13 หน้า 91 ความว่า “ดูก่อนราชกุมาร ! ตถาคตรู้ว่าวาจาใด ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ วาจานั้นจะถูกใจชอบใจคนอื่นหรือไม่ถูกใจก็ตาม ตถาคตก็ไม่กล่าววาจานั้น แต่วาจาใด ตถาคตรู้ว่าเป็นเรื่องจริง เรื่องแท้ ประกอบด้วยประโยชน์ วาจานั้นจะถูกใจชอบใจคนอื่นหรือไม่ก็ตาม ตถาคตย่อมรู้กาลเวลาที่จะกล่าววาจานั้น เพราะมีความอนุเคราะห์ในสัตว์ทั้งหลาย”
             ข้อความที่เก็บมาจากพระสุตตันตปิฏกโดยย่อนี้ แสดงว่า ถ้าถ้อยคำที่จะกล่าวเป็นเรื่องไม่จริง ไม่มีประโยชน์แล้ว จะชอบใจใครหรือไม่ก็ตาม พระพุทธเจ้าไม่ยอมตรัสถ้อยคำนั้น ไม่มีประโยชน์แล้ว จะชอบใจใครหรือไม่ก็ตามพระพุทธเจ้าไม่ยอมตรัสพร่ำเพรื่อ พระองค์จะทรงพิจารณากาลเทศะที่สมควรก่อนแล้วจึงตรัสวาจานั้น ถ้าเป็นกาลเทศะอันสมควรแล้ว แม้บางคนจะไม่ชอบ พระองค์ก็คงตรัสเพราะทรงมุ่งประโยชน์ มุ่งอนุเคราะห์สัตว์เป็นที่ตั้ง เมื่อได้ซ้อมความเข้าใจกันอย่างนี้แล้ว ก็สะดวกที่เราจะได้พิจารณาการแสดงธรรมอย่างตัดตรงเข้าหาความจริงของพระพุทธเจ้าในข้ออื่น ๆ ซึ่งนับได้ว่าเป็นการกล่าวอย่างตรงไปตรงมาต่อไป

การกล้าสู้ความจริงเรื่องเกิดแก่เจ็บตาย
             คนธรรมดาทั่วไป ไม่ค่อยอยากพูดถึงเรื่องชนิดนี้เพราะถือว่าไม่ค่อยเป็นมงคลนัก โดยเฉพาะเรื่องความตายยิ่งไม่อยากพูดถึง ด้วยเกรงจะเป็นลางบ้างเกรงว่าจะทำให้ใจไม่สบายบ้าง ถึงกับประเพณีบางแห่งห้ามพูดเรื่องเหล่านี้ด้วย ถือว่าเป็นอัปมงคล หรือบางคนที่คิดตื้นก็หาความเลยว่า การมองเรื่องแก่เจ็บตายนี้เป็นการมองในแง่ร้าย ทำไม่ไม่พูดหรือไม่มองถึงเรื่องที่จะให้เกิดความสบายใจ ให้รื่นเริงผาสุก จะมานั่งจับเจ่าเศร้าโศก นึกแต่เรื่องทุกข์ ๆ ร้อน ๆ ให้เปลืองเวลาอยู่ทำไม ทั้งเป็นการทำจิตใจให้หดหู่ไปเปล่า ๆ  ความข้อนี้ควรจะได้พิจารณากันโดยรอบคอบ และในทางที่เกิดประโยชน์เป็นประเด็น ๆ ไป
             ถ้าเราจะไม่ยอมพูดเรื่องความแก่ ความเจ็บ ความตาย เพราะเกรงจะเป็นลางหรือเป็นเรื่องอัปมงคลแล้ว พระพุทธศาสนาก็ตอบได้ทันทีว่าศาสนานี้ไม่ถือความจริงเรื่องนี้ว่าเป็นมงคล หรืออัปมงคล หากสอนให้รู้จักความจริงจะได้ไม่ประมาท จะได้หาประโยชน์จากเวลาที่ล่วงไป ๆ นั้นให้ได้มากน้อยตามสมควร ดีกว่าปล่อยให้กาลเวลาล่วงไปเปล่า เพราะใครจะพูดถึงหรือไม่พูดถึง ใครจะกลัวหรือไม่กลัว ก็จะต้องเผชิญหน้ากับความแก่ ความเจ็บและความตายด้วยกันทุกคน แต่คนที่รู้ตัวไว้ก่อนไม่ประมาท ย่อมได้เปรียบที่ได้มีโอกาสบำเพ็ญคุณงามความดีไว้ ตั้งแต่เนิ่น ๆ ไม่ใช่มารู้สึกตัวเอาเมื่อสายแล้ว ข้อที่ลึกซึ้งลงไปกว่านั้น ก็คือเรื่องของความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นเรื่องไม่ดีไม่ถูกใจคน ถ้าเราฉลาดพอเราก็อาจหาประโยชน์จากเรื่องไม่ดีนี้ให้ได้ ดังที่พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตายก็คงจะไม่มีพระพุทธเจ้าขึ้นในโลก ซึ่งกล่าวอีกสำนวนหนึ่งพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายทรงหาประโยชน์อย่างสูงสุดได้จากเรื่องเกิดแก่เจ็บตาย เป็นการหาของไม่เน่าได้จากร่างกายอันมีความเน่าเปื่อยเป็นธรรมดานี้เอง เพราะฉะนั้น จึงเห็นได้ว่าการกล้าสู้หน้ากับความจริงนี้ ไม่ใช่เพราะเก่งกล้าอวดดีอะไร แต่เป็นเพราะต้องการจะหาประโยชน์จากความจริงที่ไม่น่าพอใจนี้ให้ได้ ฉะนั้นจึงไม่น่าถือเป็นลางร้ายหรืออัปมงคล
             ส่วนปัญหาที่ว่าเราเกิดมาในโลกมีเวลาอยู่ไม่นานนักควรจะหาความสุขให้มากที่สุด ไม่ควรจะมาเสียเวลามองอะไรต่ออะไรในแง่ร้ายให้ใจหดหู่ไปเปล่า ๆ คำตอบมีอยู่ว่า การมองเรื่องความเกิดแก่เจ็บตายนี้ ไม่ใช่มองในแง่ร้ายแต่เป็นการมองเพื่อจะให้เกิดแง่ดี เทียบได้กับนายแพทย์ การศึกษาวิชาของแพทย์จะต้องกล้าสู้หน้ากับความจริงเรื่องลักษณะอาการของโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ โดยไม่หดหู่ย่อท้อ เพราะการศึกษาอันนั้นจะเป็นเหตุให้กำจัดโรคภัยไข้เจ็บนั้น ๆ ได้ในที่สุด การดำเนินงานของแพทย์เพื่อความผาสุกสำราญปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และการศึกษาของแพทย์ไม่พึงตำหนิว่ามองในแง่ร้าย แต่ควรชมว่าเป็นการศึกษาเพื่อให้ได้ประสบความสุขฉันใด คำสั่งสอนที่ให้สู้หน้าความจริงเรื่องความเกิดแก่เจ็บตายในพระพุทธศาสนาก็ฉันนั้น เป็นการสอนเพื่อให้เอาชนะความเกิดแก่เจ็บตายได้ เป็นการกล้าสู่หน้ากับความจริงเพื่อจะค้นต่อไปว่า สิ่งนี้เกิดขึ้นจากอะไร จะมีวิธีปฏิบัติอย่างไรเพื่อกำจัดต้นเหตุนั้นๆ จริงอยู่การหาความสุขสำราญโดยไม่ยอมคิดถึงความจริงอื่นๆ อาจจะสบายได้พักหนึ่ง แต่จะเข้าทำนองคนที่ไม่อยากเรียนหนังสือหรือทำมาหากิน เพราะเกรงเสียเวลาและลำบากเปล่า ๆ สู้นั่ง ๆ นอน ๆ หาความสบายไม่ได้ คนประเภทนี้อาจหาความสบายได้จริง แต่ในที่สุดจะต้องเดือดร้อน อันเข้าสุภาษิตไทยว่า “ใครใฝ่ร้อนจะนอนเย็น ใครใฝ่เย็นจะดิ้นตาย  คนที่ลำบากไว้ก่อนจะนอนสบาย คนที่ไม่ยอมลำบากเลยจะต้องดิ้นตายในภายหลัง” นี่เป็นคติเตือนใจอย่างดียิ่ง อีกอย่างหนึ่งความหมายของคำว่ามองแง่ร้าย หรือทุนิยม (Pessimism) นั้น หมายความว่า มองไม่เห็นทางแก้ดูอะไรต่ออะไรเป็นเรื่องแย่ไปหมด แต่การสู้หน้ากับความจริง ในพระพุทธศาสนาเป็นการมองอย่างหาทางแก้ไว้ด้วย เพื่อความสุขสมบูรณ์ในที่สุด จึงเห็นได้ชัดว่า มิใช่เป็นการมองในแง่ร้าย แต่เป็นการศึกษาให้รู้จักความจริงเพื่อหาประโยชน์แห่งชีวิตจากเรื่องที่มองให้ได้เท่านั้น เหตุนี้ การที่บางท่านอธิบายหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาว่าเป็นสายกลางไม่ใช่ สุนิยม (Optimism) ไม่ใช่ทุนิยม (Pessimism) คือไม่ใช่ทั้งมองในแง่ดี ไม่ใช่ทั้งมองในแง่ร้าย จึงนับว่าเป็นคำอธิบายที่ถูกต้องและเป็นเรื่องที่พุทธศาสนิกชนเองควรทำความเข้าใจให้ดี เพื่อประโยชน์ในการรู้ความมุ่งหมายและเนื้อหาคำสั่งสอนในศาสนาของตนเอง

คำสอนเรื่องฤกษ์ยาม
             พระพุทธเจ้าทรงกล้าประกาศอย่างตรงไปตรงมาถึงหลักคำสอน เรื่องฤกษ์ยาม เช่นที่ตรัสว่า 
             1. คนเขลามัวถือฤกษ์ยามอยู่ ประโยชน์ย่อมล่วงเลยไป ประโยชน์เป็นตัวฤกษ์ของประโยชน์ ดาวทั้งหลายจักทำอะไรได้ : พระสุตตันตปิฏก เล่ม 27 หน้า 61
             2. สัตว์ประพฤติสุจริตกายวาจาใจในเวลาเช้า เช้าวันนั้นย่อมเป็นเช้าที่ดีของสัตว์เหล่านั้น ประพฤติสุจริตกาย วาจา ใจในเวลาเที่ยง เที่ยงวันนั้นย่อมเป็นเที่ยงที่ดีของสัตว์เหล่านั้น ประพฤติสุจริตกาย วาจา ใจในเวลาเย็น เย็นวันนั้นย่อมเป็นเย็นที่ดีของสัตว์เหล่านั้น : พระสุตตันตปิฏก เล่ม 20 หน้า 178
             พูดอย่างตรงไปตรงมาว่า ถ้ากล่าวตามหลักพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ไม่ต้องหาฤกษ์ ถือความสุจริต ความสะดวกเป็นเกณฑ์ก็แล้วกัน แต่ก็ไม่จำเป็นต้องทะเลาะกับคนอื่นที่เขายังอยากจะหาฤกษ์ของเขา ปัญหาขึ้นอยู่ที่ว่าใครจะมีใจเข้มแข็งแค่ไหน ถ้าใจเข้มแข็งแล้วก็เลิกถือจุกจิกหรือฤกษ์ยามได้
             คนบางคนเมื่ออายุยังน้อย อ่านหนังสือปฏิทินพกประจำปี ซึ่งมีผู้แต่งโคลงเรื่องตัดเล็บตัดผมไว้ ห้ามตัดวันนั้นให้ตัดวันนี้ ท่องจำได้ขึ้นปาก มาภายหลังได้ลองตัดในวันที่ห้ามดูเพื่อฝืนใจให้กล้าสลัดความเชื่อถือโชคลาง เมื่อฝืน ๆ ไปก็เกิดความสบายใจที่จะตัดเล็บตัดผมได้ในโอกาสที่ว่าง ไม่ต้องเลือกว่าเป็นวันไหน ทำให้วันเวลาใน 1 สัปดาห์ ไม่กลายเป็นอัมพาตไป บางวันสำหรับเว้นการทำนั่นทำนี่
             ในการกล่าวอย่างตรงไปตรงมาเช่นนี้ ผู้เคร่งทางถือฤกษ์อาจไม่ชอบ แต่ข้าพเจ้าเห็นมีทางประนีประนอมกันได้ กล่าวคือพระพุทธศาสนานั้นมีข้อปฏิบัติหลายชั้นถ้าปฏิบัติได้แค่ไหน ก็ถือว่าเป็นการกระทำตามความเหมาะสมแก่จริตอัธยาศัย คือยังอยากถือฤกษ์ยามอยู่ และในขณะเดียวกันก็จะทำคุณงามความดีหรือทำบุญกุศล ดังนี้ก็หาได้ทำให้ท่านกลายเป็นคนผิด คนเสียอะไรไม่ ยกเว้นไม่ได้ก็เชิญถือต่อไป ถ้าใจแข็งพอก็จะเว้นได้เองในภายหลัง เพราะไม่ใช่เรื่องนี้เท่านั้น ยังมีเรื่องอื่นอีกถมไปที่พระพุทธศาสนาว่าไม่ดี แล้วเราก็ยังละไม่ได้ เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความถือ เราถือเขาเป็นต้น ข้อสำคัญเมื่อละไม่ได้ก็อย่าไปเหมาเอาว่า พระพุทธศาสนาสอนให้มีโลภ โกรธ หลง ก็ใช้ได้แล้ว พระพุทธเจ้าทรงทราบดีว่า จะเกณฑ์ให้คนทุกคนมีจิตใจเหมือนกันหมด มีความประพฤติทางกาย วาจา อย่างเดียวกันหมดนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ ความจริงการตั้งพระพุทธศาสนาก็ไม่ใช่เพื่อคนที่วิเศษแล้ว เพราะถ้าคนทั้งหลายประเสริฐวิเศษไปหมดแล้ว ดูก็ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องตั้งศาสนา แต่เพราะเหตุที่ยังมีคนหลายชนิดหลายประเภทซึ่งเป็นคนยังมีกิเลสธรรมดาสามัญ ไม่ใช่ผู้วิเศษมาจากไหนนี้เอง จึงได้มีพระพุทธศาสนาขึ้น และก็เป็นธรรมดาของการสอนที่ต้องขึงเชือกหรือตั้งขีดขั้นไว้ ตั้งแต่อย่างต่ำจนถึงอย่างสูง เริ่มต้นทีเดียวเราจะเอาอย่างสูงมาเป็นแนวตัดสิน ก็อาจจะยังไม่ได้ผลดี เพราะฉะนั้นในปัญหาเรื่องฤกษ์ยามนี้ ถ้าท่านจะถือก็ไม่ทำให้เสียหายหรือตกนรกหรือชื่อว่าทำบาปทุจริตอันใด แต่ถ้าท่านใจกล้า ท่านจะลองหัดไม่ถือดูบ้างก็จะสบายใจดีไม่น้อย
             ในการนี้อาจมีบางท่านยังติดใจที่จะสนับสนุนเรื่องฤกษ์ยามอยู่ โดยให้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ว่า ดวงดาวในท้องฟ้าย่อมมีส่วนสัมพันธ์กับมนุษย์และโลกเราอยู่ไม่น้อย เช่น ดวงจันทร์เกี่ยวข้องกับน้ำขึ้นน้ำลง และเกี่ยวโยงถึงการมีระดูของสตรี ธาตุต่าง ๆ ในดวงดาวย่อมมีส่วนสัมพันธ์กับธาตุต่าง ๆ ในโลกเรา และในร่างกายมนุษย์ จุดดับในดวงอาทิตย์ที่เรียกว่า Sun Spot ย่อมทำให้เกิดพายุแม่เหล็กในโลกเรา เป็นอุปสรรคแก่การส่งวิทยุกระจายเสียงเป็นต้น ฉะนั้น อิทธิพลของดวงดาวจึงน่าจะมีอยู่โดยแท้ เมื่อเป็นเช่นนี้การถือฤกษ์ยามจะว่าไร้เหตุผลเสียทีเดียวก็ไม่เชิง น่าจะมีอะไรที่พิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์อยู่เหมือนกัน
             เรื่องนี้ถ้าจะตอบตามหลักพระพุทธศาสนา ก็ตอบได้ว่าจุดที่เพ่งเล็งนั้นต่างกัน พระพุทธศาสนาต้องการให้ทำคุณงามความดี โดยไม่ต้องให้ชื่อว่าดีเพราะอาศัยเหตุภายนอกคือฤกษ์ยาม หากให้ทำดีที่กาย วาจา ใจของตนหรือให้สร้างคุณงามความดีขึ้นเป็นพื้นฐาน เพื่อให้สิ่งอื่น ๆ ถูกจูงให้ดีไปตาม ยกตัวอย่างเช่น พระพุทธเจ้าทรงประกอบคุณงามความดีอย่างเต็มที่ แม้สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานของพระองค์ก็กลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ วันประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานคือวันวิสาขบูชา ก็กลายเป็นวันสำคัญของโลก ก้อนดิน ท่อนไม้ โลหะ หรือของอื่น ๆ ที่นำมาปั้นแกะสลักหล่อหลอมเป็นพระพุทธรูปก็กลายเป็นของควรแก่การกราบไหว้บูชา ถามว่าอะไรจูงอะไร ตอบว่าคุณงามความดีจูงให้ทุก ๆ อย่างดีไปหมด ถ้าเอาคุณงามความดีออกเสียอย่างเดียว อย่างอื่น ๆ ก็พลอยหมดความหมายไปด้วย คราวนี้ถ้าเราจะลองเอาฤกษ์วิสาขะที่พระองค์ประสูติมาจูงอย่างอื่น ๆ บ้างจะได้หรือไม่ ปรากฏในตำนานว่าคนที่เกิดวันเดียวกับพระพุทธเจ้านั้นมีหลายคนเราก็คงเห็นแล้วฤกษ์วิสาขะจูงไม่สำเร็จที่จะให้เป็นพระพุทธเจ้าได้ทุกคน หรือเพื่อความยุติธรรม เราอาจกล่าวตามเหตุผลทางโหราศาสตร์ได้ว่า คนเกิดฤกษ์เดียวกันวันเดียวกันแต่ต่างเวลากันเพียงเล็กน้อย ก็ต่างกันได้ แต่เมื่อย้อนถามกันอย่างตรงไปตรงมาว่าแน่หรือที่ว่า ฤกษ์สร้างความดีให้คน สร้างความสำเร็จต่าง ๆ ให้ ก็คงจะยอมรับกันว่า ยังไม่แน่เหมือนหลักพระพุทธศาสนาที่ว่าความดี ความชั่ว หรือกรรมที่ทำนั้นย่อมปรุงแต่งคนให้ดีเลวต่างกัน
             ด้วยเหตุนี้เองเราจึงพิจารณาเรื่อง พรหมลิขิต ของพราหมณ์เทียบกรรมลิขิต ของพระพุทธศาสนาได้ชัดเจนขึ้น คือพราหมณ์ถือว่า ใครจะดีจะชั่ว พระพรหมผู้สร้างโลกได้ลิขิตไว้เสร็จแล้วที่หน้าผาก  ไม่มีใครแก้ได้ นอกจากพระพรหมเอง ส่วนพระพุทธศาสนาถือว่าความดี ความชั่วที่เราทำ ซึ่งเรียกว่ากรรมดีกรรมชั่วนี้แหละที่ลิขิตชีวิตของเรา แต่เพราะเราทำไว้หลายอย่างต่าง ๆ กัน บางทีก็ดี บางทีก็ชั่ว ผลที่ได้รับจึงไม่เหมือนกัน และบางครั้งก็สลับซับซ้อนจนเหลือที่จะสาวหาเบื้องต้นและที่สุดได้ เมื่อพิจารณากันถึงรากฐานชั้นใน คือกรรมดีกรรมชั่วของคนแล้ว ผู้เรียนโหราศาสตร์บางคนก็อธิบายว่า ดวงดาวหรือท้องฟ้าเป็นคล้ายแผนที่ ซึ่งแสดงให้เห็นวิถีชีวิตของคนเราต่าง ๆ กัน คนที่ทำกรรมดีก็เกิดมาโดยมีแผนที่ท้องฟ้าบอกไว้ว่าจะได้ดี คนที่ทำกรรมชั่วแผนที่ก็บอกไว้ว่าจะได้รับผลชั่ว เป็นการอธิบายโหราศาสตร์ให้มาสมคล้อยกับหลักทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วอีกต่อหนึ่ง คือยอมรับว่าความดีความชั่วจูงสิ่งอื่น ๆ รวมทั้งกำหนด ให้คนหรือสัตว์เกิดในขณะที่ดวงดาวอยู่ในลักษณะดีหรือชั่ว ไม่ใช่ดวงดาวบังคับคนให้ดีชั่ว หรือในตัวอย่างอื่นอีก กรรมดีกรรมชั่วนั้นเอง จูงให้คนไปเกิดในที่ที่มีความสุข ความเจริญ ให้มีสิ่งแวดล้อมดีงาม เรื่องของดวงดาวเป็นเพียงแผนที่อ่านกรรมดีกรรมชั่วของคนเท่านั้น
             อย่างไรก็ตามผู้เขียนขอย้ำในที่นี้ว่า ทางพระพุทธศาสนาต้องการปลูกฝังดีใน คือดีที่ตัวคน ไม่ใช่ให้ไปติดที่ ดีนอก เช่น ที่ดวงดาว เพราะดีในเป็นดียั่งยืนและตรงไปตรงมา ส่วนดีนอกยังเป็นที่น่าสงสัย เช่น นาย ก. สอบไล่ได้ เพราะขณะสอบฤกษ์ดี, กับนาย ข. สอบไล่ได้เพราะมีความรู้ ความสามารถ เราก็คงเห็นแล้วรากฐานของคนสองคนนี้ไกลกันมาก คนที่สอบได้เพราะฤกษ์ดี (สมมติว่ามี) นั้น เราจะหวังเอาความรู้ความสามารถที่เป็นสาระอะไรไม่ได้เลย แต่คนที่สอบได้เพราะมีความรู้ ความสามารถ ย่อมเป็นผู้มีรากฐานมั่นคงมาก และเป็นที่พึ่งประสงค์ยิ่งกว่าโดยแท้
             อาจมีปัญหาเกิดขึ้นอีกข้อหนึ่งที่ว่า ทางพระพุทธศาสนาไม่สอนให้เชื่อถือโชคลางหรือฤกษ์ยาม แต่เหตุไฉนกำหนดกาลต่าง ๆ ทางพระพุทธศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วิสาขบูชา และเข้าพรรษา จึงเนื่องด้วยดวงฤกษ์ทั้งสิ้น กล่าวคือวันมาฆบูชา กำหนดในวันที่พระจันทร์เต็มดวงโคจรผ่านกลุ่มดาวฤกษ์ชื่อมฆา วันวิสาขบูชากำหนดในวันที่พระจันทร์เต็มดวงโคจรผ่านกลุ่มดาวฤกษ์ชื่อวิสาขา และวันเข้าพรรษากำหนดเมื่อพระจันทร์เต็มดวงโคจรผ่านกลุ่มดาวฤกษ์ชื่ออาสาฬหา ล่วงแล้ววันหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้จะว่าพระพุทธศาสนาไม่เกี่ยวข้องกับฤกษ์ยามอย่างไร (กลุ่มดาวฤกษ์ชื่อ มฆา มี 5 ดวง มีลักษณะคล้ายงูผู้ ชื่อวิสาขะมี 3 ดวงมีลักษณะคล้ายคันฉัตรหรือแขนนาง, ชื่ออาสาฬหะ มี 3 ดวงมีลักษณะคล้ายสัปคับช้าง ชื่อทั้ง 3 นี้เป็นอิตถีลิงค์  เป็นชื่อกลุ่มดาว ถ้าเป็นชื่อเดือนก็เป็นมาฆะ,เวสาขะและอาสาฬหะ)
             ปัญหานี้ ถ้ารู้เรื่องวิธีนับวันเดือนปีของอินเดียโบราณแล้วก็จะเข้าใจได้ชัดขึ้นว่า กำหนดกาลทางพุทธศาสนานั้นเป็นไปตามปฏิทินโบราณนั่นเอง กล่าวคือ ปฏิทินของอินเดียโบราณ ไม่มีการพิมพ์เป็นเล่มเป็นแผ่นดังทุกวันนี้ แต่ใช้ท้องฟ้าทั้งฟ้าเป็นแผ่นปฏิทิน วิธีนับวันกำหนดด้วยดวงจันทร์ข้างขึ้น ข้างแรมเป็นขึ้นกี่ค่ำ แรมกี่ค่ำ วิธีกำหนดเดือนและเรียกชื่อเดือนใช้วันพระจันทร์เต็มดวงเป็นหลัก พระจันทร์เต็มดวงในเดือนไหน ผ่านกลุ่มดาวอะไร ก็เรียกชื่อเดือนตามกลุ่มดาวนั้น เช่น พระจันทร์เต็มดวงผ่านกลุ่มดาวชื่อมาฆะก็เรียกเดือนนั้นว่า มาฆะ พระจันทร์เต็มดวงโคจรผ่านกลุ่มดาวชื่อวิสาขะ ก็เรียกเดือนนั้นว่าวิสาขะ ส่วนวันเข้าพรรษากำหนดตามฤดูที่แบ่งออกเป็น 3 คือ ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 4 ถึงวันกลางเดือน 8 (รวม 4 เดือน) ฤดูฝนกำหนดตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึง วันกลางเดือน 12 (รวม 4 เดือน) และฤดูหนาวกำหนดตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 12 ถึงวันกลางเดือน 4 (4 เดือนเช่นเดียวกัน) การจะรู้กำหนดดังกล่าวก็ต้องดูท้องฟ้าซึ่งเป็นแผ่นปฏิทินใหญ่ ว่าดวงจันทร์โคจรไปถึงไหนผ่านกลุ่มดาวอะไร ก็กำหนดฤดูเดือนวันได้ ตกลงวันมาฆบูชา    วิสาขบูชาและเข้าพรรษา ไม่ใช่เอาดีกันที่ตรงฤกษ์นั้น ๆ แต่อาศัยดาวฤกษ์ 27 กลุ่ม กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เป็นเครื่องกำหนดปฏิทินเท่านั้น
             ความจริงหลัก 3 ประการ ในการกำหนดเดือน คือ 1. พระจันทร์เต็มดวง  2. โคจรผ่านกลุ่มดาวฤกษ์ที่เป็นชื่อของเดือน 3 ดิถีนั้นต้องเป็นดิถีที่ 15 นับแต่วันขึ้น 1 ค่ำมา เราจะเห็นได้ว่าข้อกำหนดทั้ง 3 นี้ มีคลาดเคลื่อนกันอยู่เสมอ เช่น พระจันทร์เต็มดวง แต่ยังไม่เสวยฤกษ์นั้นยังขาดไปอีก 1 ฤกษ์ หรือดิถีคลาดเคลื่อนไปวัน 1 แต่รวมความแล้ว ก็ถือเอาถูกส่วนมากเป็นประมาณ ผู้ที่รู้จักถือเอาประโยชน์ ก็เพ่งเพียงพอกำหนดเป็นปฏิทินได้ ส่วนผู้เข้าใจผิดก็นึกว่าเป็นเรื่องถือฤกษ์ยาม เพราะเห็นข้อกำหนดว่า พระจันทร์เต็มดวงเข้าฤกษ์นั้นฤกษ์นี้แล้วหรือยังกลายเป็นจะเอาดีกันทั้งตรงดาวฤกษ์ซึ่งกลายเป็นเรื่องวุ่นวายไป ในครั้งพุทธกาลเองพระพุทธเจ้าก็ทรงทราบดีว่าการใช้ท้องฟ้าเป็นปฏิทินนั้นอาจจมีความเห็นแตกต่างกันได้บ้าง ในวินัยปิฏกพระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งข้อกำหนดไว้ ในเรื่องวันอุโบสถ วันปวารณาว่า ถ้าความเห็นไม่ตรงกัน ระหว่างพระสงฆ์ฝ่ายอาคันตุกะ (ผู้มาอาศัยพัก) กับพระสงฆ์ฝ่ายเจ้าถิ่น ให้ถือเสียงของพระสงฆ์เจ้าถิ่นเป็นประมาณดังนี้เป็นต้น พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงวุ่นวายในเรื่องฤกษ์ยามอะไรเลย เมื่อเป็นเช่นนี้จึงควรทราบว่าดาวฤกษ์ที่เกี่ยวข้องเข้ามาในพระพุทธศาสนานั้น เพียงสำหรับกำหนดวันเดือนปีเท่านั้น วิธีการคิดปฏิทินแบบนี้มีทั่วไปแม้ในปฏิทินยิว ปฏิทินจีน เรียกว่า ปฏิทินจันทรคติ (Lunar Calendar) คือคิดตามวิถีโคจรของดวงจันทร์ ในสมัยปัจจุบันกำหนดปฏิทินตามวิถีโคจรของดวงอาทิตย์ จึงเรียกว่าปฏิทินตามวิถีโคจรของดวงอาทิตย์ จึงเรียกว่าปฏิทินสุริยคติ (Solar Calendar)
             ผู้เขียนขอกล่าวใจความสำคัญในเรื่องฤกษ์ยามตามคติทางพระพุทธศาสนาโดยย่อเพื่อเป็นแนวทำความเข้าใจกันดังนี้ :-
             1. ทางพระพุทธศาสนาไม่ถือฤกษ์ยามเป็นสำคัญแต่ถือคุณงามความดีเป็นสำคัญ ถ้าทำคุณงามความดีในวันเวลาใด วันเวลานั้นก็กลายเป็นฤกษ์งามยามดีไป
             2. ทางพระพุทธศาสนาไม่ถือว่าฤกษ์งามยามดีเป็นตัวจูงให้เกิดความดีงามหรือความสำเร็จผล แต่ถือว่าตัวคุณงามความดีเป็นตัวจูงให้เกิดความสำเร็จผล รวมทั้งจูงให้เกิดฤกษ์ดีด้วย ยกตัวอย่าง ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงทำคุณงามความดีไว้ แม้จะประสูติวันวิสาขะวันนั้นก็ไม่มีความหมายอะไร แต่เพราะพระองค์ทรงทำคุณงามความดีไว้ ทุกสิ่งที่เนื่องด้วยพระองค์เช่นวัน เดือนปี ก้อนดินท่อนไม้หรือโลหะที่นำมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูปก็เลยพลอยเป็นของมีค่าไปด้วย จึงนับได้ว่าคุณงามความดีเป็นตัวจูงสิ่งอื่น ๆ ให้ดีตาม
             3. ในบางครั้งทางพระพุทธศาสนามีกำหนดกาลเวลาเนื่องด้วยดาวฤกษ์ ก็ไม่ใช่เพราะคิดในเรื่องฤกษ์งามยามดี แต่เป็นการอาศัยดาวฤกษ์เป็นปฏิทินตามวิธีการคำนวณของอินเดียโบราณเท่านั้น วันเดือนปีตามกำหนดนั้น มิได้ขลังหรือศักดิ์สิทธิ์อะไรขึ้นมาเลย สำคัญที่คนผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบต่างหาก ที่จะทำให้วันเดือนปีพลอยมีความหมายไปด้วย
             จากข้อสรุป 3 ข้อนี้ เชื่อว่าจะทำให้ท่านผู้อ่านเข้าใจความตรงไปตรงมาของพระพุทธศาสนามากขึ้น ว่าในศาสนานี้ทำได้สอนแฝงความลึกลับอะไรไว้เลย เป็นเรื่องคิดได้ หาเหตุผลได้ อย่างตรงไปตรงมาทั้งสิ้น และข้อเสนอนี้อาจทำให้ท่านผู้ที่เข้าใจว่า เรื่องกำหนดกาลพระพุทธศาสนาเป็นการติดฤกษ์ยาม ได้โปรดเข้าใจให้ถูกต้องต่อไปด้วย เพื่อพิจารณาว่า แท้จริงพระพุทธเจ้าทรงมุ่งการปฏิบัติมากกว่าการเถียงกันเรื่องวัน เดือน ปีอันเคยมีข้อเถียงกันมาแล้วแม้ในครั้งพุทธกาล
             มีข้อควรกล่าวไว้ก่อนจะผ่านเรื่องนี้ไปอีกเล็กน้อยก็คือสำหรับท่านที่ยังติดในเรื่องฤกษ์ยาม ท่านอาจรู้สึกว่า เรื่องนี้ออกจะขัดใจท่านอยู่บ้าง ก็ขอได้โปรดเข้าใจด้วยว่า ถ้าท่านยังทิ้งไม่ได้ก็โปรดถือของท่านตามสบายต่อไป เพราะไม่เป็นบาปตกนรกอะไร และไม่ทำให้ท่านเสียหายอะไรเป็นแต่อย่าถือจนเป็นเหตุให้ตัวท่านเอง เดือดร้อน หรือเป็นเหตุเสียการเสียงาน แต่ถ้าท่านจะหัดผ่อนคลายการถือลงทีละเล็กละน้อย และหัดใจให้เข้มแข็งขึ้นถึงกับไม่ถือได้เลยในที่สุด ก็หมายความว่าท่านได้ปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนาโดยสมบูรณ์แล้วในเรื่องนี้ ข้อสำคัญให้ถือคุณงามความดีเป็นหลักเกณฑ์เป็นแนวทางปฏิบัติจริง ๆ ก็จะทำให้จิตใจสบายและเป็นทางสร้างความเจริญได้อย่างถูกตรงตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา การปฏิบัติตามคำสอนในพระพุทธศาสนา ผู้เขียนได้กล่าวแล้วว่ามีหลายชั้น พุทธศาสนิกจึงเลือกปฏิบัติได้ตามความสามารถหรือความสะดวกใจ

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก