กำลังสนใจปรัชญาของนิทเช่พอดีได้พบกับอาจรย์ดร.สมบูรณ์ วัฒนะ ซึ่งจบปริญญเอกทางด้านปรัชญาโดยตรง และเว็บมาสเตอร์ไซเบอร์วนารามเคยเรียนวิชาปรัชญากับท่านอาจารย์ ท่านบอกว่าเคยเขียนลงในบล็อคเผยแผ่ไปแล้ว อนุญาตให้นำมาเผยแผ่ได้ เมื่อเข้าไปอ่านแล้วได้ความรู้ทางด้านปรัชญาอัตถิภาวนิยมไปด้วย นิทเช่นั้นนอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นนักปรัชญายุคแรกๆที่กล่าวถึงปรัชญาหลังนวยุคนิยมแล้ว ยังได้ชื่อว่าเป็นนักปรัชญาอัตถิภาวนิยมด้วย ผู้ที่สนใจปรัชญาสายนี้สามารถหาคำตอบได้ในบทความนี้
ปรัชญาอัตถิภาวนิยมของฟรีดริค นิตเช่
รวบรวมเรียบเรียงโดย ดร. สมบูรณ์ วัฒนะ
นำเรื่อง
. ไฟรดริกซ์ นิตเช่ ( Friedrich Nietzsche, 1844-1900) เป็นนักวรรณคดีและนักปรัชญาชาวเยอรมัน แนวความคิดเรื่อง อภิมนุษย์ (Superman) ได้มีอิทธิพลต่ออัตถิภาวนิยมพอสมควรทีเดียว หลักการอภิมนุษย์ คือ ผู้ที่มีบุคลิกภาพแข็งแกร่งย่อมมีแนวทางแห่งชีวิตเป็นของตนเอง โดยมุ่งไปสู่ความเป็นอภิมนุษย์ การเดินตามประเพณีเป็นวิธีเลี่ยงความรับผิดชอบ เป็นวิธีการแห่งชีวิตของคนอ่อนแอ พวกนี้ไม่มีโอกาสจะก้าวหน้าขึ้นสู่ความเป็นอภิมนุษย์ แต่อาจจะเป็นเครื่องมือของคนที่มีบุคลิกภาพแข็งแกร่ง นิตเช่ปฏิเสธความสำคัญของการสร้างปรัชญาที่เป็นระบบ แต่ให้ความสำคัญแก่ปรัชญาชีวิต ชีวิตที่มีค่าคือชีวิตที่พัฒนาความแข็งแกร่งและความพร้อมที่จะเผชิญกับความเจ็บปวดของชีวิตอันเนื่องมาจากความมีอยู่ของตนอย่างกล้าหาญและเป็นจริง มิใช่การพยายามโบยบินเข้าสู่โลกแห่งจินตนาการซึ่งให้ความอบอุ่นและมั่นคง เช่น การดำเนินชีวิตตามประเพณีและสังคม บุคคลที่แข็งแกร่งและมีความกล้าหาญที่จะเผชิญกับความเป็นจริงดังกล่าวคือ ผู้กำลังมุ่งไปสู่ความเป็นอภิมนุษย์
นิตเช่ ได้สมญาว่าเป็น นักปรัชญาวัฒนธรรม (Philosopher of culture) เพราะได้เสนอความคิดใหม่ๆ ไว้มากมายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วรรคดี ดนตรี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับวัฒนธรรมกรีก แนวคิดของท่านได้มีนักคิดรุ่นต่อมานำไปสนับสนุนความคิดของตนเองมากมายหลายแบบ จนยากที่จะกำหนดว่าระบบแห่งแนวคิดใดเป็นของนิตเช่จริงๆ และจริงๆ แล้วนิตเช่ก็ไม่เคยเสนอความคิดอย่างเป็นระบบไม่เคยประกาศว่า ต้องการให้แนวความคิดของตนเป็นไปในรูปใดโดยเฉพาะ ด้วยสาเหตุที่ว่าแล้วแต่ใครจะนำแนวความคิดของนิตเช่ไปขยายความ และสนับสนุนแนวคิดของตน จึงทำให้แนวคิดของนิตเช่มีอิทธิพลได้อย่างกว้างขวาง ลัทธิปรัชญาของนิตเช่ ได้รับขนานนามว่า “ลัทธิเจตจำนงนิยม” (Voluntaianism) จากนักประวัติปรัชญาเพียงเพราะนิตเช่เชื่อในพลังอันหนึ่งคือพลังผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายในเอกภพว่า “เจตจำนงที่จะมีอำนาจ” (Will –To- Power)
นิตเช่ ได้เสนอแนวคิดที่ทำให้ชาวโลกต้องตกตลึง เมื่อ เขาได้เสนอแนวคิดปรัชญาผ่านทางประสบการณ์ชีวิต เงื่อนไข ปัจจัยต่าง ๆ ของการดำเนินชีวิตของมนุษย์ เป็นที่ทราบกันดีว่า นิตเช่นั้นได้อุทิศชีวิตในการขบคิดปัญหาแห่งชีวิตและเพื่อแก้ไขปัญหาชีวิตมนุษย์ นิตเช่ได้สำนึกว่าชีวิตมนุษย์มันสลับซับซ้อน และมนุษย์ไม่เคยมีใครเข้าใจเลย ไม่เหมือนกับชีวิตของสัตว์ทั่ว ๆ ไป ซึ่งอยู่ในกรอบของธรรมชาติอย่างชัดเจน เราสามารถสังเกตเข้าใจพฤติกรรมของสัตว์ได้ แต่มนุษย์ไม่สามารถเข้าใจกันเองได้เลย ที่เป็นดังนั้น เพราะมนุษย์ได้พยายามมีอิสระจากกรอบของธรรมชาติ
นิตเช่ มีชีวิตโดดเดี่ยว เพราะว่าเขาได้แยกตัวออกจากสังคมมนุษย์ทั่ว ๆ ไป ถ้าเปรียบเทียบนิตเช่กับคีร์เคกอร์ด ดูเหมือนว่า คีร์เคกอร์ดจะคล้ายดวงวิญญาณระดับเดียวกับชาวโลกมากกว่า เพราะท่านคีร์เคกอร์ดได้ผังรกรากไว้อย่างมั่นคงที่บ้านเกิดของท่าน ถึงแม้ว่าคีร์เคกอร์ดจะไม่ได้สนิทชิดเชื้อประสาเพื่อนฝูงกับผู้คนทั้งหลาย ท่านก็รักบ้านเกิดของท่าน โคเปนเฮเกน คือบ้านเกิดของท่าน นิตเช่เป็นคนไร้บ้าน ชีวิตระเหเร่ร่อนไปเรื่อย เกิดที่ ปรัสเซีย ใช้ชีวิตในเยอรมัน เดนมาร์ค ฯลฯ ชีวิตของนิตเช่ เป็นชีวิตที่ช่วยตักเตือนสติมนุษย์สมัยใหม่ เนื่องจากสมัยใหม่ถูกฉุดดึงโดยพลังแห่งยักษ์ไททัน คือ ความชั่วร้ายจากอำนาจกิเลส ตัณหา ซึ่งมีอยู่ในตัวของมนุษย์เอง คำถามที่สำคัญสำหรับมนุษย์ คือ คำถามเกี่ยวกับการมีชีวิตอยู่ การตาย เพื่อที่ว่ามนุษย์จะได้จัดการกับชีวิตของตนเองอีกครั้ง ในการติดต่อสัมพันธ์กับชีวิตในชีวิตก่อนๆ เมื่อเขาได้ตายจากชาติปัจจุบัน ว่ากันว่า ชีวิตนิตเช่ได้รับความมัวหมองจากลัทธินิทเซียนของพวกนาซี เยอรมัน โชคชะตาชีวิตของนิตเช่ เป็นตอนที่สำคัญตอนหนึ่งในประวัติศาสตร์แห่งความพยายามของมนุษย์เพื่อที่จะรู้จักตัวเอง
นิตเช่ เสนอปัญหาปรัชญาในแนวทางเดียวกันกับคีร์เคกอร์ด นิตเช่ได้เขียนหนังสือไว้หลายเล่มเพื่ออธิบายจุดยืนทางปรัชญาของตนเอง แต่ถึงกระนั้นก็ไม่มีเล่มไหนที่เสนอแนวคิดของท่านได้อย่างชัดแจ้ง และเป็นระบบ แต่ผลงานของท่านก็ได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม ปรัชญาของท่านไม่มีระบบเพราะท่านก็ไม่ต้องการให้เป็นระบบ นิตเช่ยืนยันว่า ประโยคข้อความของปรัชญาจักต้องมีความเป็นตัวของตัวเองในแง่ของความหมาย โดยไม่ต้องพึ่งพาระบบ นิตเช่เห็นว่า ระบบมาจากหลักฐานบางอย่างซึ่งตัวมันเองก็ยังไม่ได้ถูกตรวจสอบ ดังนั้น มันเป็นหน้าที่ของปรัชญาที่จะต้องตั้งคำถามต่อทุก ๆ ข้อสมมติฐานและทุก ๆ สิ่งที่ประสบ นิตเช่พูดว่า “ข้าพเจ้าขอต่อต้านการตั้งหลักฐานด้วยหลักเกณฑ์ที่ไม่มีการพิสูจน์เหล่านี้ ซึ่งพิจารณาว่า อาจเป็นอันตราย” ระบบไม่ใช่อะไรอื่นแต่เป็นการขออภัยที่จะหยุดการตั้งคำถามในบางจุด นิตเช่ปฏิเสธระบบเพราะท่านต้องการเห็นทางเลือกหลายๆ ทาง นิตเช่มีความคิดเหมือนคีร์เคกอร์ดที่ว่า ทั้งสองท่านไม่พอใจกับการทำปรัชญาให้เป็นระบบ และท่านทั้งสองแตกต่างกันตรงที่ว่า นิตเช่ เห็นว่า ระบบไม่ได้ให้ความจริงเลย แต่คีร์เคกอร์ดเห็นว่า ระบบให้ความจริงเชิงปรวิสัย (Objective Truth) ซึ่งไม่เป็นรูปธรรมเหมือนความจริงแบบสกวิสัย(Subjective Truth) นิตเช่เห็นว่าระบบไม่ได้ละเลยความสำคัญของปัจเจกชน แต่ว่ามันละเลยความจริง โดยที่มันละเลยการตั้งคำถามเกี่ยวกับดวงวิญญาณ และท่านนิตเช่ก็ย้ำว่า ระบบให้แต่ความจริงแบบปรวิสัย ซึ่งมันไม่ใช่ความจริงเลย
แนวคิดแบบอัตถิภาวนิยม
- เจตจำนงที่จะมีอำนาจ (The will to power) เจตจำนงที่จะมีอำนาจนี้คือพลังกระตุ้น ผลักดันมนุษย์ให้ประพฤติ กระทำการต่างๆโดยเล็งเห็นคุณค่าของมนุษย์เป็นจุดสำคัญ เพื่อความยิ่งใหญ่ อิสรภาพของมนุษย์เอง ในหนังสือที่นิตเชนิพนธ์ชื่อว่า “ซาราทุสตราตรัสไว้ดังนี้” กล่าวว่า เจตจำนงที่จะมีอำนาจอยู่เบื้องหลังของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย นิตเช่เองไม่คิดจะสร้างระบบอภิปรัชญาใดๆ ท่านเขียนแบบนักวรรณคดีแทรกความคิดปรัชญา ดังนั้น เจตจำนงที่จะมีอำนาจของท่านควรมองในแง่จิตวิทยามากกว่า คือ เป็นความรู้สึกนึกคิดปกติของมนุษย์ที่จะทำอะไรก็ย่อมทำไปเพราะถูกผลักดันจากเบื้องหลังให้ทะยานไปสู่อำนาจ
- อำนาจ (power) ในความคิดของนิตเช่ใช่อำนาจปกครองกดขี้ผู้อื่น แต่เป็นอำนาจเหนือตนเอง มีอำนาจสร้างสรรค์วิทยาศาสตร์ สังคม ปรัชญา ศิลปะ เป็นการรู้จักควบคุมกิเลส คนไร้กิเลสไม่หวังจะมีอำนาจ แต่ผู้มีกิเลสแก่กล้าและรู้จักควบคุมใช้ในงานสร้างสรรค์ คนนั้นแหละเป็นคนมีอำนาจ เช่น โสคราเตส เผชิญความตายก็ไม่รู้สึกกลัว แต่เกอเตยังมีอำนาจมากกว่าโสคราเตส เพราะเกอเตไม่ยอมจำนน แต่ทว่าดิ้นรนสร้างงานยิ่งใหญ่ให้แก่มนุษย์ด้านวัฒนธรรม ผู้ที่ทำได้เช่นนี้อย่างสมบูรณ์ คือ อภิมนุษย์ (supreman) การจะถึงขั้นนี้ได้ก็ต้องเดินตามหลักการแห่งศีลธรรมแบบนาย (Master Moratity) อย่างเคร่งครัด คนเช่นนี้หายากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร ส่วนมากเป็นพวกปฏิบัติครึ่ง ๆ กลาง ๆ แต่ก็เป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุกคน ที่จะมุ่งหน้าสู่ความเป็นอภิมนุษย์ โดยพยายามเอาชนะสภาพปัจจุบันของตนเอง เราต้องเป็นผู้สร้างตัวเราขึ้นตลอดเวลา ออร์เตกา ชาว สเปน สรุปไว้ว่าเป็นสูตรอย่างกะทัดรัดว่า
“คนวิเศษไม่ใช่คนเห่อยศ ซึ่งคิดว่าตนเหนือผู้อื่น แต่เป็นคนที่เคร่งครัดกับตนเองเหมือนคนอื่น... มนุษย์เราจะแบ่งอย่างแนบเนียนที่สุดออกไปเป็น ๒ ประเภท คือ พวกหนึ่งเคร่งครัดกับตัวเอง ยอมลำบากทุกอย่างในขณะใดก็ดำเนินชีวิตไปตามนัยนั้น ไม่พยายามจะตะเกียวตะกายหาความสมบูรณ์อะไรให้กับตัวเลย ถ้าจะเปรียบแล้วก็เหมือนกับหุ่นที่เคว้งคว้างไปตามเคลื่อนลมและกระแสน้ำ”
- ศีลธรรมแบบนายกับศีลธรรมแบบทาส (Master Morality and Slave Morality) นิตเช่ ตั้งข้อสังเกตว่า ศีลธรรมหรือจริยธรรมเท่าที่มนุษย์เราปฎิบัติกันอยู่ตลอดมาทุกยุคทุกสมัย พอจะจำแนกได้เป็น ๒ แบบ คือ ศีลธรรมแบบนาย (Master Morlity) และศีลธรรมแบบทาส (Slave Morality) ผู้ที่เข้มแข็ง มั่นใจในตัวเอง เป็นตัวของตัวเอง ทั้งในความคิดและการปฏิบัติจะเลือกยึดถืออุดมการณ์และปฏิบัติจากการตรึกตรองจนเกิดความชื่อมั่นของตนเองเท่านั้น คนประเภทนี้จะไม่ยอมเชื่อใครง่าย ๆ อย่างไร้เหตุผล และเมื่อมั่นใจในการตัดสินใจแล้วจะมุมานะลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายที่ตั้งใจไว้ พวกนี้แหละเป็นอัจฉริยบุคคล (ผู้มีความรู้ความสามารถเด่นมากเป็นพิเศษ) เป็นผู้ทำให้โลกก้าวหน้า เป็นผู้ทำให้มนุษย์ก้าวหน้าไปสู่การเป็นอภิมนุษย์ ศีลธรรมประเภทนี้เรียกว่า ศีลธรรมแบบนายไม่มีหลักการตายตัว ความมุ่งมั่นของแต่ละคน คือ กฎ ศีลธรรมของเขา ส่วนผู้ที่ไม่เข็มแข็งไม่มีความกล้าหาญพอไม่กล้าเป็นตัวของตัวเอง เนื่องจากขาดความมั่นใจในการตัดสินใจเลือกทางของตนเอง จึงมอบหมายตัวเองให้กับหลักการที่ตนเองคาดว่าจะช่วยคุ้มครองหรือให้ความปลอดภัยแก่ตนได้ พวกนี้จะชอบอ้างหลักธรรมที่มีผู้กำหนดไว้แล้วล่วงหน้า หรืออุดมการณ์ที่ยอมรับกันในสังคม ทั้งนี้ เพื่อความสบายใจของตนเอง และเพื่อจูงใจมิให้คนอื่นมาเบียดเบียนตน ศีลธรรมแบบรับถ่ายทอดเช่นนี้ เรียกว่า ศีลธรรมแบบทาส ผู้ถือศีลธรรมแบบนี้ไม่คิดว่าจะเป็นตัวของตัวเอง ไม่คิดค้นหาหลักการของตนเอง แม้หลักธรรมที่รับมายึดถือนั้นก็จะไม่คิดหาเหตุผลว่ายังเหมาะสมดีหรือไม่ หรือถ้าจะหาเหตุผล ก็ต้องตั้งใจหาเหตุผลในทางสนับสนุนเท่านั้น ในขณะเดียวกันก็กลัวว่าจะพบข้อบกพร่องแล้วจะทำให้ไม่สบายใจ
นิตเช่เชื่อว่า ชาวกรีกโบราณได้บรรลุถึงศีลธรรมแบบนายแล้ว แต่คริสต์ศาสนาทำให้ชาวยุโรปยุคกลางถอยกลับไปสู่ศีลธรรมแบบทาสอีก และยังติดพันมาจนถึงสมัยของท่าน ท่านจึงเรียกร้องและชักชวนให้ทำการผ่าตัดขนาดใหญ่ เพื่อเปิดทางนำไปสู่การเป็นอภิมนุษย์
การแยกศีลธรรมของนิตเช่ดังกล่าวมาข้างต้นนี้ จะเป็นแนวทางให้นักอัตถิภาวนิยมแบ่งอัตถิภาวะออกเป็น ๒ ประเภท ต่อมาคือ อัตถิภาวะแท้ (Authentic Existence) และอัตถิภาวะเทียม (Inauthentic Existence)
- แนวคิดเรื่องนิจวัฏ (Eternal Recurrenec) นิตเช่เชื่อว่า เหตุการณ์ต่าง ๆ ตั้งแต่เริ่มมีหมอกเพลิงจนสิ้นโลกจะเกิดซ้ำตามลำดับเดิมเรื่อยไปอย่างไม่มีสิ้นสุด เช่น ทุกครั้งที่เกิดโลกขึ้นมาใหม่ในทุก ๆ กัลป์ นายนิตเช่จะเกิดในปี ค ศ. ๑๘๔๔ ทุกครั้งไป และจะมีแนวทางชีวิตตามที่เป็นจริงอย่างที่เป็นอยู่นี้ทุกครั้งไป และนิตเช่ก็จะเป็นนักปรัชญาที่แถลงความจริงเช่นนี้ทุกครั้งไป เหตุผลก็คือว่า ในจักรวาลทั้งหมดมีปริมาณพลัง (power Quanta) ตายตัว ไม่มีการเปลี่ยนแปลง พลังเดิมย่อมออกฤทธิ์ไปอย่างเดิมโดยไมเปลี่ยนแปลง เมื่อสิ้นฤทธิ์ครั้งหนึ่ง ๆ แล้ว ก็จะต้องเริ่มต้นใหม่เรื่อยไปไม่รู้จบ นิตเช่อ้างว่าคนโบราณเช่นพวกกรีก ก็เชื่อเช่นนี้ จึงน่าจะเป็นสมมติฐานที่น่าเชื่อถือ เกอเตเองก็กำหนดให้เปาสต์พูดว่า “หยุดก่อนเถอะหนาเวลาจ๋า แม้นเธอหยุดไม่ได้ ก็ขอให้กลับมาใหม่เช่นนี้เรื่อยไปชั่วนิรันดร์”
- ศาสนา นิตเช่ โจมตีทุกศาสนาว่าขัดต่อเหตุผล พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของความสิ้นหวัง ศาสนาฮินดูก็ผิดมนุษยธรรม คริสต์ศาสนายิ่งร้ายที่สุด พระเยซูเป็นคนดีและมีโรคประสาท ความกระตือรือร้นจากโรคประสาทกำเริบทำให้พูดอะไรผิดมนุษย์ธรรมดา สานุศิษย์โง่เขลา และกระตือรือร้น หัวรุนแรง เอาไปปั้นเรื่องขึ้นใหม่ บังเอิญถูกใจคนสมัยนั้น เรื่องจึงเรื้อรังเรื่อยมา
นักอัตถิภาวนิยมส่วนมากเห็นว่า นิตเช่กล่าวโจมตีศาสนาด้วยอารมณ์มากเกินไป ความจริงนั้น นิตเช่ไม่พอใจคำสอนของศาสนาต่าง ๆ ที่เปิดโอกาสให้คนเรายึดถือตามแนวของศีลธรรมแบบทาสได้ง่าย และแต่เดิมมาผู้รับผิดชอบในศาสนาต่าง ๆ ก็ไม่สู้จะได้คำนึงถึงเรื่องนี้ ครั้นถูกนิตเช่โจมตีในแง่นี้เข้า จึงสำนึกได้ว่า ความจริงศาสนาต่าง ๆ ล้วนแต่เดินตามศีลธรรมแบบนายทั้งสิ้น ซึ่งเรื่องนี้นิตเช่เองก็ไม่ได้คำนึงถึง อย่างไรก็ตามจากการวิจารณ์ของนิตเช่นี้เอง มีผลให้ผู้รับผิดชอบในศาสนาต่าง ๆ แก้ไขปรับปรุงวิธีเสนอคำสอน และกำหนดเป้าหมายของศาสนาให้เป็นไปในแนวทางของอัตถิภาวนิยมยิ่งขึ้น
แนวคิดที่นิตเช่เสนอมาเขาเองก็ไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็นปรัชญา แต่แถลงเป็นเพียงสมมติฐานหน้าจะเป็นได้ที่สุดเท่านั้น นิตเช่เองเคยเขียนไว้ว่า เราต้องอาศัยวิทยาศาสตร์สำหรับเข้าถึงความเป็นจริง นิตเช่เห็นว่า ความก้าวหน้าในประวัติศาสตร์มีจุดเด่นที่ตัวบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ ไม่ใช่มาจากความเพ้อฝันลม ๆ แล้ง ๆ “วิวัฒนาการของมนุษย์ชาติไม่มีจุดหมาย แต่วิวัฒน์ไปตามตัวบุคคลที่เด่นที่สุด” ความเจริญไม่ใช่เกิดจากการประนีประนอมของสิ่งขัดแย้ง แต่เกิดจากการเก็บเอาความขัดแย้งนั้นมาสร้างของใหม่ให้เป็นงานส่วนตัว และแสดงความสูงเด่นให้ประจักษ์ “พวกเราชาวเยอรมันสองจิตสองใจอยู่ระหว่างการบูชาต่างชาติ และการเป็นตัวของตัวเอง...ดูพวกกรีกซิ เขาไม่รังเลใจเช่นนี้กับวัฒนธรรมตะวันออก... พวกเขาจึงสร้างสรรค์งานของตนเองขึ้นมาได้”
“ผู้ที่ไม่เดินตามมติมหาชน ย่อมจะต้องเตรียมตัวเผชิญความยุ่งยาก”
“ จงเป็นตัวของท่านเอง ท่านไม่ได้เป็นทุกอย่างที่ท่านทำ คิด และอยากอยู่ขณะนี้”
ในหนังสือ The Dawn ของนิตเช่ ชี้ให้เห็นว่า การประพฤติตนของคนเรา อาจจะอธิบายได้ด้วยความรู้เรื่องเจตจำนงที่จะมีอำนาจ เช่นว่า เราพยายามที่จะแข็งขันชิงดีชิงเด่นกับคนที่เรารู้จักตลอดเวลา “ความพยายามที่จะดีเลิศ คือความพยายามเอาชนะคนใกล้เคียง แม้จะชนะโดยไม่ปรากฏก็เอา หรือขอแต่เพียงให้รู้สึกในตัวเองว่าชนะก็ยังดี” “ถ้าจะทำบัญชีของความพยายามที่จะเอาชนะกันที่ซ่อนเร้นอยู่ในใจแล้วก็คงจะยืดยาว และนี้แหละที่สร้างประวัติวัฒนธรรมขึ้นมา” วัฒนธรรมของมนุษย์ก้าวหน้ามาได้ก็เพราะความพยายามเอาชนะกันและกันของมนุษย์ทั้งหลายที่รวมกันนี้เอง
เจตจำนงที่จะมีอำนาจ ( Will to power) นิตเช่
หลักการเจตจำนงที่จะมีอำนาจ (will to power) เป็นหลักการที่สำคัญถือว่า เป็นหัวใจของหลักการอื่นของนิตเช่ เอง หลักศีลธรรมแบบนาย ( master morality) ศีลธรรมแบบทาส (slave morality) และอุดมคติเกี่ยวกับอภิมนุษย์ (Superman) ถ้าปราศจาก will to power แล้ว หลักการอื่น ๆ ของนิตเช่ ที่กล่าวมาข้างต้นก็ไร้ความหมาย
นิตเช่ถือว่า เจตจำนงที่จะมีอำนาจคือพื้นฐานแห่งศีลธรรมทั้งหมด นิตเช่เห็นว่า การแสดงถึงความมีอำนาจที่ยอดเยี่ยมที่สุด คือการเอาชนะใจตนเอง การเอาชนะใจตนเองนี้เป็นมาตรฐานที่ชัดเจน ในทุก ๆ สังคมที่มีศีลธรรม ซาราตรุสตรา (Zarathustra คือตัวละครที่นิตเช่แต่งขึ้นเพื่อเป็นปากเสียงแทนตัวเอง) กล่าวว่า “การชนะตนเองคือป้ายทองคำที่ติดอยู่กับตัวบุคคล มันคือป้ายที่แสดงถึงชัยชนะของเขาเอง” นิตเช่ได้ใช้พลังขับเคลื่อนแห่งอำนาจ เพื่อวิจารณ์หลักการทางศีลธรรม นิตเช๋ได้อธิบายเรื่องศีลธรรมโดยการพูดถึงเสรีภาพโดยกล่าวว่า “บุคคลมุ่งแสวงหาเสรีภาพเพื่อประโยชน์แห่งการมีอำนาจไม่ใช่เพื่ออันใดอื่น” บางคนอาจคิดว่า ปรัชญาของนิตเช่ จะสามารถแปลความหมายเป็นปรัชญาแห่งเสรีภาพนี้อาจไม่เป็นจริงดังนั้น เจตจำนงที่จะมีอำนาจคือความมีพลังเพื่อที่จะดิ้นรน ตะเกียกตะกายต่อสู้กับปัญหาต่าง ๆ เจตจำนงที่จะมีอำนาจเป็นสมมติฐานทางจิตวิทยาทั่วไปที่มุ่งหวังอธิบายพฤติกรรมทุกอย่าง เจตจำนงที่จะมีอำนาจนี้มีหน้าที่สูงส่งเป็นมาตรฐานทางจริยธรรมขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นลากเง่าของทุก ๆ ศีลธรรม
เจตจำนงที่จะมีอำนาจคือที่สุดของความพยายามของมนุษย์ทุกคน เจตจำนงที่จะมีอำนาจมิใช่แต่เป็นเพียงหลักการทางจิตวิทยาเท่านั้น แต่ยังเป็นแนวคิดที่เป็นแรงขับขั้นพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตทั้งหมด นิตเช่กล่าวว่า “เจตจำนงที่จะมีอำนาจสามารถแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนที่สุดคือว่า ทุก ๆ สิ่งมีชีวิตกระทำทุก ๆ สิ่ง และมันก็ไม่สามารถจะคงความเป็นตัวมันเอง เช่นเดิมได้ แต่มันสามารถเป็นได้เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม” “เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งมีชีวิตทุก ๆ สิ่งต้องการที่จะปลดปล่อยพลังงานของมัน ชีวิตเช่นนั้น คือเจตจำนงที่จะมีอำนาจ”
เจตจำนงที่จะมีอำนาจได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นพลังผลักดันของมนุษย์ในระดับที่ถือว่าเป็นรากเหง้า ทุกๆ ศีลธรรมรับเอาเจตจำนงที่จะมีอำนาจเป็นโครงสร้างที่สำคัญของศีลธรรมนั้น ๆ การยืนยันของนิตเช่ที่ว่า ทุกๆ ศีลธรรมว่ากันให้ถึงรากเหง้าแล้ว เป็นศีลธรรมเพื่อความมีอำนาจเป็นการสนับสนุนหลักการที่ว่า ทุกๆ ความพยายามของมนุษย์เป็นความพยายามเพื่อการมีอำนาจมากขึ้น นิตเช่กล่าวถึงความสุขและเห็นว่าความสุขคือเครื่องบ่งบอกถึงจุดหมายปลายทางอันแท้จริงของมนุษย์ “ เจตจำนงที่จะมีอำนาจ คือรูปแบบขั้นต้นของความพอใจ ซึ่งความพอใจอย่างอื่นเป็นผลพลอยได้เท่านั้น... ไม่มีความพยายามเพื่อความเพลิดเพลิน แต่ความเพลิดเพลินเข้ามาแทรก เมื่อมนุษย์บรรลุสิ่งที่ตนพยายามความเพลิดเพลินคือสิ่งที่ตามมา ความเพลิดเพลินไม่ใช่จุดประสงค์ที่แท้จริง
นิตเช่เห็นว่า อำนาจเป็นคำอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ได้ดีกว่าความเพลิดเพลิน ความเพลิดเพลินไม่สามารถอธิบายความทุกข์ของมนุษย์ที่ทับถมตัวเขาเองได้ แต่ว่าปรัชญาแห่งอำนาจสามารถอธิบายความทุกข์ได้สะดวกกว่า เมื่อเกี่ยวกับแนวคิดแห่งความสมบูรณ์ในตัวเองและการชนะตัวเองมันไม่มีความหมายอะไรที่จะแสดงว่าผู้ที่ทนทุกข์ทรมานเพื่อผู้อื่น เอาตัวเองบูชายัญเพื่อความเพลิดเพลินบางอย่าง มันเป็นการดีกว่า ถ้าว่าพวกเขายอมทรมานตนเองเพื่อความสุขของคนอื่น พยายามที่จะพิสูจน์อำนาจของตนเอง เพื่อพิสูจน์ความอดทน ความคงทน ความมีธรรมในตนเอง จุดสำคัญที่ควรตระหนักในที่นี้ก็คือว่า นิตเช่ไม่ได้ต้องการเพียงแต่จะจรรโลงสรรสร้างศีลธรรมบนหลักการทางจิตวิทยาแห่งเจตจำนงที่จะมีอำนาจ นิตเช่ยืนยันว่า ทุกๆ ศีลธรรมยอมรับหลักการแห่งอำนาจอย่างชัดเจน และแม้ว่านิตเช่จะกล่าวเช่นนั้น เขาก็ยังกล่าวอีกว่า “บุคคลสามารถยอมรับเจตจำนงที่จะมีอำนาจแล้วยกเลิกระบบศีลธรรมเดิมได้
นิตเช่เห็นว่า อำนาจมีการสืบทอดจากน้อยไปหามาก แต่ละสิ่งก็มีอำนาจแตกต่างกันในระดับความเข้มข้น สัตว์มีอำนาจมากกว่าพืช พืชมีอำนาจมากกว่าสิ่งไม่มีชีวิต แต่มนุษย์มีอำนาจเหนือสิ่งเหล่านี้ และในระหว่างมนุษย์ก็มีความเข้มข้นของอำนาจที่แตกต่างกัน นักปรัชญา นักศีลปิน มีอำนาจมากกว่าคนทั่วไป แต่นักบุญมีอำนาจมากกว่า เพราะนักบุญมีอำนาจจิตที่เข้มข้นสามารถควบคุมตนเองได้ดีกว่าทุก ๆ คน นิตเช่นิยมในปัจเจกชน เขายกย่องบุคคลผู้มีอำนาจจิตสูง ไม่ใช่เพราะนับถือพระเจ้า ผู้ใดปรับปรุงตนเองให้สูงขึ้นผู้นั้นย่อมมีอำนาจ นิตเช่ยกย่องผู้มีอำนาจ เช่น พระพุทธเจ้า พระเยซู นโปเลียน เป็นต้น นิตเช่สอนหลักการแห่งการมีอำนาจโดยอาศัยเหตุผลเป็นเครื่องนำทางเพราะว่าเราใช้เหตุผลเป็นเครื่องสั่งสมอำนาจ
สำหรับนิตเช่ จุดมุ่งหมายอันสูงสุด คือ การมีอำนาจ ในความเป็นจริงแล้วมนุษย์ทุกคนก็ปรารถนาอำนาจกันโดยธรรมชาติ และนี้ถือว่าเป็นหน้าที่ที่ควรทำแต่คนที่มีอำนาจสูงสุด ต้องมีอิสรภาพอย่างเต็มที เป็นคนมีเหตุผลและเป็นคนไม่ยอมนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือศาสนาใด ๆ และลัทธิประเพณี ถ้าจะนับถือก็ต้องตรวจสอบและมีเหตุผล เขาเป็นคนชอบแสวงหาเหตุผล และสามารถควบคุมอารมณ์อ่อนแอได้อย่างเคร่งครัด ตัวเขาเป็นผู้สร้างกฎเกณฑ์และอุดมคติ และคนเช่นนี้ก็คือ อภิมนุษย์ (superman) ในอุดมคติของนิตเช่นั่นเอง
อำนาจที่นิตเช่หมายถึง คือ อำนาจฝ่ายสูง ซึ่งเป็นอำนาจในทางสร้างสรรค์ ใช้อำนาจแบบมีคุณธรรม มีเหตุผล ยึดความสามารถของบุคคลเป็นหลัก ไม่กดขี่ข่มเหงคนด้อยกว่า เป็นบุคคลตัวอย่างแห่งคุณความดี เป็นผู้บุกเบิก เป็นผู้นำ กล้าคิด กล้าทำ กล้ารับผิดชอบ
ศีลธรรมแบบนาย (master morality) กับ ศีลธรรมแบบทาส[1] (slave marality)
นิตเช่เห็นว่า มาตรฐานของระบบศีลธรรมทุกๆ ระบบคือเจตจำนงที่จะมีอำนาจ (will power) เขามองว่าระบบศีลธรรมในอดีตยังไม่เพียงพอที่จะส่งผลต่อการกระทำของมนุษย์ ดังนั้น นิตเช่ได้เสนอระบบศีลธรรม ๒ ประเภท คือ ศีลธรรมแบบนาย และศีลธรรมแบบทาส ทั้งสองประเภทนี้แสดงถึงความมีอำนาจเหมือนกัน แต่เจตจำนงที่จะมีอำนาจนั้น นิเช่ได้อธิบายไว้แตกต่างกัน ศีลธรรมแบบนายย่อมรับเจตจำนงที่จะมีอำนาจอย่างชัดเจน แต่ศีลธรรมแบบทาสปฏิเสธเจตจำนงที่จะมีอำนาจอย่างชัดเจน นิตเช่ได้จัดศีลธรรมแบบคริสต์ศาสนาเป็นศีลธรรมแบบทาส สิ่งที่ควรทำความเข้าใจ ณ ตรงนี้ก็คือว่า นิตเช่ไม่ได้จัดระบบวรรณะหรือชนชั้นนายกับทาสทางสังคมและเขาจัดโดยคุณค่าศีลธรรมที่บุคคลปฏิบัติเกี่ยวข้องกับสิ่งที่มนุษย์เป็น นิตเช่ไม่ได้หมายถึงนายและทาสตามตัวอักษร ศีลธรรมแบบทาสมักถูกพบเสมอในคนที่คนไม่ใช่ทาสเลยก็ได้ การยอมรับอย่างเปิดเผย ซึ่งเจตจำนงที่จะมีอำนาจเป็นคุณค่าที่สมบูรณ์ที่ถูกค้นพบในระบบศีลธรรมที่มีมาก่อน ศีลธรรมแบบทาสมีขึ้นเพื่อขัดแย้งกับศีลธรรมแบบนายที่มีมาก่อน นิตเช่เห็นว่า นายเป็นผู้ตัดสินคุณค่า คุณค่าของนายเป็นเครื่องแสดงเจตจำนงที่จะมีอำนาจ แต่มันก็ปรับไปตามความแตกต่างระหว่างบุคคล มันอาจจะแปลผันไปได้โดยไม่มีข้อกำหนดบุคคลอาจเลือกที่จะเป็นผู้มีความรักอันยิ่งใหญ่ เลือกเป็นนักรบผู้ยิ่งใหญ่ หรือเป็นนักกวีผู้ยิ่งใหญ่ ความเป็นตัวคนที่แท้จริงของศีลธรรมแบบนายไม่มีความเย่อหยิ่งถือตัวจัด หรือการเห็นแต่ประโยชน์ตน การอุทิศต่อหลักการและเหตุผล (กฎแห่งกรรม) ซึ่งเป็นหลักอันยิ่งใหญ่ เป็นศูนย์กลางอันสำคัญของแนวคิดเกี่ยวกับศีลธรรมแบบนายแต่ว่าจุดหมายที่นายเลือกเป็นสิ่งที่อยู่เหนือข้อผูกมัดใดๆ นิตเช่มองว่า จุดหมายที่ตนตั้งไว้นั้น เป็นสิ่งสูงส่งและเป็นหัวใจอันสำคัญอย่างเช่นคุณค่าของนักปรัชญา นักบวช ศิลปิน สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่การเห็นแก่ตัวในความหมายที่แท้จริงเลย คุณค่าซึ่งเป็นสิ่งถูกสมมติขึ้นด้วยตนเองในกรณีของคนเหล่านี้ต้องการหลักหรือกฎเกณฑ์ซึ่งแตกต่างกันมากจากคุณค่าของความเห็นแก่ตัวของแต่ละคน
นิตเช่มีแนวคิดในการค้นหาแต่สุดยอดของมนุษย์ ดังนั้นเขาจึงแยกคุณค่าของคนแต่ละคนในระดับแตกต่างกัน และดังนั้นจึงมีความแตกต่างกันของความเห็นแก่ตนของบุคคลแต่ละระดับ นิตเช่ให้ความสำคัญต่อตัวตนในการพัฒนาตนเองถึงจุดสูงสุด ดังนั้น จึงเห็นว่าแต่ละตัวตน (ego) ก็เห็นแก่ตัวในอันมุ่งหวังที่จะมีอำนาจ นิตเช่เห็นว่า ทั้งการรู้จักควบคุมตนเองและการทนงตนเป็นสิ่งสำคัญในการนำไปสู่อำนาจ สำหรับนายความชั่วร้ายคือความพ่ายแพ้ขี้ขลาดไม่กล้าตัดสินใจ ความเกียจคร้าน ความไร้สมรรถภาพและการสูญเสียอำนาจ
ในอุดมคติเกี่ยวกับศีลธรรมแบบนาย เจตจำนงที่จะมีอำนาจ (will to power) คือ เจตจำนงที่จะมีความสมบูรณ์ในตนเองและเพื่อความดี ถึงแม้ว่าหลาย ๆ คนอาจจะไม่เห็นว่าอำนาจก็เป็นส่วนรวมในการก่อให้เกิดความสมบูรณ์ การ กระทำที่ไม่นำไปสู่ความสำเร็จ คือการกระทำที่เลว และการกระทำที่ทำให้สูญอำนาจก็ถือว่าเลว
ความแตกต่างระดับศีลธรรมแบบนายกับแบบทาส คือว่า นายสร้างสรรค์คุณค่าในตนเอง โดยเจตจำนงที่จะมีอำนาจของเขา แต่ทาสไม่ได้สร้างคุณค่าในตนเอง ทาสเริ่มต้นจัดระดับคุณค่าซึ่งบุคคลอื่นมอบให้เขา แต่มันก็เป็นไปไม่ได้ที่พวกเขาจะมีคุณค่าความดีจากการมีคุณค่าซึ่งคนอื่นมอบให้ ความจริงศีลธรรมแบบนายเรียกร้องให้เขา (ทาส) แข็งแกร่ง แต่ว่าโดยธรรมชาติเขาเป็นคนอ่อนแอ เรียกร้องให้เขากล้าหาญ แต่เขาขลาด ธรรมชาติเรียกร้องให้เขาสร้างสรรค์และเป็นตัวของตัวเอง แต่เขาก็ไม่เป็น เพราะเขาไม่รู้ว่าจะเป็นเช่นนั้นได้อย่างไร ทาสพบว่าเขาเองได้ตกหล่นไปจากบทบาทในประวัติศาสตร์ของตนเอง เขาไม่อาจจะได้มาซึ่งคุณธรรมแบบนาย ดังนั้นเขารับเอาแต่สิ่งตามที่สังเกตเห็นเพื่อยืนยันเจตจำนงของตนเองที่จะมีอำนาจในท้ายที่สุดของความพ่ายแพ้แก่ตัวของเขาเอง เขา (ทาส) พลาดในการพิสูจน์ว่าตนเองเป็นคนแข็งแกร่ง เขาเห็นว่าความแข็งแกร่งเป็นความชั่วร้ายและเขาก็รู้สึกสุขใจที่เขาไม่ได้ถูกล่อด้วยความแข็งแกร่ง ดังเช่นที่กล่าวไว้ในคำภีร์ไบเบิลว่า “ความว่าง่ายจะสืบต่อโลก” ทาสมักจะพอใจในความจนของตนเอง และเห็นว่าความมั่งคั่งเป็นความชั่วร้าย พวกทาสเห็นว่าสิ่งเหล่านี้คือรากเหง้าของความชั่วร้ายทั้งหลาย บุคคลจะต้องรื้อถอนมันทิ้งเสีย ทาสมองว่าสิ่งที่ถือว่าเป็นคุณธรรมแบบนายเป็นความชั่วร้าย การเอารัดเอาเปรียบ ดังนั้น เขาก็พบว่าตัวเขาเองปราศจากความทนงตนและรู้สึกว่าไม่มีอะไรพอที่โอ้อวดเขาได้ เขา (ทาส) ไม่มีความมุ่งหวังหรือการแข่งขันใด ๆ เขายอมรับแต่ความถ่อมตน ความสงบเสงี่ยม ความอดทน และความละเว้นการกระทำแบบเสี่ยง ๆ ต่อความทุกข์หรือความลำบาก เขาคิดว่าเขาต่อสู้กับสิ่งยั่วยวนได้ และเขาก็ไม่ได้มองเห็นตนเองว่าจะเป็นผู้พ่ายแพ้ใดเลย และแล้วเขาก็ประจักษ์ว่าไม่สามารถชนะการต่อสู้และก็จะถูกทำให้พ่ายแพ้ เหตุนั้น ทาสไม่อาจกระทำการอันยิ่งใหญ่ได้ เขาจึงเป็นคนดีทั่วๆไปคนหนึ่งเท่านั้น
ทาสกำหนดศีลธรรมตนเองโดยการไม่เชิดชูเจตจำนงที่จะมีอำนาจทั้งที่มันก็แฝงในตัวเขาเอง และเขาก็ปฏิเสธคุณค่าของสิ่งเหล่านี้
ศีลธรรมทั้ง ๒ ประเภทนี้ มีความคล้ายกันบ้าง คือ แสดงถึงเจตจำนงที่จะมีอำนาจ ศีลธรรมแบบทาสสามารถมีอำนาจโดยการปฏิเสธเจตจำนงที่จะมีอำนาจ ศีลธรรมแบบทาสมองว่า อำนาจ ความทะนงตน ความแข็งแกร่งเป็นสิ่งที่ควรละเว้น นิตเช่มองว่า ชีวิตชาวคริสต์ระดับกลางเป็นชีวิตอยู่ไปเรื่อยๆ แบบวันๆ ว่าเป็นแบบทาส ไม่มีความกระตือรือร้น ไม่มีความสามารถจะกระทำการอันยิ่งใหญ่ส่วนตนได้ ความดีสำหรับแนวคิดแบบทาส คือละเว้นทุกอย่างที่กระทำโดยแนวคิดแบบนาย ทาสต้องการความรู้สึกว่าตนเองปลอดภัย ดังนั้นพวกทาสจึงสั่งสมคุณค่าที่คิดว่าจะทำให้เขาปลอดภัย และได้รับการคุ้มครอง คุณธรรมที่เขาปฏิบัติ คือ ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความเกื้อกูล การแบ่งปัน ความเมตตา เป็นต้น
ปรัชญาของนิตเช่เกี่ยวกับอุดมคติอภิมนุษย์ (superman) เป็นการพยายามที่จะสงวนรักษาอุดมคติแห่งศีลธรรมแบบนาย นิตเช่ได้พยายามตีค่านิยมแบบใหม่ให้มนุษย์เชื่อมั่นในตนเอง นำศักยภาพ[2]ในตนเองออกมาใช้เพื่อความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์ มนุษย์ควรเป็นผู้นำ กล้าคิด กล้าทำ กล้าเผชิญหน้ากับสิ่งต่างๆ โดยไม่สะทกสะท้าน กรุงโรมและประเทศกรีกมีความเจริญรุ่งเรืองมาในอดีตก็เพราะอาศัยอุดมการของตนเอง และประสบความหายนะก็เพราะผลอุดมการแห่งศาสนาคริสต์ มนุษย์ควรเป็นตัวของตัวเองให้ถึงที่สุด ควรปลดเปลื้องตนเองจากพันธนาการต่างๆ เช่น ศาสนา ลัทธิ และแนวคิดต่างๆ ที่ชักนำและทำให้เป็นทาส โดยที่ไม่สามารถทำให้เราพัฒนาตนเองจนถึงขั้นอุดมคติอันสูงส่ง ซึ่งเป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุกคน โดยการมีศีลธรรมแบบนาย (superman)
Superman (อภิมนุษย์)
นิตเช่กล่าวว่า superman คือสุดยอดแห่งการรวมกันของเจตจำนงที่จะมีอำนาจ (will to power) แนวคิดเกี่ยวกับอภิมนุษย์นี้เป็นความคิดเกี่ยวกับสิ่งที่ว่ามนุษย์เกิดขึ้นมาเพื่อฟันฝ่าอุปสรรคให้รอดพ้น และเพื่อเอาชนะความทุกข์ อภิมนุษย์ คือ มนุษย์ที่เหนือมนุษย์ทั่วไป มีชีวิตอยู่เพื่อนำมนุษย์คนอื่นๆ ให้เข้าถึงธรรมชาติที่แท้จริงของตนเอง นิตเช่กล่าวถึงการกลายเป็นอภิมนุษย์ว่า เมื่อสภาวะธรรม (Being) อย่างหนึ่งปรากฏแก่มนุษย์ เขาคนเดิมกลับมาเกิดซ้ำอีกในหลายภพหลายชาติมีความปรารถนาเกิดมาเพื่อแก้ตัวให้มีจิตวิญญาณที่สูงขึ้น นั่นคืออภิมนุษย์ นิตเช่กล่าวถึงการกลับชาติมาเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกทุกๆ กัลป์ หลักเชื่อข้อนี้บวกกับแนวคิดอภิมนุษย์เป็นของคู่กันในสังสารวัฏ(การเวียนวายตายเกิด) เจตจำนงที่จะมีอำนาจเป็นเจตจำนงที่เป็นอมตะเป็นสิ่งสูงสุดในบรรดาเจตจำนงต่างๆ เป็นสิ่งที่เป็นอมตะในสิ่งที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
นิตเช่กล่าวว่า มนุษย์อยู่ระหว่างความชั่วร้ายและอภิมนุษย์ จักต้องพัฒนาตน ห่างไกลความชั่วร้าย ก้าวล่วงพ้นนรกอเวจีจนเข้าถึงความเป็นอภิมนุษย์ อภิมนุษย์คือการกลับมาของศีลธรรมแบบนาย นั่นคือ การค้นหาอย่างสุดแรงกล้าซึ่งความสมบูรณ์แบบของตนเอง (self) โดยปราศจากการบังคับโดยศาสนาหรือศีลธรรมตามประเพณี
คำว่า อภิ ( super) เป็นคำมีความหมายซับซ้อน มันเกี่ยวข้องกับ “การก้าวข้ามตัวตน (self) “ อภิมนุษย์ คือ มนุษย์ผู้ซึ่งข้ามพ้นตัวตนของเขาเอง ควบคุมตนเองไม่ให้ทำชั่ว ไม่ให้ทำลายล้างคนอื่น นอกจากทำลายล้างตัวตนของตนเอง โดยทั่วไป ความปรารถนาประสามนุษย์ต้องการทำชีวิตให้มีความสุขสะดวกสบายและปลอดภัยมากกว่าจะเป็นคนเจ้าคิด เป็นนักสร้างสรรค์ นักประดิษฐ์ เป็นคนมีเหตุผลพินิจพิเคราะห์ อภิมนุษย์ไม่ใช่ผู้ไผ่สงคราม ดังเช่นที่คิดเอาเองว่า อภิมนุษย์คือคนบ้าสงคราม แต่อภิมนุษย์คือมนุษย์ผู้ประสบผลสำเร็จในการควบคุมสัญชาตญาณดิบ เป็นผู้มีเหตุผล
อัตถิภาวะระดับสุนทรีย (คีร์เคกอร์ด) ได้มีบทบาทสำคัญในแนวคิดของนิตเช่เกี่ยวกับอภิมนุษย์ ชีวิตของอภิมนุษย์เป็นงานแห่งศิลปะ รูปแบบของการมีชีวิตอยู่สำคัญมากกว่าตัวบุคคล ความแข็งแกร่งแห่งจิตใจเหนือคนอื่นๆ คือ การมีอำนาจหรือเป็นนายของตนเอง เป็นความสุดยอดประเสริฐกว่าการมีอำนาจเหนือคนอื่น นิตเช่กล่าวว่า “ข้าพเจ้าได้ค้นพบความแข็งแกร่งในที่ที่ใครมองไม่เห็น คือ ในคนธรรมดาที่อ่อนโยน และร่าเริง ปราศจากตัณหา อุปทาน ไม่มีความปรารถนาจะปกครองครอบงำสิ่งใดๆ และในทางตรงกันข้าม ความประสงค์ที่จะครอบงำหรือปกครองผู้อื่นได้ปรากฏแก่ข้าพเจ้าว่าเป็นสัญลักษณ์ของคนอ่อนแอภายใน ตามแนวความคิดนิตเช่ นักปรัชญาคือตัวอย่างอย่างสมบูรณ์ที่สุดแห่งมนุษย์ทั้งหลาย นิตเช่ย้ำว่า นักปรัชญา นักพรต เหล่านี้เป็นมนุษย์ที่แท้จริง นิตเช่กล่าวว่า ณ บัดนี้ยังไม่มีอภิมนุษย์เลย ข้าพเจ้าเคยเห็นมนุษย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด และต่ำต้อยที่สุด อย่างไรก็ดี พวกเขาเหล่านี้ก็เป็นมนุษย์ประสามนุษย์ (ยังไม่ใช่อภิมนุษย์ตามแนวคิดของนิตเช่)
อัตถิภาวะระดับสุนทรียะ (ที่แบ่งโดยคีร์เคกอร์ดว่าเป็นขั้นต่ำ แต่นิตเช่ให้ความสำคัญต่อระดับนี้มาก) ได้มีบทบาทสำคัญต่อแนวคิดของนิตเช่เกี่ยวกับอภิมนุษย์ ชีวิตของอภิมนุษย์เป็นงานแห่งศิลปะ รูแบบของการดำรงชีวิตอยู่มีความสำคัญมากกว่าตัวบุคคลเอง นิตเช่ว่าโดยขั้นอุกฤษแล้วก็ให้คุณค่าแก่เจตจำนงที่จะมีอำนาจ คือ มีอำนาจเหนือตนเอง เป็นสิ่งที่สุดยอด เป็นคุณสมบัติของอภิมนุษย์ เป็นอำนาจพิเศษเหนือกว่ายอดกว่า อำนาจเหนือคนอื่นๆ นิตเช่กล่าวว่า ข้าพเจ้าได้ค้นพบความแข็งแกร่ง ความมีอำนาจ ในที่ที่ผู้อื่นไม่เห็น คือ ในคนธรรมดา คนอ่อนโยน ปราศจากกิเลส ตัณหา ความทะยานอยากที่จะปกครองบัญชาการผู้อื่น แต่ในทางกลับกัน ความทะยานอยากที่จะปกครองครอบงำคนอื่นได้ปรากฏแก่ข้าพเจ้าว่าเป็นสัญลักษณ์ของความอ่อนแอภายใน
ดังนั้น ถ้าพิจารณาหลักการของอภิมนุษย์ข้างบนนี้ การยกตัวอย่างนโปเลียน หรือนักปกครองผู้ยิ่งใหญ่ ก็ไม่เหมาะสมกับความหมายแท้จริงของอภิมนุษย์ แต่ในทางตรงกันข้าม การยกตัวอย่างของ Socrates (โสคราตีส) ดูจะเหมาะกว่า นิตเช่ก็ได้ยกย่องการดำเนินชีวิตของนักพรต นักบวชทั้งหลาย และเท่าที่สังเกตพิจารณาความหมายของอภิมนุษย์ตามที่นิตเช่พูดก็ไม่น่าจะห่างไกลไปจากนี้ นิตเช่สรรเสริญนักปรัชญา นักบวช ศิลปิน และผู้เข้าถึงศาสนาอย่างแท้จริง
นิตเช่เห็นว่า นักปรัชญาคือตัวอย่างที่สูงสุดของมนุษย์ นักปรัชญาและนักบวช เป็นมนุษย์ที่แท้จริง ( true human being) นิตเช่ไม่ได้ให้ความสำคัญแก่ตัวปัจเจกชนอย่างคีร์เคกอร์ด ซึ่งจะเป็นการจัดการตัวบุคคลให้เป็นหนึ่งมากที่สุด การที่ยกนักบวช นักพรต เป็นตัวอย่างของอภิมนุษย์ก็มีความมุ่งหมายเพื่อจะให้เห็นความไม่สำคัญของการใช้อำนาจเหนือบุคคลอื่นซึ่งเกี่ยวเนื่องไปถึงการควบคุมตนเอง
บนโลกนี้ มนุษย์เกิดมาเพื่อฟันฝ่าอุปสรรค ปัญหาต่างๆ ความทุกข์ยากแสนสาหัส และความรู้สึกว่าตนเองดำเนินชีวิตผิดเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นที่สำคัญสำหรับการเป็นอภิมนุษย์
บางท่านอาจจะคิดไปว่า นิตเช่ มีแนวความคิดที่ก้าวร้าวรุนแรง เพราะเขาสอนให้คนเป็นผู้นำ เชื่อมั่นตนเอง แข็งแกร่ง ไม่สนใจต่อคำสรรเสริญ มุ่งมั่นในการทำกิจการที่ตั้งจุดหมายไว้ให้สำเร็จ สิ่งที่ชวนให้คิดว่านิตเช่เป็นคนสอนให้คนก้าวร้าวก็อาจเป็นคำสอนเรื่องเจตจำนงที่จะมีอำนาจ แต่เมื่อเราศึกษาให้ดีๆ แล้วเราพบว่า อำนาจที่นิตเช่สรรเสริญมากที่สุด คือ อำนาจแห่งการควบคุมตนเอง ควบคุมจิตใจตนเองไม่ให้ตกอยู่ในอำนาจฝ่ายต่ำ และข้อนี้ก็สอดคล้องกับแนวคิดเรื่องอภิมนุษย์ อภิมนุษย์คือผู้ที่สั่งสมบารมีมาหลายภพหลายชาติ เป็นผู้สามารถควบคุมจิตใจตนเองได้ อยู่เหนือความชั่วร้าย ปราศจากอคติ มีเหตุผล และนิตเช่ก็ได้ยกตัวอย่างของอภิมนุษย์ เช่น นักปรัชญา นักบวช ศิลปิน ว่าเป็นตัวอย่างของอภิมนุษย์ตามแนวคิดของนิตเช่ คนเหล่านี้ ถ้ามองภายนอกดูอ่อนโยน และอาจดูมองว่าอ่อนแอ แต่ความจริงแล้วเขาเหล่านี้มีจิตใจที่เข็มแข็งโดยการควบคุมตนเอง เอาชนะใจตนเอง ชัยชนะอันประเสริฐก็คือ ชัยชนะเหนือความใฝ่ต่ำของตนเอง ชัยชนะเหนือคนอื่นเป็นการก่อภัยให้ตนเอง และให้คนอื่นเป็นทุกข์ สร้างพยาบาทให้เขา แต่ชัยชนะเหนือความไฝ่ต่ำของตนเองนี้เป็นชัยชนะที่มีประโยชน์แก่ตนเองและสังคมมากที่สุด
เจตจำนงที่จะมีอำนาจ (will to power) คือพลังผลักดันให้มนุษย์พัฒนาตนเองก้าวไปสู่ความเจริญข้างหน้า เพราะมนุษย์ไม่อาจย่ำอยู่กับที่ได้ การกระทำทุกอย่างก็เพราะเจตจำนงที่จะมีอำนาจ อำนาจฝ่ายต่ำคืออำนาจที่จะครอบครอง แต่อำนาจฝ่ายสูงอำนาจที่จะละ คือไม่ยึดมั่นถือมั่น
สรุปใจความสำคัญศีลธรรมแบบนาย (master morality)
- ใช้เจตจำนงที่จะมีอำนาจอย่างเต็มที่
- จุดหมายของปรัชญา คือ การเป็นอภิมนุษย์ (superman) นักปรัชญา ศิลปิน นักบวช พระอรหันต์ (ในพุทธศาสนา)
- บุคคลมีเสรีภาพที่จะใช้เจตจำนงที่จะมีอำนาจเพื่อเป็นอะไรๆ ตามความมุ่งหมายของตนเอง
- เป็นตัวของตัวเองสูง คิด ทำ สร้างสรรค์ด้วยตนเอง
- มีภาวะแห่งความเป็นผู้นำสูง
- ไม่โอนเอนไปตามคำติชม
- มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง มีความรู้สึกว่าอบอุ่นไม่เว้าเห่วต้องหาที่พึ่งเพื่อความปลอดภัย
-ไม่เกียจคร้าน อ่อนแอ ขี้ขลาด ลังเล
- สร้างวีรบุรุษ สร้างประวัติศาสตร์ของตนเองในประวัติศาสตร์โลก
- คนที่ยึดศีลธรรมแบบนายก็มีความเห็นแก่ตัว คือ เห็นแก่ตัวในทางที่จะพัฒนาตนเองสู่ภาวะอภิมนุษย์ จึงเน้นตัวเองเป็นหลักก่อน
- การยึดมั่นในศีลธรรมแบบนายก็เพื่อความมีเจตจำนงที่จะมีอำนาจ คือการเป็น superman ถือเป็นเป้าหมายสูงสุด
- เป็นหลักสำคัญในศีลธรรมทั้ง ๒ ระบบ แต่ต่างกันในระดับเข็มข้น
- เป็นพื้นฐานแห่งศีลธรรมทุกระบบคือ แบบนาย-ก็มีมาก แบบทาส-ก็มีน้อย
- คืออำนาจที่จะชนะใจตนเอง ไม่ใช่อำนาจเพื่อทำลาย กดขี่ข่มเหงคนอื่น
- อำนาจคือจุดหมายของการประพฤติศีลธรรม
- เป็นเป้าหมายสุดท้ายของความพยายามของมนุษย์ คือ ประพฤติศีลธรรมเพื่อมีอำนาจ
- เป็นหลักการพัฒนาตนเองอย่างมีหยุดหย่อนจนถึงการเป็นอภิมนุษย์
- เจตจำนงที่จะมีอำนาจนี้คือรูปแบบแห่งความพอใจ เป็นความสุขในตัวเอง ผลที่ตามมาอย่างอื่นคือความเป็นผลพลอยได้
- คนที่พยายามดิ้นรนต่อสู่เพื่อคนอื่น แท้ที่จริงก็เพื่อมีอำนาจของตนเอง ไม่ใช่นำไปเพื่อความเพลิดเพลิน
- ทุกๆ ชีวิตมีอำนาจ สัตว์มีอำนาจแต่มีน้อยกว่ามนุษย์ และในระหว่างมนุษย์ด้วยกันแต่ละคนก็มีอำนาจ
- ในระดับที่ต่างกัน นิตเช่เห็นว่า นักบวช มีอำนาจมากที่สุด
- มีอิสรภาพ มีเหตุผลเป็นที่พึงของคนอื่นได้
คำถาม
ข้อ 1. จงแสดงความหมายของประโยคที่ว่า ศีลธรรมแบบทาส มักถูกค้นพบในคนที่ไม่ใช่ทาษ
ข้อ 2. จงอธิบายความเห็นแก่ตัวของนักบวชและนักปกครองมีความแตกต่างกันอย่างไร
________________________________________
[1] ทาส : น. ผู้อุทิศตนแก่สิ่งที่เลื่อมใสศรัทธา เช่น ทาสความรู้, ผุ้ที่ยอมตนให้ตกอยู่ในอำนาจสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น ทาสการพนัน เป็นทาสยาเสพติด เป็นทาสความรัก เป็นทาสเงิน ; บ่าวทั่วไป, ผู้ที่ขายตัวลงเป็นคนรับใช้หรือที่นายเงินไถ่ค่าตัวมา เรียกว่าทาสน้ำเงิน ผู้ที่เป็นคนเชลย เรียกว่า ทาสเชลย .. พจนานุกรมฯ หน้า 398.
[2] ศักยภาพ (ปรัชญา) น. ภาวะแฝง, อำนาจหรือคุณสมบัติที่มีแฝงอยู่ในสิ่งต่างๆ อาจทำให้พัฒนาหรือให้ปรากฏเป็นสิ่งประจักษ์ได้. พจนานุกรมฯ หน้า 768
รวบรวมเรียบเรียงโดย ดร. สมบูรณ์ วัฒนะ
ที่มา http://buddhistphilo.blogspot.com/