ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

             วันหนึ่งมีภารกิจที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ศาลายา อำเภอพุทธมณฑล นครปฐม บังเอิญได้พบกับผู้เขียนบทความเรื่อง “ความรัก”ที่นำเผยแผ่ในเว็บไซต์ของนักศึกษาไทยในเดลี ประเทศอินเดีย จึงได้เอ่ยปากขอบทความเรื่องนี้มาเผยแผ่ เพราะเห็นว่ามีเนื้อหาสาระที่ครอบคลุมเรื่องของความรักได้แทบทุกแง่มุม ท่านอนุญาตให้นำเผยแผ่ในไซเบอร์วนารามได้ หากใครต้องการนำบทความไปเผยแผ่เพื่อเป็นวิทยาทานจริงๆติดต่อผ่านเว็บมาสเตอร์ไซเบอร์วนารามผู้ที่ไม่ค่อยเข้าใจเรื่องความรักมากนักเป็นการส่วนตัวได้ จะได้ติดต่อกับผู้เขียนให้อีกที โปรดอ่านด้วยหัวใจแห่งความรัก
1. เกริ่นนำ
             ในชีวิตจริง ๆ ของคนเราล้วนมีอะไรมากมายที่ต้องประสบพบเจอ มีเรื่องหลายเรื่องให้เราต้องตัดสินใจอยู่ตลอดเวลา การตัดสินใจหรือประเมินอะไรต่าง ๆ บางครั้งก็ผิดพลาด บางครั้งก็ถูกต้อง โดยในความถูกต้องหรือผิดพลาดนั้น ล้วนมีบทเรียนให้เราต้องนำกลับมาคิดพิจารณาอยู่เสมอ และก็น่าแปลกไปอีก ในการตัดสินใจเลือกนั้น เราจะต้องเจอะเจอกับความสมหวังหรือผิดหวังคละเคล้ากันไปเสมอ ในลักษณะเดียวกัน ความรู้สึกหรืออารมณ์ของคนเราที่ผู้เขียนจะนำมากล่าวต่อไปนี้ ก็มักตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นเหมือนกัน  โดยในขณะที่ตกอยู่ในอารมณ์ดังกล่าว มุมมองจากผู้อื่นหรือแม้กระทั่งของตัวเราเองก็อาจจะมีความแตกต่างกับการที่ไม่ตกอยู่ภายใต้อารมณ์ดังกล่าวก็ได้

             อารมณ์ที่ผู้เขียนกำลังจะกล่าวถึงอยู่นี้ก็คือการรู้สึกมีศรัทธา เชื่อมั่น ไว้ใจหรือวางใจในใครสักคนหนึ่ง กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คืออารมณ์ “รัก” นั่นเอง อารมณ์รักที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ ผู้เขียนจะไม่กล่าวโยงไปถึงความรู้สึกรักแบบพี่น้องหรือแบบญาติสายโลหิต จะนำมากล่าวเฉพาะเพียงความรู้สึกรักแบบหนุ่มสาวเท่านั้น ซึ่งความรักแบบหนุ่มสาวนี้ บางท่านก็บอกว่าเป็นอารมณ์ที่ผสมไปด้วยกามาหรือเป็นรักที่ประกอบไปด้วยความเห็นแก่ตัว แต่ก็มีอีกหลายท่านเช่นกันบอกว่ารักแบบหนุ่มสาวนี้สามารถสร้างสรรค์ให้เป็นกำลังในการทำอะไรดี ๆ เพื่อตัวเองและสังคมได้อีกตั้งมากมายหลายอย่าง 
             จากการกล่าวถึงความรักในมุมมองที่แตกต่างกันนี้ ในที่นี้ผู้เขียนจึงมีความประสงค์ที่จะแสวงหาเหตุผลในรักหรืออารมณ์รักที่แท้จริงมาเปิดเผยแก่พวกเรา ผู้ซึ่งกำลังแสวงหาอะไรบางอย่างเพื่อให้ชีวิตนี้เต็มบริบูรณ์ และให้พวกเราร่วมกันคิดพิจารณาหาคำตอบที่สมบูรณ์ที่สุดต่อไป

2. ความรัก : มุมมองทั่วไป
             สำหรับเรื่องอารมณ์ “รัก” นี้ ถ้าถามใครสักคนหนึ่งว่าคุณเคยรู้จักหรือสัมผัสไหม คำตอบที่ได้อาจจะมีไม่แตกต่างกันนัก บางคนอาจจะบอกว่าตนเองเคยอกหักหรือไม่สมหวังในรักมาแล้ว บางคนอาจจะบอกว่าไม่รู้ว่าอารมณ์ที่ตัวเองประสบพบเจออยู่นี้ใช่ความรักหรือเปล่า หรือแม้กระทั่ง ผู้มีความรักที่สมหวังก็อาจจะมีมุมมองในเรื่องความรักที่แตกต่างจากนี้ไปก็ได้ ฉะนั้น ในเรื่องอารมณ์แห่งรักที่แต่ละคนกำลังนำมาผสมผสานกับชีวิตนี้ จึงอาจมีมุมมองจากแต่ละคนที่แตกต่างกันไป เพราะในขณะที่แต่ละคนมีอารมณ์รักนี้ เหตุการณ์ในช่วงที่อารมณ์ดังกล่าวกำลังดำเนินไปก็อาจมีอิทธิพลต่อมุมมองในเรื่องความรักได้อีกแบบหนึ่ง หรือบางทีเหตุการณ์ในอดีตก่อนที่แต่ละบุคคลจะเจอะเจอกับความรักอาจจะทำให้มีมุมมองในเรื่องรักบิดเบี้ยวไปก็มีได้เหมือนกัน เช่น การครองชีวิตคู่ของพ่อแม่ที่มีแต่ความวุ่นวายหรือแตกร้าว กรณีนี้ก็มีส่วนทำให้มุมมองในเรื่องรักของลูก ๆ ไม่สมบูรณ์ได้เช่นกัน
             ความรักที่แต่ละคนในโลกนี้เข้าใจนั้นก็จะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง บางคนอาจจะเข้าใจว่าความรักคือการให้ก็มี ซึ่งนั่นก็อาจจะเป็นเพราะตั้งแต่เขาผู้นั้นเริ่มมีความรัก เขาก็ได้ทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งกำลังกายกำลังใจให้แก่คนที่เขารัก หรือบางคนอาจจะนิยามว่าความรักคือการเห็นแก่ตัวดี ๆ นี่เอง ซึ่งก็อาจจะถูกเหมือนกัน เพราะตั้งแต่เริ่มมีความรัก การคิด การทำ หรือพูดอะไรก็ตาม คนที่มีความรักก็จะมองไปถึงความรู้สึกของตนและของคนที่ตนรักก่อนอย่างอื่น ซึ่งโดยปกติทั่วไป ก่อนมีความรัก เขาผู้นั้นอาจจะไม่ได้คิดอย่างนี้เลยก็ได้ หรือแม้การบอกว่าความรักคือการมอบความเข้าใจระหว่างกันและกัน นี่ก็เป็นอีกหนึ่งนิยามที่เป็นการมองความรักในแง่การสร้างสรรค์ให้ความรักเป็นตัวสื่อให้เกิดความผูกพันระหว่างคนที่รักกัน หรือแม้การมองว่าความรักคือการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน ก็เป็นการมองความรักว่าเป็นตัวแปรให้เกิดการเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตร่วมกันก็ได้

             เฉพาะมุมมองเรื่องการเกิดความรักนี้ สามารถจำแนกได้เป็น 2 ประการ คือ 1. เกิดจากรูปกายภายนอก ประเด็นการเกิดความรักจากรูปกายภายนอกนี้สามารถอธิบายได้ง่าย เพราะความรักประเภทนี้ไม่ต้องอาศัยปัจจัยปรุงแต่งอะไรมากมาย เพียงแค่แต่ละฝ่ายหรือต่างฝ่ายต่างพอใจในรูปร่างของอีกฝ่ายหนึ่ง ความรู้สึกกระตุ้นต่อมรักก็จะงอกเงยได้ในทันทีทันใด ความรักประเภทนี้ไม่ต้องการคุณค่าหรือหลักความดีของแต่ละบุคคลมาวัดแต่อย่างใด 2. เกิดจากความประทับใจภายใน ประเด็นความรักประเภทนี้ก็คือการเกิดความประทับใจในคุณงามความดีของอีกฝ่าย โดยความดีที่อีกฝ่ายจะประทับใจนั้น สามารถดูได้จากพฤติกรรมที่เรียบร้อยทางกาย วาจา และใจที่อีกฝ่ายแสดงออกมานั่นเอง
             โดยสรุปแล้ว มุมมองเกี่ยวกับความรักนี้มีประเด็นที่น่าพิจารณาอยู่มากมาย แต่เฉพาะนิยามแห่งรักได้ปรากฏว่ามีนักปราชญ์กล่าวไว้ดังนี้  เดส์คาร์ตส์กล่าวว่าความรักคือความรู้สึกที่เกิดขึ้นมาจากมิตรภาพระหว่างเพศ,กิลเบอร์ดก็พูดไว้ว่าความรักคือสวนดอกไม้ที่ต้องรดด้วยน้ำตาแทนน้ำ,เชคสเปียร์พูดว่าความรักมักจะทำให้ชายหนุ่มหญิงสาวกระวนกระวายแสวงหาความจริงแท้ว่า “ความรักคืออะไร” แต่ครั้นรู้ความจริงแล้วก็พลันสำนึกได้ว่าเป็นธรรมดาโลกเรานี้เอง, เพลโต้บอกว่าความรักเป็นโรคจิตชนิดหนึ่งที่ร้ายแรง และเฟิร์ล เอสบัคเน้นย้ำว่าความรักไม่อาจจะบังคับโลมเล้าหรือยั่วยวนให้เกิดได้ มันเป็นสิ่งที่สวรรค์บันดาลให้โดยมิได้ขอร้องและมิได้แสวงหาแม้แต่น้อย

3. ความรักในพุทธปรัชญา : มุมมองจากอดีตชาติ (บุพฺเพวสนฺนิวาเสน)
             ประเด็นความรักนี้นับว่าเป็นเรื่องที่แปลกอยู่มากทีเดียว เพราะการสัมผัสกับความรักของแต่ละคนก็ล้วนมีเหตุปัจจัยที่แตกต่างกันไป กล่าวคือการเกิดความรู้สึกรักต่อบางสิ่งบางอย่างโดยเฉพาะต่อเพศตรงข้ามนั้นเป็นอะไรที่ยากต่อการหาเหตุผลมารองรับหรือยืนยันได้ ที่กล่าวเช่นนี้จะเห็นได้จากเวลาที่เรา ๆ ท่าน ๆ ทั้งหลายมอบความรักให้ใครสักคนหนึ่ง บางทีมีเหตุผลที่เป็นไปเพื่อหยุดความรักที่พิจารณาดูแล้วว่ามีน้ำหนักมากกว่ากว่าที่จะดำเนินผูกรักปักสวาทต่อไป  แต่เรา ๆ ท่าน ๆ ก็หยุดความรักไม่ได้    ความรู้สึกเกิดรักดังกล่าวนี้เราสามารถดูได้จากพระราชนิพนธ์เรื่องมัทนพาธาที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ไว้ เพื่อสอนใจนักรักทั้งหลายว่า “ความรักเหมือนโรคา บันดาลตาให้มืดมน ไม่ยินและไม่ยล อุปสัคคะใด ๆ ความรักเหมือนโคถึก กำลังคึกผิขังไว้ ก็โลดจากคอกไป บ่ยอมอยู่ ณ ที่ขัง ถึงหากจะผูกไว้ ก็ดึงไปด้วยกำลัง ยิ่งห้ามก็ยิ่งคลั่ง บ่หวนคิดถึงเจ็บตาย” 
             กรณีความรักที่เรามีต่อใครสักคนหนึ่งแบบไม่ฟังเหตุฟังเหตุ หรือแบบหัวปักหัวปำนี้ ถ้าเรานำเหตุผลเข้าไปจับโดยเฉพาะเหตุผลที่เกิดจากมุมมองพุทธปรัชญาแล้วสามารถกล่าวจำแนกได้เป็น 2 ประเด็น คือ ประเด็นแรก พิจารณาว่าความรักเกิดจากการกระตุ้นของกิเลสที่มีอยู่ภายในใจเราเอง ไม่ว่าจะเป็นกิเลสชนิดที่เรียกว่าความใคร่ (ตัณหา) หรือความหลงมัวเมา (โมหะ) ซึ่งบรรดาความรู้สึกที่ผสมปนเปด้วยกิเลสเหล่านี้ล้วนสร้างภาพจินตนาการรักจนทำให้เราหน้ามืดตามัวได้ ส่วนประเด็นที่สอง พิจารณาว่าความรักเกิดจากการได้กระทำกิจกรรม (ความดีและชั่ว) ในอดีตชาติร่วมกัน อนึ่ง อดีตชาติในที่นี้ขอพิจารณาว่าเน้นไปที่ความเชื่อว่าเรายังมีการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ตลอดไป ถ้าเรายังไม่สามารถตัดกิเลส กรรม และวิบากได้ เฉพาะประเด็นเรื่องความรักที่เกิดขึ้นเพราะแรงกรรมในอดีตชาตินี้ เป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนเป็นอย่างมาก เพราะเป็นความรู้สึกรักที่จะหาเหตุผลมาขนาบข้างได้ยากเต็มที เป็นความรักที่เกิดผุดขึ้นมาลอย ๆ เพียงแค่หูได้ยินเสียงตาได้เห็นรูปของเขาหรือเธอความรู้สึกรักดังกล่าวก็เกิดปะทุขึ้นภายในใจทันทีทันใด จะบอกจะกล่าวเพื่อให้พิจารณาให้ดีหรือให้มีความนิ่มนวลละเอียดละออมากขึ้นก็ไม่ได้ เป็นอาการที่จะหาอะไรมาฉุดมารั้งก็ไม่อยู่

             โดยสรุปแล้ว ความรักที่เกิดเนื่องจากอดีตชาตินี้   นับว่าเป็นความรู้สึกอะไร ๆ ที่เป็นส่วนตัว จะหามาตรวัดหรือเหตุผลเข้าไปจับหาได้ไม่ เป็นความรู้สึกที่ใครคนหนึ่งเกิดขึ้นกับใครคนหนึ่งโดยที่ใครคนหนึ่งจะนำเอาเหตุผล ความรู้สึกและประสบการณ์ส่วนตัวเข้าไปตัดสินไม่ได้เลย โดยถ้าจะให้กล่าวอย่างเบ็ดเสร็จลงไปแล้ว ความรักประเภทนี้ ดูเสมือนว่าจะสร้างรูปสร้างรอยหรือวาดวิมานในอากาศเสียมากกว่า (เหมือนในกรณีการดูดวงเพื่อให้ทราบว่าเนื้อคู่ของเราคือใคร เธอหรือเขาเกิดหรือยัง ถ้าเกิดแล้วตอนนี้อยู่ที่ไหน) และการที่เราจะตัดสินว่าคน ๆ นี้คือคู่ครองร่วมหอลงโลงในอดีตชาติของเรานั้นเป็นอะไรที่ประเมินยากมาก เพราะความรู้สึกแบบนี้จะต้องเกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่ว่าเรารู้สึกหรือเข้าใจไปเองว่าเขาหรือเธอคนนี้แหละคือคู่ครองของเราในอดีต มิฉะนั้นแล้ว จะกลายเป็นคู่เวรคู่กรรม (ไม่ดี) เสียมากกว่า 


4. ความรักในพุทธปรัชญา  :   มุมมองจากปัจจุบันชาติ     (ปจฺจุปฺปนฺนหิเตน)
             ความรู้สึกรักที่เกิดขึ้นเนื่องด้วยเพราะการช่วยเหลือเกื้อหนุนกันในปัจจุบันชาตินี้ นับว่าเป็นอะไรที่สังเกตหรือสัมผัสได้ง่ายทีเดียว โดยให้พิจารณามองดูจากการกระทำระหว่างกันและกันได้เลย กล่าวคือการจะประเมินหรือตัดสินว่าเขาหรือเธอคนนั้นมีความรู้สึกดี ๆ (รัก) กับเราก็สามารถดูได้จากพฤติกรรมภายนอกไปหาภายในใจของเขาหรือเธอได้ ไม่ว่าจะดูจากการกระทำทางกาย อาทิเช่น การช่วยเหลือเกื้อกูล หรือดูจากการพูดการจาก็ได้ เฉพาะที่ให้ดูจากการพูดนี้ก็พิจารณาได้ง่ายเช่นกัน เพราะคนที่รักกันจะมีคำพูดที่ประกอบด้วยความอ่อนหวาน (ยกเว้นผู้ที่พูดกระด้างจนเป็นนิสัย) ปราศจากการใช้วาจาที่รุนแรงหรือวาจาที่ทำลายน้ำจิตน้ำใจคนรัก ส่วนที่ให้ดูจากใจของเขานั้นว่ามีความรักต่อเราหรือไม่ก็ไม่ยากเหมือนกันคือก็ให้ดูจากการพูดและการกระทำของเขานั่นแหละ ถ้าเขาแสดงการไม่สนใจใยดีหรือเวลาสนทนาก็ให้น้ำหนักกับเราน้อยมาก นี้ก็แสดงให้เห็นว่าภายในใจเขาหรือเธอไม่มีคุณอยู่แน่นอน
             ความรักที่เกิดขึ้นจากการเกื้อหนุนกันในปัจจุบันชาตินี้ ถ้ามองจากหลักพุทธปรัชญาแล้วก็สามารถพิจารณาการเกิดได้เป็น 2 แนวทางเหมือนกัน กล่าวคือ  
             1. มองว่าเกิดจากจินตนาการภายในจิตใจหรือกิเลสภายในใจของเราเอง พูดให้สั้นเข้าก็คือคุณหรือผมเองถ้ารู้สึกว่ามีความยินดีเป็นพิเศษกับใครสักคนนั้น เราต้องยอมรับเป็นเบื้องต้นก่อนว่าการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันและกันนั้น สามารถทำให้เราสร้างจินตนาการไปต่าง ๆ ได้ โดยการจินตนาการนั้นจะแรงหรือเบาก็ขึ้นอยู่กับว่าเราประทับใจเขาหรือเธอมากน้อยเพียงใด ถ้าสนใจหรือจินตนาการถึงเขาหรือเธอในแง่ดีมาก ๆ ความรักก็จะรุนแรงเอาการอยู่เหมือนกัน 
             2. มองว่าเกิดจากการได้ร่วมสุขร่วมทุกข์ด้วยกันในปัจจุบันชาติ ประเด็นนี้ผู้เขียนขอยกน้ำหนักไปที่กรณีร่วมทุกข์ (ในพุทธปรัชญาถือว่าสุขคือนิยามหนึ่งของทุกข์)เป็นความรักที่ยั่งยืนที่สุด เพราะในความเป็นจริงของชีวิตแล้ว เราต้องยอมรับว่าความสุขเป็นอะไรที่ทุกคนต้องการ ส่วนความทุกข์เป็นอะไรบางอย่างที่ทุกคนไม่ต้องการประสบพบเจอ หรือต้องการหลีกหนีเสียให้ไกลถ้าเป็นไปได้ ฉะนั้น ความรักที่ผลิบานอยู่บนการมองเห็นหรือร่วมความทุกข์ระหว่างกันและกัน ผู้เขียนเชื่อว่าจะเป็นความรักที่มั่นคงมากกว่า อนึ่ง เพราะความรักที่เกิดจากการร่วมทุกข์ในปัจจุบันชาตินี้ เป็นอะไรที่มั่นคงกว่าความรักที่เกิดจากความสุขนี้ เราสามารถวัดดูได้จากกรณีความรักที่มีมุมมองดีเกินไป (มองโลกในแง่เดียว)

              กล่าวคือจริง ๆ แล้ว คนเรานั้นมีทั้งดีและชั่ว การที่ใครคนใดคนหนึ่งจะมีความชั่วหรือดีอย่างเดียวนั้นนับว่าเป็นอะไรที่แปลกเอาการอยู่เหมือนกัน โดยพื้นฐานแล้วความดีและชั่วนี้เป็นอะไรที่ไม่ห่างกันสักเท่าไหร่ เพียงแค่ท่านทำดี ท่านก็จะไม่ชั่ว หรือเพียงแค่ท่านทำชั่ว ท่านก็จะไม่ใช่คนดี (ถ้าท่านไม่กลัว ท่านก็จะไม่กล้า เพราะท่านกลัว ท่านจึงมีความกล้า) ประเด็นนี้ได้มีนักปราชญ์ชื่อเอปิคเคตุสกล่าวเป็นสุนทรพจน์อย่างน่าจับใจไว้ว่า “ถ้าท่านอยากจะเป็นคนดีหละก็ อย่างแรกสุด ท่านต้องเชื่อก่อนว่าท่านยังเลวอยู่” (It you would be good, first believe that you are bad.)  เหมือนในกรณีการแก้ไขปัญหาสังคมทั่ว ๆ ไป ถ้าตราบใดเราไม่ยอมรับ เราก็จะไม่ลงมือทำ เช่น ถ้าประเทศไทยเราต้องการแก้ปัญหาโสเภณีหละก็อย่างแรกสุด ประเทศไทยเราต้องยอมรับก่อนว่าโสเภณีคือปัญหาที่เราต้องแก้ไข เพราะถ้าเราไม่ยอมรับว่าโสเภณีเป็นปัญหาเราก็จะไม่แก้ไขอยู่ดี เรื่องความรักนี้ก็เช่นกัน ถ้าอีกฝ่ายมองดูเฉพาะด้านเด่น (บวก) ของอีกฝ่ายเท่านั้น โดยไม่ยอมเรียนรู้ที่จะยอมรับด้านด้อย (ลบ) ของอีกฝ่าย  เพียงการมองเท่านี้ ผู้เขียนเชื่อว่าความรักที่เกิดจากการมองเพียงด้านบวกหรือดีด้านเดียวนั้นยังไม่ใช่การยอมรับอีกฝ่ายหนึ่งอย่างแท้จริง เพราะถ้าในวันใดวันหนึ่งข้างหน้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแสดงบทบาทด้านลบเป็นบทเด่นแล้วหละก็สงสัยว่าความรักคงขาดสะบั้นอย่างมิต้องสงสัยกันต่อไป
             ฉะนั้น ความรักที่เกิดจากการช่วยเหลือหรือประคับประคองกันในปัจจุบันชาตินี้ ถ้าให้ผู้เขียนฟันธงลงไปว่าเป็นอย่างไรกันแน่ สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนอยากจะกล่าวเสริมไว้ในที่นี้ก็คือความรักประเภทนี้หาความแน่นอนยากมาก เพราะเป็นความรักที่อาศัยการหนุนนำระหว่างกันและกันในปัจจุบัน มันเป็นเหมือนกับการเติมเต็มทางอารมณ์ให้แก่กันและกัน โดยการเติมเต็มนี้ต้องมีศิลปะในการเติมคือไม่เติมอารมณ์รักให้มากเกินไป หรือไม่เติมอารมณ์รักน้อยเกินไป เติมอารมณ์รักให้พอดี ๆ กล่าวคือเติมเสน่ห์ทางกาย วาจา และใจให้อยู่ตรงทางสายกลางเสมอ ไม่ใจร้อนเกินไป ไม่ใจเย็นเกินไป ส่วนถ้าถามว่าอย่างไรจึงจะถือว่าทำความรักให้พอดี คำถามนี้ผู้เขียนก็ขอให้เราท่านทั้งหลายที่มีความรักวัด หรือประเมินกันเองดีกว่าว่าจะเติมอารมณ์สักเท่าไหร่ (กี่ร้อยเล่มเกวียน) จึงจะพอดีกับคนที่เรารัก 

5. ความรักในพุทธปรัชญา : มุมมองจากทางสายกลาง   
             เราท่านทั้งหลายก็ทราบกันอยู่แล้วว่า เรื่องความรักนี้เป็นอารมณ์อะไรบางอย่างที่หาเหตุผลหรือหาบันทัดฐานในการตัดสินไม่ได้เลย กล่าวคือเมื่อมีใครบางคนที่คุณรู้จักเริ่มมีความรักกับใครบางคน เราซึ่งเป็นบุคคลที่สามหรือเป็นคนภายนอกรักจะนำความคิดหรือเหตุผลของเราไปเสนอแนะหรือตัดสินนั้นยากเต็มที เขาและเธอรักกันเพราะทั้งสองมีเหตุผลที่เข้ากันได้ ซึ่งนั่นก็คือเขาทั้งสองมีอุดมการณ์ที่ไปในทิศทางเดียวกัน พูดง่าย ๆ ก็คือพูดภาษา (รัก)แบบเดียวกันนั่นเอง เป็นต้นว่าเขาชี้นกเป็นไม้ เธอก็ต้องบอกว่าเป็นไม้ ตรงกันข้าม ถ้าเขาชี้นกบอกว่าเป็นไม้ แต่เธอกลับบอกว่าเป็นนกอยู่ คงไม่ต้องให้ผู้เขียนพูดนะว่าอะไรจะเกิดขึ้นตามมา
             อนึ่ง ในทางพุทธปรัชญามีคำตอบให้สำหรับเรื่องความรักนี้เหมือนกันกับกรณีอื่น ๆ เช่นกัน ถึงแม้ว่าพุทธปรัชญาในความเป็นจริงแล้วจะเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นเรื่องของคำสอนของท่านผู้ประกอบด้วยเหตุผลที่สุดก็ตาม  อันที่จริงเรื่องความรักนี้เป็นเรื่องที่ประกอบด้วยเหตุผลก็ใช่จะว่าเป็นเรื่องไร้เหตุผลก็ได้ ส่วนทางด้านพุทธปรัชญาเมื่อกล่าวถึงที่สุดแล้วก็ยังมีคำตอบให้กับทุกเรื่องเสมอ และเรื่องความรักนี้พุทธปรัชญาก็มีคำตอบให้ไว้ดังนี้ 

             1. ให้มองเห็นถึงความแตกต่างด้านวัตถุสิ่งของ กล่าวคือเราต้องยอมรับว่าเป็นกฎสากลเลยทีเดียวว่า คนเราเกิดมาแล้วการที่จะให้ทุกคนมีฐานะทางสังคม (เฉพาะด้านวัตถุ) เสมอเหมือนกันหมดนั้นคงเป็นเรื่องที่ยากเต็มที ซึ่งถ้าเราเข้าใจในประเด็นนี้ สถานภาพทางสังคมก็จะมาปิดกั้นความรักมิได้เลย ความรักที่ทุกคนมองว่าเป็นความรักที่สากลก็จะกลายเป็นเรื่องที่สากลจริง ๆ มิฉะนั้นแล้ว ความรักก็จะกลายเป็นแค่เครื่องหมายแห่งการแข่งขันทางวรรณะในสังคมได้อีกวิธีหนึ่ง 
             2.ให้มองเห็นถึงความแตกต่างด้านคุณธรรม กล่าวคือตามหลักพุทธปรัชญามีคำสอนว่าคนเราจะสามารถผูกรักปักสวาทกับเพศตรงข้ามได้ดี เพราะมีความเสมอภาคต่อกันและกันในคุณธรรม 4 ประการต่อไปนี้ 
             1. มีความเชื่อที่เสมอกัน (สัทธา) ได้แก่ มีศรัทธาในความจริงสูงสุดเหมือนกัน นับถือในบางสิ่งบางอย่างเหมือนกัน มีวัฒนธรรมในการกิน เที่ยว พูด ดื่ม ละเล่น และนอนเหมือน ๆ กัน 
             2. มีความบริสุทธิ์เสมอกัน (สีละ) ได้แก่ มีความสะอาดเหมือนกัน กล่าวคือมีความสะอาดทางกาย อันประกอบด้วยการไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ และไม่ประพฤติผิดในลูกเมียสามีของคนอื่น มีความสะอาดทางวาจา อันประกอบไปด้วยการไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ และมีความสะอาดทางใจ ซึ่งประกอบไปด้วยความไม่ละโมบโลภมาก ไม่พยาบาทปองร้ายคนอื่น และการไม่เห็นผิดแผกไปจากทำนองคลองธรรม พูดให้ง่ายเข้าก็คือมีพฤติกรรมทางกาย วาจา และทางความคิดไม่แตกต่างกัน 
             3. มีการบริจาคเสมอกัน (จาคะ) ได้แก่ มีการเสียสละในบางสิ่งบางอย่างเสมอเหมือนกัน ไม่ใช่คนหนึ่งตระหนี่ถี่เหนียว ส่วนอีกคนหนึ่งบริจาคแล้วบริจาคเล่า นี่ก็ถือว่ามีความขัดแย้งกันทางการบริจาคแน่นอน 
             4.มีเหตุผลเสมอกัน (ปัญญา) ได้แก่ มีความรู้หรือมีการศึกษาไม่ห่างกัน อนึ่ง ถ้าพูดให้ทันยุคทันสมัยหน่อยก็คงต้องกล่าวว่ามีวุฒิบัตร เกียรติบัตร หรือปริญญาบัตรรับรองเหมือนกัน เช่น จบปริญญาโทเหมือนกัน เป็นต้น ไม่ใช่คนหนึ่งจบปริญญาเอก แต่อีกคนจบชั้นประถมศึกษาปีที่  4 การพูดเช่นนี้ไม่ใช่ว่าผู้เขียนดูถูกดูแคลนผู้จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แต่ผู้เขียนพยายามแสดงให้เห็นในที่นี้ว่าปัญญา หรือปริญญาก็มีส่วนต่อการตัดสินใจรักใครสักคนก็ได้ ฉะนั้น นับว่าเป็นเรื่องยากเต็มทีที่จะหาคนที่มีคุณธรรมครบทั้ง 4ประการเหมือนกัน ในที่นี้ผู้เขียนจึงของเสนอว่าแค่มีความเข้าใจถึงอีกคนว่ามีความแตกต่างกันในแง่คุณธรรมก็ถือว่าดีพอสมควรแล้ว

6. ผลสรุป
             ตามที่กล่าวมาทั้งหมด ก็คงเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าความรักก็คือความรู้สึกอะไรบางอย่างที่เขาหรือเธอมอบให้แก่กันและกัน โดยเหตุผลตามหลักพุทธปรัชญาแล้ว    ความรักจะเกิดขึ้นแก่เขาและเธอได้ก็เพราะอาศัยเหตุปัจจัย   2  ประการ คือ 
             1. เพราะเคยร่วมสร้างกรรม (ดีหรือชั่ว) ในอดีตชาติ และ 
             2. เพราะได้ประกอบกิจกรรมดีหรือไม่ดีในปัจจุบันชาติร่วมกัน แต่ผู้เขียนเข้าใจว่ากิจกรรมดีเท่านั้นจึงจะสามารถคงความรักไว้ได้นานที่สุด (ปุพฺเพว สนฺนิวาเสน ปจฺจุปฺปนฺนหิเตน วา เอวนฺตํ ชายเต เปมํ อุปฺปลํว ยโถทเกติ) ดังนั้น โดยภาพรวมแล้ว ความรักไม่ว่าจะเป็นรักแบบมีอดีตชาติหนุนนำหรือรักแบบมีปัจจุบันชาติส่งเสริม ก็ถือได้ว่าเป็นที่น่ายินดีทั้งนั้น แต่ท้ายสุดแล้วความรักที่ประกอบด้วยเหตุผลหรือปัญญาเท่านั้น จึงจะเป็นรักที่สวยงาม เป็นรักที่อ่อนหวานนิ่มนวล ไม่แข็งกระด้าง เป็นรักที่ช่วยส่งเสริมคุณค่าให้กับจิตวิญญาณอย่างแท้จริง เป็นรักที่จริงจังจริงใจ เป็นรักที่มีอุดมการณ์ที่สมบูรณ์แบบ และเป็นรักที่เป็นอมตะที่สุด 


 

P.M. Amatmontree
ที่มา:  
http://www.thaitsg.net/
14/10/53

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก