เริ่มที่อานันทเจดีย์แต่ไม่มีจุดจบ
วัดแรกที่ได้ยลคืออานันทวิหาร ตามประวัตกล่าวไว้ว่าสร้างขึ้นโดยพระเจ้าจันสิตตาหรือพระเจ้าครรชิต สาเหตุที่สร้างเพราะความเมตตาจากพระสงฆ์จากอินเดีย 8 รูปซึ่งลี้ภัยจากการกดขี่ของฮินดูมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารและได้พรรณาถึงพระอารามที่ภูเขานันทมูลในอินเดีย จนเป็นแรงบันดาลใจให้พระเจ้าจันสิตตาสร้างวิหารขึ้นในปีพุทธศักราช 1634 ตามแบบวัดนันทมูลและพระราชทานนามว่าอานันทวิหาร และอีกนัยหนึ่งอาจจะมาจากคำว่า “อนันต์” อันบ่งบอกถึงว่าวิหารนี้จะคงอยู่คู่พุกามเป็นนิรันด์รตลอดอนันตกาล หรือมาจากนามของพระอานนท์พุทธอุปัฏฐาก อานันทวิหารเป็นพระเจดีย์ที่สามารถเดินเข้าไปข้างในได้ แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสมีมุขยื่นทั้งสี่ทิศ ประตูทางเข้าเป็นประตูโค้ง สองข้างทางมีร้านค้าขายของที่ระลึก ด้านนอกมีสระน้ำทั้งสี่ด้าน หากมองที่ขอบสระสามารถเห็นเงาสะท้อนของวิหารได้อย่างชัดเจน อันจะเกิดความงามอย่างประหลาด ความรู้เรื่องสระน้ำนี้ต้องจ่ายเงินหนึ่งพันจั๊ตเพื่อซื้อภาพเจดีย์ในพุกามจากเด็กพม่านามว่าหม่องจาโม แต่วันที่ได้ไปดูนั้นอากาศร้อนมาก ต้องเดินเท้าเปล่ากลางเปลวแดดไปยังสระน้ำ ช่างเป็นความทรมานที่เปี่ยมสุข
ด้านในองค์เจดีย์ องค์วิหารมีความกว้างด้านละ 61 เมตรสูง 51 เมตร ภายในเป็นอุโมงค์เดินถึงกันได้โดยรอบ ภายในองค์เจดีย์ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนแกะสลักจากไม้สูง 9.50 เมตรทั้งสี่ด้านอันหมายถึงพระพุทธเจ้าทั้งสี่คือด้านทิศเหนือได้แก่พระกกุสันโธพุทธเจ้า ทิศตะวันออกพระโกนาคมน์พุทธเจ้า ทิศใต้คือพระกัสสปพุทธเจ้า ที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่าพระยิ้มพระบึ้ง เพราะถ้ามองห่างๆจะเห็นเหมือนท่านกำลังยิ้ม แต่พอเข้าใกล้พระพักตร์ท่านกลับเรียบเฉยเหมืออยู่ในสมาธิ ส่วนทิศตะวันตกคือพระโคตมพุทธเจ้า
เจดีย์องค์แรกพอจดจำจากการบรรยายและอ่านจากป้ายประวัติของวัดได้ แต่พอวัดต่อๆไปเริ่มมึนงงสับสนได้แต่ถ่ายภาพจากป้ายหน้าวัดซึ่งด้านหน้าเป็นภาษาพม่า แต่มีลูกศรเล็กที่ดานข้างแผ่นป้ายว่าภาษาอังกฤษอยู่ด้านหลัง ทำให้อดนึกไม่ได้ว่าบ้านนี้เมืองนี้ช่างรังเกียจอังกฤษเสียจริง แม้แต่ภาษาก็ไม่อยากจะนำมาแสดงไว้ด้านหน้า
มีใครบางคนในคณะถึงกับถ่ายภาพเจดีย์พินยาทุกแง่มุม เพราะท่านบอกว่าได้คำตอบแล้วว่ายอดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ที่สมบูรณ์ควรจะเป็นอย่างไร เพราะรูปทรงเจดีย์ทุกอย่างคล้ายคลึงกัน ผิดกันแต่ว่าเจดีย์หลวงไม่มียอด แต่เจดีย์พินยามียอดที่สมบูรณ์ หากคิดจะบูรณะซ่อมแซมควรยึดตามแบบเจดีย์พินยาในพุกาม
การเที่ยวชมเจดีย์ในพุกามนั้นปัจจุบันมีให้บริการหลายทางเช่นรถยนต์ นั่งรถม้า ปั่นจักรยาน มอเตอร์ไชด์และวิธีหนึ่งที่ย้อนยุคมากที่สุดคือนั่งเกวียนชมเจดีย์ บางแห่งต้องอาศัยช่วงเวลาจึงจะเกิดความงามเช่นเจดีย์ชเวซันดอ ต้องดูช่วงพระอาทิตย์ขึ้นหรือช่วงเย็นพระอาทิตย์ตกจะงดงามเป็นพิเศษ ยิ่งถ้าได้ขึ้นไปบนเจดีย์แล้วมองลงมาพร้อมกับดวงอาทิตย์ที่กำลังเคลื่อนลงทางทิศตะวันตก แสงสีทองค่อยๆจางหายไป เงาทะมึนแห่งเจดีย์เหมือนหนึ่งกำลังสถิตย์อยู่อยู่ในสรวงสวรรค์วิมาน
วัดสถูปเจดีย์จำนวนมากเหล่านี้หากจะเข้าชมพร้อมทั้งศึกษาประวัติคงต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปีแต่เรามีเวลาเพีบยงหนึ่งวันครึ่งจึงเข้าชมได้เพียงบางแห่งเช่นอานันทเจดีย์ เจดีย์ธาตุพินยา เจดีย์จุฬามณี เจดีย์ธัมมยันยี เจดีย์ชเวซันดอร์ เจดีย์โลกนาถ เจดีย์มนูหะ เจดีย์พูพยา พระอุโบสถอุปาลี และเจดีย์ชเวสิกองฯลฯ การท่องทัศนาดงเจดีย์ในครั้งนี้สุดท้ายเลยจำไม่ได้ว่าไปชมเจดีย์ใดบ้าง ใครเป็นผู้สร้าง และสร้างเมื่อปีพุทธศักราชเทาใด ได้แต่ถ่ายภาพประวัติของเจดีย์แต่ละแห่งเก็บไว้ และการเที่ยวชมในครั้งนี้สิ้นสุดลงที่เจดีย์องค์ไหน จำได้เพียงจุดเริ่มต้นที่อานันทเจดีย์ จึงเป็นการท่องเจดีย์ที่ไม่มีที่สิ้นสุดดุจดั่งเป็นอนันตกาลนั่นแล
อาณาจักรพุกามมีอำนาจอยู่ราว 243 ปี และสิ้นอำนาจลงเมื่อปีพุทธศักราช 1830 ตรงกับรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งราชวงศ์สุโขทัย พระสงฆ์มักจะมีอิทธิพลควบคู่กับสถาบันพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด แม้แต่ฝรั่งก็ยังมีบันทึกไว้ว่า “สถาบันคู่ขนานของรัฐบาลพม่าคือความเชื่อในพระพุทธศาสนาและคณะพระสงฆ์ ตามปกติสถาบันนี้จะอยู่ในฐานะที่ด้อยกว่า แต่เมื่อใดที่รัฐอ่อนแอ สถาบันนี้ก็จะอยู่ในฐานะที่ท้าทายอำนาจรัฐทันที ทั้งนี้เพราะสถาบันสงฆ์ใกล้ชิดประชาชนมากกว่าและไม่มีท่าทีคุกคามอีกด้วย ดังนั้นแม้ราชวงศ์จะเปลี่ยนไปเช่นไร ในพม่าตอนกลางสถาบันสงฆ์เปรียบเสมือนสถาบันที่รักษาไว้ซึ่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางวัฒนธรรมและปราศจากผู้โต้แย้งหรือท้าทาย (โรเบิร์ต เอช.เทย์เลอร์,พรรณงาม เง่าธรรมสาร แปล,รัฐในพม่า,กรุงเทพฯ: มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย,2550,หน้า 22)
กษัตริย์ราชวงศ์พกาม
หม่องทินอ่องได้ระบุรายนามของกษัตริย์ในราชวงศ์พุกามไว้ดังนี้ (หม่องทินอ่ง,หน้า 345)
1.พระเจ้าอนุรุท ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 1587 - 1620
2.พระเจ้าสอลู (Sawlu) หรือ มังลูลาน (Man Lulan) ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 1620 - 1627
3. พระเจ้าครรชิต ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 1627 – 1655
4.พระเจ้าอลองสิธู ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 1655 - พ.ศ. 1710
5.พระเจ้านรสุ ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 1710 - 1713
6.พระเจ้านรสิงห์ ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 1713 - 1716
7.พระเจ้านรปติสิทธุ ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 1716 - 1753
8.พระเจ้านะดวงมยา ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 1753 - 1777
9.พระเจ้ากยัสสวาร ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 1777 - 1793
10.พระเจ้าอุชานะ ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 1793 - 1797
11.พระเจ้านรสีหบดี ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.1797-1830
12.พระเจ้ากยอชวา ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.1830-1841
13.พระเจ้าสอนิท ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.1841-1855
ประวัติศาสตร์แม้จะเป็นเรื่องที่ผ่านไปแล้ว แต่บางช่วงในปัจจุบันกลับมีส่วนคล้ายคลึงกับยุคสมัยในอดีต พม่านั้นมีเมืองหลวงมากมาย ผลัดเปลี่ยนกันเรืองอำนาจและล่มสลายไปเริ่มจากเมืองพุกาม(พ.ศ.1587-1855) เมืองปินยา (1855-1907) เมืองสะกาย(1858-1907)เมืองอังวะ(1907-2098)เมืองหงสาวดีมอญ(1830-2082)หงสาวดีพม่า (2082-2300)ตองอู(2029-2296)ชเวโบ (2295-2306) อังวะ(2306-2326) อมรปุระ (2326-2402)มัณฑะเลย์(2402-2428) พม่าเสียเอกราชให้กับอังกฤษและการปกครองด้วยกษัตริย์ก็สิ้นสุดลงในรัชสมัยของพระเจ้าสีบอ จากนั้นจึงย้ายเมืองหลวงมาที่ย่างกุ้ง ปัจจุบันย้ายเมืองหลวงใหม่ไปที่กรุงเนปิดอ เรื่องปีพุทธศักราชถือตามหนังสือประวัติศาสตร์พม่าของหม่องทินอ่อง
ยุคแห่งความรุ่งเรืองและความเสื่อมถอยย่อมแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา พม่าเคยมีกษัตริย์ปกครอง แต่ปัจจุบันปกครองด้วยทหาร ในขณะที่ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบกษัตริย์มาโดยตลอด แต่สิ่งหนึ่งที่เมียนมาร์ยังคงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมไว้ได้นั่นความความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทุกวันเรายังคงเห็นชายชาวเมียนมาร์นุ่งโสร่ง สุภาพสตรีนุ่งผ้าถุงไปวัดกันแทบทุกแห่งโดยเฉพาะที่เจดีย์ชเวดากองอันเปรียบเสมือนศูนย์รวมแห่งจิตวิญญาณของพุทธศาสนิกชนชาวเมียนมาร์
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
เรียบเรียง
พิมพ์เผยแผ่ที่ www.mbu.ac.th เมื่อ 20/03/52
แก้ไขปรับปรุงใหม่ 16/02/53
บรรณานุกรม
ไพโรจน์ โพธิ์ไทร,ภูมิหลังของพม่า,กรุงเทพฯ:โอเดียนร์สโตร์,2518.
โรเบิร์ต เอช.เทย์เลอร์,พรรณงาม เง่าธรรมสาร แปล,รัฐในพม่า,กรุงเทพฯ: มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย,2550.
ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล,ประวัติศาสตร์ศิลปะประเทศใกล้เคียง(พิมพ์ครั้งที่ 5),กรุงเทพฯ:มติชน,2549.
หม่องทินอ่อง(เพ็ชรี สุมิตร แปล ,ประวัติศาสตร์พม่า,กรุงเทพฯ:มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย,2551.
หลวงวิจิตวาท,ฟากฟ้าสาละวิน,กรุงเทพฯ:สร้างสรรค์บุ๊ค,2493.
อาทร จันทรวิมล,ประวัติศาสตร์ของชนชาติไทย,กรุงเทพฯ:จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2548.
Paul Strachan,Pagan,Scotland:Kiscadale,1990.