ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai


สร้างเจดีย์กันทำไม

               บัดนี้เรากำลังท่องอยู่ในยุคอาณาจักรพันปี แต่ก็ยังมีหลักฐานคือหมู่เจดีย์ต่างๆให้ศึกษาถึงความยิ่งใหญ่และความเลื่อมใสศรัทธาอันเกิดจากพระพุทธศาสนา ช่างเป็นสิ่งมหัศจรรย์เสียจริง ปัจจุบันยังมีเกวียนเทียมโคและรถม้าให้บริการแก่นักท่องเที่ยวอีก ในโลกยุคอินเตอร์เน็ตแทบจะไม่เคยคาดคิดว่าจะยังมีโลกอย่างนี้ให้เห็น
              ในเรื่องของประวัติศาสตร์พอหาอ่านกันได้ แต่การสร้างเจดีย์ถึงห้าพันองค์นั้นมีสาเหตุมาจากอะไรกันแน่ วัตถุประสงค์ในการสร้างเจดีย์ในพุกามนั้นไพโรจน์ โพธิ์ไทรได้สรุปไว้น่าสนใจว่า “กษัตริย์ในราชวงศ์พุกามทรงมีนิสัยตรงกันอย่างหนึ่งคือทรงสร้างวัดวาอาราม เจดีย์ โบสถ์ วิหาร ดูๆก็ทรงฝักใฝ่ในทางศาสนากันแทบทุกพระองค์ แต่ถ้าพิจารณาให้ลึกซึ้งบางองค์ก็ทรงมีพระประสงค์แตกต่างกันไปเช่นอย่างพระเจ้านรธูนั้นเหตุที่ทรงสร้างวัดสร้างโบสถ์ก็เพื่อเป็นการไถ่บาป เพราะพระองค์ทรงทำบาปไว้มากเช่นทรงทำปิตุฆาต  วางแผนปลงพระชนม์พระเชษฐาด้วยเหตุหวังสมบัติ และทรงหลอกลวงพระมหาเถรปันธากูให้ไปลวงพระเชษฐามาฆ่า(ไพโรจน์ โพธิ์ไทร,ภูมิหลังของพม่า,กรุงเทพฯ:โอเดียนร์สโตร์,2518,หน้า 56)

 

              เราได้เห็นศิลปะเจดีย์ในอดีตจากพุกาม แต่ก็ยังอธิบายตามหลักวิชาไม่ได้เพราะไม่ได้ศึกษามาทางนี้ แต่มีคำตอบจากศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ได้แบ่งศิลปะพม่าออกเป็น 5 ยุคคือ 
              1.ศิลปะปยุหรือพยู  ราวพุทธศตวรรษที่ 12-14 เมืองสำคัญคือเมืองไบก์ถาโน ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนกลางเมืองอาลิน ตั้งอยู่ทางทิศเหนือและเมืองศรีเกษตร หรือถะเยขิตตะยะ ตั้งอยู่ใกล้กับเมืองแปรใต้เมืองไบก์ถาโน      
              2. ศิลปะมอญ ได้แก่เมืองสุธัมมวดีหรือสะเทิมหรือถะทน ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ใกล้ปากแม่น้ำอิระวดี ส่วนเมืองหงสาวดีหรือพะโคนั้นสร้างขึ้นในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 14
              3.ศิลปะพม่าที่เมืองพุกาม พุทธศตวรรษที่ 16-18 อาจแบ่งได้เป็นสองแบบต่อเนื่องกันคือ (1) อิทธพลของศิลปะมอญ (2) ศิลปะพม่าอย่างแท้จริง กองทัพมองโกลแห่งประเทศจีนตีเมืองพุกามได้ใน พ.ศ. 1830 
              4. ศิลปะสมัยเมืองอังวะหรือรัตนปุระ พุทธศตวรรษที่ 22-24
              5.ศิลปะสมัยหลังคือสมัยเมืองอมรปุระและมัณฑะเลย์ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 24  จนถึงสมัยปัจจุบัน
              เมืองต่างๆเหล่านี้ล้วนตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำอิระวดีซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญของประเทศพม่ายกเว้นเมืองสะเทิม (ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล,ประวัติศาสตร์ศิลปะประเทศใกล้เคียง(พิมพ์ครั้งที่ 5),กรุงเทพฯ:มติชน,2549,หน้า 299)
              ดังนั้นหากจะศึกษาศิลปวัฒนธรรมของพระพุทธศาสนานอกจากอินเดียอันเป็นต้นกำเนิดแล้ว ในยุคหลังพุทธกาลก็ต้องไม่ลืมผนวกเอาอาณาจักรขอม มอญและพุกามเข้าไว้ด้วย
              ศิลปะเมืองพุกามเจริญรุ่งเรืองตามราชวงศ์พุกามถึง 243 ปี คาบเกี่ยวกับสมัยสุโขทัย จนกระทั่งเมื่อพุกามเสื่อมลงอาณาจักรสุโขทัยก็รุ่งเรือง เราจึงได้เห็นเจดีย์และพระพุทธศาสนาเถรวาทเกิดขึ้นในประเทศไทยสืบต่อมา แต่ทว่าเจดีย์ในเมืองไทยนั้นมีลักษณะที่แตกต่างไปบ้างจากเจดีย์ในพุกาม และไม่มีจำนวนมหาศาลขนาดที่เรียกว่าทะเลแห่งเจดีย์เหมือนในอาณาจักรพุกาม


              พุกามนั้นมองไปทางไหนเจอแต่เจดีย์ทั้งเล็กใหญ่ลดหลั่นสลับกันไปกินอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลจนสุดลูกตา มีคนเคยนับจำนวนเจดีย์ไว้ว่าน่ามีจำนวนเป็นหมื่นองค์ ไม่ทราบว่าพม่าสร้างเจดีย์ไว้ทำไม หลวงวิจิตวาทการเคยบอกไว้ในฟากฟ้าสาละวินว่า “พม่าไม่ได้สร้างเจดีย์แต่เฉพาะที่วัด เขาสร้างทุกหนทุกแห่ง การสร้างเจดีย์เป็นเครื่องหมายแห่งความมั่งคั่งมีหลักฐาน เป็นเครื่องหมายของเกียรติยศ (หลวงวิจิตวาทการ, ฟากฟ้าสาละวิน,กรุงเทพฯ:สร้างสรรค์บุ๊ค,หน้า 35) 
              ในขณะที่คนไทยที่มีฐานะมักจะสร้างศาลาการเปรียญหรือพระอุโบสถหรือพระพุทธรูป ดังนั้นพระอุโบสถของไทยจึงงดงาม ในขณะที่พม่าสร้างเจดีย์ ภายในเจดีย์มักจะมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ มีที่จุดเทียนธูปบูชา สามารถนั่งพักผ่อนหรือปฏิบัติกรรมฐานได้ ภายในเจดีย์บางแห่งจะมีพระภิกษุกำลังนั่งบำเพ็ญเพียร ถ้าภิกษุรูปใดต้องการปลีกวิเวกอยู่ตามเจดีย์ต่างๆในพุกามของหาตัวไม่พบ พม่าสร้างเจดีย์ประดับเกียรติยศข้อนี้ฟังขึ้น เพราะกษัตริย์พุกามเองก็นิยมสร้างเจดีย์ประจำรัชกาล พระมหากษัตริย์ไทยสร้างวัดและพระพุทธรูปประจำรัชกาล เมืองไทยจึงมีพระพุทธรูปมากมาย

เท้ายืนบนพื้นอย่างเข้มแข็งแต่วิญญาณมุ่งตรงสู่สวรรค์

              กษัตริย์ในราชวงศ์พุกามมีความเชื่อในการสร้างเจดีย์นั้นมีหลักฐานดังเช่น พระเจ้าอลองสิทธูทรงมีชื่อเสียงว่าเป็นกษัตริย์ใจบุญ ดังจะเห็นได้จากจารึกร้อยกรองภาษาบาลีที่ปรากฏในศาสนสถานที่งดงามที่สุดที่ทรงสร้างเช่นเจดีย์ชเวกุกยีเป็นต้น จารึกนั้นสรุปเหตุการณ์ที่สำคัญในพุทธประวัติและคำสอนของพระองค์ และกล่าวต่อไปถึงพระประสงค์ของกษัตริย์ว่า “การสร้างเจดีย์ย่อมได้บุญมาก แต่หากมีโอกาสเลือกผลบุญได้ ข้าฯย่อมไม่เลือกผลบุญเป็นส่วนตัว แต่จะแผ่ส่วนบุญให้ทุกชีวิต ข้าฯไม่ปารถนาจะเกิดเป็นพราหมณ์ เป็นเทพเจ้าที่ยิ่งใหญ่หรือเป็นวีรบุรุษ หรือข้าฯขะต้องการเกิดใหม่เป็นกษัตริย์ผู้มีอำนาจก็หาไม่  ข้าฯไม่สวดวิงวอนแม้แต่ขอให้เป็นพระอรหันต์ ข้าฯปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้า เมื่อข้าฯปรารถนาจะสร้างบารมีให้พ้นการเวียนว่ายตายเกิดเพื่อช่วยดึงมนุษยชาติที่กำลังเสื่อมให้รอดพ้นขึ้นมาและนำเขาเหล่านั้นไปยังนครแห่งความสงบชั่วนิรันดร์” (หม่องทินอ่อง,หน้า 46) 
              แม้แต่พระเจ้าอโนรธาก็ทรงสร้างเจดีย์ใหญ่ๆถึงสี่แห่งคือเจดีย์ชเวสิกอง เจดีย์ชเวซันดอ เจดีย์โลกนันทะ เจดีย์มยินกบา (Paul Strachan,Pagan,Scotland:Kiscadale,1990 p.42) ถ้ากษัตริย์แต่ละพระองค์สร้างเจดีย์เพียงพระองค์ละห้าเจดีย์ก็เกือบร้อยแล้ว รวมกับข้าราชชั้นผู้ใหญ่ พ่อค้า คฤหบดีอีกก็น่าจะเป็นเจดีย์นับพันองค์แล้ว


              ภายในเจดีย์โดยทั่วไปนั้นมักจะมีเสาปูนใหญ่เสาหนึ่งอยู่ตรงกลางเป็นที่รับน้ำหนักยอดเจดีย์ ทั้งสี่ด้านของเสานี้มีพระพุทธรูปใหญ่ตั้งหันหลังชนกัน มีระเบียงสี่ด้านมุ่งมาสู่ห้องนี้ ฝาผนังทุกด้านประดับด้วยภาพเขียนที่มีสีสันสดใสลายดอกไม้ เทพบุตร เทพธิดา และภาพพุทธประวัติ ตลอดจนชาดกต่างๆ บางครั้งก็มีภาพต่างๆของพระพุทธเจ้า จารึกอันหนึ่งกล่าวไว้ว่า มีภาพพระพุทธเจ้าประมาณ 14619 ภาพ วาดไว้บนกำแพงวัด มีที่เก็บอัฏฐิใต้ฐานเจดีย์รูปทึบ และตรงกลางในเจดีย์แบบกลวง ช่องเหล่านั้นปิดตายก่อนสร้างเจดีย์เสร็จ ในหอพระธาตุมีพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าและพระพุทธรูปเล็กๆ เป็นทอง เงิน งาช้าง แก้วและมณีมีค่าทั้งหลาย ทั้งสถูปและเจดีย์ตั้งบนฐานเตี้ยๆ ที่มั่นคง และปลายยอดแหลมทำให้เจดีย์แลเสมือนพุ่งไปสู่ท้องฟ้า ดังนั้นเจดีย์แต่ละแห่งแสดงลักษณะของชาวพุกามคือเท้ายืนบนพื้นอย่างเข้มแข็งแต่วิญญาณมุ่งตรงสู่สวรรค์ (หน้า 58) เป็นความเชื่ออย่างหนึ่งตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาเถรวาท เพราะชาติก่อนทำบุญมาน้อยจึงต้องประสบเคราะห์กรรมต่างๆ ชาตินี้ไม่เป็นไร แต่ชาติต่อไปขอเกิดในที่ที่ดีกว่า จึงเป็นหลักปรัชญาในการมองไปข้างหน้ามากกว่าที่จะมองย้อนไปในอดีต

              การสร้างวัดและเจดีย์ในยุคแรกเกิดจากศรัทธาซึ่งแตกต่างจากการสร้างปราสาทในนครวัดที่เกิดจากพระราชอำนาจหม่อยงทินอ่องยืนยันไว้ว่า “วัดต่างๆในพุกามนั้นมิได้เกณฑ์แรงงานคนมาสร้าง เป็นศรัทธาที่บริสุทธิ์และสามัญง่ายๆ และเมื่อสร้างวัดเสร็จแล้วก็อุทิศเป็นสมบัติสาธารณะ ผู้สร้างมักดูแลให้คนงานได้รับค่าจ้างและสวัสดิการที่ดี เพราะความสำเร็จในการสร้างขึ้นอยู่กับคนงานเหล่านั้น วัดต่างๆอาจสร้างโดยสมาคมซึ่งทุกคนมีเสรีภาพและเสมอภาคทั่วกัน (หน้า 58) แต่วัดที่เกณฑ์คนมาสร้างก็มีเช่นสมัยพระเจ้านรสุขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงให้สร้างเจดีย์ใหญ่นามว่าธัมมยังจี โดยการเกณฑ์ประชนมาสร้าง ซึ่งนับว่าเป็นเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในพม่า
              ขอมเกณฑ์คนมาสร้างปราสาทหิน แต่พุกามสร้างเจดีย์ด้วยพลังศรัทธา 

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก