ในคราวไปประชุมสมาคมมหาพระพระพุทธศาสนาเถรวาทที่เมืองสะกาย มัณฑเลย์ ประเทศเมียนมาร์ ขากลับมาแวะพักเที่ยวชมเจดีย์ที่พุกาม เกิดความประทับใจในความงามที่บรรพบุรุษของพม่าได้สร้างสรรค์ศิลปะแห่งเจดีย์ กระจายเต็มท้องทุ่ง กลายเป็นเหมือนกำลังเดินเที่ยวและหลงหายไปในทะเลแห่งเจดีย์ เคยมีนักวิชาการท่านหนึ่งกล่าวไว้ในทำนองว่า "หากไม่ไปนครวัดอย่าพึ่งตาย แต่หากใครไปพุกามแล้วนอนตายตาหลับได้" สิ่งมหัศจรรย์ทั้งสองแห่งนี้อยู่คนละด้านของประเทศไทย ควรหาโอกาสไปทัศนาสักครั้ง
หากเพ่งมองไปในทะเลจะเห็นความมหัศจรรย์ของน้ำกว้างใหญ่ไพศาลสุดลูกหูลูกตา ไม่รู้ว่าจุดที่สิ้นสุดอยู่ตรงไหน เพราะทะเลเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด แต่หากเรามองท้องทุ่งจะให้ความรู้สึกต่างกัน เพราะท้องทุ่งแม้จะกว้างใหญ่ไพศาลไม่ต่างจากทะเลเท่าใดนัก ท้องทุ่งก็มีที่สุดนั่นคือหมู่แมกไม้มาบดบังจนมองได้ไม่ไกล หากท่านมองไปยังท้องทุ่งที่เต็มไปด้วยเจดีย์มากมายเหลือคณานับ บางองค์เล็กบางองค์ใหญ่ สูงๆต่ำๆลดหลั่นกันไปจะเกิดความรู้สึกเช่นใด นอกจากคิดว่านี่คือท้องทุ่งที่เหมือนทะเล แต่เป็นทะเลแห่งเจดีย์ ที่แห่งนี้ยังมีในโลกนั่นคือพุกาม ทะเลแห่งเจดีย์
คำถามแรกที่ผุดขึ้นมาในใจคือใครคือผู้สร้างเจดีย์เหล่านี้ สร้างขึ้นมาตั้งแต่เมื่อใด และสร้างเพื่ออะไร เมื่อเห็นเจดีย์ทุกครั้งคำถามทั้งสามข้อก็มักจะวนเวียนขึ้นมาเสมอ ในคณะเราไม่มีไกด์นำเที่ยว ทุกคนต้องหาข้อมูลกันเอง การไม่มีผู้นำเที่ยวนับว่าเป็นข้อดีอย่างหนึ่ง เพราะเราต้องหาหนังสืออ่านเอง สอบถามจากผู้รู้และคอยเงี่ยงหูฟังไกด์คณะอื่นๆบรรยายบ้าง ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งมีเวลาบันทึกภาพได้มากที่สุด
ประวัติอาณาจักรพุกามโดยสังเขป
อาณาจักรพุกามนั้นตามบันทึกทางประวัติศาสตร์กล่าวไว้โดยสรุปว่า “ปีพุทธศักราช 1392 จึงมีหลักฐานถึงอาณาจักรอันทรงอำนาจซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองพุกาม โดยได้เข้ามาแทนที่ภาวะสุญญากาศทางอำนาจภายหลังจากการเสื่อมสลายไปของอาณาจักรชาวพยู อาณาจักรของชาวพุกามแต่แรกนั้นมิได้เติบโตขึ้นอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กระทั่งในรัชสมัยของพระเจ้าอโนรธา (พ.ศ. 1587 – 1620) พระองค์จึงสามารถรวบรวมแผ่นดินพม่าให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันสำเร็จ และเมื่อพระองค์ทรงตีเมืองสะเทิมของชาวมอญได้ในปีพุทธศักราช 1600 อาณาจักรพุกามก็กลายเป็นอาณาจักรที่เข้มแข็งที่สุดในดินแดนพม่า อาณาจักรพุกามมีความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้ากยันสิทธา (พ.ศ. 1624 – 1655) และพระเจ้าอลองสิทธู (พ.ศ. 1655 – 1710) ทำให้ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 17 ดินแดนในคาบสมุทรสุวรรณภูมิเกือบทั้งหมดถูกครอบครองโดยอาณาจักรเพียงสองแห่งคือเขมรและพุกาม อำนาจของอาณาจักรพุกามค่อยๆ เสื่อมลง ด้วยเหตุผลหลักสองประการ ส่วนหนึ่งจากการถูกเข้าครอบงำโดยของคณะสงฆ์ผู้มีอำนาจ และอีกส่วนหนึ่งจากการรุกรานของจักรวรรดิมองโกลที่เข้ามาทางตอนเหนือ พระเจ้านราธิหบดี (ครองราชย์ พ.ศ. 1779 – 1830) ได้ทรงนำทัพสู่ยุนนานเพื่อยับยั้งการขยายอำนาจของมองโกล แต่เมื่อพระองค์แพ้สงครามที่งาสองกยัน (Ngasaunggyan) ในปีพุทธศักราช 1820 ทัพของอาณาจักรพุกามก็ระส่ำระสายเกือบทั้งหมด พระเจ้านราธิหบดีถูกพระราชโอรสปลงพระชนม์ในปีพุทธศักราช 1830 กลายเป็นตัวเร่งที่ทำให้อาณาจักรมองโกลตัดสินใจรุกรานอาณาจักรพุกามในปีเดียวกันนั้น ภายหลังสงครามครั้งนี้ อาณาจักรมองโกลก็สามารถเข้าครอบครองดินแดนของอาณาจักรพุกามได้ทั้งหมด ราชวงศ์พุกามสิ้นสุดลงเมื่อมองโกลได้แต่งตั้งรัฐบาลหุ่นขึ้นบริหารดินแดนพม่าในปีพุทธศักราช 1832 (อาทร จันทรวิมล,ประวัติศาสตร์ของชนชาติไทย,กรุงเทพฯ:จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2548,หน้า 116)
นั่นเป็นประวัติย่อๆของอาณาจักรแห่งนี้ที่ผู้เขียนเป็นคนไทย รวบรวมจากเอกสารต่างๆและบันทึกไว้จากต้นจนจบด้วยอักษรเพียงไม่กี่บรรทัด อาณาจักรแห่งลุ่มน้ำอิรวดีอันยิ่งใหญ่ก็มีอันเสื่อมสลายไป แต่หากพม่าเขียนประวัติศาสตร์จะเป็นอย่างไร
ขอมและพุกามเสื่อมสุโขทัยรุ่งเรือง
อาณาจักรพุกามเสื่อมเพราะสองสาเหตุคือพระสงฆ์และมองโกล ยิ่งทำให้งงเข้าไปอีกพระสงฆ์ทำให้อาณาจักรถึงกับล่มสลายได้อย่างไรกัน คณะสงฆ์ที่มีอิทธิพลในสมัยนั้นคือนิกายอรัญญวาสี สมัยพระเจ้ากยัสวารได้ยึดที่ดินที่บรรพกษัตริย์ได้พระราชทานไว้ให้เป็นที่ธรณีสงฆ์ เพราะกรณีดังกล่าวนี้ก่อให้เกิดความไม่พอใจในหมู่สงฆ์นิกายอรัญญวาสีซึ่งขณะนั้นมาอยู่ในวัดใหญ่ๆและมาซื้อหาที่ดิน เพราะได้รับความนิยมจากประชาชนมากขึ้น พระสงฆ์นิกายนี้เลิกยึดถือความยากจน เริ่มหันมาเสพย์เหล้าผลไม้เป็นต้น ประชาชนต่อต้านการยึดที่ดินของสงฆ์(หม่องทินอ่อง(เพ็ชรี สุมิตร แปล ,ประวัติศาสตร์พม่า,กรุงเทพฯ:มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย,2551, หน้า 44)
เมื่อคณะสงฆ์ต่อต้าน และในช่วงนั้นเกิดกบฏขึ้นทั่วไป สมัยพระเจ้านรสีหบดีขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงให้สร้างเจดีย์ใหญ่ โดยการเกณฑ์ประชนมาสร้าง ในช่วงนั้นพม่าและเขมรกำลังเสื่อม พวกไทยใหญ่ขบถ มองโกลกำลังแผ่ขยายอำนาจ ในช่วงนั้นจึงเกิดอาณาจักรใหม่ๆขึ้นเช่นอาณาจักรไทยอาหม ค.ศ.1229 อาณาจักรเมืองนาย ค.ศ. 1223 มีทหารไทยคนหนึ่งรับราชการอยู่กับกษัตริย์เขมรและแต่งงานกับเจ้าหญิงเขมรตั้งตัวเป็นใหญ่ขึ้น หลังจากขับไล่ทหารเขมรออกไปแล้วจึงได้ตั้งอาณาจักรสุโขทัยขึ้น ค.ศ.1253 ตรงกับพุทธศักราช 1796 (หม่อง หน้า 66) แต่ตามหลักฐานประวัติศาสตร์ชาติไทยระบุว่า ปีพุทธศักราช 1792 พ่อขุนบางกลางหาวเจ้าเมืองบางยางและพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด ได้รวบรวมกำลังขับไล่ขุนนางขอมชื่อสบาดโขลญลำพงออกจากรุงสุโขทัยได้สำเร็จ กรุงสุดขทัยเป็นอิสระไม่ขึ้นกับขอมอีกต่อไปแล้วสถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ทำการปกครองแบบพ่อปกครองลูก โดยพ่อขุนบางกลางหาวได้รับการสถาปนาเป็น “พ่อขุนศรีอินทราทิตย์” (อาทร,หน้า 124)
อาณาจักรขอมและพุกามเสื่อม อาณาจักรสุโขทัยจึงกำเนิดขึ้น จากยุคสุโขทัยมาถึงปัจจุบันเป็นเวลา 760 ปีแล้ว เจดีย์ในพุกามสร้างก่อนหน้านั้นจึงมีอายุประมาณ 1000 ปี แต่สภาพที่เห็นมีเพียงเจดีย์บางแห่งเท่านั้นที่แสดงว่ามีอายุพันปี บางองค์ได้รับการซ่อมแซมขึ้นมาใหม่ ก็ต้องเข้าใจเพราะพม่ามีภัยภิบัติตลอด เจดีย์บางองค์เสียหายไปตามหลักฐานบอกว่า “ความมั่งคั่งในอาณาจักรใช้สร้างวัดนับไม่ถ้วนในกรุงพุกามยังมีปรากฏให้เห็นในปัจจุบันนี้ประมาณห้าพันวัด ซึ่งหลายแห่งยังคงใช้เป็นสถานที่บูชาอยู่ทุกวันนี้ วัดจำนวนหลายพันถูกทำลายไปเมื่อครั้งเกิดไฟไหม้ในปี ค.ศ. 1768 เมื่อครั้งกองทัพกุบไลข่านปล้นเมืองใน ค.ศ. 1830 และในครั้งที่ไทยใหญ่เผาเมืองใน พ.ศ. 1842 และยังมีวัดอีกจำนวนหลายร้อยวัดปรักหักพังไปเนื่องจากสร้างด้วยไม้ เจดีย์ต่างๆมีสองประเภทใหญ่ๆคือแบบสถูปตันและกลวงกลม หรือถ้ำจำลอง เจดีย์ใหญ่อันแรกคือเจดีย์ชเวสิกองของพระเจ้าอนุรุท มีลักษณะเป็นรูปปิรามิดมีฉัตรทองกั้นอีกชั้นหนึ่ง ทั่วทั้งเจดีย์ปิดทองและมีมณีอันมีค่าประดับฉัตรบนยอดเจดีย์ เจดีย์ส่วนมากที่กษัตริย์องค์ต่างๆสร้างมักเป็นแบบคล้าย “ถ้ำ” และเจดีย์แรกๆมักเป็นชั้นเดียวเท่านั้น ส่วนรุ่นต่อมาเติมเป็นสองชั้น มักใช้เป็นห้องสมุด ส่วนงานแบบอื่นๆ เช่นมียอดทองอยู่ข้างบนและมีฉัตรคลุมยอดอีกชั้นหนึ่ง(หม่องทินอ่อง,หน้า 57)
ในขณะที่อาณาจักรขอมสร้างปราสาทหิน อาณาจักรพุกามสร้างเจดีย์ สองฟากฝั่งทั้งตะวันออกและตะวันตกเจริญอย่างสุดขีด แต่ขณะนั้นอาณาจักรสุโขทัยเพิ่งเริ่มต้น แอ่งอารยธรรมขอมและพุกามยังคงสืบทอดมาถึงปัจจุบัน