สสารนิยม จิตนิยมหรือธรรมชาตินิยม
หากมองตามทัศนะนี้พระพุทธศาสนามีทัศนะที่ขัดแย้งกับสสารนิยม แต่มีแนวโน้มเอนเอียงมาทางจิตนิยมมากกว่า การที่ผู้เขียนนำเสนอในที่นี้ว่าในทางอภิปรัชญาพระพุทธศาสนามีลักษณะใกล้เคียงกับธรรมชาตินิยมมากกว่า ก็อาจจะขัดแย้งกับทัศนะที่นักปราชญ์นำเสนอไว้ก่อนแล้ว การเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนาก็ปฏิเสธลัทธิสสารนิยม ดังหลักฐานที่โน้มเอียงไปทางสสารนิยมของอชิตเกสกัมพลว่า “คนเรานี้ เป็นแต่ประชุมมหาภูตทั้งสี่ เมื่อทำกาลกิริยา ธาตุดินไปตามธาตุดิน ธาตุน้ำไปตามธาตุน้ำ ธาตุไฟไปตามธาตุไฟ ธาตุลมไปตามธาตุลม อินทรีย์ทั้งหลายย่อมเลื่อนลอยไปในอากาศ คนทั้งหลายมีเตียงเป็นที่ 5 จะหามเขาไป ร่างกายปรากฏอยู่แค่ป่าช้า กลายเป็นกระดูกมีสีดุจสีนกพิลาบ การเซ่นสรวงมีเถ้าเป็นที่สุด ทานนี้ คนเขลาบัญญัติไว้ คำของคนบางพวกพูดว่า มีผลๆ ล้วนเป็นคำเปล่า คำเท็จ คำเพ้อ เพราะกายสลาย ทั้งพาลทั้งบัณฑิตย่อมขาดสูญ พินาศสิ้น เบื้องหน้าแต่ตายย่อมไม่เกิดดังนี้ (ที.สี 9/96/52.)
ทัศนะของปกุธะ กัจจายนะว่าสภาวะเจ็ดกองเหล่านี้ ไม่มีใครทำ ไม่มีแบบอย่างอันใครทำ ไม่มีใครนิรมิต ไม่มีใครให้นิรมิต เป็นสภาพยั่งยืน ตั้งอยู่มั่นดุจยอดภูเขา ตั้งอยู่มั่นดุจเสาระเนียด สภาวะเจ็ดกองเหล่านั้น ไม่หวั่นไหว ไม่แปรปรวน ไม่เบียดเบียนกันและกัน ไม่อาจให้เกิดสุขหรือทุกข์ หรือทั้งสุข และทุกข์แก่กันและกัน สภาวะเจ็ดกอง เป็นไฉน คือกองดิน กองน้ำ กองไฟ กองลม สุข ทุกข์ ชีวะเป็นที่เจ็ด สภาวะเจ็ดกองนี้ ไม่มีใครทำ ไม่มีแบบอย่างอันใครทำ ไม่มีใครนิรมิต ไม่มีใครให้นิรมิต เป็นสภาพยั่งยืน ตั้งอยู่มั่นดุจยอดภูเขา ตั้งอยู่มั่นดุจเสาระเนียด สภาวะเจ็ดกองเหล่านั้น ไม่หวั่นไหว ไม่แปรปรวน ไม่เบียดเบียนกัน ไม่อาจให้เกิดสุขหรือทุกข์ หรือทั้งสุข ทั้งทุกข์ แก่กันและกัน ผู้ฆ่าเองก็ดี ผู้ใช้ให้ฆ่าก็ดี ผู้ได้ยินก็ดี ผู้กล่าวให้ได้ยินก็ดี ผู้เข้าใจความก็ดี ผู้ทำให้เข้าใจความก็ดี ไม่มีในสภาวะเจ็ดกองนั้น เพราะว่าบุคคลจะเอาศาสตราอย่างคมตัด ศีรษะกัน ไม่ชื่อว่าใครๆ ปลงชีวิตใครๆ เป็นแต่ศาสตราสอดไปตามช่องแห่งสภาวะเจ็ดกองเท่านั้นดังนี้ (ที.สี 9/97/53.)
ความเห็นของครูทั้งสองนี้ปฏิเสธผู้สร้างและปฏิเสธจิตยอมรับเพียงสสารเท่านั้นว่าเป็นจริง พระพุทธศาสนาก็ปฏิเสธผู้สร้าง แต่ยอมรับความมีอยู่ของสสารและจิตหรือรูปกับนาม ดังที่วชิราภิกษุณีได้กล่าวคาถาตอบมารที่ถามว่า “สัตว์นี้ ใครสร้าง ผู้สร้างสัตว์อยู่ที่ไหน สัตว์บังเกิดใน ที่ไหน สัตว์ดับไปในที่ไหน วชิราภิกษุณีตอบว่า “ดูกรมาร เพราะเหตุไรหนอ ความเห็นของท่านจึงหวนกลับมาว่าสัตว์ ในกองสังขารล้วนนี้ ย่อมไม่ได้นามว่าสัตว์ เหมือนอย่างว่า เพราะคุมส่วนทั้งหลายเข้า เสียงว่ารถย่อมมีฉันใด เมื่อขันธ์ทั้งหลายยังมีอยู่ การสมมติว่าสัตว์ย่อมมี ฉันนั้น ความจริงทุกข์เท่านั้นย่อมเกิด ทุกข์ย่อมตั้งอยู่และเสื่อมสิ้นไป นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรดับ (สํ.15/554/167.)
ตามพระสูตรนี้สัตว์ทั้งหลายจึงเป็นการรวมกันของขันธ์ จึงได้รับสมมุติว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ขันธ์พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ห้าประการดังที่ปรากฎในปัญจขันธสูตรว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงขันธ์ 5 และอุปาทานขันธ์ห้า เธอทั้งหลายจงฟัง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ขันธ์ห้าเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปอย่างใดอย่าง หนึ่ง เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้นี้เรียกว่า รูปขันธ์ เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ สัญญาอย่าง ใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ฯลฯ วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้ นี้เรียกว่า วิญญาณขันธ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่า ขันธ์ 5
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อุปาทานขันธ์ห้าเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียดเลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้ เป็นไปกับด้วยอาสวะ เป็นปัจจัยแก่อุปาทาน นี้เรียกว่าอุปาทานขันธ์คือรูป เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ฯลฯ วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้ เป็นไปกับด้วยอาสวะ เป็นปัจจัยแก่อุปาทานนี้เรียกว่าอุปาทานขันธ์คือวิญญาณ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่า อุปาทานขันธ์ 5 (สํ.ข.17/95/47.)
ขันธ์ห้าเป็นภาระดังที่พระพุทธองค์แสดงไว้ในภารสูตรว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงภาระผู้แบกภาระ เครื่องถือมั่นภาระ และเครื่องวางภาระ แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภาระเป็นไฉน พึงกล่าวว่า ภาระ คืออุปาทานขันธ์ 5 คือรูป อุปาทานขันธ์ คือเวทนา อุปาทานขันธ์ คือสัญญา อุปาทานขันธ์ คือสังขาร และอุปาทานขันธ์ คือวิญญาณ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าภาระ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ผู้แบกภาระเป็นไฉน พึงกล่าวว่าบุคคล บุคคลนี้นั้น คือท่านผู้มีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าผู้แบกภาระ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เครื่องถือมั่นภาระเป็นไฉน? ตัณหานี้ใด นำให้เกิดภพใหม่ประกอบด้วยความกำหนัด ด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน มีปกติเพลิดเพลินยิ่งในภพหรืออารมณ์นั้นๆ ได้แก่กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าเครื่องถือมั่นภาระ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็การวางภาระเป็นไฉน ความที่ตัณหานั่นแลดับไปด้วย สำรอกโดยไม่เหลือ ความสละ ความสละคืน ความพ้น ความไม่อาลัย ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าการวางภาระ พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกในภายหลังว่า ขันธ์ 5 ชื่อว่าภาระแล และผู้แบกภาระคือบุคคล เครื่องถือมั่น ภาระเป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ในโลก การวางภาระเสียได้เป็นสุข บุคคลวางภาระหนักเสียได้แล้ว ไม่ถือภาระอื่น ถอนตัณหาพร้อมทั้งมูลรากแล้ว เป็นผู้หายหิว ดับรอบแล้วดังนี้ (สํ.ข.17/49-53/25.)
ในขันธ์ห้านั้นพระพุทธศาสนาแยกเป็นรูปกับนามหรือสสารกับจิต มีทัศนะที่ตรงกันข้ามกับสสารนิยมในทางอภิปรัชญาที่ยอมรับเพียงสสารเท่านั้นที่เป็นจริง ปรากฏการณ์ในรูปอื่นๆ สามารถทอนลงได้ เป็นเพียงปรากฏการณ์ของสสาร คล้ายกับทัศนะของอชิตเกสกัมพลและปกุธกัจจายนะที่ยอมรับเพียงสสารเท่านั้นที่มีอยู่จริง แต่พระพุทธศาสนายอมรับทั้งสสารและจิต แต่เรียกใหม่ว่ารูปนามรวมกันเข้าเรียกว่าขันธ์ห้า แต่ขันธ์ก็เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงยังคงเป็นไปตามกฏแห่งสามัญญลักษณะที่ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ดังที่ปรากฏในอนิจจสูตรว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ข้อนี้ อริยสาวก พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ เวทนาไม่เที่ยง ฯลฯ สัญญาไม่เที่ยง ฯลฯ สังขารไม่เที่ยง ฯลฯ วิญญาณไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ข้อนี้อริยสาวก พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี (สํ.ข.17/42/21.)
การจัดหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาในทางอภิปรัชญาว่ามีส่วนคล้ายกับธรรมชาตินิยมนั้น ไม่ตรงกันนักกับแนวคิดของนักปรัชญาตะวันตกนัก เพราะบางอย่างพระพุทธศาสนาก็มิได้เห็นด้วยกับธรรมชาตินิยมเช่น “สิ่งที่ไม่มีอยู่ในระบบของอวกาศ-เวลาไม่มีอยู่จริง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่อยู่ในความคิดมนุษย์ ซึ่งอาจคิดหรือจินตนาการอะไรขึ้นมาก็ได้” (วิทย์ วิศทเวทย์,ปรัชญาทั่วไป,พิมพ์ครั้งที่ 17 กรุงเทพฯ:อักษรเจริญทัศน์,2547,หน้า 43.) แต่ในพระพุทธศาสนามีทัศนะว่าสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากกาลเวลาก็มี มนุษย์จะคิดหรือไม่คิดสิ่งนั้นก็มีอยู่จริงดังคำว่า “พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นตรัสดีแล้ว อันบุคคลพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน (ที.มหา.10/211/170.)
ในทัศนะที่ (3) ป รากฏการณ์ธรรมชาติสามารถอธิบายได้อย่างสมเหตุสมผลเพียงพอโดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์อยู่ในขอบข่ายของญาณวิทยาและตรรกศาสตร์ มิใช่ประเด็นปัญหาที่จะยกมาตอบในที่นี้ เพราะต้องการอธิบายเพียงอภิปรัชญาเท่านั้น
ในทัศนะที่ (4) ที่ว่ามนุษย์เป็นสิ่งหนึ่งในธรรมชาติเป็นต้นนั้น ก็อยู่ในขอบข่ายของจริยศาสตร์ ขอยกไว้ไม่ตอบเช่นกัน
สรุป
อภิปรัชญาเป็นสาขาที่ว่าด้วยความจริง ในพระพุทธศาสนาแสดงความจริงแท้เรียกว่าปรมัตถธรรมอันประกอบด้วยจิต เจตสิก รูป นิพพาน ส่วนกระบวนในการรู้ความจริงเรียกว่าอริยสัจจ์สี่ ซึ่งนำเสนอทั้งความจริงแท้คือทุกข์และเหตุเหตุแห่งทุกข์ แสดงความดับทุกข์คือนิพพาน และแสดงวิธีการในการเข้าถึงความจริงคือมรรคมีองค์แปด ในทางอภิปรัชญาพระพุทธศาสนามีลักษณะใกล้เคียงกับธรรมชาตินิยมมากกว่า เพราะยอมรับการมีอยู่ของจิตและสสาร ที่พระพุทธศาสนาเรียกว่าขันธ์ห้า ย่อลงเป็นรูปนาม ซึ่งทั้งรูปและนามต่างก็มีอยู่จริง แต่ความจริงมีสองระดับคือระดับสมมุติ และความจริงระดับสูงสุด ในระดับสมมุตินามรูปมีอยู่จริง แต่ในระดับสูงสุดทั้งนามรูปต่างก็ไม่เที่ยงแท้ ต้องเสื่อมสภาพไป และมิใช่สิ่งที่เป็นอัตตา หลักคำสอนที่สำคัญอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนาคือ “อนัตตา” เพราะสิ่งทั้งหลายในที่สุดก็เป็นเพียงอนัตตา แม้แต่นิพพานอันเป็นจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาก็ยังเป็นอนัตตา ดังนั้นในที่สุดแล้ว “อัตตา” ที่สมมุติให้ศึกษาก็เป็นเพียง “อนัตตา” นั่นเอง
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
เรียบเรียง
นำเผยแผ่ทางเว็บไซต์ www.mbu.ac.th ตั้งแต่ 29/01/2550
แก้ไขปรับปรุงใหม่ 16/02/53
บรรณานุกรม
กรมการศาสนา.พระไตรปิฏกภาษาไทย ฉบับหลวง.กรุงเทพ ฯ:กรมการศาสนา,2514.
ราชบัณฑิตยสถาน.พจนานุกรมศัพท์ปรัชญาฉบับราชบัณฑิตสถาน.พิมพ์ครั้งที่ 4, กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน,2548.
พระพรหมคุณาภรณ์.พจนานุกรมพุทธศาสตร์.พิมพ์ครั้งที่ 13,กรุงเทพ ฯ: เอส.อาร์.พริ้นติ้ง แมสโปรดักส์,2548.
สุนทร ณ รังษี.พุทธปรัชญาจากพระไตรปิฎก.พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ:จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543.
วิทย์ วิศทเวทย์.ปรัชญาทั่วไป.พิมพ์ครั้งที่ 17,กรุงเทพฯ:อักษรเจริญทัศน์,2547.