ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

             มีปัญหาที่ถกเถียงกันมาตลอดว่าพระพุทธศาสนามีแนวคิดใกล้เคียงกับอภิปรัชญาใดมากที่สุดเป็นธรรมชาตินิยม สัจจนิยม จิตตนิยม สสารนิยม หรือเหตุผลนิยม  มีนักปรัชญาพุทธหลายท่านพยายามตอบคำถามนี้ ซึ่งแต่ละประเด็นเป็นสิ่งที่ควรศึกษาค้นคว้า  พระพุทธศาสนานั้นมีคำสอนหลายอย่างที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกับปรัชญา และปรัชญาก็มีเนื้อหาหลายส่วนที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนา ดังนั้นจึงมีการนำเสนอแนวคิดที่หลากหลาย

ความจริงแท้คืออะไร     
             เนื่องจากแนวคิดของปรัชญาตะวันตกกับพระพุทธศาสนานั้น มีกำเนิดต่างกันปรัชญาตะวันตกส่วนหนึ่งมาจากพื้นฐานความเชื่อเรื่องการมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้นการอธิบายหลักการต่างๆจึงมักจะสิ้นสุดลงที่พระเจ้า  ส่วนพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประเภทอเทวนิยม(Atheism)คือไม่ยอมรับการมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้นการอธิบายหลักการต่างๆ จึงไม่ขึ้นอยู่กับพระเจ้า แต่ขึ้นอยู่กับมนุษย์และธรรมชาติ พระพุทธศาสนายอมรับความจริงแท้ ซึ่งอยู่ในขอบข่ายของอภิปรัชญา  แต่แตกต่างไปจากปรัชญาตะวันตก   มีปัญหาถกเถียงกันมากว่าพระพุทธศาสนามีทัศนะใกล้เคียงกับอภิปรัชญาใดมากที่สุด เป็นธรรมชาตินิยม สัจจนิยม จิตตนิยม สสารนิยมหรือเหตุผลนิยมตามหลักปรัชญาตะวันตก
              ปัญหาที่ว่าความจริงแท้คืออะไรนั้นหากตอบตามทัศนะของปรัชญาความจริงแท้เทียบได้กับคำว่าอันติมสัจจะ(Ultimate Reality) ในทางปรัชญาหมายถึงความเป็นจริงขั้นสูงสุด   (ราชบัณฑิตยสถาน,พจนานุกรมศัพท์ปรัชญาฉบับราชบัณฑิตสถาน,พิมพ์ครั้งที่ 4, กรุงเทพฯ:ราชบัณฑิตยสถาน,2548, หน้า 101.)
              ในแต่ละสำนักทางปรัชญาหรือศาสนามีคำตอบไม่เหมือนกันเช่นทาเลสคือน้ำ ในศาสนาฮินดูคือปรมาตมัน
              ในพระพุทธศาสนาสัจจะหรือความจริงมีสองอย่างตามที่แสดงไว้ในอรรถกถา อังคุตตรนิกายว่า   พระสัมพุทธเจ้าเป็นยอดของผู้กล่าวสอนทั้งหลายได้ตรัสสัจจะสองอย่างคือสมมติสัจจะ    และปรมัตถสัจจะไม่ตรัสสัจจะที่สาม  คำที่ชาวโลกหมายรู้กันก็เป็นสัจจะ เพราะมีโลกสมมติเป็นเหตุ    คำที่ระบุถึงสิ่งที่เป็นปรมัตถ์ก็เป็นสัจจะเพราะมีความจริงของธรรมทั้งหลายเป็นเหตุ    เพราะฉะนั้นมุสาวาทจึงไม่เกิดแก่พระโลกนาถผู้ศาสดาผู้ฉลาดในโวหาร ผู้ตรัสตามสมมติ (องฺ. อรรถกถา. 1/185.) 
              สมมุติสัจจะคือความจริงโดยสมมุติ ความจริงที่ขึ้นต่อการยอมรับของคน ความจริงที่ถือตามความกำหนดหมายตกลงกันไว้ของชาวโลกเช่นว่าคนสัตว์ โต๊ะ เก้าอี้เป็นต้น
              ปรมัตถสัจจะ  ความจริงโดยปรมัตถ์ ความจริงที่มีอยู่ในธรรมชาติ โดยไม่ขึ้นต่อการยอมรับของคน  ความจริงตามความหมายขั้นสุดท้ายที่ตรงตามสภาวะและเท่าที่จะกล่าวถึงได้เช่นว่า รูป นาม เวทนา จิต เจตสิก เป็นต้น   (พระพรหมคุณาภรณ์,พจนานุกรมพุทธศาสตร์,พิมพ์ครั้งที่ 13,กรุงเทพ ฯ: เอส.อาร์.พริ้นติ้ง แมสโปรดักส์,2548,หน้า 75.)
              ในพระพุทธศาสนาแสดงความจริงอันประเสริฐไว้ว่าอริยสัจสี่อันประกอบด้วยทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ดังคำกล่าวยืนยันว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขอริยสัจ คือ ความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บไข้ก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ ความประจวบด้วยสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ โดยย่นย่อ อุปาทานขันธ์ 5 เป็นทุกข์ 
               ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขสมุทัยอริยสัจ คือตัณหาอันทำให้เกิดอีก ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิน มีปกติเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา  ภวตัณหา วิภวตัณหา  
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขนิโรธอริยสัจ คือ ตัณหานั่นแลดับ โดยไม่เหลือด้วยมรรคคือวิราคะ สละ สละคืน ปล่อยไป ไม่พัวพัน 
               ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ อริยมรรคมีองค์ 8  คือปัญญาอันเห็นชอบ   ความดำริชอบ  เจรจาชอบ  การงานชอบ  เลี้ยงชีวิตชอบ  พยายามชอบ  ระลึกชอบ  ตั้งจิตชอบ   (วิ.มหา 4/13/16)
               ความจริงแท้ในพระพุทธศาสนาจึงมิใช่สิ่งเดียวแต่เป็นทั้งตัวปัญหา สาเหตุ การแก้ปัญหา และวิธีการในการแก้ปัญหา เมื่อกระทำให้สิ้นสุดตามกระบวนการแล้วจึงเข้าสู่ภาวะแห่งการตรัสรู้ดังที่พระองค์ยืนยันว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใดแล ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริงของเรา ในอริยสัจสี่นี้  มีรอบสาม มีอาการ 12 อย่างนี้ หมดจดดีแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อนั้น เราจึงยืนยันได้ว่าเป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ อันยอดเยี่ยมในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์  อนึ่ง ปัญญาอันรู้เห็นได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราว่า ความพ้นวิเศษของเราไม่กลับกำเริบ ชาตินี้เป็นที่สุด ภพใหม่ไม่มีต่อไป (วิ.มหา. 4/16/18)
               อริยสัจจ์ตรงตามความหมายของความจริงแท้ในที่นี่ พร้อมทั้งแสดงวิธีการในการเข้าถึงความจริง จึงเป็นอภิปรัชญาคือทุกขสัจจ์ ร้อมทั้งสาเหตุเกิดคือสมุทัย ญานวิทยาคือมรรคมีองค์ 8 นิโรธความดับทุกข์ได้นั้นจึงเป้นความจริงแท้ที่พระพุทธศาสนาเรียกว่า นิพพานคือภาวะที่จิตรู้ตามความเป็นจริงแล้วเข้าสู้การรู้แจ้ง นิพพานรู้ได้ยาก ดังที่พระพุทธเจ้าหลังจากตรัสรู้ใหม่ๆก็ทรงใคร่ครวญว่า บัดนี้ เรายังไม่ควรจะประกาศธรรมที่เราได้บรรลุแล้วโดยยาก เพราะธรรมนี้อันสัตว์ผู้อันราคะและโทสะครอบงำแล้วไม่ตรัสรู้ได้ง่าย สัตว์ผู้อันราคะย้อมแล้ว ถูกกองอวิชชาหุ้มห่อแล้ว จักไม่เห็นธรรมอันละเอียดลึกซึ้ง ยากที่จะเห็น ละเอียดยิ่ง อันจะยังสัตว์ให้ถึงธรรมที่ทวนกระแสคือนิพพาน  (วิ.มหา.4/7/9)
                ส่วนความจริงแท้อีกอย่างหนึ่งแสดงไว้ในอภิธรรมเรียกว่าปรมัตถธรรม คือสภาวะที่มีอยู่โดยปรมัตถ์ สิ่งที่เป็นจริงโดยความหมายสูงสุดได้แก่ จิต เจตสิก รูป นิพพาน  ความจริงแท้ในพระพุทธศาสนาจึงสรุปลงที่รูปนาม 


อภิปรัชญาสามสาขา

                ในปัญหาที่ว่าพระพุทธศาสนามีทัศนะทางอภิปรัชญาใกล้เคียงกับปรัชญาใดมากที่สุดนั้น ต้องทราบก่อนว่าอภิปรัชญาคืออะไร ว่าด้วยเรื่องอะไร
                อภิปรัชญา(Metaphysics) ปรัชญาที่ว่าด้วยสิ่งเป็นจริงเช่นพระเป็นเจ้า โลก วิญญาณ สาระ เจตจำนงเสรี (ราชบัณฑิตยสถาน,พจนานุกรมศัพท์ปรัชญาฉบับราชบัณฑิตสถาน,พิมพ์ครั้งที่ 4, กรุงเทพฯ:ราชบัณฑิตยสถาน,2548, หน้า 64.)
   อภิปรัชญาของสามสำนักมองไม่เหมือนกัน ก่อนจะตอบว่าพระพุทธศาสนามีทรรศใกล้เคียงกับปรัชญากลุ่มใดมากที่สุด ต้องทราบทัศนะของแต่ละสำนักซึ่งมีทัศนะดังต่อไปนี้
                จิตนิยม (Idealism) เป็นชื่อเรียกทัศนะทางปรัชญาของสำนักปรัชญาหลายสำนักที่มีทัศนะร่วมกันว่า จิตหรือสภาวะนามธรรมมีความเป็นจริงสูงสุดและมีความสำคัญกว่าวัตถุ เช่นจิตนิยมแบบเบริร์กลีย์เรียกว่าจิตนิยมอุตรวิสัยคือทัศนะที่ถือว่า สิ่งที่เป็นวัตถุเป็นเพียงมโนภาพซึ่งมีอยู่ในจิตของพระเป็นเจ้า  จิตนิยมแบบคานท์ เรียกว่าจิตนิยมอุตรวิสัย คือทรรศที่ถือว่าสิ่งที่มนุษย์รับรู้นั้นจะต้องผ่านระบบการทำงานของจิตเสียก่อน มนุษย์จะรับรู้ความจริงโดยไม่ผ่านระบบการทำงานของจิตไม่ได้  จิตนิยมแบบเฮเกล เรียกว่าจิตนิยมวัตถุวิสัยหรือจิตนิยมปรวิสัย หรือจิตนิยมสมบูรณ์คือทัศนะที่ถือว่าสิ่งที่มีอยู่จริงนั้นมีอย่างเดียวคือจิตสัมบูรณ์ สิ่งอื่นๆทั้งที่เป็นวัตถุและไม่ใช่วัตถุเป็นเพียงการแสดงของจิตสัมบูรณ์ และพัฒนาตามขั้นตอนไปสู่ความเป็นจิตสัมบูรณ์  จิตนิยมแบบเพลโต  คือทรรศที่ถือว่ามีสภาพความจริงอีกอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่วัตถุเรียกว่ามโนภาพ (Idea)หรือแบบ(Form) ซึ่งเพลโตถือว่าเป็นจริงและสำคัญกว่าโลกแห่งวัตถุ  (ราชบัณฑิตยสถาน,พจนานุกรมศัพท์ปรัชญาฉบับราชบัณฑิตสถาน,พิมพ์ครั้งที่ 4, กรุงเทพฯ:ราชบัณฑิตยสถาน,2548, หน้า 45.)
                สสารนิยม (Materialism) ในทางอภิปรัชญาหมายถึงทัศนะที่ถือว่าสสารเท่านั้นที่เป็นจริง ปรากฏการณ์ในรูปอื่นๆ สามารถทอนลงได้ว่าเป็นเพียงปรากฏการณ์ของสสารในกรณีนี้เรามักเรียกว่าสสารนิยม  (หน้า 61)  
                ธรรมชาตินิยม(Naturalism) ซึ่งหมายถึงแนวความคิดซึ่งยึดธรรมชาติเป็นหลักประกอบด้วยทัศนะต่างๆเช่น (1) ทัศนะที่ถือว่า ธรรมชาติเท่านั้นคือสิ่งเป็นจริงนิรันดร์  มีพลังกระตุ้นในตัว ดำรงอยู่ด้วยตัวเอง มีทุกอย่างในตัวเอง อาศัยตนเอง ปฏิบัติการได้ด้วยตนเอง และมีเหตุผลในตัว (2) ทัศนะที่ไม่ยอมรับอำนาจเหนือธรรมชาติ โดยถือว่าปรากฏการณ์ทุกๆอย่างเป็นไปตามสภาวะความเกี่ยวพันที่มีต่อกันของเหตุการณ์ทางธรรมชาตินั้นๆเอง ไม่เกี่ยวข้องกับอำนาจเหนือธรรมชาติใดๆทั้งสิ้น แต่เป็นกระบวนการธรรมชาติที่เกิดขึ้นเองตามกาละและเทศะกล่าวคือธรรมชาตินี้มีโครงสร้างของตนเอง และโครงสร้างนั้นเกิดขึ้นได้เอง ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะอำนาจเหนือธรรมชาติ (3) ทัศนะที่มีลักษณะนิยมวิทยาศาสตร์ได้แก่ทัศนะที่ถือว่า ปรากฏการณ์ธรรมชาติสามารถอธิบายได้อย่างสมเหตุสมผลเพียงพอโดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ ความรู้จะเกิดขึ้นได้ก็โดยอาศัยวิธีการวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ความรู้ที่เรียกกันว่าอัชฌัตติกญาณ(intuition) คือการรู้เองก็ดี ประสบการณ์เชิงรหัสยะคือประสบการณ์เรื่องลึกลับก็ดี คติความเชื่อก็ดี วิวรณ์คือการที่พระเป็นเจ้าเปิดเผยความรู้ให้มนุษย์ทราบก็ดีไม่ถือว่าเป็นความรู้ที่ถูกต้อง  อย่างไรก็ดี แม้วิทยาศาสตร์จะเป็นวิธีการเดียวที่ทำให้มนุษย์รู้และเข้าใจโลก แต่มนุษย์ก็มีประสบการณ์เกี่ยวกับโลกได้หลายทาง นอกเหนือจากการรู้และการเข้าใจ  ธรรมชาตินิยมไม่ถือว่าการรู้และการเข้าใจโลกเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด (4) ทัศนะที่ถือว่า มนุษย์เป็นสิ่งหนึ่งในธรรมชาติ มิได้มีฐานะพิเศษเหนือกว่าสิ่งอื่นๆ เลย พฤติกรรมของมนุษย์ก็คล้ายๆกับพฤติกรรมของสัตว์อื่นๆจะต่างกันก็ตรงที่มีความซับซ้อนมากกว่าเท่านั้น อิทธิพลจากสังคมและสิ่งแวดล้อมทำให้พฤติกรรมของมนุษย์ผันแปรไปต่างๆกันได้ คุณค่าเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง มิได้อาศัยสิ่งเหนือธรรมชาติเป็นหลัก (ราชบัณฑิตยสถาน,พจนานุกรมศัพท์ปรัชญาฉบับราชบัณฑิตสถาน,พิมพ์ครั้งที่ 4,กรุงเทพฯ:ราชบัณฑิตยสถาน,2548, หน้า 70.)
               พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประเภทอเทวนิยม(Atheism)คือศาสนาที่มีทัศนะว่าไม่มีพระเจ้า  ในทางอภิปรัชญาจึงมิได้ให้ความสำคัญกับพระเป็นเจ้า  ดังที่มีผู้แสดงทัศนะไว้ว่า “ในทางปรัชญาความคิดเรื่องโลกเป็นความคิดที่สำคัญเรื่องหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปรัชญาเทวนิยม ความคิดเรื่องโลกจัดเป็นความคิดพื้นฐานที่มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความคิดเรื่องพระเจ้าและความคิดเรื่องมนุษย์ ปรัชญาประเทศเทวนิยมทั้งของตะวันตกและตะวันออก แม้จะมีความเห็นอื่นๆแตกต่างกัน แต่ก็มีความสอดคล้องกันเกี่ยวกับการมีอยู่ของโลก นั่นคือการมีอยู่ของโลกเป็นผลสืบเนื่องมาจากการมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้า โดยปรัชญาบางสำนักถือว่าพระเป็นเจ้าทรงเป็นผู้สร้างโลกโดยตรง  (สุนทร ณ รังษี,พุทธปรัชญาจากพระไตรปิฎก,พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ:จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2543,หน้า 46.)
              ปัญหาในทางอภิปรัชญาว่าด้วยความคิดเรื่องโลก พระพุทธศาสนากล่าวถึงเรื่องโลกไว้ในอัคคัญญสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรคว่าด้วยกำเนิดโลกความว่า “ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ มีสมัยบางครั้งบางคราว โดยล่วง  ระยะกาลยืดยาวช้านานที่โลกนี้จะพินาศ เมื่อโลกกำลังพินาศอยู่ โดยมากเหล่า สัตว์ย่อมเกิดในชั้นอาภัสสรพรหม สัตว์เหล่านั้นได้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหาร    มีรัศมีซ่านออกจากกายตนเองสัญจรไปได้ในอากาศ อยู่ในวิมานอันงาม สถิตอยู่ในภพนั้นสิ้นกาลยืดยาวช้านาน ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ มีสมัยบางครั้ง  บางคราวโดยระยะกาลยืดยาวช้านาน ที่โลกนี้จะกลับเจริญ เมื่อโลกกำลังเจริญ อยู่โดยมาก เหล่าสัตว์พากันจฺติจากชั้นอาภัสสรพรหมลงมาเป็นอย่างนี้ และสัตว์นั้น ได้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากกายตนเอง สัญจรไปได้ในอากาศ อยู่ในวิมานอันงาม สถิตอยู่ในภพนั้นสิ้นกาลยืดยาวช้านาน ก็แหละ  สมัยนั้นจักรวาลทั้งสิ้นนี้แลเป็นน้ำทั้งนั้น มืดมนแลไม่เห็นอะไร ดวงจันทร์และ   ดวงอาทิตย์ก็ยังไม่ปรากฎ ดวงดาวนักษัตรทั้งหลายก็ยังไม่ปรากฎ กลางวันกลาง คืนก็ยังไม่ปรากฎ เดือนหนึ่งและกึ่งเดือนก็ยังไม่ปรากฎ ฤดูและปีก็ยังไม่ปรากฎ  เพศชายและเพศหญิงก็ยังไม่ปรากฎ สัตว์ทั้งหลาย ถึงซึ่งอันนับเพียงว่าสัตว์เท่านั้น ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้นต่อมา โดยล่วงระยะกาลยืดยาวช้านาน เกิดง้วนดินลอยอยู่บนน้ำทั่วไป ได้ปรากฎแก่สัตว์เหล่านั้นเหมือนนมสดที่บุคคลเคี่ยว   ให้งวด แล้วตั้งไว้ให้เย็นจับเป็นฝาอยู่ข้างบน ฉะนั้นง้วนดินนั้นถึงพร้อมด้วยสี    กลิ่น รส มีสีคล้ายเนยใสหรือเนยข้นอย่างดี ฉะนั้น มีรสอร่อยดุจรวงผึ้งเล็กอันหาโทษมิได้ ฉะนั้น   (ที.ปา.9/56/65.) 
              เมื่อกล่าวถึงกำเนิดของโลกพระพุทธเจ้าทรงชี้แจงว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงความเกิดและความดับแห่งโลก  เธอทั้งหลายจงฟัง ... ภิกษุทั้งหลาย ก็ความเกิดแห่งโลกเป็นไฉน เพราะอาศัยจักษุและรูป  จึงเกิดจักขุวิญญาณ ความประชุมแห่งธรรม 3 ประการเป็นผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงเกิดอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงเกิดภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงเกิดชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงเกิดชราและมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาส ภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นความเกิดแห่งโลก   ก็ความดับแห่งโลกเป็นไฉน เพราะอาศัยจักษุและรูป จึงเกิดจักขุวิญญาณ ความประชุมแห่งธรรม 3 ประการเป็นผัสสะเพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหาเพราะตัณหานั้นเทียวดับด้วยสำรอกโดยไม่เหลือ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชราและมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาสจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นความดับแห่งโลก (สํ.นิทาน. 164/72.)
               ความเกิดและความดับแห่งโลกในที่นี้จึงเป็นเรื่องของกระบวนการในปฏิจจสมุปบาท มิได้เป็นเหมือนกับที่ปรัชญาตะวันตกเข้าใจ ที่บางลัทธิบอกว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างโลก หลักปฏิจสมุปบาทจึงคล้ายกับกฏธรรมชาติซึ่งมิได้มีผู้สร้าง แต่เป็นเรื่องของปัจจัยที่อิงอาศัยกันและกัน 

พุทธปรัชญาใกล้เคียงกับธรรมชาตินิยม

                ในทางอภิปรัชญา พระพุทธศาสนาน่าจะมีทัศนะใกล้เคียงกับธรรมชาตินิยม(Naturalism)ซึ่งมีหลักฐานยืนยันดังนี้
                ในความหมายข้อที่ (1) ที่ว่าทัศนะที่ถือว่า ธรรมชาติเท่านั้นคือสิ่งเป็นจริงนิรันดร์  มีพลังกระตุ้นในตัว ดำรงอยู่ด้วยตัวเอง มีทุกอย่างในตัวเอง อาศัยตนเอง ปฏิบัติการได้ด้วยตนเอง และมีเหตุผลในตัว  พระพุทธศาสนามีหลักฐานยืนยันไว้ในอุปปาทสูตรว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะตถาคตอุบัติขึ้นก็ตาม ไม่อุบัติขึ้นก็ตาม ธาตุนั้นคือความตั้งอยู่ตามธรรมดา ความเป็นไปตามธรรมดาก็คงตั้งอยู่อย่างนั้นเอง ตถาคตตรัสรู้ บรรลุธาตุนั้นว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยงครั้นแล้วจึงบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้เข้าใจง่ายว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะตถาคตอุบัติขึ้นก็ตาม ไม่อุบัติขึ้นก็ตาม ธาตุนั้นคือความตั้งอยู่ตามธรรมดา ความเป็นไปตามธรรมดา ก็คงตั้งอยู่อย่างนั้นเอง ตถาคตตรัสรู้ บรรลุธาตุนั้นว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ครั้นแล้วจึงบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้เข้าใจง่ายว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะตถาคตอุบัติขึ้นก็ตาม ไม่อุบัติขึ้นก็ตามธาตุนั้น คือ ความตั้งอยู่ตามธรรมดา ความเป็นไปตามธรรมดา ก็คงตั้งอยู่อย่างนั้นเอง ตถาคตตรัสรู้ บรรลุธาตุนั้นว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ครั้นแล้วจึงบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้เข้าใจง่ายว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา  (องฺ.ติก.20/576/273)
                ในพระสูตรนี้คำว่า “ธาตุ” ที่พระพุทธองค์บอกว่ามีอยู่ก่อนที่พระองค์จะตรัสรู้นั้น น่าจะเทียบได้กับธรรมชาติซึ่งเป็นไปตามปกติธรรมดา แต่พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ค้นพบว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา 
                ข้อที่ (2) ทัศนะที่ไม่ยอมรับอำนาจเหนือธรรมชาติ โดยถือว่าปรากฏการณ์ทุกๆอย่างเป็นไปตามสภาวะความเกี่ยวพันที่มีต่อกันของเหตุการณ์ทางธรรมชาตินั้นๆเอง ไม่เกี่ยวข้องกับอำนาจเหนือธรรมชาติใดๆทั้งสิ้น แต่เป็นกระบวนการธรรมชาติที่เกิดขึ้นเองตามกาละและเทศะกล่าวคือธรรมชาตินี้มีโครงสร้างของตนเอง และโครงสร้างนั้นเกิดขึ้นได้เอง ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะอำนาจเหนือธรรมชาตินั้น  มีหลักฐานยืนยันว่า “พระผู้มีพระภาคทรงมนสิการปฏิจจสมุปบาท เป็นอนุโลม ตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรีว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร   เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ   เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป  เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ  เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ  เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา  เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา  เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน  เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ  เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส  เป็นอันว่ากองทุกข์ทั้งมวลนั่นย่อมเกิดด้วยประการฉะนี้ 
                พิจารณาปฏิจจสมุปบาทโดยปฏิโลมว่า  อนึ่ง เพราะอวิชชานั่นแหละดับโดยไม่เหลือด้วยมรรคคือวิราคะ สังขารจึงดับ  เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ  เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ  เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ  เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ  เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ  เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับเพราะภพดับ ชาติจึงดับ  เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส จึงดับ เป็นอันว่ากองทุกข์ทั้งมวลนั่นย่อมดับ ด้วยประการฉะนี้ (วิ.มหา 4/3/4)
                จากหลักฐานนี้จะเห็นได้ว่าสิ่งทั้งหลายมิได้เกิดจากอำนาจเหนือธรรมชาติ แต่เป็นเพราะการอิงอาศัยซึ่งกันและกัน ธรรมชาตินี้จึงมีโครงสร้างที่สามารถอธิบายได้ มิใช่เกิดขึ้นเพราะอำนาจเหนือธรรมชาติแต่ประการใด ดังนั้นในอภิปรัชญาพระพุทธศาสนาจึงใกล้เคียงกับธรรมชาตินิยมมากที่สุด 
                ศาสตราจารย์ ดร.วิทย์ วิศทเวทย์ เสนอว่าปรัชญาธรรมชาตินิยมนี้บางทีก็เรียกกันว่า ปรัชญาสัจนิยม (Realism)บางทีก็เรียกว่าปรัชญาธรรมชาตินิยมวิพากย์มากกว่า (Critical Naturalism)  แม้ว่าธรรมชาตินิยมจะมีทัศนะแตกต่างจากสสารนิยมบางประการ และมีความเห็นบางอย่างคล้ายจิตนิยม แต่โดยหลักพื้นฐานแล้วธรรมชาตินิยมใกล้กับสสารนิยมมากกว่า   (วิทย์  วิศทเวทย์,ปรัชญาทั่วไป,พิมพ์ครั้งที่ 17 กรุงเทพฯ:อักษรเจริญทัศน์,2547,หน้า 42.) 



สสารนิยม จิตนิยมหรือธรรมชาตินิยม
                หากมองตามทัศนะนี้พระพุทธศาสนามีทัศนะที่ขัดแย้งกับสสารนิยม แต่มีแนวโน้มเอนเอียงมาทางจิตนิยมมากกว่า   การที่ผู้เขียนนำเสนอในที่นี้ว่าในทางอภิปรัชญาพระพุทธศาสนามีลักษณะใกล้เคียงกับธรรมชาตินิยมมากกว่า ก็อาจจะขัดแย้งกับทัศนะที่นักปราชญ์นำเสนอไว้ก่อนแล้ว การเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนาก็ปฏิเสธลัทธิสสารนิยม ดังหลักฐานที่โน้มเอียงไปทางสสารนิยมของอชิตเกสกัมพลว่า  “คนเรานี้ เป็นแต่ประชุมมหาภูตทั้งสี่ เมื่อทำกาลกิริยา ธาตุดินไปตามธาตุดิน    ธาตุน้ำไปตามธาตุน้ำ ธาตุไฟไปตามธาตุไฟ ธาตุลมไปตามธาตุลม อินทรีย์ทั้งหลายย่อมเลื่อนลอยไปในอากาศ คนทั้งหลายมีเตียงเป็นที่ 5 จะหามเขาไป ร่างกายปรากฏอยู่แค่ป่าช้า กลายเป็นกระดูกมีสีดุจสีนกพิลาบ การเซ่นสรวงมีเถ้าเป็นที่สุด ทานนี้ คนเขลาบัญญัติไว้ คำของคนบางพวกพูดว่า มีผลๆ ล้วนเป็นคำเปล่า คำเท็จ คำเพ้อ เพราะกายสลาย ทั้งพาลทั้งบัณฑิตย่อมขาดสูญ พินาศสิ้น เบื้องหน้าแต่ตายย่อมไม่เกิดดังนี้   (ที.สี 9/96/52.)               
               ทัศนะของปกุธะ กัจจายนะว่าสภาวะเจ็ดกองเหล่านี้ ไม่มีใครทำ ไม่มีแบบอย่างอันใครทำ ไม่มีใครนิรมิต ไม่มีใครให้นิรมิต  เป็นสภาพยั่งยืน ตั้งอยู่มั่นดุจยอดภูเขา ตั้งอยู่มั่นดุจเสาระเนียด สภาวะเจ็ดกองเหล่านั้น ไม่หวั่นไหว ไม่แปรปรวน ไม่เบียดเบียนกันและกัน ไม่อาจให้เกิดสุขหรือทุกข์ หรือทั้งสุข และทุกข์แก่กันและกัน สภาวะเจ็ดกอง เป็นไฉน คือกองดิน กองน้ำ กองไฟ กองลม สุข ทุกข์ ชีวะเป็นที่เจ็ด  สภาวะเจ็ดกองนี้ ไม่มีใครทำ ไม่มีแบบอย่างอันใครทำ ไม่มีใครนิรมิต ไม่มีใครให้นิรมิต เป็นสภาพยั่งยืน ตั้งอยู่มั่นดุจยอดภูเขา ตั้งอยู่มั่นดุจเสาระเนียด สภาวะเจ็ดกองเหล่านั้น ไม่หวั่นไหว ไม่แปรปรวน ไม่เบียดเบียนกัน ไม่อาจให้เกิดสุขหรือทุกข์ หรือทั้งสุข ทั้งทุกข์ แก่กันและกัน ผู้ฆ่าเองก็ดี ผู้ใช้ให้ฆ่าก็ดี ผู้ได้ยินก็ดี ผู้กล่าวให้ได้ยินก็ดี ผู้เข้าใจความก็ดี ผู้ทำให้เข้าใจความก็ดี ไม่มีในสภาวะเจ็ดกองนั้น เพราะว่าบุคคลจะเอาศาสตราอย่างคมตัด ศีรษะกัน ไม่ชื่อว่าใครๆ ปลงชีวิตใครๆ เป็นแต่ศาสตราสอดไปตามช่องแห่งสภาวะเจ็ดกองเท่านั้นดังนี้     (ที.สี 9/97/53.)
                ความเห็นของครูทั้งสองนี้ปฏิเสธผู้สร้างและปฏิเสธจิตยอมรับเพียงสสารเท่านั้นว่าเป็นจริง  พระพุทธศาสนาก็ปฏิเสธผู้สร้าง แต่ยอมรับความมีอยู่ของสสารและจิตหรือรูปกับนาม ดังที่วชิราภิกษุณีได้กล่าวคาถาตอบมารที่ถามว่า “สัตว์นี้ ใครสร้าง ผู้สร้างสัตว์อยู่ที่ไหน สัตว์บังเกิดใน    ที่ไหน สัตว์ดับไปในที่ไหน   วชิราภิกษุณีตอบว่า  “ดูกรมาร เพราะเหตุไรหนอ ความเห็นของท่านจึงหวนกลับมาว่าสัตว์ ในกองสังขารล้วนนี้ ย่อมไม่ได้นามว่าสัตว์ เหมือนอย่างว่า เพราะคุมส่วนทั้งหลายเข้า เสียงว่ารถย่อมมีฉันใด  เมื่อขันธ์ทั้งหลายยังมีอยู่ การสมมติว่าสัตว์ย่อมมี ฉันนั้น  ความจริงทุกข์เท่านั้นย่อมเกิด ทุกข์ย่อมตั้งอยู่และเสื่อมสิ้นไป นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรดับ    (สํ.15/554/167.)    
             ตามพระสูตรนี้สัตว์ทั้งหลายจึงเป็นการรวมกันของขันธ์ จึงได้รับสมมุติว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ขันธ์พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ห้าประการดังที่ปรากฎในปัญจขันธสูตรว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงขันธ์ 5 และอุปาทานขันธ์ห้า เธอทั้งหลายจงฟัง  ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ขันธ์ห้าเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปอย่างใดอย่าง หนึ่ง เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้นี้เรียกว่า รูปขันธ์  เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ สัญญาอย่าง ใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ฯลฯ วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้ นี้เรียกว่า วิญญาณขันธ์  ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่า ขันธ์ 5     
               ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อุปาทานขันธ์ห้าเป็นไฉน  ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียดเลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้ เป็นไปกับด้วยอาสวะ เป็นปัจจัยแก่อุปาทาน  นี้เรียกว่าอุปาทานขันธ์คือรูป  เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ  สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ฯลฯ วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้ เป็นไปกับด้วยอาสวะ เป็นปัจจัยแก่อุปาทานนี้เรียกว่าอุปาทานขันธ์คือวิญญาณ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่า อุปาทานขันธ์ 5  (สํ.ข.17/95/47.)
               ขันธ์ห้าเป็นภาระดังที่พระพุทธองค์แสดงไว้ในภารสูตรว่า  “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงภาระผู้แบกภาระ เครื่องถือมั่นภาระ และเครื่องวางภาระ แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง  จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า  ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภาระเป็นไฉน  พึงกล่าวว่า ภาระ คืออุปาทานขันธ์  5 คือรูป อุปาทานขันธ์  คือเวทนา อุปาทานขันธ์ คือสัญญา อุปาทานขันธ์ คือสังขาร และอุปาทานขันธ์ คือวิญญาณ  ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าภาระ           
               ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ผู้แบกภาระเป็นไฉน  พึงกล่าวว่าบุคคล บุคคลนี้นั้น คือท่านผู้มีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้  ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าผู้แบกภาระ          
               ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เครื่องถือมั่นภาระเป็นไฉน? ตัณหานี้ใด นำให้เกิดภพใหม่ประกอบด้วยความกำหนัด ด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน มีปกติเพลิดเพลินยิ่งในภพหรืออารมณ์นั้นๆ ได้แก่กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา  ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าเครื่องถือมั่นภาระ
               ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็การวางภาระเป็นไฉน  ความที่ตัณหานั่นแลดับไปด้วย สำรอกโดยไม่เหลือ ความสละ ความสละคืน ความพ้น ความไม่อาลัย  ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าการวางภาระ  พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกในภายหลังว่า  ขันธ์ 5 ชื่อว่าภาระแล และผู้แบกภาระคือบุคคล เครื่องถือมั่น ภาระเป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ในโลก การวางภาระเสียได้เป็นสุข บุคคลวางภาระหนักเสียได้แล้ว ไม่ถือภาระอื่น ถอนตัณหาพร้อมทั้งมูลรากแล้ว เป็นผู้หายหิว ดับรอบแล้วดังนี้  (สํ.ข.17/49-53/25.) 
               ในขันธ์ห้านั้นพระพุทธศาสนาแยกเป็นรูปกับนามหรือสสารกับจิต มีทัศนะที่ตรงกันข้ามกับสสารนิยมในทางอภิปรัชญาที่ยอมรับเพียงสสารเท่านั้นที่เป็นจริง ปรากฏการณ์ในรูปอื่นๆ สามารถทอนลงได้ เป็นเพียงปรากฏการณ์ของสสาร คล้ายกับทัศนะของอชิตเกสกัมพลและปกุธกัจจายนะที่ยอมรับเพียงสสารเท่านั้นที่มีอยู่จริง  แต่พระพุทธศาสนายอมรับทั้งสสารและจิต แต่เรียกใหม่ว่ารูปนามรวมกันเข้าเรียกว่าขันธ์ห้า แต่ขันธ์ก็เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงยังคงเป็นไปตามกฏแห่งสามัญญลักษณะที่ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ดังที่ปรากฏในอนิจจสูตรว่า  ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ข้อนี้ อริยสาวก พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ เวทนาไม่เที่ยง ฯลฯ สัญญาไม่เที่ยง ฯลฯ สังขารไม่เที่ยง ฯลฯ วิญญาณไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ข้อนี้อริยสาวก พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี   (สํ.ข.17/42/21.)
                การจัดหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาในทางอภิปรัชญาว่ามีส่วนคล้ายกับธรรมชาตินิยมนั้น ไม่ตรงกันนักกับแนวคิดของนักปรัชญาตะวันตกนัก เพราะบางอย่างพระพุทธศาสนาก็มิได้เห็นด้วยกับธรรมชาตินิยมเช่น “สิ่งที่ไม่มีอยู่ในระบบของอวกาศ-เวลาไม่มีอยู่จริง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่อยู่ในความคิดมนุษย์ ซึ่งอาจคิดหรือจินตนาการอะไรขึ้นมาก็ได้” (วิทย์  วิศทเวทย์,ปรัชญาทั่วไป,พิมพ์ครั้งที่ 17 กรุงเทพฯ:อักษรเจริญทัศน์,2547,หน้า 43.)  แต่ในพระพุทธศาสนามีทัศนะว่าสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากกาลเวลาก็มี มนุษย์จะคิดหรือไม่คิดสิ่งนั้นก็มีอยู่จริงดังคำว่า  “พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นตรัสดีแล้ว อันบุคคลพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน (ที.มหา.10/211/170.)
                ในทัศนะที่ (3) ป รากฏการณ์ธรรมชาติสามารถอธิบายได้อย่างสมเหตุสมผลเพียงพอโดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์อยู่ในขอบข่ายของญาณวิทยาและตรรกศาสตร์ มิใช่ประเด็นปัญหาที่จะยกมาตอบในที่นี้ เพราะต้องการอธิบายเพียงอภิปรัชญาเท่านั้น
                ในทัศนะที่ (4) ที่ว่ามนุษย์เป็นสิ่งหนึ่งในธรรมชาติเป็นต้นนั้น ก็อยู่ในขอบข่ายของจริยศาสตร์ ขอยกไว้ไม่ตอบเช่นกัน

สรุป 
                อภิปรัชญาเป็นสาขาที่ว่าด้วยความจริง ในพระพุทธศาสนาแสดงความจริงแท้เรียกว่าปรมัตถธรรมอันประกอบด้วยจิต เจตสิก รูป นิพพาน  ส่วนกระบวนในการรู้ความจริงเรียกว่าอริยสัจจ์สี่ ซึ่งนำเสนอทั้งความจริงแท้คือทุกข์และเหตุเหตุแห่งทุกข์  แสดงความดับทุกข์คือนิพพาน และแสดงวิธีการในการเข้าถึงความจริงคือมรรคมีองค์แปด       ในทางอภิปรัชญาพระพุทธศาสนามีลักษณะใกล้เคียงกับธรรมชาตินิยมมากกว่า เพราะยอมรับการมีอยู่ของจิตและสสาร ที่พระพุทธศาสนาเรียกว่าขันธ์ห้า ย่อลงเป็นรูปนาม  ซึ่งทั้งรูปและนามต่างก็มีอยู่จริง แต่ความจริงมีสองระดับคือระดับสมมุติ และความจริงระดับสูงสุด  ในระดับสมมุตินามรูปมีอยู่จริง แต่ในระดับสูงสุดทั้งนามรูปต่างก็ไม่เที่ยงแท้  ต้องเสื่อมสภาพไป และมิใช่สิ่งที่เป็นอัตตา  หลักคำสอนที่สำคัญอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนาคือ “อนัตตา” เพราะสิ่งทั้งหลายในที่สุดก็เป็นเพียงอนัตตา แม้แต่นิพพานอันเป็นจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาก็ยังเป็นอนัตตา ดังนั้นในที่สุดแล้ว “อัตตา” ที่สมมุติให้ศึกษาก็เป็นเพียง “อนัตตา” นั่นเอง    


 พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
เรียบเรียง
นำเผยแผ่ทางเว็บไซต์
www.mbu.ac.th ตั้งแต่ 29/01/2550
แก้ไขปรับปรุงใหม่ 16/02/53

 

 

 
บรรณานุกรม


กรมการศาสนา.พระไตรปิฏกภาษาไทย ฉบับหลวง.กรุงเทพ ฯ:กรมการศาสนา,2514.
ราชบัณฑิตยสถาน.พจนานุกรมศัพท์ปรัชญาฉบับราชบัณฑิตสถาน.พิมพ์ครั้งที่ 4, กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน,2548.
พระพรหมคุณาภรณ์.พจนานุกรมพุทธศาสตร์.พิมพ์ครั้งที่ 13,กรุงเทพ ฯ: เอส.อาร์.พริ้นติ้ง แมสโปรดักส์,2548.
สุนทร ณ รังษี.พุทธปรัชญาจากพระไตรปิฎก.พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ:จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543.
วิทย์  วิศทเวทย์.ปรัชญาทั่วไป.พิมพ์ครั้งที่ 17,กรุงเทพฯ:อักษรเจริญทัศน์,2547.

 

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก