หลายวันมาแล้วมีพระภิกษุรูปหนึ่งมาถามหาหนังสือมิลินทปัญหา ค้นหาทั่วห้องก็ไม่พบ วันหนึ่งเดินเข้ามูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยหน้าวัดบวรนิเวศวิหารได้มาสามเล่ม แต่เป็นสำนวนเก่าอ่านแล้วเพลินดี ส่วนอีกเล่มเป็นภาษาอังกฤษอ่านได้ไม่กี่หน้าต้องรีบวางเพราะเข้าใจยาก ส่วนอีกเล่มเป็นฉบับย่ออ่านแล้วรู้เรื่องทันที จำได้ว่าเคยเขียนเรื่องพระนาคเสนเถระพระภิกษุผู้ฟื้นฟูพระพุทธศาสนาเป็นงานที่เขียนแล้วยังไม่เคยเผยแผ่ที่ใดมาก่อน วันนี้ลองอ่านเพื่อศึกษาดูว่าพระพุทธศาสนาเคยเสื่อมไปจากดินแดนที่เป็นถิ่นกำเนิด แต่นับว่าพระพุทธศาสนายังไม่ถึงคราวที่จะต้องจางหายไปจากสากลโลกนี้ จึงทำให้ในแต่ละยุคมีพระเถระผู้ทรงภูมิปัญญาได้ปกป้องพระพุทธศาสนาและสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาไปได้อีกหลายร้อยปี
ภายหลังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ประมาณพุทธศตวรรษที่ 3 พระเจ้าอโศกมหาราชผู้ปกครองประเทศอินเดียในสมัยนั้น มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก พระองค์ได้ทรงให้ความอุปถัมภ์โดยทรงจัดให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 3 ขึ้นในปี พ.ศ.236 ณ วัดอโศการาม นครปาฏลีบุตร แคว้นมคธ (ปัจจุบันคือ เมืองปัตนะ เมืองหลวงของรัฐพิหาร) ทรงอาราธนาพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นประธาน หลังจากสังคายนาร้อยกรองพระธรรมวินัยเสร็จสิ้นแล้ว พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ได้จัดคณะพระธรรมทูตออกเป็น 9 คณะแล้วส่งไปประกาศพระพุทธศาสนาในดินแดนต่างๆดังนี้
สายที่ 1 มีพระมัชฌันติกเถระเป็นหัวหน้าคณะ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ แคว้นกัษมิระ คือ รัฐแคชเมียร์ ประเทศอินเดียปัจจุบัน และแคว้นคันธาระ ในปัจจุบัน คือ รัฐปัญจาป ทั้งของประเทศอินเดียและประเทศปากีสถาน
สายที่ 2 พระมหาเทวเถระ เป็นหัวหน้าคณะไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในแคว้นมหิสมณฑ,ปัจจุบัน ได้แก่ รัฐไมเซอร์และดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำโคธาวารี ซึ่งอยู่ในตอนใต้ประเทศอินเดีย
สายที่ 3 พระรักขิตเถระ เป็นหัวหน้าคณะ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ วนวาสีประเทศ ในปัจจุบันได้แก่ดินแดนทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศอินเดีย
สายที่ 4 พระธรรมรักขิตเถระ หรือพระโยนกธรรมรักขิตเถระ (ซึ่งเข้าใจกันว่าเป็นฝรั่งคนแรกในชาติกรีกที่ได้เข้าบวชในพระพุทธศาสนา)เป็นหัวหน้าคณะไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ อปรันตกชนบทปัจจุบันสันนิษฐานว่าคือดินแดนแถบชายทะเลเหลือเมืองบอมเบย์
สายที่ 5 พระมหาธรรมรักขิตเถระ เป็นหัวหน้าคณะ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ แคว้นมหาราษฎร์ปัจจุบันได้แก่รัฐมหาราษฎร์ของประเทศอินเดีย
สายที่ 6 พระมหารักขิตเถระ เป็นหัวหน้าคณะ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ในเอเซียกลาง ปัจจุบันได้แก่ดินแดนที่เป็นประเทศอิหร่านและตูรกี
สายที่ 7 พระมัชฌิมเถระ พร้อมด้วยคณะ คือพระกัสสปโคตรเถระ พระมูลกเทวเถระ พระทุนทภิสสระเถระ และพระเทวเถระ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ ดินแดนแถบภูเขาหิมาลัย สันนิษฐานว่าคือประเทศเนปาล
สายที่ 8 พระโสณเถระ และพระอุตตรเถระ เป็นหัวหน้าคณะ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ ดินแดนสุวรรณภูมิ ซึ่งปัจจุบันคือ ประเทศในคาบสมุทรอินโดจีน เช่น พม่า ไทย ลาว เขมร เป็นต้น
สายที่ 9 พระมหินทเถระ (โอรสพระเจ้าอโศกมหาราช) พร้อมด้วยคณะ คือพระอริฏฐเถระ พระอุทริยเถระ พระสัมพลเถระ และพระหัททสารเถระ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ ลังกาทวีป ในรัชสมัยของพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ กษัตริย์แห่งลังกาทวีป ปัจจุบันคือประเทศศรีลังกา (พระราชธรรมนิเทศ,(ระแบบ ฐิตญาโณ), ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา, กรุงเทพฯ. มหามกุฎราชวิทยาลัย, 2542, หน้า 162)
พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองเรื่อยมา จนกระทั่งพระเจ้าเมนันเดอร์ปกครองอินเดียซึ่ง พุทธศักราชที่เกิดขึ้นของพระยามิลินท์ผู้มีส่วนสำคัญทำให้เกิดมิลินทปัญหามีแตกต่างกันดังที่ วศิน อินทสระอ้างไว้ว่า “ประมาณ พ.ศ.500 พระยามิลินท์หรือเมนันเดอร์ พระราชาเชื้อสายกรีกมีอำนาจเหนือลุ่มแม่น้ำคงคา พระองค์เป็นนักปราชญ์ได้ประกาศโต้วาทีกับนักบวชในลัทธิต่าง ๆ ในเรื่องศาสนาและปรัชญาจนไม่มีใครสู้ได้ เวลานั้นพระเจ้ามิลินท์พักอยู่ที่นครสาคละ พระภิกษุสามเณรต่างครั่นคร้ามในวาทะของพระเจ้ามิลินท์ อยู่ไม่เป็นสุขในเมืองสาคละพากันอพยพไปอยู่ที่เสียหมดสิ้น เมืองสาคละว่างจากพระสงฆ์สามเณรอยู่ถึง12ปี (วศิน อิทสระ,อธิบายมิลินทปัญหา, กรุงเทพ ฯ: สำนักพิมพ์บรรณาคาร,2528, หน้า 16)
ส่วนเสถียร โพธินันทะบอกว่า “พุทธศักราช 392 ราชากรีกองค์หนึ่งมีพระนามว่าเมนันเดอร์ ล่างวงศ์ของยูเครตีสลงแล้วยกทัพตีแว่นแคว้นใหญ่เล็กในปัญจาป คันธาระตกอยู่ในอำนาจ สถาปนา “สาคละ” ขึ้นเป็นราชธานี พระเจ้าเมนันเดอร์พระองค์นี้ภาษาบาลีเรียกว่า “มิลินทะ” (เสถียร โพธินันทะ,ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา,กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย,2541,หน้า 199)
พระนาคเสนเถระเชื่อกันว่าเป็นพระในนิกายสรวาสติกวาท ผู้โต้วาทะกับพระเจ้าเมนันเดอร์กษัตริย์เชื้อสายกรีก หรือนิยมเรียกกันว่าพระยามิลินทร์ ประวัติของพระนาคเสนนั้นมีปรากฏในมิลินทปัญหา อันเป็นบันทึกการโต้วาทะกับพระยามิลินทร์ ในช่วงพุทธศตวรรษ์ที่ห้า ซึ่งช่วงนั้นนิกายมหายานกำลังถือกำเนิดขึ้น ดังนั้นเนื้อหาในมิลินทปัญหาจึงมีบางส่วนกล่าวถึงพระโพธิสัตว์ การสร้างบารมีของมหายานด้วยข้อความเหล่านี้ปรากฎในนาคเสนภิกขุสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรในนิกายมหายาน นิกายสรวาส ติกวาทิน มีทัศนะใกล้เคียงกับเถรวาทเช่น มองเห็นสภาวธรรมทุกสิ่งเป็นของมีจริงไปหมด สภาวธรรมทั้งสามดำรงอยู่ตลอด พระโสดาบัน สกิทาคามี พระอนาคามี ไม่เสื่อมจากมรรคผล นิกายสรวาสติวาทเป็นฝ่ายสัจจนิยม
ความเชื่อนิกายสรวาสติวาทินนั้น อภิชัย โพธิประสิทธ์ศาสต์ อ้างไว้ว่า”นิกายสรวาสติวาทิน บาลีเรียกว่าสัพพมัตถีติกวาทมีความเชื่อสำคัญอยู่ 3 ข้อคือ
1.พระอรหันต์อาจเสื่อมจากอรหันตมรรคได้
2.สิ่งทั้งหลายมีอยู่และเป็นอยู่ในลักษณะสืบต่อ
3.ความที่จิตสืบเนื่องกันอยู่เสมอเป็นสมาธิได้
คณาจารย์ที่มีชื่อเสียงเคยสังกัดนิกายนี้คืออสังคและวสุพันธุบวชเรียนในนิกายสรวาสติวาท ภายหลังจึงแปลงเป็นมหายาน ช่วยกันตั้งลัทธิโยคาจารย์ขึ้น มีกำเนิดในศตวรรตที่ 8 อสังคร้อยกรองปกรณ์ที่สำคัญคือโยคาจารย์ภูมิศาสตร์ ส่วนวสุพันธุร้อยกรองวิชญาณมาตราศาสตร์และตรีทศศาสตร์ (อภิชัย โพธิประสิทธ์ศาสต์,พระพุทธศาสนามหายาน, กรุงเทพ ฯ: สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย,2534,หน้า 99)
หลักฐานอีกอย่างหนึ่งที่พระนาคเสนน่าจะสังกัดนิกายสรวาสติวาทคือ อิทธิพลของนิกายสรวาสติวาทินได้ครอบงำทั่วไปในอินเดียภาคกลางและภาคเหนือ มีแคว้นมถุรา แคว้นกาศมีระ แคว้นคันธาระเป็นศูนย์รวม และได้แผ่ขยายออกไปจากอินเดียสู่ดินแดนอาเซียกลางและจีนในยุคตติยสังคายนา นิกายนี้ได้รุ่งเรืองมากแถบอาณาบริเวณมถุราสังฆเถระองค์หนึ่งของนิกายนี้คือพระอุปคุปต์ ได้รับความเคารพจากพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นพิเศษ ความจริงของนิกายนี้ ได้รุดหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง ยังผลให้นิกายอื่นอับรัศมีลง ที่สารนาถปรากฏหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่า นิกายสรวาสติวาทินได้ชัย (พระราชธรรมนิเทศ,ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา,(กรุงเทพฯ:,มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2542, หน้า 194)
ประวัติพระนาคเสน
ประวัติพระนาคเสนในหนังสือประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในอินเดียนเขียนไว้สั้นๆว่า “ พระนาคเสน ท่านนับว่าเป็นผู้ทำให้พระเจ้ามิลินท์กลับมานับถือพุทธศาสนา และสนับสนุนเป็นอย่างดี ในมิลินทปัญหากล่าวว่า พระนาคเสนเกิดที่เมืองกชังคละ แถบภูเขาหิมาลัย บิดาเป็นพราหมณ์ชื่อว่าโสณุตตระ ในวัยเด็กอายุ 7 ขวบได้ศึกษาไตรเพทและศาสตร์อื่น จนเจนจบ จึงถามบิดาว่ามีศาสตร์อื่นที่จะต้องเรียนบ้างไหม บิดาตอบว่ามีเท่านี้ ต่อมาวันหนึ่งได้พบพระโรหนะมาบิณฑบาตที่บ้านบิดา เกิดความเลื่อมใสจึงให้บิดานิมนต์มาที่บ้านถวายภัตตาหารและคิดว่าพระรูปนี้ต้องมีศิลปวิทยามาก จึงขอศึกษากับพระเถระ พระเถระกล่าวว่า ไม่อาจสอนผู้ที่ไม่บวชได้ จึงของบิดาบวชที่ถ้ำรักขิตได้ศึกษาพุทธศาสนากับพระโรหนเถระ
ต่อมาเมื่ออายุ 20 ปีก็ได้รับการอุปสมบท วันหนึ่งเกิดตำหนิอุปัชฌาย์ในใจว่าอุปัชฌาย์ของเราช่างโง่จริง ให้เราศึกษาพระอภิธรรมก่อนเรียนสูตรอื่น ๆ พระโรหณะผู้อุปัชฌาย์ทราบกระแสจิตจึงกล่าวว่า พระนาคเสนคิดอย่างนี้หาถูกต้องไม่ พระนาคเสนทราบว่าพระอุปัชฌาย์รู้วาระจิตของตน จึงตกใจและขอขมาแต่พระเถระกล่าวว่าเราจะให้อภัยได้ง่ายๆไม่
พระนาคเสนต้องไปทำภารกิจอย่างหนึ่งที่สำคัญคือต้องไปโปรดพระเจ้ามิลินท์ที่เมืองสาคละ ให้เลื่อมใสในพระรัตนตรัยก่อนจึงจะอภัยให้ และแล้วพระโรหนะก็ส่งไปศึกษาเพิ่มเติมกับพระอัสสคุตตะ ที่วัตตนิยเสนาสนะวิหารเมืองสาครพักอยู่ 7 วัน พระเถระจึงยอมรับเป็นศิษย์ ต่อมาได้แสดงธรรมเทศนาให้เศรษฐีท่านหนึ่งฟังจนทำให้เขาบรรลุโสดาบัน และเมื่อมาไตร่ตรองคำสอนที่ตนสั่งสอนอุบาสกก็บรรลุโสดาบันตาม ต่อมาไม่นานจึงเดินทางจากสาคละไปสู่ปาฎลีบุตร พักที่อโศการามแล้วศึกษาธรรมกับพระธรรมรักขิตจนจบภายใน 6 เดือนพระนาคเสนเดินทางไปบำเพ็ญเพียรที่รักขิตคูหาเป็นเวลานาน ในที่สุดก็ได้บรรลุพระอรหันต์ คณะสงฆ์ทั้งหลายจึงอนุโมทนาแล้วประกาศให้ท่านไปโต้วาทะกับพระยามิลินท์ พระนาคเสนจึงเดินทางไปนครสาคละ แล้วพบพระเจ้ามิลินท์ที่นั้น เมื่อได้ตอบโต้ปัญหากับพระเจ้ามิลินท์แล้ว ทำให้พระองค์เกิดความเลื่อมใสในพุทธศาสนาขึ้นมา และเปล่งว่าจาถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต (พระมหาดาวสยาม วชิรปญฺโญ, ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในอินเดีย,กรุงเทพฯ:พิมพ์สวย,2546,หน้า 89)
ส่วนประวัติพระนาคเสนในมิลินทปัญหา ฉบับแปลของมหามกุฏราชวิทยาลัยนั้นมีที่มาคล้ายประวัติพระพุทธโฆษาจารย์คือย้อนหลังไปตั้งแต่สมัยพุทธกล ตามที่ปรากฎในมิลินทปกรณ์เริ่มนับถอยหลังไปถึงพุทธพยากรณ์ในวันปรินิพพาน
พระพุทธองค์ทรงบรรทมบนบัลลังก์ หันพระเศียรไปทางทิศอุดร ในระหว่างนางรังทั้งคู่ อันมีอยู่ในพระราชอุทยานของพวกมัลลกษัตริย์ แห่งเมืองกุสินารา จึงตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า "ภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือนเธอทั้งหลายให้รู้ว่า สังขารทั้งปวงมีความสิ้นความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงทำกิจทั้งปวงด้วยความไม่ประมาทเถิด ธรรมวินัยอันใด เราบัญญติไว้แล้ว เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว ธรรมวินัยนั้นแหละ จะเป็นครูของพวกเธอ” (มหาปรินิพพานสูตร 10/143/124)
เมื่อเราปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปจะระลึกถึงถ้อยคำที่ไม่ดีของ สุภัททภิกขุผู้บวชเมื่อแก่ แล้วจะกระทำสังคายนา เพื่อรักษาพระพุทธวจนะไว้มิให้คลาดเคลื่อน
จากนั้นมาอีก 100 ปี พระยสกากัณฑกบุตร ผู้จะย่ำยีซึ่งถ้อยคำของพวก ภิกษุวัชชีบุตรติสสเถระ ผู้จะลบล้างลัทธิของพวกเดียรถีย์ภายนอก จักได้กระทำ สังคายนาครั้งที่ 2 ต่อไปอีกได้ 218 ปี พระโมคคลีบุตรติสสเถระ ผู้จะลบล้างลัทธิของพวกเดียรถีย์ภายนอก จักได้กระทำ สังคายนาครั้งที่ 3 ต่อมาภายหลัง พระมหินทเถระจะไปประดิษฐานศาสนาของเรา ลงไว้ที่ตามพปัณณิทวีป (ลังกา) ต่อจากเราปรินิพพานไปล่วงได้ 500 ปี จักมีพระราชาองค์หนึ่ง ชื่อว่า "มิลินท์" ผู้ได้สร้างสมบุญบารมีไว้ดีแล้ว จะทำให้เกิดปัญหาอันละเอียดขึ้น ด้วยอานุภาพปัญญาของตน จะย่ำยีเสียซึ่งสมณพราหมณ์ทั้งหลายด้วยปัญหาอันละเอียด
จะมีภิกษุองค์หนึ่ง ชื่อว่า "นาคเสน" ไปทำลายถ้อยคำของ มิลินทราชา ทำให้มิลินทราชาเกิดความร่าเริงยินดีด้วยอุปมาเป็นเอนก จะทำศาสนาของเราให้หมดเสี้ยนหนามหลักตอ จะทำศาสนาของเราให้ตั้งอยู่ตลอด 5000 พรรษา" ดังนี้
เพราะฉะนั้น จึงได้กล่าวไว้ว่า ผู้ใดเกิดในตระกูลในเวลาล่วงได้ 500ปีที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วนั้น ผู้นั้นจักได้ชื่อว่า "มิลินทราชา" เสวยราชย์อยู่ใน สาคลนคร อันเป็นเมืองอุดม
มิลินทราชานั้น จักได้ถามปัญหาต่อพระนาคเสน มีอุปมาเหมือนกับน้ำในแม่น้ำคงคาไหลไปสู่มหาสมุทรสาครฉะนั้น
พระองค์เป็นผู้มีถ้อยคำอันวิจิตร ได้เสด็จไปหาพระนาคเสนในเวลาราตรี มีคบเพลิงจุดสว่างไสว แล้วถามปัญหาล้วนแต่ละเอียดลึกซึ้ง ขอท่านทั้งหลายจงตั้งใจไว้ด้วยดี ฟังปัญหาอันละเอียดในคัมภีร์มิลินท์นั้นเถิด จะเกิดประโยชน์สุขแก่ท่านทั้งหลายตลอดกาลนานดังนี้ อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงการกำเนิดของคนมีปัญญานั้นมิใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านกาลเวลาและการสั่งสมบารมีจนเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ จึงจะแก้ปัญหาของผู้มีปัญญาได้
เป็นที่น่าสังเกตว่าตำราได้พรรณาคำพยากรณ์ไว้อย่างน่าเชื่อถือและทำให้เชื่อว่าคำพยากรณ์นั้นเป็นจริง แต่หลักฐานจากพระไตรปิฎกไม่มีคำพยากรณ์เช่นนี้ พระอรรถกถาจารย์น่าจะแต่งเติมเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือโดยใช้สำนวนพรรณาโวหาร ซึ่งเป็นที่นิยมกันในยุคพุทธศตวรรตที่ 9 จึงไม่น่าแปลกว่าพระพุทธโฆษาจารย์ได้แต่งเป็นผู้แต่งนิทานกถาและนิคมคาถา