จากหนังสือภารตวิทยากล่าวถึงระบบการบริหารมหาวิทยาลัยนาลันทาไว้ตอนหนึ่งว่า “มหาวิทยาลัยนาลันทาและมหาวิทยาลัยวิกรมศิลามีคณะกรรมการดำเนินงานสองคณะคือคณะกรรมาธิการวิชาการมีหน้าที่จัดหลักสูตรและการศึกษา รับนักศึกษาเข้าออก มอบหมายหน้าที่ให้แก่อาจารย์ จัดการสอบไล่และดูแลห้องสมุด” และคณะกรรมาธิการบริหารงานมีหน้าที่ดูแลกิจการในด้านบริหารและการงินทั่วไป รวมทั้งดูแลการก่อสร้าง ซ่อมแซมอาคาร จัดการเรื่องอาหาร ที่อยู่ ยารักษาโรคและเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น”(ภารตวิทยา หน้า 334)
บริเวณภายนอกวิหารพระภิกษุสามารถเดินศึกษาหาความรู้ได้ทั่ว “วัด” เพราะมีแหล่งความรู้อยู่ทั่วไปเช่นหอสมุดหอคัมภีร์กลาง หรือวิหารต่างๆ ที่อาจารย์หัวหน้าวิหารมีความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขาวิชา ใครอยากศึกษาวิชาอะไรก็ต้องเข้าไปหาอาจารย์นั้นๆ จนมีความรู้ เมื่อสอบผ่านจากวิหารแล้ว ก็ต้องสอบให้ผ่านคณะกรรมการประจำอาราม แล้วจึงเข้าสอบที่วัดกลางเป็นอันจบกระบวนการในการศึกษา ถ้าจะเทียบกับการศึกษาในปัจจุบันการสอบในระดับวิหารน่าจะเทียบได้กับปริญญาตรี ระดับอารามเป็นปริญญาโท และคณะกรรมประจำวัดจึงเป็นปริญญาเอก การศึกษาที่นาลันทาในอดีตจึงมิใช่เรื่องง่ายต้องมีความรู้จริงๆจึงจะผ่านการศึกษาขั้นสุดท้าย
ส่วนการจัดการศึกษาศึกษาที่มหาวิทยาลัยนาลันทาในสมัยปัจจุบัน ที่เรียกว่านวนาลันทาวิหาร อยู่ห่างจากมหาวิทยาลัยลันทาในอดีตไม่ถึง 1 กิโลเมตร มีสระน้ำขนาดใหญ่อยู่หน้ามหาวิทยาลัย การจัดรูปแบบอาศัยรูปแบบมาจากอดีต คือมีหอพักแยกเป็นสัดส่วน มีอาคารเรียนรวม มีวัดอยู่ภายในมหาวิทยาลัย นักศึกษาทั้งหมดเป็นพระภิกษุและสามเณร มีพระนักศึกษาจากหลายประเทศเช่นพม่า ศรีลังกา เขมร ลาว ธิเบต มองโกเลีย ไทย ญี่ปุ่น จีน ฯลฯ รับพระนักศึกษาทั้งมหายานและเถรวาท ที่มากที่สุดคือพม่าและศรีลังกา
การเกิดขึ้นของนวนาลันทามหาวิทยาลัยต้องย้อนกลับไปในปีพุทธศักราช 2479 ที่พระภิกษุชาวอินเดียที่มีชื่อเสียง 3 รูปคือพระราหุล สันกฤตยยัน,พระภทันต์ อนันท์ เกาสัลยยัน และพระจักดิสห์ กัสหยปะ เป็นสหธัมมิกดำเนินงานด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นเวลายาวนาน ครั้งหนึ่งเมื่อพบกันที่อัลลาฮาบาดในปีพุทธศักราช 2479 ได้กำหนดเป้าหมายในอนาคตเพื่อพระพุทธศาสนาของแต่ละท่านไว้ดังนี้ พระราหุล สันสกฤตยยันบอกปณิธาณไว้อย่างชัดเจนว่า “ข้าพเจ้าจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เพื่อเผยแผ่คำสอนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้” ส่วนพระอนันต์ เกาสัลยยันมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่ “ข้าพเจ้าจะเดินทางเพื่อแสดงธรรมและทำงานในการเผยแผ่ธรรมะทางหนังสือพิมพ์ โดยใช้ภาษาฮินดีเป็นสื่อ” ส่วนพระจักดิสห์ กัสหยปะ แสดงความตั้งใจไว้ว่า “ข้าพเจ้าจะอุทิศชีวิตในด้านการศึกษา,วิจัย,การสอน และหาทางตั้งสถาบันการศึกษาทางพระพุทธศาสนาขึ้นมาให้ได้” (D.C. Ahir,Biddhism in Modern India,p.100)
พระภิกษุชาวอินเดียทั้งสามรูปได้ดำเนินแผนงานตามที่วางไว้ ท่านราหุลเขียนหนังสือทางวิชาการออกมาเป็นจำนวนมาก พระจักดิสห์ กัสหยปะ ได้สร้างมหาวิทยาลัยนวนาลันทาขึ้นที่บริเวณใกล้เคียงมหาวิทยาลัยนาลันทาเก่าบนในปีพุทธศักราช 2493 โดยได้รับบริจาคที่ดิน ณ บริเวณใกล้เคียงกับมหาวิทยาลัยนาลันทาเก่า ข้างทะเลสาบแห่งหนึ่ง โดยชาวมุสลิมเจ้าของที่ดินคนหนึ่งชื่อซามินเดอร์ นัยว่าเพื่อเป็นการไถ่บาปที่กษัตริย์มุสลิมในอดีตเคยเผาทำลายมหาวิทยาลัยนาลันทาจนเสียหายย่อยยับ โดยมีวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยสำคัญๆ 9 ประการคือ
1. เพื่อพัฒนานาลันทาในฐานะที่เคยเป็นวิหารเก่า (สถานที่อาจารย์และนักศึกษาอาศัยอยู่ด้วยกันเพื่อการศึกษาและงานด้านวิชาการระดับสูง เพื่อสนับสนุนการศึกษาวิจัยด้านภาษาและวรรณคดีบาลีตลอดจนพุทธวิทยาด้วยภาษาสันสกฤต,ธิเบต,จีน,มองโกเลีย,ญี่ปุ่นและภาษาเอเชียอื่นๆ
2. เพื่อรวบรวม(จัดตั้ง) ห้องสมุดสำหรับวรรณกรรมบาลี,สันสกฤตและภาษาอื่นๆ อันกอปรด้วยหนังสือและงานวิจัยสมัยใหม่ในภาษาบาลีและพุทธวิทยารวมทั้งแนวความคิดสมัยใหม่เพื่อสะดวกต่อการศึกษาและวิจัยเชิงเปรียบเทียบ
3. เพื่อเป็นที่พักสำหรับภิกษุและนักปราชญ์ ผู้ชำนาญ(เชี่ยวชาญ)ในการศึกษาในวัดตามประเพณีและทำให้คุ้นเคยกับวิธีการวิจัยและการศึกษาเปรียบเทียบสมัยใหม่
4. เพื่อร่วมมือกับสถาบันการวิจัยในทำนองเดียวกันในรัฐพิหาร และงานวิจัยที่ใกล้เคียงกันด้วยทัศนะที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน(ซึ่งกันและกัน)เพื่อหลีกเลี่ยงจากงานที่ซ้ำซ้อนกัน
5. เพื่อรับบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยที่ได้รับการยอมรับ และฝึกฝนในระดับบัณฑิตวิทยาลัยและการวิจัยในพุทธวิทยาด้วยภาษาบาลีและสันสกฤตและภาษาอื่น ที่จะให้เป็นที่รู้จักด้วยความลึกซึ้งและล้ำลึกในการศึกษาตามโบราณ
6. เพื่อส่งนักวิชาการและคณาจารย์ไปสู่ศูนย์กลางการศึกษาด้านพระพุทธศาสนาอันเป็นที่ยอมรับในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเพื่อนบ้านที่นับถือพระพุทธศาสนาที่ได้รับความรู้มาโดยตรงตามประเพณี และยังเป็นการฟื้นฟูสายธารวัฒนธรรมเก่าที่เกิดขึ้นระหว่างอินเดียและประเทศเหล่านั้น
7. เพื่อเชิญชวนนักวิชาการพระพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงจากศิลปะแขนงต่างๆของโลก เพื่อมาเยี่ยมชมสถาบันตามโอกาส และเสนอให้สอนในวิชาที่ท่านเหล่านั้นมีความเชี่ยวชาญ
8. เพื่อรวบรวมงานวิจารณ์,งานแปลและพิมพ์งานด้านพระพุทธศาสนาจากภาษาบาลี,สันสกฤต,ธิเบต,จีน,ญี่ปุ่น,มองโกเลียและภาษาอื่นๆ
9. เพื่อรวบรวมเรียบเรียงและจัดพิมพ์ต้นฉบับและงานวิจัยในแง่มุมต่างๆของพุทธวิทยา (Dr. Nand Kishor Prasad,Nava Nalanda Mahavihara,p.57)
ด้านการสอน นวนาลันทามหาวิหารเมื่อเริ่มแรกก่อตั้งนั้นเป็นสถาบันเพื่อการวิจัย โดยเน้นหนักไปที่โปรแกรมการวิจัยและการพิมพ์เผยแผ่ แต่เมื่อรับนักศึกษาและนักวิชาการที่เหมาะสมกับการทำงานด้านการวิจัยแล้ว ในปัจจุบันจึงมีการเรียนการสอนทั้งประกาศนียบัตร,ปริญญาตรี,โท และเอก โดยเน้นหนักที่พุทธศาสนา,ภาษาบาลี,ปรัชญา,อินเดียศึกษาและเอเชียศึกษา
ปัจจุบัน(2544)มหาวิทยาลัยนาลันทามีพระนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ประมาณ 100 รูปเป็นพระภิกษุชาวศรีลังกา พม่า ไทย เขมร วันที่ผู้เขียนเดินทางไปเยี่ยมนวนาลันทานั้น พระนักศึกษาอยู่ในช่วงที่พระนักศึกษาเดินขบวนต่อต้านอาจารย์ท่านหนึ่ง สาเหตุมาจากการสอนที่มุ่งเน้นในการปฏิบัติมากเกินไป “วันๆไม่มีอะไร นอกจากให้นั่งสมาธิภาวนาอย่างเดียว ทั้งๆที่ตัวเองเป็นสตรีแต่นั่งบนอาสนะสูงกว่าพระ นอกจากนั้นเธอยังเป็นฮินดูอีกด้วย นักศึกษาจึงต้องรวมตัวกันประท้วง” นักศึกษาเขมรท่านหนึ่งเล่าให้ผู้เขียนฟัง
การเดินขบวนประท้วงอาจารย์ของนักศึกษาอินเดียดูจะเป็นปรกติของประเทศนี้ นัยว่าเป็นสิทธิเสรีภาพของนักศึกษา เมื่อพระพม่าและพระศรีลังกาซึ่งเป็นนักเดินขบวนตัวยงมาพบกันที่มหาวิทยาลัยนวนาลันทา จึงไม่มีใครแปลกใจที่มีการเดินขบวนประท้วงเป็นประจำ “ผมมาเรียนหนังสือ ไม่ได้มาเดินขบวน” นักศึกษาเขมรรูปเดิมบอกผู้เขียนเบาๆ
นาลันทามหาวิหารในอดีตเคยเป็นมหาวิทยาลัยทางพระพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงมากที่สุด และถือเป็นต้นแบบของมหา
วิทยาลัยในพระพุทธศาสนา แม้ว่าระบบการเรียนการสอนจะจำกัดอยู่ในวงของคณะสงฆ์ แต่ก็ถือได้ว่ามีพระภิกษุจากนานาประเทศพยายามจะเข้าศึกษา บางรูปต้องสอบหลายปีจึงจะผ่าน
พระมหาสุนทรบรรยายบรรยากาศในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในยุคนั้นไว้อย่างน่าฟังว่า “ครั้งหนึ่งเมื่อหลวงจีนเหี้ยนจังเดินทางมาเพื่อเข้าศึกษา จะต้องผ่านการสอบขั้นแรกโดยผู้รักษาประตูได้นำบาตรใบหนึ่งใส่น้ำจนเต็มถือรออยู่ที่หน้าประตู เมื่อหลวงจีนเดินทางมาถึงก็ได้หยิบเข็มอันหนึ่งที่ถือเป็นหนึ่งในบริขารแปดของพระภิกษุหย่อนลงในบาตร ทันใดนั้นผู้รักษาประตูก็ได้ประกาศผลสอบทันทีว่าท่านสอบผ่านแล้ว ภิกษุอื่นๆที่รอสอบต่างก็งงงวยไปตามๆกัน ผู้รักษาประตูซึ่งเป็นกรรมการสอบจึงอธิบายว่า มหวิทยาลัยนาลันทาคือมหาสมุทรแห่งความรู้เหมือนน้ำในบาตร เหี้ยนจังเหมือนเข็มที่พร้อมจะค้นหาความรู้ในมหาสมุทร ดังนั้นท่านจึงสอบผ่านด่านแรก” นี่เป็นเพียงการสอบเข้าขั้นแรก ต่อจากนั้นจะมีการสอบอีกหลายรอบจนกว่าจะจบหลักสูตร
มหาวิทยาลัยนาลันทาล่มสลายเพราะกองทัพมุสลิมบุกเข้าสังหารพระภิกษุที่ไม่มีอาวุธอะไรอยู่มในมือเลย นอกจากตำราและลูกประคำ พระมหาสุนทรยังพรรณาถึงสภาพที่ทหารเข่นฆ่าพระว่า “บริเวณด้านหน้าวิหารไปจนถึงเจดีย์พระสารีบุตร(ประมาณ 200 เมตร) มีศพพระภิกษุนอนตายเกลื่อนกลาด เลือดแดงฉานไหลนองปฐพี จากนั้นได้ลาดน้ำมันและจุดไฟเผา ทั่วทั้งอารามจึงมีไฟลุกไหม้ตลอดหนึ่งเดือนจึงสงบ”
ได้ฟังบรรยากาศและเห็นสถานที่ชัดเจนผู้เขียนก็ได้แต่สลดใจในชะตากรรม มนุษย์ผู้หลงในอำนาจย่อมสามารถทำได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะต้องเข่นฆ่าคนที่ไม่มีทางสู้มากมายสักเท่าใดก็ตาม ซากปรักหักพังต่างๆ ได้นำมาเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ข้างมหาวิทยาลัย มีสิ่งหนึ่งที่ยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ไม่มีอะไรบุบสลายเลยคือหลวงพ่อพระเจ้าองค์ดำ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า เตละบาา หมายถึงหลวงพ่อน้ำมัน เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ ปัจจุบันเป็นสมบัติของเอกชนเก็บรักษาไว้ภายนอกบริเวณมหาวิทยาลัย
นาลันทามหาวิหารในอดีตล่มสลายไปแล้ว เหลือเพียงซากปรักหักพังให้อนุชนรุ่นหลังได้ระลึกถึง ส่วนนวนาลันทามหาวิทยาลัยอันเป็นมหาวิทยาแห่งใหม่ ดูจากจำนวนนักศึกษาแล้วก็น่าเป็นห่วงว่าจะดำรงสถานภาพอยู่ได้อีกนานเท่าใด และจะยิ่งใหญ่เหมือนนาลันทาในอดีตหรือไม่ ยังไม่มีใครให้คำตอบได้ แต่อย่างน้อยที่สุดเจ้าของผืนแผ่นดินบริเวณมหาวิทยาลัยก็คือคนมุสลิมที่ได้บริจาคแผ่นดินเพื่อให้สร้างมหาวิทยาลัยด้วยความรู้สึกสำนึกในความผิดของอดีตกษัตริย์มุสลิมในอดีต ขอให้นวนาลันทาจงเจริญก้าวหน้าต่อไปตราบนานเท่านานด้วยเถิด
ในขณะที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยกำลังถุูกผลักดันให้เป็นเรื่องของความขัดแย้งทางศาสนา มีการเข่นฆ่ากันไม่เว้นแต่ละวัน บทบาทของมหาวิทยาลัยยิ่งดูเหมือนจะห่างไกลจากชาวบ้านออกไปทุกที บางคนสมองดีแต่ไม่มีเงินค่าเทอม ส่วนคนที่มีเงินกลับไม่ค่อยอยากเรียน ลองหันมาเรียนในมหาวิทยาลัยสงฆ์บ้าง บางทีอาจเป็นทางเลือกที่ทำให้สังคมสงบสุขได้ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยมีอายุครบหกสิบปีเหมือนคนแก่ที่เริ่มอ่อนล้า แต่หากมองในแง่วิชาการก็กำลังสุกงอมเต็มที่ สร้างคนดีเพื่อสังคมเป็นจำนวนมาก สืบสานปณิธานของความเป็นมหาวิทยาลัยแห่งคณะสงฆ์ไทยมาโดยตลอดและคิดว่าน่าจะคงทำหน้าที่สร้างคนดีเพื่อสังคมต่อไป
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
แก้ไขปรับปรุง
09/09/53
ภาพประกอบ ผศ.ดร.ธวัช หอมทวนลม