มหาวิทยาลัยได้ชื่อว่าเป็นสถาบันการศึกษาที่ให้ความรู้แก่นักศึกษาและบริการวิชาการแก่ประชาชน ปัจจุบันประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยทางด้านพระพุทธศาสนาสองแห่งคือมาหวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยซึ่งจะครบรอบวันสถาปนาหกสิบสี่ปีในวันที่ 16 กันยายน 2553 ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนากล่าวถึงมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาไว้หลายแห่ง แต่ที่มีชื่อเสียงและกล่าวถึงมากที่สุดคือมหาวิทยาลัยนาลันทา ซึ่งถูกเผาโดยกองทัพโยกองทัพของผู้มีอำนาจในยุคนั้น สถานที่ตั้งมหาวิทยาลัยนาลันทาในอดีตปัจจุบันเป็นที่ตั้งของนวนาลันทามหาวิทยาลัย ครั้งหนึ่งเคยเดินทางไปเยือนและนอนพักข้างมหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้เขียนบันทึกการเดินทางไว้ ลองศึกษาประวัติของมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาจากอดีตเพื่อสะท้อนถึงมหาวิทยาลัยสงฆ์ในปัจจุบัน
พระอาทิตย์ลับขอบฟ้าทางเบื้องปัจฉิมทิศไปไม่นาน แสงเรื่อเรืองจากขอบฟ้ายังเป็นสีหม่นอมแดง เสียงแมลงกลางคืนเริ่มบรรเลงบทเพลงแห่งธรรรชาติ ท่ามกลางท้องทุ่งที่เงียบสงัด นาน ๆ จะมีชาวบ้านนั่งรถม้าผ่านมาสักคัน พวกเขาเพียงแต่เอ่ยทักแต่มิมีรถคันใดรับพวกเราไปด้วย ชาวบ้านบางกลุ่มเดินสวนทางมาแต่พอรู้ว่าพวกเราเป็นพระภิกษุก็ไม่ได้สนใจอะไรมาก เอ่ยทักตามธรรมเนียมแล้วก็เดินผ่านไป ในจำนวนนั้นถึงจะมีโจรอยู่ด้วย แต่คงไม่มีใครคิดจะปล้นจี้ เพราะสารรูปของเราห่มผ้าหม่นสีคล้ำบ่งบอกว่าเป็นภิกษุที่น่าจะจนแสนจนกระไรปานนั้น
ผู้เขียนกับท่านอาจารย์สมัย ประธานสงฆ์แห่งวัดป่าพุทธคยา จึงต้องเดินเท้าไปตามถนนจากสามแยกมุ่งสู่นาลันทามหาวิทยาลัย เป็นระยะทางประมาณ 2กิโลเมตร ด้วยความเพลิดเพลินตามบรรยาศรอบๆตัว เพราะจุดมุ่งหมายของเราอยู่ที่มหาวิทยาลัย แต่ยังไม่รู้ว่าคืนนี้จะนอนที่ไหน มหาวิทยาลัยหรือวัดไทยนาลันทา เพราะเราทั้งสองไม่รู้จักใครเลยในดินแดนอันเคยยิ่งใหญ่ในอดีตของพระพุทธศาสนาคือมหาวิทยาลัยนาลันทา มหาวิทยาลัยแห่งแรกของพระพุทธศาสนา
คืนนั้นนับว่าโชคเข้าข้างเราเพราะได้พบกับพระนักศึกษาเขมร ที่พูดภาษาไทยได้ ท่านจึงนิมนต์เราทั้งสองไปยังห้องพักในมหาวิทยาลัยได้ดื่มน้ำชา ฉันกาแฟ พอหายเหนื่อย เสียงสวดมนต์จากห้องสวดมนต์ดึงกระหึ่ม ประสานสอดคล้องออกสำเนียงพม่าผสมศรีลังกา ฟังแล้วเกิดความรู้สึกสงบสงัดอย่างประหลาด จากนั้นพระนักศึกษาชาวเขมรท่านนั้น(ผู้เขียนลืมชื่อท่าน) จึงได้พาไปยังวัดไทยนาลันทาซึ่งอยู่ติดกับมหาวิทยาลัยทางทิศตะวันออก อยู่กลางทุ่งมองเห็นนาข้าวเขียวขจี แสงเดือนสาดส่องต้องนาข้าวและน้ำในทุ่งนา เปล่งประกายระยิบระยับ เกิดความรู้สึกคิดถึงบ้านอย่างช่วยไม่ได้
ท่านพระมหาสุนทร ซึ่งเป็นพระภิกษุไทยรูปเดียวรับภาระทุกอย่างในวัดไทยนาลันทา เพราะขณะนั้นเจ้าอาวาสจริงๆเกิดป่วยต้องกลับมาพักรักษาตัวอยู่ที่เมืองไทย “เราปล่อยให้วัดว่าง ไม่มีพระอยู่ไม่ได้ ตามกฏหมายอินเดียถ้าสถานที่ของชาวต่างชาติไม่มีผู้ดูแลรักษาติดต่อกัน 2 ปี สถานที่แห่งนั้นต้องตกเป็นสมบัติของรัฐบาลอินเดียทันที ดังนั้นแม้จะอนาถาสักเพียงใด เราจะต้องรักษาวัดอันเป็นสมบัติของพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ตลอดไป” ท่านพระมหาสุนทรบอกเหตุผลว่าทำไมต้องมาอยู่ที่นี่โดยไม่ยอมหนีไปไหน
ถ้าจะนับอายุมหาวิทยาลัยที่มีอายุเก่าแก่มากที่สุดในโลกแล้ว สำนักอคาเดมีของเพลโตน่าจะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลก เกิดขึ้นในกรีกประมาณพุทธศตวรรษที่ 2 (เพลโตเกิดเมื่อปีพุทธศักราช 116 หรือก่อนคริสตศักราช 427 ปี ตาย 347) เพลโตนักปรัชญาชาวกรีกที่ได้ตั้งสำนักสอนปรัชญาอันเป็นผลมาจากโสเครตีส ในส่วนของดินแดนตะวันออกมหาวิทยาลัยนาลันทาอันเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของพระพุทธศาสนาในอดีตน่าจะเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่มากที่สุด เกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหราชประมาณพุทธศตวรรษที่ 2
พระเจ้าอโศกมหาราช ปรารภถึงสถานที่ประสูติและนิพพานของพระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า จึงให้สร้างสถูปเจดีย์เพื่อเป็นสิ่งระลึก นาลันทาวิหารจึงได้เกิดขึ้น ตั้งแต่บัดนั้น แต่ยังมิได้มีรูปแบบเป็นมหาวิทยาลัย เพียงแต่เป็นวัดหรือวิหาร โดยมีสถูปขนาดใหญ่เป็นที่บรรจุสารีริกธาตุของพระสารีบุตร นัยว่าในยุคแรกๆเริ่มมีการเรียนการสอนวิชาการด้านพระพุทธศาสนาในส่วนที่พระสารีบุตรชำนาญนั่นคือพระสูตรและพระวินัย
นาลันทาได้กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาที่สำคัญของพระพุทธศาสนาในรัชสมัยของพระเจ้าหรรษวรรธนะ (พ.ศ. 1149-1190) นาลันทาวิหารได้กลายเป็นสถานที่มีชื่อเสียงเมื่อนาครชุนนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่เดินทางมาพักอาศัยที่นาลันทา พราหมณ์ชื่อสุวิษนุได้สร้างวิหารขึ้นถึง 108 หลัง
ส่วนความสำคัญของนาลันทาเริ่มต้นขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 11-12 ในสมัยราชวงศ์คุปตะ จากบันทึกของหลวงจีนเหี้ยนจังระบุไว้ว่ามีกษัติริย์ถึง 6พระองค์ให้การอุปถัมภ์พระอารามแห่งนี้ แต่ละพระองค์ได้สร้างวิหารขนาดใหญ่ขึ้นและทรงให้การอุปถัมภ์ภิกษุที่อาศัยอยู่ในแต่ละวิหาร
พอมาถึงสมัยราชวงศ์ปาละ นาลันทาก็ได้เจริญจนถึงระดับสูงสุด ได้กลายเป็นจุดศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานและวัชรยาน บันทึกของหลวงจีนเหี้ยนจังได้กล่าวถึงนาลันทาวิหารไว้อย่างน่าสนใจดังนี้ “พระเจ้าศักราทิตย์ ได้สร้างอารามขึ้น ณ ที่นี้ด้วยความเคารพเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ทิวงคตแล้วราชโอรสผู้สืบราสมบัติทรงพระนามว่าพระเจ้าพุทธคุปต์ ก็ได้สร้างอารามขึ้นอีกแห่งหนึ่งติดต่อกับทางด้านทิศใต้ สืบมาจนถึงพระโอรสของพระองค์ทรงพระนามว่าพระเจ้าตถาคตราชา ได้ทรงสร้างอารามขึ้นอีกทางด้านตะวันออก ครั้นเมื่อพระราชโอรสของพระราชาองค์นี้ขึ้นครองราชสมบัติทรงพระนามว่าพระเจ้าพาลาทิตย์ ก็ได้ทรงสร้างอารามขึ้นทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ภายหลังทรงทราบว่ามีพระอริยสงฆ์จากประเทศจีนมารับบิณฑบาต จึงบังเกิดความเลื่อมใสสละราชสมบัติออกทรงผนวช ราชโอรสพระนามว่าวชิรราชาขึ้นครองราชย์ ได้ทรงสร้างอารามขึ้นอีกทางด้านทิศเหนือ หลังจากนั้นยังมีกษัตริย์แห่งภาคกลางของอินเดีย ได้ทรงสร้างอารามขึ้นอย่างต่อเนื่องกับข้างนี้อีกหลายแห่ง ฉะนั้นพระมหากษัตริย์ 6 พระองค์ จึงทรงมีส่วนร่วมสถาปนาต่อเนื่องสืบกันมา”
ในขณะที่หลวงจีนเหี้ยนจังพักอยู่ที่นาลันทานั้นได้รับการอุปัฏฐากเป็นอย่างดีจากบันทึกตอนหนึ่งว่า “ของถวายประจำวันมีชัมพีระ(ส้มชนิดหนึ่ง) 120 ผล หมาก 20 ผล กะวาน 20 ผล การบูร 1 ตำลึง ข้าวมหาสาลี 1 เซ็ง ข้าวชนิดนี้เม็ดใหญ่กว่าถั่วดำ เมื่อหุงสุกแล้วมีกลิ่นหอม ไม่มีข้าวอื่นเสมอเหมือนและปลูกได้แต่ในแคว้นมคธแห่งเดียวไม่ปรากฎมีในแห่งอื่น ข้าวนี้เป็นของถวายพระราชาและผู้ทรงศีลชั้นสูง จึงได้ชื่อว่าเป็นข้าวถวาย นอกจากของถวายเหล่านี้ยังมีน้ำมันเดือนละ 3 เต๊าและเครื่องบริโภคอื่นๆเช่นนม เนย ก็มีมีเพียงพอแก่ความต้องการประจำวัน กับยังจัดให้มีอุบาสก 1 คนพราหมณ์ 1 คน เป็นผู้รับใช้ และเมื่อจะไปที่แห่งใดๆ ก็ขึ้นหลังช้างที่มีกูปพร้อม” ผู้ที่ได้รับความเคารพในระดับนี้ในเวลานั้นมีเพียง 10 รูป ส่วนภิกษุรูปอื่นๆ มีชีวิตความเป็นอยู่ตามอัตภาพในฐานะนักศึกษา
ภิกษุที่ศึกษาอยู่ที่นาลันทาวิหารนั้นมีทั้งอยู่ประจำและอาคันตุกะจากที่อื่นเป็นจำนวนนับหมื่น สถานที่เป็นที่พักของสงฆ์เป็นหอสูงจากบันทึกว่า “หอที่พำนักของสงฆ์ล้วนเป็นหอสูง 4 ชั้น ชายคาสูงตระหง่านเป็นนาคเลื้อย ขื่อโค้งเหมือนเส้นรุ้งมีเสารับสีแดงยอดและฐานเสามีลวดลายอย่างวิจิตรงดงาม ซึ่งตรงกับกรอบหน้าต่างเครื่องประกอบหลังคาล้วนประดับประดาอย่างประณีต เมื่อแสงอาทิตย์ส่องต้องหลังคาแลระยับจับตางามยิ่งนัก”
ในด้านการศึกษาหลวงจีนเหี้ยนบันทึกไว้ว่า “สังฆารามในอินเดียมีมากหลายนับด้วยจำนวนพันและหมื่น แต่กล่าวเฉพาะความงามและสูงแล้ว จัดว่าอารามนี้เป็นเด่นยิ่งกว่าแห่งอื่นทั้งสิ้น พระภิกษุสงฆ์ในอารามสงฆ์ในอารามรวมทั้งที่มาจากที่อื่นมีจำนวนนับหมื่น ล้วนศึกษาในลัทธิมหายาน แต่ลัทธินิกายต่างๆ ทั้ง 18 นิกายก็ได้ศึกษาควบคู่กันไปด้วย”
จำนวนนักศึกษาและอาจารย์ที่อยู่ในนาลันทาวิหาร เอ. โกส นักเขียนชาวอินเดียระบุไว้ใกล้เคียงกับหลวงจีนเหี้ยนจังคือ “นาลันทาเป็นมหาวิทยาลัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอินเดียในอดีตมีนักศึกษาจำนวน 9,500 รูป, อาจารย์ 1,510 รูป พักอาศัยอยู่ภายในวิหารในอารามเดียวกันนั่นเอง” (A. Ghosh,History of Nalanda, p.15)
จากสภาพปัจจุบันที่ผู้เขียนได้ไปเยี่ยมชมนั้นต้องขอทำความเข้าใจคำว่า“วิหาร” “อาราม” และ “วัด” ให้ชัดเจนก่อน อารามหมายถึงสถานทั้งหมดที่เรียกว่าวัดเหมือนบ้านเรา ส่วนวิหารคล้ายๆกับคณะแต่คณะที่แยกปกครองภายในวัดหนึ่งๆ มีเจ้าคณะหรือหัวหน้าวิหาร แต่ก็อยู่ในการกำกับดูแลของเจ้าอารามหรือเจ้าอาวาสอีกทีหนึ่ง ส่วนวัดคืออารามหลายอารามมารวมกันเรียกว่าวัด ดังนั้นนาลันทาจึงน่าจะเรียกว่าวัดหนึ่ง แต่มีอารามเป็นร้อยอารามและมีวิหารเป็นพันแห่ง ผู้เขียนคิดถึงมหาวิทยาลัยในเมืองไทยซึ่งแบ่งเป็นคณะแต่ละคณะมีคณบดีเป็นหัวหน้า ในคณะยังแบ่งเป็นภาควิชา ในแต่ละมหาวิทยาลัยมีหลายคณะ แต่คณะก็ขึ้นตรงต่ออธิการบดี ถ้าจะเปรียบนาลันทาในอดีตแล้ว วิหารคือภาควิชา อารามคือคณะ ส่วนวัดคือมหาวิทยาลัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยนาลันทาเรียกว่าอธิบดีสงฆ์แห่งนาลันทา การเปรียบเทียบนี้ผู้เขียนคิดเองจากหลักฐานตามที่ได้เห็นมา
ในแต่ละวิหารจะมีกำแพงกั้นชัดเจน มีประตูใหญ่ทางเข้าหนึ่งประตู พอเดินเข้าไปสิ่งแรกที่เห็นคือบ่อน้ำขนาดใหญ่ 1 บ่ออยู่ตรงกลางวิหาร ล้อมรอบด้วยห้องพัก แต่ละห้องมีสองเตียง เตียงหนึ่งสำหรับนักศึกษารุ่นพี่ ส่วนอีกเตียงสำหรับนักศึกษารุ่นน้อง เป็นระบบของพี่สอนน้อง ภายในวิหารหนึ่งๆจะมีห้องสวดมนตร์หรือห้องประชุมกลางขนาดใหญ่ 1 ห้อง วิหารจึงเป็นเพียงที่พักและที่ประชุมสำหรับภิกษุในแต่ละนิกาย ในวิหารหนึ่งจะมีเจ้าคณะหรือหัวหน้าวิหารเป็นผู้รับผิดชอบดูแลหมู่คณะ น่าจะอยู่ได้ประมาณ 100 รูปขึ้นไป เพราะหลวงจีนบอกว่าวิหารแต่ละแห่งสูง 4 ชั้น แต่ละชั้นมีที่พักหลายสิบห้องๆหนึ่งๆ อยู่สองรูป
วิหารแต่ละแห่งอยู่ติดกันเป็นแถวที่เหลือซากให้เห็นในปัจจุบันเรียงรายเป็นระเบียบยาวประมาณ 1 กิโลเมตร มีวิหารประมาณ 8 แห่งอยู่ติดกันรวมเรียกว่าหนึ่งอาราม ในแต่ละอารามก็จะมีหัวหน้าอารามอาจารย์เป็นผู้ดูแลอีกทีหนึ่ง อารามในอดีตที่นาลันทาจึงมีมาก แต่ก็อยู่ภายใต้การปกครองของอธิบดีสงฆ์แห่งนาลันทา ซึ่งเลือกมาจากหัวหน้าอารามต่างๆ นั่นเอง