พระพุทธศาสนาในเกาหลีใต้
เดิมเกาหลีใต้เป็นประเทศที่เคยนับถือพุทธศาสนา ตอนนี้มีคนจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่ง ของประเทศประกาศว่า ตนเองไม่นับถือศาสนาอะไรเลย จึงเหลือพวกที่มีศาสนาเพียง 54% ของประชากรทั้งหมด ในบรรดาผู้คนที่ยังมีศาสนานี่แหละครับ 54% บอกว่าตัวเองเป็นคริสต์ศาสนิกชน และยอมรับว่าเป็นชาวพุทธ 46%
เกาหลีใต้มีเมืองที่มีพระพุทธรูปสวยงามที่เมืองเคียงจู ซึ่งเป็นเมือง "มรดกโลก" ของเกาหลีใต้ ที่นี่มีถ้ำซอกคูลัมซึ่งมีพระพุทธรูปที่สร้างตั้งแต่สมัยอาณาจักรซิลลา เป็นหินแกรนิตและมีวัดพุลกุกซาที่อยู่บนภูเขาสูง ราตรีนี้ผมยังพักอยู่ ที่โรงแรมในเมืองเคียงจู มองออกไปนอกหน้าต่าง เห็นดาวพร่างบนฟากฟ้า เพ่งดาราเต็มพรืดในเมืองหลวงเก่าแก่ของอาณาจักรที่เคยรุ่งเรืองทั้งทางด้าน การปกครองและทางศาสนาพุทธเมื่อสองพันปีก่อน ก็ย้อนกลับมาสะท้อนใจหลายเรื่องครับ โดยเฉพาะเรื่องการจัดการ "มรดกโลก" ของเรา
เมืองมรดกโลกเคียงจูของเกาหลีนี่เน้นการอนุรักษ์มาก ไม่มีการกระทำย่ำยี ไม่ว่าจะย่ำยีโบราณสถาน วัฒนธรรม หรือธรรมชาติ แม้แต่ ถังขยะก็ยังเป็นถังแบบโอ่งดินเพื่อให้สอดรับกับความเป็นนครโบราณ บ้านเกือบทุกหลังของเมืองที่มีประชากร 350,000 คนแห่งนี้ จะปลูกเป็นรูปทรงเกาหลี แม้แต่โบสถ์ของศาสนาคริสต์ก็ยังมีสร้างด้วยสถาปัตยกรรมเกาหลี เพียงแต่มีไม้กางเขนปักเด่นเป็นสง่าเน้นให้เห็นความเป็นคริสต์เพียงเท่านั้น
เหตุผลหนึ่งที่คนรุ่นใหม่หันไปนับถือคริสต์ศาสนานิติภูมิ นวรัตน์อ้างว่า “ไปนมัสการพระพุทธรูปในถ้ำซอกคูลัมและไปที่วัดพุลกุกซา ขึ้นไปถึงยอดเขาสูงแล้วก็จึงถึงได้เข้าใจว่าทำไมศาสนาพุทธของเกาหลีใต้ ในปัจจุบันจึงมีผู้คนนับถือน้อยลงในอัตราที่ รวดเร็วอย่างน่าใจหาย แม้แต่ประธานาธิบดี 2 ท่านสุดท้ายนี่ก็หันไปนับถือศาสนาคริสต์ เดิมเปลี่ยนไปเฉพาะพวกวัยรุ่น ตอนนี้ไม่ว่าวัยรุ่นหรือไม่ ก็ไปเข้าเป็นคริสต์ศาสนิกชนกันขนานใหญ่ หนึ่งในหลายสาเหตุ ก็อาจจะเป็นเพราะศาสนสถานของพุทธในเกาหลีใต้มักจะตั้งอยู่บนภูเขาสูง การเดินทางเพื่อไปปฏิบัติศาสนกิจทำได้ลำบาก ส่วนโบสถ์คริสต์ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในที่ราบ ไปปฏิบัติศาสนกิจได้ง่าย ตามเมืองใหญ่มองไปทางไหนเห็นแต่กางเขน อยู่บนหลังคาโบสถ์ยิ่งเมืองสำคัญอย่างกรุงโซล ปูซาน แตจอน แตกู อินชอน กวางจู ฯลฯ คนเข้าโปรเตสแตนต์กันมากกว่าคาทอลิกซะด้วยซ้ำ
การนับถือศาสนาคริสต์นั้นมิใช่เพียงแค่ครรุ่รใหม่เท่านั้น แม้แต่ผู้นประเทศก็เป็นคริสเตียนนิติภูมิเขียนไว้ว่า “ประธานาธิบดีคนที่แล้ว นายคิม แด-จุง และประธานาธิบดีคนปัจจุบัน นายโน มู-เฮียน ท่านทั้งสองก็นับถือคริสต์ ตอนที่นายคิม แด-จุง ไปเยือนเกาหลีเหนือ ท่านก็ยังได้แนะนำประธานาธิบดี คิม จอง-อิล ให้เชิญพระสันตะปาปามาเยือนเกาหลีเหนือ เพื่อขอให้พระองค์เข้ามาช่วยให้คนมีศาสนา พร้อมทั้งยังมีการเผยแพร่ข้อมูลอีกว่า ขณะนี้ เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในการมีจำนวนชาวคริสต์มากเป็นอันดับ 2 ของทวีปเอเชีย จะเป็นรองก็เพียงแต่ฟิลิปปินส์เท่านั้น
การแผ่ศาสนานั้นนักบวชมีบทบาทสำคัญนิติภูมิยืนยันไว้ว่า “บาทหลวงรูปหนึ่งซึ่งเทศน์ถูกใจคนเกาหลีมาก ชื่อว่าสาธุคุณซัน เมียง-มูน ท่านเคยจัดพิธีแต่งงานหมู่ที่มีคู่สมรสเยอะมากจริงๆ มากขนาดไหนผู้อ่านท่านลองหลับตาจินตนาการดูเถิด สนามโอลิมปิกสเตเดียมในกรุงโซลวันนั้นเต็มไปด้วยคู่แต่งงาน ไม่ว่าบนอัฒจันทร์หรือในสนามข้างล่าง ถึงขนาดกินเนสบุ๊คต้องบันทึกไว้ว่าเป็นการแต่งงานที่มีคู่สมรสมากที่สุดในโลก ผู้อ่านท่านครับ คนเกาหลีนี่ให้ความสำคัญกับพิธีแต่งงานมาก ถ้าเป็นเกาหลีพุทธ ก็จะแต่งงานตามแบบเกาหลีดั้งเดิมครั้งหนึ่งก่อน จากนั้นก็จะไปแต่งแบบคริสต์อีกทีหนึ่ง ประสงค์ก็คือเพื่อที่จะได้ ถ่ายรูปเจ้าสาวในชุดขาว เจ้าบ่าวใส่ทักซิโดโก้หรู ถือว่าเป็นค่านิยม พิธีแต่งงานแบบคริสต์เต็มไปด้วยเสียงดนตรี มีเทศน์ที่สั่งสอนประทับใจ พร้อมไปด้วยหลักธรรมที่เข้าใจได้ง่ายกว่า
ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วกระแสธารอารยธรรมไหลบ่าอย่างรวดเร็ว เกาหลีใต้ส่งออกวัฒนธรรมผ่านละครทีวีภาพยนตร์ดังที่นิติภูมิเขียนไว้ว่า “วัยรุ่นไทยในขณะนี้ชื่นชมดาราเกาหลีใต้ ผู้สร้างหนังสร้างละครสมัยนี้ก็เอาใจตลาด แต่ละฉากแต่งงาน ผู้สร้างก็มักจะให้มีการแต่งงานแบบคริสต์ จนวัยรุ่นที่ดูภาพยนตร์มีความรู้สึกว่า ความรักและการได้ แต่งงานมีครอบครัวนั้น มีส่วนเกี่ยวกันผูกพันกับโบสถ์ หนังเรื่องไหนจัดฉาก ให้นางเอกพระเอกแต่งงานแบบดั้งเดิมโบราณ หนังเรื่องนั้นเชยเป็นบ้า แม้แต่เศร้าโศกมีใครลาโลก ละครส่วนใหญ่ไม่ว่าของเกาหลี หรือของไทย ก็ยังให้พระเอก นางเอกไปเคารพสุสานแบบคริสต์ ผม เข้าใจเอาเองว่า พวกผู้สร้างหนังอาจจะได้รับอิทธิพลจากหนังตะวันตกนั่นเองครับ
วัยรุ่นเอเชียของเราในระยะหลังๆนิยมแขวนไม้กางเขนตามดาราตะวันตก ตอนแรกๆก็ไม่ได้คิดอะไร แต่พอบางห้วงถึงช่วงที่มีความทุกข์ร้อน ก็เลยสวดอ้อนวอนร้องขอต่อพระผู้ เป็นเจ้า สวดแล้วก็บังเกิดศรัทธา มีกำลังใจสู้โลกต่อ ทำให้ กลายเป็นคริสต์ศาสนิกชนทีละเล็กละน้อยโดยไม่รู้สึกตัว ในที่สุดก็กลายเป็นผู้ศรัทธาในศาสนาคริสต์ และก็ใช้ศาสนานี้นำชีวิตให้ดำเนินต่อไปได้อย่างมีความสุข คนจำนวนไม่น้อยก็เชื่อว่าที่เกาหลีใต้ผงาด จากประเทศยากจนมาเจริญรุ่งเรืองในวันนี้ได้ ส่วนหนึ่งมาจากความศรัทธาในศาสนาคริสต์
พระพุทธศาสนาในเกาหลีมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีอิทธิพลต่อเกาหลีทั้งด้านสังคม วัฒนธรรม และศิลปะ ปัจจุบันมีวัดมากกว่า 10000 วัด พระ 20000 รูป วัดจำนวน 900 แห่งมีอายุเก่าเกิน 50 ปี
ในด้านความร่วมมือด้านการศึกษามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยรับวิทยาลัยพุทธดองกุ๊กเพื่อการเผยแผ่แห่งเมืองพูชานเข้าเป็นวิทยาลัยสมทบของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยโดยมีเหตุผลประกอบว่า “ถ้านำไปสมทบกับมหาวิทยาลัยบาลีพระพุทธศาสนาแห่งประเทศศรีลังกานั้นจะติดต่อสื่อสารกันก็ยากและใช้เวลานานมาก พวกเขาต้องการหลักสูตรเป็นภาษาเกาหลี สอนด้วยภาษาของพวกเขาเอง มิใช่สอนผ่านภาษาอังกฤษอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ นักศึกษาหลายคนมีอายุแล้ว มาเริ่มเรียนอังกฤษอีกสู้ไม่ไหว หากจะเปิดสอนเป็นภาษาเกาหลี ทางมหาวิทยาลัยบาลีพระพุทธศาสนาแห่งประเทศศรีลังกาก็ยังไม่พร้อมจะลงมาช่วยเหลืออย่างเต็มที่ พระมหาเถระชาวศรีลังกาซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกับท่านเจ้าคุณพระราชรัตนโมลี (นคร เขมปาลี) จึงแนะนำพวกเขาให้มาขอขึ้นกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งเขาอาจเห็นศักยภาพความพร้อมหลายๆด้านของพวกเราก็ได้ เพราะทั้งเจ้าหน้าที่ คณาจารย์ และนักศึกษาของเขา ได้เดินทางมาเยี่ยมเยียนและดูกิจการของทางมหาวิทยาลัยเราหลายครั้งแล้ว”
ไม่เคยมีประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ทางศาสนาระหว่างไทยและเกาหลีใต้มาก่อน ครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งแรก ในประเทศไทยยังมีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ในอนาคตน่าจะเปิดวิทยาลัยสมทบในประเทศต่างๆได้อีกมากเพราะพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเปิดโอกาสไว้ในมาตรา 10
ส่วนในศรีลังกาการสานสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องยาวนาน ยิ่งพระพุทธรูปเป็นที่ต้องการของศรีลังกา พุทธศาสนิกชาวไทยจึงส่งออกศิลปพระพุทธรูปไปยังลังกาเป็นจำนวนมากดังที่เสฐียรพงษ์เขียนไว้ว่า “ในปีพ.ศ. 2544 ไปศรีลังกาครั้งนี้นำพระพุทธรูปไปถวายจำนวน 29 รูป จากนั้นนำไปถวายอีก 101 องค์ ในปี 2547 นำพระพุทธรูปสุโขทัยปางสมาธิไปถวาย 14 องค์
น่าสังเกตว่าในปัจจุบันทั้งไทยและศรีลังกายังไม่มีนโยบายแลกเปลี่ยนนักศึกษากันเลยทั้งๆ ที่ทั้งสองประเทศมีพระในนิกายเดียวกัน มีแต่พระศรีลังกามาศึกษาที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง แต่เป็นการใช้ทุนส่วนตัว พระไทยที่ไปศึกษาที่ศรีลังกาก็ใช้ทุนส่วนตัว ถ้ามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย มีนโยบายแลกเปลี่ยนนักศึกษากับศรีลังกาหรือแม้แต่เกาหลีใต้ ความสัมพันธ์ทางพระพุทธศาสนาน่าจะก้าวหน้าขึ้น
ศรีลังกานับถือพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทเหมือนไทย ส่วนเกาหลีใต้นับถือฝ่ายมหายาน ในอดีตทั้งสองประเทศเคยปกครองด้วยระบบกษัตริย์เหมือนกัน แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นระบบสาธรณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุขสูงสุดบริหารประเทศ แม้ว่าระบบการปกครองจะเปลี่ยนไป แต่พระพุทธศาสนาระบุไว้ในรัฐธรรมนูญของทั้งสองประเทศว่าเป็นศาสนาประจำชาติ ส่วนไทยไม่ได้ระบุไว้ หรือว่าเพราะคำว่า “ศาสนาประจำชาติ” ทำให้ทั้งสองประเทศเปลี่ยนไป ในขณะที่ไทยพระพุทธศาสนาแม้จะไม่แสดงบทบาทเด่นชัดนัก แต่ทว่าแทรกซึมอยู่ในทุกระบบ เพราะหลักธรรมนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมไทยผูกพันกันมานานจนคุ้นเคย แม้จะรับเอาวัฒนธรรมอื่น แต่ก็ยังรักษาฐานรากเดิมคือพระพุทธศาสนาไว้ได้ พระพุทธศาสนาในประเทศไทยจึงค่อยเป็นค่อยไป มีปัญหาภายในก็แก้ไข เมื่อยังไม่มีก็สงบนิ่ง จนบางครั้งคนไทยลืมเลือนไปแล้วว่า เรายังเป็นประเทศพระพุทธศาสนาอยู่หรือไม่
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
จดบันทึก
แก้ไขปรับปรุงใหม่ 20/08/53
บรรณานุกรม
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 (พิมพ์ครั้งที่ 10),กรุงเทพฯ: สกายบุกส์, 2548.
http://www.geocities.com/sakyaputto/mbuddhism1.htm)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก.ไปสืบพระศาสนาที่ศรีลังกา.(พิมพ์ครั้งที่ 2)กรุงเทพ ฯ: สำนักพิมพ์น้ำฝนไอเดีย,2549.
นนท์ ธรรมสถิตย., พระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ไทย.กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์กิติชัยสาส์น, 2532.
ฐากูร พานิช, ไทย-ศรีลังกา กัลยาณมิตร: สัมพันธ์ไมตรีแน่นแฟ้นทางพุทธศาสนา,กรุงเทพฯ:อมรินทร์พริ้นติ้งแอนพับลิชชิ่ง จำกัด,2545.
Nina Van Gorkom (พ.อ. ดร. ชินวุธ สุนทรสีมะ แปล).ธรรมจาริกในศรีลังกา มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา <http://members.tripod.com/buddhiststudy/srilanka.htm>
นิติภูมิ นวรัตน์ เปิดฟ้าเกาหลีใต้: ศาสนาของเกาหลี หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ.